การแต่งงานข้ามวัฒนธรรม

สังคมไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การแต่งงานข้ามวัฒนธรรมหรือการแต่งงานข้ามชาติระหว่างหญิงไทยและชายชาวตะวัน ตกมีจำนวนมากขึ้นและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

มีงานวิจัยหลายเรื่องศึกษาถึงการแต่งงานของหญิงไทยในสังคมชนบททางภาคอีสานกับชายชาวตะวันตก ระบุถึงสาเหตุและแรงผลักดันว่าเกิดจากความยากจนและความผิดหวังในชีวิตสมรสกับชายชาวไทย

เมื่อไม่นานนี้มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดงานสัมมนาประจำปี ในหัวข้อ “อีสาน-ลาว-ขแมร์ศึกษา ในกรอบประชาคมอาเซียน” ที่มหาวิทยาลัยอุบล ราชธานี ภายในงานสัมมนา ดังกล่าวมีการจัดสัมมนาเรื่อง “การแต่งงานข้ามวัฒนธรรม (เขยฝรั่ง)”



ดร.ศิริจิต สุนันต๊ะ จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒน ธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงแนวคิดการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมว่า การแต่งงานข้ามชาติในภาคอีสานของไทยเรานั้นยังคงยึดชาติเป็นหลัก ทำให้มองไม่เห็นถึงพลวัตทั้งทางด้านความแตกต่าง ความขัดแย้ง ความไม่เท่าเทียมในด้านต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ที่อยู่ภายในชาติ

“ในประเทศไทยยังมีความไม่เท่าเทียมอยู่ โอกาสทางสังคมไม่เท่าเทียมกัน และคนชนบทชาวบ้านภาคอีสานรับรู้ได้ถึงความไม่เท่าเทียมนี้ เพราะโอกาสทางสังคมที่ด้อยกว่าคนในเมืองและคนกรุงเทพฯ เกิดเป็นแรงผลักดันที่อยากก้าวข้ามความไม่เท่าเทียมนี้ และอยากมีชีวิตที่ดีทั้งตัวเองและครอบครัว”

ดร.ศิริจิตกล่าวด้วยว่าเขยฝรั่งทำให้สังคมอีสานเปลี่ยนแปลงไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การแต่งงานแบบเอาลูกเขยเข้าบ้านและการยึด ญาติฝ่ายหญิงเป็นศูนย์กลางเป็นวิถีปฏิบัติท้องถิ่น ทำให้ชาวบ้านอีสานปัจจุบันเห็นเขยฝรั่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มและท้องถิ่นของครอบครัวและของชุมชน ในขณะที่ความรับผิดชอบของลูกสาวที่มีต่อพ่อแม่ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ผู้หญิงอีสานขวนขวายหาทางไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า

ด้าน ดร.พัชรินทร์ ลาภานันท์ จากสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหา วิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า อยากใช้คำว่า “การแต่งงานข้ามชาติ” แทนคำว่า “การแต่งงานข้ามวัฒนธรรม” เพราะต้องการให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์การแต่งงานระหว่างผู้หญิงอีสานหรือผู้หญิงไทยกับผู้ชายตะวันตกที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเพื่อสะท้อนว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวมีลักษณะที่เฉพาะและแตกต่างไปจากการแต่งงานระหว่างผู้หญิงไทยกับผู้ชายตะวันตกในอดีต

“ความแตกต่างที่สำคัญคือในอดีตผู้หญิงอีสานที่แต่งงานกับทหารจีไอเมื่อแต่งงานแล้วผู้หญิงส่วนใหญ่จะย้ายตามไปอยู่กับสามีไม่มีโอกาสกลับมาเยี่ยมบ้านแตกต่างจากผู้หญิงอีสานที่แต่งงานกับผู้ชายฝรั่งในยุคปัจจุบันถ้าเราไปตามสนามบินไม่ว่าจะเป็นจังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี จะเห็นชาวบ้านในหมู่บ้านไปรับเขยฝรั่งที่กลับมาเยี่ยมบ้านซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ”

ดร.พัชรินทร์กล่าวว่าพลวัตท้องถิ่นเป็นผลจากการแต่งงานข้ามชาตินั้นมีความซับซ้อนและครอบคลุมหลายมิติทั้งการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เศรษฐกิจที่ประจักษ์ชัดในเชิงโครงสร้าง ทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคมของชุมชน และความสัมพันธ์ของหญิงชายที่เชื่อมโยงกับพลวัตความสัมพันธ์เชิงอำนาจในท้องถิ่น



“การแต่งงานข้ามชาติไม่ได้เป็นเพียงช่องทางสู่การมีฐานะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นการทำความเข้าใจปรากฏการณ์นี้ต้องสะท้อนความหลากหลายของเงื่อนไขต่างๆและความซับซ้อนของผลที่เกิดขึ้นต่อชุมชนรวมทั้งการมองปรากฏการณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยน แปลงสังคมภายใต้การเผชิญหน้าของท้องถิ่นกับโลกาภิวัตน์ซึ่งท้าทายต่อเพศสภาวะ ชนชั้น และบรรทัดฐานของสังคม”

ขณะที่ ดร.อิทธิวัตร ศรีสมบัติ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ให้มุมมองว่าเหตุผลที่ผู้หญิงเลือกชาวต่างชาตินั้นแม้หลายคนอาจไม่เข้าใจว่าเป็นการเลือกในลักษณะทางเศรษฐกิจหรือเงินทองแต่ผู้หญิงเหล่านี้จะทำให้คนในหมู่บ้านรวมถึงตนเองเกิดการเรียนการใช้ชีวิตเรียนรู้ความอดทนเรียนรู้การวางแผนการใช้เงินและความรับผิดชอบ

“ผู้หญิงไทยที่ไปอยู่กับชาวต่างชาตินั้นไม่ได้เป็นเพียงแม่บ้านธรรมดาๆแต่ไปทำงานเพราะจริงๆ แล้วชาวต่างชาติไม่ได้ร่ำรวย ฝ่ายหญิงต่างหากที่ร่ำรวย เป็นเพราะค่าเงินที่แตกต่างกันทำให้มองดูว่าฐานะและเศรษฐกิจของฝรั่งนั้นรวยมากกว่าคนไทย” ดร.อิทธิวัตรกล่าว

ดร.จันทนี เจริญศรี คณะสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าการท่องเที่ยวของสามีฝรั่งจะใช้จ่ายในลักษณะที่ไม่ได้ใช้จ่ายในประเทศบ้านเกิดของเขา เวลามาเมืองไทยเขาอยากจะมีความสุข ให้มากที่สุด ซึ่งเชื่อมโยงกับภาพความเป็นไทยกับความเป็นเมืองท่องเที่ยวที่เป็นสวรรค์สำหรับชาวต่างชาติ

“สามีฝรั่งจำนวนมากมีโอกาสทางด้านเศรษฐกิจ มีหลายคู่ที่มาลงทุนทางธุรกิจในเมืองไทย เช่น ทำสวนยางพาราในภาคอีสาน ใช้แรงงานญาติของภรรยา โดยไม่ต้องทำอะไรนอกจากมีที่ดินและญาติภรรยา และยังเป็น ผู้อุปถัมภ์ญาติภรรยาอีกด้วย”

ดร.จันทนีกล่าวด้วยว่า ในเรื่องบ้านเกิดของภรรยากับภาพลักษณ์ความเป็นไทย สามีจำนวนมากบ่นว่าบ้านเกิดภรรยาไม่ใช่ตัวแทนภาพลักษณ์เมืองไทยอย่างที่เขารู้จักและรู้สึก ในขณะที่ภรรยาจะรบเร้าต้องการสร้างบ้านที่บ้านเกิดเพื่อจะได้อยู่ใกล้ญาติพ่อแม่พี่น้องและเครือข่ายความสัมพันธ์เดิมของตัวเอง

“แต่เมื่อถามสามีสามีจะบอกว่าที่บ้านเกิดภรรยาไม่มีอะไรเลยถ้าจะกลับไปอยู่เมืองไทยก็อยากไปอยู่ในเมืองท่องเที่ยว หรือใกล้ๆ ทะเลมากกว่า”

 

ที่มา : นสพ.ข่าวสด

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *