ผ้าซิ่นตีนจก

ชาวไทยวน เป็นกลุ่มชนที่เข้ามาตั้งถิ่นอาศัยในจังหวัดราชบุรีสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยอพยพจากเมืองเชียงแสนเข้ามายังจังหวัดราชบุรี ชาวไทยวนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดราชบุรีมีชื่อเสียงในการทอผ้าจก ซึ่งสืบทอตำนานการทอผ้ามาตั้งแต่บรรพบุรุษจากแนวคิดของการสอดแทรกอารมณ์ทางสุนทรีย์แห่งศิลปะ เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต ความเชื่อ และพิธีกรรม ผสมผสานแนวคิดทางวัฒนธรรมความเชื่อที่สนองตอบศรัทธาในศาสนา ซึ่งได้รับการถ่ายทอดและสืบสานจากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันผ้าจกเป็นที่รู้จักกันในกลุ่มคนทั่วไปว่า “ผ้าซิ่นตีนจก”

ผ้าซิ่นตีนจกมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตผู้หญิงไทยยวน โดยเฉพาะการสวมใส่ในโอกาสสำคัญ ๆ ของช่วงชีวิต ผ้าซิ่นตีนจกมีลักษณะเฉพาะและสะท้อนเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวนราชบุรีที่แตกต่างจากกลุ่มรอบข้าง ผ้าซิ่นตีนจกราชบุรีหากพิจารณาจากลวดลายและสีสันสามารถแบ่งได้เป็น 3 ตระกูล คือ ผ้าจกตระกูลคูบัว ผ้าจกตระกูลหนองโพ-บางกะโด และ ผ้าจกตระกูลดอนแร่ ซึ่งนับว่าเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธ์ที่ยังคงได้รับการสืบทอดในชุมชน แต่ทางกลับกันความคิดเห็นของคนทั่วไปอาจจะยอมรับว่าผ้าซิ่นตีนจกเป็นส่วนหนึ่งของภูมิปัญญาดั้งเดิมของการทอผ้าพื้นบ้าน แต่ในความเป็นจริงผ้าซิ่นตีนจกไม่ได้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนทั่วไปเป็นเพียงการนำมาสวมใส่ตามสมัยนิยม
ปัจจุบันการทอผ้าซิ่นตีนจกเป็นการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค มีเป้าหมายเพื่อการค้าซึ่งแตกต่างไปจากการสร้างสรรค์เพื่อสืบทอดรูปแบบเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม ส่งผลให้เกิดการประดับตกแต่งลวดลายรวมทั้งสีสันบนผืนผ้าให้มีความหลากหลาย อันมีผลต่อเอกลักษณ์ของผ้าซิ่นตีนจกชาวไทยวนดั้งเดิม อีกทั้งกระแสนิยมและการให้คุณค่าแก่ผ้าซิ่นตีนจกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การครอบครองผ้าซิ่นตีนจกกลายเป็นสิ่งแบ่งแยกฐานะทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญผ้าซิ่นตีนจกในฐานะเอกลักษณ์ทางชาติพันธ์ของชาวไทยวนถูกปรับปรุงไปตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคม แทนที่จะถูกสร้างสรรค์ตามการอนุรักษ์อย่างแท้จริง

ที่มา :
จิราพร แก้วศรีงาม. (2541). มรดกสิ่งทอสะท้อนวัฒนธรรมไทยวนราชบุรี.(Online). Available:
http:// www.sacict.net/research/T311.doc
มโน กลีบทอง. (2544). พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติราชบุรีและจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ: สมาพันธ์.