จริยธรรมทางธุรกิจของเจ้าของกิจการอาหารทะเล

จริยธรรมทางธุรกิจของเจ้าของกิจการอาหารทะเล  (Business Ethics of Seafood–Business Owner)


บริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอาหารทะเลนั้น ควรมีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความชอบธรรมและมุ่งมั่นสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้นรวมถึงการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม ซึ่งบริษัทนั้นต้องกำหนดให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการ ผู้บริหารและพนักงานทุกคน จะต้องรับทราบและปฏิบัติตามนโยบายและข้อปฏิบัติที่กำหนดไว้ในคู่มือจริยธรรมธุรกิจนี้อย่างเคร่งครัด เพื่อบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจและเพื่อประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย ผู้ถือหุ้นและสังคม

คำจำกัดความ

จริยธรรมธุรกิจ หมายถึง คุณความดี ความยุติธรรมและความถูกต้อง ที่เป็นข้อพึงปฏิบัติสำหรับการประกอบธุรกิจแนวทางปฏิบัติ คือ แนวทางการกระทำเพื่อรักษาไว้ซึ่งและส่งเสริมเกียรติคุณและชื่อเสียง

 

หลักจริยธรรมธุรกิจและจรรยาบรรณของบริษัท

1. ความซื่อสัตย์ (Honesty)
ผู้บริหารควรมีความซื่อสัตย์สุจริตต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องและไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดโดยเจตนาหรือหลอกลวงผู้อื่นโดยการบิดเบือนสารสนเทศ พูดเกินความจริง พูดความจริงบางส่วน เลือกปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หรือโดยวิธีการอื่นๆ

 

2. คุณธรรม (Integrity)
ผู้บริหารควรแสดงออกถึงคุณธรรมของตนและมีความกล้าที่จะทำตามสิ่งที่ตนเองเชื่อโดยกระทำในสิ่งที่ตนคิดว่าถูกต้อง ถึงแม้ว่าจะมีแรงกดดันให้ทำตรงกันข้าม เป็นคนที่ยึดมั่นในหลักการ น่าเคารพนับถือ และมีความเที่ยงธรรม ผู้บริหารควรต่อสู้เพื่อความเชื่อของตนและไม่ยอมละทิ้งหลักการเพื่อวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่งจนกลายเป็นคนหลอกลวงหรือไม่มีคุณธรรม

 

3. ความน่าเชื่อถือไว้วางใจ (Trust Worthiness)
ผู้บริหารควรเปิดเผยและจัดหาสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง และแก้ไขความเข้าใจผิดจากข้อเท็จจริง ผู้บริหารควรพยายามในวิถีทางที่เหมาะสมเพื่อให้บรรลุคำมั่นสัญญาของตนและผู้บริหารไม่ควรใช้เครื่องมือที่มีอยู่ในทางที่ไม่ถูกต้องและใช้การตีความทางกฎหมายที่ไม่เหมาะสมใช้เป็นเหตุผลที่จะไม่ให้ความร่วมมือหรือหลีกเลี่ยงข้อตกลงที่วางไว้

 

4. ความจงรักภักดี (Loyalty)
ผู้บริหารควรแสดงความจงรักภักดีต่อบริษัทโดยการช่วยเหลือและอุทิศตนต่อหน้าที่ ผู้บริหารไม่ควรใช้หรือเปิดเผยสารสนเทศที่เป็นความลับเพื่อความได้เปรียบส่วนบุคคล แต่ควรดำรงไว้ซึ่งความสามารถในการตัดสินใจอย่างมืออาชีพที่เป็นอิสระโดยหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่เหมาะสมและความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และมีความซื่อสัตย์ต่อบริษัทและผู้ร่วมงาน นอกจากนี้ถ้าผู้บริหารมีความตั้งใจที่จะลาออก ผู้บริหารควรบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างเหมาะสม รวมถึงให้ความสำคัญกับสารสนเทศของบริษัท และไม่กระทำกิจการที่ใช้ประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่การงานเดิมของตน

 

5. ความยุติธรรม (Fairness)
ผู้บริหารควรมีความยุติธรรมและคุณธรรมต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ และไม่ใช้วิธีการโกงหรือวิธีการที่ไม่เหมาะสมเพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์หรือข้อได้เปรียบจากความเข้าใจผิดหรือจากความทุกข์ของผู้อื่น โดยผู้บริหารที่มีความยุติธรรมควรเปิดเผยข้อตกลงเพื่อให้มีการพิจารณาและปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เปิดใจที่จะยอมรับความเห็นที่ไม่ตรงกันและเต็มใจที่จะยอมรับเมื่อทำผิด และพร้อมเปลี่ยนจุดยืนและความเชื่อที่มีอยู่ไปสู่สิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม

 

6. การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Concern for Others)
ผู้บริหารควรเอาใจใส่ เห็นอกเห็นใจ เมตตาปราณีและหวังดีต่อผู้อื่นตามหลักการที่ว่า ให้ปฏิบัติต่อผู้อื่นเช่นเดียวกับที่ต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเรา ผู้บริหารควรช่วยเหลือผู้อื่นในสิ่งที่บุคคลนั้นมีความจำเป็นและค้นหาวิธีที่ทำให้ธุรกิจบรรลุวัตถุประสงค์ของธุรกิจไปพร้อมกับวัตถุประสงค์ของผู้อื่น

 

7. การเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล (Respect for International Human Rights Principles)
ผู้บริหารควรเคารพในเกียรติของแต่ละบุคคล ความมีอิสระ ความเป็นส่วนตัว การมีสิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมายและสิทธิมนุษยชน และผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย การตัดสินใจของผู้บริหารควร มีความเป็นกลางและปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่แบ่งแยกเพศ ชนชั้นหรือเชื้อชาติ

บริษัทนั้นต้องกำหนดให้ กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานของบริษัทฯทุกคนต้องปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัดโดยถือเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานและไม่สนับสนุนกิจการที่ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนสากล

 

8. การปฏิบัติหน้าที่อย่างดี (Commitment to Excellence)
ผู้บริหารควรปฏิบัติตามหน้าที่อย่างดี กล่าวคือ เป็นผู้มีความรู้ ตระเตรียมการ มีความมุมานะ มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เพื่อสามารถจัดการกับทุกเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบ

 

9. ภาวะผู้นำ (Leadership)
ผู้บริหารควรตระหนักถึงความรับผิดชอบและภาวะการเป็นผู้นำของตน และควรจัดหา รูปแบบของข้อพึงปฏิบัติที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองและองค์กร อีกทั้งผู้บริหารควรสร้างสภาพแวดล้อมที่ให้ความสำคัญต่อหลักการและการตัดสินใจที่มีจริยธรรมเป็นสำคัญ

 

10. ชื่อเสียงและคุณธรรม (Reputation and Morale)
ผู้บริหารควรหาทางสร้างชื่อเสียงให้บริษัทและสร้างคุณธรรมในหมู่พนักงาน โดยร่วมกันไม่ดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจเป็นการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและพนักงาน ในทางกลับกันพนักงานต้องร่วมกันดำเนินการใดๆ ที่จำเป็นเพื่อแก้ไขหรือป้องกันพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมของคนอื่น

 

11. ความรับผิดชอบตามหน้าที่ (Accountability)
ผู้บริหารควรตระหนักและรับผิดชอบตามหน้าที่ของตนโดยคำนึงถึงจริยธรรมที่ใช้สำหรับการตัดสินใจ และในการละเว้นบางสิ่งเพื่อบริษัท ตนเอง ผู้ร่วมงาน และชุมชน

 

12. นโยบายการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Policy on Compliance with the Law and Relevant Rules and Regulations)
บริษัทนั้นต้องมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจสำหรับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานดังนี้

• ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับและเคารพจารีตประเพณีของประเทศที่บริษัทฯ เข้าไปดำเนินธุรกิจ
• ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
• ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อบังคับของบริษัทฯ อย่างเคร่งครัด
• ต้องไม่ช่วยเหลือหรือสนับสนุน การหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ
• ต้องให้ความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลและรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ ต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง

 

13. นโยบายความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest)
บริษัทนั้นต้องให้ความสำคัญต่อกิจกรรมที่อาจเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์และรายการที่เกี่ยวโยงกัน ตามแนวทางปฏิบัติสำหรับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานดังนี้

• หลีกเลี่ยงการทำรายการที่เกี่ยวโยงกับตนเอง ที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัทนั้น
• ในกรณีที่จำเป็นต้องทำรายการเช่นนั้น ให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของบริษัทฯ และให้ทำรายการนั้นเสมือนการทำรายการกับบุคคลภายนอก โดยกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานหรือผู้มีส่วนได้เสียในรายการนั้นต้องไม่มีส่วนในการพิจารณาอนุมัติ
• ในกรณีที่เข้าข่ายเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันภายใต้ประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และการเปิดเผยข้อมูลรายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทจดทะเบียนอย่างเคร่งครัด
• ในกรณีที่กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานหรือบุคคลในครอบครัวเข้าไปมีส่วนร่วมหรือเป็นผู้ถือหุ้นกิจการที่แข่งขันกับธุรกิจของบริษัทนั้น หรือกิจการใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัทนั้น จะต้องแจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร
• ในกรณีที่กรรมการ ผู้บริหาร หรือ พนักงานไปเป็นกรรมการ หุ้นส่วน หรือที่ปรึกษาในบริษัท หรือองค์กรทางธุรกิจอื่นๆ การดำรงตำแหน่งนั้นจะต้องไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของบริษัทฯ และการปฏิบัติหน้าที่โดยตรงในบริษัทนั้น

 

14. นโยบายการรักษาข้อมูลความลับ (Confidentiality of Information)
บริษัทนั้นต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการใช้ข้อมูลของบริษัท โดยปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและสอดคล้องกับกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยบริษัทฯ ได้กำหนดให้กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานให้ความสำคัญต่อการเก็บรักษาข้อมูลความลับของบริษัทนั้น เช่น ข้อมูลภายในที่ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ หรือข้อมูลที่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจหรือราคาหุ้น เป็นต้น ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติดังต่อไปนี้

• กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานต้องไม่ใช้ข้อมูลภายในของบริษัทฯ ในการหาประโยชน์ส่วนตนและในเรื่องการทำธุรกิจแข่งขันกับบริษัทนั้น หรือทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
• กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานต้องไม่ใช้ข้อมูลที่มิได้เปิดเผยให้ทราบโดยทั่วไปซึ่งอาจมีผลกระทบกับราคาหุ้น(ข้อมูลภายใน)และต้องละเว้นการทำธุรกรรมเกี่ยวกับหุ้นของบริษัทในช่วงเวลาที่จะมีการประกาศข้อมูลที่ที่สำคัญตามนโยบายที่ถูกกำหนดไว้ นอกจากนี้ข้อมูลภายในของบริษัทนั้น ไม่ควรถูกให้แก่บุคคลอื่น เพื่อประโยชน์ในการซื้อขายหุ้นของบริษัทฯ
• กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานต้องไม่เปิดเผยข้อมูลความลับทางธุรกิจของบริษัทนั้น ต่อบุคคลภายนอก โดยเฉพาะคู่แข่งของบริษัทฯ แม้หลังพ้นสภาพการเป็นกรรมการ ผู้บริหารหรือพนักงานของบริษัทนั้นไปแล้ว

 

15. นโยบายการปกป้องทรัพย์สินของบริษัท (Properties Protection)
บริษัทนั้นคาดหวังให้กรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน มีความรับผิดชอบในการปกป้องดูแลทรัพย์สินของบริษัทฯ และใช้ทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและไม่นำทรัพย์สินของบริษัทนั้น ไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น โดยมีแนวทางปฏิบัติดังต่อไปนี้
• ผู้บริหารและพนักงาน ต้องใช้ทรัพย์สินและทรัพยากรของบริษัท อย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่บริษัทนั้น
• ผู้บริหารและพนักงาน ต้องดูแลรักษาทรัพย์สินของบริษัทมิให้เสื่อมเสีย สูญหาย
• กำหนดแนวทางการป้องกันภัยหรือความเสี่ยงภัยที่เกิดต่อทรัพย์สินของบริษัท ที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงาน เช่น ภัยธรรมชาติ อุบัติเหตุ เป็นต้น

 

16. นโยบายเกี่ยวกับการรับ การให้ของขวัญและสิ่งตอบแทน
บริษัทนั้นต้องกำหนดให้กรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการให้และรับของขวัญ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ดังนี้
• ผู้บริหารและพนักงานถูกห้ามไม่ให้เรียกผลประโยชน์ใดๆ จากคู่ค้าและหรือผู้ที่ทำธุรกิจกับบริษัท
• ผู้บริหารและพนักงานถูกห้ามไม่ให้เสนอผลประโยชน์ใดๆ ต่อบุคคลภายนอก คู่ค้า เพื่อจูงใจให้ปฏิบัติในทางที่มิชอบ
• ผู้บริหารและพนักงานควรหลีกเลี่ยงการให้หรือรับของขวัญหรือสิ่งตอบแทนอื่นใด จากคู่ค้า และ/หรือผู้ที่ทำธุรกิจกับบริษัท เว้นแต่ในโอกาสที่เป็นช่วงเทศกาลในมูลค่าที่เหมาะสม (ไม่เกิน 50 เหรียญดอลลาร์ สหรัฐอเมริกา ต่อคนโดยรวมทั้งหมด) และไม่เกี่ยวข้องกับการผูกมัดทางธุรกิจ

 

17. จรรยาบรรณว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา
บริษัทนั้นต้องกำหนดให้ กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานของบริษัทฯทุกคนต้องมีความรอบคอบและความระมัดระวังในงานทรัพย์สินทางปัญญารวมถึงต้องเคารพลิขสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา

 

18. นโยบายเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตและการให้สินบน
บริษัทนั้นต้องกำหนดให้กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานมีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริต และการให้สินบน ดังนี้
• บริษัทกำหนดแนวทางในการรับหรือให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่อาจสร้างแรงจูงใจในการตัดสินใจอย่างไม่ชอบธรรมโดยกำหนดเงื่อนไขว่าควรดำเนินการอย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมาและต้องมั่นใจได้ว่าการดำเนินการนั้นจะไม่ทำให้เกิดข้อครหาหรือทำให้บริษัทฯเสื่อมเสียชื่อเสียง สิ่งของที่กรรมการบริษัท ได้รับโดยปกติแล้วจะเก็บไว้ในสำนักงาน หรือแจกจ่ายให้กับพนักงานในบริษัทนั้น
• การจัดหาต้องดำเนินตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ตามระเบียบของบริษัทและมีความเป็นธรรมแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยที่การตัดสินใจต้องคำนึงถึงความสมเหตุสมผลด้านราคา คุณภาพและบริการที่ได้รับ รวมทั้งต้องสามารถตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส
• ในการทำธุรกรรมกับภาครัฐ บริษัทฯจะต้องหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจจูงใจให้รัฐหรือพนักงานของรัฐดำเนินการที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมอย่างไรก็ดีการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันหรือการกระทำใดๆ ในขอบเขตที่เหมาะสมและเป็นธรรมเนียมปฏิบัตินั้นก็สามารถทำได้ เช่น การไปแสดงความยินดีหรือการให้ช่อดอกไม้ในโอกาสต่างๆ เป็นต้น

 

แนวทางปฏิบัติของบริษัท

1. แนวทางปฏิบัติของผู้บริหาร

• ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส เป็นธรรม เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าในการตัดสินใจและกระทำการใดๆ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องโดยภาพรวม
• ปฏิบัติหน้าที่อย่างมืออาชีพด้วยความรู้ความชำนาญ ความมุ่งมั่นและมีความรอบคอบระมัดระวัง มองเห็นปัญหาล่วงหน้าและหาวิธีการแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นและรักษามาตรฐานการปฏิบัติงานดังกล่าวไว้ รวมถึงมีการประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะในการจัดการบริษัทฯ อย่างเต็มความรู้ความสามารถ
• ไม่หาประโยชน์ให้ตนเองหรือผู้ที่เกี่ยวข้องโดยการนำสารสนเทศภายในที่ยังไม่ได้เปิดเผยหรือที่เป็นความลับไปใช้หรือนำไปเปิดเผยกับบุคคลภายนอกหรือกระทำการอันก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์
• จัดให้มีการดูแล การตรวจสอบ ทั้งภายในบริษัทและสภาพแวดล้อมของบริษัทโดยสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าได้มีการปฏิบัติตามนโยบายและกระบวนการที่กำหนด
• จัดให้มีการรายงานสารสนเทศที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา และสม่ำเสมอ รวมถึงจัดให้มีการรายงานแนวโน้มในอนาคตของบริษัทบนพื้นฐานของความเป็นไปได้และมีข้อมูลสนับสนุนอย่างเพียงพอ
• ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รักษามาตรฐานอุตสาหกรรมและกำหนดแนวทางปฏิบัติให้ทันต่อเหตุการณ์ มีเอกสารหลักฐานที่เพียงพอและเหมาะสมสำหรับการดำเนินการควบคุมและการดูแลรักษาให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดสำหรับนำไปใช้ปฏิบัติในทุกระดับของการจัดการ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าธุรกิจดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพเป็นไปตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง มีการแบ่งแยกกิจกรรมดำเนินธุรกิจ และจัดให้มีการอนุมัติการดำเนินการที่เหมาะสมเป็นไปตามที่กฎหมายและข้อกำหนด ที่เกี่ยวข้อง
• พัฒนาบริษัทให้บรรลุถึงเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และเป็นมาตรฐานที่ยอมรับ
• ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบริษัท

 

2. แนวทางปฏิบัติของคณะกรรมการบริษัท

• กำหนดทิศทาง เป้าหมาย นโยบายและกลยุทธ์ทางธุรกิจ
• ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ความระมัดระวังและรักษาประโยชน์ของบริษัทฯ
• พึงปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจรรยาบรรณและแนวทางกำกับดูแลกิจการที่ดีและข้อบังคับของบริษัท
• ติดตามการดำเนินงานของบริษัทฯ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์
• พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และกำหนดขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะอนุกรรมการให้ชัดเจนและเหมาะสม
• พิจารณาการทำรายการทางธุรกิจที่สำคัญของบริษัทด้วยความตั้งใจและขยันหมั่นเพียร
• จัดประชุมคณะกรรมการและพิจารณาวาระการประชุมอย่างเหมาะสม
• ประเมินผลการดำเนินงานของคณะกรรมการอย่างสม่ำเสมอ
• จัดทำแผนสืบทอดตำแหน่งสำหรับผู้บริหารระดับอาวุโสของบริษัท

 

3. แนวทางปฏิบัติของคณะอนุกรรมการ

• ปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท ด้วยความตั้งใจและขยันหมั่นเพียร
• ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ความระมัดระวังและรักษาประโยชน์ของบริษัทโดยปราศจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์
• พึงปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจรรยาบรรณและแนวทางกำกับดูแลกิจการที่ดีและข้อบังคับของบริษัท
• รายงานผลการปฏิบัติงานให้คณะกรรมการรับทราบและพิจารณาอย่างสม่ำเสมอ

 

4. แนวทางปฏิบัติของกรรมการ

• ขยันหมั่นเพียรปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัทฯ
• ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ความระมัดระวังและรักษาประโยชน์ของบริษัท
• พึงปฏิบัติตามกฎหมายกฎเกณฑ์ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจรรยาบรรณและแนวทางกำกับดูแลกิจการที่ดีและดำเนินธุรกิจเป็นไปตามข้อบังคับของบริษัท
• ติดตามการดำเนินงานของฝ่ายจัดการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย วัตถุประสงค์ของบริษัท
• ดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่ามีการรักษาความลับของสารสนเทศที่เป็นความลับภายในบริษัทฯและยังไม่อนุญาตให้เปิดเผยต่อบุคคลภายนอก และไม่อนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลต่อภายนอก และไม่ใช้ข้อมูลภายในของบริษัท ซึ่งยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของตนเอง
• หลีกเลี่ยงการกระทำหรือการตัดสินใจ ที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์

 

5. แนวทางปฏิบัติของเลขานุการบริษัท

• ขยันหมั่นเพียรปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท
• ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ความระมัดระวังและรักษาประโยชน์ของบริษัท
• ดูแลกิจกรรมต่างๆ ของคณะกรรมการและบริษัทฯ ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจรรยาบรรณและแนวทางกำกับดูแลกิจการที่ดีและดำเนินธุรกิจเป็นไปตามข้อบังคับของบริษัท
• มีความพร้อมและตั้งใจในการจัดประชุมผู้ถือหุ้นการประชุมคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการ และการจัดเตรียมรายงานการประชุม
• เป็นสื่อกลางการติดต่อสื่อสารที่ดีระหว่างกรรมการและผู้ถือหุ้น
• รักษาข้อมูลภายในบริษัทให้เป็นความลับ รวมถึงข้อมูลในรายงานการประชุมของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ของบริษัท และไม่อนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลต่อภายนอก และไม่ใช่ข้อมูลภายในของบริษัท ซึ่งยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของตนเอง

 

6. แนวทางปฏิบัติของพนักงาน

• ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีจรรยาบรรณและความรับผิดชอบต่อบริษัท
• พึงปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจรรยาบรรณและแนวทางกำกับดูแลกิจการที่ดีและข้อบังคับของบริษัท
• ดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่ามีการรักษาความลับของสารสนเทศที่เป็นความลับภายในบริษัทฯและยังไม่อนุญาตให้เปิดเผยต่อบุคคลภายนอก และไม่อนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลต่อภายนอก และไม่ใช้ข้อมูลภายในของบริษัทฯ ซึ่งยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของตนเอง
• พึงรักษาและร่วมสร้างสรรค์ให้เกิดความสามัคคีในหมู่พนักงาน

 

7. นโยบายและแนวทางปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสีย

บริษัทต้องมีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจให้เจริญก้าวหน้าอย่างมืออาชีพ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความมีคุณธรรมและจริยธรรม รวมถึงการให้ความสำคัญของการปฏิบัติที่ดีต่อผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ทุกฝ่าย ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการ และผู้บริหารระดับสูง จึงกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ดีต่อผู้มีส่วนได้เสียขึ้น เพื่อเป็น แนวทางการทำงานที่ดี และ ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีจรรยาบรรณ ดังต่อไปนี้

 

แนวทางปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้น

• บริษัทต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นและกลุ่มผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินในเรื่องที่เกี่ยวกับการเปิดเผยสารสนเทศ วิธีการปฏิบัติทางบัญชี การใช้สารสนเทศภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยผู้บริหารจะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ตลอดจนตัดสินใจดำเนินการใดๆ ด้วยความสุจริตใจ และเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นทั้งรายใหญ่และรายย่อย และเพื่อผลประโยชน์โดยรวม

 

แนวทางปฏิบัติต่อลูกค้า

• บริษัทตระหนักเป็นอย่างดีถึงความสำคัญของลูกค้าของบริษัทและมั่นใจว่าเงื่อนไขทางการค้าต่างๆ เป็นไปด้วยความเป็นธรรมตามมาตรฐานการค้าโดยทั่วไป ความลับของลูกค้าควรเก็บเป็นความลับและใช้ในธุรกิจ โดยไม่มีการเปิดเผย ยกเว้นการบังคับตามกฎหมาย กฎระเบียบข้อบังคับ หรือการยินยอมจากผู้เป็นเจ้าของสารสนเทศ รวมถึงประเด็นทางด้านการตลาด การกำหนดราคา รายละเอียดบริการ คุณภาพและความปลอดภัยของการให้บริการ

 

แนวทางปฏิบัติต่อคู่ค้าและ/หรือเจ้าหนี้

• บริษัทควรแน่ใจว่ามีการปฏิบัติที่ดีต่อคู่ค้า ได้แก่ กระบวนการสั่งซื้อจากผู้ขายและการปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ต่อเจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้เงินกู้ยืม เช่น การเบิกใช้ การชำระหนี้ หลักประกัน และข้อตกลงทางธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

แนวทางปฏิบัติต่อคู่แข่งทางการค้า

• บริษัทได้ปฏิบัติภายใต้กรอบกติกาของการแข่งขันที่ดี ไม่ทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งทางการค้าด้วยการกล่าวหาบริษัทที่เป็นคู่แข่งทางการค้าด้วยข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง รวมถึงไม่เข้าถึงสารสนเทศที่เป็นความลับของคู่แข่งด้วยวิธีการที่ไม่สุจริตหรือไม่เหมาะสม

 

แนวทางปฏิบัติต่อพนักงาน

• บริษัทตระหนักเป็นอย่างดีว่า พนักงานเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยแห่งความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจของบริษัท จึงกำหนดวิธีการจ้างงาน ความเท่าเทียมกันในโอกาสของการจ้างงาน ความมั่นคงและความก้าวหน้าทางอาชีพ และหลักการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพนักงานและการจ้างงานและทำให้มั่นใจได้ว่าพนักงานมีความรู้ความชำนาญที่จำเป็นสำหรับการดำเนินงานในธุรกิจ รวมถึงความเข้าใจในข้อพึงปฏิบัติ มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง แนวทางปฏิบัติที่กำหนดไว้ และข้อตกลงในการที่จะปรับปรุงความรู้ความสามารถเพื่อทำให้การพัฒนาเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแนวโน้มของอุตสาหกรรมในอนาคต

 

แนวทางปฏิบัติต่อชุมชนและสังคม

บริษัทควรตระหนักเป็นอย่างดีถึงความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม รวมถึงการสนับสนุนกิจกรรมของชุมชนและการเอาใจใส่ต่อผลกระทบต่อผู้ที่อยู่รอบข้างมากกว่าที่มีกำหนดไว้ในกฎหมาย และพยายามที่จะค่อยๆ ให้มีการซึมซับเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางสังคม

บริษัทคาดหวังที่จะดำเนินธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณีท้องถิ่นที่บริษัทฯ ตั้งอยู่หรือเข้าไปทำธุรกิจ และปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน มุ่งมั่นที่จะใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะดำเนินการยกระดับคุณภาพของสังคม ทั้งที่ดำเนินการเองและร่วมมือกับภาครัฐและชุมชน

 

8. นโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม

บริษัทควรมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามมาตรฐานของความปลอดภัย ชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมอย่างสูงสุด ซึ่งได้มีแนวทางปฏิบัติดังต่อไปนี้

• ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ในด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ที่บริษัทฯ เข้าไปทำธุรกิจ
• ปฏิบัติตามมาตรฐานเพื่อก่อให้เกิดความปลอดภัยในสุขภาพและสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับพนักงานทุกคน
• ส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับสุขอนามัย ความปลอดภัยในทุกระดับ ตลอดจนสนับสนุนวิธีการและการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายของอุตสาหกรรม
• เปิดเผยข้อมูลที่เป็นจริง ในเรื่องความปลอดภัย ชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัท

   
  [Last Modified: October 15, 2012]
   

   
   

 

 

 

   
  [Last Modified: December 4, 2012]
   
   
 
  กว่าสิบปีของการดำเนินธุรกิจแพปลาและอาหารทะเล โดยเริ่มจากเป็นชาวประมง ออกเรือประมงเอง จนมาถึงการเป็นเจ้าของธุรกิจแพปลา และเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารทะเล ทั้งปลีกและส่งทั่วประเทศ คุณภาพดีในราคายุติธรรม ในรูปแบบต่างๆ ตามความต้องการของลูกค้าอย่างครบถ้วน โดยมีสินค้าทะเลหลากหลายทั้งของสด ของแช่แข็ง ของแห้ง และสินค้าพร้อมปรุงรับประทาน เราเลือกซื้อสินค้าทะเลโดยตรงจากชาวประมงท้องถิ่น มีเครือข่ายพันธมิตรในธุรกิจที่ดีและนำเข้าจากต่างประเทศ จึงทำให้เราสามารถเลือกซื้อสินค้าทะเลที่ดีที่สุด เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีที่สุดและครบถ้วน ในราคาที่ท่านพอใจที่สุด พร้อมทั้งได้รับการไว้วางใจจากลูกค้ามากกว่า 10 ปี และพร้อมพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกสู่ท้องตลาดเสมอ 

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *