ปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษา สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

ปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษา สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
Faculty of Industrial Education at Rajamangala University of Technology Nakhon.
ขนิษฐา ดีสุบิน
สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษา สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ทั้ง 5 ด้าน คือ ด้านสภาพแวดล้อมทางสังคม ด้านพฤติกรรมทางการเรียน ด้านเจตคติที่มีต่ออาจารย์ผู้สอนและสถานศึกษา ด้านความสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อนและเพื่อนต่างเพศ และด้านการใช้เวลาว่าง โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ถึงชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร นักศึกษากลุ่ม ปคพ. และ นักศึกษากลุ่ม ทคพ.ที่ลงทะเบียนเรียนในปีการศึกษา 2554 จำนวน 143 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถามแบบตรวจรายการ (Check List) และแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ค่าสถิติพื้นฐาน T-test, F-test ผลการวิจัยสรุปได้ว่า นักศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่ระดับเกรดเฉลี่ยแตกต่างกัน มีระดับความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 จำนวน 1 ด้าน คือ ด้านพฤติกรรมทางการเรียนและนักศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่มีระดับชั้นปีแตกต่างกันมีความคิดเห็นต่อปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้ง 5 ด้าน ไม่แตกต่างกัน

คำสำคัญ : ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
Abstract
This research is focus on studying and comparing five factors which have an effect on the learning achievement composing of department computer of engineering in Faculty of Industrial Education at Rajamangala University of Technology Phra Nakhon , learning behavior, attitude about instructor and university, classmate relationship and how to utilize free time. The samples used in this study were one year students to four year of department computer engineering. in Faculty of Industrial Education at Rajamangala University of Technology Phra Nakhon And student group CP-5N and CP-N are Enrolled in the study 2554 academic year, 143 people. T-test and F-test are used to analyze this information.
The result shows that the opinion of students who have different GPA about factors affecting the learning achievement is different in statistical significance at 0.05 degree only in learning behavior factor. Moreover, the different class is not affected to student opinion about all factors affecting the learning achievement.

Keyword : Learning Achievement, Student in computer of Engineering.

บทนำ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 เน้นคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาแบบองค์รวม โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพของคนและสภาพแวดล้อมทางสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบมีประสิทธิภาพ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สามารถจำแนกได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้ 1) การพัฒนาระดับชาติ มุ่งพัฒนาคนในภาพรวมเพื่อให้สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้ เป็นพลเมืองดี มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพสูง และมีความรับผิดชอบต่อสังคม การพัฒนาจึงคำนึงถึงการพัฒนาด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ ด้านแรงงาน เป็นสำคัญ 2) การพัฒนาระดับองค์กร มุ่งพัฒนาคนให้เกิดความเชี่ยวชาญสามารถทำงานให้องค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงและพร้อมกับการขยายตัวและการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และเน้นการพัฒนาทางด้านบูรณาการระหว่างการพัฒนาบุคคล การพัฒนาอาชีพและการพัฒนาองค์กร เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาจากการเรียนรู้ของบุคคลไปสู่ทีมการเรียนรู้ และองค์กรแห่งการเรียนรู้ไปพร้อมกัน 3) การพัฒนาระดับบุคคล มุ่งพัฒนาคนให้ตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนาตนเองเพื่อเพิ่มความรู้ความสามารถ และประสิทธิภาพในการทำงานให้สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้ เป็นสมาชิกระดับครอบครัว องค์กร สังคมและประเทศชาติ (จารุพงศ์ พลเดช. 2551) จะเห็นได้ว่าปัจจัยสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ คือ การพัฒนามนุษย์ จุดประสงค์สำคัญของการพัฒนามนุษย์ เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะและพฤติกรรมให้เป็นไปในทางที่สนับสนุน และเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประเทศชาติโดยส่วนรวม ซึ่งในการพัฒนาบุคคลไปในทิศทางใดนั้นขึ้นกับรากฐานหลายประการเช่น อิทธิพลการอบรมเลี้ยงดูและความสัมพันธ์กันในครอบครัว อิทธิพลทางด้านการศึกษา ได้แก่ วิชาความรู้ ครูอาจารย์ เพื่อน ตลอดจนภาวะแวดล้อมอื่น ๆ ในสังคม (มันทนา เพ็งนู. 2522 : 2) แต่เนื่องจากสภาพปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบันเป็นยุคของการติดต่อสื่อสารที่ไร้พรมแดน อารยธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมตะวันตก ที่เป็นค่านิยมในหมู่เยาวชนไทย ซึ่งทำให้เกิดปัญหาขึ้นมากมายในสังคมไทย เช่น การติดเกมอินเตอร์เน็ต การหนีเรียน การทะเลาะวิวาท การพนัน การใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย การดื่มสุรา สูบบุหรี่ ยาเสพติด การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งเป็นปัญหาของสังคมเสื่อม การที่จะทำให้เยาวชนไทยเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีคุณภาพในอนาคตควรเริ่มต้นมาจากการอบรมเลี้ยงดูในครอบครัว เพราะการอบรมเลี้ยงดูของพ่อ แม่ ย่อมส่งผลต่อพฤติกรรมและบุคลิกภาพของลูกทั้งในปัจจุบันและอนาคต แต่เนื่องจากสภาพสังคมไทยกำลังพัฒนาไปสู่วัตถุนิยม และสังคมเมือง ชีวิตของคนต้องทำงานแข่งขันกัน สภาพชีวิตครอบครัวมีความล้มเหลวมากขึ้น ทำให้ครอบครัวต้องสูญเสียหน้าที่บางประการไป เช่น การอบรมดูแลเอาใจใส่ต่อสมาชิกในครอบครัว จะเห็นว่าปัจจุบันสถาบันการศึกษาได้เข้ามามีบทบาทแทนสถาบันครอบครัว ครูและเพื่อน จึงกลายมาเป็นบุคคลรอบข้างที่มีอิทธิพลสำคัญต่อพฤติกรรมและปัญหาต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งสถาบันการศึกษาเป็นสังคมหนึ่งที่ทำหน้าที่ในการผลิตกำลังคนที่มีความรู้และประสิทธิภาพอันจะเป็นกำลังสำคัญ ในการพัฒนาประเทศต่อไป โดยสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนในระดับอุดมศึกษาต่าง ๆ นอกจากจะให้ความรู้ทางด้านวิชาการแก่ผู้เรียนแล้วยังต้องส่งเสริมดูแลทางสังคม อารมณ์ ทัศนคติในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมของผู้เรียนด้วย
สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ศูนย์เทเวศร์) เป็นสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนในระดับอุดมศึกษา เป็นสถาบันที่ผลิตครูช่างอุตสาหกรรม มาเป็นเวลายาวนาน เปิดรับนักศึกษาเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาโดยการสอบคัดเลือกจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และจากระบบการคัดเลือกนักศึกษาเข้าศึกษาต่อในคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ซึ่งนักศึกษาที่เข้ามาศึกษาในสถานศึกษา มีพื้นฐานครอบครัวและสภาพแวดล้อมทางสังคมที่แตกต่างกันออกไป เมื่อต้องมาใช้ชีวิตร่วมกันภายในมหาวิทยาลัย นักศึกษาจึงต้องมีการปรับตัวในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการเรียน สังคมเพื่อนฝูง การใช้จ่าย การใช้เวลาว่าง เป็นต้น และการที่นักศึกษาต้องมีการปรับตัวในด้านต่าง ๆ อาจทำให้เกิดปัญหาแก่นักศึกษาได้ ซึ่งก็เป็นสิ่งจำเป็นที่สถานศึกษาต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือ ดูแลและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะในสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่มีนักศึกษาหญิงเข้ามาศึกษาเป็นจำนวนมาก ในส่วนผลการเรียนหรือคะแนนของนักศึกษา ก็เป็นตัวกำหนดการสำเร็จการศึกษาและเป็นตัวบ่งชี้ความสามารถในการศึกษาขั้นสูงต่อไป ถ้านักศึกษาได้คะแนนไม่ถึงที่เกณฑ์ที่กำหนด นักศึกษาก็จะพ้นสภาพการเป็นนักศึกษา ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเปล่าทางการศึกษา เนื่องจากรัฐเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและรับภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของผู้เรียนในระดับอุดมศึกษามากกว่าผู้เรียน (พรนภา บรรจงกาลกุล : 2539)
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ผู้วิจัยมีความสนใจที่จะศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษา สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ( ศูนย์เทเวศร์) โดยผู้วิจัยมุ่งที่จะวิเคราะห์ปัจจัยใน 5 ด้าน คือ นิสัยทางการเรียน เจตคติที่มีต่ออาจารย์ผู้สอน ความสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อนและเพื่อนต่างเพศ การใช้เวลาว่างเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีความสนใจและมีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบ และเข้าใจต่อสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในการพิจารณาหาวิธีการที่เหมาะสมในการช่วยเหลือดูแลและแก้ไขปัญหาเพื่อส่งเสริมคุณภาพการศึกษาในอนาคต
2. วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย
2.1 เพื่อศึกษาปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษา สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม
2.2 เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษา สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม
2.3 เพื่อวิเคราะห์ จำแนกปัจจัยที่เกี่ยวกับการเรียนของกลุ่มนักศึกษา สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงและต่ำ
3. สมมติฐานของการวิจัย
3.1 นักศึกษาที่ระดับเกรดเฉลี่ยแตกต่างกันมีระดับความคิดเห็นต่อปัจจัยที่ส่งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แตกต่างกัน
3.2 นักศึกษาแต่ละชั้นปีมีระดับความคิดเห็นต่อปัจจัยที่ส่งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแตกต่างกัน
4. ขอบเขตของการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้ มุ่งศึกษาเฉพาะปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษา 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม ปคพ. และ ทคพ. ที่กำลังศึกษาอยู่ ในสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ศูนย์เทเวศร์) เท่านั้น
5. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ชั้นปีที่ 1 – 4 คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครที่ลงทะเบียนในภาคการศึกษา 2554 จำนวน 143 คน
6. การสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
การสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นแบบสอบถาม ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น โดยแบบสอบถามแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 เป็นแบบสอบถามแบบตรวจคำตอบและเติมคำเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานของนักศึกษา
ส่วนที่ 2 เป็นแบบสอบถามแบบตรวจคำตอบ เกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานของครอบครัว
ส่วนที่ 3 เป็นแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ
6.1 ศึกษาแนวคิดทฤษฎีจากเอกสาร ตำราและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนนำมาเป็นขอบเขตของเนื้อหาในการสร้างแบบสอบถาม
6.2 ศึกษาค้นคว้าแนวทางในการสร้างแบบสอบถามจากตำราและเอกสารงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการวิจัยแล้วนำมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับคำจำกัดความของงานวิจัย
6.3 สร้างแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของนักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมทางสังคม ปัจจัยด้านพฤติกรรมทางการเรียน ปัจจัยด้านเจตคติที่มีต่ออาจารย์ผู้สอนและสถานศึกษา ปัจจัยด้านความสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อนและเพื่อนต่างเพศ และปัจจัยด้านการใช้เวลาว่าง
6.4 นำแบบสอบถามที่สร้างเสร็จแล้วทำการทดสอบแบบสอบถาม (Pre-Test) ไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 79 ฉบับ และคัดเลือกแบบสอบถามที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วนได้ 70 ฉบับ (เนื่องจากแบบสอบถามบางฉบับผู้ตอบแบบสอบถามไม่ตอบข้อถามบางข้อทำให้ได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน) เพื่อนำไปหาคุณภาพอำนาจจำแนกด้วยการทดสอบ t -test ระหว่างกลุ่มที่ได้คะแนนสูงและคะแนนต่ำ ร้อยละ 25
7. การเก็บรวบรวมข้อมูล
ผู้วิจัยแจกแบบสอบถาม จำนวน 143 ฉบับโดยชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ในการวิจัยและขอความร่วมมือจากผู้ตอบแบบสอบถามในการตอบแบบสอบถามให้ตรงกับความเป็นจริงและส่งแบบสอบถามคืนหลังจากตอบแบบสอบถามเสร็จ
8. ผลการวิจัย
8.1 ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพของผู้ตอบแบบสอบถาม ดังนี้
8.1.1 จำแนกตามเพศ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาเพศชาย จำนวน 96 คน คิดเป็นร้อยละ 67.13 ที่เหลือเป็นนักศึกษาเพศหญิง จำนวน 47 คน คิดเป็นร้อยละ 32.87
8.1.2จำแนกตามอายุโดยเรียงลำดับจากมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่มีอายุ 20 ปี จำนวน 40 คน คิดเป็นร้อยละ 27.97 รองลงมาเป็นนักศึกษาที่มีอายุ 19 ปี จำนวน 34 คน คิดเป็นร้อยละ23.78 นักศึกษาที่มีอายุ 18 ปี จำนวน 20 คน คิดเป็นร้อยละ 13.99 นักศึกษาที่มีอายุ 21 ปี คิดเป็นร้อยละ 12.59 นักศึกษาที่มีอายุ 23 ปี จำนวน 15 คน คิดเป็นร้อยละ 10.49 นักศึกษาที่มีอายุ 22 ปี คิดเป็นร้อยละ 9.09 นักศึกษาที่มีอายุ 24 ปี คิดเป็นร้อยละ 1.39 และน้อยที่สุดเป็นนักศึกษาที่มีอายุ 25 ปี จำนวน 1 คน คิดเป็นร้อยละ 0.70
8.1.3 จำแนกตามระดับชั้นปี โดยเรียงลำดับจากมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่กำลังศึกษาในชั้นปีที่ 2 จำนวน 61 คน คิดเป็นร้อยละ 42.66 รองลงมาเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 จำนวน 51 คน คิดเป็นร้อยละ 35.66 นักศึกษาชั้นปีที่ 3 จำนวน 20 คน คิดเป็นร้อยละ 13.99 และน้อยที่สุดเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จำนวน 11 คน คิดเป็นร้อยละ 7.69
8.1.4จำแนกตามประเภทกลุ่มนักศึกษา พบว่า ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษากลุ่ม ปคพ.จำนวน 87 คน คิดเป็นร้อยละ 60.84 และที่เหลือเป็นนักศึกษากลุ่ม ทคพ.จำนวน 56 คน คิดเป็นร้อยละ 39.16
8.1.5จำแนกตามวิธีการเข้าศึกษาต่อ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่เข้าศึกษาต่อในสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โดยวิธีสอบตรง จำนวน 80 คน คิดเป็นร้อยละ 55.94 และที่เหลือเป็นนักศึกษาที่เข้าศึกษาต่อโดยวิธีโควต้า จำนวน 63 คน คิดเป็นร้อยละ 44.06
8.1.6จำแนกตามเกรดเฉลี่ยสะสม โดยเรียงลำดับจากมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ยสะสมอยู่ที่ 2.01-2.50 จำนวน 59 คน คิดเป็นร้อยละ 41.26 รองลงมาเป็นนักศึกษามีเกรดเฉลี่ยสะสมอยู่ที่ 2.51-3.00 จำนวน 53 คน คิดเป็นร้อยละ 37.06 นักศึกษามีเกรดเฉลี่ยสะสมอยู่ที่ 3.01-3.50 จำนวน 16 คน คิดเป็นร้อยละ 11.19 และน้อยที่สุดนักศึกษามีเกรดเฉลี่ยสะสมอยู่ที่ 1.51-2.00 จำนวน 15 คน คิดเป็นร้อยละ 10.49
8.2 ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของครอบครัวนักศึกษาที่ตอบแบบสอบถาม ดังนี้
8.2.1จำแนกตามภูมิภาคที่สำเร็จการศึกษาโดยเรียงลำดับจากมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากภาคใต้ จำนวน 80 คน คิดเป็นร้อยละ 55.94 รองลงมาเป็นนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากภาคอีสาน จำนวน 30 คน คิดเป็นร้อยละ 20.98 นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากภาคกลาง จำนวน 14 คน คิดเป็นร้อยละ 9.79 นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากภาคตะวันตก จำนวน 7 คน คิดเป็นร้อยละ 4.89 และน้อยที่สุดเป็นนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากภาคเหนือและภาคตะวันออก ภาคละ 6 คน คิดเป็นร้อยละ 4.20
8.2.2จำแนกตามการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษามาก่อน พบว่า ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ไม่เคยเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษามาก่อน จำนวน 141 คน คิดเป็นร้อยละ 98.60 และที่เหลือเป็นนักศึกษาที่เคยเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษามาก่อน จำนวน 2 คน คิดเป็นร้อยละ 1.40
8.2.3จำแนกตามสถานภาพสมรสของบิดา-มารดา โดยเรียงลำดับจากมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่มีสถานภาพสมรสของบิดา-มารดาที่อยู่ร่วมกัน จำนวน 135 คน คิดเป็นร้อยละ 94.41 รองลงมาเป็นนักศึกษาที่มีสถานภาพสมรสของบิดา-มารดาที่แยกกันอยู่โดยภาระหน้าที่การงาน จำนวน 5 คน คิดเป็นร้อยละ 3.50 นักศึกษาที่มีสถานภาพสมรสของบิดา มารดา หย่าร้าง จำนวน 2 คน คิดเป็นร้อยละ 1.40 และน้อยที่สุดเป็นนักศึกษาที่มีสถานภาพสมรสของบิดา มารดาที่บิดาถึงแก่กรรม จำนวน 1 คน คิดเป็นร้อยละ 0.69
8.2.4จำแนกตามรายได้รวมของครอบครัวต่อเดือน โดยเรียงลำดับจากมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด ส่วนใหญ่นักศึกษาที่มีรายได้รวมของครอบครัวต่อเดือนอยู่ในช่วง 10,001-15,000 บาท จำนวน 30 คน คิดเป็นร้อยละ 20.98 รองลงมาเป็นนักศึกษาที่มีรายได้รวมของครอบครัวต่อเดือน อยู่ในช่วง 40,001-45,000 บาท จำนวน 19 คน คิดเป็นร้อยละ 13.29 นักศึกษาที่มีรายได้รวมของครอบครัวต่อเดือน อยู่ในช่วง 30,001-35,000 บาท จำนวน 16 คน คิดเป็นร้อยละ 11.19 นักศึกษาที่มีรายได้รวมของครอบครัวต่อเดือน อยู่ในช่วง 20,001- 25,000 บาท จำนวน 15 คน คิดเป็นร้อยละ 10.49 นักศึกษาที่มีรายได้รวมของครอบครัวต่อเดือน อยู่ในช่วง 25,001-30,000 บาท จำนวน 14 คน คิดเป็นร้อยละ 9.79 นักศึกษาที่มีรายได้รวมของครอบครัวต่อเดือน อยู่ในช่วง 35,001-40,000 บาท จำนวน 13 คน คิดเป็นร้อยละ 9.09 นักศึกษาที่มีรายได้รวมของครอบครัวต่อเดือน อยู่ในช่วง 15,001-20,000 บาท จำนวน 12 คน คิดเป็นร้อยละ 8.39 นักศึกษาที่มีรายได้รวมของครอบครัวต่อเดือน อยู่ในช่วง 5,000-10,000 บาท จำนวน 10 คน คิดเป็นร้อยละ 6.99 และน้อยที่สุดเป็นนักศึกษาที่มีรายได้รวมของครอบครัวต่อเดือน มากกว่า 45,000 บาท จำนวน 3 คน คิดเป็นร้อยละ 2.10
8.2.5จำแนกตามจำนวนพี่น้องที่กำลังศึกษาอยู่ โดยเรียงลำดับจากมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่มีจำนวนพี่น้องที่กำลังศึกษาอยู่ 2 คน จำนวน 98 คน คิดเป็นร้อยละ 68.53รองลงมาเป็นนักศึกษาที่มีจำนวนพี่น้องที่กำลังศึกษาอยู่ 1 คน จำนวน 32 คน คิดเป็นร้อยละ 22.38 นักศึกษาที่มีจำนวนพี่น้องที่กำลังศึกษาอยู่ 3 คน จำนวน 8 คน คิดเป็นร้อยละ 5.59 และน้อยที่สุดเป็นนักศึกษาที่มีจำนวนพี่น้องที่กำลังศึกษาอยู่ 4 คนขึ้นไป จำนวน 5 คน คิดเป็นร้อยละ 3.50
8.3 ผลการศึกษาระดับความคิดเห็นของนักศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษา สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ทั้ง 5 ด้าน ดังนี้
8.3.1ด้านสภาพแวดล้อมทางสังคม พบว่า โดยรวมนักศึกษามีระดับความคิดเห็นปานกลาง ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.34 โดยข้อมีค่าเฉลี่ยสูงสุดอยู่ในระดับความคิดเห็นมาก คือ ปัญหาจากการเดินทางมาเรียน ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.53 สำหรับข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดอยู่ในระดับความคิดเห็นปานกลาง คือ ปัญหาจากสภาพแวดล้อมของที่พักอาศัย ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.23
8.3.2ด้านพฤติกรรมทางการเรียน พบว่า โดยรวมนักศึกษามีระดับความคิดเห็นปานกลาง ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.24 โดยข้อมีค่าเฉลี่ยสูงสุดอยู่ในระดับความคิดเห็นมาก คือ ปัญหาเกี่ยวกับการทำงานเป็นกลุ่ม ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.90 สำหรับข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดอยู่ในระดับความคิดเห็นน้อย คือ โอกาสสำเร็จการศึกษาในระยะเวลาที่หลักสูตรกำหนด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.87
8.3.3ด้านเจตคติที่มีต่ออาจารย์ผู้สอนและสถานศึกษา พบว่า โดยรวมนักศึกษามีระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก เฉลี่ยเท่ากับ 3.38 โดยข้อมีค่าเฉลี่ยสูงสุดอยู่ในระดับความคิดเห็นมาก คือ มีความเชี่ยวชาญในเนื้อหาวิชาที่สอนเป็นอย่างดี ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.92 สำหรับข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดอยู่ในระดับความคิดเห็นน้อย คือ อุปกรณ์เครื่องมือในห้องปฏิบัติการมีความทันสมัย ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.36
8.3.4ด้านความสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อนและเพื่อนต่างเพศ พบว่า โดยรวมนักศึกษามีระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.74 โดยข้อมีค่าเฉลี่ยสูงสุดอยู่ในระดับความคิดเห็นมากที่สุด คือ นักศึกษามีเพื่อนสนิทที่สามารถปรึกษาเรื่องการเรียน ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.02 สำหรับข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดอยู่ในระดับความคิดเห็นมาก คือ นักศึกษาต้องทำตามความเห็นส่วนใหญ่ของกลุ่ม แม้ว่าตนเองจะไม่เห็นด้วยก็ตาม ค่าเฉลี่ยเท่ากับ
3.45
8.3.5ด้านการใช้เวลาว่าง พบว่าโ ดยรวมนักศึกษามีระดับความคิดเห็น ปานกลางค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.03 โดยข้อมีค่าเฉลี่ยสูงสุดอยู่ในระดับความคิดเห็นมาก คือ เข้าร่วมกิจกรรมที่ทางคณะ/ มหาวิทยาลัย ขอความร่วมมือ ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.88 สำหรับข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดอยู่ในระดับความคิดเห็นน้อย คือ การสังสรรค์กับเพื่อนร่วมชั้น ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1.84
8.4 ผลการทดสอบสมมติฐาน นักศึกษาในระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่ระดับเกรดเฉลี่ยแตกต่างกัน จะมีระดับความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 จำนวน 1 ด้าน คือ ด้านพฤติกรรมทางการเรียน ส่วนอีก4 ด้าน ได้แก่ ด้านสภาพแวดล้อม ด้านเจตคติที่มีต่ออาจารย์ผู้สอนและสถานศึกษา ด้านความสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อนและเพื่อนต่างเพศ และด้านการใช้เวลาว่างพบว่า มีระดับความคิดเห็นต่อปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ไม่แตกต่างกัน ดังนี้
8.4.1ผลการเปรียบเทียบความแตกต่างเป็นรายคู่ของความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาที่มีระดับเกรดเฉลี่ยแตกต่างกัน เป็นรายคู่ ด้วยวิธี Sheffe พบว่า นักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ย 1.51-2.00 มีความคิดเห็นแตกต่างจากนักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ย 3.01-3.50 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยนักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ย 3.01-3.50 มีความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมากกว่านักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ย 1.51-2.00
8.4.2ผลการเปรียบเทียบความแตกต่างเป็นรายคู่ของความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาที่มีระดับเกรดเฉลี่ยแตกต่างกัน เป็นรายคู่ ด้วยวิธี Sheffe พบว่า นักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ย 2.01-2.50 มีความคิดเห็นแตกต่างจากนักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ย3.01-3.50 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยนักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ย 3.01-3.50 มีความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมากกว่า นักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ย 2.01-2.50
8.5 ผลการทดสอบสมมติฐาน นักศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ แต่ละชั้นปีมีระดับความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแตกต่างกันพบว่า นักศึกษาที่มีระดับชั้นปีแตกต่างกัน มีความคิดเห็นต่อปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ด้านสภาพแวดล้อม ด้านพฤติกรรมทางการเรียน ด้านเจตคติที่มีต่ออาจารย์ผู้สอนและสถานศึกษา ด้านความสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อนและเพื่อนต่างเพศ และด้านการใช้เวลาว่าง ไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
9. อภิปรายผลการวิจัย
9.1 จากการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษา สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ทั้ง 5 ด้าน สรุปผลการวิเคราะห์และอภิปรายผลดังต่อไปนี้
9.1.1ด้านสภาพแวดล้อมทางสังคม จากผลการวิจัย พบว่า นักศึกษามีระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับปานกลาง แสดงว่า การจัดสภาพแวดล้อมทางสังคมไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังของนักศึกษาได้เท่าที่ควร จากข้อถามรายข้อจะเห็นได้ว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดอยู่ในระดับความพึงพอใจมาก คือ อุปสรรคการเดินทางมาเรียน เนื่องจากนักศึกษาส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัดจะต้องพักอาศัยอยู่ในหอพักเอกชนภายนอกมหาวิทยาลัย สำหรับข้อที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับความคิดเห็นปานกลาง คือ ปัญหาจากเพื่อนข้างห้อง และปัญหาจากสภาพแวดล้อมของที่พักอาศัย ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลกระทบต่อการเรียนของนักศึกษา สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม
9.1.2ด้านพฤติกรรมทางการเรียน จากผลการวิจัย พบว่า โดยรวมนักศึกษามีระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับปานกลาง แสดงว่า พฤติกรรมทางการเรียนของนักศึกษา ไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังของนักศึกษาได้เท่าที่ควร คือ นักศึกษามีพฤติกรรมทางการเรียนที่ไม่เหมาะสม มีการพูดคุยกันกับเพื่อนในชั้นเรียนขณะอาจารย์สอน เผลอนั่งหลับขณะเรียนติดตามบทเรียนในห้องเรียนไม่ทัน ไม่สนใจเรียนเมื่ออาจารย์สอนเกินเวลา มีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานเป็นกลุ่ม ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีวิชาเรียนที่ยังเรียนไม่ทันตามโปรแกรมการเรียนที่สาขาวิชาจัดให้ได้ครบทุกวิชา ส่งผลให้โอกาสในการสำเร็จการศึกษาในระยะเวลาที่หลักสูตรกำหนด มีน้อย ส่วนข้อถามที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดอยู่ในระดับความพึงพอใจมาก คือ ปัญหาเกี่ยวกับการทำงานเป็นกลุ่ม เมื่อมีงานกลุ่มเพื่อนๆ มักจะชวนนักศึกษาเข้ากลุ่มด้วยเสมอ นำตำราอุปกรณ์การเรียนมาครบทุกวิชา
9.1.3ด้านเจตคติที่มีต่ออาจารย์ผู้สอนและสถานศึกษา จากผลการวิจัย พบว่าโดยรวมนักศึกษามีระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก แสดงว่า นักศึกษามีเจตคติที่ดีต่ออาจารย์ผู้สอนและสถานศึกษา จากข้อถามรายข้อ เห็นได้ว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด มีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก คือ มีความตั้งใจสอนและเลือกใช้สื่อการสอนสอดคล้องกับเนื้อหาวิชา มีความเชี่ยวชาญในเนื้อหาวิชาที่สอนเป็นอย่างดี การเอาใจใส่นักศึกษาขณะสอนในชั้นเรียนอย่างทั่วถึงการกำหนดปริมาณเนื้อหา วิชากับเวลาที่เรียนมีความเหมาะสม เกณฑ์การวัดผลการสอบของอาจารย์ชัดเจน เปิดโอกาสให้ซักถามอย่างอิสระและสนใจตอบข้อถามของนักศึกษาได้ชัดเจนห้องเรียนมีขนาดเหมาะสม มีสิ่งอำนวยความสะดวกในห้องเรียนเพียงพอ และมีบุคลากรที่มีความรู้สามารถให้คำแนะนำการทำการทดลอง ส่วนข้อถามที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด มีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง คือ มีการสร้างแรงจูงใจกระตุ้นให้นักศึกษาอยากจะรู้ในเรื่องที่จะเรียนก่อน มีอุปกรณ์เครื่องมือในการปฏิบัติงานอย่างเพียงพอ อุปกรณ์เครื่องมือในห้องปฏิบัติการมีความทันสมัย เครื่องมือในห้องปฏิบัติการจัดไว้เป็นสัดส่วนไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน และการเบิกจ่ายวัสดุเครื่องมือ ทำได้รวดเร็วสามารถปฏิบัติงานได้เสร็จทันกำหนด แต่เนื่องจากอุปกรณ์เครื่องมือที่มีอยู่อย่างจำกัด เริ่มมีการชำรุดเสียหายจากการใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน เครื่องมือเริ่มไม่ทันสมัยและมีไม่ครบตามเนื้อหาทฤษฎีของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปซึ่งเครื่องมือที่มีความทันสมัยต้องใช้งบประมาณในการจัดซื้อค่อนข้างมาก แต่งบประมาณที่ได้รับมีอยู่อย่างจำกัด จึงทำให้เครื่องมือไม่เพียงพอกับจำนวนนักศึกษา การขอเบิกใช้เครื่องมือนอกเวลาเรียนทำได้ลำบากเพราะเครื่องมือบางชนิดจะต้องถูกใช้งานในห้องปฏิบัติการช่วงเวลาที่มีการเรียนการสอนในรายวิชาอื่นอีก และการเบิกจ่ายวัสดุ/เครื่องมือ บางชนิดต้องขอเบิกจากแผนกพัสดุ ทำให้เกิดความล่าช้าในการเบิก
9.1.4ด้านความสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อนและเพื่อนต่างเพศ จากผลการวิจัย พบว่าโดยรวมนักศึกษามีระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก แสดงว่า นักศึกษามีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มเพื่อนและเพื่อนต่างเพศ จากข้อถามรายข้อ เห็นได้ว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดอยู่ในระดับความพึงพอใจมากที่สุด คือ นักศึกษามีเพื่อนสนิทที่สามารถปรึกษาเรื่องการเรียน ส่วนข้อถามที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด อยู่ในระดับความพึงพอใจมาก คือ นักศึกษามีเพื่อนสนิทที่สามารถปรึกษาเรื่องส่วนตัว นักศึกษารู้สึกเป็นที่ยอมรับของเพื่อน นักศึกษาต้องทำตามความเห็นส่วนใหญ่ของกลุ่มแม้ว่าตนเองจะไม่เห็นด้วยก็ตาม และมีปัญหากับเพื่อนพิเศษที่เป็นเพศตรงข้าม
9.1.5ด้านการใช้เวลาว่าง จากผลการวิจัย พบว่า โดยรวมนักศึกษามีระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับปานกลาง แสดงว่า การใช้เวลาว่างของนักศึกษาไม่เหมาะสมเท่าที่ควร จากข้อถามรายข้อจะเห็นได้ว่า ข้อถามที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับความพึงพอใจปานกลาง คือ ทำงานที่ได้รับมอบหมายส่งอาจารย์ ทบทวนความรู้ที่ได้เรียนมาแล้วในชั้นเรียน อ่านหนังสือและจดบันทึกย่อเรื่องที่จะเรียนล่วงหน้า ฝึกทำแบบทดสอบทักษะเพิ่มพูนความรู้ หาข้อมูลเพิ่มเติมความรู้ในห้องสมุด ขอคำปรึกษาจากอาจารย์เพื่ออธิบายเนื้อหาที่ไม่เข้าใจ ข้อถามข้างต้นล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่นักศึกษาจะต้องกระทำให้มาก ส่วนข้อถามที่มีค่าเฉลี่ยมากอยู่ในระดับความพึงพอใจมาก คือการเข้าร่วมกิจกรรมที่ทางคณะฯ/มหาวิทยาลัย ขอความร่วมมือ และติวหนังสือร่วมกับเพื่อน
9.2ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาทั้ง 5 ด้าน พบว่า
9.2.1นักศึกษาที่มีระดับเกรดเฉลี่ยแตกต่างกันมีความคิดเห็นต่อปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แตกต่างกัน 1 ด้าน ได้แก่ด้านพฤติกรรมทางการเรียน ส่วนอีก 4 ด้านพบว่า มีความคิดเห็นต่อปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ไม่แตกต่างกัน
9.2.2นักศึกษาที่มีระดับชั้นปีแตกต่างกันมีความคิดเห็นต่อปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้ง 5 ด้าน ไม่แตกต่างกัน
9.3ผลการเปรียบเทียบความแตกต่างของความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาที่มีระดับเกรดเฉลี่ยแตกต่างกันเป็นรายคู่ พบว่า นักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ย3.01-3.50 มีความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมากกว่านักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ย 2.01-2.50 และนักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ย 1.51-2.00 จะเห็นได้จากการที่มีผลการเรียนดีจะมีความตึงเครียดในด้านต่างๆ น้อยลง ซึ่ง Morse (1958) ได้ให้ความหมายของความพึงพอใจว่า สิ่งใดก็ตามที่สามารถลดความตึงเครียดของมนุษย์ให้น้อยลง และความตึงเครียดนี้เป็นผลจากความต้องการที่ได้รับการตอบสนอง ความตึงเครียดจะน้อยลงหรือหมดไป ทำให้เกิดความพึงพอใจขึ้นได้ซึ่งผู้ที่มีผลการเรียนดีจะมีความรู้สึกว่าได้รับการตอบสนองหรือความพึงพอใจมากกว่านักศึกษาที่มีผลการเรียนไม่ดีนั่นเอง
10. เอกสารอ้างอิง
[1]ชัยวัฒน์ แน่นอุดร. “การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนระดับประกาศนียบัตร วิชาชีพ สาขาช่างไฟฟ้าตามความคิดเห็นของนักเรียน ครู และผู้บริหารกรณีศึกษาโรงเรียนเกษมโปลีเทคนิค”. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, 2547
[2]ดวงกมล มาลารัตน์. “การศึกษาความสัมพันธ์ ระหว่างองค์ประกอบทางด้านที่ไม่ใช่สติปัญญากับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนนายเรืออากาศ”. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต.บัณฑิตวิทยาลัย. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2534.
[3]เติมศักดิ์ คทวณิช. “ตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเรียนและวิธีเผชิญปัญหาทางการเรียนของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพ”. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2540.
[4]ทัศนีย์ ศิริวัฒน์. “การศึกษาปัญหาของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง”. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย. มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2533.
[5]บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์. รวมบทความ การวิจัย การวัดและประเมินผล. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ศรีอนันต์, 2543.
[6]ปาริชาติ อุตตมะบูรณ. “การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนของนักศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สถาบันราชภัฏกลุ่มรัตนโกสินทร์”.วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, 2542.
[7]พรนภา บรรจงกาลกุล. “การวิเคราะห์จำแนกปัจจัยที่เกี่ยวกับการเรียนของกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงและต่ำ ในสถาบันผลิตครู สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย”. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539.
[8]พิชัย เพ่งพันธ์พัฒน์. “ปัญหาการเรียนการสอนวิชาช่างอุตสาหกรรมของแผนกช่างไฟฟ้ากำลังระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ของวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา”. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ,2529.
[9]มันทนา เพ็งนู. “พฤติกรรมกล้าแสดงออกของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในเขตการศึกษา 5”. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร, 2522.
[10]ล้วน สายยศ และอังคณา สายยศ. เทคนิคการวิจัยทางการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สุวีริยาสาส์น, 2538.
[11]ศรัญญา สุทธิมาลา. “การศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม สาขาวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ สังกัดกรมอาชีวศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล”.วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, 2542.
[12]Bloom, Benjamin S. and Others. Handbook on Formative and Summative Evaluation of Student Learning. NewYork : McGraw-Hill, Inc., 1971.
[13]Morse, Nancy C. “Satisfaction in the White Collar Job.” Michigan : University of Michigan Press, 1958.
[14] Norman E. Gronlund. Measurement and Evaluation in Teaching. 5th ed. NewYork : Macmillan, 1985.

โครงการวิจัยเรื่อง “ปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษา
สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร”
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
(Executive Summary)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เป็นสถาบันการศึกษาที่ผลิตครูช่างอุตสาหกรรม มีระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อทั้งโดยวิธีโควตา และการสอบตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิต (วิศวกรรมคอมพิวเตอร์) ที่มีการเรียนการสอนที่ ศูนย์เทเวศร์ มีการเปิด 6 สาขาวิชา มีสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา ในแต่ละปีการศึกษามีผู้สำเร็จการศึกษาตามระยะเวลาหลักสูตรกำหนด 3 ปี และ 5 ปี แต่ก็มีจำนวนนักศึกษาในรุ่นเดียวกันที่ไม่สามารถจบได้ตามกำหนด ทำให้มีนักศึกษาตกค้างเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง และนักศึกษากลุ่มนี้มักมีปัญหาเรื่องผลการเรียนซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความสามารถในการศึกษาได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนด ก็จะพ้นสภาพการเป็นนักศึกษาของสถาบันการศึกษานั้นๆ ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเปล่าทางการศึกษา
การศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจึงเป็นวัตถุประสงค์หลักในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ โดยผู้วิจัยมุ่งที่จะศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยใน 5 ด้าน คือ ด้านสภาพแวดล้อมทางสังคม ด้านพฤติกรรมทางการเรียน ด้านเจตคติที่มีต่ออาจารย์ผู้สอนและสถานศึกษา ด้านความสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อนและเพื่อนต่างเพศ และด้านการใช้เวลาว่าง สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้ใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS เพื่อหาค่าสถิติพื้นฐาน และการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว (One – Way Analysis of Variance)
ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาทั้ง 5 ด้าน พบว่า นักศึกษาที่มีระดับเกรดเฉลี่ยแตกต่างกันจะมีความคิดเห็นต่อปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แตกต่างกัน 1 ด้าน คือ ด้านพฤติกรรมทางการเรียน ส่วนอีก 4 ด้าน พบว่า มีความคิดเห็นต่อปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และเมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างเป็นรายคู่ด้วยวิธีของ Sheffe พบว่า นักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ย 3.01 – 3.50 มีความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมากกว่านักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ย 2.01 – 2.50 และ 1.50 – 2.00 การศึกษาวิจัยยังพบว่า ความก้าวหน้าเชิงเทคโนโลยี ส่งผลกระทบให้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการเริ่มมีความล้าสมัย และเริ่มชำรุดเนื่องจากมีอายุการใช้งานมานาน