แนะเคล็ดลับเข้า CLMV ทางรอดหรือทางร่วง

 

เป็นการตอกย้ำอีกครั้งของการเข้าไปลงทุนในประเทศ CLMV สำหรับเมืองไทย หากไทยจะไป ผู้ประกอบการไทยควรจะเตรียมตัวอย่างไร จากมุมมองของภาคเอกชนที่เข้าไปคลุกคลี บอกได้ว่าโอกาสของประเทศไทยยังมีอีกมาก

นางดวงใจ จันทร ประธานกรรมการ บริษัท นัทธกันต์ จำกัด ผู้ประกอบการที่ลุยตลาดพม่า กัมพูชา และเวียดนามมานาน กล่าวในงาน “CP ALL SMEs FORUM 2014 บุกตลาด CLMV…อนาคต SMEs ไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ว่า พม่า ลาว และกัมพูชายังพึ่งพาสินค้าจากไทยเยอะ โดยเฉพาะสินค้าอาหารที่ล้วนติดรสชาติอาหารไทย ซึ่งลาวและกัมพูชาจะสะดวกเรื่องภาษา การสื่อสาร ที่ได้ทั้งภาษาไทยและจีน ชาวกัมพูชาร้อยละ 20 ฟังภาษาไทยรู้เรื่อง และเรื่องค่าเงินที่สามารถใช้ได้ทั้งเงินบาท และดอลลาร์

สิ่งสำคัญในการเข้าไปยังประเทศเหล่านี้ คือ สภาหอการค้า, ทูตพาณิชย์, สมาคมธุรกิจ เพื่อหาข้อมูลตลาดและหาตัวแทน ส่วนการแสดงสินค้าเป็นเพียงการเปิดตัว ไม่ได้ยืนยันว่าสินค้าจะติดตลาดและต้องหาลูกค้าใหม่ ในระยะ 6 เดือนก็รู้แล้วว่ารอดหรือไม่ ที่พนมเปญ มีสมาคมเอสเอ็มอีช่วยเรื่องเงินทุน ผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ มีเทคโนโลยี สามารถเข้าไปได้

ขณะที่ประเทศเวียดนาม สามารถแบ่งผู้บริโภคเวียดนามออกเป็น 3 ส่วน คือ เวียดนามเหนือ เวียดนามกลางเป็นเมืองท่องเที่ยว ขณะที่เวียดนามใต้เป็นเมืองเศรษฐกิจ เพราะเป็นเมืองใหญ่ มีประชากรมากถึง 60 ล้านคน สินค้าที่ไปที่เวียดนามต้องผ่านกัมพูชา เพราะเสรีทางด้านภาษีมากกว่า

นายธีรพงษ์ ฤทธิ์มาก รองประธานสภานักธุรกิจไทยในเวียดนาม กล่าวในงาน “เปิดแนวรุก บุกตลาดเวียดนาม” จัดโดยสถาบันองค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ว่า เวลานี้คนเริ่มเข้าสู่ยุคกินดีอยู่ดี มีกำลังในการซื้อหาสินค้า และกลุ่มคนมีเงินจะซื้อสินค้าตามห้าง ในขณะที่สินค้าจากเมืองไทยมีโอกาสในทุกอุตสาหกรรม แต่ต้องมีการจัดการที่เป็นสากล ไม่ใช้ระบบญาติ

ส่วนสินค้าที่เข้าไปเปิดตลาด ควรจะมีระบบกฎหมาย มีการจ้างที่ปรึกษาเข้ามา ช่วยให้กฎหมายมีความรัดกุม เพราะมีกรณีที่สินค้าไทยถูกก๊อบปี้มาแล้ว กรณีเรดบูล และอีกหลายกรณี

ทางออกของเอสเอ็มอีก็คือ อย่าซื้อไลเซนส์จากยุโรปหรืออเมริกามาทำตลาดในเวียดนาม เพราะเมื่อสินค้าไปได้ดี

คู่ค้าหรือชาวเวียดนามที่เห็นโอกาส จะบินไปซื้อไลเซนส์มาเองขยายตลาดแข่ง หากเป็นสินค้าไทย เน้นการสร้างโนว์ฮาวนวัตกรรมเอง นำมาขยายตลาดในเวียดนาม โอกาสที่จะเติบโตสูงกว่า

นอกจากนี้ สินค้าประเภทยาหรือของมีแบรนด์ต่าง ๆ จะคล้ายกันกับไทย คือ ขณะที่มีสินค้าอยู่ที่ร้าน จะมีกองทัพมดหิ้วมาจำหน่ายแข่งในราคาถูกกว่าจำนวนมาก

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ที่หวังจะเข้าไปเปิดโรงงานและใช้แรงงานราคาถูกของชาวเวียดนาม แนะว่าให้ไปเลือกโรงงานที่มีการปิดตัว เพราะก่อนหน้านี้ก็มีจำนวนมาก และน่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่าการไปตั้งโรงงานใหม่ ส่วนเครื่องจักรจากไทย หากเป็นเครื่องจักรที่เก่าไม่แนะนำ เพราะที่เวียดนามเครื่องจักรที่อยู่ในเขตอุตสาหกรรมเป็นเครื่องจักรที่ทันสมัยเกือบทั้งหมด

ข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกระทรวงพาณิชย์พบว่า การค้าชายแดนของไทยกับเพื่อนบ้าน ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2556 ของไทยกับ เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา มีตัวเลขที่น่าสนใจ

สินค้าที่เมียนมาร์นำเข้าจากไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ น้ำมันดีเซล, เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และน้ำมันเบนซิน แต่สินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา 3 อันดับแรก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็ก และเหล็กกล้า เพิ่มขึ้น 139.34% เครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างและส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 144.33% และเครื่องโทรสาร โทรพิมพ์ โทรศัพท์ อุปกรณ์ เพิ่มขึ้น 199.85% โดยด่านที่มีการนำเข้าสินค้าจากไทยสูงสุดสามอันดับแรก ได้แก่ ด่านศุลกากรแม่สอด, ระนอง และแม่สาย ตามลำดับ

สินค้าที่ลาวนำเข้าจากไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ น้ำมันดีเซล, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และน้ำมันเบนซิน ส่วนสินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในช่วงปี

ที่ผ่านมา 3 อันดับแรก ได้แก่ สินค้าปศุสัตว์อื่น ๆ เพิ่มขึ้น 78.70% ไก่ เพิ่มขึ้น 32.80% เหล็กและเหล็กกล้า เพิ่มขึ้น 19.67% ด่านที่มีการนำเข้าสินค้าจากไทยสูงสุดสามอันดับแรก ได้แก่ ด่านศุลกากรหนองคาย, มุกดาหาร และพิบูลมังสาหาร

สินค้าที่กัมพูชานำเข้าจากไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์, เครื่องยนต์สันดาปในแบบลูกสูบ และเครื่องสำอาง เครื่องหอม และสบู่ ส่วนสินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา 3 อันดับแรก ได้แก่ น้ำมันเบนซิน เพิ่มขึ้น 30.25% รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 30.25% ผ้าผืน และด้าย เพิ่มขึ้น 29.83% ด่านที่มีการนำเข้าสินค้าจากไทยสูงสุดสามอันดับแรก ได้แก่ ด่านศุลกากรอรัญประเทศ, คลองใหญ่ และจันทบุรี

ขอบคุณ : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *