สิ่งทอและออกแบบแฟชั่น

สุนทรียศาสตร์กับการดำรงอยู่ของภูมิปัญญา :
ผ้าทอพื้นบ้านการพัฒนาบนกระแสการเปลี่ยนแปลง

สุนทรียศาสตร์ (aesthetics) ศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษามาตรฐานของความงามในเชิงทฤษฎี ที่เชื่อมโยงประสบการณ์ทางสุนทรียภาพและกฏเกณฑ์ทางศิลปะ อันมีพื้นฐานความเข้าใจเบื้องต้นว่า ความงามที่งามแท้ มิใช่ความงามในความหมายหรือความเข้าใจของคนทั่วไป ซึ่งมีลักษณะเป็นแบบ อัตวิสัย (subjective) คือ งามหรือไม่งามอยู่ที่ความชอบ สิ่งเหล่านี้เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล ประสบการณ์จะเป็นส่วนประกอบในการตัดสินเป็นผลทำให้แต่ละบุคคลอาจมีความงามในมุมมองที่ต่างกัน นอกจากนี้ความชอบหรือไม่ชอบขึ้นอยู่กับค่านิยมของแต่ละบุคคล ซึ่งจะถูกกำหนดโดยมาตรฐานของสังคม วัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการประเมินค่าวัตถุหรือผลงานที่มีคุณค่า แม้ว่าความงามจะขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ในสิ่งแวดล้อมหรือการที่จิตประเมินค่า และกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกภายใน แต่ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเลือกตามใจชอบ หากแต่ขึ้นอยู่กับกระบวนการและเนื้อหาที่มีอยู่ในสิ่งนั้น ดั้งนั้น มุมมองทางความคิดของแต่ละบุคคลมีความแตกต่าง ขึ้นอยู่กับบุคคลว่าใช้อะไรเป็นหลักในการตัดสิน สุนทรียศาสตร์ จึงครอบคลุมผลงานศิลปะและความงาม รวมถึงกระบวนการรับรู้หรือประสบการณ์ทางสุนทรียะของมนุษย์ที่มีต่อวัตถุต่าง ๆ
สุนทรียศาสตร์ คือ องค์ประกอบหนึ่งของกระบวนการได้มาซึ่งผลงานศิลปะ ไม่จำกัดเพียงงานทางด้านทัศนศิลป์เท่านั้น สุนทรียศาสตร์ยังแทรกซึมอยู่ในศิลปะแขนงอื่น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ไม่เว้นแม้กระทั้งภูมิปัญญาพื้นบ้านอันเป็นศาสตร์และศิลป์แห่งปัญญาของบรรพบุรุษ ที่สะท้อนวิธีชีวิตและความเชื่อของมนุษย์ในแต่ละท้องถิ่นจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของชาติพันธ์
ภูมิปัญญา คือ แบบแผนการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่าแสดงถึงความเฉลียวฉลาดของบุคคลและสังคมซึ่งได้สั่งสมและปฏิบัติสืบต่อกันมา ความรู้ที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีต เป็นเรื่องของการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติ มนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ โดยผ่านกระบวนการทางจารีตประเพณี วิถีชีวิต การทำมาหากินและพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความสัมพันธ์เหล่านี้ ภูมิปัญญา จึงเปรียบเสมือนความรู้ ความสามารถ ความเชื่อ รวมถึงความสามารถทางพฤติกรรมและความสามารถในการแก้ไขปัญหาของมนุษย์ แฝงด้วยสุนทรียะแห่งการผสมผสานความคิดและประสบการณ์ทางธรรมชาติ
ภูมิปัญญาเกิดจากการแสวงหาความรู้เพื่อเอาชนะอุปสรรคทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและวิถีชีวิตชาวบ้าน โดยการผสานสุนทรียะของผู้สร้างสรรค์มีผลทำให้เกิดรูปแบบข้าวของเครื่องใช้ในการดำรงชีวิต ความเชื่อ และประเพณี แต่หากจะกล่าวถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกิดขึ้นจากพื้นฐานของสังคมพื้นบ้านแล้วอาจกล่าวได้ว่า เป็นประสบการณ์ในการประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิต การรู้จักนำวัสดุที่มีอยู่มาใช้ในการทำเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวันรวมถึงเครื่องนุ่งห่มที่ขึ้นชื่อว่าผ้าทอพื้นบ้าน อันเป็นองค์ความรู้ที่มีกระบวนการสั่งสม สืบทอดจนเป็นภูมิแห่งความรู้ที่มีการสืบทอดแก่ชนรุ่นหลัง
ผ้าทอพื้นบ้าน นับเป็นศาสตร์และศิลป์ที่แสดงถึงภูมิปัญญาของคนไทยในแต่ละท้องถิ่น แฝงด้วยความผูกผันที่เชื่อมโยงวิถีชีวิต ความเชื่อ และพิธีกรรม ซึ่งได้รับการถ่ายทอดและสืบสานต่อกันมารุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน การทอผ้าในหลายท้องถิ่นยังคงรักษารูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน รูปแบบลวดลายและกรรมวิธีในการผลิตผ้าทอ มีความแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่นและลักษณะเฉพาะของเชื้อชาติ สิ่งสำคัญ คือ การสอดแทรกภูมิปัญญาแห่งงานศิลป์ผสมผสานความปราณีตบรรจงอันเป็นการแสดงถึงสุนทรียะของผู้สร้างสรรค์ ประกอบกับการแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของท้องถิ่นที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่า ผ้าทอพื้นบ้านจึงเป็นศิลปะแห่งภูมิปัญญาที่แสดงออกถึงความเจริญรุ่งเรืองทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มคนที่แสดงผ่านทางลวดลายและเส้นสีผ้า ที่สอดแทรกความเชื่อและขนบธรรมเนียมประเพณี อันเป็นรากฐานทางศิลปวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธ์ ผ้าทอจึงเป็นมรดกทางสังคมที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมาในอดีตที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตปัจจุบัน
ผ้าทอพื้นบ้านจึงเป็นผลงานของความเจริญรุ่งเรืองทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มคน อันเป็นความงามแห่งสุนทรียะที่เกิดขึ้นจากความปราณีตบรรจงบนรากฐานแห่งภูมิปัญญาของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของคนในสมัยโบราณ และเกิดการสั่งสมประสบการณ์ ผ่านรูปทรงต่าง ๆ ที่แสดงถึงการเชื่อมโยงระหว่างการดำรงชีวิตกับธรรมชาติเข้าด้วยกันอย่างงดงาม

• สุนทรียศาสตร์ในงานผ้าทอพื้นบ้าน

ผ้าทอพื้นบ้าน เปรียบเสมือนงานศิลปะที่เกิดขึ้นจากการนำธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน จากถักทอเส้นใยผสานกับสีสันและลวดลายที่บอกถึงประเพณีและความเชื่อของวัฒนธรรมในแต่ท้องถิ่น อันก่อให้เกิดสุนทรียะแห่งความงามที่มีรากฐานความเชื่อที่แตกต่างกันในแต่ละชาติพันธ์ หากกล่าวถึงความคิดที่เกี่ยวข้องกับสุนทรียศาสตร์ในกระบวนการสร้างสรรค์งผ้าทอพื้นบ้านสามารถกล่าวถึงที่มาได้ 2 ประเด็น ดังนี้
1. สุนทรียศาสตร์ที่เกิดจากความคิดเริ่มแรก คือ เกิดจากความคิดของผู้สร้างสรรค์โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ในการพบเห็นสิ่งรอบตัว อาทิเช่น ต้นไม้ ดอกไม้ สัตว์ ฯลฯ ซึ่งก่อให้เกิดความคิดในการสร้างสรรค์ลวดลายรวมถึงสีสัน เพื่อใช้แทนสัญลักษณ์ต่างๆ ผ่านทางการร้อยเรียงเส้นใยผสมผสานกับความเชื่อของชาติพันธ์
2. สุนทรียศาสตร์ที่เกิดจากความคิดพื้นฐาน คือ เกิดจากความคิดที่ได้รับการพัฒนาจากความคิดขั้นพื้นฐาน โดยการพัฒนารูปแบบและลวดลายขึ้นซึ่งอาจอาศัยความคิดที่เป็นนามธรรม สร้างสรรค์รูปทรงให้เป็นรูปธรรมขึ้น เพื่อแสดงถึงแนวคิดและความเชื่อทางขนบธรรมเนียมประเพณีผ่านทางลวดลายบนผืนผ้า

ผ้าซิ่นตีนจก

สุนทรียะในงานผ้าทอพื้นบ้านคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้คืองานศิลปะที่เกิดจากความคิด เนื่องจากเมื่อความคิดต้องการมีที่อยู่อาศัยที่แน่นอน ความคิดได้รวมตัวกันเป็นภาพอันเป็นนามธรรมเพื่อรอการถ่ายทอดให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ศิลปะนั้นถือว่ามีประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตและมนุษย์ หากพิจารณาผ้าทอพื้นบ้านในมุมมองของศิลปะในศาสตร์แห่งสุนทรียศาสตร์ จะพบว่าลวดลายของผ้าทอพื้นบ้านมีความสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือ การรู้จักใช้ส่วนประกอบพื้นฐานทางศิลปะ ได้แก่ เส้น รูปร่าง รูปทรง สี และหลักการทางศิลปะ จนเกิดความรู้สึกด้านความงาม พร้อมทั้งการทรอดแทรกความงามของรูปแบบที่แสดงให้เห็นที่ภาพที่มีความเข้าใจในรูปแบบที่ตัดทอน(Distortion) หรือรูปแบบนามธรรม (Abstract) ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักพบในงานทัศนศิลป์
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง ผ้าทอพื้นบ้านสามารถเล่าเรื่องราวความเป็นมาและความเชื่อ อันเป็นคุณสมบัติที่สามารถแสดงประสบการณ์แห่งสุนทรีย โดยแฝงด้วยเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต ความเชื่อ ซึ่งสามารถสรุปได้ 3 ประเด็น คือ
• เรื่องราวของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์
• เรื่องราวของกลุ่มชนพื้นบ้านที่มีลักษณะเฉพาะถิ่น
• คุณค่าของฝีมือการสร้างสรรค์ชิ้นงานด้วยมือ
อันเป็นวิถีของการพึ่งพาตนเองภายใต้การล้อมรอบด้วยธรรมชาติที่เป็นต้นทางแห่งภูมิปัญญา ซึ่งทั้ง 3 ประเด็นนั้นสามารถเป็นแนวทางในการวิเคราะห์สุนทรียะผลงานแห่งภูมิปัญญา โดยมองในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1.เส้นใย ผ้าทอพื้นบ้านมีเสน่ห์ตรงเส้นใยที่ใช้ในการทอผ้านั้นได้จากธรรมชาติ เนื่องจากการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นที่หาได้ทั่วไป แสดงให้เห็นถึงการใช้ปัญญาในการแก้ปัญหาเพื่อการสร้างสรรค์เครื่องนุ่งห่มเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ของภาคต่าง ๆ ซึ่งเส้นใยที่นิยมนำมาใช้ในการทอผ้าพื้นบ้าน คือ ฝ้ายและไหม เส้นใยที่ทอเป็นผืนผ้าสามารถเล่าเรื่องราวความเป็นมาแห่งถิ่นที่อยู่ โดยสังเกตจากลวดลายและความหนาของผ้า ยกตัวอย่างผ้าฝ้ายทอส่วนมากจะมีลายใหญ่ตามขนาดของเส้นใยฝ้าย สามารถบอกบอกได้วว่าเป็นผ้าของคนในท้องถิ่นที่มีอากาศเย็น เช่น ทางตอนเหนือของอีสาน ตรงกันข้ามกับทางตอนใต้ของภาคที่มีอากาศร้อน ผ้าพื้นเมืองก็จะเป็นผ้าไหมผืนบางที่มีลายทอขนาดเล็กตามใยไหม เป็นต้น
2. สี ผ้าทอพื้นบ้านสามารถแสดงถึงปัญญาในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการรังสรรค์สีจากสิ่งรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นสีจากแร่ธาตุ พืช และสัตว์ นำมาเป็นสื่อในการถ่ายทอดอันเป็นแต่แต้มสีสันให้แก่ผ้าแฝงด้วยเสน่ห์แห่งความรู้และความบังเอิญ ผ้าที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติแต่ละผืนสามารถบอกเล่าถึงกลุ่มชาติพันธ์และความเชื่อ ยกตัวอย่าง ผ้าพื้นเมืองบ้านโพนพับ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นผ้าไหมผืนบางสีสด เพราะชาวบ้านในท้องถิ่นมีเชื้อสายไทย-เขมรที่ย้ายถิ่นฐานมาจากจังหวัดสุรินทร์ ความนิยมในสีสันของผ้าจึงเน้นไปที่แม่สีหลักสามสี คือ เขียว เหลือง และแดง เป็นต้น โดยแต่ละท้องถิ่นจะมีเทคนิคและวิธีการในการได้มาซึ่งสีย้อมธรรมชาติต่างกันไปตามประสบการณ์ของผู้สร้างสรรค์ แสดงถึงภูมิปัญญาของชาวบ้านผสมผสานสุนทรียะในการคิดค้นวัตถุดิบธรรมชาติในการย้อมสี หรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าภูมิปัญญาในการย้อมสีเกิดขึ้นจากความบังเอิญอันก่อให้เกิดประสบการณ์แห่งสุนทรียะ
3. การทอด้วยกี่พื้นบ้าน และใช้เครื่องมือที่พัฒนาเป็นเครื่องทุ่นแรงแบบพื้นบ้าน อันเป็นเครื่องมือที่ถูกคิดค้นและพัฒนารูปแบบเพื่อความสะดวกในการใช้งาน เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการทอผ้า อาจเรียกว่า กี่ หรือ หูก พัฒนาจากหลักการเบื้องต้นที่ต้องการให้มีการขัดลายกันระหว่างด้ายเส้นยืนกับด้ายเส้นพุ่ง โดยมีจำนวนเพียงพอที่จะทำให้เกิดเป็นผืนผ้าขึ้น โดยเครื่องมือที่ใช้ในการทอผ้า โดยเครื่องมือที่ใช้ในการทอผ้าประกอบด้วยอุปกรณ์ด้วยกัน 2 ส่วน คือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการเตรียมด้าย และอุปกรณ์สำหรับทอผ้า แต่ละท้องถิ่นจะมีรูปแบบที่ต่างกันบ้าง สิ่งที่สำคัญคือการสร้างลวดลายโดยผ่านการขัดกันระหว่างเส้นด้ายหรือเส้นใยที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญา ทำให้เกิดงานศาสตร์และศิลป์ผ่านลวดลายที่เกิดขึ้นจากการทอ
4. ทำด้วยมือในทุกขั้นตอน มีพัฒนาการของฝีมือ โดยการใช้เทคนิคการทอลวดลายที่มีความสวยงาม เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ผ้าทอพื้นบ้านของไทยส่วนใหญ่จะใช้เส้นใยจากธรรมชาติทั้งฝ้ายและไหม โดยการใช้ประสบการณ์สร้างสรรค์ผลงานตั้งแต่การผลิตเส้นใย การย้อมสี การออกแบบ จนกระทั้งทอเป็นผืนผ้า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการทำงานของคนเพียงคนเดียว เปรียบเสมือนศิลปินผู้สร้างงานศิลปะ ที่ต้องใช้สุนทรียะในการให้ความ ความงามที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการพุ่งกระสวยหรือการกระแทกฟันหวีสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ต้องอาศัยทักษะ ผู้สร้างจึงต้องมีประสบการณ์ในการทอผ้าที่ครอบคลุม รวมถึงกระบวนการคิดการแก้ปัญหาเพื่อได้มาซึ่งผ้าทอที่สมบูรณ์ อันเป็นเสน่ห์ของงานพื้นบ้าน
5. ผืนผ้ามีเรื่องราวบ่งบอกลักษณะเฉพาะถิ่น การทอผ้าพื้นบ้านพื้นเมืองหลายแห่งยังคงทอลวดลายสัญลักษณ์ดั้งเดิม โดยเฉพาะในชุมชนที่มีเชื้อสายชาติพันธุ์ ซึ่งกระจายตัวอยู่ในภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ศิลปะการทอผ้าของกลุ่มชนนับว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มกระจายไปทั่วทุกภาค แต่มีการแสดงความเชื่อและเอกลักษณ์เป็นกลุ่มเช่นกัน ได้แก่ ภาคตะวันออก เฉียงเหนือและภาคเหนือ รูปแบบของผ้าจะแตกต่างกันไปตามคตินิยม ความเชื่อและ ขนบธรรมเนียมประเพณีของเชื้อชาติและกลุ่ม อีกทั้งลวดลายและสัญลักษณ์บนผ้าทอ เชื่อกันว่ามีการเชื่อมโยงกับคติความเชื่อของคนไทยที่สืบทอดกันมา ซึ่งอาจเปรียบเทียบกับสัญลักษณ์ต่าง ๆ เหล่านี้กับลวดลายสัญลักษณ์ที่ปรากฎอยู่ในศิลปะประเภทอื่น ในงานจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม หรือในตำนานพื้นบ้านและวรรณกรรมต่าง ๆ

ผ้าขิด

จากข้อมูลที่กล่าวข้างต้นเป็นมุมมองของสุนทรียศาสตร์ที่สามารถพบเห็นได้ในผ้าทอพื้นบ้าน ที่นับว่าเป็นศาสตร์และศิลป์ที่แสดงถึงอัตลัษณ์ของชาติพันธุ์ อันเป็นภูมิปัญญาที่แสดงถึงคุณค่าของประโยชน์ใช้สอย คุณค่าด้านความงามที่เป็นคุณลักษณะพิเศษที่สร้างความสมดุลของสีและสัดส่วน รวมถึงขนาดลวดลายที่มีจังหวะประสานต่อเนื่องเป็นระยะ ที่มีคุณค่าแห่งสุนทรียะของท้องถิ่นต่าง ๆ อีกทั้งคุณค่าทางวัฒนธรรมที่เป็นการสืบสานความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี ที่แสดงถึงตัวตนและความอุดมสมบูรณ์แห่งภูมิแห่งความคิดและการสร้างสรรค์อันเป็นรากฐานแห่งสุนทรียะของการสร้างสรรค์อย่างแท้จริง

• ผ้าทอพื้นเมืองการเปลี่ยนแปลงสู่การผลิตเพื่อการค้า
การเติบโตทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นพร้อมกับการที่เงินทุนจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาลงทุนภายในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญได้นำวัฒนธรรมทุนนิยมที่เน้นการบริโภคเข้ามา วัฒนธรรมบริโภคนิยมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชนชั้นกลางในสังคมไทยและค่อยๆ แพร่เข้าไปสู่ชาวบ้านในชนบท โดยผ่านสื่อต่างๆ และแรงงานที่อพยพมาทำงานในเมือง ผลของวัฒนธรรมดังกล่าว ได้ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงไป มีการบริโภคในสิ่งที่ไม่จำเป็นต่างๆ เช่น การซื้อบ้านหลังใหญ่ รถยนตร์ราคาแพง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ การแสวงหาความสุขจากการบริโภควัตถุ รวมถึงการบริโภคสินค้าตามกระแสแฟชั่น ฯลฯ

ผลิตภัณฑ์ OTOP

การเปลี่ยนแปลงของชุมชนจากวิถีการผลิตเพื่อยังชีพในสังคมสู่การผลิตเพื่อการค้าในสังคมยุคใหม่ เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดในการพัฒนาสังคมไทยสู่ความทันสมัย ส่งผลให้เกิดการปรับตัวตามกระแสรวมส่งผลให้วิถีชีวิตและการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นหากกล่าวถึงวิถีการทอผ้าพื้นบ้านย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการผลิตเพื่อตอบสนองการบริโภคในครัวเรือนและชุมชน สู่การผลิตเป็นสินค้าเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคในสังคมภายนอก กระบวนการทอจึงถูกเปลี่ยนเป็นมูลค่า ความหมายทางวัฒนธรรมที่แสดงผ่านกระบวนการทอผ้าจึงมีความหมายที่เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมกับความหมายที่เปลี่ยนแปลงไปตามวิถีการผลิตเพื่อการค้าในสังคมบริโภคนิยม การทอเพื่อการค้าเกิดขึ้นภายใต้การผสมผสานงานศิลป์ของช่างทอกับการสนองความต้องการของผู้บริโภค การทอผ้าจึงยึดหลักการผลิตผืนผ้าตามวิถีดั้งเดิมพร้อมปรับเปลี่ยนรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อสอดคล้องกับการบริโภคในสังคมของความทันสมัย ในแง่ของความสวยงาม การประกอบลวดลาย รูปแบบการถักทอ เป็นการปรับมุมมองทางด้านสุนทรียะให้เหมาะสมกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม
จากกระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของการบริโภค ส่งผลกระทบต่อผ้าทอพื้นบ้าน ผ้าทอพื้นบ้านจำเป็นต้องปรับตัวไปตามกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่ละท้องถิ่นต้องพัฒนาคุณภาพของผ้าทอไปพร้อม ๆ กับการสืบทอดมรดกแห่งภูมิปัญญาให้เชื่อมโยงกับสภาพสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นระบบทุนนิยม จากเดิมเป็นการเชื่อมโยงวิถีชีวิตภายในชุมชนแต่หากกล่าวถึงปัจจุบันคือการอยู่รอดในสังคม เพราะการดำรงอยู่ของผ้าทอกับการใช้เพื่อเป็นเครื่องนุ่งหุ่มในชีวิตประจำวันสำหรับคนไทยคงใช้ไม่ได้สำหรับสังคมปัจจุบัน ผ้าทอกลายเป็นผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมที่หลายคนรู้จักในนามสินค้า OTOP ที่สำคัญปัจจุบันมีการพัฒนาผ้าทอในแต่ละท้องถิ่นกันอย่างต่อเนื่อง มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงถึงการอนุรักษ์และพัฒนาผ้าทอให้มีพื้นที่อยู่ในกระแสของสังคม แต่พื้นที่ของผ้าทอกลับถูกจำกัดพื้นที่อยู่ตรงสินค้าพื้นเมือง ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ ของแต่ละชุมชนแต่กลับมีพื้นที่ของการเป็นปัจจัย ๔ น้อยลง เพราะกระแสการบริโภคสินค้าแฟชั่นมีบทบาทและมีน้ำหนักในพื้นที่ของปัจจัย ๔ มากกว่า จนทำให้ผ้าทอมีบทบาทอยู่เพียงกลุ่มคนบางกลุ่มหรือการใช้เพื่องานพิธีสำคัญ ๆ เท่านั้น

• ผ้าทอพื้นเมืองสุนทรียะในกระแส
แฟชั่น เป็นคำที่มาจากภาษาอังกฤษว่า Fashion ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำนี้ว่า "สมัยนิยมหรือวิธีการที่นิยมกันทั่วไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง" เป็นการยอมรับจนเกิดเป็นค่านิยม ซึ่งหากกล่าวถึงคำว่าแฟชั่น หลายคนมีมุมมองลงไปในเรื่องของเครื่องแต่งกาย คำว่า “แฟชั่น” ในกระแสปัจจุบันนั้น แฟชั่นเครื่องแต่งกายจะมีพื้นที่ในกระแสความนิยมมากเป็นอันดับแรก อาจเป็นเพราะการยึดพื้นที่ในการบริโภคที่มีอัตราการซื้อหามากเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคสามารถจับจ่ายได้ไม่ยากนักเพราะราคาไม่แพงจนเกินไป อีกทั้งกำลังซื้อของกลุ่มวัยรุ่นที่ต้องการมีพื้นที่ของตัวเองอยู่บนกระแสของคำว่า “แฟชั่น” ดังนั้นแฟชั่นอาจกล่าวได้ว่าเป็นกระแสความนิยมทั่วไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อาจมีกระบวนการเกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบหรือภาษาในช่วงหนึ่งซึ่งเป็นไปตามกระแส
วัฒนธรรมบริโภคในการเลือกบริโภคแฟชั่น เกิดจากปัจจัยที่สำคัญหลายประการ ประเด็นที่สามารถพบเห็นได้อย่างชัดเจน คือ เรื่องของการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่มีการตัดสินใจซื้อได้ง่ายและมีอำนาจใช้จ่ายสูง แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้ประกอบอาชีพและสร้างรายได้ ซึ่งปรากฏเห็นได้จากการใช้เวลาว่างตามศูนย์การค้า หรือแหล่งช็อปปิ้ง รวมถึงการแสดงอัตลักษณ์ของวัยรุ่นในรูปแบบต่าง ๆ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มีการบริโภค เกี่ยวข้องด้วยทั้งสิ้น แนวคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมบริโภคมีมุมมองทฤษฎีที่สำคัญ 3 ประการ
1. วัฒนธรรมบริโภคจำเป็นสำหรับการก่อตัวและขยายตัวของการผลิตสินค้าภายใต้ระบอบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งก่อตัวให้เกิดการขยายตัวของวัฒนธรรมที่นิยมวัตถุตามมา
2. วัฒนธรรมการบริโภคเป็นมุมมองตามกรอบคิดของสังคมวิทยา ความพึงพอใจที่ได้จากการครอบครองสิ่งของนั้นถูกตีกรอบโดยโครงสร้างสังคมว่าจะสามารถเข้าถึงสินค้านั้น ๆ ได้มากน้อยเพียงใด และความพอใจในสินค้ายังสัมพันธ์กับสถานภาพซึ่งการบริโภคเป็นเรื่องของการมุ่งแสดงและรักษาความแตกต่างทางชนชั้นภายใต้บริบทของสังคม
3. อารมณ์ความรู้สึกพึงพอใจที่ได้รับจากการบริโภค เป็นความฝันและความปรารถนาในจินตนาการแห่งวัฒนธรรมบริโภคที่เติมเต็ม มุ่งเพื่อก่อให้เกิดความพึงพอใจทั้งทางกายและสุนทรียะ
การให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมบริโภคแฟชั่นในฐานะการเป็นวัฒนธรรม เกิดขึ้นมาโดยอัตโนมัติจากการผลิตที่แพร่หลายขึ้นของการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ทุ่นนิยม ปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมบริโภคยังถูกเสริมด้วยความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในสังคมปัจจุบัน ที่ประสิทธิผลในการผลิตเป็นการเสริมสร้างความยุ่งเหยิงของการใช้สินค้าเพื่อแสดงสถานภาพความเป็นกระแสแฟชั่น รวมกับการมองข้างเส้นแบ่งของศิลปะชั้นสูงกับศิลปะเพื่อมวลชนที่นักคิดบางคนให้ความเห็นว่าเป็นวัฒนธรรมแบบหลังสมัยใหม่ หรือเรียกกว่า Postmodernism
หากกล่าวถึงผ้าผ้าทอพื้นบ้านกับวงการแฟชั่นอาจกล่าวได้ว่า แฟชั่นไทยในรอบสิบปีที่ผ่านมาพบว่า ผ้าทอร่วมสมัยได้รับความสนใจจากศิลปินนักออกแบบผ้าของประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยมีผลงานที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับวงการผ้าไทยสู่ระดับต้น ๆ ของประเทศ แม้ว่าวงการแฟชั่นผ้าทอพื้นบ้านจะเป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่ความนิยมในการเลือกซื้อสินค้าของคนไทยกลับไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร หากวิเคราะห์ถึงปัญหาประเด็นสำคัญ คือ กระแสนิยมแฟชั่นจากต่างชาติทีเข้ามามีบทบาทในสังคมซึ่งเข้ามาสู่เมืองไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่น โดยที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการปลูกฝังด้านค่านิยมในการอนุรักษ์และสนับสนุนสินค้าไทยไม่ต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่านิยมแห่งสุนทรีย์ในงานภูมิปัญญาอย่างผ้าทอพื้นบ้าน ถูกดูดกลืนไปกับกระแสค่านิยมต่างชาติได้อย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันมีการพัฒนาผ้าทอพื้นบ้านทั้งในด้าน วัสดุ รูปแบบ และกระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรม ส่งผลให้สุนทรียะแห่งการสร้างสรรค์ด้วยมือแบบดั้งเดิมค่อย ๆ เลือนหาย ทั้งในด้านการเก็บเกี่ยววัตถุดิบ การปั่นด้าย การย้อมสี รวมถึงการทอผ้า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการสร้างความรวดเร็วในการผลิตและมาตรฐานของผ้า การทอเพื่อการค้าเกิดขึ้นภายใต้การผสมผสานงานศิลป์ของช่างทอกับการสนองความต้องการของผู้บริโภค การทอผ้าจึงยึดหลักการผลิตผืนผ้าตามวิถีดั้งเดิมพร้อมปรับเปลี่ยนรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อสอดคล้องกับการบริโภคในสังคมของความทันสมัย ในแง่ของความสวยงาม การประกอบลวดลาย รูปแบบการถักทอ (จุฑารัตน์ ตั้งสมบูรณ์. 2547:74)
สุนทรียะในงานพื้นบ้านเป็นกระบวนทัศน์แห่งศาสตร์และศิลป์เกิดการปรับตัวเพื่อการเข้าสู่กระแสแฟชั่น ผ้าทอพื้นบ้านจึงพัฒนาแนวคิดในการฟื้นฟูเพื่อการกลับสู่การเป็นปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิต แต่การปรับตัวเพื่อการมีสุนทรียะตามกระแส อาจจำเป็นต้องอิงกระแสการเปลี่ยนแปลงภายในสังคม โดยการปรับรูปแบบ ลวดลาย สีสัน หรือการสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ผ้าทอพื้นบ้านมีความร่วมสมัยและเป็นที่ต้องการของกลุ่มบุคคลในสังคม สิ่งเหล่านี้สร้างให้เกิดสุนทรียะในมุมมองที่แตกต่างจากภูมิปัญญาหรือไม่ ดังนั้น ผู้สร้างสรรค์จำเป็นต้องผสมผสานสุนทรียะอันเป็นรากฐานของความงามของภูมิปัญญาที่เกิดจากการประสานธรรมชาติและความเชื่อสู่การปรับตัวเพื่อให้ผ้าทอพื้นบ้านแสดงความงามแห่งสุนทรียะในกระแสสังคมของการเปลี่ยนแปลง โดยไม่ให้คุณค่าของสุนทรียะพื้นบ้านสูญไปกับพัฒนาสู่กระแสแฟชั่น
ที่สำคัญ คือ การสร้างสรรค์บนพื้นฐานแนวคิดภูมิปัญญาของท้องถิ่น เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาให้คงอยู่บนกระแสการเปลี่ยนแปลง เพราะผ้าทอพื้นบ้านคือองค์ความรู้เฉพาะถิ่น ที่ได้พัฒนาการขึ้นเพื่อรับใช้วิถีการดำเนินชีวิตของท้องถิ่นนั้น ๆ อันเป็นรูปแบบแห่งสุนทรียะของท้องถิ่นที่สามารถถ่ายทอดและสื่อสารกันเฉพาะในกลุ่ม และองค์ความรู้เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่เกิดจากการสั่งสมและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อการประสานความเชื่อและวัฒนธรรมอันเป็นรากฐานแห่งสุนทรียะแห่งภูมิปัญญาให้คงอยู่ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

• การอนุรักษ์สู่การพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้แห่งสุนทรียศาสตร์
ผ้าทอพื้นบ้านในฐานะมรดกทางศิลปวัฒนธรรม หมายถึง ผลงานที่เกิดจากการคิดค้นประดิษฐ์สร้างสรรค์สิ่งที่ถือกันว่าเป็นสิ่งดีงาม มีการเรียนรู้ สืบทอดต่อกัน มรดกทางศิลปวัฒนธรรมจึงไม่เป็นเพียงแต่งานศิลปหัตถกรรมอันทรงคุณค่าเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษา วรรณกรรม และการแสดง โบราณสถาน โบราณวัตถุ เป็นต้น
หากกล่าวถึง การอนุรักษ์ผ้าทอพื้นบ้านสู่การพัฒนาแนวคิดการออกแบบร่วมสมัย คือ การแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดจากความเจริญในด้านต่าง ๆ มีความสำคัญต่อการปกป้องต่อมรดกทางศิลปวัฒนธรรม ให้มีพื้นที่ในการแสดงความงามแห่งสุนทรียะของภูมิปัญญาคงอยู่แต่การคงอยู่อาจมีการพัฒนาร่วมกับแนวคิดของความร่วมสมัยในสังคมแห่งการบริโภคที่อยู่บนกระแสของการเปลี่ยนแปลง การอนุรักษ์มีหลายแง่มุมของการดำรงอยู่ซึ่งศิลปวัฒนธรรม ซึ่งแนวทางในการอนุรักษ์ผ้าทอพื้นบ้านสามารถเสนอแนวคิดได้ 2 ประเด็น คือ
1. การอนุรักษ์เพื่อการรักษาให้คงอยู่ในฐานะมรดกทางศิลปวัฒนธรรม
2. การอนุรักษ์เพื่อการต่อยอดองค์ความรู้และภูมิปัญญา
หากกล่าวถึงประเด็นในการอนุรักษ์ทั้ง 2 ประเด็น เปรียบเสมือนการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และภูมิปัญญา ให้เกิดความรู้ใหม่และนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเหมาะสม โดยการจัดการองค์ความรู้ในชุมชนให้เป็นระบบที่ชุมชนเป็นเจ้าของ ถ่ายทอด พัฒนา ต่อยอดภูมิปัญญา และผสมผสานภูมิปัญญากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เกิดความรู้ใหม่นำไปใช้ในการดำรงชีวิต พัฒนาศักยภาพชุมชน และสร้าง สรรค์มูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมถึงการสนับสนุนงานวิจัยพื้นบ้าน การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมโดยมีนักวิจัยท้องถิ่นเข้าร่วมและนำผลงานวิจัยไปสู่การพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่น รวมทั้งผลักดันให้มีการจดลิขสิทธิ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาหากมีการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ทั้งในและนอกประเทศ แต่การอนุรักษ์เพื่อต่อยอดงานหัตถกรรมผ้าทอพื้นบ้านนั้น นับว่าเป็นงานศิลปะ เป็นการแสดงออกของมนุษย์ในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage) ที่มีค่าของสังคมซึ่งไม่ได้แยกออกจากสังคมและวัฒนธรรม แต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทางวัฒนธรรมและสังคม
แนวทางการต่อยอดอาจบูรณาการร่วมกับแนวคิดของวัฒนธรรมร่วมสมัย ที่เป็นการเกิดขึ้นภายใต้โลกของความทันสมัยเป็นปริมณฑลที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมที่มีชีวิต เป็นเสมือนกระแสหรือพลังที่มองไม่เห็นแต่รู้สึกได้ บริโภคได้ และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในขณะที่เราตื่นนอน ทำงาน พักผ่อน รวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างทัศนะคติแห่งสุนทรียะของภูมิปัญญาผ้าทอพื้นบ้าน และสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้แก่ผ้าทอพื้นบ้านมากกว่าการเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านเพื่อสร้างสรรค์ความงามแห่งสุนทรียะในมุมมองของความร่วมสมัย และสามารถนำไปใช้ในการประกอบสืบทอดและต่อยอดองค์ความรู้ในลักษณะของการอนุรักษ์และพัฒนา เพื่อผ้าทอพื้นบ้านศาสตร์และศิลป์แห่งภูมิปัญญามีพื้นที่ดำรงอยู่ อันเป็นการประสานรอยต่อทางวัฒนธรรมให้เชื่อมโยงและประสานความงามแห่งสุนทรียะแบบร่วมสมัย
• ผ้าทอพื้นบ้านสุนทรียศาสตร์แห่งภูมิปัญญา
ภูมิปัญญาเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่อาจมีรูปแบบที่เปลี่ยนไปตามสภาพการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สิ่งเหล่านี้กำลังจะทำให้ภูมิปัญญาที่เป็นองค์ความรู้ ความเชื่อ ความสามารถของคนในท้องถิ่น ที่ได้จากการสั่งสมประสบการณ์และการเรียนรู้มาเป็นระยะเวลายาวนาน ที่มีลักษณะเป็นองค์รวม และมีคุณค่าทางวัฒนธรรม เลือนหายไปจากสังคมไทย ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าหากภูมิปัญญาเหล่านี้ถูกกลืนไปในสังคมแห่งทุนนิยม พื้นฐานความเข้าใจธรรมชาติที่มีมาแต่โบราณก็จะสูญไปตามกาลเวลา ภูมิปัญญาจึงมีความสำคัญในการสร้างความยั่งยืนของสังคมพื้นบ้าน ที่เป็นสังคมของการพึ่งพาซึ่งกันและกัน คนกับคน คนกับธรรมชาติ คนกับสัตว์ มีการพึ่งพิงความสามารถโดยใช้ความรู้จากประสบการณ์ ที่สั่งสมและสืบทอดกันมา เป็นความสามารถและศักยภาพในเชิงการแก้ปัญหา การปรับตัวเรียนรู้และสืบทอดไปสู่คนรุ่นต่อไป เพื่อการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ อันสร้างให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมชาติ เผ่าพันธุ์ หรือเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยพื้นฐานความเข้าใจที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้สังคมมีความเห็นพ้องในหลักการดำเนินชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาจึงเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความยั่งยืนของสังคมพื้นบ้านที่เป็นรากฐานการดำเนินชีวิตของคนในแต่ละท้องถิ่น ที่แฝงไปด้วยขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อ ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของชาติพันธ์อันเป็นสุนรียะที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์และแนวคิดแห่งภูมิปัญญา ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
1. ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่เป็นองค์ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ที่สั่งสมและสืบทอดกันมา เป็นความสามารถและศักยภาพในเชิงการแก้ปัญหา การปรับตัวเรียนรู้และสืบทอดไปสู่คนรุ่นต่อไป เพื่อการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ จึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมชาติ ของเผ่าพันธุ์หรือเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน
2. ภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นวิธีการปฏิบัติของชาวบ้าน ซึ่งได้จากประสบการณ์ แนวทางแก้ปัญหาแต่ละเรื่อง แต่ละประสบการณ์ แต่ละสภาพแวดล้อม ซึ่งจะมีเงื่อนไขปัจจัยเฉพาะแตกต่างกันไป นำมาใช้แก้ไขปัญหาโดยอาศัยศักยภาพที่มีอยู่โดยชาวบ้านคิดเอง เป็นความรู้ที่สร้างสรรค์และมีส่วนเสริมสร้างการผลิต หรือเป็นความรู้ของชาวบ้านที่ผ่านการปฏิบัติมาแล้วอย่างโชกโชน เป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรม เป็นความรู้ที่ปฏิบัติได้มีพลังและสำคัญยิ่ง ช่วยให้ชาวบ้านมีชีวิตอยู่รอดสร้างสรรค์การผลิตและช่วยในด้านการทำงาน เป็นโครงสร้างความรู้ที่มีหลักการ มีเหตุ มีผลในตัวเอง
3. ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ในชีวิตของคน ผ่านกระบวนการศึกษา สังเกต คิดว่าวิเคราะห์จนเกิดปัญญาและตกผลึกเป็นองค์ความรู้ที่ประกอบกันขึ้นมาจากความรู้เฉพาะหลาย ๆ เรื่อง จัดว่าเป็นพื้นฐานขององค์ความรู้สมัยใหม่ที่จะช่วยในการเรียนรู้ การแก้ปัญหาจัดการและการปรับตัวในการดำเนินชีวิตของคนเรา ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นความรู้ที่มีอยู่ทั่วไปในสังคม ชุมชนและในตัวผู้รู้เอง จึงควรมีการสืบค้นรวบรวม ศึกษา ถ่ายทอด พัฒนาและนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง
4. ภูมิปัญญาไทย เป็นองค์ความรู้ ความสามารถ ทักษะของคนไทยที่เกิดจากการส่งเสริมประสบการณ์ที่ผ่านกระบวนการการเลือกสรร เรียนรู้ปรุงแต่งและถ่ายทอดสืบต่อกันมา เพื่อใช้แก้ปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตของคนไทยให้สมดุลกับสภาพแวดล้อมและเหมาะสมกับยุคสมัย
จากข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าผ้าทอพื้นบ้านเป็นงานศิลปะที่ผูกพันและเกี่ยวข้องกับคนไทยมาเป็นเวลายาวนาน นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า ผ้าทอพื้นบ้านเป็นงานหัตถกรรมของไทยอย่างหนึ่งที่อาศัยแรงงาน และฝีมือประดิษฐ์คิดค้น ทั้งยังเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสั่งสมประสบการณ์ และอุดมการณ์พื้นฐานในการดำรงชีวิต ศิลปะการทอผ้าจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าแห่งสุนทรียะ การทอผ้าพื้นบ้านของไทยนั้นมีกระจายอยู่ทั่วไป รูปแบบของผ้าแต่ละกลุ่มชนจะมีความแตกต่างกันไปตามคตินิยม ความเชื่อและขนบธรรมเนียมประเพณีของกลุ่มชนในแต่ละท้องถิ่นของประเทศมีทั้งผ้าพื้นสีเรียบ ๆ และผ้าที่มีลวดลายอันเนื่องมาจากกรรมวิธีที่ประณีต ผ้าทอพื้นบ้านจึงเป็นศิลปหัตถกรรมที่มีความประสานสัมพันธ์กับภูมิศาสตร์ การตั้งถิ่นฐานเชื้อชาติ ตลอดจนถึงระบบความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีศาสนาและวัฒนธรรม อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิตของแต่ละกลุ่มชน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบและเป็นข้อกำหนดในการเลือกใช้วัสดุ การออกแบบลวดลายและสีสันของผ้าทอ (วิบูลย์ ลี้สุวรรณ, 2530 : 85) ลวดลายและสีสันที่ปรากฏอยู่บนผืนผ้านั้น เป็นกรรมวิธีในเชิงศิลปะที่ละเอียดอ่อนอันแสดงให้เห็นถึงสุนทรียะในการสร้างสรรค์ผลงานของบรรพบุรุษ
ผ้าทอพื้นบ้านจึงเป็นศิลปะที่มีประวัติอันยาวนานและมีความมั่งคั่งปรากฎอยู่หลากหลาย อีกทั้งยังมีการสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีการผลิตผ้าทอมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งรูปแบบลวดลายและกรรมวิธีในการผลิตมีแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นอันมีรูปแบบเฉพาะของเชื้อชาติ สิ่งสำคัญการสอดแทรกภูมิปัญญาแห่งงานศิลป์ผสมผสานความปราณีตบรรจง แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของท้องถิ่นที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่าผ้าทอพื้นบ้านจึงเป็นศิลปะแห่งภูมิปัญญา ที่แสดงออกถึงความเจริญรุ่งเรืองทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มคนแสดงผ่านทางลวดลายเส้นสีของผ้าที่สอดแทรกความเชื่อ และขนบธรรมเนียมประเพณี อันรากฐานทางศิลปวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธ์ เปรียบเสมือนการบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ลงบนผืนผ้า อีกทั้งเพื่อแสดงออกถึงความเป็นเผ่าพันธ์ของตน ประกอบกับการแสดงให้เห็นถึงสุนทรียะในการสร้างสรรค์ผลงานจากภูมิปัญญา ซึ่งเป็นต้นทางแห่งการสร้างสรรค์ความรู้ควบคู่ไปกับความงามที่มีพื้นฐานจากประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตท่ามกลางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เอกสารอ้างอิง

จุฑารัตน์ ตั้งสมบูรณ์. (2547). กลยุทธ์ทางการตลาดของผ้าทอพื้นเมืองกรณีศึกษา :
ผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดราชบุรี. ปริญานิพนธ์. กรุงเทพฯ :
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
ณัฐกฤต ดิฐวิรุฬห์. (2550). ผ้าจก : จากการถักทอในวิถีชีวิตสู่การผลิตเพื่อการค้า.
ปริญญานิพนธ์. กรุงเทพ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
นิติ กสิโกศล. (2541). การพัฒนาอุตสาหกรรมไหมไทยในภาคอีสาน : รัชสมัยพระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2444-2455).กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ไมตรี เกตุขาว. (2540). การศึกษาลวดลายผ้าตีนจกในภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย.
ปริญญานิพนธ์. กรุงเทพ ฯ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. (2530). ผ้าไทย : พัฒนาการทางอุตสาหกรรมและสังคม. กรุงเทพฯ :
บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย.
วนิดา ขำเขียว. (2543). สุนทรียศาสตร์. กรุงเทพฯ : พรานนกการพิมพ์
วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. (2531). ผ้าไทย. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา.
ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล และ แพทรีเซีย แน่นหนา. (2533). ผ้าโบราณแห่งนครเชียงใหม่.
เชียงใหม่ : โครงการสงวนรักษาและจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ผ้าไทยโบราณภาคเหนือ.
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2538). ผ้าไทย. กรุงเทพ :
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2545). ผ้าไทย : สายใยแห่งภูมิปัญญา
สู่คุณค่าเศรษฐกิจไทยกรุงเทพฯ :องค์การค้าของคุรุสภา.
อัจฉรา วงศ์วัฒนามงคล. (2547). การเกิดขึ้นของวัฒนธรมการบริโภคในชุมชน.
ปริญญานิพนธ์. กรุงเทพ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
อุดม สมพร. (2540). ผ้าจกไทย – ยวน ราชบุรี. กรุงเท
อันธิฌา แสงชัย. สุนทรียศาสตร์ ศาสตร์แห่งสุนทรียะ.นิตยสารไฟน์อาร์ต ปีที่ 1 ฉบับที่ 7
(กรกฎาคม 2547), หน้า 50-52.