เพิ่มรายได้ด้วยป่านศรนารายณ์มัดย้อม

03sisal-0103sisal-0203sisal-0303sisal-04

 
 
 

      1.สถานภาพของเรื่องเล่าความสำเร็จและกลุ่มเป้าหมาย

กลุ่มป่านศรนารายณ์ สหกรณ์การเกษตรหุบกะพงจำกัด ยึดอาชีพการย้อมป่านและทำผลิตภัณฑ์จากป่าน ก่อนเข้ารับการฝึกอบรม ทางกลุ่มใช้ป่านสีธรรมชาติ และป่านที่ย้อมสีเดียวกันตลอดทั้งเส้นเป็นวัตถุดิบหลักในการทำผลิตภัณฑ์ อาทิ กระเป๋า รองเท้า เครื่องใช้เครื่องประดับตกแต่ง

      2.การดำเนินการและผลที่ได้รับ

ศูนย์คลินิกเทคโนโลยีสถาบันวิจัยและพัฒนา ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำผ้าและป่านศรนารายณ์มัดย้อม รวมทั้งเทคนิคการใช้สิ่งตกแต่ง คือ กระดุมไม้ ลูกปัด เปลือกหอย แก่สมาชิกชุมชนจำนวน 61 คน ผลที่ได้รับทำให้เกิดการเพิ่มรายได้ของครอบครัว ดังนี้
1.) กระเป๋า
เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจชุมชน โดยการประยุกต์การย้อมป่านด้วยวิธีมัดย้อมทำให้เกิดสีต่างระดับ ช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีความสวยงาม แปลกใหม่ และดึงดูดใจผู้ซื้อมากขึ้น ซึ่งพบว่าในร้านค้าสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด มีผลิตภัณฑ์ที่ใช้วิธีการมัดย้อมมากกว่าร้อยละ 70 ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 ต่อครอบครัว
2.) รองเท้า
ชุมชนได้ทำรองเท้ารูปแบบใหม่ โดยใช้ป่านศรนารายณ์มัดย้อม ตกแต่งด้วยกระดุมไม้ ลูกปัด เปลือกหอย แทนรองเท้ารูปแบบเดิม ทำให้จำหน่ายผลผลิตได้มากขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ต่อครอบครัว

เผือกปาด... ใครคิดว่าไม่สำคัญ

เผือกปาด คือ ผลผลิตของนาเผือกที่ชุมชนตำบลโคกใหญ่ ตำบลหรเทพ ตำบลบางโขมด และตำบลตลาดน้อย ในพื้นที่อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ใช้เรียกชื่อเผือกหอมที่ไม่สมบูรณ์ หรือมีบางส่วนเน่าเสียจนต้องใช้มีดปาดทิ้งไป รวบรวมใส่ถุงขายส่งให้แม่ค้าในตลาดสดในราคากิโลกรัมละ 3-5 บาท แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจากคนทั่วไปเท่าใดนัก เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของผลผลิต แต่ใครจะคาดคิดว่าวันนี้ “เผือกปาด” จะสร้างความสำคัญให้ชุมชนแห่งนี้ได้
ความสำคัญของเผือกปาด เริ่มต้นจากการแปรรูปเผือกเป็นแป้ง หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า แป้งเผือก ซึ่งหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำเนื้อเผือกมาหั่นเป็นแท่งหรือแผ่นบาง ทำให้แห้งโดยใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์หรือแหล่งพลังงานอื่น บดให้ละเอียด แล้วร่อนผ่านตะแกรง คุณลักษณะที่ดีของแป้งเผือก เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปจะต้องเป็นผงละเอียด แห้ง ไม่จับตัวเป็นก้อน มีสีและกลิ่นที่ดีตามธรรมชาติของแป้งเผือก ไม่พบสิ่งแปลกปลอมที่ไม่ใช่ส่วนประกอบที่ใช้มีความชื้นไม่เกินร้อยละ 12 โดยน้ำหนัก และเมื่อทดสอบจุลินทรีย์ ยีสต์ และราต้องไม่เกิน 500 โคโลนี ต่อตัวอย่าง 1 กรัม โดยหัวเผือก 4 กิโลกรัม จะแปรรูปเป็นแป้งเผือกได้ 1 กิโลกรัม การผลิตแป้งเผือกโดยวิธีง่าย ๆ แบบนี้ ทำให้เผือกปาด กลายเป็นสิ่งสำคัญของชุมชนอำเภอบ้านหมอไปเสียแล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น แป้งเผือกยังมีความสำคัญระดับชาติในบทบาทของการเป็นวัตถุดิบที่ใช้ทดแทนแป้งสาลี ซึ่งใคร ๆ ก็รู้ว่าแป้งสาลีเป็นวัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งในรูปแป้งและเมล็ดพันธุ์ โดยสามารถใช้ทดแทนแป้งสาลีบางส่วนในการทำผลิตภัณฑ์ขนมอบ อาทิ คุกกี้ แครกเกอร์ พาย ให้กลิ่นรสของขนมฝรั่งผสมผสานความเป็นไทยที่ลงตัวจนใคร ๆ ถามหา
ในวันนี้ ถ้าจะเปรียบเผือกปาด เป็นสมาชิกชุมชนอำเภอบ้านหมอก็คงเป็นสมาชิกที่ชุมชนให้ความสำคัญในการพลิกบทบาทของวัตถุดิบที่ถูกลืม กลายเป็นผลผลิตประจำท้องถิ่นที่ทำหน้าที่แทนวัตถุดิบต่างชาติได้ในที่สุด แล้วใครล่ะ... จะคิดว่าเผือกปาดไม่สำคัญ

เรื่องกล้วย กล้วย ช่วยเศรษฐกิจชุมชน

2   3

กลุ่มพัฒนาอาชีพตำบลหัวโพ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี มีอาชีพรับจ้างและปลูกกล้วยน้ำว้าอยู่ทุกครัวเรือน โดยปลูกไว้สำหรับการบริโภคและจำหน่ายเป็นหวี ๆ ละ 5 บาท ถ้าจำหน่ายเป็นกิโลกรัม ๆ ละ 30 – 35 บาท ที่ผ่านมาทางกลุ่มต้องการแปรรูปกล้วยน้ำว้า ดังกล่าวให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่มแต่ไม่มีเทคโนโลยีทางด้านนี้

4   5

ศูนย์คลินิกเทคโนโลยีสถาบันวิจัยและพัฒนา ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปแป้งจากกล้วยน้ำว้า และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ขนมไทยและขนมอบ อาทิ ข้าวเกรียบ ขนมดอกจอก ขนมกลีบลำดวน ขนมโสมนัส ขนมกง คุกกี้กล้วยกรอบ โดนัท และขนมปัง จากแป้งกล้วย แก่กลุ่มพัฒนาอาชีพตำบลหัวโพ จำนวน 56 คน ผลที่ได้รับ คือ ทางกลุ่มพัฒนาอาชีพตำบลหัวโพได้ร่วมมือกับโรงเรียนวัดหัวโพ โดยการนำของ อาจารย์สุธาดา เบญจมาลา ซึ่งใช้อุปกรณ์ ที่กลุ่มมีอยู่แล้ว คือ เครื่องผสมแป้ง เตาอบ ร่วมกับอุปกรณ์ของโรงเรียน ทำแป้งจากกล้วยน้ำว้า และผลิตภัณฑ์ ขนมไทย ขนมอบ โดยกลุ่มชุมชน กลุ่มนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนเพื่อจำหน่ายในงานเทศกาลต่าง ๆ ของจังหวัดราชบุรี ซึ่งสามารถสร้างอาชีพให้แก่ชุมชนโดยความร่วมมือของโรงเรียนได้