ถอดประสบการณ์... การเป็นผู้จัดการคลินิกเทคโนโลยี

06experience01
ใครจะคาดคิดว่า  อยู่มาวันหนึ่ง  ผู้เขียนก็ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบกำกับดูแลงานถ่ายทอดเทคโนโลยีผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยในบทบาท  “ผู้จัดการคลินิกเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร”

หลาย ๆ ท่านคงทราบดีว่า  คลินิกเทคโนโลยี  คือ  กลไกความร่วมมือในการนำผลงานวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัย  ถ่ายทอดสู่กลุ่มเป้าหมายอาทิ  ชุมชน  วิสาหกิจชุมชน  ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  และภาคอุตสาหกรรม  โดยมีเจ้าภาพผู้ให้การสนับสนุนงบประมาณคือ  คลินิกเทคโนโลยีในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

06experience02
ก้าวแรกที่ผู้เขียนได้รับสัมผัสงานของคลินิกเทคโนโลยีนี้  ก็คือในสมัยที่รับผิดชอบงานวิจัยและฝึกอบรม  ในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการในปี  2547  ตำแหน่งขณะนั้น  คือ  ผู้จัดการคลินิกเทคโนโลยี  วิทยาเขตโชติเวช  โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์วลัย  หุตะโกวิท  ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล  วิทยาเขตโชติเวช  เป็นผู้อำนวยการคลินิกเทคโนโลยี ซึ่งยอมรับว่า ในครั้งแรกที่ทำงานจะรู้สึกกังวลและไม่มั่นใจ  เนื่องจากยังไม่มีประสบการณ์การทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอกมาก่อน  ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมการประชุมกับคลินิกเทคโนโลยีเครือข่ายร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประมาณปีละ 1 – 2 ครั้ง ซึ่งในขณะนั้นไม่มีใครรู้จักมหาวิทยาลัยของเราเลย เนื่องจากความเป็นน้องใหม่ของเรานั่นเอง

06experience03
จุดเด่นของคลินิกเทคโนโลยีเครือข่ายของมหาวิทยาลัยของเราคือ  การมีผู้เชี่ยวชาญในงานวิชาชีพเฉพาะทางที่เป็นที่ยอมรับของสังคมและชุมชน  แต่ในขณะเดียวกันเราก็มีจุดอ่อนคือความเป็นมหาวิทยาลัยที่มีที่ตั้งอยู่กลางใจเมืองกรุงเทพมหานคร  ทำให้การสร้างเครือข่ายการทำงานกับชุมชนต่าง ๆ  เป็นไปด้วยความยากลำบากกว่ามหาวิทยาลัยที่มีที่ตั้งในจังหวัดที่มีเครือข่ายชุมชนโดยตรง ซึ่งถือเสมือนเป็นเจ้าของพื้นที่ไปโดยปริยาย  การหากลยุทธ์ในการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน จึงถือเป็นงานที่ท้าทายของมหาวิทยาลัยของเราเลยทีเดียว

06experience0406experience05
กลยุทธ์ในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของผู้เขียนคือ  การสำรวจข้อมูลจากคลินิกเทคโนโลยีเครือข่ายในกลุ่มจังหวัด  เพื่อวิเคราะห์เทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ที่ยังขาดอยู่  แล้วเข้าไปเติมเต็มให้แก่ชุมชนผู้รับการถ่ายทอด  ซึ่งนอกจากจะเป็นโอกาสในการทำให้กลุ่มเป้าหมายมีความมั่นใจในมหาวิทยาลัยแล้ว  ยังเป็นการสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับคลินิกเทคโนโลยีเครือข่ายของมหาวิทยาลัยอื่นด้วย  เราพบว่า  มหาวิทยาลัยสามารถเข้าไปเป็นผู้ดูแลกลุ่มชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้  อาทิ  กลุ่มชุมชนจังหวัดเพชรบุรี  ราชบุรี  สมุทรสงคราม  ประจวบคีรีขันธ์  สุพรรณบุรี  กาญจนบุรี  ลพบุรี  สระแก้ว  อุดรธานี

06experience06
เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงปัจจุบัน  ชื่อของคลินิกเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล   พระนคร  ได้สร้างผลงานที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้การยอมรับและให้ความไว้วางใจการทำงานร่วมกับกระทรวงฯ  ในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่  การได้รับเชิญเป็นวิทยากรในฐานะหน่วยงานตัวอย่างประจำกลุ่มภาคกลางที่มีการดำเนินงานด้านคลินิกเทคโนโลยี  ได้รับการบรรจุเรื่องเล่าความสำเร็จในเอกสารเผยแพร่ของกระทรวงฯ เป็นโครงการตัวอย่างในปี 2552 คือ โครงการป่านศรนารายณ์มัดย้อม ตัวแทน อสวท. ภาคกลาง กรรมการดำเนินงานภาคประชาชน ผู้ประเมินโครงการอสวท. ของกระทรวง ฯ และการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อประเภทต่าง ๆ

06experience07
การทำงานในฐานะผู้จัดการคลินิกเทคโนโลยี  ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้  แต่ในขณะเดียวกันก็คงไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่จะทำงานให้ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม  ในฐานะที่ผู้เขียนมีประสบการณ์ในการทำงานได้รับการมอบหมายจากมหาวิทยาลัย ขออนุญาตให้ความคิดเห็นในเรื่องคุณสมบัติของผู้จัดการคลินิกเทคโนโลยี ดังนี้
1. เป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการ คน เงิน งาน และการบริหารเวลา
2. มีความโปร่งใส ทำงานพร้อมรับการตรวจสอบตลอดเวลา
3. มีมนุษยสัมพันธ์ ทั้งต่อบุคลากรภายใน หน่วยงานภายใน  และหน่วยงานภายนอก
4. มีความตั้งใจและทำงานในลักษณะของผู้ให้มากกว่าผู้รับ
5. สามารถบริหารงานได้ในท่ามกลางความขาดแคลนของทรัพยากรต่าง ๆ