Daily Archives: February 7, 2014

icon Tomorrow’s E-Commerce : Trend & Marketing 

ธุรกิจออนไลน์ถือเป็นเทรนด์แห่งอนาคต ผู้คนเริ่มให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเลือกใช้ google, youtube, facebook และ instagram เป็นช่องทางหนึ่งในการนำเสนอสินค้า ซึ่งมีความแพร่หลายและเริ่มต้นได้ง่าย ๆ จากสิ่งที่ใช้อยู่เป็นกิจวัตร  อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผู้สนใจในการทำธุรกิจออนไลน์เป็นจำนวนมาก สิ่งที่สำคัญคือ แต่ละท่านได้ “ลงมือทำ และเชื่อมั่นต่อการทำธุรกิจออนไลน์แล้วหรือไม่”

การจะทำธุรกิจออนไลน์ ต้องเข้าใจ คำแรก คือ คำว่า Trend โดย Trend นั้น หมายถึง “การหาสินค้า” (ขายอะไรดี)  นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด สินค้าที่ขายได้ดีที่สุดในโลกออนไลน์ คือ สินค้าที่ไม่สามารถหาได้ในโลกแห่งความเป็นจริง หรือหาได้ยาก (เฉพาะทาง) และต้องเป็นสินค้าที่เป็น “Need” (ความจำเป็นทางจิตใจ) ไม่ใช่ “Want” (ความต้องการ) จึงขอนำเสนอกฏสำคัญ 5 ข้อสำหรับสินค้าที่ขายได้ดีตลอดกาล

1.   สินค้าที่ทำให้ลูกค้าดูโดดเด่นในสังคม เป็นสินค้าที่สร้างความรู้สึกทางใจให้แก่ผู้ซื้อ และทำให้บุคคลภายนอกมองเห็นได้อย่างชัดเจน จะสร้างความภาคภูมิใจ และความไม่เหมือนใครให้แก่ผู้ซื้อได้

2.   สินค้าที่ตอบสนองด้านความสวยงาม และทำให้ผู้อื่นเกิดความสนใจต่อผู้ซื้อ เกี่ยวกับการแต่งตัว หน้าตา และสิ่งที่ทำให้เพศตรงข้ามสนใจ

3.   สินค้าที่เล่นกับความทุกข์ของคนหรือช่วยให้คนหายทุกข์ หายเจ็บปวด

4.   สินค้าที่ทำให้คนที่เรารักมีความสุข

5.   สินค้าที่ตอบสนองงานอดิเรก สิ่งที่ชอบ

คำที่สองที่ต้องรู้จัก คือ คำว่า  Marketing หรือ “การทำการตลาด” (ขายของได้) ทำอย่างไรให้ลูกค้าเห็นสินค้าของเราให้ได้มากที่สุด  โดยเราต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายลูกค้าให้ชัดเจน เพื่อให้เราทำการตลาดได้อย่างตรงจุด ปัจจุบัน การทำการตลาดสำหรับการค้นหาสินค้านิยมใช้ 2 วิธี คือ

1. SEO (Search Engine Optimization) โดยการเพิ่มอันดับของเว็บไซต์ในส่วนของผลการค้นหาให้อยู่ในลำดับต้น ๆ หรือหน้าแรก โดยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในเว็บไซต์ให้เป็นไปตามกฏของ Search Engine นั้น ๆ

2. PPC (Pay Per Click) คือ ส่วนของพื้นที่โฆษณาซึ่งอยู่ในหน้าผลการค้นหาเช่นกัน แต่ต้องจ่ายเงินเมื่อมีการคลิกเปิดเข้าไปดูเว็บไซต์ PPC มีข้อแตกต่างกับ SEO ตรงที่สามารถแสดงผลในลำดับต้น ๆ ได้ง่ายและรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ยังมีวิธีการอื่น ๆ ที่ทำให้สินค้าของเราเป็นที่รู้จัก ได้แก่ การทำ Google Adwords, การทำ Classified Marketing หรือการประกาศขายผ่านเว็บไซต์ประกาศต่าง ๆ , การโฆษณาลงเว็บบอร์ด และการลงสินค้าบน Facebook

ธุรกิจออนไลน์ถือเป็นการลงทุนทางธุรกิจที่มีต้นทุนถูกที่สุด และมีโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น ผู้ประกอบธุรกิจต้องศึกษาและทำความเข้าใจ “Trend” กับ “Marketing” ให้ถ่องแท้ก่อนตัดสินใจ เพื่อทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จตามที่ตั้งไว้ จากนั้น ลงมือทำด้วยความตั้งใจ

ข้อมูลจาก : คุณวรเศรษฐ์ เมธาอัครพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบายโกลบอกเทรด จำกัด

จากการสัมมนา “Tomorrow’s E-Commerce : Trend & Marketing”

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

12-13 ธันวาคม 2556 

 

คณะกรรมการจำนำ 2 ปีฉุดยอดส่งออกข้าว “กมลกิจ” หด 40% แก้เกมอัดงบฯ 600 ล้านบาท ขยายคลังสินค้า รีแบรนด์น้ำมันรำข้าวชิม มองไกลเร่งวิจัยและพัฒนาสู่เวชสำอาง-ยา ตั้งเป้าโกยรายได้ปี′57 ทะลุ 8,000 ล้านบาท

นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ ประธานกรรมการบริหาร กมลกิจกรุ๊ป ผู้ส่งออกข้าวนึ่ง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายหลังจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวในช่วง 2 ปี นับจากปี 2554/2555 และปี 2555/2556 ยอดส่งออกข้าวของบริษัทลดลงประมาณ 40% เหลือเพียง 2,500 ล้านบาท และยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจน้ำมันรำข้าวด้วย เพราะโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมดทำให้วัตถุดิบรำข้าวในตลาดหายาก ไม่สม่ำเสมอ หรือบางครั้งมีปัญหาเรื่องคุณภาพด้วย ประกอบกับเกิดการแย่งชิงวัตถุดิบ หลังจากที่มีผู้ประกอบการได้ตั้งโรงสกัดน้ำมันรำข้าวขึ้นมาในตลาดเพิ่มขึ้นอีก 4-5 ราย เพื่อส่งออกไปยังตลาดเกาหลีและญี่ปุ่น และเพื่อจำหน่ายในประเทศให้กับลูกค้าในกลุ่มอาหารสัตว์

“ธุรกิจส่งออกข้าวไม่เคยแย่ขนาดนี้ เราเคยทำได้ถึงสูงสุดปีละ 6,000 ล้านบาท ปีนี้ธุรกิจส่งออกข้าวอาจจะต้องชะลอเพื่อดูจังหวะที่เหมาะสมในโอกาสต่อไป แต่เราคาดหวังว่าปีนี้การส่งออกข้าวไทยน่าจะกลับมาได้ และราคาคงไม่ถูกเกินไป”

นางสาวกอบสุขกล่าวว่า ในปีนี้ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มรายได้เป็น 8,000 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมาที่รายได้ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาทเท่านั้น โดยยังคงสัดส่วนรายได้จากการส่งออกข้าวสัดส่วน 50% และน้ำมันรำข้าวสัดส่วน 50%

โดยเตรียมปรับแผนการลงทุน เพื่อเพิ่มรายได้จากธุรกิจคลังสินค้าที่ให้เช่าฝากเก็บสินค้า ซึ่งเดิมทีทางบริษัทได้ลงทุนสร้างคลังไปแล้ว 30,000 ตารางเมตร โดยปีนี้จะมีแผนขยายคลังเพิ่มอีก 30,000 ตารางเมตร คาดว่าจะใช้งบประมาณ 600 ล้านบาท เพราะเป็นการขยายในพื้นที่เดิมบริเวณ จ.ปทุมธานี และอาจจะมีซื้อที่ดินเพิ่มอีกส่วนหนึ่ง

“ธุรกิจคลังนี้มีแนวโน้มเติบโตดี เพราะทำเลของคลังเราอยู่ริมน้ำ มีท่าเรือขนถ่ายสินค้าได้ เชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมสะดวก พื้นที่คลังเดิม 30,000 ตารางเมตร มีลูกค้าเต็มหมด เรามีพันธมิตรด้านโลจิสติกส์ที่คอยบริหารจัดการและหาลูกค้าให้ หลัก ๆ จะรับฝากสินค้า เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอุปโภคบริโภค และเคยรับฝากเก็บหัวรถไฟฟ้า แต่ไม่ได้ให้เช่าเก็บข้าวสารรัฐบาล เพราะค่อนข้างยุ่งยาก”

พร้อมกันนี้ บริษัทยังได้เตรียมปรับรีแบรนด์น้ำมันรำข้าว “ชิม” ในช่วงกลางปีนี้ เพราะเป็นแบรนด์ดั้งเดิมที่ได้รับความนิยมในต่างจังหวัดมาเป็นเวลานาน ดังนั้นควรจะมีการเพิ่มคุณสมบัติของน้ำมัน เช่น เพิ่มแกมม่าออริซานอลมากขึ้น ส่วนช่องทางจำหน่ายมีแผนจะเพิ่มการจัดจำหน่ายให้กลุ่มผู้ซื้อ ยี่ปั๊ว-ซาปั๊วในต่างจังหวัดมากขึ้น จากเดิมที่จัดจำหน่ายผ่านห้างโมเดิร์นเทรดเป็นหลัก และอาจจะเพิ่มงบฯการทำโฆษณาในส่วนของสื่อสิ่งพิมพ์มากขึ้น จากปัจจุบันเน้นป้ายโฆษณาบนรถบัสขนาดใหญ่

“เราจะเน้นทำรีเทล ชิมน่าจะช่วยเพิ่มสัดส่วนตลาดในประเทศมากขึ้น จากปัจจุบันที่เน้นส่งออกเป็นหลัก โดยมีแบรนด์อัลฟ่า วัน (Alfa one) เป็น International Brand เป็นหลัก แต่ก็มีขายในประเทศด้วย และแบรนด์ริซี่ (Rizi) ซึ่งเราพัฒนาให้เป็นสินค้าระดับบนสำหรับตลาดในประเทศ ส่วนแบรนด์โรซ่า เราพัฒนาสำหรับขายในประเทศแต่ไม่ติดตลาดเท่าที่ควร ผู้บริโภคจะคุ้นเคยกับชิมมากกว่า”

ทั้งนี้น้ำมันรำข้าว คิดเป็นสัดส่วน 5% ในตลาดน้ำมันพืชบริโภค และที่ใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งแบรนด์ของเรามีหลายแบรนด์อยู่ในระดับพอ ๆ กับแบรนด์คิง และล่ำสูง และยังมีโรงกลั่นสุรินทร์ที่เน้นส่งออกเท่านั้น

นอกจากนี้ยังจะเน้นเพิ่มการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายสูงสุดของสินค้าเกษตรคือ การผลิตยา และเวชสำอาง ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ที่เริ่มตื่นตัวให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น

ขอบคุณ : ประชาชาติธุรกิจ

 

เป็นการตอกย้ำอีกครั้งของการเข้าไปลงทุนในประเทศ CLMV สำหรับเมืองไทย หากไทยจะไป ผู้ประกอบการไทยควรจะเตรียมตัวอย่างไร จากมุมมองของภาคเอกชนที่เข้าไปคลุกคลี บอกได้ว่าโอกาสของประเทศไทยยังมีอีกมาก

นางดวงใจ จันทร ประธานกรรมการ บริษัท นัทธกันต์ จำกัด ผู้ประกอบการที่ลุยตลาดพม่า กัมพูชา และเวียดนามมานาน กล่าวในงาน “CP ALL SMEs FORUM 2014 บุกตลาด CLMV…อนาคต SMEs ไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ว่า พม่า ลาว และกัมพูชายังพึ่งพาสินค้าจากไทยเยอะ โดยเฉพาะสินค้าอาหารที่ล้วนติดรสชาติอาหารไทย ซึ่งลาวและกัมพูชาจะสะดวกเรื่องภาษา การสื่อสาร ที่ได้ทั้งภาษาไทยและจีน ชาวกัมพูชาร้อยละ 20 ฟังภาษาไทยรู้เรื่อง และเรื่องค่าเงินที่สามารถใช้ได้ทั้งเงินบาท และดอลลาร์

สิ่งสำคัญในการเข้าไปยังประเทศเหล่านี้ คือ สภาหอการค้า, ทูตพาณิชย์, สมาคมธุรกิจ เพื่อหาข้อมูลตลาดและหาตัวแทน ส่วนการแสดงสินค้าเป็นเพียงการเปิดตัว ไม่ได้ยืนยันว่าสินค้าจะติดตลาดและต้องหาลูกค้าใหม่ ในระยะ 6 เดือนก็รู้แล้วว่ารอดหรือไม่ ที่พนมเปญ มีสมาคมเอสเอ็มอีช่วยเรื่องเงินทุน ผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ มีเทคโนโลยี สามารถเข้าไปได้

ขณะที่ประเทศเวียดนาม สามารถแบ่งผู้บริโภคเวียดนามออกเป็น 3 ส่วน คือ เวียดนามเหนือ เวียดนามกลางเป็นเมืองท่องเที่ยว ขณะที่เวียดนามใต้เป็นเมืองเศรษฐกิจ เพราะเป็นเมืองใหญ่ มีประชากรมากถึง 60 ล้านคน สินค้าที่ไปที่เวียดนามต้องผ่านกัมพูชา เพราะเสรีทางด้านภาษีมากกว่า

นายธีรพงษ์ ฤทธิ์มาก รองประธานสภานักธุรกิจไทยในเวียดนาม กล่าวในงาน “เปิดแนวรุก บุกตลาดเวียดนาม” จัดโดยสถาบันองค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ว่า เวลานี้คนเริ่มเข้าสู่ยุคกินดีอยู่ดี มีกำลังในการซื้อหาสินค้า และกลุ่มคนมีเงินจะซื้อสินค้าตามห้าง ในขณะที่สินค้าจากเมืองไทยมีโอกาสในทุกอุตสาหกรรม แต่ต้องมีการจัดการที่เป็นสากล ไม่ใช้ระบบญาติ

ส่วนสินค้าที่เข้าไปเปิดตลาด ควรจะมีระบบกฎหมาย มีการจ้างที่ปรึกษาเข้ามา ช่วยให้กฎหมายมีความรัดกุม เพราะมีกรณีที่สินค้าไทยถูกก๊อบปี้มาแล้ว กรณีเรดบูล และอีกหลายกรณี

ทางออกของเอสเอ็มอีก็คือ อย่าซื้อไลเซนส์จากยุโรปหรืออเมริกามาทำตลาดในเวียดนาม เพราะเมื่อสินค้าไปได้ดี

คู่ค้าหรือชาวเวียดนามที่เห็นโอกาส จะบินไปซื้อไลเซนส์มาเองขยายตลาดแข่ง หากเป็นสินค้าไทย เน้นการสร้างโนว์ฮาวนวัตกรรมเอง นำมาขยายตลาดในเวียดนาม โอกาสที่จะเติบโตสูงกว่า

นอกจากนี้ สินค้าประเภทยาหรือของมีแบรนด์ต่าง ๆ จะคล้ายกันกับไทย คือ ขณะที่มีสินค้าอยู่ที่ร้าน จะมีกองทัพมดหิ้วมาจำหน่ายแข่งในราคาถูกกว่าจำนวนมาก

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ที่หวังจะเข้าไปเปิดโรงงานและใช้แรงงานราคาถูกของชาวเวียดนาม แนะว่าให้ไปเลือกโรงงานที่มีการปิดตัว เพราะก่อนหน้านี้ก็มีจำนวนมาก และน่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่าการไปตั้งโรงงานใหม่ ส่วนเครื่องจักรจากไทย หากเป็นเครื่องจักรที่เก่าไม่แนะนำ เพราะที่เวียดนามเครื่องจักรที่อยู่ในเขตอุตสาหกรรมเป็นเครื่องจักรที่ทันสมัยเกือบทั้งหมด

ข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกระทรวงพาณิชย์พบว่า การค้าชายแดนของไทยกับเพื่อนบ้าน ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2556 ของไทยกับ เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา มีตัวเลขที่น่าสนใจ

สินค้าที่เมียนมาร์นำเข้าจากไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ น้ำมันดีเซล, เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และน้ำมันเบนซิน แต่สินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา 3 อันดับแรก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็ก และเหล็กกล้า เพิ่มขึ้น 139.34% เครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างและส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 144.33% และเครื่องโทรสาร โทรพิมพ์ โทรศัพท์ อุปกรณ์ เพิ่มขึ้น 199.85% โดยด่านที่มีการนำเข้าสินค้าจากไทยสูงสุดสามอันดับแรก ได้แก่ ด่านศุลกากรแม่สอด, ระนอง และแม่สาย ตามลำดับ

สินค้าที่ลาวนำเข้าจากไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ น้ำมันดีเซล, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และน้ำมันเบนซิน ส่วนสินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในช่วงปี

ที่ผ่านมา 3 อันดับแรก ได้แก่ สินค้าปศุสัตว์อื่น ๆ เพิ่มขึ้น 78.70% ไก่ เพิ่มขึ้น 32.80% เหล็กและเหล็กกล้า เพิ่มขึ้น 19.67% ด่านที่มีการนำเข้าสินค้าจากไทยสูงสุดสามอันดับแรก ได้แก่ ด่านศุลกากรหนองคาย, มุกดาหาร และพิบูลมังสาหาร

สินค้าที่กัมพูชานำเข้าจากไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์, เครื่องยนต์สันดาปในแบบลูกสูบ และเครื่องสำอาง เครื่องหอม และสบู่ ส่วนสินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา 3 อันดับแรก ได้แก่ น้ำมันเบนซิน เพิ่มขึ้น 30.25% รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 30.25% ผ้าผืน และด้าย เพิ่มขึ้น 29.83% ด่านที่มีการนำเข้าสินค้าจากไทยสูงสุดสามอันดับแรก ได้แก่ ด่านศุลกากรอรัญประเทศ, คลองใหญ่ และจันทบุรี

ขอบคุณ : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

630

ขณะนี้เอสเอ็มอีกำลังเผชิญกับวิกฤตสภาพคล่องหาย สต๊อกล้น ทำให้หน่วยงานหลักอย่างคณะกรรมการร่วม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย……. อ่านต่อได้ที่ : http://bit.ly/1bAI8T8

ขอบคุณ โพสทูเดย์