Daily Archives: September 17, 2013

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ “เชนร้านอาหารเติบโต …อาหารสัญชาติเอเชียยังเป็นดาวรุ่ง”
qqqqq2

ประเด็นสำคัญ
• ตลาดร้านอาหารที่เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหารมีแนวโน้มเติบโต จากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนไทย การขยายสาขาร้านอาหาร การเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นรายใหม่ และการจัดโปรโมชั่นร่วมกับพันธมิตร โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ในปี 2556 นี้ ตลาดร้านอาหารที่เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหาร จะมีมูลค่า 97,431 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 14 จากปี 2555 โดยร้านอาหารประเภทไก่และเบอร์เกอร์, สุกี้และชาบู, และอาหารญี่ปุ่น ยังคงมีมูลค่าตลาดในสัดส่วนที่สูงเป็นสามลำดับแรก
• ร้านอาหารสัญชาติเอเชีย ได้แก่ ร้านอาหารไทย ร้านสุกี้และชาบู ร้านอาหารปิ้งย่าง และร้านอาหารญี่ปุ่น มีอัตราการเติบโตสูงกว่าร้านอาหารประเภทอื่น เนื่องจากกระแสความนิยมรับประทานอาหารสัญชาติเอเชีย และกลยุทธ์การตลาดของผู้ประกอบการ

อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ธุรกิจอาหารจึงเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าตลาดในระดับสูงมาก โดยนอกจากจะมีธุรกิจผลิตอาหารซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงแล้ว ยังมีธุรกิจบริการที่สามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ คาเฟ่ บาร์ ร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด การบริการจัดส่ง การซื้อกลับบ้าน ร้านอาหารที่บริการด้วยตนเอง และเคาน์เตอร์วางสินค้า (Kios) โดยประกอบไปด้วยผู้ให้บริการจำนวนมาก ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ

ในปี 2555 มีผู้ประกอบการร้านอาหารในประเทศไทยรวม 61,760 ราย โดยเป็นผู้ประกอบการร้านอาหารที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในกลุ่มภัตตาคาร ร้านขายอาหาร และเครื่องดื่ม ที่ยังคงมีสถานะดำเนินกิจการรวม 6,933 ราย (ลดลงจากปี 2553 และปี 2554 ที่มีจำนวนรวม 7,907 ราย และ 7,099 ตามลำดับ) ซึ่งเป็นการจดทะเบียนในรูปแบบบริษัทจำกัด 6,002 ราย และเป็นการจดทะเบียนในรูปแบบอื่นๆ ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล บริษัทมหาชนจำกัด หอการค้า และสมาคมการค้า รวมกัน 931 ราย

แม้ว่าจำนวนผู้ประกอบการร้านอาหารในกลุ่มภัตตาคาร ร้านขายอาหาร และเครื่องดื่ม ที่ยังคงมีสถานะดำเนินกิจการจะมีแนวโน้มลดลงจากในอดีต อันเนื่องมาจากการแข่งขันในตลาดที่ค่อนข้างรุนแรงจากการขยายตัวของร้านอาหารที่เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหาร ทั้งในรูปแบบการขยายการลงทุนเอง และการขายแฟรนไชส์ แต่เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ประกอบการที่มีการจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ กลับพบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 919 รายในปี 2553 ไปสู่ 1,169 รายในปี 2555 ข้อมูลดังกล่าวได้บ่งชี้ให้เห็นถึงความน่าสนใจในการประกอบธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย ที่ยังคงมีผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

วิถีชีวิตคนไทย และการแข่งขันของร้านอาหาร เป็นปัจจัยหนุนให้ตลาดร้านอาหารที่เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหารมีแนวโน้มเติบโต

จากการที่ธุรกิจอาหารมีมูลค่าตลาดอยู่ในระดับสูงมาก จึงส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจบริการเกี่ยวกับอาหาร (Consumer Foodservice) มีมูลค่าตลาดสูงมากตามไปด้วย ทั้งนี้ สามารถจำแนกธุรกิจบริการเกี่ยวกับอาหารในประเทศไทยตามกลุ่มผู้ให้บริการได้เป็นสองกลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจบริการด้านอาหารทั่วไปที่ไม่ได้เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหาร (Independent Consumer Foodservice) และธุรกิจบริการด้านอาหารที่เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหาร (Chained Consumer Foodservice) ทั้งนี้ ผลการสำรวจของ Euromonitor International ได้ระบุว่า ในปี 2555 คนไทยมีค่าใช้จ่ายบริการด้านอาหารกับผู้ให้บริการทั่วไปที่ไม่ได้เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหาร เฉลี่ย 7,481 บาทต่อคน ลดลงร้อยละ 3.3 จากปี 2550 ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายบริการด้านอาหารกับผู้ให้บริการที่เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหาร เฉลี่ย 2,431 บาทต่อคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.7 จากปี 2550 ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเลือกใช้จ่ายบริการด้านอาหารของคนไทย ที่มีแนวโน้มเลือกใช้จ่ายกับผู้ให้บริการที่เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหารมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าตลาดธุรกิจบริการด้านอาหารที่เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหารมีแนวโน้มเติบโต

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลในส่วนของธุรกิจแฟรนไชส์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในปี 2555 มีธุรกิจที่ผ่านการพัฒนาเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์รวม 419 ราย ในจำนวนนี้เป็นธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มถึง 239 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 57 ของจำนวนธุรกิจที่ผ่านการพัฒนาเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ทั้งหมด ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมในการขยายธุรกิจบริการเกี่ยวกับอาหารในรูปแบบการขายแฟรนไชส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบผู้ให้บริการที่เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหาร เพื่อตอบโจทย์คนไทยที่นิยมเลือกใช้จ่ายบริการด้านอาหารกับผู้ให้บริการกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น

altศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ในปี 2556 ภาพรวมของตลาดธุรกิจบริการเกี่ยวกับอาหารจะมีมูลค่าประมาณ 669,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นมูลค่าตลาดธุรกิจบริการด้านอาหารทั่วไปที่ไม่ได้เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหาร 488,370 ล้านบาท และมูลค่าตลาดธุรกิจบริการด้านอาหารที่เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหาร 180,630 ล้านบาท โดยตลาดธุรกิจบริการด้านอาหารที่เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหารยังคงมีสัดส่วนมูลค่าตลาดใกล้เคียงกับอดีต คิดเป็นประมาณร้อยละ 27 ของมูลค่าตลาดธุรกิจบริการเกี่ยวกับอาหารโดยรวม

ทั้งนี้ ความน่าสนใจอยู่ที่ร้านอาหารที่เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหาร (Food Chain Restaurant) ที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางของธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 นี้ จะมีการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดอย่างคึกคัก เนื่องจากปัจจัยสนับสนุน ดังนี้

 การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนไทย: ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงขนาดครอบครัวจากครอบครัวขยายไปสู่ครอบครัวขนาดเล็ก การอาศัยอยู่คนเดียวมากขึ้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจจากกรุงเทพฯและจังหวัดที่เป็นหัวเมืองหลักไปสู่จังหวัดอื่นๆที่ก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมของความเป็นเมืองมากขึ้น รวมถึงการใช้ชีวิตของผู้คนที่เร่งรีบและมีข้อจำกัดในด้านเวลา ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิถีชีวิตในด้านการรับประทานอาหาร ที่คนไทยนิยมเลือกรับประทานอาหารที่ร้านอาหารมากกว่าการปรุงอาหารเอง เนื่องจากมีความสะดวกสบายและรวดเร็ว ประกอบกับการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทตามนโยบายรัฐบาล ได้ส่งผลให้ประชาชนในประเทศกลุ่มใหญ่มีรายได้มากขึ้น จึงมีทางเลือกในการรับประทานอาหารที่ร้านอาหารมากขึ้น ในขณะที่ร้านอาหารที่เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหาร มีจุดเด่นในด้านรสชาติอาหารและบริการที่มีมาตรฐาน ความสะอาดของอาหารและสถานที่ รวมถึงยังมีข้อได้เปรียบในด้านการตลาด จึงส่งผลให้ร้านอาหารที่เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหาร เป็นตัวเลือกลำดับต้นๆในการเลือกรับประทานอาหารของคนไทย

qqqqq1

 การขยายสาขาร้านอาหารที่เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหาร: การขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) ได้นำมาซึ่งการขยายตัวของสาขาห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ไปยังพื้นที่ที่มีศักยภาพ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวได้มีการวางตำแหน่งการแข่งขันของสถานที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ สถานที่พักผ่อน หรือแหล่งจับจ่ายใช้สอย ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญในการขยายธุรกิจสำหรับร้านอาหารที่เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหาร ที่จะสามารถขยายสาขาตามห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ทั้งในรูปแบบการขยายการลงทุนเอง และการขายแฟรนไชส์ เพื่อให้สามารถบริการลูกค้าได้อย่างครอบคลุมและสามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆได้มากขึ้น

 การเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นรายใหม่ที่เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหารของต่างชาติ: ความนิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของรายได้ของคนไทย ได้ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นแหล่งดึงดูดเครือข่ายธุรกิจอาหารที่เป็นของต่างชาติให้เข้ามาเปิดบริการร้านอาหารแข่งขันกับร้านอาหารที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน เพื่อเป็นตัวเลือกใหม่ๆสำหรับคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครือข่ายธุรกิจอาหารจากประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่นอกจากการมุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าคนไทยแล้ว ยังได้ใช้จุดแข็ง ทั้งในด้านชื่อเสียงของแบรนด์ ประสบการณ์ด้านการประกอบธุรกิจร้านอาหารในหลากหลายประเทศ และความพร้อมด้านเงินทุน มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทยควบคู่กันไป เนื่องจากเล็งเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นแหล่งรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งนี้ นอกจากร้านอาหารที่เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหารของต่างชาติจะมีการเข้าสู่ตลาดประเทศไทยในรูปแบบการขยายการลงทุนเองแล้ว ยังมีการเข้าสู่ตลาดประเทศไทยในรูปแบบการขายแฟรนไชส์ ซึ่งสามารถขยายสาขาและสร้างการรับรู้ในแบรนด์ได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การแข่งขันของผู้ให้บริการร้านอาหารยิ่งมีความคึกคักมากขึ้น

 การจัดโปรโมชั่นร่วมกับองค์กรพันธมิตร: โดยส่วนใหญ่แล้ว ร้านอาหารที่เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหารจะสร้างความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความร่วมมือกับสถาบันการเงินในการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ที่มีการสะสมแต้ม การให้ส่วนลด คืนเงิน หรือการผ่อนชำระโดยไม่เสียดอกเบี้ย การจัดโปรโมชั่นในรูปแบบดังกล่าว เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้คนไทยนิยมรับประทานอาหารในร้านอาหารที่เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหารยิ่งขึ้น

จากปัจจัยสนับสนุนทั้งในด้านการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนไทย การขยายสาขาร้านอาหารที่เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหาร การเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นรายใหม่ที่เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหารของต่างชาติ และการจัดโปรโมชั่นร่วมกับองค์กรพันธมิตร ได้ส่งผลให้มูลค่าตลาดร้านอาหารที่เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหารมีแนวโน้มเติบโตขึ้น โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ในปี 2556 นี้ มูลค่าตลาดร้านอาหารที่เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหาร จะมีมูลค่า 97,431 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 14 จากปี 2555 ที่มีมูลค่าตลาด 85,466 ล้านบาท โดยร้านอาหารประเภทไก่และเบอร์เกอร์, สุกี้และชาบู, และอาหารญี่ปุ่น ยังคงมีมูลค่าตลาดในสัดส่วนที่สูงในสามลำดับแรก คิดเป็นมูลค่าตลาดรวมกันประมาณร้อยละ 60 ของมูลค่าตลาดร้านอาหารที่เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหารโดยรวม
กระแสความนิยม และการตลาดของผู้ประกอบการ ดันร้านอาหารสัญชาติเอเชียเติบโตสูง

เมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตของมูลค่าตลาดร้านอาหารที่เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหาร ในปี 2556 พบว่า ประเภทร้านอาหารที่มีอัตราการเติบโตสูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ย ได้แก่ ร้านอาหารไทย (เติบโตร้อยละ 15) ร้านสุกี้และชาบู (เติบโตร้อยละ 15) ร้านอาหารปิ้งย่าง (เติบโตร้อยละ 16) และร้านอาหารญี่ปุ่น (เติบโตร้อยละ 20) ซึ่งร้านอาหารดังกล่าวล้วนแล้วแต่เป็นร้านอาหารสัญชาติเอเชีย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัจจัยที่สนับสนุนให้ร้านอาหารสัญชาติเอเชียมีอัตราการเติบโตของมูลค่าตลาดสูงกว่าร้านอาหารประเภทอื่น มีดังนี้

 กระแสความนิยมรับประทานอาหารสัญชาติเอเชีย: ความนิยมในการรับประทานอาหารของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยในอดีต กระแสความนิยมรับประทานอาหารจากประเทศแถบตะวันตกเป็นที่แพร่หลาย แต่ปัจจุบัน คนไทยมีทางเลือกในการรับประทานอาหารที่หลากหลายมากขึ้นกว่าในอดีต โดยมีแนวโน้มความนิยมรับประทานอาหารสัญชาติเอเชียมากขึ้น เนื่องจาก อาหารสัญชาติเอเชียมีภาพลักษณ์ในการเป็นอาหารที่มีวิธีการปรุงอย่างพิถีพิถัน อีกทั้งยังมีรสชาติกลมกล่อม อร่อยถูกปากคนไทย สามารถรับประทานร่วมกันได้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ตลาดร้านอาหารสัญชาติเอเชียเติบโต

 กลยุทธ์การตลาดของผู้ประกอบการ: ผู้ให้บริการร้านอาหารสัญชาติเอเชียที่เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหารล้วนแต่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการประกอบธุรกิจ โดยใช้กลยุทธ์การขยายธุรกิจผ่านการขยายสาขาเพื่อให้สามารถบริการลูกค้าได้อย่างกว้างขวางและสามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆได้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการขยายแบรนด์ออกมาเป็นแบรนด์ย่อย เพื่อเจาะจงกลุ่มลูกค้าอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ครอบคลุมถึงวัยรุ่น วัยทำงาน และครอบครัว โดยมีการชูจุดแข็งที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นความรวดเร็วในการให้บริการ ราคาที่เหมาะสม คุณภาพและความหลากหลายของอาหาร ซึ่งให้บริการอาหารทั้งในรูปแบบอาหารจานเดี่ยว (A La Carte) อาหารชุด และบุฟเฟต์ อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในหลากหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น การจัดโปรโมชั่นร่วมกับบัตรเครดิต การกำหนดช่วงเวลาในการลดราคา การมอบส่วนลดหรืออาหารพิเศษเมื่อรับประทานอาหารครบตามมูลค่าที่กำหนด การจัดเมนูอาหารพิเศษที่ใช้วัตถุดิบระดับ Premium เป็นต้น จึงส่งผลให้สามารถจูงใจคนไทยให้เลือกรับประทานอาหารที่ร้านอาหารสัญชาติเอเชียที่เป็นเครือข่ายธุรกิจอาหารได้