การใช้สมุนไพรในอาหาร

สมุนไพร ตามความหมายของพระราชบัญญัติยา หมายถึง ยาที่ได้จาก พืช สัตว์ และแร่ธาตุ ซึ่งยังมิได้มีการผสม หรือแปรสภาพเป็นอย่างอื่น บทบาทของสมุนไพรในชีวิตประจำวันของคนไทย นอกจากในแง่ของการเป็นยารักษาโรค หรือใช้ในส่วนประกอบของเครื่องร่ำ เครื่องประทินผิว หรือใช้เป็นไม้ประดับสวยงามแล้ว บทบาทสำคัญ คือ การใช้เป็นอาหารรวมทั้งเครื่องดื่ม ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษย์ คนไทยในอดีตจึงสำนึกถึงคุณค่า และใช้ประโยชน์จากสมุนไพรอย่างกว้างขวาง ถึงแม้ต่อมาเมื่อวิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้า วิทยาการต่าง ๆ ส่งผลให้วิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต แต่ขณะที่ประเทศกำลังเจริญก้าวหน้า เราพบว่าการดำรงชีวิตกลับต้องหวลคืนสู่วิถีแห่งธรรมชาติ จึงเป็นที่มาของการยอมรับการใช้พืชสมุนไพร เป็นส่วนประกอบในอาหารของคนไทยกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

พืชสมุนไพรในอาหารมีอะไรบ้าง ?
พืชสมุนไพรที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหาร แบ่ง 6 ประเภท ดังนี้

  1. ธัญญาหาร (Cereal)
  2. ถั่วและผลที่มีเมล็ดเดี่ยวเปลือกแข็ง (Legumes and Nuts)
  3. ผัก (Vegetables)
  4. ผลไม้ (Fruits)
  5. เครื่องเทศ (Spices)
  6. พืชที่นำมาเตรียมเครื่องดื่ม (Beverage Plants)

การบริโภคอาหารจากสมุนไพร เป็นการปฏิบัติที่มีในเมืองไทยมาช้านานแล้ว และในปีปัจจุบัน ได้มีการรณรงค์ให้รับประทานอาหารจากสมุนไพรในกลุ่มชนทุกระดับ เป็นแนวทางส่งเสริมการบริโภคอาหารจากธรรมชาติแขนงหนึ่งที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนไทย

นำพืชสมุนไพรมาใช้ในอาหารได้อย่างไร ?

การนำสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ในการศึกษาการนำสมุนไพรมาใช้ในคุกกี้ ได้เลือกทดลองในผักสมุนไพร 4 ชนิด ได้แก่ ต้นหอม ขิง ตะไคร้ และใบมะกรูด โดยวิธีการทำให้แห้งด้วยการตาก หรืออบ แล้วบดให้ละเอียด จากนั้นจึงเสริมลงในคุกกี้ชนิดแช่เย็น ผลการศึกษาพบว่า สามารถให้ลักษณะ และรสชาติที่ดีในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว รวมทั้งเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค

มีประโยชน์อย่างไรบ้าง ?

  1. พืชสมุนไพรทั้ง 4 ชนิด มีประโยชน์ดังนี้
    ต้นหอม : ช่วยย่อยอาหาร ทำให้เจริญอาหาร ทำให้ความดันโลหิตต่ำ ลดไขมันในเลือด แก้ไข้ แก้หวัด ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ
    ขิง
    เหง้า : แก้อาเจียน ไข้หวัดใหญ่ ไอ หอบ อืดแน่น ท้องเสีย ขับเสมหะ ขับลม ขับปัสสาวะ และแก้พิษ
    เปลือกเหง้า : ขับลม ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ ท้องอืดแน่น
    ตะไคร้
    ทั้งต้น : ใช้ขับลม ทำให้เจริญอาหาร แก้ท้องอืดแน่น ไข้หวัด ปวดหัว ไอ ปวดกระเพาะปัสสาวะ ท้องเสีย ปวดข้อ ปวดเมื่อย ฟกช้ำจากหกล้มหรือกระทบกระแทก ประจำเดือนมาผิดปกติ บวมน้ำ
    ใบมะกรูด : ช่วยขับลม แก้จุกเสียด แน่น
  2. การทดลองดังกล่าว สามารถใช้สมุนไพร ซึ่งจัดเป็นสมุนไพรในครัวเรือน เสริมในผลิตภัณฑ์ขนมอบ ซึ่งมีพื้นฐานจากต่างประเทศ เป็นการส่งเสริมการใช้สมุนไพรให้มีบทบาทในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารอีกแนวทางหนึ่ง

ตอนต่อไปโปรดติดตาม อาหารเพื่อสุขภาพจากสมุนไพร