คาร์บอนเครดิต รายได้ใหม่ของไทย

คาร์บอนเครดิต รายได้ใหม่ของไทย

 

“คาร์บอนเครดิต” เป็นเรื่องใหม่สำหรับบ้านเรา หลายคนได้ยินชื่อแล้วอาจงุนงง ก็เหมือนกับตอนที่เรา ได้ยินคำว่า ISO ใหม่ๆนั่นแหละความจริงแล้วคำนี้แยกเป็นสองคำ คือ คำว่า “คาร์บอน” หมายถึงปริมาณก๊าซ ที่เราปล่อยขึ้นไปในอากาศ และทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ก๊าซมีเทน ส่วน“เครดิต” คือความรับผิดชอบ ความน่าเชื่อถือ การทำ “คาร์บอนเครดิต” ก็คือการมีความรับผิดชอบในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นในในอากาศว่าจะไม่มีปริมาณมากเกินไปจนก่อปัญหากับโลกใบนี้นั่นเอง หรือภาษาทางการเรียกว่า “การดำเนินกลไกการพัฒนาที่สะอาด” เรียกเป็นภาษาอังกฤษสั้นๆว่า CDM (Clean Development Mechanism) แนวคิดนี้เกิดขึ้นในการประชุมของประเทศมาชิกอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC โดยมีการประชุมที่กรุงเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น จึงเรียกข้อตกลงในการประชุมครั้งนั้นว่า “ข้อตกลงในพิธีสารเกียวโต” โดยข้อตกลงดังกล่าวระบุว่าให้ประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินอัตรา ลดการปล่อยก๊าซลง หากไม่สามารถกระทำได้ต้องจ่ายค่าปรับตามจำนวนที่ปล่อยเกิน ยกตัวอย่างเช่น กำหนดให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงปีละ 10 ล้านตัน แต่โรงงานอุตสาหกรรมในประเทศนั้นๆสามารถลดการปล่อยก๊าซได้เพียง 5 ล้านตัน ส่วนที่ลดไม่ได้จะต้องโดนปรับตันละ 500 บาท อย่างไรก็ตาม ยังมีทางออกให้กับโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเกินกำหนดไปซื้อ “คาร์บอนเครดิต” จากประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่ากำหนดได้ เช่น ประเทศที่มีการปลูกป่ามาก มีการใช้พลังงานทดแทนมาก และมีโรงงานอุตสาหกรรมน้อย ซึ่งประเทศเหล่านี้นอกจากจะไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าข้อกำหนดแล้ว ยังสามารถลดการปล่อยก๊าซได้อย่างต่อเนื่อง โรงงานอุตสาหกรรมในประเทศที่โดนปรับก็จะมาซื้อ “คาร์บอนเครดิต” จากประเทศเหล่านี้ในราคาที่ถูกกว่าค่าปรับ เช่น ราคาตันละ 200 บาท เป็นต้น ความจริงแล้วโรงงานอุตสาหกรรมที่โดนปรับในฐานะที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกำหนด นอกจากจะเสียค่าปรับแล้ว ยังเสียเครดิตในทางการค้าอีกด้วย เพราะสินค้าจากโรงงานเหล่านี้จะไม่สามารถส่งไปขายในประเทศที่เข้าร่วมข้อตกลงในพิธีสารเกียวโตได้ เพราะฉะนั้นทุกโรงงานจึงพยายามสร้างเดรดิตด้วยการผลิตสินค้าใช้วัสดุที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม มีเทคโลยีการผลิตที่สะอาด ลดการใช้พลังงานในรูปแบบต่างๆ ดังที่เราเริ่มเห็นคำว่า “Green” แปะอยู่บนสินค้าประเภทต่างๆ หรือการเปลี่ยนการใช้ถุงพลาสติกมาใช้ถุงผ้าก็เป็นการสร้าง “คาร์บอนเครดิต” ชนิดหนึ่ง กิจการใดที่ไม่รักษาสภาพแวดล้อม ไม่มีเทคโนโลยีที่สะอาด ขาดประสิทธิภาพในการ จัดการกับสิ่งแวดล้อมที่ดี ทำให้ต้องปล่อยสารคาร์บอนออกมามากเกินไป จนทำให้เกิดมลพิษตามมาดังกล่าวข้างต้น กิจการนั้นจะต้องโดนค่าปรับจำนวนมหาศาลตามที่ตกลงกันไว้ เว้นแต่จะต้องไปหาคาร์บอนเครดิตมาชดเชย หลายโรงงานในบ้านเราเริ่มหันมาทำเรื่องนี้โดยมีเป้าหมายนอกจากการสร้างเครดิตให้กับตัวโรงงานเองแล้ว ยังสามารถขายเครดิตให้กับโรงงานในประเทศที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเกินกำหนดอีกด้วย ไม่ใช่เฉพาะโรงงานใหญ่ๆเท่านั้นที่ขายคาร์บอนเครดิตได้ ชาวบ้านทั่วไปก็ทำได้เหมือนกัน แต่อาจทำในรูปเครือข่าย อย่างเช่นกรณีที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (สวพ.มช.) ร่วมกับ ธนาคารโลก (World Bank) พัฒนาโครงการ CDM ขนาดเล็กสำหรับฟาร์มสุกรในประเทศไทย เพื่อนำกลไกการพัฒนาที่สะอาดมาใช้เพิ่มคุณค่าของพลังงานก๊าซชีวภาพ นำมูลสุกรไปผลิตเป็นแก๊สขี้หมู ก่อให้เกิดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนถึงปีละ 30 ล้านหน่วย สามารถทดแทนการนำเข้าน้ำมันดีเซลได้ปีละกว่า 9 ล้านลิตร โดยมีการลงนามเซ็นสัญญาซื้อขายคาร์บอนเครดิตจาก สวพ. มช.ไปเมื่อเร็วๆนี้ การดำเนินงานโครงการฯ ในระยะแรกมีฟาร์มสุกรทั่วประเทศเข้าร่วมจำนวน 36 ฟาร์ม คิดเป็นสุกรประมาณ 600,000 ตัว  ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมได้มากกว่าปีละ 240,000 ตัน ทำให้เกิดการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศจากการขายคาร์บอนเครดิตได้มากถึงปีละ 115 ล้านบาท นอกจากจะได้รับประโยชน์จากการขายคาร์บอนเครดิต ฟาร์มที่เข้าร่วมโครงการจะมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้วยังช่วยลดปัญหากลิ่นเหม็นและแมลงที่เป็นพาหะแพร่เชื้อโรคได้ รวมทั้งลดต้นทุนทางด้านพลังงาน โดยนำก๊าซชีวภาพมาใช้ประโยชน์เป็นพลังงานความร้อนหรือใช้ผลิตไฟฟ้าใช้ในฟาร์ม หากเหลือใช้ยังสามารถจำหน่ายให้กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้อีกด้วย ถือเป็นรายได้ใหม่ที่น่าสนใจจริงๆ!!! ขอบคุณ – (ผู้เขียน : จตุรงค์ กอบแก้ว)

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *