การออกแบบวิจัยเชิงศิลปวัฒนธรรม

• การวิจัย
การวิจัย คือ กระบวนการหาความรู้ความจริงใหม่ ที่มีระบบแบบแผนตามหลักวิชา อาศัยหลักเหตุผล ที่รอบคอบ รัดกุม ละเอียดและเชื่อถือได้ และความรู้ความจริงนั้นจะนำไปเป็นหลักการ ทฤษฎี หรือ เป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชน สังคม เศรษฐกิจ อันเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ
ปัจจุบันการวิจัยเป็นกระบวนการหาความรู้ที่ได้รับการยอมรับว่า ความรู้ที่ได้รับนั้นป็น ความรู้ที่เป็นที่น่าเชื่อถือสามารถนำไปใช้หรือประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามเราได้มีกระบวนการหาความรู้มาเป็นเวลานาน การค้นพบความรู้อาจได้จาก การบังเอิญ การลองผิดลองถูก จากผู้มีอำนาจ การบอกเล่าจากผู้เชี่ยวชาญ ประสบการณ์ส่วนตัว และวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม เป็นต้น ซึ่งสามารถสรุปขั้นตอนในกระบวนการวิจัยตามทฤษฎีของชาร์ล ดาร์วิน (Charles Darwin ) โดยนำวิธีอนุมานของอริสโตเติลและวิธีอุปมานของ เบคอน มารวมกัน เพื่อใช้ในการค้นหาความรู้ความจริง และตรวจสอบความถูกต้องโดยแบ่งเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้
1. ขั้นปัญหา (Problem) เป็นขั้นตอนที่จะสังเกตพบปัญหาในความต้องการความรู้ความจริงว่า มีเหตุการหรือสภาพการณ์เป็นอย่างไร มีเหตุหรือปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดเหตุการณ์หรือสภาพการณ์นั้น
2. ขั้นตั้งสมมติฐาน (Hypothesis) ขั้นตอนนี้จะต้องศึกษาและทบทวนความรู้ที่มีอยู่เดิมมาประกอบการพิจารณาว่าคำตอบของปัญหาในขั้นที่ 1 เป็นอย่างไร ซึ่งเรียกว่า การตั้งสมมติฐาน อันจะเป็นแนวในการตรวจสอบว่า สมมติฐานที่ตั้งขึ้นจะเป็นจริงหรือไม่
3. ขั้นรวบรวมข้อมูล (Gathering Data) ขั้นนี้จะทำการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมกับปัญหาที่ต้องการจะศึกษา
4. ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis) ขั้นนี้จะเป็นการนำข้อมูลที่รวบรวมมาทำการวิเคราะห์เพื่อหาความสอดคล้องหรือความแตกกันของข้อมูล เพื่อพิจารณาว่าข้อมูลเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับประเด็นปัญหาในลักษณะที่มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร เป็นต้น
5. ขั้นสรุป (Conclusion) ขั้นตอนนี้เป็นการนำผลการวิเคราะห์มาแปลผลและตีความผลการวิจัย อันเป็นการสรุปผลการวิจัย ซึ่งเป็นวิธีการหาความรู้ความจริงที่มีความน่าเชื่อถือ
ดังนั้นสรุปได้ว่าการทำวิจัยเป็นการมุ่งศึกษาข้อมูลเพื่อค้นหาความรู้ตามกระบวนการดังกล่างข้างต้น ซึ่งสามารถสรุปธรรมของการวิจัยได้ ดังนี้
1. กระบวนการวิจัยจะต้องได้จากข้อมูลใหม่
2. จุดมุ่งหมายใหม่ หรือข้อมูลเก่า แต่จุดประสงค์ใหม่
3. การวิจัยมุ่งที่จะหา ข้อเท็จจริงใหม่ ทฤษฎีใหม่
4. การวิจัยเป็นกระบวนการที่ใช้เหตุผล
5. การวิจัยต้องมีการวางแผน ด้วยความระมัดระวัง อย่างมีระบบ
6. การวิจัย ต้องมีการบันทึก และรายงาน อย่างละเอียด

• การออกแบบงานวิจัย

ตามนิยามของ Kerlinger การออกแบบการวิจัย เป็นโครงสร้างเฉพาะ (Stucture ) ของการวิจัย และแนวทางในการดำเนินการวิจัย (Plan) เพื่อให้สามารถตอบปัญหาวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด การออกแบบการวิจัยเชิงปริมาณมีเป้าหมายเพื่อ มุ่งตอบปัญหาวิจัยได้อย่างตรงประเด็น และ อธิบายหรือควบคุมความผันแปร ซึ่งประการหลังนี้ย่อมถือว่าเป็นลักษณะสำคัญของการวิจัยเชิงปริมาณ (Kerlinger 1986 : 279)
Research design ในความหมายของ ผ่องพรรณ ตรัยมงคลกูล และสุภาพ ฉัตราภรณ์ กล่าวว่า การออกแบบงานวิจัย สามารถมองได้ 2 ความหมาย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันได้แก่
1. แบบการวิจัย- รูปแบบเฉพาะของการวิจัย เพื่อตอบสนองจุดมุ่งหมายหนึ่งๆ เช่น การทดลองแบบต่างๆ การวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ เป็นต้น
2. การออกแบบการวิจัย- การวางโครงสร้าง / กรอบการวิจัย ครอบคลุมตั้งแต่การกำหนดปัญหาวิจัย การวางกรอบตัวแปร การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการสรุปผล (ผ่องพรรณ ตรัยมงคลกูล และสุภาพ ฉัตราภรณ์. 2549 : 24-25 )
การสร้างสรรค์งานวิจัยประเด็นที่มีความสำคัญเป็นลำดับแรก คือ คำถามของวิจัยและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน คำถามของงานวิจัยจะเป็นตัวกำหนดรูปแบบการวิจัย ( Study design ) ที่เหมาะสม จากนั้นจึงนำไปสู่การออกแบบรายละเอียดของงานวิจัย งานวิจัยที่มีการออกแบบไว้ดีและละเอียดรอบคอบจะช่วยหลีกเลี่ยงหรือลดความคลาดเคลื่อนในการดำเนินงานวิจัย ส่งผลให้ผลการวิจัยใกล้เคียงกับความจริงมากที่สุด ทั้งนี้ในการออกแบบงานวิจัยสิ่งที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่คำถามวิจัยหรือวัตถุประสงค์ของงานวิจัยชิ้นนั้น และความเป็นไปได้ของการดำเนินงานวิจัย ผู้วิจัยจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าคำถามวิจัยที่ตั้งขึ้นมีประโยชน์และความน่าสนใจ อีกทั้งมีความเป็นไปได้ในการดำเนินงานมากน้อยเพียงใด

• ความมุ่งหมายของการออกแบบการวิจัย

1. เพื่อให้ได้คำตอบตามประเด็นปัญหา โดยออกแบบบนพื้นฐานของทฤษฎี และประสบการณ์ เพื่อกำหนดแบบ แผนการวิจัยอย่างรอบคอบ
2. เพื่อควบคุมความแปรปรวนของตัวแปร โดยเลือกเทคนิคการสุ่มและแบบแผนการวิจัยที่เหมาะสม
3. เพื่อให้การวัดตัวแปรถูกต้องแม่นยำ เป็นการลดความแปรปรวนและความคลาดเคลื่อนได้
4. เพื่อให้การวิจัยดำเนินการอย่างเป็นระบบตามขั้นตอน คือ จะทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไรการออกแบบการวิจัยที่ดี จะช่วยให้ ผู้วิจัยดำเนินการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
5. เพื่อประหยัดทรัพยากร ทั้งในส่วนของบุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ และเวลา

• การเลือกการออกแบบการวิจัยที่เหมาะสม (Selecting the appropriate research design)
ในการออกแบบงานวิจัยผู้วิจัยต้องเลือกเทคนิคการออกแบบงานวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบของงานวิจัยที่มีคุณภาพโดยหากเป็นงานวิจัยด้านศิลปวัฒนธรรมผู้วิจัยสามารถใช้พื้นฐานสำหรับการวิจัยเชิงพรรณนาและการวิจัยเชิงเหตุผลประกอบ สามารถสรุปพื้นฐานในการออกแบบได้ 4 ประการ
1. การสำรวจ (Survey) เป็นเทคนิคการวิจัยซึ่งรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างของประชากรเป็นวิธีการที่ใช้มากที่สุดในการรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิ โดยใช้แบบสอบถาม การเขียนแบบสอบถาม การกำหนดรายการของคำถาม การออกแบบคำถามที่มีการจัดพิมพ์หรือเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นลักษณะของการพัฒนาการออกแบบงานวิจัยเชิงสำรวจ การวิจัยเชิงสำรวจอาจใช้โทรศัพท์ จดหมาย หรือใช้บุคคลสัมภาษณ์ เป็นต้น
2. การทดลอง (Experiments) การทดลองจะใช้มากในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล (Cause-and-effect relationships) การทดลองเป็นการสำรวจการเปลี่ยนแปลงในตัวแปรหนึ่ง หรือหลายตัวแปรเพื่อวัดผลกระทบต่อตัวแปรตาม เช่น การวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการมีส่วนร่วมในการเข้าร่วมการอนุรักษ์โบราณสถานของชุมชน เป็นต้น
3. การศึกษาข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary data study) หรือข้อมูลประวัติศาสตร์ (Historical data) หมายถึงการศึกษาข้อมูลที่อยู่ในลักษณะของเอกสารต่าง ๆ ที่บุคคลอื่นหรือหน่วยงานอื่นเก็บรวบรวมไว้แล้ว เช่น สถิติ รายงาน เอกสารที่ตีพิมพ์และไม่ตีพิมพ์ที่คาดว่าจะมีข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัย เช่น พงศาวดาร พระราชหัตถเรขา ตำนานพื้นบ้าน เป็นต้น
4. การสังเกต (Observation techniques) โครงการวิจัยหลายโครงการใช้การบันทึกโดยการสังเกต ตัวอย่าง การสังเกตขั้นตอนการทำงานและการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์โบราณสถาน เป็นต้น

การวิจัยที่สามารถนำมาใช้ในงานวิจัยด้านศิลปวัฒนธรรม

• การออกแบบการวิจัยเชิงสำรวจ

วิธีการวิจัยเชิงสำรวจ (survey research method) ถือว่าเป็นวิธีการแสวงหาความรู้ความจริงรูปแบบหนึ่ง และยังเป็นวิธีการวิจัยที่บุคคลต่างๆ รวมทั้งสาธารณชนโดยทั่วไปรู้จักมากที่สุด จนอาจกล่าวได้ว่าทุกวันนี้บุคคลแต่ละคนมีโอกาสสูงมากที่จะได้รับการร้องขอให้ตอบแบบสอบถามหรือให้ถ้อยคำสัมภาษณ์จากผู้ทำวิจัยเชิงสำรวจ โดยเฉพาะในประเด็นปัญหาที่กำลังอยู่ในความสนใจของสาธารณชน เช่น การสำรวจทัศนะคติของชุมชนที่มีต่อผู้นำทางศาสนา และการสำรวจประชามติและการหยั่งเสียงความนิยมทางการเมืองและสังคม (public-opinion poll) เหตุผลหลักที่ทำให้การวิจัยเชิงสำรวจได้รับความนิยม เพราะเป็นวิธีการศึกษากับบุคลเพียงบางคนที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เวลาและแรงงานน้อย แต่ได้คำตอบของโจทย์วิจัยใกล้เคียงกับการศึกษาจากบุคคลในกลุ่มเป้าหมายทุกคน เนื่องจากการได้รับความนิยมนำมาใช้ในการทำวิจัยที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และดูเหมือนจะดำเนินต่อไปเช่นนี้ในอนาคต เป็นผลให้บุคคลจำนวนไม่น้อยเข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงที่ว่า การแสวงความรู้ความจริงโดยวิธีการวิจัยเชิงสำรวจสามารถกระทำได้โดยง่าย ทั้งที่แท้จริงแล้วการทำวิจัยเชิงสำรวจที่ดีมีคุณภาพ นักวิจัยจะต้องลงมือกระทำทุกขั้นตอนด้วยความพิถีพิถันและอิงหลักวิชาการในลักษณะเดียวกับการทำวิจัยประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบการสำรวจ (survey designs) ภายใต้การคำนึงถึงความสมดุลระหว่างทรัพยากรที่มีและสารสนเทศทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพที่ต้องการได้รับจากการวิจัยเชิงสำรวจ ถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่นักวิจัยจะต้องดำเนินการก่อนลงมือดำเนินงานสำรวจ

• แนวคิดและหลักการออกแบบการวิจัยเชิงสำรวจ
การออกแบบการวิจัยเชิงสำรวจ คือ กระบวนการดำเนินงานวิจัยเชิงปริมาณที่นักวิจัยบริหารจัดการใช้แบบสอบถามหรือเครื่องมือวิจัยอื่นๆ แสวงหาความรู้ความจริงจากตัวอย่างที่เลือกเป็นตัวแทนของประชากรเป้าหมายหรือเข้าถึงได้ (target or accessible population) ตามประเด็นโจทย์การวิจัย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรยายและอธิบายวิถีชีวิต เจตคติ ความคิดเห็น คุณสมบัติหรือลักษณะเฉพาะ ภาพลักษณ์ ความต้องการจำเป็น หรือพฤติกรรมใดๆ ของประชาทั้งมวล
1. การออกแบบการวิจัยเชิงสำรวจเป็นการดำเนินกิจกรรมการวิจัยที่เริ่มต้นตั้งแต่การกำหนดคำถามการวิจัยเพื่อบ่งชี้สารสนเทศที่ต้องการจำเป็นได้รับจากการสำรวจ การเลือกวิธีทำการสำรวจ การเลือกและกำหนดขนาดตัวอย่าง การสร้างและพัฒนาเครื่องมือสำรวจ การเลือกแบบการสำรวจและวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลหลักฐาน การบริหารจัดการ การรวบรวมข้อมูลหลักฐานและทรัพยากรการสำรวจ และสิ้นสุดด้วยการเขียนข้อเสนอโครงการทำวิจัยสำหรับนำไปลงมือใช้ดำเนินการในทางปฏิบัติจริง เพื่อให้ได้สารสนเทศหรือข่าวสาร ผลของการสำรวจตอบประเด็นคำถามการวิจัยได้ถูกต้องและครบถ้วนสมบูรณ์

• จุดมุ่งหมาย
การออกแบบการวิจัยเชิงสำรวจมีจุดมุ่งหมายพื้นฐาน 3 ประการ คือ เพื่อช่วยให้ได้รับสารสนเทศผลของการสำรวจที่สามารถตอบโจทย์การวิจัยได้อย่างถูกต้องและมีประโยชน์ การสรุปอ้างอิงสารสนเทศผลการสำรวจจากตัวอย่างไปยังประชากรเชื่อถือได้ และการทำวิจัยเชิงสำรวจทุกขั้นตอนที่จะเกิดขึ้นจริงดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. เพื่อเป็นสิ่งประกันความมั่นใจการได้รับสารสนเทศผลของการวิจัยเชิงสำรวจที่มีประโยชน์และถูกต้องแม่นยำ (useful and valid information) การออกแบบการวิจัยเชิงสำรวจที่นักวิจัยกระทำทุกกิจกรรมที่ระบุข้างต้นอย่างพิถีพิถัน ช่วยให้นักวิจัยได้แนวทางปฏิบัติก่อนลงมือดำเนินงานสำรวจตามจุดมุ่งหมายการวิจัยที่กำหนดไว นอกจากนี้ยังช่วยให้นักวิจัยและผู้ให้การสนับสนุนงานวิจัยเกิดความมั่นใจว่าการดำเนินงานสำรวจที่จะลงมือปฏิบัติจริงๆ ตามแผนที่ออกไว้ (implementation) จะทำให้ได้รับสารสนเทศผลของการสำรวจที่มีประโยชน์ และสามารถตอบประเด็นคำถามหรือโจทย์การวิจัยได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์และถูกต้องแม่นยำตรงกับความเป็นจริง คือ การออกแบบการวิจัยมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโอกาสของการได้สารสนเทศอันเป็นข้อสรุปผลการศึกษาวิจัยกับกลุ่มตัวอย่างที่เลือกมาจากประชากรที่ไร้ประโยชน์ ตอบไม่ตรงและครบถ้วนทุกประเด็นคำถามการวิจัย และผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับประชากร
2. เพื่อให้การสรุปอ้างอิงสารสนเทศผลการสำรวจจากตัวอย่างไปยังประชากรเชื่อถือได้ การวิจัยเชิงสำรวจมีจุดเน้นสำคัญอยู่ตรงที่สารสนเทศผลของการสำรวจที่ได้จากการศึกษากับตัวอย่างที่เป็นตัวแทนของประชากร จะต้องสามารถอ้างอิงเป็นข้อสรุปทั่วไป (generalization) ที่มีสาระสำคัญตามประเด็นการสำรวจ สอดคล้องตรงกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับประชากรในวงกว้างได้ หรือกล่าวอย่างง่ายๆ คือ ข้อสรุปผลของการศึกษาวิจัยเชิงสำรวจกับตัวอย่างกลุ่มหนึ่งที่อยู่ ณ เวลาและสถานที่หนึ่ง สามารถอ้างอิงไปยังตัวอย่างกลุ่มอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกของประชากรเดียวกัน ณ เวลาและสถานที่ดังกล่าวนั้นได้ Campbell & Stanley (1963) เรียกคุณสมบัติของผลการศึกษาวิจัยที่สามารถนำไปประยุกต์กับตัวอย่างที่อยู่ภายนอกกลุ่มที่ทำการวิจัยว่า “ความตรงภายนอก” ซึ่งคุณสมบัติข้อนี้ถือเป็นตัวบ่งชี้อำนาจของการศึกษาเชิงสำรวจใดๆ (power of the survey study) ว่าสามารถอ้างอิงผลของการสำรวจไปยังประชากรเป้าหมายหรือประชากรเข้าถึงได้กว้างขวางและเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด
3. เพื่อให้การทำวิจัยเชิงสำรวจทุกขั้นตอนที่จะเกิดขึ้นจริงดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในการออกแบบการวิจัยเชิงสำรวจเกือบทุกขั้นตอน นักวิจัยจะต้องตัดสินใจว่าจะดำเนินงานวิจัยอย่างไรจึงจะได้รับสารสนเทศผลของการสำรวจที่มีประโยชน์และถูกต้องแม่ยำ รวมทั้งสามารถอ้างอิงเป็นข้อสรุปทั่วไปของประชากรในวงกว้างได้ ภายใต้เงื่อนไขการใช้ทรัพยากรในการศึกษาวิจัยให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้เพราะงบประมาณใช้จ่าย เวลา และพลังแรงกายที่จะเป็นต้องใช้ในการทำวิจัยเชิงสำรวจมีความสัมพันธ์ทางบวก (หรือแปรผันตรง) กับระดับความถูกต้องแม่ยำ (precision level) ของผลการสำรวจจากตัวอย่าง เช่น การเพิ่มขนาดกลุ่มตัวอย่างที่ทำการสำรวจจะทำให้ได้ผลการวิจัยที่มีความถูกต้องแม่ยำสูง แต่นักวิจัยก็จะต้องใช้ทรัพยากรต่างๆ ที่ระบุนั้นเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน การออกแบบการวิจัยที่กระทำอย่างพอเหมาะ (optimal design) ระหว่างคุณภาพของผลการวิจัย “ที่ได้มา” และปริมาณทรัพยากรการวิจัย “ที่เสียไป” จะช่วยทำให้การปฏิบัติงานวิจัยเชิงสำรวจที่จะเกิดขึ้นจริงๆ ตามแผนที่ออกแบบไว้ดำเนินไปอย่างประหยัดหรือคุ้มค่ากับการลงทุน
เมื่อพิจารณาและวิเคราะห์จุดมุ่งหมายหลักทั้ง 3 ประการ จะพบว่าจุดมุ่งหมาย 2 ข้อแรกมีสาระสำคัญสะท้อนลักษณะโดยทั่วไปของการออกแบบการวิจัยเชิงปริมาณตามฐานคติความเชื่อของกระบวนทัศน์แบบปฏิฐานนิยม/ประจักษ์นิยมที่เน้นความถูกต้องแม่ยำ ความเที่ยงตรง และความเป็นปรนัย (หรือการปราศจากความลำเอียงหรือความคลาดเคลื่อนใดๆ) รวมทั้งการสรุปอ้างอิงผลการวิจัยที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างไปสู่ประชากร ส่วนจุดมุ่งหมายข้อที่ 2 มีสาระสำคัญบ่งชี้ลักษณะของการออกแบบการวิจัยผสมผสานเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เนื่องจากเป็นการออกแบบการสำรวจที่คำนึงถึงความคุ้มค่ากับการลงทุนหรือการได้รับประโยชน์สูงสุดอยู่บนฐานคติความเชื่อของกระบวนทัศน์แบบปฏิบัตินิยม/ประโยชน์นิยม ที่เชื่อว่าการออกแบบการสำรวจที่ดีจะต้องมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติจริงและเกิดผลสมความปรารถนาสูงสุด มากกว่าการคำนึงถึงกับความถูต้องตรงกับความเป็นจริงอย่างเข้มงวดตายตัวจนมองข้ามงบประมาณ เวลา และพลังแรงกายที่ใช้ไปกับการดำเนินงานสำรวจ ฐานคติความเชื่อในเรื่องเหล่านี้ คือ ตรรกะหรือเหตุผลที่รองรับหลักการออกแบบการแสวงหาความรู้ความจริงด้วยวิธีการวิจัยเชิงสำรวจ
• การออกแบบการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ

การวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ หมายถึง คุณลักษณะของข้อมูลที่นักวิจัยรวบรวมมาใช้ในการศึกษาวิจัย มีข้อสังเกตว่า ผู้วิจัยสามารถตั้งสมมติฐานที่แตกต่างกัน ในเรื่องธรรมชาติของความรู้ สมมติฐานที่แตกต่างกันจะสามารถแยกประเภทข้อมูลที่ต่างกัน เช่น
• การศึกษาทัศนคติของชุมชนที่มีต่อผู้นำทางศาสนา ซึ่งผู้วิจัยตั้งสมมติฐานว่าคนในชุมชนมีความเชื่อและศรัทธาต่อผู้นำทางศาสนา โดยผู้วิจัยสามารถสังเกตพฤติกรรมและ สามารถวัด วิเคราะห์เป็นตัวเลขและในเชิงวัตถุวิสัยได้ การใช้การวัดและวิเคราะห์จึงเป็นการใช้ข้อมูลในเชิงตัวเลขเพื่อวิเคราะห์ผล ซึ่งเรียกกันว่าเป็นแนวทางศึกษาเชิงปริมาณ อันเป็นการวิจัยที่เกี่ยวกับปริมาณที่สามารถวัดได้
ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพ มีเป้าหมายที่จะศึกษาในเชิงคุณภาพซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะวัดได้ คือ ไม่สามารถลดทอนลงเป็นตัวเลขได้ เช่น ความรู้สึก ความคิด ประสบการณ์ เป็นต้น การวิจัยเชิงคุณภาพใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์ที่ไม่ใช่ตัวเลข ด้วยข้อมูลที่อยู่ในรูปของถ้อยคำที่นักวิจัยนำมาใช้แปลความหมายและข้อมูลอยู่ในรูปของถ้อยคำที่นักวิจัยนำมาใช้แปลความหมาย มีความเหมาะสมในการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งไม่เหมือนกับเชิงปริมาณที่เน้นประเด็นเรื่อง “จำนวนเท่าไหร่”

• ข้อมูลเชิงปริมาณหรือคุณภาพ

การตัดสินใจที่จะเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative data) หรือเชิงคุณภาพ(Quantitative data) ขึ้นอยู่กับธรรมชาติหรือลักษณะของคำถามการวิจัยและวัตถุประสงค์ของการวิจัยของผู้วิจัย จะเห็นได้ว่าถ้าผู้วิจัยสนใจในการวัดปรากฏการณ์บางอย่าง ผู้วิจัยจำเป็นต้องเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ ถ้าผู้วิจัยสนใจในความคิดหรือความรู้สึกของคนมากกว่า ซึ่งยากที่จะทำให้เป็นเชิงปริมาณ จึงทำให้ข้อมูลเชิงคุณภาพจะมีความเหมาะสมมากกว่า ดังนั้น การศึกษาข้อมูลไม่มีแนวทางศึกษาใดดีกว่ากัน แต่แนวทางการศึกษาควรถูกกำหนดโดยคำถามการวิจัย ตัวอย่างเช่น อย่าตัดสินใจที่จะเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพเพียงเพราะว่าเราไม่สบายใจกับการวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติ จงแน่ในเสมอว่าแนวทางการศึกษาของเรามีความเหมาะสมกับคำถามวิจัย มากกว่าทักษะหรือความพอใจส่วนตัว

• การผสมผสานข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ

การใช้ข้อมูลผสมผสานกันระหว่างข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ นักวิชาการบางท่านกล่าวว่าทั้งสองแบบไม่สามารถไม่สามารถที่จะนำมาใช้ร่วมกันได้ เนื่อจากมีการใช้สมมติฐานทางญาณวิทยาที่ต่างกัน แต่สิ่งที่สำคัญสำหรับแนวทางการศึกษาระหว่างการผสมผสานข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพเข้าด้วยกันต้องมีความเหมาะสมกับคำถามงานวิจัยมากกว่าความพอใจส่วนตัว ซึ่งผู้วิจัยสามารถผสมผสานข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพในลักษณะ ดังนี้
1. วิธีการหนึ่งช่วยสนับสนุนอีกวิธีการหนึ่ง ฉะนั้น งานวิจัยเชิงปริมาณส่วนหนึ่งอาจชี้ให้เห็นว่ามีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น ซึ่งจากนั้นจะสามารถอธิบายได้โดยการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ
2. วิธีทั้งสองศึกษาปัญหาเดียวกัน ผู้จิจัยอาจใช้วิธีการเชิงปริมาณเก็บรวบรวมข้อมูลค่อนข้างไม่ซับซ้อน (Simple) หรือข้อมูลตัวเลขจากกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ ในขณะที่วิธีการเชิงคุณภาพอาจจะเก็บรวบรวมข้อมูลที่ละเอียดลึกจากกลุ่มตัวอย่างขนาดที่เล็กกว่า

• การออกแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ

การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เป็นวิธีค้นหาความจริงจากเหตุการณ์ และสภาพแวดล้อมที่มีอยู่ตามความเป็นจริง โดยพยายามวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของเหตุการณ์กับสภาพแวดล้อม เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ (Insight) จากภาพรวมของหลายมิติ ความหมายนี้จึงตรงกับความหมายของการวิจัยเชิงธรรมชาติ (Naturalistic Research) คือ ปล่อยให้สภาพการณ์อยู่ในธรรมชาติ ไม่มีการจัดกระทำ (Manipulate) สิ่งที่เกี่ยวข้องใดๆ
การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆทางสังคม (Contextual) ซึ่งปรากฏการณ์ทางสังคมบางประการ ที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลธรรมดาทั่วไปได้ จึงต้องพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมต่างๆ เพื่อนำมาอธิบายปรากฎการณ์ทางสังคมที่นักวิจัยต้องการศึกษา เพื่อเข้าใจ “บริบทของสังคม” เป็นแนวคิดพื้นฐานของงานวิจัย ที่ต้องการศึกษาชุมชนหรือสังคมอย่างรอบด้าน มีการเก็บรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง ความเชื่อ พิธีกรรมอย่างละเอียด มีการวิเคราะห์ข้อมูลวัฒนธรรมและสังคมเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสังคมและวัฒนธรรมทั้งหมด
การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) เก็บข้อมูลจากแหล่งข้อมูลขนาดเล็ก ไม่เน้นการสำรวจจากคนจำนวนมาก เทคนิคการวิจัยไม่แยกขั้นตอนของการเก็บข้อมูลกับการวิเคราะห์ข้อมูลออกจากกัน การเก็บข้อมูลใช้วิธีการสังเกตและการสัมภาษณ์ นอกจากนี้การเข้าไปอยู่ในชุมชนจะช่วยให้ได้ข้อมูลหลายด้านมากขึ้น ขั้นตอนการวิจัยเชิงคุณภาพ ประกอบด้วย
1. การกำหนดปัญหาในการวิจัย ปัญหาที่ใช้การวิจัยเชิงคุณภาพมี 2 ประเภท ได้แก่ การวิจัยลักษณะทั่วไปของปรากฏการณ์ และการวิจัยลักษณะเฉพาะเจาะจง เช่น การวิจัยเพื่อหาสาเหตุ ปัจจัยกำหนด กระบวนการ และผลกระทบ เป็นต้น ทั้งนี้การศึกษาปรากฏการณ์เหล่านี้จะต้องเป็นการศึกษาที่มองรอบด้านและคำนึงถึงบริบท (Context) ของปรากฏการณ์นั้น ๆ
2. การสำรวจวรรณกรรม ผู้วิจัยต้องสำรวจวรรณกรรมเพื่อทบทวนว่ามีผู้ใดทำวิจัยในหัวข้อที่ศึกษาหรือยัง และสรุปแนวคิดทางทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง และที่เคยมีผู้ใช้มาก่อน เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือนำทางในการกำหนดกรอบแนวคิดกว้าง ๆ
3. การเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นการวิจัยเพื่อหาข้อสรุป หรือตั้งสมมติฐานจากข้อเท็จจริงที่พบจากการวิจัย ผู้วิจัยมีบทบาทสำคัญในการเก็บข้อมูลที่จะได้มาจากการสังเกต จดบันทึก สัมภาษณ์ และข้อมูลเอกสาร ดังนั้นผู้วิจัยต้องกำหนดตัวอย่าง และสนาม(หรือพื้นที่)ของการวิจัยให้ชัดเจน และต้องรวบรวมข้อมูลที่เป็นบริบทของข้อมูล การเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นขั้นตอนที่สำคัญของการวิจัยเชิงคุณภาพ เพราะผู้วิจัยจะต้องเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเองโดยเข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ และใช้เทคนิคการสังเกตการณ์ การสัมภาษณ์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความละเอียดเกี่ยวกับโลกทัศน์ ความรู้สึก ค่านิยม ประวัติ คุณลักษณะ
4. การวิเคราะห์ข้อมูลและเสนอรายงานผลการวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูลในการวิจัยเชิงคุณภาพจะใช้วิธีการจำแนกและจัดระบบข้อมูลเพื่อตอบคำถามว่า คืออะไร เป็นอย่างไร และหาความสัมพันธ์ของข้อมูล แยกแยะเงื่อนไข เพื่อดูสาเหตุ ความสัมพันธ์ กระบวนการเปลี่ยนแปลงโดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางสถิติ หรือใช้เพื่อรวบรวมจัดหมวดหมู่
ในการวิจัยเชิงคุณภาพ การออกแบบเป็นกระบวนการย้อนกลับไปมา (Interactive Process) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ของการออกแบบ โดยประเมินความนัยของจุดประสงค์ ทฤษฎี คำถามการวิจัย วิธีการ ปัญหาความเที่ยงตรงที่มีต่อกันและกัน โมเดลปฏิกิริยาสัมพันธ์นี้เข้ากันได้กับคำจำกัดความของการออกแบบที่ว่า การออกแบบเป็นการจัดแจงองค์ประกอบต่างๆ ที่ควบคุมการทำหน้าที่ของการศึกษาวิจัย มากกว่าที่จะเป็นแผนการที่กำหนดไว้ก่อนแล้วสำหรับที่จะทำการศึกษา หรือว่าเป็นเพียงลำดับขั้นตอนในการดำเนินการศึกษาวิจัยนั้น เพราะฉะนั้นโมเดลนี้จึงมีแนวคิดพื้นฐานอยู่ที่การให้มโนทัศน์การออกแบบการวิจัยว่า ได้แก่ โครงสร้างสำคัญและความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันขององค์ประกอบต่างๆ ของการศึกษาวิจัยและความนัยของแต่ละองค์ประกอบที่มีต่อองค์ประกอบอื่นๆ

การออกแบบงานวิจัยเชิงคุณภาพมีองค์ประกอบสำคัญ 5 ประการที่ควรพิจารณา ดังนี้
1. วัตถุประสงค์ (Purposes) มีประเด็นที่ควรพิจารณา คือ
- เป้าหมายสำคัญที่สุดของการศึกษาวิจัย คืออะไร
- การศึกษาต้องการที่จะอธิบายในประเด็นใดบ้าง และจะมีอิทธิพลหรือผลกระทบอะไรบ้าง
- เพราะเหตุใดจึงต้องการที่จะทำการศึกษาวิจัย และเพราะเหตุใดจึงมีความสนใจที่จะต้องการทราบผลของการศึกษา
- เพราะอะไร จึงให้ความสำคัญต่อการศึกษาครั้งนี้ และมีประโยชน์มากน้อยเพียงใด

2. กรอบแนวคิดของเนื้อหา (Conceptual context) มีประเด็นที่ควรพิจารณา คือ
- เกิดอะไรขึ้นกับปรากฏการณ์ที่กำลังวางแผนจะศึกษา
- มีทฤษฎี ข้อค้นพบ และกรอบแนวคิดใด ที่เกี่ยวข้องและสามารถนำมาอธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นแนวทางนำไปสู่การหาเหตุผล
- วรรณกรรม การวิจัยเบื้องต้น หรือประสบการณ์ใดบ้างที่เกี่ยวข้องและสามารถนำมาใช้ในการวิจัย
- การวิจัยมีทฤษฎีที่รองรับอยู่แล้ว หรือ นักวิจัยกำลังสร้างทฤษฎีใหม่ที่อยู่ภายใต้บริบทของประเด็นปัญหา ทั้งนี้สำหรับการใช้ทฤษฎีสำหรับการวิจัยมีแหล่งสำคัญอยู่ 4 ประการ คือ
(1) ประสบการณ์ของนักวิจัยเอง
(2) ทฤษฎีและการวิจัยที่มีอยู่เดิม
(3) ผลของการีศึกษานำร่อง หรือการวิจัยเบื้องต้นที่นักวิจัยได้ทำไว้แล้ว
(4) การทดลองความคิด (Thought Experiments)
3. คำถามการวิจัย (Research questions) มีประเด็นที่ควรพิจารณา คือ
- ต้องการที่จะทำความเข้าใจสิ่งใดเป็นการเฉพาะ
- ยังหาเหตุผลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ที่ศึกษา และต้องการจะเรียนรู้
4. วิธีการศึกษา (Methods) มีประเด็นที่ควรพิจารณา คือ
- องค์ประกอบของการออกแบบ ประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ คือ
(1) ความสัมพันธ์ของการวิจัยกับประชากรที่ศึกษา
(2) การเลือกสถานที่ศึกษาและการเลือกกลุ่มตัวอย่าง
(3) วิธีการเก็บข้อมูล
(4) การเลือกเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูล
5. ความเที่ยงตรง (Validity) มีประเด็นที่ควรพิจารณา คือ
- ผู้วิจัยสามารถควบคุมความผิดพลาดได้อย่างไร
- อะไรคือความจริง และอะไรที่คุกคามต่อความเที่ยงตรงที่มีผลต่อข้อสรุปผลการวิจัยและผู้วิจัยจะจัดการกับสิ่งเหล่านั้นอย่างไร
- ข้อมูลที่เก็บรวบรวมจะสนับสนุนหรือนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังศึกษา

• งานวิจัยทางด้านทัศนศิลป์

การพิจารณาสุนทรียศาสตร์ที่ประกอบด้วยสุนทรียศาสตร์เชิงปรัชญา (Philosophical Aesthetics) ที่เน้นทางด้านความเชื่อ ทัศนะ ความรู้สึก และสุนทรียศาสตร์เชิงวิทยาศาสตร์ที่เชื่อว่าความงามสัมพันธ์กับเหตุผล มีฐานความรู้ความคิดเป็นเรื่องที่ต้องอธิบายได้ มีความเป็นวิทยาศาสตร์บนฐานของศิลปะ
สังคมปรัชญาตะวันตก สุทรียศาสตร์ในความเชื่อของเพลโตโน้มเอียงไปทางด้านสุนทรียศาสตร์เชิงปรัชญาแต่อริสโตเติล ผู้เป็นศิษย์กลับไม่เชื่ออย่างนั้น แนวคิดของอริสโตเติลโน้มเอียงไปทางด้านสุนทรียศาสตร์เชิงวิทยาศาสตร์ที่เชื่อว่าจากความเป็นนิรันดร์ในเชิงอุดมคติมาสู่ความจริงความดีรวมทั้งความงามบนโลกมนุษย์
ในประเด็นของการออกแบบงานวิจัยทางด้านทัศนศิลป์แนวโน้มการวิจัยปัจจุบันเป็นกระแสความคิดเชิงวิทยาศาสตร์เป็นการแสวงหาความรู้ต่าง ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ สรุปสาระ เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ (Body of knowledge) ถ้าตีความในแง่ของคำและความหมายของคำว่าการออกแบบ ที่เชื่อมโยงกับวิธีวิทยาในงานวิจัย ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ (2548) ได้เปรียบเทียบส่วนของการออกแบบงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการวิจัยทางศิลปะ ดังนี้
การออกแบบงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ จะกำหนดขึ้นก่อนการวิจัย มีการตั้งคำถามหรือสมมุติฐานไว้ชัดเจนก่อนแล้ว ทำการการทดสอบยืนยันด้วยข้อมุลที่รวบรวมได้ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้จภเป็นต้องใช้สถิติมาสนับสนุน
การออกแบบงานวิจัยทางศิลปะ เกิดขึ้นในช่วงของการวิจัยโดยไม่อยู่ใต้กรอบของสมมุติฐานที่กำหนดไว้ก่อนพัฒนาคำถาม และสมมุติฐานการวิจัยในระหว่างการวิจัย 2
การเปรียบเทียบการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการวิจัยทางศิลปะ เป็นแนวทางการออกแบบงานวิจัยทางด้านทัสนศิลป์ซึ่งชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ (2548) ได้นำเสนอในลักษณะตารางเปรียบเทียบดังนี้

ตารางเปรียบเทียบการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และวิจัยทางศิลปะ

วิทยาศาสตร์ ศิลปะ (วิจิตรศิลป์)
แหล่งทฤษฎี - จากสิ่งที่กำหนดและสรุปมาก่อน - จากสิ่งที่พบในปัจจุบัน
วัตถุประสงค์ - ศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งความรู้ความคิด และการกระทำ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นเหตุผลพิสูจน์ได้
- เป็นการศึกษาเพื่อพิสูจน์และค้นหาความจริง - ศึกษาความเป็นไปในสังคมและโลกโดยการทำความเข้าใจด้วยการตีความและให้ความหมายที่เกี่ยวขอ้งกับพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นภาพรวมของความคิด ความเชื่อ และความรู้สึก
- เป็นการศึกษาเพื่อค้นหาความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์
ลักษณะข้อมูล - เชิงปริมาณ
- เป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุผลเชิงตรรก - เชิงคุณภาพ
- เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับอารมณ์และความรู้สึก
เทคนิคการเก็บข้อมูล - โดยการใช้เครื่องมือวัดหรือแบบทดสอบต่างๆ ที่ตีค่าการจัดเป็นตัวเลขได้ - โดยการสัมภาษณ์ การสังเกต แบบมีส่วนร่วมและการใช้บันทึกเหตุการณ์เป็นต้น
กลุ่มตัวอย่างประชากร - ตรวจสอบความเป็นตัวแทนโดยการสุ่มตัวอย่างประชากร - ใช้วิธีการเลือกหรือการเจาะจงตัวอย่างประชากร
การวิเคราะห์ - โดยการใช้ค่าสถิติในการตีความข้อมุลตัวเลขเพื่อตอบคำภามหรือทดสอบสมมติฐานการวิจัย - โดยใช้วิธีการอุปนัยด้วยการสังเคราะห์จากส่วนย่อยไปสู่องค์รวมหากจะใช้ขอ้มูลตัวเลขมาประกอบก็มักใช้ค่าสถิติพื้นฐาน เช่น ค่าร้อยละ เป็นต้น

ตารางเปรียบเทียบการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และวิจัยทางศิลปะ (ต่อ)

วิทยาศาสตร์ ศิลปะ (วิจิตรศิลป์)
แหล่งทฤษฎี - จากสิ่งที่กำหนดและสรุปมาก่อน - จากสิ่งที่พบในปัจจุบัน
การออกแบบ - กำหนดขึ้นก่อนการวิจัย มีการตั้งคำถามหรือสมมุติฐานไว้ชัดเจนก่อนแล้ว
- ทำการทดสอบยืนยันด้วยข้อมูลที่รวบรวมได้ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้จำเป็นต้องใช้สถิติมาสนับสนุน - เกิดขึ้นในช่วงการวิจัยโดยไม่อยู่ใต้กรอบของสมมติฐานที่กำหนดไว้ก่อนพัฒนาคำถามและสมมติฐานการวิจัยในระหว่างการวิจัย
เครื่องมือ - ใช้เครื่องมือทางกายภาพ เช่น แบบวัด แบบทดสอบ และแบบสอบถามต่างๆ - ใช้ผู้วิจัยเป็นเครื่องมือ
ห้องทดลอง - ห้องปฏิบัติการ - ธรรมชาติหรือห้องสตูดิโอ
ความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลและผู้วิจัย - เป็นอิสระแก่กัน - สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
ความเที่ยงตรงและความน่าเชื่อถือได้ - มีความเป็นปรนัยสูง - มีความเป็นอัตนัยสูง
ความสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุและผล - สามารถศึกษาได้อย่างชัดเจน - ไม่สามารถแยกเป็นสาเหตุใดสาเปตุหนึ่งได้อย่างชัดเจน เนื่องจาหปัจจัยต่าง ๆ มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน
ความมีอคติ (Bias) หรือค่านิยม (Value) - ปราศจากอคติด้วยวิธีการที่เป็นปรนัย (Value Free) - ค่านิยมมีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการวิจัย (Value Context)

ตารางเปรียบเทียบการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และวิจัยทางศิลปะ (ต่อ)

วิทยาศาสตร์ ศิลปะ (วิจิตรศิลป์)
แหล่งทฤษฎี - จากสิ่งที่กำหนดและสรุปมาก่อน - จากสิ่งที่พบในปัจจุบัน
การสรุป - ผลงานวิจัยสรุปเฉพาะตัวแปรที่ศึกษา
- ลดทอนเพื่อหาข้อสรุปที่เป็นพื้นฐานร่วมสำหรับ้เป็นกฎเกณฑ์ทั่วไป - ผลการวิจัยสรุปภาพรวมหลากหลายและลึกซึ้ง
- ขยนายกว้างเพื่อค้นหาความเกี่ยวเนื่อง

ท่ามกลางแนวคิดการวิจัยที่โน้มเอียงไปทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับการวิจัยเชิงปริมาณ เน้นความเป็นระเบียบแบบแผนและข้อมูลเชิงสถิติ ทางด้านการวิจัยทางด้านมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ รวมทั้งศิลปกรรมศาสตร์ได้พยายามแสดงให้เห็นว่า การวิจัยในเชิงคุณค่าที่เป็นนามธรรมมีคุณค่าและมีความหมายเป็นอย่างยิ่งในการแสวงหาข้อเท็จจริง รวมทึ้งกลุ่มนักวิจัยทางด้านนี้เชื่อว่า กระบวนการวิจัยที่เป็นปรนัยอย่างวิทยาศาสตร์ไม่สามารถแสวงหาข้อเท็จจริงในทางคุณค่าได้
รูปแบบการวิจัยที่สามารถนำมาออกแบบงานวิจัยทางด้านทัศนศิลป์
วิรุณ ตั้งเจริญ. (2543 : 9-10) ได้เสนอแนะรูปแบบการวิจัยแบบต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบงานวิจัยทางด้านทัศนศิลป์ ดังนี้
การวิจัยแบบกรณีศึกษา (Case Sudies) สามารถนำมาใช้กับการศึกษาศิลปินทั้งชีวิต และการสร้างสรรค์ผลงาน ศึกษาตัวผลงานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ทั้งเป็นการศึกษา ระยะสั้นและระยะยาว เช่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์กัญญรัตน์ เวชศาสตร์ วิจัยเรื่อง “การศึกษาเรื่องหงส์จากศิลปกรรมในประเทศไทย”
การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ (Historical Research) เป็นการวิจัยพื้นฐานที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลป์และความเป็นมาในเรื่องราวต่าง ๆ เช่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์อำนาจ เย็นสบาย วิจัยเกี่ยวกับอิทธิพลศิลปกรรมตะวันตกที่มีต่อศิลปกรรมไทย หลังปี 2492
การวิจัยสนาม (Field Studies) เป็นการวิจัยในภาคสนามที่มักเกี่ยวข้องกับชุมชน กลุ่มชน หมู่บ้านช่าง ที่มีความสัมพันธ์กับศิลปวัฒนธรรมและบริบทต่าง ๆ เช่น ผลงานวิจัยศิลปะพื้นบ้านมากมายของสุทธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์ และคณะ
การวิจัยสำรวจ (Survey Research) เป็นการวิจัยที่ใช้ข้อมูลจากการสำรวจหรือใช้แบบสอบถามเป็นหลัก ซึ่งเราสามารถนำมาใช้ร่วมกับการวิจัยในลักษณะต่าง ๆ เช่น การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ หรือการประยุกต์ใช้กับการวิจัยทางด้านศิลปศึกษาการออกแบบโฆษณา
การวิจัยทดลอง (Experimental Research) เป็นการวิจัยโดยทดลองปฏิบัติโดยตรง ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกระบวนการหรือกลวิธีในการสร้างสรรค์งานศิลปะในลักษณะต่าง ๆ เช่น การทดลองสร้างสรรค์ภาพพิมพ์หินของรองศาสตราจารย์กัญญา เจริญศุภกุล เพื่อตรวจสอบการใช้กลวิธีการพิมพ์หินว่าเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและสภาพอุณหภูมิในสังคมไทยหรือไม่อย่างไร
การวิจัยผสมผสานระเบียบวิธีวิจัย (Combiend Research Methodologies) เป็นการวิจัยที่สามารถประยุกต์ระเบียบวิธีวิจัยต่าง ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการแสวงหาองค์ความรู้ เช่น การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ก็ใช้ทั้งการวิจัยเอกสาร การวิจัยสำรวจ การวิจัยสนาม ผนวกเข้าไว้ด้วยกัน หรือการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ซึ่งเป็นการผสมผสานการแสวงหาความรู้ด้วยระเบียบวิธีวิจัยต่าง ๆ เพื่อให้ได้องค์ความรู้ใหม่ในอันที่จะพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์โดยตรง เป็นต้น
กรอบแนวคิดในการออแบบงานวิจัยทางด้านทัศนศิลป์

• ขอบเขตและวิธีการวิจัยทางศิลปะ

เพื่อให้สะดวกและง่ายต่อการศึกษา และจัดระเบียบวิธีการวิจัยทางศิลปะจึงขอแบ่งและจัดกลุ่มวิชาศิลปะที่มีธรรมชาติในการเรียนรู้ใกล้เคียงกันเข้าไปในกลุ่มเดียวกัน โดยคาดหวังและอนุโลมว่าสามารถจัดระบบระเบียบวิธีวิจัยที่มีรูปแบบเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันได้
1. กลุ่มวิชาทฤษฎีศิลป์ (Art Theory)
2. กลุ่มวิชาศิลปศึกษา (Art Education)
3. กลุ่มวิชาการสร้างสรรค์ (Creative work)

1. กลุ่มวิชาทฤษฎีศิลป์ และประวัติศิลปะ
กลุ่มวิชาทฤษฎีศิลป์ประกอบด้วยวิชาทฤษฎีและประวัติศาสตร์ศิลปะ (Art History) ใช้วิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์ เช่น การวิจัยแบบบรรยาย แบบประวัติศาสตร์ และแบบการทดลอง ซึ่งในกลุ่มวิชานี้ นอกจากวิชาทฤษฎีศิลปะ และประวัติศาสตร์ศิลป์แล้วยังประกอบด้วยวิชา ศิลปวิจารณ์ (Art Criticism) ปรัชญาศิลปะ (Art Philosophy) จิตวิทยาศิลปะ (Art Psychology) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และสุนทรีย์ศาสตร์ (Aesthetics) เป็นต้น
ความมุ่งหมายในการวิจัยของวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ก็เพื่อต้องการทราบความจริงทางด้านการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของมนุษย์ที่มีหลักฐานบ่งถึง นอกจากนี้ยังมีจุดมุ่งหมายคล้ายคลึงกับสาขาวิชาประวัติศาสตร์ กล่าวคือ การมุ่งศึกษาเพื่อความเข้าใจพฤติกรรมทางสังคมมนุษย์ในอดีตกาล โดยที่วิชาประวัติศาสตร์ศิลปะจำกัดขอบเขตการศึกษาเพียงการศึกษาศิลปกรรมเพื่อให้ทราบถึงพฤติกรรมของสังคมมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ โดยมีเรื่องมิติของเวลาด้วย เช่น การศึกษารูปแบบงานประติมากรรมสมัยสุโขทัย ซึ่งมีการกำหนดเวลาหรือายุของผลงานศิลปกรรม
ในการศึกษาวิจัยนั้นวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ต่างยอมรับโดยทั่วไป คือ ความรู้สึกด้านความงามและความประทับใจ หรืออีกนัยหนึ่งคือสนุทรีย์นั้น เป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งของการเป็นมนุษย์ ทุกชาติทุกภาษาและทุกสมัยในการมีความรู้สึกเช่นนี้ร่วมกัน ความรู้สึกในเรื่องความงามความประทับใจนี้จะแสดงออกมาในรูปของผลงานสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม ซึ่งในปัจจุบันเหลืออยู่ในรูปของโบราณสถานและโบราณวัตถุ เพราะฉะนั้นข้อมูลหรือหลักฐานเพื่อการวิจัยของวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ จึงหมายถึงโบราณสถานและโบราณวัตถุที่พิจารณาได้ว่าเป็นศิลปกรรมประวัติศาสตร์ ศิลปะจึงสัมพันธ์กับวิชาโบราณคดีได้ในลักษณะการใช้ข้อมูลร่วมกัน แต่แตกต่างกันที่วิชาประวัติศาสตร์ศิลปะจำกัดลักษณะของข้อมูลแคบกว่าข้อมูลทางวิชาโบราณคดี และมุ่งเน้นการศึกษาศิลปวัตถุสถาน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำให้เข้าใจในเรื่องพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์
การศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์เป็นสิ่งที่ควบคุมตัวแปรได้ยาก ซึ่งต่างกับสาขาวิทยาศาสตร์ที่สามารถควบคุมตัวแปรได้แน่นอนกว่า สำหรับการศึกษาวิจัยทางโบราณคดีอาจจับได้ว่าสามารถควบคุมตัวแปรและสร้างสภาวะปรนัย (Objective) ได้มากกว่าวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ เนื่องจากเป็นการวิจัยแบบจุลภาพ (Micro Study) โดยมีขอบเขตการวิจัยที่ชัดเชน สามารถลดสภาวะอัตนัย (Subjective) ในวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ นอกเหนือจากการศึกษาในเรื่องรูปแบบ พฤติกรรม ของผู้สร้างสรรค์ หรือแนวคิดร่วมสมัยแล้วยังสามารถศึกษาหลักลงไปถึงลักษณะวัตถุที่ใช้ผลิตงานนั้น เช่น อายุก้อนหิน ศิลาแลง ขณะที่การศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ศิลป์ได้ใช้หลักฐานหรือข้อมูลในการศึกษาวิจัยนั้นเป็นเรื่องของศิลปกรรมที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อความประทับใจ ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงสภาวะอัตนัยของผู้วิจัยได้ และนอกจากนี้ยังผูกพันเกี่ยวข้องกับการศึกษาด้านรูปแบบเป็นสำคัญด้วย ฉะนั้นการที่จะมีเป้าหมายเพียงการกำหนดอายุของศิลปกรรมจากรูปแบบนั้นก็สามารถวิเคราะห์ได้อย่างเป็นปรนัย (Objective) ซึ่งต่างจากการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ผู้สร้างสรรค์ศิลปกรรมหรือสิ่งที่ประทับใจ ซึ่งเป็นเรื่องสุนทรียภาพ จึงจำเป็นที่ต้องอาศัยการวิเคราะห์ในลักษณะที่เป็นอัตนัย โดยขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้วิจัยเป็นสำคัญ
การวิจัยทางวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์นั้น นอกจากจะศึกษาวิเคราะห์รูปแบบและลวดลายของศิลปกรรมเพื่อกำหนดอายุโดยการเปรียบเทียบกับสิ่งของที่ทราบอายุแน่นอน หรืออาจโดยการวิเคราะห์ลักษณะวิวัฒนาการของรูปแบบทางศิลปกรรมตามทฤษฎีหรือกฎเกณฑ์ทางประวัติศาสตร์ศิลปะแล้วยังศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับรสนิยมและแนวคิดด้านความงามในอดีต เพื่อการเปรียบเทียบกับปัจจุบัน และเพื่อหากฎเกณฑ์ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอีกด้วย
วิธีการเสนอข้อมูลนั้นต้องมีทั้งการบรรยายและการวิเคราะห์ซึ่งอาจจะต้องมีรายละเอียดด้วยการแสดงภาพในรูปแบบต่างๆ เช่น ภาพลายเส้นหรือภาพถ่ายเพื่อให้เห็นวิวัฒนาการทางศิลปะในบางกรณีอาจจำเป็นต้องใช้สถิติเพื่อการเปรียบเทียบด้วย วิชาประวัติศาสตร์ศิลป์นั้นมีคุณค่าและประโยชน์อย่างกว้างขวางโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องศิลปกรรม และกิจกรรมสร้างสรรค์ของมนุษย์ในสังคมอดีต และเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมในการอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ นอกจากนี้ยังเพื่อเป็นข้อคิดแนวทางในการสร้างสรรค์เพื่ออนาคตด้วย
2. กลุ่มวิชาศิลปศึกษา
ประกอบด้วยการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกระบวนการเรียนการสอนศิลปะ การจัดการหลักสูตร การวัดและประเมินผล ตลอดจนการวิจัยผลงานศิลปกรรม เป็นต้น ระเบียบวิธีการวิจัยของกลุ่มวิชาทฤษฎีศิลป์นั้นสามารถใช้วิธีการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ เชิงบรรยาย และเชิงทดลองทางด้านสังคมศาสตร์มาใช้เพื่อการศึกษาได้
3. กลุ่มวิชาการสร้างสรรค์
ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ใหญ่ ๆ คือ
3.1 การสร้างสรรค์ทางวิจิตรศิลป์ (Fine Art) ใช้วิธีการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งในกลุ่มวิชานี้ประกอบด้วย ทัศนศิลป์ ดุริยางคศิลป์ นาฏยศิลป์ และวรรณศิลป์ เป็นต้น
3.2 การสร้างสรรค์ทางศิลปะประยุกต์ (Applied Art) ใช้วิธีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ (ใช้วิทยาศาสตร์/และสังคมศาสตร์) ซึ่งในกลุ่มวิชานี้ประกอบด้วยวิชาการออกแบบ การตกแต่งภายใน การออกแบบเครื่องประดับ การออกแบบอุตสาหกรรม คอมพิวเตอร์กราฟิก เป็นต้น

• ลักษณะเฉพาะของการวิจัยทางศิลปะ
1. ข้อมูลทางศิลปกรรม ทุกสาขาทั้งทัศนศิลป์ ดุริยางศิลป์ นาฏศิลป์ และวรรณศิลป์ต่างก็จัดเป็นข้อมูลที่มีเนื้อหาทางอารมณ์ ความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับสุนทรียะ ซึ่งเป็นอัตนัย โดยพยายามอธิบายหรือพรรณนาเพื่อให้ผู้อื่นคล้อยตามด้วยการพยายามใช้หลักตรรกวิทยา ดังนั้น การวิจัยของทัศนศิลป์อาจจะต้องมีทั้งที่เป็นลักษณะ อัตนัย และปรนัยควบคู่กันไป
2. แม้ว่าหลักการวิจัยทางมนุษยศาสตร์ เป็นเรื่องที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ทางจิตใจโดยไม่คำนึงถึงผลในการปฏิบัติก็ตามแต่การวิจัยทางศิลปกรรมอีกรูปแบบหนึ่งอาจจะมีผลในทางปฏิบัติได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น การวิจัยเชิงสร้างสรรค์ ในงานทัศนศิลป์ เป็นต้น
3. การวิจัยทางทัศนศิลป์ จะเป็นที่ยอมรับหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถของนักวิจัยในการใช้เหตุผลในการอธิบายกระบวนการวิจัย และการวิเคราะห์ข้อมูล เพราะจะต้องถ่ายทอดประสบการณ์ไปยังผู้อื่นให้สามารถ เข้าใจได้ร่วมกัน ไม่ใช่มีแต่ลักษณะอัตนัย เท่านั้น จะต้องมีปรนัย ควบคู่กันไปด้วย
4. การวิจัยเชิงอนุรักษ์และพัฒนาทางศิลปะเป็นการศึกษาเพื่อการเก็บรักษาต้นแบบไว้เพื่อการสืบสวน สืบสานและพัฒนา
5. การวิจัยเชิงสร้างสรรค์ อาจใช้ได้กับทางศิลปกรรม และการประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีด้วย โดยอาจใช้วิธีการทดลองโดยนำเสนอในรูปผลงาน ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ทางศิลปะกับกระบวนการสร้างสรรค์ที่ผู้สร้างสามารถพรรณนาได้อย่างมีระบบเป็นที่เข้าใจได้
6. การวิจัยทางศิลปะมีลักษณะสำคัญ คือ ความมีเสรีภาพ ในวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลหรือวิธีการทดลองแบบต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมีทฤษฎีล่วงหน้า หรือการวางแผนทดลองอย่างแน่นอน เป็นการเน้นเกี่ยวกับการค้นพบแนวคิดและค้นพบสมมติฐานมากกว่าการพิสูจน์ เช่น เดียวกับการวิจัยเชิงสำรวจ ซึ่งอาจจะวิจัยได้โดยไม่มีการตั้งสมมติฐานล่วงหน้า และแนวความคิดใหม่ หรือการสร้างสมมติฐานอาจจะเกิดขึ้นหลังจากได้เก็บรวบรวมข้อมูลแล้วก็ได้ (ประคอง กรรณสูต : 2528) ทั้งนี้ยังไม่สามารถกำหนด หรือคาดการณ์สิ่งที่จะค้นพบนั้นก่อนล่วงหน้าได้

• ระเบียบวิธีวิจัยทางศิลปะ
วิธีการวิจัยที่มักนิยมใช้ก็คือ วิธีการเชิงปริมาณ (Quantitative) เนื่องจากมีความเป็นปรนัยสูง สามารถวัดได้อย่างชัดเจน ซึ่งไม่ว่าสาขาใดก็มีส่วนสัมพันธ์กับการใช้วิธีการเชิงปริมาณทั้งสิ้น การศึกษาทางสังคมศาสตร์ในอดีตมักใช้วิธีการเชิงบรรยาย แต่ในปัจจุบันมักนำเอาคณิตศาสตร์และสถิติมาใช้ เช่นเดียวกับการวิจัยทางมนุษยศาสตร์ในปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นเครื่องสนับสนุนความเที่ยงตรงของการศึกษา ทั้งนี้ เจตนา นาควัชระ (2531) ได้เปรียบเทียบว่า การวิจัยทางมนุษยศาสตร์มีลักษณะแตกต่างจากการวิจัยแขนงอื่น สิ่งที่นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่ด้านสังคมศาสตร์อาจจะเห็นว่าไม่เป็นวิชาการนัก ก็อาจจะเป็นสิ่งที่มนุษย์ศาสตร์เป็นจำนวน มากยอมรับว่าเป็นเอกลักษณ์ของวิชา การวิจัยจึงตั้งอยู่บนรากฐานของประสบการณ์ที่มีลักษณะเป็นอัตนัยอยู่มากที่ยึดถือการตีความและการวินิจฉัยคุณค่าเป็นหลักสำคัญ
ดังนั้นข้อมูลทางศิลปะซึ่งเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดสุนทรียอารมณ์ของมนุษย์ จึงมีฐานมาจากประสบการณ์เฉพาะบุคคล เช่น แม้การพิจารณาความงามของผลงานศิลปะนั้นจำเป็นต้องใช้เหตุผลในการอธิบายก็ตาม แต่ที่มาของเรื่องความงามก็คือประสบการณ์เฉพาะบุคคลซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ดังนั้นการวิจัยทางศิลปะจึงไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว

• การกำหนดหัวข้อการวิจัย
การกำหนดหัวข้อการวิจัยโดยทั่วไปมักกำหนดขึ้นจากประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมเพื่อค้นหาคำตอบนั้นอย่างมีระบบระเบียบแบบแผนที่แน่นอนชัดเจน จนเป็นที่คุ้นเคยในสายวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ว่า เมื่อกล่าวถึงการกำหนดหัวข้อวิจัยก็หมายถึงประเด็นปัญหานั่นเอง ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับด้านประยุกต์ศิลป์แต่ในด้านวิจิตรศิลป์นั้น หมายถึง ประเด็นที่น่าสนใจศึกษา เป็นสำคัญ
ประเด็นที่สนใจศึกษานี้ควรเป็นเรื่องที่ไม่ซ้ำกับผู้อื่น หรืออาจจะทำซ้ำเพื่อเป็นการเปรียบเทียบความแตกต่างหรือเพื่อการยืนยันหลักการหรือทฤษฎีก็อาจเป็นไปได้ สำหรับความกระชับรัดกุมนั้น ก็เป็นประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง หากแต่ว่าธรรมชาติของศิลปะนั้นในบางครั้งบางกรณีไม่อาจตั้งประเด็นให้กระชับรัดกุมได้

• วัตถุประสงค์
การวิจัยทางศิลปะนั้นไม่ได้มุ่งหวังเกี่ยวกับเรื่องประโยชน์เป็นสำคัญ แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาด้านจิตใจ โดยมิได้มุ่งแก้ไขปัญหาทางปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และอาจจะไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่โดยตรงของคนทั่วไป แต่อาจมีผลกระทบด้านจิตใจ เช่น การค้นพบจิตรกรรมฝาผนังยุคก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย อาจจะไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทย แต่มีผลในด้านจิตใจและเกิดสำนึกเชิงประวัติศาสตร์ซึ่งอาจมิเคยสำนึกมาก่อนแต่ในยุคต่อมาอาจเกิดประโยชน์อย่างมหาศาลหากประชาคมโลกต่างสนใจและเข้ามาศึกษาซึ่งนอกจากจะเป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของไทยแล้ว ยังจะเป็นการเพิ่มพูนรายได้จากเงินตราต่างประเทศที่นำเข้ามา โดยผ่านทางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้อีกด้วย

• การตั้งสมมติฐาน
สมมติฐาน (Hypothesis) หมายถึง ผลการวิจัยที่เกิดจากการคาดคะเนด้วยวิธีการอนุมานเพื่อทำนายคำตอบของประเด็นที่ศึกษาการตั้งสมมติฐานนั้นเป็นเรื่องที่จักต้องตั้งอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงโดยไม่ได้ตั้งขึ้นจากความเชื่อเฉพาะบุคคล ซึ่งการตั้งสมมติฐานที่เหมาะสมจะเป็นประโยชน์ต่อการวิจัย เพราะเป็นการกำหนดทิศทางของการวิจัย โดยจะช่วยให้การหาข้อมูลต่อไปเป็นอย่างมีระบบ แต่สำหรับการตั้งสมมติฐานทางศิลปะนั้นอาจมีแหล่งที่แตกต่างไป กล่าวคือ อาจได้จากความรู้ของผู้วิจัยซึ่งปกติผู้วิจัยจะทำวิจัยในเรื่องที่มีความรู้ ความเข้าใจ และสนใจในเรื่องนั้น ซึ่งความรู้ ความเข้าใจและความสนใจในเรื่องนั้นอาจจะเกิดจากการศึกษาเล่าเรียนมา จากการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง จากประสบการณ์ในชีวิตประจำวันหรือจากการได้คลุกคลีและร่วมทำวิจัยกับนักวิจัยหรือผู้เชี่ยวชาญทางการวิจัย จากความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ทั้งหมดของผู้วิจัยเองนี้อาจตั้งสมมติฐานขึ้นได้โดยตรง หรืออาจจะนำมาสร้างเป็นจินตนาการวาดภาพในสมองด้วยความอยากรู้อยากเห็น แล้วสร้างเป็นสมมติฐานขึ้นมา นอกจากนั้นบางครั้งสมมติฐานก็ได้มาจากความรู้หรือความคิดของผู้วิจัย ที่เกิดขึ้นมาทันทีทันใดในลักษณะที่เรียกว่า “การหยั่งรู้” นั่นเอง
สำหรับการวิจัยทางศิลปะอาจจัดแบ่งเป็นสองลักษณะคือ การวิจัยที่ใช้สมมติฐานและการวิจัยที่ไม่ใช้สมมติฐาน เนื่องจากความแตกต่างของธรรมชาติ เนื้อหาวิชา และจุดประสงค์ของการวิจัยซึ่งในการวิจัยบางประเภทอาจไม่มีความจำเป็นในการตั้งสมมติฐาน เช่น การศึกษาเพื่อรวบรวมท่ารำหรือเพลงพื้นเมืองในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง ซึ่งยังไม่มีผู้ใดรวบรวมมาก่อน อาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้สมมติฐานใดในการวิจัย เป็นต้น แต่สำหรับกรณีศึกษาเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมไทย ซึ่ง ประยูร อุลุชาฎะ (2526) สรุปว่ามีความจำเป็นต้องอาศัยสมมติฐานเป็นอันดับแรก เพื่อค้นหาเงื่อนงำให้ได้ข้อสรุปโดยอธิบายด้วยตัวอย่างว่า กลุ่มเจดีย์นอกตัวเกาะอยุธยาด้านทิศตะวันออก เช่น ที่วัดนางคำ วัดอโยธยา วัดใหญ่ชัยมงคล วัดสามปลื้ม และวัดร้างใหญ่น้อยจำนวนมากมักเป็นทรงระฆังกลม องค์แปดเหลี่ยมทรงสูง

• เครื่องมือ
วิจิตรศิลป์เป็นเรื่องทางอัตนัย เรื่องของการตีความและการวิเคราะห์งานของผู้วิจัยซึ่งต้องมีความรู้และการวิเคราะห์งานของผู้วิจัยซึ่งต้องมีความรู้และประสบการณ์เรื่องศิลปะและทฤษฎีศิลปะเป็นอย่างมาก เช่นการวิจัยเพื่อหาคุณค่าหรือความงามของศิลปะชิ้นใดชิ้นหนึ่งนั้นไม่ใช่เรื่องปริมาณและปรนัย ผู้วิจัยต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ด้านศิลปวิจารณ์เป็นเครื่องมือเพราะไม่มีเครื่องมืออื่นใดที่จะใช้ได้และการตีความการวิเคราะห์ขึ้นอยู่กับความรู้ประสบการณ์ และความซื่อตรงของผู้วิจัย การยอมรับเป็นเรื่องของความเชื่อถือและวัฒนธรรมในกรณีนี้ไม่มีความถูกต้องและความจริงที่แท้จริงเป็นความคิดเห็นเท่านั้น (ดำรง วงศ์อุปราช : 2529)
การศึกษาวิเคราะห์ศิลปกรรมต่างๆ นั้น ไม่สามารถใช้เครื่องมือใด ๆ มาชั่ง ตวง หรือ วัดได้ นอกจากใช้มนุษย์เป็นเครื่องมือ ดังนั้นจึงมีความเป็นอัตนัยค่อนข้างสูง

• การควบคุมและการทดลอง
การวิจัยทางวิทยาศาสตร์นั้นนักวิจัยสามารถควบคุมตัวแปรและทำการทดลองในห้องปฏิบัติการหรือในงานภาคสนามได้ เช่นเดียวกับการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ทางศิลปะประยุกต์ตัวอย่างเช่น การวิจัยเรื่อง ผลของการเล่นของเล่นที่มีต่อความคิดสร้างสรรค์ทางศิลปะประยุกต์ ตัวอย่างเช่น การวิจัยเรื่อง ผลของการเล่นของเล่นที่มีต่อความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย (ชาญรงค์ พรรุ่งโรจน์ : 2529) ผู้วิจัยได้ออกแบบของเล่นสำหรับเด็กปฐมวัย และทดลองผลของการเล่นของเล่นที่ออกแบบนั้นโดยการแบ่งกลุ่มเด็กออกเป็น 3 กลุ่ม โดยควบคุมให้แต่ละกลุ่มทำกิจกรรมที่กำหนดคือกลุ่มที่ 1 ให้เล่นของเล่นที่ได้ออกแบบไว้ กลุ่มที่ 2 เล่นของเล่นที่มีมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในสากล และกลุ่มที่ 3 ปล่อยอิสระ เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยมีการทำแบบทดสอบ ก่อน -หลังการทำกิจกรรม และวิเคราะห์ข้อมูลโดยการทดสอบค่า t (t-test) และความแปรปรวนทางเดียว (ONE-WAY ANOVA) เพื่อศึกษาความแตกต่างของผลที่เกิดขึ้น เป็นข้อมูลในการอุปมานคุณภาพของของเล่นที่ออกแบบ เป็นต้น
สำหรับการวิจัยทางศิลปศึกษานั้น ก็สามารถควบคุมตัวแปรและทำการทดลองได้เช่นกัน แต่การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์อาจจะมีลักษณะที่ควบคุมได้ไม่เต็มที่นัก เนื่องจากเป็นสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้ว และหลักฐานต่างๆ ที่รวบรวมได้นั้นต่างก็อยู่นอกเหนือจากการควบคุมของผู้วิจัย สำหรับการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ด้านวิจิตรศิลป์นั้น มีนักวิชาการศิลปะจำวนหนึ่งเห็นด้วยว่าสามารถควบคุมได้ และใช้วีการทดลองได้เช่นกัน ซึ่งเจตนา นาควัชระ (2526) ได้ยกตัวอย่างเกี่ยวกับศิลปะการแสดงว่าผู้เชี่ยวชายในเรื่องนาฎยะศิลป์นั้นสามารถที่จะสร้างสภาวการณ์ในโรงฝึกซ้อมซึ่งเทียบเคียงได้กับห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ โดยสามารถที่จะกำหนดให้ผู้แสดง ทดลองการรำในหลายๆ ท่าและหลายๆ แบบ โดยการเฝ้าสังเกตว่าวิธีการรำแบบใดก่อนให้เกิดความงาม ซึ่งเป็นมโนทัศน์ที่นักมนุษยศาสตร์เลี่ยงไม่ได้ และในขณะเกี่ยวกันไม่ขัดกับความสามารถทางกายภาพของมนุษย์ กิจกรรมดังกล่าวอาจจะเรียกว่าเป็นการวิจัยสร้างสรรค์ได้ ผลของการวิจัยก็คือกระบวนการรำที่ดี ซึ่งผู้วิจัยจำเป็นจะต้องพรรณนานาให้ผู้อื่นได้เข้าใจได้ด้วย
ในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างผู้แสดงกับผู้ชมก็เช่นกัน นักวิจัยอาจจะนำการแสดงบางอย่างออกมาให้กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งชมซึ่งกลุ่มคนนั้นอาจจะแยกเป็นภาษาของการวิจัยได้ว่าเป็น กลุ่มควบคุม แล้วนักวิจัยจะต้องเฝ้าสังเกตปฏิกิริยาของผู้ชมที่มีต่อการแสดงถ้าเฝ้าสังเกตได้บ่อยครั้งและติดต่อกันนานพอสมควร ผู้วิจัยก็อาจจะค้นพบว่าการแสดงออกบางอย่างของผู้แสดงทำให้เกิดปฏิกิริยาบางอย่างในกลุ่มผู้ชม ถ้าจะขยายกลุ่มผู้ชมออกไปอีกหลายกลุ่ม และนำวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์ในเรื่องของการสอบถามความคิดเห็นอย่างมีระบบมาใช้ด้วยก็อาจจะให้นักวิจัยมีความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น ผลที่ได้รับจากการวิจัยก็คือ วิธีการแสดงละครที่ดี ซึ่งนักวิจัยจะต้องพยายามบรรยายออกมาให้ผู้อื่นเข้าใจได้ด้วย

• ประเภทของข้อมูล
ลักษณะข้อมูลต่างๆ อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ ข้อมูลด้านพุทธิปัญญา (Cognitive Domain) ข้อมูลด้านจิตรกรรม (Affective Domain) และข้อมูลด้านทักษะ (Psychomotor Domain) หรืออาจแบ่งตามแหล่งที่มาของข้อมูลได้เป็น 2 ประเภท คือ
ข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Sources)
ได้แก่ข้อมูลที่ผู้บันทึกเหตุการณ์นั้นด้วยตนเองหรือเห็นเหตุการณ์นั้นด้วยตนเอง
ข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Sources)
เป็นข้อมูลที่มีผู้เขียนบันทึก ผู้บันทึกไว้โดยไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ แต่อาจได้รับการถ่ายทอดมาอีกต่อหนึ่ง ตัวอย่างเช่น เอกสารซึ่งรวมถึงสิ่งพิมพ์ทุกชนิด เช่น ตำรา ผลงาน วิจัย วรรณคดี บทละคร นอกจากนี้ยังรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น จารึก ซึ่งบันทึกเหตุการณ์หรือความเชื่อต่างๆ ลงบนศิลา กระดาษใบลาน ผ้าแพร หรือผ้าไหม ปูมโหร ซึ่งเป็นบันทึกเหตุการณ์สำคัญประจำวันของใคร ตำนานเป็นประวัติของโบรารสถานหรือเมืองต่างๆ รวมถึงพระราชพงศาวดาร เอกสารรัฐบาล และบันทึกต่างๆ เป็นบันทึกชีวประวัติ บันทึกความทรงจำ จดหมายเหตุ และจดหมายส่วนตัว เป็นต้น การบอกเล่า ได้แก่ ข่าวลือ นิทาน นิยาย เทพนิยาย คติชาวบ้าน ซึ่งล้วนแล้วแต่เล่าต่อ ๆ กันมา ด้วยการใช้ความจำ ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลเหล่านี้ได้ด้วยการสัมภาษณ์ หรือที่เรียกว่าประวัติศาสตร์บอกเล่า (Oral History) การสัมภาษณ์/การสังเกต/ประสบการณ์ผลงานศิลปกรรมประเภทต่างๆ เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย สถาปัตยกรรม วรรณกรรม บทละคร ท่ารำ เพลงโน้ตเพลง ภาพถ่าย ภาพยนตร์ วีดิทัศน์ ซีดีรอม แถบเสียง หรือหัตถศิลป์ต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีศิลาจารึก/โบราณวัตถุต่าง ๆ ที่เป็นหลักฐานทางด้านโบราณคดี และประวัติศาสตร์ศิลปะ เช่น โครงกระดูก โบราณสถาน พระพุทธรูป ภาพเขียน ภาพถ่ายทางอากาศ เป็นต้น หรือแม้กระทั่งธรรมชาติวัสดุ และสิ่งของรอบตัวก็สามารถเป็นข้อมูลในการสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะของศิลปินได้
ข้อมูลจากหลักฐานที่เป็นเอกสารสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือ ตำรา หรือการวิจัยที่เกี่ยวข้องนั้นเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลที่ศิลปินอาจจะหยิบยกมาใช้ แต่การสร้างสรรค์ศิลปกรรมต้องอาศัยความบันดาลใจจากสิ่งต่างๆ อาจจะเป็นสรรพสิ่งจากธรรมชาติ เช่น ก้อนอิฐ หิน ดิน ทราย สิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งพืช และสัตว์ รวมถึงซากพืช ซากสัตว์ เป็นต้น นอกจากนี้อาจจะเป็นสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์คิดค้นขึ้น เช่น เครื่องมือเครื่องใช้ เสื้อผ้า บ้านเรือนที่อยู่อาศัย หรือผลงานศิลปกรรม เช่น สถาปัตยกรรมไทยวัดวาอาราม จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย เพลงพื้นบ้าน การฟ้อนรำพื้นเมือง เป็นต้น หรืออาจกล่าวได้ง่าย ๆ คือ สรรพสิ่งในโลกและในจักรวาล ซึ่งจะเป็นอะไรก็ได้ที่สัมพันธ์กับแนวคิดและความสนใจของศิลปิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต่างก็เป็นข้อมูลที่เป็นแรงบันดาลใจเพื่อก่อให้เกิดความรู้สึกนึกคิดจิตนาการของศิลปิน
ศิลปะเป็นวิชาที่มีขอบเขตกว้างขวางมาก ข้อมูลที่ศึกษานั้นบางครั้งเป็นข้อมูลที่ไม่รู้จบ เช่น ความรู้สึกและอารมณ์ สำหรับข้อมูลอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ใช่เอกสาร เช่น ข้อมูลที่เป็นผลงานสร้างสรรค์ของศิลปะแขนงต่างๆ เช่น ผลงานทัศนศิลป์ ศิลปะการแสดง และวรรณศิลป์ เป็นต้น ข้อมูลที่เป็นผลงานสร้างสรรค์เหล่านี้แตกต่างจากข้อมูลอื่นๆ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่มีเนื้อหาทางอารมณ์ เป็นข้อมูลที่ก่อให้เกิดสุนทรียารมณ์
ดังนั้นการศึกษาข้อมูลประเภทนี้จึงต้องนำจิตและอารมณ์เข้าเกี่ยวข้องด้วย จึงมีความเป็นอัตนัยสูง ดังนั้นข้อมูลเหล่านี้จึงไม่สามารถถือว่าเป็นกลาง เพราะเป็นข้อมูลที่มีเนื้อหาทางด้านอารมณ์ ความรู้สึก เกี่ยวกับสุนทรียะ โดยมีประสบการณ์เฉพาะบุคคลเป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งนักวิจัยจะต้องศึกษาพื้นภูมิทางประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบศิลปะกับภูมิด้านสังคม โดยนำเอาความรู้สึกและอารมณ์ที่มีต่อศิลปกรรมแต่ละชิ้นมานำเสนอในรูปแบบของงานวิชาการ ซึ่งจะต้องมีความสันทัดในเรื่องสุนทรียศาสตร์และจะต้องมีความสามารถในการวินิจฉัย คุณค่าและจัดระบบของศิลปกรรมให้เป็นแบบแผนที่ชัดเจน หลักฐานที่เป็นเอกสารเป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งเท่านั้น นักประวัติศาสตร์ศิลป์สำนึกดีในเรื่องนี้จึงได้มีการใช้ข้อมูลอื่นที่มิใช่เอกสาร เช่น ข้อมูลที่เป็นศิลปกรรมหรือโบราณวัตถุ ซึ่งจำเป็นต้องแสวงหาข้อมูลปฐมภูมิ โดยการออกภาคสนามเป็นสำคัญ แต่ในยุคปัจจุบันซึ่งเทคโนโลยีก้าวหน้าในการวิจัยทางศิลปะ บางกรณีอาจจำเป็นต้องหาข้อมูลที่บันทึกผ่านสื่อสมัยใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งที่เป็นไมโครฟิลม์คอมพิวเตอร์ ภาพถ่าย แถบบันทึกเสียง ภาพยนตร์ วิดีทัศน์ หรือซีดีคอม เป็นต้น แต่สื่อต่าง ๆ เหล่านี้อาจจะเป็นผลทำให้เสน่ห์ของข้อมูลลดลงได้
ข้อมูลทางศิลปะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกด้านสุนทรียารมณ์ ซึ่งมีฐานที่มาจากประสบการณ์เฉพาะบุคคล ดังนั้นข้อสรุปบางกรณีอาจชี้ให้เห็นคำตอบที่เป็นไปได้หลายทิศทาง เนื่องจากข้อมูลที่ค้นพบสามารถตีความได้หลายนัย เพราะธรรมชาติ ของศิลปนั้นไม่ยึดมั่นว่าข้อสรุปนั้นจักต้องเป็นทฤษฎี หรือ กฎเกณฑ์ทั่วไป เพราะข้อสรุปของงานวิจัยทางศิลปเป็นจำนวนมากมิอาจทดสอบหรือพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริงที่มีลักษณะเป็นสากลเช่นเดียวกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์
การเก็บรวบรวมข้อมูลทางศิลปะนั้น ศิลปินบางคนอาจมีการสะสมบ้าง เช่น เฮนรี่มัวร์ (Henry Moore) นิยมเก็บสะสมก้อนหินและเปลือกหอยนานาชนิด ไว้เพื่อศึกษาโดยไม่ได้ยึดติดกับข้อมูลเหล่านั้นเลย เพียงแต่อาศัยในการก่อแรงบันดาลใจให้เกิดจินตนาการเป็นรูปทรงต่าง ๆ สำหรับสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรม เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันศิลปินบางคนไม่นิยมสะสมข้อมูลวัตถุเหล่านี้ จึงใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เป็นสื่อหรือภาพ ประทับใจไว้ในความทรงจำ และพร้อมที่จะนำเสนอออกมาใช้ในโอกาสต่าง ๆ
สำหรับด้านประยุกต์ศิลป์นั้นเป็นการมุ่งเน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก จึงต้องเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริง เพื่อให้การออกแบบนั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เช่น การออกแบบเครื่องประดับสำหรับชาวเอเชีย ข้อมูลที่จำเป็นควรจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบเครื่องประดับอัญมณี และสีสันที่เป็นที่นิยมนอกจากนี้ยังต้องมีข้อมูลอื่น ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ด้วย เช่น เพศ วัย ค่านิยมของสังคมและวัฒนธรรม เป็นต้น ดังนั้นข้อมูลสำหรับด้านประยุกต์ศิลป์นั้นมีความเป็นปรนัยมากกว่าข้อมูลด้านวิจิตรศิลป์

• การวิเคราะห์ข้อมูล
สำหรับการวิจัยทางศิลปะที่อยู่ในกลุ่มวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ ทฤษฎีศิลปะ การวิจารณ์ศิลป์ ความคิดสร้างสรรค์ หลักสูตรการเรียนการสอนและศิลปะประยุกต์ทุกแขนงนั้น สามารถนำค่าสถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และทางสังคมศาสตร์มาใช้ได้จะมีกรณีแตกต่างไปก็คือการวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านวิจิตรศิลป์ ซึ่งไม่มีสูตรสำเร็จในเชิงวิชาการ เนื่องจากข้อมูลที่เป็นศิลปกรรมเป็นข้อมูลที่มีเสน่ห์ในตัวเอง อาจจะมีผลให้เกิดความรู้สึกซาบซึ้งแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของศิลปินแต่ละบุคคล ดังนั้นจึงไม่จำเป็นในการอ้างทฤษฎีใด ๆ ตายตัวในการวิเคราะห์ข้อมูล เนื่องจากธรรมชาติของวิชาศิลปะนั้นสร้างให้ไม่ยึดติดกับกฎระเบียบวิธีหรือทฤษฎีอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งที่แปลกและแตกต่างไปจากเดิม
ด้วยเหตุที่ไม่สามารถเป็นสูตรสำเร็จในการวิเคราะห์ข้อมูลนี้ ประยูร อุลุชาฏะ (2526) ได้อธิบายไว้ว่า ข้อมูลทางศิลปะมิได้แน่นอนแบบสองบวกสองเป็นสี่ ดังนั้นการวิเคราะห์จึงต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสม เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่างเจดีย์สมัยอยุธยากับสมัยอโยธยานั้น จำเป็นต้องวิเคราะห์จากระบบการเรียงอิฐ การสอปูนหรือขนาดของอิฐ เป็นต้น นอกจากนี้สามารถวิเคราะห์ได้จากโครงสร้างภายใน หากเป็นเจดีย์สมัยอยุธยาจะตันและเป็นโพรงแต่น้อย ในขณะที่เจดีย์สมัยอโยธยามักจะมีโครงสร้างภายในเป็นลักษณะโพรงใหญ่ หรืออาจวิเคราะห์จากรูปทรงภายนอก หากเป็นเจดีย์สมัยอยุธยามักมีรูปทรงกลมตลอด แต่ถ้าเป็นเจดีย์สมัยอโยธยาอาจมีลักษณะเป็นบัลลังก์แปดเหลี่ยม ระฆังกลมมีฐานแปดเหลี่ยม ในขณะที่สมัยอยุธยาบัลลังก์สี่เหลี่ยม ระฆังกลมมีฐานสี่เหลี่ยม เป็นต้น สำหรับ ดำรง สงศ์อุปราช (2526) มีความเห็นว่าข้อมูลเกี่ยวกับผลงานจิตรกรรมนั้น ผู้วิจัยสามารถวิเคราะห์และตีความด้วยวิธีศิลปะวิจารณ์ แต่ต้องอาศัยความรู้สึกภายในและจินตนาการ โดยพยายามอยู่ในเหตุผลตามหลักอัตนัยและปรนัยของศิลปวิจารณ์
การวิเคราะห์ข้อมูลทางศิลปะควรใช้วิธีการที่เป็นทั้งการอุปนัยและนิรนัย ควบคู่กันไป กล่าวคือมีความจ้ำเป็นต้องใช้วิธีอุปนัยในการใช้กระบวนการความคิดจากสิ่งที่หลากหลาย เพื่อสรุปสู่สิ่งที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งหมายความว่าสมสุติฐานขั้นแรกจักต้องมาจากการหาข้อมูลที่หลากหลายและกว้างขวาง เมื่อได้สมมติฐานแล้วจึงใช้กระบวนการนิรนัย ในการศึกษาข้อมูลในวงกว้างต่อไป แล้วจึงใช้วิธีการอุปนัยเพื่อหาข้อสรุปผลวิจัย ดังตัวอย่างเรื่องศรีปราชญ์กับพระมหาราชครู ขั้นตอนของการวิจัยในขั้นแรกจะเป็นการหาข้อมูลเบื้องต้นด้วยวิธีการอุปมานซึ่งจะนำไปสู่สมมติฐานว่า ศรีปราชญ์เป็นบุตรของพระมหาราชครู จากนั้นจะดำเนินการวิจัยด้วยวิธีอนุมาน โดยหลักการหาหลักฐานมาสนับสนุนสมมติฐานแรก ในตอนสรุปผลงานวิจัยก็จะใช้วิธีการอุปมานอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ได้มาซึ่งสมมติฐานสุดท้าย อันเป็นข้อสรุปว่าศรีปราชญ์เป็นบุตรของพระมหาราชครู ถ้าวิธีดังกล่าวเป็นวิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์ เราก็เห็นจะต้องสรุปว่า การวิจัยทางมนุษยศาสตร์ก็มีขั้นตอนที่เป็นเหตุเป็นผลได้เช่นกัน หากแต่ว่าอาจจะไม่มีความจำเป็นต้องใช้ขั้นตอนดังกล่าวอย่างตายตัวในทุกกรณีไป

• การนำเสนอผลงานวิจัยทางศิลปะ
การนำเสนอผลงานวิจัยควรนำเสนอผลงานด้วยภาษาที่ง่าย สั้น กระทัดรัด และชัดเจน เขียนให้ละเอียดเฉพาะเรื่องที่ได้ทำจริง พยายามเสนอผลการวิเคราะห์ให้เป็นผลรับกัน และให้ผู้อ่านเข้าใจแนวทางของการวิจัยและข้อค้นพบได้โดยง่าย ผู้เขียนรายงานต้องคิดเสมอว่าผู้อ่านผลงานวิจัยเรื่องใดก็คือผู้สนใจเรื่องนั้น เมื่อสงสัยสิ่งใดก็คงต้องตรวจสอบเพื่อค้นหาความถูกต้อง ผู้นำเสนอผลงานวิจัยจึงควรเสนอผลงานวิจัยอย่างตรงไปตรงมาและระมัดระวังอย่างยิ่ง ทั้งตรวจสอบรายงานทั้งหมดให้ถูกต้องตามความเป็นจริงด้วย
วิธีการนำเสนอผลงานวิจัยนั้น จากอดีตจนถึงปัจจุบันต่างคุ้นเคยในรูปของเอกสาร จนมีผู้เข้าใจว่าการเสนอผลงานวิจัยจะทำได้เฉพาะในรูปแบบของเอกสารเท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นความคิดที่ค่อนข้างแคบเกินไป สำหรับการนำเสนอผลงานศิลปะ เพราะจำเป็นจ้องพิจารณาถึงธรรมชาติลักษณะของเนื้อหาวิชาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีก้าวหน้าซึ่งอาจนำเทคโนโลยีประเภทต่าง ๆ ที่เหมาะสมมาใช้เป็นเครื่องมือในการนำเสนอผลงานวิจัยเช่น การนำเสนอโดยการสาธิต เช่น การนำเสนอวิจัยเรื่อง วิธีการซออู้ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น แม้ผู้นำเสนอจะมีทักษะในการใช้ภาษาอย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะนำเสนอได้สมบูรณ์และดีเท่ากับการนำซออู้มาสี ให้ฟังเป็นตัวอย่างจริง ๆ การนำเสนอในรูปแบบนิทรรศการผลงาน เช่น ผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย เป็นต้น การนำเสนอโดยภาพนิ่ง ภาพวาด แผนภูมิ แผนผัง แผนที่ เช่น การนำเสนอผลงานที่ไม่สามารถนำภาพจริงมานำเสนอได้ เช่น การนำเสนอผลงานวิจัยศิลปวัตถุ โบราณคดี โบราณสถาน หรือจิตรกรรมฝาผนัง เป็นต้น การนำเสนอโดยภาพเคลื่อนไหว ภาพยนตร์ วิดีทัศน์ และซิดีรอม เช่น การนำเสนอโดยเทปบันทึกเสียง หรือโน้ตเพลง เป็นต้น การนำเสนอโดยการจัดการแสดง เช่น การนำเสนอผลงานด้านคีตศิลป์ ทฤษฎีศิลป์ โดยการจัดแสดงวรรณศิลป์ โดยการอ่าน เป็นต้น นอกจากการนำเสนอผลงานวิจัยแล้วส่วนใหญ่ที่มีความจำเป็นซึ่งสำคัญและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ก็คือ การรายงานผลการวิจัย

• ตัวอย่างการออกแบบการวิจัยด้านศิลปวัฒนธรรมเชิงคุณภาพ (Qualitative research)

ติดตามผลผู้ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ
จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
สาขาทัศนศิลป์ (จิตกรรม, ประติมากรรม, ภาพิมพ์, สื่อผสม) ตั้งแต่ปี 2528-2549
2552

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาธิต ทิมวัฒนบรรเทิง

ลักษณะงานวิจัย เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพประกอบกับวิจัยเชิงสำรวจ(Survey Research)

ความมุ่งหมายของการวิจัย
1. ผลงานวิจัยนี้จะทำให้ทราบผลของการติดตามสถานภาพของศิลปินแห่งชาติ
2. ผลงานวิจัยนี้จะเป็นพื้นฐานข้อมูลเพื่อนำมาพัฒนากระบวนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้อย่างเป็นระบบต่อไป
3. ผลงานวิจัยนี้จะเป็นการกระตุ้นให้วงการศิลปกรรมไทยได้ตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมที่จะเป็นมรดกของชาติที่จะบ่งบอกถึงรากแก้วของบรรพชนไทยที่สืบทอดกันมา

ความสำคัญของการวิจัย
โครงการวิจัยนี้เป็นโครงการเพื่อติดตามผลของศิลปินแห่งชาติ โดยมีความมุ่งหวังที่จะทราบถึงสถานภาพความเป็นอยู่ของศิลปิน อีกทั้งเป็นการสำรวจผลงานการสร้างสรรค์จากอดีตมาถึงปัจจุบัน รวมทั้งเป็นการศึกษาทัศนคติ ความคิด และจินตนาการของศิลปินเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการจัดสวัสดิการให้แก่ศิลปิน พร้อมกับเป็นพื้นฐานขององค์ความรู้ในวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ของประเทศไทยได้ต่อไป

ขอบเขตของการวิจัย
เพื่อเป็นการติดตามผลของศิลปินภายหลังได้เป็นศิลปิ่นแห่งชาติ โดยได้กำหนดขอบเขตไว้ดังนี้
1. ศึกษาสถานภาพการเป็นอยู่ของครอบครัว
2. ศึกษาบทบาที่เป็นอยู่กับกลุ่มศิลปินต่างๆ
3. ศึกษาสถานภาพกับสวัสดิการที่ได้รับจากหน่วยงานราชการ
4. ศึกษาสถานภาพกับบทบาทการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ
5. ศึกษาสถานภาพกับบทบาทที่มีต่อสังคม

ตัวแปรที่จะศึกษา
ตัวแปรต้น
- รางวัลศิลปินแห่งชาติ
ตัวแปรตาม
- ศิลปินแห่งชาติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม, ประติมากรรม, ภาพพิมพ์, สื่อผสม)

ระเบียบวิธีการวิจัย
การศึกษาวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพในลักษณะของการวิจัยเชิงสำรวจ เพื่อติดตามผลผู้ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์ โดยการเก็บรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง จากแบบสอบถามเพื่อทราบถึงสถานภาพของศิลปิน

ข้อตกลงเบื้องต้น
จากช่วงเวลาของการติดตามได้เริ่มจากการที่ได้มีศิลปินแห่งชาติคนแรกในปี พ.ศ. 2528 มาจนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 32 ปี ซึ่งมีศิลปินบางท่านที่ได้เสียชีวิตแล้ว ซึ่งจะได้เพียงข้อมูลโดยทั่วไปเท่านั้น

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
แบบสอบถาม

การเก็บรวบรวมข้อมูล
งานวิจัยเรื่องติดตามผู้ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม, ประติมากรรม, ภาพพิมพ์, สื่อผสม) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 - 2549 ผู้วิจัยใช้การเก็บด้วยการส่งแบบสอบถามไปยังศิลปินแห่งชาติ เก็บข้อมูลภาคสนามด้วยการสัมภาษณ์ศิลปินแห่งชาติ ในกรณีที่ศิลปินแห่งชาติท่านนั้นเสียชีวิต ผู้วิจัยจะทำการเก็บข้อมูลจากเอกสารที่มีอยู่ รวมทั้งการเก็บข้อมูลจากผลงานที่ได้รับรางวัลหรือเป็นผลงานที่แสดงตัวตนของศิลปินแห่งชาติท่านนั้นมาวิเคราะห์

การวิเคราะห์ข้อมูล
การวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลแบบพรรณาวิเคราะห์ จากการวิเคราะห์ข้อมูลดังต่อไปนี้
- การวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสาร
- แบบสอบถามเพื่อให้ทราบถึงสถานภาพณ์ของศิลปิน

ประเด็นในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ
สถานภาพของศิลปินแห่งชาติในส่วนของความเป็นอยู่ของครอบครัว บทบาทของศิลปินแห่งชาติที่อยู่รวมกับศิลปินกลุ่มต่างๆ สวัสดิการที่ได้รับจากหน่วยราชการ การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะและบทบาที่มีต่อสังคม

สรุปผลการศึกษาค้นคว้า
ในส่วนของข้อมูลจากการสัมภาษณ์สถานภาพของศิลปินนั้น เนื่องจากขณะนี้ผู้วิจัยกำลังอยู่ในขั้นตอนของการเก็บรวบรวมข้อมูลซึ่งยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร แต่ทั้งนี้ในส่วนของการวิเคราะห์ข้อมูลในประเด็นของการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติ ผู้วิจัยได้เก็บรวบรวมและได้วิเคราะห์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสามารถสรุปผลการศึกษาในส่วนของการสร้างสรรค์ผลงานศิลปินของศิลปินแห่งชาติ ดังนี้
จากการวิเคราะห์ในประเด็นการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528-2549 พบว่ามีจำนวนศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม, ประติมากรรม, ภาพพิมพ์, สื่อผสม) จำนวน 27 ท่าน ที่แบ่งกลุ่มผลงานได้ดังนี้
- กลุ่มที่มีแนวความคิดและแรงบันดาลใจจากภาพพระมหากษัตริย์ ภาพพระ และภาพบุคคล จำนวน 4 ชิ้น
- กลุ่มที่มีแนวความคิดและแรงบันดาลใจจากพระพุทธศาสนา มีจำนวน 6 ชิ้น
- กลุ่มที่มีแนวความคิดและแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรม สังคม การเมือง ภาพทิวทัศน์ และอื่นๆ จำนวน 17 ชิ้น

• ตัวอย่างการเขียนสรุปผลการศึกษาค้นคว้าแบบพรรณนาวิเคราะห์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาธิต ทิมวัฒนบรรเทิง
จากการศึกษาวิเคราะห์ที่มาของแนวคิดและแรงบันตาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 27 ชิ้นงาน ของศิลปินแห่งชาติ จำนวน 27 ท่าน ผู้วิจัยสามารถแบ่งกลุ่มที่มาของความคิดออกเป็น 3 ประเด็นด้วยกัน ดังนี้
กลุ่มที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพพระมหาษัตริย์ ภาพพระ และภาพบุคคล
จากการศึกษา พบว่า มีผลงาน จำนวน 4 ชิ้น คือ ภาพ “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” ภาพ “รัชการที่ 4 ทรงตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษในพระบรมมหาราชวัง” ภาพ “ชายแก่” รูปปั้น “พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด) วัดปากน้ำภาษีเจริญ”
โดยภาพ “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” เป็นภาพที่แสดงความผูกพันระหว่างครูกับลูกศิษย์ จึงก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้อาจารย์เฟื้อให้เขียนภาพดังกล่าว ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความรู้สึกที่แสดงออกด้วยความเคารพด้วยจิตคารวะเป็นอย่างยิ่ง จึงเป็นภาพเสมือนเป็นตัวแทนของการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อครูบาอาจารย์ด้วยการสื่อสารด้วยผลงานศิลปะ
ภาพ “รัชกาลที่ 4 ทรงตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษในพระบรมมหาราชวัง” เป็นภาพที่เขียนขึ้นในโอกาสที่กรุงเทพมหานคร มีอายุครบ 200 ปี ซึ่งมีการจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ โดยในช่วงของรัชกาลที่ 4 ทรงตระหนักถึงคุณค่าของการศึกษาจึงมีพระราชดำริให้มีการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา ซึ่งได้สร้างคุณค่าทางการศึกษาที่มีต่อประเทศชาติมาจนถึงทุกวันนี้
ภาพ “เหมือนคนแก่” เป็นผลงานที่อาจารย์ได้สร้างสรรค์ด้วยความฉับพลันทางความคิดที่ก่อเกิดจากความประทับใจในตัวแบบที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า ซึ่งอาจารย์ได้ใช้วิธีการเขียนภาพที่รวดเร็ว เป็นลักษณะการเขียนภาพในแนวทาง Expressionism ซึ่งเป็นการแสดงออกทางพลังอารมณ์ที่อาจารย์ได้ร่วมรู้สึกกับหุ่นชายผู้นี้
ภาพ “พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด) วัดปาน้ำ ภาษีเจริญ” ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับการยอมรับในความเหมือนจริงเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นรูปแบบที่สุดท้อนความเป็นตัวตนของรูปปั้น ที่สามารถสื่ออารมณ์ต่อผู้ชม จากด้วยความศรัทธาที่มีต่อพระคุณเจ้า
ผู้วิจัยพบว่า การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่เกี่ยวกับบุคคลนั้น ผู้สร้างสรรค์ย่อมมีความเคารพ ศรัทธา และความผูกพัน ที่ศิลปินมีต่อบุคคลนั้นๆ จึงจะสามารถถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก ลักษณะเฉพาะของผู้ที่ถูกสร้างสรรค์ได้อย่างเข้าถึง ซึ่งต้องผ่านประสบการณ์ร่วมในทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม เสมือนหนึ่งในการถ่ายทอดจิตวิญญาณของผู้ถูกถ่ายทอดนั้น ให้ปรากฏเป็นผลงานทางศิลปะด้วยหลักการทางทัศนศิลป์ ตามความเชี่ยวชาญของศิลปินในการนำเสนอที่มีกลวิธีการอันเป็นรูปแบบเฉพาะของตน

ตารางสรุป การออกแบบงานวิจัย : ติดตามผลผู้ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ
จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์
(จิตรกรรม, ประติมากรรม, ภาพพิมพ์, สื่อผสม) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528-2549

การตั้งคำถามวิจัย 1. เพื่อศึกษาถึงสถานภาพของศิลปินแห่งชาติว่าเป็นอย่างไร มีสถานภาพครอบครัวอย่างไร มีบทบาทในกลุ่มศิลปินต่างๆ อย่างไร ได้สวัสดิการจากหน่วยงานราชการอย่างไร มีการสร้างสรรค์ศิลปกรรมอย่างไร และมีบทบาทต่อสังคมอย่างไร
วัตถุประสงคของการวิจัย 1. ผลงานวิจัยนี้จะทำให้ทราบผลของการติดตามสถานภาพของศิลปินแห่งชาติ
2. ผลงานวิจัยนี้จะเป็นพื้นฐานข้อมูลเพื่อนำมาพัฒนากระบวนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปได้อย่างเป็นระบบต่อไป
3. ผลงานวิจัยนี้จะเป็นการกระตุ้นให้วงการศิลปกรรมไทยได้ตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมที่จะเป็นมรดกของชนชาติที่จะบ่งบอกถึงรากแก้วของบรรพชนไทยที่สืบทอดกันมา
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง - ศิลปินแห่งชาติจากสำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติกระทรวงวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม ประติมากรรม, ภาพพิมพ์, สื่อผสม) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528-2549 จำนวน 27 ท่าน
ขอบเขตการวิจัย 1. ศึกษาสถานภาพการเป็นอยู่ของครอบครัว
2. ศึกษาบทบาทที่เป็นอยู่กับกลุ่มศิลปินต่างๆ
3. ศึกษาสถานภาพกับสวัสดิการที่ได้รับจากหน่วยงานราชการ
4. ศึกษาสถานภาพกับบทบาทการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ
5. ศึกษาสถานภาพกับบทบาที่มีต่อสังคม
เครื่องมือการวิจัย แบบสอบถามประกอบการสัมภาษณ์
การวิเคราะห์ข้อมูล - แบบพรรรณาวิเคราะห์
• การออกแบบวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research)

การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เป็นวิธีค้นหาความรู้และความจริง โดยเน้นที่ข้อมูลเชิงตัวเลข การวิจัยเชิงปริมาณจะพยายามออกแบบวิธีการวิจัยให้มีการควบคุมตัวแปรที่ศึกษาต้องจัดเตรียมเครื่องมือรวบรวมข้อมูลให้มีคุณภาพ จัดกระทำสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องให้เป็นมาตรฐาน และใช้วิธีการทางสถิติช่วยวิเคราะห์และประมวลข้อสรุปเพื่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด
ลักษณะของข้อมูล
การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) เป็นการศึกษาสภาพทั่วไปของสังคมโดยกำหนดตัวแปรต่างๆเพื่อเก็บข้อมูลสถิติตัวเลข อาจเป็นข้อมูลปฐมภูมิหรือทุติยภูมิ การเสนอภาพรวมจะมี ข้อมูลเชิงปริมาณประกอบด้วย
วิธีการเก็บข้อมูล
การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) จะเก็บข้อมูลด้วยวิธีการสำรวจ เน้นการเก็บข้อมูลจากคนจำนวนมาก เพื่อทำการวิเคราะห์และทดสอบทฤษฎีหรือสร้างทฤษฎีและให้ความหมายในเชิงวิชาการมากกว่าการศึกษาแง่มุมของชาวบ้าน
การทดสอบความแม่นตรงของข้อมูล (Validity) ความเชื่อถือได้ของข้อมูล (Reliability)
การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) ใช้การเก็บข้อมูลจากคนจำนวนมากด้วยแบบสอบถาม คำถามในแบบสอบถามจึงจำเป็นต้องมีความชัดเจน
ระยะเวลา
การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) ขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูลสามารถแยกออกจากการเก็บข้อมูลโดยเด็ดขาดได้ การวิเคราะห์ข้อมูลอาจให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์เชิงสถิติดำเนินการได้โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับชุมชนที่ไปศึกษา
ขั้นตอนการวิจัยเชิงปริมาณ ประกอบด้วย
1. การเลือกหัวข้อเรื่องที่จะทำการวิจัย (Research a Topic) ในขั้นตอนแรกผู้วิจัยจะต้องตัดสินใจให้แน่ชัดเสียก่อนว่าจะวิจัยเรื่องอะไร แล้วกำหนดเป็นหัวเรื่องที่จะวิจัย
2. การกำหนดปัญหาในการวิจัย (Formulating the Research Problem) เป็นการตั้งปัญหาในเรื่องที่ต้องการวิจัยเพื่อหาคำตอบ หรือเป็นการแจกแจงวัตถุประสงค์ของการศึกษา โดยต้องกำหนดขอบเขตของปัญหาให้ชัดเจน และเป็นปัญหาที่สามารถหาคำตอบได้
3. การสำรวจวรรณกรรม (Extensive Literature Survey) เป็นการทบทวนเอกสารต่างๆแนวคิดทางทฤษฎี และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหัวเรื่องที่ต้องการศึกษา เพื่อหาแนวคิดทางทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย และสำรวจให้แน่ใจว่าไม่วิจัยซ้ำกับผู้อื่น ทั้งนี้การวิจัยควรเน้นการเสริมสร้างให้เกิดความรู้ใหม่
4. การตั้งสมมติฐานการวิจัย (Formulating Hypothesis) เป็นการคาดคะเนคำตอบของปัญหาในการวิจัย หรือคาดคะเนความสัมพันธ์ของตัวแปรต่างๆ ที่จะศึกษาไว้ล่วงหน้าแล้วจึงหาข้อมูลมาพิสูจน์
5. การออกแบบการวิจัย (Research Design) เป็นการวางแผนกำหนดวิธีการในการดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบของปัญหาในการวิจัย เช่นการเก็บข้อมูล การเลือกเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูล ระยะเวลาที่ต้องใช้ในการวิจัย บุคลากรและงบประมาณที่จะใช้
6. การเก็บรวบรวมข้อมูล (Data Collection) เป็นการวางแผนว่าจะเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างไร จะใช้ข้อมูลปฐมภูมิ หรือทุติยภูมิ และถ้าเป็นข้อมูลทุติยภูมิควรจะเก็บอย่างไร การสร้างเครื่องมือรวบรวมข้อมูล ถ้าเป็นข้อมูลทุติยภูมิจะใช้ข้อมูลจากแหล่งใด
7. การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) ข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้จะนำมาบรรณาธิการความถูกต้อง (การตรวจสอบความถูกต้อง) และความน่าเชื่อถือของข้อมูลก่อน จึงทำการประเมินผลและวิเคราะห์ผลที่ได้และพิสูจน์กับสมมติบานที่ตั้งไว้
8. การเขียนรายงานผลการวิจัยและจัดพิมพ์เผยแพร่ (Research Report) เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการวิจัย ผู้วิจัยจะต้องเขียนรายงาน เพื่อให้ผู้อื่นทราบถึงกิจกรรมที่ดำเนินในขั้นตอนต่างๆ และสิ่งที่ค้นพบจากการวิจัย ซึ่งผู้วิจัยจะต้องเขียนรายงานตามรูปแบบของการเขียนรายงานการวิจัย และเขียนด้วยความซื่อสัตย์ในสิ่งที่ค้นพบ

• ตัวอย่างการออกแบบการวิจัยด้านศิลปวัฒนธรรมเชิงปริมาณ (Quantitative Research)

การศึกษาทัศนะต่อลักษณะอันพึงประสงค์
ของนักแสดงและผู้กำกับการแสดงของละครโทรทัศน์
2544
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พฤทธิ์ ศุภเศรษฐศิริ

ลักษณะงานวิจัย เป็นการวิจัยเชิงปริมาณประกอบกับวิจัยเชิงสำรวจ(Survey Research) โดยใช้แบบสอบถาม (Questionare) ชนิดมาตราส่วนประเมินค่า(Rating Scale) 5 ระดับ

ความมุ่งหมายของการวิจัย
1. เพื่อการศึกษาทัศนะต่อลักษณะอันพึงประสงค์ของนักแสดงและผู้กำกับการแสดงละครโทรทัศน์
2. เพื่อศึกษาเปรียบเทียบทัศนะในเรื่องลักษณะอันพึงประสงค์ของนักแสดงและผู้กำกับการแสดงละครโทรทัศน์ ระหว่าง (1) กลุ่มงานแสดงและงานกำกับการแสดง (2) กลุ่มงานออกแบบเพื่อการแสดง และ (3) กลุ่มงานกำกับเวที กำกับรายการและงานจัดการ

ความสำคัญของการวิจัย
1. ทำให้ทราบถึงทัศนะองผู้สร้างงานละครโทรทัศน์ไทยต่อลักษณะอันพึงประสงค์ของนักแสดง และผู้กำกับการแสดงละครโทรทัศน์
2. จะช่วยให้นักวิชาการและสถาบันการศึกษาที่ผลิตบุคคลากรด้านศิลปะการแสดงเข้าใจถึงความเชื่อ ความต้องการของตลาดแรงงานของไทย และความเป็นริงของวงการบันเทิงของไทยเกี่ยวกับลักษณะอันพึงประสงค์ของนักแสดงและผู้กำกับการแสดงละครโทรทัศน์
3. ผลของการศึกษาอาจช่วยลดปัญหาช่องว่างระหว่างการวิชาการด้านศิลปะการแสดง กับผู้ผลิตงานในวงการอาชีพของประเทศไทย

ขอบเขตของการวิจัย
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น (Stratified random sampling) แบ่งเป็น 3 กลุ่มได้แก่ 1. กลุ่มงานแสดงและงานกำกับงานแสดง 2. กลุ่มงานออกแบบเพื่อการแสดง และ 3. กลุ่มงานดำกับเวที กำกับรายการและงานจัดการ
การเก็บข้อมูลจะเก็บจากกลุ่มผู้ผลิตงานละครโทรทัศน์ ซึ่งผลิตงานสำหรับสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ช่อง 5 และช่อง 7 ของไทย
เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล คือแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นโดยแบ่งออกเป็น 3 ตอนคือ
ตอนที่ 1 : ข้อมูลส่วนตัวของผู้ให้ข้อมูลได้แก่ เพศ อายุ ระดับการศึกษา สาขาวิชาที่ศึกษา และงานที่รับผิดชอบในการผลิตละครโทรทัศน์
ตอนที่ 2 : ข้อมูลเกี่ยวกับทัศนะต่อลักษณะพึงประสงค์ของนักแสดงละครโทรทัศน์
ตอนที่ 3 : ข้อมูลเกี่ยวกับทัศนะต่อลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้กำกับการแสดงละครโทรทัศน์

ตัวแปรที่จะศึกษา
1. ตัวแปรอิสระ (Independent Variable) คือข้อมูลส่วนตัวของกลุ่มตัวอย่างได้แก่
- เพศ
- อายุ
- ระดับการศึกษา
- สาขาวิชาที่ศึกษา
- งานที่รับผิดชอบในการผลิตละครโทรทัศน์
2. ตัวแปรตาม (Dependent Variable) คือ
- ทัศนะต่อลักษณะอันพึงประสงค์ของนักแสดงละครโทรทัศน์
- ทัศนะต่อลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้กำกับการแสดงละครโทรทัศน์

ระเบียบวิธีการวิจัย
การศึกษาวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงประมาณ (Quantitative research) ในลักษณะการวิจัยเชิงสำรวจ(Survey Research) เพื่อศึกษาทัศนะความเชื่อต่อลักษณะอันพึงประสงค์ของนักแสดงและผู้กำกับการแสดงละครโทรทัศน์ โดยใช้แบบสอบถาม (Questionare) ชนิดมาตราส่วนประเมินค่า(Rating Scale) 5 ระดับ เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล

ข้อตกลงเบื้องต้น
ด้วยเหตุที่กลุ่มประชากรของผู้ที่ทำหน้าที่ผลิตละครโทรทัศน์ของไทยเป็นกลุ่มประชากรที่ไม่สามารถสรุปได้ว่ามีจำนวนเท่าใด เพราะส่วนใหญ่เป็นงานเฉพาะเรื่อง มิได้ทำงานประจำ ดังนั้นในงานวิจัยฉบับนี้จะเก็บข้อมูลจากผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ผลิตละครโทรทัศน์ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-เดือนมิถุนายน 2543 เท่านั้น

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลในการศึกษาวิจัยทัศนะของบุคคลากรใช้แบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประเมินค่า (rating scale) 5 ระดับ เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล จากคณะผู้ผลิตละครโทรทัศน์ ซึ่งผลิตงานให้แก่สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ช่อง 5 และช่อง 7 ของไทย
แบบสอบถามผู้วิจัยสร้างขึ้นจากการประมวลความคิด ทัศนะต่อคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักแสดงและผู้กำกับการแสดงที่ดี ตัวแบบสอบถามแบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ
ตอนที่ 1 : เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนตัวของผู้ให้ข้อมูลได้แก่ เพศ อายุ งานที่รับผิดชอบระดับการศึกษาและสาขาวิชาที่ศึกษา
ตอนที่ 2 : ข้อมูลเกี่ยวกับลักษระอันพึงประสงค์ของนักแสดงละครโทรทัศน์ รวมทั้งสิ้น 34 ข้อ
ตอนที่ 3 : ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้กำกับการแสดงละครโทรทัศน์รวมทั้งสิ้น 31 ข้อ

การเก็บรวบรวมข้อมูล
งานวิจัยเรื่องการศึกษาทัศนะต่อลักษณะอันพึงประสงค์ของนักแสดงและผู้กำกับการแสดงละครโทรทัศน์ ผู้วิจัยใช้การเก็ยข้อมูลสนาม วิธีเก็บข้อมูลจะเก็บโดยตรงจากตัวผู้ให้ข้อมูล ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สร้างสรรค์งานละครโทรทัศน์ของไทย ในขณะที่ดำเนินการวิจัยช่วงระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2543

การวิเคราะห์ข้อมูล
การวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยวิเคราะห์ประเมินผลข้อมูลเชิงสำรวจด้วยโปรแกรมสถิติสำเร็จรูป SPSS (Statistical Package for Social Sciences) การจัดการทำข้อมูลผู้วิจัยนำแบบสอบถามที่ได้รับคืนมาทั้งหมดมาคำนวณโดยวิธีการทางสถิติดังนี้
1. วิเคราะห์ทัศนะของกลุ่มตัวอย่างต่อลักษณะอันพึงประสงค์ของนักแสดงและผู้กำกับการแสดงละครโทรทัศน์ ด้วยการหาค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) ทั้งนี้โดยใช้เกณฑ์ในการแปลความหมายค่าคะแนนเฉลี่ย และระดับการแสดงทัศนะซึ่งประเมินจากค่าคะแนนเฉลี่ย โดยการพิจารณาจากค่าคะแนนเฉลี่ย บวกลบ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (x+ SD.)
2. เปรียบเทียบทัศนะของกลุ่มตัวอย่างลักษณะอันพึงประสงค์ของนักแสดงและผู้กำกับการแสดงละครโทรทัศน์ โดยจำแนกตามลักษณะของการทำงาน โดยการทดสอบด้วยสถิติทดสอบเอฟ (F-test statistic) ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ .05
3. เปรียบเทียบทัศนะของกลุ่มตัวย่างต่อลักษณะอันพึงประสงค์ของนักแสดงและผู้กำกับการแสดงละครโทรทัศน์ โดยจำแนกตามลักษณะการทำงานเป็นรายคู่ ด้วยวิธีของ Tukey ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 และ .01
4. เปรียบเทียบทัศนะของกลุ่มตัวอย่างต่อลักษณะอันพึงประสงค์ของนักแสดงและผู้กำกับการแสดงโทรทัศน์ โดยจำแนกตามเพศ โดยการทดสอบเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยระหว่างกลุ่มและทดสอบความแตกต่างระหว่างกลุ่มด้วยสถิติทดสอบค่าที (T-test statistic) ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ .05
5. เปรียบเทียบทีศนะของกลุ่มตัวอย่างต่อลักษณะอันพึงประสงค์ของนักแสดงและผู้กำกับการแสดงโทรทัศน์ โดยจำแนกตามอายุ ตามระดับการศึกษา และตามสาขาวิชาที่กลุ่มตัวอย่างศึกษา โดยการทดสอบด้วยสถิติทดสอบเอฟ (F-test statistic) ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่.05

สรุปผลการศึกษาค้นคว้า
ผลของการศึกษาพบว่า ลักษณะดันพึงปรางค์ของนักแสดงละครโทรทัศน์ ที่มีค่าคะแนนเฉลี่ยสูงสุดห้าอันดับแรกได้แก่ (1) เป็นคนตรงต่อเวลา (2) มีความรับผิดชอบในหน้าที่และภาระงานของตน (3) มีความอดทนและรักงานแสดง (4) มีสำนึกที่ดีต่ออาชีพการแสดง และ (5) เป็นผู้ที่มีวินัย ตั้งในและขยันหมั่นเพียร ขณะที่ลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้กำกับการแสดงละครโทรทัศน์ ที่มีค่าคะแนนเฉลี่ยสูงสุดห้าอันดับแรก ได้แก่ (1) มีความกระตือรือร้นและสนใจในบทละครที่จำกำกับอย่างจริงจัง (2) มีความารู้เกี่ยวกับบทละครและเรื่องที่จะกำกับอย่างดี (3) มีความคิดริเริ่มและจินตนาการ และฉับไวในการแก้ปัญหา (4) เป็นผู้วางแปนการทำงานล่วงหน้าอย่างสม่ำเสมอ และ (5) สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ อย่างไรก็ดี เมื่อศึกษาเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยของทัศนะต่อลักษณะอันพึงประสงค์ของนักแสดงและผู้กำกับการแสดงละครโทรทัศน์ด้วย F-test พบว่ากลุ่มบุคคลที่ทำงานแตกต่างกัน จะแสดงทัศนะต่อลักษณะอันพึงประสงค์ของนักแสดงละครโทรทัศน์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 และจะแสดงทัศนะต่อลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้กำกับแสดงละครโทรทัศน์ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

การตั้งคำถามวิจัย 1.เพื่อศึกษาทัศนต่อลักษณะอันพึงประสงค์ของนักแสดงและผู้กำกับการแสดงละครโทรทัศน์ว่าเป็นอย่างไร
2.เพื่อศึกษาเปรียบเทียบทัศนะในเรื่องลักษณะอันพึงประสงค์ของนักแสดงและผู้กำกับการแสดงละครโทรทัศน์ ระหว่าง
2.1 กลุ่มงานแสดงและงานกำกับการแสดง
2.2 กลุ่มงานออกแบบเพื่อการแสดง
3.3 กลุ่มงานกำกับเวที กำกับรายการแสดง
วัตถุประสงค์ของการวิจัย 1.ทำให้ทราบถึงทัศนะของผู้สร้างงานละครโทรทัศน์ไทยต่อลักษณะอันพึงประสงค์ของนักแสดงและผู้กำกับการแสดงละครโทรทัศน์
2.จะช่วยให้นักวิชาการและสถาบันการศึกษาที่ผลิตบุคลากรด้านศิลปะการแสดงเข้าใจถึงความเชื่อ ความต้องการของตลาดแรงงานของไทยและความเป็นจริงของวงการบันเทิงไทยเกี่ยวกับลักษณะอันพึงประสงค์ของนักแสดงและผู้กำกับการแสดงละครโทรทัศน์
3.ผลของการศึกษาอาจช่วยลดปัญหาช่องว่างระหว่างวิชาการด้านศิลปการแสดงกับผู้ผลิตในวงการอาชีพของไทย
ประกรและกลุ่มตัวอย่าง บุคลากรที่ทำงานผลิตละครโทรทัศน์ของไทยในปัจจุบันซึ่งผลิตละครโทรทัศน์ ช่อง 3 ช่อง 5 และช่อง 7 โดยใช้การสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น ( Stratified random Sampling )
ขอบเขตการวิจัย 1. ข้อมูลส่วนตัวของผู้ให้ข้อมูล : เพศ , อายุ , ระดับการศึกษา , สาขาวิชาที่ศึกษา, งานที่รับผิดชอบในการผลิตละครโทรทัศน์
2. ข้อมูลเกี่ยวกับทัศนะต่อลักษณะพึงประสงค์ของนักแสดงละครโทรทัศน์
3. ข้อฒุลเกี่ยวกับทัศนะต่อลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้กำกับการแสดงละครโทรทัศน์
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย แบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประเมินค่า ( Rating scale ) 5 ระดับ จากคณะผู้ผลิตงานละครโทรทัศน์แก่ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ของไทย
การวิเคราะห์ข้อมูล 1. ใช้โปรแกรมสถิติสำเร็จรูป SPSS (Statistical Pakage for Social Science)
2. ผู้วิจัยนำแบบสอบถามมาจัดกระทำข้อมูลคำนวนด้วยวิธีการทางสถิติ
ตารางสรุป การออกแบบงานวิจัย : การศึกษาทัศนะต่อลักษณะอันพึงประสงค์ของนักแสดงและผู้กำกับการแสดงละครโทรทัศน
• การออกแบบวิจัยและพัฒนา (Research and Development)

งานวิจัยและพัฒนา คือ งานวิจัยที่มุ่งเน้นนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรง ในการพัฒนากระบวนการผลิต กระบวนการบริการ การพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาชุมชน การจัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยไม่มุ่งหวังที่ผลงานตีพิมพ์ ดังนั้นนักวิจัยควรทำงานวิจัยตามความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ได้แก่ กลุ่มนักอุตสาหกรรม เกษตรกร ผู้แปรรูป ชุมชน ฯลฯ โดยมีตัวอย่างโครงการที่มีลักษณะของงานวิจัยและพัฒนา ดังนี้ เช่น การศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมจังหวัดสุรินทร์
เป้าหมายหลักของงานวิจัยและพัฒนา คือ การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เพื่อการแก้ปัญหาในกระบวนการผลิต การตลาด อุตสาหกรรม หรือสังคม ฯลฯ ดังนั้น การวัดความสำเร็จของโครงการวิจัยและพัฒนา จึงวัดที่ความสำเร็จจากการที่ผลงานนั้นๆ ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เชิงนโยบาย หรือในเชิงสาธารณะ ดังนั้น การกำหนดกิจกรรมเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ของโครงการไว้ในข้อเสนอโครงการจึงเป็นเรื่องจำเป็น

• รูปแบบของงานวิจัยและพัฒนา
รูปแบบของงานวิจัยและพัฒนา แบ่งออกได้เป็น 4 ลักษณะ โดยแต่ละประเภทมีธรรมชาติและเป้าหมายที่แตกต่างกัน ดังนั้นการพัฒนาโจทย์วิจัยของงานทั้ง 4 ลักษณะ ดังนี้
1. งานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นการวิจัยที่มีการตั้งโจทย์การวิจัยเพื่อแก้ปัญหาให้แก่ผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยโดยตรง ดังนั้นประเด็นวิจัยจึงถูกตั้งขึ้นตามความต้องการของผู้ใช้ข้อมูล และดำเนินการวิจัยโดยนักวิจัย กระบวนการพัฒนาโจทย์วิจัยมักเป็นแบบระดมความคิดโดยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านต่าง ๆ ได้มีส่วนร่วมทั้งในส่วนของผู้ใช้ข้อมูลผู้ประกอบการ นักวิจัย และผู้ที่ได้รับผลกระทบ (เช่น อาจใช้วิธีการระดมความคิดแบบ ZOPP หรือ Objective Oriented Project Planning) โดยในขั้นแรกแนะนำให้เสนอเป็นเอกสารเชิงหลักการก่อน เมื่อได้ปรับแต่งแนวคิดได้ตรงกันแล้ว จึงพัฒนาไปสู่การเขียนข้อเสนอโครงการฉบับเต็มต่อไป ประเด็นวิจัยสำหรับโครงการประเภทนี้คือปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัจจุบันของเรื่องนั้นๆ และการวิจัยดังกล่าวจะนำไปสู่การแก้ปัญหานั้นต่อไป
2. งานวิจัยเพื่อเตรียมรองรับปัญหาในระยะปานกลางถึงระยะยาว เป็นงานวิจัยที่เตรียมความพร้อมสำหรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยปัญหาดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ดังนั้นการกำหนดกรอบการวิจัยหรือตั้งโจทย์วิจัย จะต้องอาศัยความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องอย่างมาก โจทย์การวิจัยอาจมาจากนักวิจัยหรือผู้ที่เกี่ยวข้องหรือจากการระดมความคิดก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องมีหลักฐานยืนยันแนวคิดนั้นๆ อย่างชัดเจนและรัดกุมว่ามีโอกาสเป็นไปได้สูงที่เรื่องดังกล่าวจะเป็นปัญหาสำคัญในอนาคตทั้งระยะใกล้และไกล
3. งานวิจัยและพัฒนาซึ่งนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม หรือเป็นการวิจัยเพื่อให้ได้ทางเลือกใหม่ในการพัฒนา โจทย์ของงานวิจัยประเภทนี้มักถูกกำหนดโดยนักวิจัย หรือผู้ที่เชี่ยวชาญในวงการนั้นๆ การพัฒนาโครงการประเภทนี้ จำเป็นต้องมีหลักฐานยืนยันแนวคิดอย่างชัดเจน รวมทั้งต้องชี้ให้เห็นความสำคัญและความเป็นไปได้ในเรื่องที่จะวิจัยอย่างชัดเจน นอกจากนี้ต้องมีการคำนึงถึงความเป็นไปได้ในการขยายผลงานวิจัยดังกล่าวออกสู่การใช้ประโยชน์ในแง่มุมต่าง ๆ ด้วย
4. งานขยายผลการวิจัย เป็นกระบวนการจัดการปลายทางเพื่อหาข้อมูลบางประการหรือสนับสนุนกิจกรรมบางอย่างเพื่อให้ผลงานที่ได้จากการวิจัย ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง ลักษณะงานประเภทนี้อาจไม่ใช่งานวิจัยอย่างแท้จริงตามความเข้าใจของบุคคลทั่วไป อย่างไรก็ตามบางกรณีการดำเนินงานเช่นนี้อาจมีความจำเป็นในการผลักดันให้ผลงานถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างจริงจัง
ดังนั้น การวิจัยและพัฒนาจึงเป็นกระบวนการศึกษาที่หลากหลายและยากที่จะระบุชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามการศึกษานี้เป็นค้นคว้าคิดค้นอย่างเป็นระบบและน่าเชื่อถือ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาผลผลิต เทคโนโลยี สิ่งประดิษฐ์ สื่อ อุปกรณ์ เทคนิควิธีหรือรูปแบบการทำงานหรือระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้นอย่างชัดเจน โดยมีจุดเน้นในการนำผลลัพธ์ไปสู่ผู้ใช้ ดังนั้นจึงก่อให้เกิดกระบวนการร่วมมือระหว่างนักวิจัย และผู้ใช้ผลการวิจัยหรือกลุ่มเป้าหมาย

• กระบวนการวิจัยและพัฒนา

1. การกำหนดผลิตภัณฑ์และรวบรวมข้อมูล
2. การวางแผนการวิจัยและพัฒนา
3. การพัฒนารูปแบบขั้นตอนของการผลิต
4. ทดลองหรือทดสอบผลิตภัณฑ์ขั้นต้น
5. นำข้อมูลและผลการทดลองมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ครั้งที่ 1
6. ทดลองหรือทดสอบผลิตภัณฑ์ครั้งที่ 2
7. นำข้อมูลและผลการทดลองมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ครั้งที่ 2
8. ทดลองหรือทดสอบผลิตภัณฑ์ครั้งที่ 3
9. นำข้อมูลและผลการทดลองมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ครั้งที่ 3
10. การเผยแพร่

• การกำหนดผลิตภัณฑ์และรวบรวมข้อมูล

วัตถุประสงค์ของการใช้ โดยมีเกณฑ์ในการเลือกกำหนดผลิตภัณฑ์การศึกษาที่จะวิจัยและพัฒนา 4 ข้อ ได้แก่
1. ตรงกับความต้องการอันจำเป็นหรือไม่
2. ความก้าวหน้าทางวิชาการมีเพียงพอในการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่กำหนดหรือไม่
3. บุคลากรที่มีอยู่ มีทักษะความรู้และประสบการณ์ที่จำเป็นต่อการวิจัยและพัฒนานั้นหรือไม่
4. ผลิตภัณฑ์นั้นจะพัฒนาขึ้นในเวลาอันสมควรได้หรือไม่

งานวิจัยและพัฒนา จึงเป็นรูปแบบงานวิจัยที่ที่มุ่งเน้นนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรง และเป็นการตอบสนองความต้องการในการพัฒนาของหัวข้องานวิจัย ทั้งในด้านการพัฒนากระบวนการผลิต กระบวนการบริการ การพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาชุมชน เป็นต้น โดยมุ่งเน้นที่จะพัฒนางานวิจัยเพื่อตอบสนองความต้องการเชิงพาณิชย์และการเปลี่ยนแปลงของกระแสสังคมที่มีการพัฒนาตามบริบทของสังคมอย่างรวดเร็ว ดังนั้นงานวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับงานด้านศิลปวัฒนธรรมวิจัย ต้องมีการพัฒนารูปแบบการออกแบบวิจัยเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคนิควิธีการเพื่อใช้ในการพัฒนาดังกล่าว รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

• ตัวอย่างการออกแบบการวิจัยและพัฒนา (Research and Development)

การศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากต้นกก
ของกลุ่มทอเสื่อบ้านระกาศ ตำบลบ้านระกาศ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ
2549

ลักษณะงานวิจัย เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยและพัฒนา และเทคนิคการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม

ลักษณะงานวิจัย
1. เพื่อพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่เคยมีอยู่แบบดั้งเดิม ให้มีรูปแบบที่หลากหลายและมีคุณภาพดีขึ้นได้
2. เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อศึกษาความเป็น สภาพปัจจุบัน ของกลุ่มทอเสื่อกก รวมถึงปัญหา ความต้องการ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์
2. เพื่อทดลองทำยุทธศาสตร์การพัฒนาที่กำหนดขึ้นไปสู่การแก้ปัญหา และพัฒนาความรู้ความสามารถของสมาชิกกลุ่มทอเสื่อกก
3. เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถ และทักษะในการบริหารการจัดการกลุ่ม
4. เพื่อประเมินประสิทธิผลของการพัฒนาความรู้ความสามารถและทักษะในการพัฒนารูปแบบและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และความสามารถในการบริหารและการจัดการกลุ่ม

ประชากร/กลุ่มตัวอย่าง
ประชาการเป้าหมายของการพัฒนา ได้แก่ สมาชิกกลุ่มทอเสื่อกกบ้านระกาศ หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านระกาศ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ในปัจจุบัน มีจำนวนทั้งสิ้น 15 คน

ขอบเขตของการวิจัย
ขอบเขตของการวิจัย คือ การมองขอบเขตในเชิงของทฤษฎี เช่น
1. กระบวนการด้านต่าง ๆ ที่จะเสริมสร้างและพัฒนาความรู้ความสามารถ และทักษะในการผลิต ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากต้นกกในด้าน
- ความรู้ ความเข้าใจในการสร้างวัตถุดิบ การเลือกสรร
- ความสามารถในการออกแบบลายสาน
- ความสามรถในการออกแบบประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม ปราณีต มีประโยชน์ใช้สอย
2. การเสริมสร้างความสามารถในการบริหารจัดการกลุ่ม
- หลักการบริหารองค์กร เช่น การแบ่งหน้าที่สมาชิก การควบคุมปริมาณ การผลิต การกำหนดราคา การทำบัญชี การตลาด การสร้างเครือข่าย

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
1. ลักษณะของเครื่องมือ
1.1 แบบสอบถามประกอบการสัมภาษณ์ เช่น ความเป็นมาของภูมิปัญญา ทักษะในการสร้างผลิตภัณฑ์ ฯลฯ
1.2 แบบสอบถามประกอบการสัมภาษณ์ เกี่ยวกับความรู้ ความสามารถและทักษะที่เพิ่มขึ้น ในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์
1.3 แบบสอบถามประกอบการสัมภาษณ์เกี่ยวกับความพึงพอใจ ต่อโครงการวิจัยและพัฒนา และเจตคติต่ออาชีพทอเสื่อกก ภายหลังเข้าร่วมโครงการวิจัย
1.4 แบบประเมินรูปแบบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเสื่อกก เช่น เส้นกก ลายทอ รูปแบบ ความสวยงาม และความทนทาน
1.5 แบบสังเกตุพฤติกรรมการทำงาน และการทำกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกันของสมาชิกของแต่ละช่วงการทำวิจัย (4 ช่วงเวลา)
1.6 เครื่องบันทึกเสียง, กล้องถ่ายรูป, เครื่องถ่ายวิดิทัศน์
2. ขั้นตอนในการสร้างเครื่องมือวิจัย
2.1 ศึกษาข้อมูลเอกสาร แนวคิด ทฤษฎี งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
2.2 ร่างแบบสอบถามประกอบการสัมภาษณ์ และแบบสังเกตุในประเด็นต่าง ๆ
2.3 ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบเครื่องมือ
2.4 ปรับปรุงแก้ไขเครื่องมือตามคำแนะนำของผู้วิจัย
2.5 ผู้วิจัยนำเครื่องมือไปทดลองใช้กับกลุ่มทอเสื่อกกเพื่อประเมินประสิทธิภาพ
2.6 ปรับปรุงเครื่องมือและนำไปเก็บข้อมูล

การวิเคราะห์ข้อมูล
1. นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อหา (Content analysis) จัดหมวดหมู่เนื้อหาให้เป็นระบบ ทำการตีความ
2. นำข้อมูลมาวิเคราะห์แบบสามเส้า (triangulation analysis ) ได้แก่ การตรวจสอบด้านข้อมูล โดยพิจารณาแหล่งเวลา แหล่งสถานที่ และแหล่งบุคคลที่ต่างกัน คือ ถ้าข้อมูลต่างเวลากันจะเหมือนกันหรือไม่ ถ้าข้อมูลต่างสถานที่กันจะเหมือนกันหรือไม่ และถ้าผู้ให้ข้อมูลเปลี่ยนไปจะเหมือนเดิมหรือไม่
3. นำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงพรรณา (description)

4. สรุปการวิเคราะห์ข้อมูลด้านต่าง ๆ ดังนี้
4.1 ความเป็นมาของภูมิปัญญา ความสามารถ ทักษะในการสร้างผลิตภัณฑ์
4.2 ความรู้ความสามารถและทักษะที่เพิ่มขึ้น
4.3 การปรับปรุง รูปแบบ คูณภาพของผลิตภัณฑ์
4.4 การปรับปรุงและพัฒนาระบบการบริหารของกลุ่ม
4.5 ความพึงพอใจที่มีต่อดครงการวิจัยและพัฒนา
4.6 ผลลัพธ์อื่น ๆ ที่เกิดขึ้น จากดครงการวิจัยและพัฒนาที่มีต่อสมาชิกกลุ่ม

ตารางสรุป การออกแบบงานวิจัย : การศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากต้นกก
ของกลุ่มทอเสื่อบ้านระกาศ ตำบลบ้านระกาศ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ

การตั้งคำถามการวิจัย 1.จะสามารถพัฒนาปรับปรุงให้คุณภาพดีขึ้นอย่างไร
2. จะทำให้ชุมชนแข้มแข็งทางเศรษฐกิจได้อย่างไร
วัตถุประสงค์ของการวิจัย 1.ศึกษาความเป็นสภาพปัจจุบัน
2. ทดลองนำยุทธศาสตร์ไปใช้
3. เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถ ทักษะ
4.เพื่อประเมินประสิทธิภาพ
ประชากร
กลุ่มตัวอย่าง กลุ่มทอ
เสื่อกก
15 คน
ขอบเขตการวิจัย - กระบวนการเสริมสร้างและพัฒนาความรู้ความสามารถ
-การเสริมสร้างความสามารถในการบริหารงานกลุ่ม
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย -แบบสอบ ถามประกอบ การสัมภาษณ์
- แบบประเมิน
- แบบสังเกตุพฤติกรรม
-เครื่องบันทึกเสียง
-กล้องถ่ายรูป
-เครื่องถ่ายวิดิทัศน์
การวิเคราะห์ข้อมูล -จัดหมวดหมู่เนื้อหา (content analysis)
-วิเคราะห์แบบสามเส้า(triangulation analysis )
-นำเสนอผลการวิเคราะห์ในเชิงพรรณา

ข้อสังเกตุในการวิจัย

1. ผู้วิจัยมีการทำแบบสอบถาม 3 ช่วงเวลา คือ ถามข้อมูลเบื้องต้น ถามเกี่ยวกับความสามารถและทักษะที่เพิ่มขึ้น และสุดท้ายความพึงพอใจต่อโครงการวิจัย
2. ผู้วัจัยเชิญวิทยากรมาสอนทำรูปแบบผลิตภัณฑ์ ให้ประธานกลุ่มเสื่อกกต่างพื้นที่ประเมินผลได้ส่วนหนึ่ง เช่น ลายทอ รูปแบบ ความสวยงาม แต่ความทนทานยังต้องใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์เช้าช่วยประเมิน เช่น วัดความชื้น การขึ้นรา การทนต่อแรงกระแทก เป็นต้น
3. ผู้วิจัยทำการวิจัยโครงการศึกษาและพัมนาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากต้นกกของกลุ่มทอเสื่อกกบ้านประกาศ หมู่ 4 ตำบลบ้านประกาศ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ มีการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลแบบสามเส้า (triangulation analysis ) โดยพิจารณาเก็บข้อมูลต่างเวลา ในชุดแบบสอบถามเดียวกัน น่าจะมีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติ เช่น ร้อยละ ค่าเฉลี่ย เป็นต้น เพื่อแปรผลการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงพรรณา แต่เนื่องด้วยประชากรน้อยอาจจะทำวิคราะห์เชิงพรรณา
4. ผู้วิจัยน่าจะประเมินผลิตภัณฑ์เสื่อกกในเชิงตัวเลขของเครื่องมือทดสอบ เช่น ค่าความชื้นที่ 20 องศา เป็นต้น

การออกแบบการวิจัยด้านศิลปวัฒนธรรมเชิงผสมผสาน
โครงการสร้างฐานข้อมูลการศึกษาการออกแบบเครื่องนุ่งห่ม (ผ้าไทย) เพื่อการส่งออก
The Study Apparel Design (Thai Native Fabric) for Manufacture
( 15 ตุลาคม 2547 – 17 พฤศจิกายน 2548)
โดย อาจารย์รวิเทพ มุสิกะปาน
(เป็นงานวิจัยและพัฒนา: Research & Development)

การตั้งคำถามการวิจัย
1.1 ปัญหาทางด้านวัตถุดิบ (ปัญหาการออกแบบผ้าผืน) นักออกแบบและผู้ประกอบการ สรุปได้ว่า ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ โดยมีจุดเด่นที่สามารถสู้กับต่างประเทศได้โดยเฉพาะคุณภาพของผ้า ส่วนปัญหาการออกแบบเรื่องรูปแบบควรนำลวดลายไทยมาพัฒนาด้านเทคนิคและลวดลายของผ้าไทยซึ่งส่วนมากนักออกแบบยังขาดความรู้ เพราะโดยมาช่างทอหรือช่างฝีมือยังขาดความร่วมมือและความเข้าใจตรงกันกับนักออกแบบ การออกแบบผ้าไทยนักออกแบบควรรู้ถึงกลุ่มลูกค้าโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มรักศิลปะผืนผ้าลวดลายนิยมงานฝีมือ กลุ่มร่วมสมัยผ้าผืนในลักษณะลวดลายประยุกต์ร่วมสมัยไม่คำนึงถึงกระบวนการผลิต จึงจำเป็นต้องแบ่งแยกเพื่อกระบวนการออกแบบให้ตรงกับลักษณะของผลงาน ทั้ง 2 กลุ่มจำเป็นอาศัยข้อมูลจากแนวโน้มของแฟชั่นโลกด้วย มีลวดลายที่ทันสมัย เป็นเอกลักษณ์ แต่ใช้วิธีการผลิตแบบดั้งเดิมคือ งานฝีมือของชาวบ้านและนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการผลิต ภาครัฐควรส่งเสริมตลาดผ้าไทยในการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับงานออกแบบ
1.2 ปัญหาการออกแบบเครื่องนุ่งห่มผ้าไทย จากการศึกษา นักออกแบบส่วนใหญ่สรุปตรงกันว่า ยังขาดการเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมต้นน้ำถึงปลายน้ำยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ การออกแบบและผลิตผ้าผืนกับการออกแบบและผลิตเครื่องนุ่งห่มยังต่างคนต่างทำ นักออกแบบเลือกใช้งานผ้าไทยน้อย ผ้า (วัตถุดิบ) ขาดความหลากหลาย ควรปรับปรุงเนื้อผ้าให้มีความเป็นสากล แต่ต้องไม่สูญเสียความเป็นออริจินัลของผ้าไทย เพื่อนำไปใช้ผสมผสานกับผ้าอื่น ๆ ได้ ผ้าไทยยังขาดคุณภาพทางด้านการผลิตในการควบคุมความต่อเนื่องและผลิตซ้ำ ควบคุมสีและพื้นผิวสัมผัสให้เหมือนกัน

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
2.1 เพื่อศึกษาปัญหาทางด้านการออกแบบเครื่องนุ่งห่มประเภทผ้าไทยเพื่อการส่งออก
2.2 เพื่อสร้างฐานข้อมูลทางด้านการออกแบบให้กับอุตสาหกรรมการส่งออกเครื่องนุ่งห่มประเภทผ้าไทยและโครงการจัดตั้งศูนย์พัฒนาการออกแบบแฟชั่น
2.3 เพื่อใช้ในการเรียนการสอนทางด้านการออกแบบแฟชั่น

ขอบเขตการศึกษา
การออกแบบเครื่องนุ่งห่มประเภทผ้าไทยเพื่อการส่งออก เสื้อผ้าสตรี

ระเบียบวิธีการศึกษา
ระยะที่ 1 : รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาทางด้านการออกแบบเครื่องนุ่งห่มประเภทผ้าไทยเพื่อการส่งออกสำรวจเก็บข้อมูลเอกสารวิชาการและงานวิจัย สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ
ระยะที่ 2 : สำรวจภาคสนาม โดยใช้แบบสอบถามและสัมภาษณ์ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาทางด้านการออกแบบเครื่องนุ่งห่มประเภทผ้าไทยเพื่อการส่งออก, การเลือกใช้วัสดุ และความชอบในการเลือกซื้อเครื่องนุ่งห่มจากวัสดุผ้าไทย
1. ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการส่งออกเครื่องนุ่งห่มผ้าไทย (เก็บรวบรวมข้อมูลโดยแบบสอบถามและสัมภาษณ์ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาทางด้านการออกแบบเครื่องนุ่งห่มประเภทผ้าไทยเพื่อการส่งออก)
หน่วยงานราชการ กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์, กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ฯลฯ
ผู้ประกอบการส่งออกเครื่องนุ่งห่มผ้าไทย
2. วัสดุผ้าไทย (สำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลการเลือกใช้วัสดุในพื้นที่เพื่อการผลิตโดยแบบสอบถามและสัมภาษณ์
ภาคเหนือ
ภาคอีสาน
ภาคกลาง
ภาคใต้

3. รูปแบบเครื่องนุ่งห่ม ผ้าไทย (สำรวจการเลือกใช้วัสดุ และรูปแบบเครื่องนุ่งห่มจากวัสดุผ้าไทยแบบสอบถาม) ผู้บริโภคคนไทยและต่างประเทศ
ระยะที่ 3 : วิเคราะห์และรวบรวมข้อมูลที่ได้ทั้งหมดจากแบบสอบถามและการสัมภาษณ์ปัญหาทางด้านการออกแบบเครื่องนุ่งห่มประเภทผ้าไทยเพื่อการส่งออก , การเลือกใช้วัสดุ และความชอบในการเลือกซ้อเครื่องนุ่งห่มจากวัสดุผ้าไทย เพื่อทำการหากระบวนการและทดลองออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มประเภทผ้าไทยเป็นตัวอย่าง
ระยะที่ 4 : วิเคราะห์รูปแบบระดับผู้ประกอบการส่งออก
ระยะที่ 5 : ผลิตผลงาน สรุปผล จัดนิทรรศการและเผยแพร่ผลงานการวิจัย

แผนการดำเนินการศึกษาค้นคว้า
1. สำรวจเก็บข้อมูลเอกสารวิชาการและงานวิจัย สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทางด้านการออกแบบเครื่องนุ่งห่มประเภทผ้าไทยเพื่อการส่งออก
2. เก็บรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจ ในภาคสนาม แบบสอบถามและสัมภาษณ์จากบุคคลที่เกี่ยวข้องในปัญหาทางด้านการออกแบบเครื่องนุ่งห่มประเภทผ้าไทยเพื่อการส่งออก
3. ทดลองโดยการออกแบบ จากเก็บรวบรวมข้อมูลจากการทดลองด้วยกระบวนการที่สรุปจาก กระบวนการข้อ 1,2
4. สรุปผลการทดลองด้วยนิทรรศการ

วิธีการดำเนินการศึกษาค้นคว้า
การศึกษาการออกแบบเครื่องนุ่งห่ม (ผ้าไทย) เพื่อการส่งออก มีวิธีการดำเนินการค้นคว้าดังนี้
1. การศึกษาข้อมูลเอกสารวิชาการและงานวิจัย สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเครื่องนุ่งห่ม (ผ้าไทย) ในกระบวนการเพื่อการส่งออก
2. เครื่องมือการวิจัย
3. การรวบรวมข้อมูล
4. กระบวนการดำเนินงานการจัดกระทำข้อมูลและสรุป
1. ศึกษาข้อมูลเอกสารวิชาการและงานวิจัย สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเครื่องนุ่งห่ม (ผ้าไทย) ในกระบวนการออกแบบผ้าไทยเพื่อการส่งออก
1.1 ข้อมูลประเภทเอกสารวิชาการและงานวิจัย สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเครื่องนุ่งห่ม (ผ้าไทย) ในกระบวนการเพื่อการส่งออก ค้นคว้าเอกสารข้อมูล ดังนี้
1.1.1 ข้อมูลอุตสาหกรรมการส่งออกเครื่องนุ่งห่ม
1.1.2 ข้อมูลวัสดุ,กระบวนการออกแบบและผลิตผ้าไทย
1.2 ข้อมูลกระบวนการออกแบบ
1.2.1 ข้อมูลประเภทเอกสารวิชาการและงานวิจัย สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเครื่องนุ่งห่ม
1.2.2 สัมภาษณ์นักออกแบบเครื่องนุ่งห่ม (ผ้าไทย) ที่มีชื่อเสียงของไทยในกระบวนการออกแบบเครื่องนุ่งห่มผ้าไทย ปัญหา อุปสรรค และรูปแบบเครื่องนุ่งที่ใช้ผ้าไทยเป็นวัสดุ เพื่อการส่งออก 3 ท่าน ดังนี้
ชัย เจียมอมรรัตน์ , เจ้าของและนักออกแบบ Headqruter ,ศิโรจน์ ชัยสาม , นักออกแบบ (ผ้าไทย) ,วันชัย จันทร์ขุนทด ,นักออกแบบ (ผ้าไทย)
โดยการสัมภาษณ์ในหัวข้อ ข้อมูลทางด้านกระบวนการออกแบบเครื่องนุ่งห่ม (ผ้าไทย) เพื่อการส่งออก ของนักออกแบบเครื่องนุ่งห่มของไทย , ข้อมูลทางด้านปัญหาการออกแบบเครื่องนุ่งห่ม (ผ้าไทย) เพื่อการส่งออก ของนักออกแบบเครื่องนุ่งห่มของไทย
2. เครื่องมือการวิจัย
2.1 แบบสอบถามกำหนดการรูปแบบเครื่องนุ่งห่ม (ผ้าไทย) เพื่อการส่งออกประกอบด้วย
2.1.1 ประเภทของผ้า (ผ้าไทย) ที่เห็นสมควรนำมาออกแบบเครื่องนุ่งห่มมากที่สุด
2.1.2 เรื่องราวผ้า (ลวดลายผ้าไทย) ที่เห็นว่าควรนำมาออกแบบเครื่องนุ่งห่มมากที่สุด
2.2 แบบสอบถามเลือกรูปแบบเครื่องนุ่งห่ม (ผ้าไทย) เพื่อการส่งออกประกอบด้วย
2.2.1 รูปแบบเครื่องนุ่งห่มที่เห็นว่าควรนำมาผลิตเป็นเครื่องนุ่งห่มมากที่สุดรูปแบบเครื่องนุ่งห่มที่ออกแบบโดย นักออกแบบเครื่องนุ่งห่มผ้าไทยของไทย จำนวน 300 รูปแบบ
3. การรวบรวมข้อมูล
3.1 รวบรวมข้อมูลประเภทเอกสารวิชาการและงานวิจัย สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเครื่องนุ่งห่ม (ผ้าไทย) ในกระบวนการเพื่อการส่งออก
3.2 รวบรวมข้อมูลกระบวนการออกแบบ
4. กระบวนการดำเนินงาน การจัดกระทำข้อมูลและสรุป
4.1 เก็บรวบรวมข้อมูล ศึกษากระบวนการออกแบบเครื่องนุ่งห่ม (ผ้าไทย) ในกระบวนการเพื่อการส่งออก โดยการสรุป
กระบวนการออกแบบเครื่องนุ่งห่ม ใช้ข้อมูลจากข้อมูลเอกสารวิชาการและงานวิจัยสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการออกแบบ ในการศึกษากระบวนการออกแบบเครื่องนุ่งห่ม (ผ้าไทย) เพื่อการส่งออก และข้อมุลกระบวนการออกแบบจากการสัมภาษณ์นักออกแบบเครื่องนุ่งห่ม (ผ้าไทย) ที่มีชื่อเสียงของไทย โดยศึกษาตามกระบวนการออกแบบดังนี้
4.1.1 การเตรียม (Accept Situation) วิธีการเตรียมความพร้อมทางด้านการทำงาน ศึกษาข้อมูลวิชาการและงานวิจัย สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการออกแบบ ในการศึกษากระบวนการออกแบบเครื่องนุ่งห่ม (ผ้าไทย) เพื่อการส่งออก ทดลองออกแบบเครื่องนุ่งห่มจากการรวบรวมรูปแบบจากเวทีแฟชั่นโลก (แนวโน้มแฟชั่น ปี 2005) ยุโรป, อเมริกา, เอเชียและไทย
4.1.2 การวิเคราะห์(Analysis) โดยวิธีการค้นคว้าหาข้อมูล จากแบบสอบถามกำหนดรูปแบบเครื่องนุ่งห่ม 300 รูปแบบ และวัสดุ(ผ้าไทย), การสัมภาษณ์นักออกแบบ, สรุปแนวโน้มแฟชั่นโลก (Summer 2006)
4.1.3 การกำหนดขอบเขต (Define) วิธีการกำหนดเป้าหมายหลักของการออกแบบ (Summer) วางขอบเขตและจุดมุ่งหมายของการออกแบบเครื่องนุ่งห่ม (ผ้าไทย) สี , วัสดุ , เครื่องนุ่งห่ม (ผ้าไทย) 100 รูปแบบ
4.1.4 การคัดเลือก (Select) วิธีการเปรียบเทียบและวิธีการเลือกใช้ผลงานที่มีผลต่อการใช้งานสูงสุดโดยแบบสอบถามเลือกรูปแบบเครื่องนุ่งห่มจากนักออกแบบ 40 รูปแบบ
4.1.5 การพัฒนาแบบ (Implement) วิธีการนำแบบเลือกที่มีความเหมาะสมมากที่สุดมาปรับปรุงแก้ไขเพื่อพัฒนาให้แนวทางที่เลือกนั้นมีความสมบูรณ์เกิดผลลัพธ์สูงสุดจาก 40 รูปแบบ ให้เป็นคอลเลกชั่น (ผ้าไทย Summer 2006) ดำเนินการผลิตตามกระบวนการอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม
4.1.6 การประเมินผล (Evaluate) วิธีการนำแบบที่สำเร็จทำการประเมินผลว่ามีความถูกต้องและครบถ้วนตามขอบเขตและจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้เพียงใด เพื่อรับรู้ถึงคุณภาพของงานออกแบบ และสรุปเป็นกระบวนการออกแบบเครื่องนุ่งห่ม (ผ้าไทย) เพื่อการส่งออก
4.2 สรุป วิเคราะห์ กระบวนการออกแบบเครื่องนุ่งห่ม (ผ้าไทย) เพื่อการส่งออกด้วยนิทรรศการ

สรุปผลการศึกษา
ผู้วิจัย สรุปได้ว่า ควรรู้จักนำผ้าไทยมาผสมผสานกับผ้าชนิดอื่น ๆ ไม่เป็นทางการมาก ทำให้ดูลำลอง ไม่จำเป็นว่าต้องข้างบนผ้าไหมข้างล่างผ้าไหม แต่สามารถนำมาใส่กับเสื้อผ้าปัจจุบันอาจจะทำให้คนรุ่นใหม่จับต้องได้มากขึ้น ด้วยการนำมาเปลี่ยนรูปแบบหรือเปลี่ยนเนื้อของผ้าไม่ดูเป็นผู้ใหญ่หรือทางการมากไปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือลาย มีลวดลายที่คิดใหม่จากงานฝีมือแบบเดิม และต้องมีกระบวนการออกแบบที่ชัดเจนและอ้างอิงข้อมูลแนวโน้มแฟชั่นโลก จากการศึกษา สรุปกระบวนการออกแบบเครื่องนุ่งห่มผ้าไทย ได้ดังนี้

ตารางสรุป การออกแบบงานวิจัย : โครงการสร้างฐานข้อมูลการศึกษาการออกแบบเครื่องนุ่งห่ม (ผ้าไทย) เพื่อการส่งออก
การตั้งคำถามการวิจัย วัตถุประสงค์
ของการวิจัย ประชากรกลุ่มตัวอย่าง ขอบเขตการวิจัย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูล
1. ปัญหาทางด้านวัตถุดิบ (ปัญหาการออกแบบ ผ้าผืน)
นักออกแบบและผู้ประกอบการว่ามีปัญหาอย่างไร ควรพัฒนาอย่างไร
2. ปัญหาการออกแบบเครื่องนุ่งห่ม ผ้าไทย ในทัศนะของนักออกแบบว่าเป็นอย่างไร
1. เมื่อศึกษาปัญหาทางด้านการออกแบบเครื่องนุ่งห่มประเภทผ้าไทยเพื่อการส่งออก
2. เพื่อสร้างฐานข้อมูลทางด้านการออกแบบให้กับอุตสาหกรรมการส่งออกเครื่องนุ่งห่มประเภทผ้าไทยและโครงการจัดตั้งศูนย์พัฒนาการออกแบบแฟชั่น
3. เพื่อใช้ในการเรียนการสอนทางด้านการออกแบบแฟชั่น
การออกแบบเครื่องนุ่งห่มประเภทผ้าไทยเพื่อการส่งออกและเพื่อการส่งออกเสื้อผ้าสตรี
การออกแบบเครื่องนุ่งห่มประเภทผ้าไทยเพื่อการส่งออกเสื้อผ้าสตรี 1. แบบสอบถามกำหนดการรูปแบบเครื่องนุ่งห่ม (ผ้าไทย) เพื่อการส่งออกประกอบด้วย
2. ประเภทของผ้า (ผ้าไทย) ที่เห็นควรนำมาออกแบบเครื่องนุ่งห่มมากที่สุด
- เรื่องราวผ้า
(ลวดลายผ้าไทย)
ที่เห็นว่าควรนำมาออกแบบเคื่องนุ่งห่มมากที่สุด
2. แบบสอบถามเลือกรูปแบบเครื่องนุ่งห่ม(ผ้าไทย) เพื่อการส่งออก ประกอบด้วย
- รูปแบบเครื่องนุ่งห่มที่เห็นว่าควรนำมาผลิตเป็นเครื่องนุ่งห่มมากที่สุด
รูปแบบเครื่องนุ่งห่มนี้ออกแบบโดยนักออกแบบเครื่องนุ่งห่มผ้าไทยของไทยจำนวน 300 รูปแบบ - เก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารวิชาการและงานวิจัยสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับกระบวนการออกแบบ การสัมภาษณ์นักออกแบบเครื่องนุ่งห่ม (ผ้าไทย)ที่มีชื่อเสียง โดย
1. การเตรียม (Accept Situation) ด้านข้อมูล
2. การวิเคราะห์ (Analysis) จากแบบสอบถาม การสัมภาษณ์นักออกแบบ,สรุปแนวโน้มแฟชั่นโลก (2006)
3. การกำหนดขอบเขต (Define) เป้าหมายหลักของการออกแบบ (Summer) สรุปจากแบบสอบถามและทดลองออกแบบเครื่องนุ่งห่ม 100 รูปแบบ
4. การคัดเลือก (Select) เปรียบเทียบ และเลือกใช้ผลงานที่มีผลต่อการใช้งานสูงสุดโดยเลือกรูปแบบจากแบบสอบถาม 40 รูปแบบ
5. การพัฒนาแบบ (Implyment)
ดำเนินการผลิตตามกระบวนการอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม
6. การประเมินผล (Evaluate) สัมพันธ์กับขอบเขตและจุดมุ่งหมาย
- สรุป วิเคราะห์ กระบวนการออกแบบเครื่องนุ่งห่ม (ผ้าไทย) เพื่อการส่งออกด้วยนิทรรศการ

• บทสรุป

ข้อควรพิจารณาในการออกแบบการวิจัย เพื่อให้ได้ผลงานวิจัยที่ดีมีประโยชน์ต่องานด้านศิลปวัฒนธรรมวิจัย
• วัตถุประสงค์การวิจัย
ควรทบทวน ทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อให้การออกแบบการวิจัย สอดคล้องกับ วัตถุประสงค์
• สมมติฐานการวิจัย
พิจารณาเลือกวิธีการเก็บข้อมูล และวิธีการทางสถิติที่จะทดสอบสมมติฐานให้ ถูกต้องแม่นยำ
• ตัวแปร
พิจารณาว่ามี ตัวแปรอะไรบ้าง ออกแบบเครื่องมือเก็บข้อมูลให้ ครบถ้วน และ ควรใส่เทคนิคการวัดตัวแปรแต่ละระดับไว้ด้วย
• แบบแผนการวิจัย
เลือกระบบแบบแผนการวิจัยให้ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการวิจัย และ การควบคุมตัวแปร

กล่าวโดยสรุป การวิจัยเชิงปริมาณ(Quantitative Research) เป็นการวิจัยที่มุ่งหาข้อเท็จจริงและข้อสรุปเชิงปริมาณ เน้นการใช้ข้อมูลที่เป็นตัวเลขเป็นหลักฐานยืนยันความถูกต้องของข้อค้นพบ และสรุปต่างๆ มีการใช้เครื่องมือที่มีความเป็นปรนัยในการเก็บรวบรวมข้อมูลเช่น แบบสอบถามแบบทดสอบ การสังเกต การสัมภาษณ์ การทดลอง เป็นต้น ในทางตรงกันข้าม
การวิจัยเชิงคุณภาพ(Qualitative Research) เป็นการวิจัยที่นักวิจัยจะต้องลงไปศึกษาสังเกต และกลุ่มบุคคลที่ต้องการศึกษาโดยละเอียดทุกด้านในลักษณะเจาะลึก ใช้วิธีการสังเกตแบบมีส่วนร่วม และการสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการเป็นหลักในการเก็บรวบรวมข้อมูลการวิเคราะห์ข้อมูลจะใช้การวิเคราะห์เชิงเหตุผลไม่ได้มุ่งเก็บเป็นตัวเลขมาทำการ
สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่นักวิจัยจะต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า การที่ยึดติดอยู่กับวิธีการแสวงหาความรู้จากวิธีวิจัยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือแบบใดแบบหนึ่งมากจนเกินไป ยกตัวอย่างเช่น ในสภาพปัจจุบันมีนักวิจัยหลายท่านที่เชื่อมันกระวิธีการวิชัยเชิงปริมาณเป็นความคิดหลัก เพราะมีความเชื่อว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด มีความถูกต้อง เที่ยงตรง เชื่อถือได้ และปราศจากอคติใด ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยอาศัยตัวเลขและการวิเคราะห์ทางสถิติเป็นสิ่งแสดงถึงความน่าเชื่อถือ จึงทำให้เกิดความวเชื่อมั่นว่าวิธีวิจัยเชิงปริมาณเป็นวิธีเดียวที่มีความเป็นศาสตร์ (Science) โดยไม่นึกถึงหรือไม่คิดถึงวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพหรือวิธีการอื่นมาอธิบายในเชิงเปรียบเทียบ เพื่อให้เห็นข้อดีข้อเสียหรือข้อจำกัดในการแสวงหาข้อมูลในแต่ละวิธี มากไปกว่านั้นนักวิจัยบางท่านปฏิเสธการยอมรับข้อมูลในเชิงคุณภาพ มีลักษณะความคิดอยู่กับการยึดติดทำให้นักวิจัยพลาดโอกาสในการที่จะทำความเข้าใจและเลือกวิธีการอื่น ๆ ที่อาจจะมีความเหมาะสมกับบริบทของการสืบค้นมากกว่าหรืออาจจะมีวิธีการที่มีส่วนในการส่งเสริมที่ตัวผู้วิจัยมีความถนัดให้มีความถูกต้องและเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น การวิจัยทางด้านศิลปวัฒนธรรมผู้วิจัยสามารถเลือกวิธีวิจัยชนิดใดก็ได้เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบของการวิจัย เพราะอย่างที่กล่าวข้างต้นว่าไม่มีวิธีใดที่ดีที่สุดแต่ผู้วิจัยเองต้องเป็นผู้ออกแบบเพื่อหาคำตอบของการวิจัยที่มีความถูกต้องและเที่ยงตรง กรณีที่ผู้วิจัยไม่สามารถออกแบบงานวิจัยด้วยรูปแบบที่ดีที่สุดในการตอบคำถามวิจัยที่ตั้งขึ้น อาจด้วยข้อจำกัดในการดำเนินงานวิจัย อาจเลือกใช้รูปแบบการวิจัยที่มีความเหมาะสมรองลงมาได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องตระหนักถึงข้อจำกัดหรือข้อด้อยของรูปแบบการวิจัยชนิดนั้นๆในการตอบคำถามวิจัยที่ตั้งขึ้นไว้ด้วย ที่สำคัญไม่มีการออกแบบงานวิจัยวิธีใดที่ดีที่สุด ดังนั้นจึงไม่มีกฎเกณฑ์ที่ยากที่สุดหรือดีที่สุดในการวิจัยทางด้านศิลปวัฒนธรรม ผู้วิจัยจะต้องเผชิญกับความสับสนและต้องเผชิญกับวิธีการที่เป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาหลายประการ เพราะไม่มีวิธีการที่ถูกต้อง ที่เป็นมาตรฐานในการทำงานวิจัยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง งานวิจัยจะไม่เริ่มจนกว่าจะค้นหาการออกแบบงานวิจัยที่ถูกต้อง เพราะมีหลายวิธีที่ใช้ในการแก้ปัญหา บางวิธีดี เหมาะสม แต่บางวิธีไม่ดี ไม่เหมาะสม บางครั้งอาจจะใช้หลายวิธีร่วมกัน เพื่อให้งานวิจัยนั้นมีความสมบูรณ์

ของฝากท้ายเล่ม

• ประโยชน์ของการวิจัย
1. ช่วยให้ได้ความรู้ใหม่ ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ
2. ช่วยพิสูจน์หรือตรวจสอบความถูกต้องของกฏเกณฑ์ หลักการและทฤษฎีต่างๆ
3. ช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ ปรากฏการณ์และ พฤติกรรมต่าง ๆ
4. ช่วยพยากรณ์ผลภายหน้าของสถานการณ์ ปรากฏการณ์และพฤติกรรมต่าง ๆ ได้อย่าง ถูกต้อง
5. ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
6. ช่วยในการวินิจฉัย ตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม
7. ช่วยปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
8. ช่วยปรับปรุงและพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ และวิธีดำรงชีวิตได้ดียิ่งขึ้น
9. ช่วยกระตุ้นบุคคลให้มีเหตุผล รู้จักคิดและค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ
• ลักษณะของการวิจัย
1. การวิจัยเป็นการค้นคว้าที่ต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญ และความมีระบบ
2. การวิจัยเป็นงานที่มีเหตุผลและมีเป้าหมาย
3. การวิจัยจะต้องมีเครื่องมือหรือเทคนิคในการเก็บรวบรวมข้อมูล ที่มีความเที่ยงตรง และเชื่อถือได้
4. การวิจัยจะต้องมีการรวบรวมข้อมูลใหม่และ ความรู้ใหม่
5. การวิจัยเป็นการศึกษาค้นคว้าที่มุ่งหาข้อเท็จจริง
6. การวิจัยต้องอาศัยความเพียรพยายาม ความซื่อสัตย์ กล้าหาญ
7. การวิจัยจะต้องมีการบันทึกและเขียนการรายงาน การวิจัย อย่างระมัดระวัง
• ลักษณะที่ไม่ใช่การวิจัย
1. การที่นิสิตไปค้นคว้า เอกสารตำราแล้วนำมาเรียบเรียง ตัดต่อ
2. การค้นพบ (Discovery) โดยทั่วไป โดยบังเอิญ
3. การรวบรวมข้อมูลแล้วนำมา จัดทำตาราง
4. การทดลองปฏิบัติการ ตามคู่มือที่แนะนำไว้

• จรรยาบรรณของนักวิจัย
1. การทำการวิจัยที่ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างเพื่อทำการศึกษาวิจัย กลุ่มตัวอย่างเหล่านั้นจะต้องรับรู้และยินยอมที่จะเป็นกลุ่มตัวอย่าง และมั่นใจว่าตนเองจะไม่ได้รับความเสียหายหรืออันตรายใด ๆ
2. การทำการวิจัยจะต้องมีการรักษาผลประโยชน์แก่กลุ่มตัวอย่าง โดยเฉพาะการวิจัยที่ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างในการทดลองที่ต้องเสี่ยงต่ออันตรายต่อร่างกายแล้ว ไม่ควรกระทำ ควรจะใช้สัตว์อื่นแทนมนุษย์ เช่น หนูในการทดลองยา เป็นต้น
3. การทำการวิจัยที่ต้องอาศัยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อมาทำการวิเคราะห์ ซึ่งบางครั้งเป็นข้อมูลที่ต้องการปกปิด หรือเป็นข้อมูลด้านลบของบุคคล ดังนั้น ผู้วิจัยจะต้องระมัดระวังไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากจะเป็นผลการวิเคราะห์ในภาพรวมของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด
4. การทำการวิจัยจะต้องมีความระมัดระวัง เพื่อให้กลุ่มตัวอย่างมีความปลอดภัยจากอันตรายต่าง ๆ ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจของบุคคลอื่นซึ่งการวิจัยจะครอบคลุมไปถึง
5. ผู้ทำวิจัยจะต้องมีความซื่อสัตย์และเป็นกลางในเรื่องที่ตนทำวิจัย ไม่ดำเนินการโดยความลำเอียง ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนของการเลือกกลุ่มตัวอย่าง การเก็บข้อมูลการวิจัยหรือตีความผลการวิเคราะห์ข้อมูล
6. ผู้วิจัยจะต้องมีความรับผิดชอบในงานวิจัยของตน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มตัวอย่าง หรือผลการวิจัยที่ปรากฏผลออกมาจะต้องเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ไม่เป็นการทำขึ้นเพื่อทำลายความสงบสุขของคนในสังคม หรือทำลายบุคคลหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งบุคคลใด