ผ้าทอพื้นบ้าน : ศิลปะแห่งภูมิปัญญา

ผ้าทอ  ศิลปะแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น อันมีความผูกผันเชื่อมโยงวิถีชีวิต  ความเชื่อ  และพิธีกรรมของไทย  ศาสตร์และศิลป์การทอผ้าได้รับการถ่ายทอดและสืบสานต่อกันมารุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน  การทอผ้าในหลายท้องถิ่นยังคงรักษารูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน  ผ้าทอจึงเป็นมรกดทางสังคมที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมาในอดีตอันเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตปัจจุบัน 

ผ้าทอ  เป็นผลงานของความเจริญรุ่งเรืองทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม  รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มคน   จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าดินแดนที่เป็นราชอาณาจักรไทยมีการทอผ้ามากว่า 2,500 ปี ซึ่งการทอผ้าไหมก็พบว่ามีการทอเป็นผืนผ้าตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์   ผ้าทอที่สร้างขึ้นครั้งแรกเป็นเพียงผ้าพื้นสีธรรมชาติไม่มีลวดลาย  ต่อมาได้มีการสร้างลวดลายผ้าด้วยการพิมพ์ได้มีการค้นพบลูกกลิ้งดินเผาที่มีลวดลายสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของบ้านเชียง  สันนิษฐานว่าเป็นลูกกลิ้งสำหรับพิมพ์ผ้า  อย่างไรก็ตามหลักฐานที่พบ  เช่น  ลวดลายบนเครื่องปั้นดินเผา  ภาพเขียนบนผนังถ้ำ  เป็นเครื่องมือที่ใช้สันนิษฐานได้ว่า  ผ้าสมัยก่อนประวัติศาสตร์มีลวดลายคล้ายกับเครื่องปั้นดินเผา  ได้แก่  ลายก้นหอย  ลายชดเชือด  และลายม้วนตัวคล้ายคลื่น  หรือ  ก้อนเมฆ  ลวดลายเหล่านี้มีการพัฒนาต่อมาจนถึงยุคที่มนุษย์รวมกลุ่มกันเป็นชนเผ่า  และอาณาจักร  โดยใช้ลายผ้าเป็นเครื่องหมายของกลุ่มที่แสดงออกถึงความเชื่อผ่านสัญลักษณ์  เช่น  ลายนาค  ลายงู  ลายหงส์  ลายนกยูง  ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงความเชื่อในสมัยสุโขทัย  ศิลปะการทอผ้ามีการพัฒนาเรื่อยมาจนถึงยุคที่คนไทยรวมตัวกันเป็นอาณาจักรต่าง ๆ  ได้แก่

อาณาจักรล้านนาไทย   ประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 - 21 มีการทอผ้าขึ้นเพื่อใช้สอยภายในครอบครัวและเป็นการแลกเปลี่ยนซื้อขายกัน ปรากฏผ้าอยู่หลายชนิด เช่น ผ้าสีจันทร์ขาว ผ้าสีจันทร์แดง และผ้าสีดอกจำปา เป็นต้น  

สมัยสุโขทัย  ประมาณ  755  ปี  ปรากฏหลักฐานว่าชาวสุโขทัยทอผ้าใช้เองและมีการผลิตผ้าฝ้ายและผ้าไหมสีต่าง ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ้าฝ้ายห้าสีที่เรียกว่า ผ้าเบญจรงค์คือ ผ้าสีแดง เหลือง ดำ เขียว และขาว เป็นผ้าที่มีชื่อเสียงของสุโขทัย และยังมีผ้ายกดอก ผ้าสกุลพัสตร์ ซึ่งเป็นผ้าขาวเนื้อละเอียด ผ้าเล็กดอกเป็นผ้าเนื้อดีและ ผ้ากรอกซึ่งเป็นผ้าลายกระจังสำหรับพันรอบหน้าผาก เป็นต้น (วิบูลย์ ลี้สุวรรณ, 2530 : 3)  อย่างไรก็ดี

สมัยอยุธยา ประมาณ 400 ปี  ผ้ามีบทบาทสำคัญ  ตั้งแต่การใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มโดยตรงตลอดจนการใช้ผ้าเข้าไปเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีความเชื่อ วัฒนธรรม ศาสนา และสังคม   ผ้านับว่ามีความสำคัญในการค้าและเศรษฐกิจ  นอกจากนั้นผ้ายังใช้แทนค่าเงินจากหลักฐานพบว่า  พระมหากษัตริย์ทรงใช้ผ้าเป็นเครื่องปูนบำเหน็จรางวัล  หรือบางครั้งใช้พระราชทานต่างเงินเดือนปีละหนเท่านั้น เรียกว่า ผ้าหวัดรายปีซึ่ง ส่วนมากเป็นผ้าสมปักซึ่งทอด้วยไหมเพลาะตรงกลางผ้าเป็นสีมีลวดลาย

สมัยรัตนโกสินทร์   การทอผ้าในช่วงรัชกาลที่ 1 - 3 มีการทอตามหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งปรากฏหลักฐานในสมัยรัชกาลที่ 2 มีการให้หัวเมืองต่าง ๆ ทอผ้าขาวส่งให้หลวงเพื่อย้อมเป็นสบงจีวรถวายพระ เนื่องในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 1 ผ้าทอเหล่านั้นเป็นผ้าฝ้ายพื้นเมืองที่ทอสำหรับใช้สอยในครัวเรือน เป็นผ้าเนื้อหยาบ ฝีมือไม่ดีนัก ทั้งนี้เพราะบรรดาคนชั้นสูง และผู้ที่มั่งคั่งจะใช้ผ้าคุณภาพดีจากต่างประเทศ ผ้าทอพื้นบ้านคงเป็นผ้าสำหรับประชาชนทั่ว ๆ ไปเป็นส่วนใหญ่ (วิบูลย์ ลี้สุวรรณ, 2530 : 67 - 68)   สมัยรัชกาลที่ 5 มีการทอผ้าผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมกันอย่างแพร่หลาย อีกทั้งประชาชนปลูกฝ้ายหรือเลี้ยงไหมเพื่อการทอผ้าในครัวเรือน   ประกอบกับมีผ้าจากต่างประเทศเข้ามาขายและราคาถูกไม่จำเป็นต้องทอผ้าใช้ก็หาซื้อกันได้ง่าย  หลังจากการทำสนธิสัญญาบาวริงแล้ว  สินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะผ้าได้เข้ามาขายมาก ทำให้การหัตถกรรมของเราเสื่อมโทรมลง (นิติ กสิโกศล, 2541 : 11)

ปัจจุบันการทอผ้าพื้นบ้านกระจายไปทั่วทุกภาคแต่ก็เป็นเฉพาะกลุ่ม  ได้แก่ ภาคตะวันออก  เฉียงเหนือและภาคเหนือ  รูปแบบของผ้าจะแตกต่างกันไปตามคตินิยม ความเชื่อและ ขนบธรรมเนียมประเพณีของเชื้อชาติและกลุ่มชน เช่น กลุ่มชนพื้นเมืองล้านนาทางภาคเหนือ นิยมทอผ้าฝ้ายและผ้าไหมที่มีลวดลายด้วยวิธีการยก และจกเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าเป็นกลุ่มชนคน ไทยเชื้อสายไทครั่ง ไทพวน และไทยวน และลาวอีสานนิยมทอผ้าด้วยวิธีจกและมัดหมี่ คนพื้น เมืองในภาคใต้นิยมทอผ้ายก เป็นต้น  การจัดประเภทของผ้าทอพื้นบ้านในประเทศไทยอาจแบ่งได้ 2 ลักษณะคือการแบ่งประเภทตามวัสดุที่ใช้ และการแบ่งประเภทตามวิธีการทอ

 

·       ผ้าทอที่แบ่งตามวัตถุดิบที่ใช้ ได้แก่ ฝ้ายและไหม

ฝ้าย เป็นพืชที่ปลูกทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย เป็นพืชเขตร้อน ชอบดินปนทราย และอากาศโปร่ง ไม่ชอบที่ร่ม เส้นใยของฝ้ายจะดูดความชื้นได้ง่าย และเมื่อดูดความชื้นแล้วจะระเหยเป็นไอ ดังนั้นเมื่อสวมใส่เสื้อผ้าที่ทำด้วยผ้าฝ้ายจะมีความรู้สึกเย็นสบาย 

ไหม เส้นใยไหมได้จากตัวไหม ซึ่งส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงไหมกันใน ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ตัวไหมมีลักษณะคล้ายหนอน เมื่อแก่ตัวจะชักใยหุ้มตัวของมันเอง เรียกว่า รังไหม รังไหมนี้จะนำมาสาวเป็น เส้นไหม แล้วจึงนำไปฟอกด้วยการต้มด้วยด่างและนำมากวักเพื่อให้ได้ เส้นใยไหม หลังจากนั้นจึงนำมาย้อมสีและนำไปทอเป็นผืนผ้าตามที่ต้องการ เส้นไหมมีคุณสมบัติ ลื่น มัน และยืดหยุ่นได้ดี

·   ผ้าทอที่แบ่งตามกรรมวิธีในการทอ  ซึ่งมีชื่อเรียกต่างกันออกไปตามลวดลายที่เกิดจากการทอบนผืนผ้า เช่น   ผ้ามัดหมี่  ผ้าจก   ผ้าขิด   ผ้าแพรวาผ้ายกดอก

 

            การทอผ้าพื้นบ้านพื้นเมืองหลายแห่งยังคงทอลวดลายสัญลักษณ์ดั้งเดิม  โดยเฉพาะในชุมชนที่มีเชื้อสายชาติพันธุ์   บางกลุ่มที่กระจายตัวกันอยู่ในภาคต่างๆ ของประเทศไทย  ศิลปะการทอผ้าของกลุ่มชนนับว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม   หากแบ่งผ้าพื้นเมืองเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน  สามารถแบ่งได้ดังนี้

 

ภาคเหนือ   การทอผ้าในภาคเหนือหรือที่เรียกว่าแถบล้านนา ได้แก่  จังหวัดเชียงรายพะเยา  ลำพูน ลำปาง  แพร่   น่าน  เชียงใหม่  และแม่ฮ่องสอน   โดยเฉพาะกลุ่มชาวไทยโยนกหรือไทยยวนและชาวไทยลื้อ อันเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมของล้านนาไทย เป็นกลุ่มที่มีความเชื่อเรื่องการตั้งถิ่นฐานในสภาพแวดล้อมที่เป็นภูเขาและมีทางน้ำไหล  ผู้หญิงไทยยวนและไทยลื้อในปัจจุบันยังรักษาวัฒนธรรมการทอผ้าที่มีรูปแบบและลวดลายสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต  โดยเฉพาะการทอซิ่นตีนจก ผ้าขิต และผ้าที่ใช้เทคนิค "เกาะ" เป็นต้น   นอกจากชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในแถบภาคเหนือบริเวณล้านนาไทย เช่น ลื้อ ลัวะ กะเหรี่ยง ไทยใหญ่  มอญ และไทยภูเขาเผ่าต่างๆ เช่น แม้ว มูเซอ  อีก้อ เย้า ลีซอ เป็นต้น ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้  ต่างก็มีวัฒนธรรมการทอผ้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นผ้าฝ้าย และตกแต่งเป็นลวดลายสัญลักษณ์ที่แสดงเอกลักษณ์เผ่าพันธุ์ตนเองทั้งสิ้น

 

 

 

 

 

 

 

ผ้าลายน้ำไหล

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาคกลาง  การทอผ้าในภาคกลางแบ่งได้เป็นภาคกลางตอนบน ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร อุตรดิตถ์ และสุโขทัย  ภาคกลางตอนล่าง ได้แก่  จังหวัดอุทัยธานี  ชัยนาท สุพรรณบุรี สระบุรี ลพบุรี นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี   มีกลุ่มไทยวนและไทลาว อพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่ทั่วทั้งภาค  กลุ่มชนไทลาวนั้นมีหลายเผ่า เช่น พวน โซ่ง ผู้ไท ครั่ง ฯลฯ ซึ่งอพยพย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ในไทย  กลุ่มชนเหล่านี้ยังรักษาวัฒนธรรมและเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นไว้  โดยเฉพาะวัฒนธรรมการทอผ้าของผู้หญิงที่ใช้เทคนิคการทำตีนจก และขิต เพื่อตกแต่งเป็นลวดลายบนผ้าที่ใช้นุ่งในเทศกาลต่างๆ หรือใช้ทำที่นอน หมอน  ผ้าห่ม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าขาวม้าฯลฯ แม้ว่าในปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนไปมาก  กลุ่มคนเหล่านี้ยังมีการทอผ้าเป็นอาชีพเสริม  

 

 

 

 

 

 

 

         

                                           

 

 

 

 

                                            ผ้าซิ่นตีนจก

 

 

 

 

 

 

 

ภาคอีสาน   การทอผ้าในภาคอีสานนั้นกลุ่มคนไทยเชื้อสายลาวเป็นชนกลุ่มใหญ่ของภาคอีสานที่มีการกระจายกันอยู่ตามจังหวัดต่างๆ และมีวัฒนธรรมการทอผ้าอันเป็นประเพณีดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาเกือบทุกชุมชน  แต่ละกลุ่มแต่ละเผ่าก็จะมีลักษณะและลวดลายการทอผ้าที่เป็นของตัวเองอย่างชัดเจน โดยเฉพาะผ้ามัดหมี่  ผ้าขิตและผ้าไหมหางกระรอก นอกจากกลุ่มคนไทยเชื้อสายลาวแล้วยังมีชนกลุ่มอื่นๆ เช่น ข่า กระโซ้กะเลิง ส่วย และเขมรสูง โดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายเขมร  กระจายอยู่ในบริเวณจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ และมีประเพณีการทอผ้าที่สวยงามสืบทอดกันมาช้านาน  โดยเฉพาะในจังหวัดสุรินทร์มีหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงหลายหมู่บ้านทอผ้าชนิดต่างๆ เช่น ผ้าปูมแบบเขมร ผ้าหมี่โฮล  ผ้าอัมปรม  ผ้าลายสาคู เป็นต้น

 

 

 

 

 

 

 

     ผ้ามัดหมี่

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาคใต้  การทอผ้าในภาคใต้มีแหล่งทอผ้าที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง โดยเฉพาะแหล่งทอผ้ายกดิ้นเงินดิ้นทอง   สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากชาวมุสลิม  ชาวอาหรับ ที่มาค้าขายตั้งแต่สมัยโบราณ ต่อมาผ้ายกเงินยกทองได้กลายเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงของอาณาจักรไทยในภาคกลาง บรรดาพวกเจ้าเมืองและข้าราชการหัวเมืองภาคใต้จึงต่างสนับสนุนให้ลูกหลานและชาวบ้านทอกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยเฉพาะที่เมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา และที่ตำบลพุมเรียงอำเภอไชยา  จังหวัดสุราษฎร์ธานี ล้วนเคยเป็นแหล่งทอผ้ายกที่มีชื่อเสียงมากในอดีต เป็นที่กล่าวขวัญถึงและนิยมกันมากในหมู่ขุนนางสมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์

         การทอผ้าพื้นเมืองทั้ง  4  ภาค  ยังคงสืบสานการทอผ้าด้วยลวดลายสัญลักษณ์ดั้งเดิม  ดังจะเห็นได้จากชุมชนที่มีเชื้อสายชาติพันธุ์  ศิลปะการทอผ้าของกลุ่มชนเหล่านี้จึงนับว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มอยู่จนถึงทุกวันนี้  อีกทั้งยังแสดงออกถึงภูมิปัญญา  ความเชื่อ  ที่เป็นรากฐานทางวัฒนธรรม 

 

 

 

ลวดลายและสัญลักษณ์ในผ้าไทย

 

                   ลวดลายและสัญลักษณ์บนผ้าทอ  เชื่อกันว่ามีการเชื่อมโยงกับคติความเชื่อของคนไทยที่สืบทอดกันมา  ซึ่งอาจเปรียบเทียบกับสัญลักษณ์ต่าง ๆ เหล่านี้กับลวดลายสัญลักษณ์ที่ปรากฎอยู่ในศิลปะประเภทอื่น  ในงานจิตรกรรม  ประติมากรรม  และสถาปัตยกรรม  หรือในตำนานพื้นบ้านและวรรณกรรมต่าง ๆ  ซึ่งลวดลายมักจะเชื่อมโยงความเชื่อของกลุ่มชนพื้นบ้านของไทย  ลวดลายบางลายอาจมีชื่อเรียกสืบต่อกันมาหลายชั่วคน บางชื่อก็เป็นภาษาท้องถิ่นไม่เป็นที่เข้าใจของคนไทยในภาคอื่นๆ เช่น  ลายเอี้ย  ลายบักจัน ฯลฯ  บางชื่อก็เรียกกันมาโดยไม่รู้ประวัติ เช่น ลายแมงมุม ลายปลาหมึก ซึ่งแม้แต่ผู้ทอก็อธิบายไม่ได้ว่าทำไมจึงเรืยกชื่อนั้น  บางลวดลายก็มีผู้ตั้งชื่อให้ใหม่  ลวดลายบางลายอาจเป็นคติร่วมกับความเชื่อสากลและปรากฏอยู่ในศิลปะของหลายชาติ เช่น ลายขอหรือลายก้นหอย เป็นต้น  ซึ่งนับว่าเป็นลายเก่าแก่แต่โบราณของหลายๆ ประเทศทั่วโลก  หากเรารู้จักสังเกตและศึกษาเปรียบเทียบแล้วก็จะเข้าใจลวดลายและสัญลักษณ์ในผ้าพื้นเมืองของไทยได้มากขึ้น และมองเห็นคุณค่าได้ลึกซึ้งขึ้น  ลวดลายที่เชื่อมโยงความเชื่อของไทยได้อย่างชัดเจน  ได้แก่

งูหรือพญานาค  ปรากฎอยู่บนลวดลายพื้นบ้านทั่วทุกภาคโดยเฉพาะล้านนาและอีสาน อีกทั้งยังพบในกลุ่มคนตระกูลไท  ที่อาศัยนอกดินแดนไทยที่เรียกว่า  สิบสองปันนา  ในแถบลุ่มแม่น้ำโขง  คนไทยและคนลาวต่างมีความเชื่อที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ  เรื่องพญานาคซึ่งอาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขง 

นก  หาญ  และ หงส์  ปรากฎอยู่บนสัญลักษณ์ของผ้าทอทางภาคเหนือ  นอกจากนี้ยังสามารถพบเห็นในผ้าทอของกลุ่มชนสิบสองปันนาและกลุ่มไทใหญ่ในเวียดนาม   และยังพบในสถาปัตยกรรมล้านนาและล้านช้าง

 

      การสร้างลวดลายที่เกิดจากการทอ  เป็นการสร้างลวดลายลงในเนื้อผ้า  โดยการทอให้หน้าผ้าเป็นลวดลายจากการยกและข่มเส้นด้ายยืน เส้นด้ายพุ่ง  เช่น  การทอผ้ายกดอก  ผ้ามัดหมี่  และลวดลายที่เกิดจากการเสริมเส้นด้ายพุ่งเข้าไป  ได้แก่  ผ้าขิด  ผ้าจก  เป็นต้น

ผ้ามัดหมี่  มีกรรมวิธีการทอที่ทำให้ให้เกิดลวดลายโดยการย้อมเส้นด้ายหรือเส้นไหม   โดยการผูกมัดให้เกิดช่องว่าง การทอผ้ามัดหมี่แต่ละผืนต้องใช้เวลาและความประณีต โดยจัดเรียงเส้นไหมและฝ้ายให้สม่ำเสมอ คงที่ กรรมวิธีต้องเรียงลำดับก่อนหลังให้ถูกต้อง เพื่อทำให้เกิดลวดลายสวยงามตามต้องการ  หากลวดลายสลับซับซ้อนต้องมัดอย่างปราณีตและมีความละเอียด  หรือหากต้องการสีสันที่ซับซ้อนต้องทำการมัดแล้วย้อมหลาย ๆ ครั้ง  ผู้มัดต้องมีความชำนาญในรูปแบบของลวดลาย และการใช้สี  จึงจะได้ผลงานผ้าทอที่งดงามทั้งลวดลายและสีสัน

                                การทอผ้ามัดหมี่เป็นที่รู้จักและยอมรับกันว่าเป็นผ้าทอที่ต้องอาศัยทักษะความละเอียดสูง  เพราะต้องให้เทคนิควิธีการที่ซับซ้อน  ผ้ามัดหมี่จึงมีคุณค่าจากฝีมือช่างทอบวกกับการใช้วัสดุที่มีคุณภาพส่งให้ผลงานออกมามีคุณค่า 

ผ้าจก เป็นผ้าทอผืนแคบ ๆ อาจทอขึ้นจากฝ้ายหรือไหม หรือผสมผสานกันทั้งฝ้ายและไหมก็ได้ ผ้าชนิดนี้มีลักษณะของการทอและปักผสมผสานกัน อีกทั้งเป็นผ้าที่นิยมนำไปประกอบหรือตกแต่งผ้าผืนใหญ่อีกที โดยเฉพาะผ้านุ่งหรือผ้าซิ่น เมื่อประกอบกันแล้วก็จะเรียกว่า ผ้าซิ่นตีนจก

ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล. แพทรีเซีย ซีสแมน (2531 : 25) ได้อธิบายว่า จก เป็นเทคนิคการทำให้เกิดลวดลายบนผืนผ้าด้วยวิธีการเพิ่มด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปเป็นช่วง ๆ ไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผ้า กระทำโดยใช้ไม้ หรือขนเม่นหรือนิ้วมือยก หรือจกเส้นด้ายยืนขึ้นแล้วสอดใส่ด้ายพุ่งพิเศษเข้าไป

อุดม สมพร (2537 : 140) ได้อธิบายว่า จก เป็นคำกริยา เป็นภาษาพื้นบ้านของชาวล้านนา หมายถึง การล้วง ควัก เอาขึ้นมา เช่น จกปลาร้าออกจากไห จกปูออกจากรู

การทอจกเป็นกรรมวิธีของการทอและการปักผ้าไปพร้อมๆกัน การทอลวดลายใช้วิธีการเพิ่มด้ายเส้นพุ่งพิเศษเข้าเป็นช่องๆไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผ้า ซึ่งจะทำได้โดยใช้ไม้หรือขนเม่น หรือนิ้วมือยกขึ้น เป็นการทอผสมการปักกลายๆ  เรียกว่าจก

                        เชิงซิ่นตีนจก นับได้ว่าเป็นศิลปะพื้นบ้านที่ละเอียดประณีตและซับซ้อน มีความสวยงามเป็นพิเศษ เหนือผ้าพื้นเมืองประเภทอื่น ๆ ทั้งกลวิธี กรมวิธี ต้องอาศัยความมีฝีมือ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ ความอุตสาหะวิริยะอย่างสูง ด้วยความวิจิตรบรรจง เหนือผ้าทอพื้นเมืองด้วยกัน คุณค่าในแง่ศิลปะ

 

 

 

 ผ้าขิด เป็นผ้าที่สร้างลวดลายโดยการเก็บเขาหรือตะกอเส้นยืนให้มีความแตกต่างจากผ้าพื้น  แล้วมีการเพิ่มเส้นด้ายพิเศษเข้าไป  ด้วยกรรมวิธี เขี่ย หรือสะกิดเส้นด้ายยืนขึ้น แล้วสอดเส้นพุ่งไปตามแนวเส้นยืน จังหวะการสอดเส้นด้ายพุ่งจะทำให้เกิดลวดลายรูปแบบต่างๆ   จึงทำให้เกิดลาซำจนเต็มหน้าผ้า  ซึ่งนิยมทอกันมากในทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ

 


       

 

 

 

ผ้าขิด       

 

 

 

 

 

 

 

 

ผ้าแพรวา เป็นผ้าทอมือด้วยกรรมวิธีทอผ้าให้เกิดลวดลาย ลักษณะผสมกันระหว่างลายขิดกับลายจก ผ้าแพรวาต้องมีหลายๆลายอยู่ในผืนเดียวกัน การทอแพรวาแบบผู้ไทดั้งเดิมจะไม่ใช้อุปกรณ์อื่นช่วย  ไม่ว่าจะเป็นเข็ม  ไม้  หรือขนเม่น  ลวดลายของแพรวามีลักษณะคล้ายคลึงกับลายขิดอีสานโดยมีข้อแตกต่างกันอยู่ที่ความหลากหลายของสีสันในแต่ละลวดลายนั้นน้อยกว่าผ้าจกของชาวไทยพวนหรือไทยยวน แต่มีลักษณะรวมกันคือลายหลักมักเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมแปียกปูน (อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานของลายผ้า)ลวดลายของแพรวานั้นมีความหลากหลายพอๆ กับลายผ้าแบบอื่น ขึ้นกับความคิดสร้างสรรค์ของช่างทอ   ลวดลายหลักได้แก่ ลายนาคสี่แขน ช่อขันหมาก ดาวไต่เครือ และมีลายแถบ เช่น ดอกดาวหมู่ ดอกแปดขอ เป็นต้น ในผืนหนึ่งๆ จะลวดลายนับสิบลาย

การเรียงตัวของลายผ้านั้น เนื่องจากแพรวาใช้พาดในแนวตั้ง ลายผ้าจึงไล่ไปทางแนวตั้ง ขณะที่ผ้าจกลายผ้าจะไล่ไปแนวนอน ตามระดับการมองผ้าแพรวาของชาวผู้ไทแต่เดิมนั้น มีโทนสีเป็นสีแดงคล้ำ หรือสีปูน เป็นหลัก ผ้าแพรวาที่ทอในปัจจุบันจึงมีสองลักษณะ คือผ้าหน้าแคบขนาดแพรวาแบบเดิม (ผลิตน้อย) กับขนาดหน้ากว้างประมาณ 1 เมตร สำหรับการตัดเย็บใช้สอยอื่นๆ

 

 

 

 

ผ้าแพรวา

 

 

 

 

 

 

 

ผ้ายกดอก มีกรรมวิธีการทอให้เกิดลวดลายในการยกตะกรอแยกด้ายเส้นยืน แต่ไม่ได้เพิ่มเส้นด้ายยืน หรือ เส้นพุ่งพิเศษเข้าไปในผืนผ้า แต่ในบางครั้งจะยกดอกด้วยการเพิ่มเส้นพุ่ง จำนวนสองเส้นหรือมากกว่านั้น  ผ้าทอยกดอกเป็นผ้าทอที่พัฒนาขึ้นใหม่ จัดอยู่ในประเภทยกเหา ( เขา ) โดยมีการเก็บลวดลายไว้ล่วงหน้าใช้วิธีการทอแบบยกเหาแล้วสอดไม้แป้นขิด ตั้งค้างไว้แล้วจึงสอดด้ายพุ่งเข้าไปเพื่อให้เกิดลวดลาย   ลักษณะการทอที่มีการยกเหาเพื่อให้เกิดลวดลายนี้  เรียกว่าการทอผ้ายก  ดอก 

ลักษณะเด่นของผ้ายกดอก  คือ   ผืนผ้าจะมีลวดลายในตัวโดยผิวสัมผัสผ้ายกดอกจะมีความนูนของผืนผ้าแต่ละชิ้นแตกต่างกัน    ขึ้นอยู่กับลวดลายของละลายส่วนใหญ่ลายจะใช้ฝ้ายหรือไหมสีเดียวกันตลอดทั้งผืน   บางครั้งอาจมีการจกฝ้ายเข้าไปเพื่อเพิ่มความเด่นของลวดลาย

 

 

ผ้าทอยกดอก

 

 

 

 

จากข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าการทอผ้านับเป็นงานศิลปะพื้นบ้านที่คนไทยผูกพันเกี่ยวข้องมาเป็นเวลายาวนาน นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า งานทอผ้าเป็นงานหัตถกรรมของไทยอย่างหนึ่งที่อาศัยแรงงาน และฝีมือประดิษฐ์คิดค้น ทั้งยังเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสั่งสมประสบการณ์ และอุดมการณ์พื้นฐานในการดำรงชีวิต ศิลปะการทอผ้าจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่า การทอผ้าพื้นบ้านของไทยนั้นมีกระจายอยู่ทั่วไป รูปแบบของผ้าแต่ละกลุ่มชนจะมีความแตกต่างกันไปตามคตินิยม ความเชื่อและขนบธรรมเนียมประเพณีของกลุ่มชนในแต่ละท้องถิ่นของประเทศมีทั้งผ้าพื้นสีเรียบ ๆ และผ้าที่มีลวดลายอันเนื่องมาจากกรรมวิธีที่ประณีต

การทอผ้าพื้นบ้านเป็นศิลปหัตถกรรมที่มีความประสานสัมพันธ์กับภูมิศาสตร์  การตั้งถิ่นฐานเชื้อชาติ ตลอดจนถึงระบบความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีศาสนาและวัฒนธรรม อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิตของแต่ละกลุ่มชน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบและเป็นข้อกำหนดในการเลือกใช้วัสดุ การออกแบบลวดลายและสีสันของผ้าทอ (วิบูลย์ ลี้สุวรรณ, 2530 : 85)  ลวดลายและสีสันที่ปรากฏอยู่บนผืนผ้านั้น เป็นกรรมวิธีในเชิงศิลปะที่ละเอียดอ่อน  

ศิลปะผ้าทอมีประวัติอันยาวนานและมีความมั่งคั่งปรากฎอยู่หลากหลาย  อีกทั้งยังมีการสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีการผลิตผ้าทอมาจนถึงปัจจุบัน  ซึ่งรูปแบบลวดลายและกรรมวิธีในการผลิตมีแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นอันมีรูปแบบเฉพาะของเชื้อชาติ  สิ่งสำคัญการสอดแทรกภูมิปัญญาแห่งงานศิลป์ผสมผสานความปราณีตบรรจง  แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของท้องถิ่นที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่าผ้าทอพื้นบ้านจึงเป็นศิลปะแห่งภูมิปัญญา   ที่แสดงออกถึงความเจริญรุ่งเรืองทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม  รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มคนแสดงผ่านทางลวดลายเส้นสีของผ้าที่สอดแทรกความเชื่อ  และขนบธรรมเนียมประเพณี  อันรากฐานทางศิลปวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธ์   เปรียบเสมือนการบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ลงบนผืนผ้า  อีกทั้งเพื่อแสดงออกถึงความเป็นเผ่าพันธ์ของตน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

นิติ  กสิโกศล. (2541). การพัฒนาอุตสาหกรรมไหมไทยในภาคอีสาน : รัชสมัยพระบาทสมเด็จ

พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2444-2455).กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ไมตรี  เกตุขาว. (2540). การศึกษาลวดลายผ้าตีนจกในภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย.

ปริญญานิพนธ์. กรุงเทพ ฯ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

วิบูลย์  ลี้สุวรรณ. (2530). ผ้าไทย : พัฒนาการทางอุตสาหกรรมและสังคม. กรุงเทพฯ :

บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย.

วิบูลย์  ลี้สุวรรณ. (2531). ผ้าไทย. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา.

ทรงศักดิ์  ปรางค์วัฒนากุล และ แพทรีเซีย  แน่นหนา. (2533). ผ้าโบราณแห่งนครเชียงใหม่.

เชียงใหม่ : โครงการสงวนรักษาและจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ผ้าไทยโบราณภาคเหนือ.

อุดม  สมพร. (2540). ผ้าจกไทย ยวน ราชบุรี. กรุงเทพ ฯ: ศูนย์สืบทอดศิลปะผ้าจกราชบุรี