"กมลกิจ" ขยายธุรกิจคลังสินค้า ดันยอดปี′57 พุ่ง 8,000 ล้านบาท

 

คณะกรรมการจำนำ 2 ปีฉุดยอดส่งออกข้าว “กมลกิจ” หด 40% แก้เกมอัดงบฯ 600 ล้านบาท ขยายคลังสินค้า รีแบรนด์น้ำมันรำข้าวชิม มองไกลเร่งวิจัยและพัฒนาสู่เวชสำอาง-ยา ตั้งเป้าโกยรายได้ปี′57 ทะลุ 8,000 ล้านบาท

นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ ประธานกรรมการบริหาร กมลกิจกรุ๊ป ผู้ส่งออกข้าวนึ่ง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายหลังจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวในช่วง 2 ปี นับจากปี 2554/2555 และปี 2555/2556 ยอดส่งออกข้าวของบริษัทลดลงประมาณ 40% เหลือเพียง 2,500 ล้านบาท และยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจน้ำมันรำข้าวด้วย เพราะโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมดทำให้วัตถุดิบรำข้าวในตลาดหายาก ไม่สม่ำเสมอ หรือบางครั้งมีปัญหาเรื่องคุณภาพด้วย ประกอบกับเกิดการแย่งชิงวัตถุดิบ หลังจากที่มีผู้ประกอบการได้ตั้งโรงสกัดน้ำมันรำข้าวขึ้นมาในตลาดเพิ่มขึ้นอีก 4-5 ราย เพื่อส่งออกไปยังตลาดเกาหลีและญี่ปุ่น และเพื่อจำหน่ายในประเทศให้กับลูกค้าในกลุ่มอาหารสัตว์

“ธุรกิจส่งออกข้าวไม่เคยแย่ขนาดนี้ เราเคยทำได้ถึงสูงสุดปีละ 6,000 ล้านบาท ปีนี้ธุรกิจส่งออกข้าวอาจจะต้องชะลอเพื่อดูจังหวะที่เหมาะสมในโอกาสต่อไป แต่เราคาดหวังว่าปีนี้การส่งออกข้าวไทยน่าจะกลับมาได้ และราคาคงไม่ถูกเกินไป”

นางสาวกอบสุขกล่าวว่า ในปีนี้ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มรายได้เป็น 8,000 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมาที่รายได้ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาทเท่านั้น โดยยังคงสัดส่วนรายได้จากการส่งออกข้าวสัดส่วน 50% และน้ำมันรำข้าวสัดส่วน 50%

โดยเตรียมปรับแผนการลงทุน เพื่อเพิ่มรายได้จากธุรกิจคลังสินค้าที่ให้เช่าฝากเก็บสินค้า ซึ่งเดิมทีทางบริษัทได้ลงทุนสร้างคลังไปแล้ว 30,000 ตารางเมตร โดยปีนี้จะมีแผนขยายคลังเพิ่มอีก 30,000 ตารางเมตร คาดว่าจะใช้งบประมาณ 600 ล้านบาท เพราะเป็นการขยายในพื้นที่เดิมบริเวณ จ.ปทุมธานี และอาจจะมีซื้อที่ดินเพิ่มอีกส่วนหนึ่ง

“ธุรกิจคลังนี้มีแนวโน้มเติบโตดี เพราะทำเลของคลังเราอยู่ริมน้ำ มีท่าเรือขนถ่ายสินค้าได้ เชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมสะดวก พื้นที่คลังเดิม 30,000 ตารางเมตร มีลูกค้าเต็มหมด เรามีพันธมิตรด้านโลจิสติกส์ที่คอยบริหารจัดการและหาลูกค้าให้ หลัก ๆ จะรับฝากสินค้า เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอุปโภคบริโภค และเคยรับฝากเก็บหัวรถไฟฟ้า แต่ไม่ได้ให้เช่าเก็บข้าวสารรัฐบาล เพราะค่อนข้างยุ่งยาก”

พร้อมกันนี้ บริษัทยังได้เตรียมปรับรีแบรนด์น้ำมันรำข้าว “ชิม” ในช่วงกลางปีนี้ เพราะเป็นแบรนด์ดั้งเดิมที่ได้รับความนิยมในต่างจังหวัดมาเป็นเวลานาน ดังนั้นควรจะมีการเพิ่มคุณสมบัติของน้ำมัน เช่น เพิ่มแกมม่าออริซานอลมากขึ้น ส่วนช่องทางจำหน่ายมีแผนจะเพิ่มการจัดจำหน่ายให้กลุ่มผู้ซื้อ ยี่ปั๊ว-ซาปั๊วในต่างจังหวัดมากขึ้น จากเดิมที่จัดจำหน่ายผ่านห้างโมเดิร์นเทรดเป็นหลัก และอาจจะเพิ่มงบฯการทำโฆษณาในส่วนของสื่อสิ่งพิมพ์มากขึ้น จากปัจจุบันเน้นป้ายโฆษณาบนรถบัสขนาดใหญ่

“เราจะเน้นทำรีเทล ชิมน่าจะช่วยเพิ่มสัดส่วนตลาดในประเทศมากขึ้น จากปัจจุบันที่เน้นส่งออกเป็นหลัก โดยมีแบรนด์อัลฟ่า วัน (Alfa one) เป็น International Brand เป็นหลัก แต่ก็มีขายในประเทศด้วย และแบรนด์ริซี่ (Rizi) ซึ่งเราพัฒนาให้เป็นสินค้าระดับบนสำหรับตลาดในประเทศ ส่วนแบรนด์โรซ่า เราพัฒนาสำหรับขายในประเทศแต่ไม่ติดตลาดเท่าที่ควร ผู้บริโภคจะคุ้นเคยกับชิมมากกว่า”

ทั้งนี้น้ำมันรำข้าว คิดเป็นสัดส่วน 5% ในตลาดน้ำมันพืชบริโภค และที่ใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งแบรนด์ของเรามีหลายแบรนด์อยู่ในระดับพอ ๆ กับแบรนด์คิง และล่ำสูง และยังมีโรงกลั่นสุรินทร์ที่เน้นส่งออกเท่านั้น

นอกจากนี้ยังจะเน้นเพิ่มการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายสูงสุดของสินค้าเกษตรคือ การผลิตยา และเวชสำอาง ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ที่เริ่มตื่นตัวให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น

ขอบคุณ : ประชาชาติธุรกิจ

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *