Daily Archives: March 1, 2014

ศูนย์ข่าวศรีราชา – เครือสหพัฒน์ แตกไลน์ธุรกิจบริการด้วยการเปิดร้านอาหารสายพันธุ์ญี่ปุ่นแท้ “อูมั่ย – U Mai Kai Ten Sushi” ประกาศเดินหน้าขยายสาขาครอบคลุมทั้งจังหวัด และหัวเมืองใหญ่ หากผลประกอบการเป็นที่น่าพอใจ

นายทนง ศรีจิตร์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้บริหารสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา จ.ชลบุรี พร้อมด้วยนายสายัญห์ อินทะปุระ รองประธานบริษัท พิทักษ์กิจ จำกัด ได้ร่วมกันทำพิธีเปิดร้านอาหารสายพันธุ์ญี่ปุ่นแท้ “อูมั่ย – U Mai Kai Ten Sushi” ซึ่งตั้งอยู่ภายในโครงการ J-Park Sriracha ศูนย์รวมการจำหน่ายสินค้าแฟชั่น สินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคทั้งไทย และญี่ปุ่น ในเขต ต.สุรศักดิ์

ร้านดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่เพื่อรองรับงานบริการที่ครบวงจร หลังเครือสหพัฒน์ ได้แตกไลน์ธุรกิจบริการและเอ็นเตอร์เทนเมนต์ รวมทั้งธุรกิจกีฬาในพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และยังได้จัดพิธีซอฟโอเพ่นนิ่ง (Soft Opening ) โครงการ J-Park Sriracha ไปเมื่อปลายปี 2556 ที่ผ่านมา

นายทนง กล่าวว่า ร้านอาหารดังกล่าวเป็นร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่นแท้ ที่เน้นรสชาติแบบญี่ปุ่น พร้อมตั้งเป้ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้งชาวไทย และชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาอาศัยอยู่ใน อ.ศรีราชา ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน จุดเด่นของร้านอยู่ที่การเสิร์ฟบนสายพาน (Kai Ten) ซึ่งคนไทยที่ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นก็สามารถหยิบอาหารที่เสิร์ฟผ่านสายพานได้โดยไม่ต้องสั่งผ่านพนักงาน และหากต้องการอาหารเมนูพิเศษก็สามารถสั่งตรงได้จากเชฟที่ผ่านมาฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ขณะที่สนนราคาก็ประหยัดกว่าร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วไป

“ร้านอาหารอูมั่ย ใช้งบลงทุนประมาณ 7 ล้านบาท และถือเป็นสาขาแรกของเรา ซึ่งนอกจากจะมีรสชาติแบบญี่ปุ่นแล้ว ร้านแห่งนี้ยังตั้งอยู่ในศูนย์การค้าที่มีการตกแต่งในรูปแบบญี่ปุ่นทั้งสวนส่วนกลาง และรูปแบบอาคาร ซึ่งนอกจากจะสร้างความคุ้นชินให้แก่ชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาอาศัย และทำงานอยู่ในพื้นที่แล้ว ยังสร้างบรรยากาศเสมือนอยู่ในประเทศญี่ปุ่นให้แก่กลุ่มลูกค้าคนไทยได้มีโอกาสสัมผัสอีกด้วย ”

ขณะที่แผนขยายสาขาร้านอาหารญี่ปุ่น – อูมั่ย บริษัทฯ ตั้งเป้าจะขยายสาขาให้ครอบคลุมในหลายพื้นที่ของจังหวัดชลบุรี และหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ รวมทั้งในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมที่บริษัทเข้าไปลงทุน โดยจะประเมินผลประกอบการของร้านดังกล่าวในช่วงปีนี้ เพื่อกำหนดจำนวนสาขาที่จะขยายเพิ่มในอนาคต

“ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เราถือเป็นกลุ่มลงทุนแรกที่มีการลงทุนด้านงานบริการทั้งธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ กีฬา และสวนอุตสาหกรรมแบบครบวงจร ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา เราได้เพิ่มงานบริการที่เข้าถึงชุมชนมากยิ่งขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้รับงานบริการที่ดี และสัมผัสวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นโดยไม่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ โดยนำประสบการณ์ที่เกิดจากการลงทุนร่วมกับชาวญี่ปุ่นมานานมาใช้ให้เกิดประโยชน์” นายทนง กล่าว

 

ขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์

จีอีตั้งเป้าไปที่การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของโลกที่ต้องผลิตได้เร็วขึ้น ในราคาถูกลง และสามารถกระจายแหล่งผลิตไฟฟ้าไป ณ แหล่งใช้งาน

จีอีลงทุนเพิ่มในธุรกิจเครื่องยนต์ก๊าซ เทคโนโลยีกังหัน ผลิตภัณฑ์และการให้บริการแก่ลูกค้า

รายงานของจีอี เรื่อง “การเพิ่มขึ้นของดิสทริบิวเต็ด เพาเวอร์” คาดการณ์ว่า จากปัจจุบันจนถึงปี 2563 ดิสทริบิวเต็ด เพาเวอร์ จะเติบโต 40% ซึ่งเป็นการเติบโตที่เร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั่วโลก

นายจอห์น ไรซ์ รองประธานจีอี และซีอีโอหน่วยงาน Global Growth and Operations ของจีอี และนางลอเรน โบลซิงเกอร์ ผู้นำธุรกิจ ดิสทริบิวเต็ด เพาเวอร์ (Distributed Power) ของจีอี ร่วมกับนักธุรกิจและเจ้าหน้าที่รัฐบาล เปิดตัวธุรกิจ ดิสทริบิวเต็ด เพาเวอร์ ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ของจีอี ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์สามกลุ่ม คือ เครื่องกังหันก๊าซแบบแอโรเดริเวทีฟ เครื่องยนต์ก๊าซเจนบาเคอร์ และเครื่องยนต์ก๊าซวอกาชอ มีเป้าหมายในการให้บริการดิสทริบิวเต็ด เพาเวอร์ ให้มากขึ้น จีอีลงทุนสร้างธุรกิจใหม่นี้เป็นเงิน 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในระยะเวลา 4 ปี เพื่อตอบรับความต้องการระบบผลิตไฟฟ้า ณ แหล่งใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก ซึ่งระบบนี้เป็นระบบที่ง่ายต่อการจัดการด้านเงินทุน ติดตั้งได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและมอบไฟฟ้าที่มีความเสถียรให้กับลูกค้า

นอกจากนี้ จีอียังได้เปิดตัวรายงานเรื่อง “การเพิ่มขึ้นของดิสทริบิวเต็ด เพาเวอร์” ในงานนี้ ซึ่งในรายงานจีอีเน้นว่า การผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ หรือ ดิสทริบิวเต็ด เพาเวอร์ (distributed power หรือ DP) กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ที่มองหาการผลิตไฟฟ้าที่มีความเสถียร และทางเลือกพลังงานที่มีประสิทธิภาพใกล้แหล่งที่ต้องการใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะส่งผ่านกริดหรือไม่ผ่านกริดก็ตาม ทั้งนี้จีอีคาดว่า นับจากปัจจุบันจนถึงปี 2563 DP จะเติบโต 40% ซึ่งเป็นการเติบโตที่เร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั่วโลก

รายงานยังระบุว่า ชุมชนและธุรกิจต่างๆ กำลังติดตั้งเทคโนโลยี DP เพื่อช่วยให้พื้นที่ห่างไกลที่กระแส ไฟฟ้าจากกริดไปไม่ถึงมีไฟฟ้าใช้ นอกจากนี้อุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งในระบบเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ใช้ DP เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้กับภาคอุตสาหกรรมและแหล่งที่อยู่อาศัย เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีไฟฟ้าใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ และไฟฟ้าดับอย่างกระทันหันด้วยสาเหตุที่ไม่คาดการณ์มาก่อน ในขณะเดียวกันอุตสาหกรรมผลิตน้ำมันและก๊าซ ต้อง พึ่งพา พลังงานจากแหล่งพลังงานที่อยู่ในพื้นที่ที่ต้องการใช้ไฟฟ้า เพื่อผลิตไฟฟ้าให้กับการดำเนินงานในพื้นที่ห่างไกล รวมทั้งใช้เป็นพลังงานในการสูบและบีบอัดก๊าซ

นางลอเรน โบลซิงเกอร์ ประธานและหัวหน้าฝ่ายบริหาร ธุรกิจ ดิสทริบิวเต็ด เพาเวอร์ ของจีอี กล่าวว่า “ทุกวันนี้มีผู้คนมากกว่า 1.3 พันล้านคน ไม่มีไฟฟ้าที่มีความเสถียรใช้ ธุรกิจ ดิสทริบิวเต็ด เพาเวอร์ ของจีอีจึงตอบโจทย์ความต้องการนี้ได้อย่างตรงจุด เพื่อการพัฒนาประเทศและตอบสนองความต้องการของประเทศอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งจีอีมองว่ามีความต้องการโซลูชั่น DP เพิ่มขึ้น เพื่อเสริมความมั่นคงด้านพลังงานในประเทศและสอดคล้องกับกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น การขยายตัวของระบบ DP ต่างๆ เป็นประโยชน์ต่อผู้คนและอุตสาหกรรมทั่วโลก เพราะไฟฟ้าเป็นสิ่งสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตและการพัฒนาเศรษฐกิจ”

ในการเปิดตัวครั้งนี้ จีอี ยังได้ลงนามในข้อตกลงต่างๆ ดังนี้

บันทึกความเข้าใจสองฉบับกับ Clean Power Indonesia (CPI) และ PLN ในการพัฒนาและการใช้งานระบบการผลิตไฟฟ้าก๊าซชีวมวลแบบครบวงจรในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีศักยภาพที่จะนำอินโดนีเซียเข้าสู่ระบบพลังงานผสม ด้วยการผลิตไฟฟ้าจากสิ่งที่ยั่งยืนจากไม้ไผ่และไม้ต่างๆ ภายในประเทศ

ข้อตกลงครั้งใหญ่ในเอเชียแปซิฟิกจำนวนสองฉบับกับนาวิแกท เอ็นเนอร์ยี ผู้พัฒนาโครงการดิสทริบิวเต็ด เพาเวอร์ ในเรื่องการให้บริการ และจัดหาเครื่องยนต์ก๊าซเจนบาเคอร์จำนวน 100 เครื่อง มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 330 เมกะวัตต์ ให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP) หลายแห่งในประเทศอินโดนีเซียและไทย

ข้อตกลงระยะเวลา 10 ปี ในการจัดหาวัสดุส่วนประกอบให้กับนาวิแกท เพื่อใช้ในการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ก๊าซเจนบาเคอร์ J620 จำนวน 100 เครื่องที่ได้ติดตั้งไปแล้ว ณ โครงการผลิตไฟฟ้าต่างๆ ในประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และไทย

บันทึกความเข้าใจในการจัดหาเครื่องยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง รุ่น J920 FleXtra จำนวน 2 เครื่องให้กับนาวิแกท

สัญญาในการจัดหาเครื่องยนต์ก๊าซวอกาชอ รุ่น 12V275GL+ จำนวน 4 เครื่อง และรุ่น VGF48GE จำนวน 2 เครื่อง เพื่อช่วยปรับปรุงสถานีบีบอัดก๊าซที่เลมเบะห์ (Lembak) ของบริษัทน้ำมันเปอร์ตามีนา (Pertamina) ใกล้ๆ เมืองปาเลมบัง โครงการนี้จะช่วยเพิ่มแรงดันในการส่งก๊าซไปยังโรงงานหอกลั่นของเหลวและโรงปุ๋ยของลูกค้า

ข้อตกลงระหว่างจีอี กับ Green & Smart Sdn Bhd (GNS) จากประเทศมาเลเซีย ในการจัดหาโซลูชั่นเปลี่ยนของเสียเป็นพลังงาน ด้วยการใช้เทคโนโลยีการหมักย่อยสลายสารอินทรีย์ภายใต้สภาวะที่ปราศจากออกซิเจนที่เป็นสิทธิบัตรของ GNS และเทคโนโลยีเครื่องยนต์ก๊าซเจนบาเคอร์ของจีอีเพื่อผลิตไฟฟ้าและส่งเข้ากริดเพื่อจำหน่ายให้กับการไฟฟ้ามาเลเซีย

จีอี ออยล์ แอนด์ แก๊ส และ ดิสทริบิวเต็ด เพาเวอร์ ของจีอี ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับ PLN Enjiniring ในโครงการนำร่องการผลิตไฟฟ้าผ่านท่อส่งเสมือนจริงแบบครบวงจร ในหมู่เกาะที่ห่างไกลของอินโดนีเซีย โครงการนี้จะใช้โซลูชั่น Distributed Gas ขนาดเล็กของจีอี ออยล์ แอนด์ แก๊ส, โซลูชั่นการผลิตไฟฟ้าแบบใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติแบบแยกส่วนร่วมกับเทคโนโลยีเครื่องยนต์และกังหันก๊าซของดิสทริบิวเต็ด เพาเวอร์ ของจีอี เพื่อนำเสนอโซลูชั่นการผลิตพลังงานจากก๊าซที่ครอบคลุมโดยไม่ต้องพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นท่อส่ง หรือที่เรียกกันว่า “ท่อส่งเสมือนจริง”

ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
เสรี ศิรินพวงศากร
ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร ประจำประเทศไทยและพม่า
จีอี โกลเบิล โกรท แอนด์ โอปอเรชั่น
โทรศัพท์: 02 648 0813
อีเมล: seri.sirinopwongsagon@ge.com
ขอบคุณ newswit

แม้ไทยจะเปิดให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ถึง 70% ในธุรกิจโรงแรมเป็นครั้งแรกจากการเจรจาจัดทำข้อผูกพันฉบับที่ 8 ภายใต้ข้อตกลงการเปิดเสรีการค้าบริการ แต่ผลกระทบในทางปฏิบัติจะมีไม่มาก เพราะไทยยังตั้งเงื่อนไขให้ใช้ได้เฉพาะโรงแรมระดับตั้งแต่ 6 ดาวขึ้นไป อย่างไรก็ตาม คาดว่าอนาคตจะส่งผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นโดยเฉพาะกับ SMEs เนื่องจากมีแนวโน้มถูกร้องขอให้เปิดเสรีในโรงแรมระดับรองลงมามากขึ้นเพื่อให้ใกล้เคียงกับประเทศอาเซียนอื่นๆ

ในทางกลับกันธุรกิจไทยควรใช้โอกาสที่ประเทศอาเซียนอื่นๆ เปิดเสรีการลงทุนธุรกิจโรงแรมค่อนข้างมากในการยกระดับไปเป็นผู้เล่นในระดับภูมิภาค เพื่อให้มีเครือข่ายครอบคลุมตลาดที่มีศักยภาพในด้านของนักท่องเที่ยว และสร้างแบรนด์บริหารของไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งเมืองหลวงและเมืองธุรกิจต่างๆ ค่อนข้างมีศักยภาพด้านตลาดผู้เดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจมากขึ้น  โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย และกลุ่มประเทศ CLMV

ตารางข้อผูกพันการค้าบริการเสรีภายใต้ AEC ฉบับที่ 8 ล่าสุด ไทยเปิดโอกาสให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ถึง 70% ในธุรกิจโรงแรมเป็นครั้งแรก หลังจากสงวนเพดานไว้ที่ 49% มาโดยตลอดการเจรจาทั้ง 7 ฉบับที่ผ่านมา การเจรจาเปิดเสรีด้านการค้าบริการภายใต้ข้อตกลง ASEAN Framework Agreement on Services (AFAS) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ AEC มีการจัดทำข้อผูกพัน (package of specific commitment) เพื่อเปิดตลาดการค้าบริการในสาขาต่างๆ มาแล้วทั้งหมด 7 ฉบับในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทั้งไทยและหลายๆ ประเทศได้อาศัยความยืดหยุ่นของข้อตกลงเพื่อสงวนและจำกัดเพดานการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติในธุรกิจโรงแรมมาโดยตลอด โดยเฉพาะของไทยนั้นไม่ได้ขอสงวนแค่ธุรกิจโรงแรมเท่านั้น แต่จำกัดเพดานการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติไว้ที่ 49% ครอบคลุมทุกสาขาบริการมาโดยตลอด ส่งผลให้ยังไม่มีผลกระทบใดๆ เกิดขึ้นกับธุรกิจบริการในไทยมากนักในช่วงที่ผ่านมา แต่การเจรจาจัดทำข้อผูกพันในฉบับที่ 8 ที่ผ่านมานับเป็นการขยายเพดานการถือหุ้นธุรกิจโรงแรมในไทยให้กับนักลงทุนอาเซียนเป็นครั้งแรก ซึ่งโดยหลักการแล้วจะส่งผลให้นักลงทุนอาเซียนเข้ามาทำธุรกิจโรงแรมในไทยได้ง่ายขึ้นมาก และส่งผลต่อเนื่องให้ภาวะการแข่งขันในธุรกิจมีแนวโน้มสูงขึ้น จากเดิมที่ควบคุมโดย พรบ.ธุรกิจต่างด้าว

การอนุญาตดังกล่าวยังไม่เพิ่มความท้าทายอย่างมีนัยสำคัญมากนัก เพราะมีเงื่อนไขว่าเปิดเสรีเฉพาะโรงแรมระดับหกดาวขึ้นไป ด้วยความยืดหยุ่นของข้อตกลงใน AEC ที่คำนึงถึงความพร้อมของแต่ละประเทศเป็นหลักเนื่องจากประเทศในอาเซียนมีพัฒนาการแตกต่างกันมาก ทำให้การเปิดเสรีให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นในธุรกิจโรงแรมไทยได้ถึง 70% ยังคงมีเงื่อนไขกำกับ คือ อนุญาตให้เฉพาะโรงแรมในระดับหรูหราไม่ต่ำกว่าระดับ 6 ดาวเท่านั้น ดังนั้น ในทางปฏิบัติจึงจะไม่เห็นผลกระทบอะไรมากนัก เพราะการลงทุนในโรงแรมระดับ 6 ดาวขึ้นไปมักจะเป็นการลงทุนขนาดใหญ่มูลค่ามากกว่า 500 ล้าน ซึ่งสามารถขอสมัครรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ได้อีกทางหนึ่งอยู่แล้วซึ่งอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติถึงหุ้นได้ถึง 100% และคาดว่าโครงการโรงแรมที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนน่าจะได้รับการอนุม้ติได้ไม่ยากนักเนื่องจากการลงทุนในขนาดดังกล่าวส่วนใหญ่ยังต้องอาศัยเงินลงทุนและนักลงทุนจากต่างชาติมากกว่า ทั้งนี้ การกำหนดเงื่อนไขสำหรับธุรกิจโรงแรมในการเจรจาจัดทำข้อผูกพันสำหรับข้อตกลงการค้าบริการเสรีนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะเกือบทุกประเทศในอาเซียนก็สร้างเงื่อนไขการลงทุนเช่นกัน ยกเว้นเพียงสิงคโปร์และเวียดนามที่ดูจะเปิดเสรีมากที่สุดในกรณีธุรกิจโรงแรม อินโดนีเซียนั้นอนุญาตให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ถึง 100% แต่จำกัดอยู่ในบางพื้นที่ ในขณะที่มาเลเซียนั้นอนุญาตเฉพาะโรงแรม 4-5 ดาว ส่วนฟิลิปปินส์นั้นยังคงจำกัดการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติไว้ให้เป็นเสียงข้างน้อย (minority share) (รูปที่ 1)

คาดว่าไทยมีแนวโน้มจะถูกขอให้เปิดเสรีธุรกิจโรงแรมมากขึ้นในระดับดาวรองลงมาในอนาคต ซึ่งจะกลายเป็นความท้าทายที่เพิ่มขึ้นอย่างจริงจังต่อภาวะการแข่งขันในธุรกิจโรงแรมในไทย ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบระดับการเปิดเสรีสำหรับธุรกิจโรงแรมของประเทศต่างๆ ในอาเซียนแล้ว ดูเหมือนว่าไทยจะยังเปิดเสรีน้อยที่สุดรองลงมาจากฟิลิปปินส์ ซึ่งด้วยรูปแบบการเจรจาในลักษณะ request and offer จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนจะเรียกร้อง ให้ไทยเปิดเสรีในธุรกิจโรงแรมมากขึ้น โดยเฉพาะในระดับที่รองลงมาจาก 6 ดาวที่เป็นเงื่อนไขปัจจุบัน เนื่องจากประเทศอื่นๆ เปิดเสรีให้มากกว่า และไทยเป็นประเทศที่มีตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุดในอาเซียนและยังเป็นศูนย์กลาง (hub) สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวต่อไปยังประเทศรอบข้างได้ง่าย หากไทยเปิดเสรีให้นักลงทุนอาเซียนสำหรับโรงแรมระดับรองลงมาด้วยแล้วคาดว่าจะส่งผลกระทบมากขึ้นเพราะผู้ที่จะได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็น SMEs ซึ่งปัจจุบันก็เผชิญการแข่งขันที่สูงมากอยู่แล้ว สังเกตได้จากระดับราคาห้องพักที่ปรับเพิ่มขึ้นได้เฉลี่ยเพียง 2% ทั้งๆ ที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นกว่า 20% ในปี 2013 ที่ผ่านมา และแม้ว่าที่ผ่านมาธุรกิจโรงแรมและกลุ่มทุนต่างชาติใหญ่ๆ จะสามารถหาช่องทางลงทุนในไทยได้อยู่แล้วด้วยช่องทางและกลวิธีต่างๆ แต่การเปิดเสรีใน AEC จะยิ่งอำนวยความสะดวก และลดภาระและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผ่านช่องทางที่ซับซ้อนได้มาก ส่งผลให้การแข่งขันรุนแรงอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นอีก

และแม้ประเทศอาเซียนอื่นๆ จะเปิดเสรีให้นักลงทุนไทยเช่นกันซึ่งน่าจะเป็นโอกาสของธุรกิจไทย แต่ประสบการณ์การออกไปลงทุนต่างประเทศของโรงแรมไทยยังมีน้อยเมื่อเทียบกับคู่แข่งจากมาเลเซียและสิงคโปร์
 ธุรกิจโรงแรมของไทยมีเพียงน้อยรายที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งแตกต่างจากผู้เล่นรายใหญ่ๆ ของทั้งสิงคโปร์และมาเลเซียที่ทุกรายในอันดับต้นๆ จะมีสัดส่วนรายได้ที่มาจากการลงทุนหรือดำเนินธุรกิจโรงแรมในต่างประเทศ และส่วนใหญ่มาจากมากกว่าหนึ่งประเทศ (รูปที่ 2) ดังนั้น ในเวทีแข่งขันระดับภูมิภาค ธุรกิจไทยจึงอาจมีข้อเสียเปรียบในด้านของประสบการณ์ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจไทยควรอาศัยโอกาสการทยอยเปิดเสรีมากขึ้นนี้เข้าไปลงทุนในประเทศอาเซียนอื่นๆ เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายโรงแรมให้ครอบคลุมและเพิ่มมูลค่าให้แบรนด์บริหารโรงแรมของไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในทำเลธุรกิจเพราะตลาดนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางติดต่อธุรกิจมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงในหลายๆ ประเทศ ซึ่งเมืองหลวงและหัวเมืองสำคัญกำลังกลายเป็นจุดหมายปลายทางหลัก ยกตัวอย่างเช่น จำนวนนักท่องเที่ยวไปจาการ์ตาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 12% มากกว่าบาหลีที่เพิ่มขึ้นราวปีละ 10% ซึ่งสวนทางกับสถิติในช่วง 5 ปีก่อนหน้านั้นที่จำนวนผู้เดินทางมาจาการ์ตาเพิ่มขึ้นเพียงปีละ 1% และนักท่องเที่ยวเข้าบาหลีเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5% เป็นต้น ซึ่งปัจจัยสนับสนุนหลักๆ ก็คงเป็นจำนวนเที่ยวบินและสายการบินต้นทุนต่ำที่เกิดขึ้นค่อนข้างมากในระยะหลัง

นักลงทุนธุรกิจโรงแรมไทยควรพิจารณาลงทุนในเมืองธุรกิจในประเทศอาเซียนอื่นๆ โดยอาศัยข้อดีจากการเปิดเสรีการค้าบริการในธุรกิจโรงแรมที่ประเทศอาเซียนอื่นๆ มีระดับการอนุญาตมากกว่าไทย
 เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มที่กำลังเติบโตสูงอย่างอินโดนีเซียและ CLMV จะสร้างการขยายตัวของเมืองและเพิ่มปริมาณการเดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจ ส่งผลให้มีความต้องการห้องพักโรงแรมเพิ่มขึ้นในย่านธุรกิจต่างๆ

โรงแรมระดับกลาง-ล่างในไทยต้องเร่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุน การรวมกลุ่ม สร้างเครือข่าย และสร้างแบรนด์ เพื่อรองรับการเปิดเสรีธุรกิจโรงแรมของไทยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคตให้เท่าเทียมกับประเทศอาเซียนอื่นๆ เนื่องจากโรงแรมในไทยเป็นธุรกิจขนาดกลาง-เล็กเป็นส่วนใหญ่และเป็นการบริหารโดยครอบครัวซึ่งในอนาคตมีความเสี่ยงมากขึ้นจากทั้งการที่ผู้เล่นรายใหญ่ในประเทศลงมาทำธุรกิจโรงแรมในระดับล่างลงมามากขึ้นโดยอาศัยการใช้แบรนด์บริหารโรงแรมที่มีชื่อเสียงเป็นข้อได้เปรียบ และการที่ไทยมีแนวโน้มถูกร้องขอให้เปิดเสรีธุรกิจโรงแรมระดับต่ำกว่า 6 ดาวลงมาให้กับนักลงทุนอาเซียนมากขึ้นในอนาคต

ขอบคุณ ประชาชาติออนไลน์

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จับมือภาคอุตสาหกรรมแฟชั่นและเครื่องหนังไทย เตรียมเดินหน้าจัดงานแสดงสินค้าแฟชั่นและงานแสดงสินค้าเครื่องหนัง 2557 หรือ Bangkok International Fashion Fair and Bangkok International Leather Fair 2014 (BIFF&BIL 2014) มั่นใจเปิดเวทีแสดงสินค้าระดับนานาชาติครั้งใหญ่ในอาเซียน ผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางแฟชั่นและเครื่องหนังในภูมิภาค เผยยอดผู้ประกอบการไทยและต่างชาติตอบรับเข้าร่วมแสดงสินค้ากว่า 700 คูหา ขณะที่กรมฯ เร่งทำแผนการค้าเชิงรุกเจาะกลุ่มผู้ซื้อโดยตรง หวังดึงดูดคู่ค้าร่วมงานกว่า 6,000 ราย กระตุ้นคำสั่งซื้อไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงการจัดงาน BIFF&BIL 2014 ซึ่งจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 12 – 16 มีนาคมนี้ ว่าจากการที่มีสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ประชุมหารือและสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่นสิ่งทอและเครื่องหนังที่สมัครเข้าร่วมงาน BIFF & BIL ในปีนี้ ปรากฏว่าผู้ประกอบการไทยกว่าร้อยละ 90 ต่างแสดงความคิดเห็นตรงกันให้เดินหน้าจัดงานตามกำหนดการเดิม เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศและกระตุ้นความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ ผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากเล็งเห็นว่างาน BIFF & BILเป็นงานแสดงสินค้าแฟชั่น และเครื่องหนังครั้งใหญ่ในอาเซียน ถือเป็นเวทีการค้าระดับนานาชาติที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 32 ปี และมีส่วนช่วยส่งเสริมการส่งออกสินค้าแฟชั่นและเครื่องหนังไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ภาพรวมของอุตสาหกรรมแฟชั่นและเครื่องหนังไทยในปี 2556 ถือว่ามีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยการส่งออกของปี 2556 มีมูลค่า 9,223.67 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งออกเป็น สินค้าผ้าผืนและเส้นด้าย 2,525.26 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.85 สินค้าเครื่องนุ่งห่ม มูลค่า 2,873.50 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวลดลงร้อยละ 2.58 สินค้าสิ่งทออื่นๆ มูลค่า 2,083.82 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.61 และสินค้าเครื่องหนัง เครื่องใช้ในการเดินทางและรองเท้า มีมูลค่าส่งออก 1,741.08 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.36 สำหรับเป้าหมายการส่งออกสินค้าแฟชั่นและเครื่องหนังในปี 2557 กรมฯ คาดว่าจะสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ตามเป้าหมายร้อยละ 5 เนื่องจากปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวและแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทย ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีในการเดินหน้าจัดงาน BIFF&BIL 2014 ให้เป็นเวทีการค้าที่ผู้ผลิต ผู้ซื้อ ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า ดีไซเนอร์และผู้จัดจำหน่ายได้มาพบปะเจรจาธุรกิจเพื่อขยายช่องทางสู่ตลาดโลก

“การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 มาพร้อมกับโอกาสการค้าที่มากขึ้น เนื่องจากฐานลูกค้าได้ขยายครอบคลุมประชากรกว่า 600 ล้านคน ผู้ประกอบการจึงต้องพัฒนาธุรกิจ ศึกษาตลาด เพื่อเตรียมพร้อมรองรับโอกาสและการแข่งขันที่มากขึ้นด้วย ในขณะที่กรมฯ ได้เร่งทำแผนการค้าเชิงรุกเพื่อเจาะเข้าถึงผู้ซื้อกลุ่มเป้าหมายด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด อาทิ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าแฟชั่นที่สำคัญในต่างประเทศ การจัดคณะผู้แทนการค้าไปเจรจาการค้ากับผู้ซื้อรายใหญ่ในตลาดศักยภาพ รวมถึงการนำคณะผู้แทนการค้าจากต่างประเทศมาเยือนไทยด้วย ทั้งนี้ งาน BIFF&BIL 2014 ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญในการผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยได้มีโอกาสสร้าง และรักษาเครือข่ายการค้ากับผู้ซื้อที่มีศักยภาพทั้งในตลาดใหม่และตลาดเดิม เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ไต้หวัน ยุโรป รวมถึงอเมริกาและอื่นๆ ที่คาดว่าจะสนใจเข้าชมงานกว่า 6,000 ราย และผลักดันยอดคำสั่งซื้อไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าว

สำหรับงาน BIFF&BIL 2014 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 16 มีนาคม 2557 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด STYLE+DESIGN ASEAN เพื่อเผยแพร่ศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมแฟชั่นและเครื่องหนังไทยที่มีกระบวนการผลิตที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยการสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต การตลาด และการค้าสิ่งทอและเครื่องหนังที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย พร้อมทั้งเปิดเวทีให้นักออกแบบสินค้าแฟชั่นได้แสดงผลงาน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีศักยภาพในการผลิต และการออกแบบได้มีโอกาสขยายช่องทางการค้าสู่ตลาดโลก

จุดเด่นของงานในปีนี้ คือเป็นการพัฒนารูปแบบงานให้มีความน่าสนใจและเป็นสากลมากขึ้น โดยมีผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศ อาทิ กลุ่มอาเซียน, ญี่ปุ่น, เกาหลี, จีน, ไต้หวัน, ยุโรปและสหรัฐอเมริกา ตอบรับนำสินค้าเข้าร่วมจัดแสดงกว่า 700 คูหาแบ่งพื้นที่ออกเป็นหมวดหมู่ ด้วยแนวคิด Fair-in-Fair ประกอบด้วย สินค้าสิ่งทอ (Textile), เครื่องนุ่งห่ม (Apparel), เครื่องประดับแฟชั่น (Fashion Accessories),เครื่องหนัง (Leather Goods), รองเท้า (Footwear), หนังฟอกสำเร็จ (Tanned Leather), แฟชั่นและเครื่องหนังที่มีเอกลักษณ์หรือลวดลายเฉพาะตัว (Thai Exotic), ดีไซเนอร์ (Designer) และสินค้าแบรนด์จากต่างประเทศ (International Zone)

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมพิเศษที่น่าสนใจ อาทิ การจับคู่ธุรกิจ Business Matching,  นิทรรศการ Small Lot Order ตอบโจทย์ความต้องการสั่งซื้อสินค้าปริมาณน้อย แต่เน้นคุณภาพและดีไซน์ตามความต้องการ   การแสดงผลงานผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนาการออกแบบในโครงการ Workshop โดย ผศ.ดร.อโนทัย ชลชาติภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอของไทย จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นิทรรศการจัดแสดงสินค้าและแนวโน้มเครื่องหนัง และนิทรรศการแสดงผลงานการออกแบบจาก 30 ดีไซเนอร์รุ่นใหม่มาโชว์ใน Designers’ Room และพื้นที่จัดแสดงผลงานของดีไซเนอร์แบรนด์ชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศ

อีกทั้งยังมีนิทรรศการแสดงผลงานการออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่นในโครงการ Asia Fashion Federation (AFF), จาก 6 ประเทศสมาชิก ผลงานสินค้าที่ได้รับการพัฒนาจากศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์แฟชั่น Fashion Product Development Center (FPDC), การจัดแสดงผ้าผืนจากโครงการ Japan – Thailand Textile and Apparel Collaboration (JTC ) ที่เป็นการพัฒนาทั้งนวัตกรรมการผลิตและรูปแบบระหว่างไทย-ญี่ปุ่นเพื่อจำหน่ายในตลาดญี่ปุ่น นอกจากนี้ ภายในโซนอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยังมีการแสดงนวัตกรรมสิ่งทอ เช่น เส้นใยทอละเอียดเพื่องานสิ่งทอคุณภาพสูงรองรับการผลิตสินค้าแฟชั่นแบรนด์ชั้นนำของโลก การพัฒนาเส้นใยธรรมชาติใหม่ๆ และการผสมผสานกับเส้นใยต่างๆ รวมไปถึง  การฟอกย้อมโดยการใช้วัสดุธรรมชาติไม่ใช้สารเคมี (Natural dye) และการทดลองการฟอกย้อมแบบไม่ใช้น้ำ เป็นนวัตกรรมใหม่เน้นการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อนำเสนอทางเลือกที่หลากหลายให้กับผู้ซื้อในตลาดโลกที่ต้องการสินค้าคุณภาพสูง โดยเฉพาะใน ตลาดญี่ปุ่น และยุโรป

ในส่วนของอุตสาหกรรมเครื่องหนังมีการจัดแสดงสินค้าเครื่องหนังตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ รวมทั้งนวัตกรรมการผลิตหนังใหม่ๆ อาทิ การพัฒนาหนังที่มีน้ำหนักเบาเพื่อตอบโจทย์เครื่องหนังแบรนด์ชั้นนำระดับโลก และผลิตภัณฑ์หนังสัตว์ที่มีเอกลักษณ์หรือลวดลายเฉพาะตัว (Exotics Leather) ซึ่งไทยถือเป็นผู้นำด้านการผลิต เพื่อการส่งออกของโลก รวมทั้งยังมีการบรรยายแนะนำเทรนด์สินค้าเครื่องหนังปี 2014/15 โดยผู้เชี่ยวชาญจากอิตาลี อาทิ Mr.Giorgio Cannara นายกสมาคมเครื่องหนังอิตาลี Mr.Roberto Ricci ผู้กำหนดเทรนด์ในงานแสดงสินค้า Lineapelle และงานแสดงสินค้าเครื่องหนัง Mipel

สำหรับกิจกรรมไฮไลท์ที่จัดขึ้นในปีนี้เป็นครั้งแรก ได้แก่นิทรรศการแสดงสินค้าแฟชั่นสำหรับผู้สูงอายุ สำหรับผู้ซื้อกลุ่มใหม่ที่ต้องการซื้อสินค้าหลากหลายประเภท นอกจากนี้ ยังมีเวทีแสดงแฟชั่นโชว์ผลงานการออกแบบ อันโดดเด่นของดีไซเนอร์ไทยและอาเซียน รวมถึงแบรนด์ชั้นนำจากทั่วโลก อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี และ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ

“ขณะนี้ กรมฯได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์การจัดงาน BIFF & BIL 2014 ไปยังกลุ่มผู้ประกอบการ ผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยการประสานงานร่วมกับสำนักงานในภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ และทูตพาณิชย์ทั่วโลกกว่า 65 แห่ง รวมทั้งสำนักงานส่งเสริมการค้าในภูมิภาค เพื่อเชิญผู้ซื้อที่เป็นผู้ค้าส่ง ค้าปลีก และผู้ค้าชายแดน และเพื่อเป็นการเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานฯ กรมฯ ยังได้อำนวยความสะดวกในเรื่องของการนัดหมายจับคู่ธุรกิจ Business Matching แบบล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์ www.biffandbilmatching.com เพื่อให้ผู้ซื้อได้สะดวกขึ้น” นางนันทวัลย์ กล่าวเพิ่มเติม

งาน BIFF&BIL 2014 เตรียมเปิดฉากในวันที่ 12 – 16 มีนาคม 2557 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยวันที่ 12 -14 มีนาคม 2557 เป็นวันเจรจาธุรกิจ ตั้งแต่เวลา 10.00 – 18.00 น. และวันจำหน่ายปลีก 15 – 16 มีนาคม 2557  ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น.

ขอบคุณ ประชาชาติออนไลน์

แม็คโครบุกเกาะพะงัน เปิดสาขาใหม่รองรับความต้องการลูกค้า

สุราษฎร์ธานี – แม็คโครเปิดสาขาใหม่บนเกาะพะงัน เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่บนเนื้อที่ 1,800 ตารางเมตร จำหน่ายอาหารที่จำเป็นกว่า 5,000 รายการ 
นายสันติ จันทร์แรม ผู้จัดการทั่วไป แม็คโคร ฟูดเซอร์วิส สาขาเกาะพะงัน เปิดเผยว่า “ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร บนเกาะพะงัน มีศักยภาพการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่รู้จักกันดีของนักท่องเที่ยวทั่วโลก พื้นที่กว่า 170 ตารางกิโลเมตร ของเกาะพะงัน ประกอบไปด้วยสถานที่ที่น่าสนใจมากมาย ทั้งชายหาดขาว น้ำตก อุทยานแห่งชาติ พร้อมกิจกรรมทางทะเลที่หลากหลายให้นักท่องเที่ยวได้เพลิดเพลิน ไม่ว่าจะเป็น ดำน้ำ เดินป่า ดูนก การชมวิถีชีวิตของชาวประมง ทำให้เกาะพะงันได้รับความสนใจ และเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมากขึ้นเป็นลำดับทุกปี ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกว่า 3 แสนคนต่อปีซึ่งแม็คโคร ฟูดเซอร์วิส สาขาเกาะพะงัน เป็นสโตร์รูปแบบใหม่ของแม็คโคร เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวบนเกาะพะงัน และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ ได้รับการออกแบบเฉพาะโดยคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าสมาชิกกลุ่มร้านอาหารเป็นหลัก แม็คโคร ฟูดเซอร์วิส สาขาเกาะพะงัน ถือเป็นสโตร์ฟูดเซอร์วิสแห่งที่ 4 ของแม็คโคร จำหน่ายสินค้าที่ร้านอาหารจำเป็นต้องใช้ในแต่ละวันมากกว่า 5,000 รายการ ทั้งอาหารแช่แข็ง อาหารแห้ง เครื่องปรุง เนื้อสัตว์ ไข่ ผักสลัด ชีส เบเกอรี และภาชนะบรรจุอาหาร พร้อมกันนี้ ยังจำหน่ายเนื้อนำเข้า และเครื่องดื่มสำหรับใช้ในร้านอาหารอีกด้วย บนพื้นที่จำหน่ายสินค้ากว่า 1,800 ตารางเมต
นายสันติ กล่าวอีกว่า ด้วยทำเลที่ใกล้ร้านอาหารและโรงแรมมากขึ้น จะทำให้ลูกค้าผู้ประกอบการในพื้นที่สามารถซื้อวัตถุดิบ และสินค้าจำเป็นสำหรับร้านอาหารได้สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางนั่งเรือ นั่งรถเข้าตัวเมืองเพื่อซื้อของเหมือนที่ผ่านมา ช่วยประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อซื้อวัตถุดิบในแต่ละวัน ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการร้านอาหาร และโรงแรมให้สามารถลดต้นทุน เพิ่มกำไร และดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

ขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์