จับตาธุรกิจดาวรุ่งรับปีม้า

630

มา ถึงปี 2557 ธุรกิจไหนจะอยู่รอด ธุรกิจไหนจะต้องเฝ้าระวัง ผมเชื่อว่าผู้ประกอบการหลายท่านที่ทำธุรกิจก็คงเตรียมแผนสำรองกันไว้บ้างพอ สมควร เพราะตอนนี้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการอัพเดตสถานการณ์ต่าง ๆ ก็ไม่ได้ยากเหมือนเมื่อก่อน ในบทความครั้งนี้ ผมได้นำข้อมูลที่ประเมินทิศทางเศรษฐกิจในปีม้า หรือปี 2557 มาบอกเล่าให้ทุกท่านรู้เพื่อเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการรับมือทำธุรกิจได้มาก ขึ้น

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2557 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ออกเป็น 2 กรณี คือ หากมีการเลือกตั้งทั่วไปตามกำหนดในวันที่ 2 ก.พ. และมีรัฐบาลใหม่ที่เริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ภายในครึ่งปีแรก พร้อมกับมีมาตรการกระตุ้นการบริโภคและลงทุนชุดใหญ่ออกมา เชื่อว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ 4.5% แต่ถ้าไม่มีมาตรการกระตุ้น เชื่อว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ราว 3.7%

อย่างไรก็ดี กรณีเลวร้ายที่ความขัดแย้งทาง การเมืองยืดเยื้อเกิน 6 เดือน จะส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนในประเทศไม่มีการเติบโตเลย โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ที่ 0.5-2.5% ตามการขยายตัวของภาคการส่งออก

จากสถานการณ์ในข้างต้นประเมินว่าปี นี้จะมีธุรกิจดาวรุ่งที่มีโอกาสจะขยายตัว 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่ฟื้นตัวตามภาคการส่งออกไปยังคู่ค้าและตลาดที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่มสินค้ารถยนต์และส่วนประกอบ แม้ส่วนใหญ่จะมาจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่เป็นหลัก แต่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะสายการผลิตนี้ครอบคลุมหลายผลิตภัณฑ์/ชิ้นส่วน หากแนวโน้มการส่งออกรถยนต์ในภาพใหญ่มีทิศทางที่ดีขึ้น ก็ย่อมจะส่งผลบวกต่อผู้ประกอบการ SMEs ที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน

กลุ่มเครื่องประดับ เป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดในบรรดาสินค้าส่งออกทั้งหมดของไทย โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐ สหภาพยุโรป ฮ่องกง และกลุ่มอาเซียน กลุ่มสินค้าเคมีภัณฑ์ ได้แก่ สี ปุ๋ย และเครื่องสำอาง เป็นอีกกลุ่มที่มีแนวโน้มการเติบโตในเกณฑ์ดี และยังได้รับผลบวกจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ทำให้คาดว่าความต้องการสินค้าเคมีภัณฑ์จากไทยจะมีแนวโน้มได้รับการตอบรับที่ดี เนื่องจากสินค้าไทยได้รับการยอมรับในเรื่องของคุณภาพ

สุดท้ายกลุ่มสินค้าเกษตรและแปรรูปอาหาร ใน 20 อันดับสินค้าส่งออกที่ทำรายได้สูงสุด พบว่าสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารติดอันดับถึง 9 รายการ ได้แก่ ยางและของทำด้วยยาง น้ำตาลและขนมทำจากน้ำตาล ธัญพืช ของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลา สัตว์น้ำ พืชผัก รวมทั้งรากและหัวบางชนิดที่บริโภคได้ ของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ ปลา สัตว์น้ำ และของปรุงแต่งทำจากพืชผัก ผลไม้ ลูกนัต หากการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้มีทิศทางที่สดใสมากขึ้น ผู้ประกอบการ SMEs ก็น่าจะได้รับอานิสงส์ตามไปด้วยเช่นกัน

คราวนี้ลองมาดู กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่มีจุดแข็งทางธุรกิจ หรือมีความสามารถในการแข่งขัน คือ ภาคการท่องเที่ยวและบริการด้านสุขภาพ ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการไทยมีความสามารถในการแข่งขัน เพราะประเทศไทยมีจุดแข็งและได้รับการยอมรับจากต่างชาติในเรื่องของคุณภาพ และราคาที่คุ้มค่า ทั้งการเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพแห่งเอเชีย หรือ Medical Hub of Asia ที่ไม่ด้อยกว่า สิงคโปร์และมาเลเซีย

ในทางตรงกันข้าม ก็มีธุรกิจที่เฝ้าระวัง เพราะอาจประสบกับความลำบากในการปรับตัวมากขึ้น ได้แก่ กลุ่มที่พึ่งพาแรงงานเป็นจำนวนมาก หรือมีความยืดหยุ่นน้อยในการบริหารจัดการต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งค่าจ้างแรงงาน ค่าไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และค่าขนส่ง รวมถึงโจทย์สำคัญที่รอท้าทายในระยะยาว คงไม่พ้นเรื่องความสามารถทางการแข่งขันในหลาย ๆ สินค้าของไทยกับประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะเมื่อการค้าการลงทุนในโลกกำลังเปิดกว้างและเชื่อมโยงกันมากขึ้นในปี 2558

ดังนั้นแนวทางการปรับตัวและรับมือสำหรับ SMEs ภาคการส่งออกจะต้องแสวงหาแหล่งวัตถุดิบทดแทน การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต การหาตลาดที่มีศักยภาพ และพยายามสร้างโอกาสทางธุรกิจผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมทั้งพยายามสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง ส่วนในกลุ่มภาคการท่องเที่ยวจะต้องเน้นเรื่องคุณภาพ การบริการด้วยใจ ราคาต้องสมเหตุสมผล ต้องพัฒนาความรู้ความสามารถในเรื่องภาษาให้กับบุคลากร และต้องดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย หากผู้ประกอบการยิ่งรู้จักปรับตัวก็ยิ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้กับธุรกิจได้มาก ขึ้นได้ครับ

โดย พัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *