ธุรกิจโรงแรมไทยท้าทายมากขึ้นหรือไม่ จากข้อตกลงเปิดเสรีบริการชุดที่ 8 ใน AEC

แม้ไทยจะเปิดให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ถึง 70% ในธุรกิจโรงแรมเป็นครั้งแรกจากการเจรจาจัดทำข้อผูกพันฉบับที่ 8 ภายใต้ข้อตกลงการเปิดเสรีการค้าบริการ แต่ผลกระทบในทางปฏิบัติจะมีไม่มาก เพราะไทยยังตั้งเงื่อนไขให้ใช้ได้เฉพาะโรงแรมระดับตั้งแต่ 6 ดาวขึ้นไป อย่างไรก็ตาม คาดว่าอนาคตจะส่งผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นโดยเฉพาะกับ SMEs เนื่องจากมีแนวโน้มถูกร้องขอให้เปิดเสรีในโรงแรมระดับรองลงมามากขึ้นเพื่อให้ใกล้เคียงกับประเทศอาเซียนอื่นๆ

ในทางกลับกันธุรกิจไทยควรใช้โอกาสที่ประเทศอาเซียนอื่นๆ เปิดเสรีการลงทุนธุรกิจโรงแรมค่อนข้างมากในการยกระดับไปเป็นผู้เล่นในระดับภูมิภาค เพื่อให้มีเครือข่ายครอบคลุมตลาดที่มีศักยภาพในด้านของนักท่องเที่ยว และสร้างแบรนด์บริหารของไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งเมืองหลวงและเมืองธุรกิจต่างๆ ค่อนข้างมีศักยภาพด้านตลาดผู้เดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจมากขึ้น  โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย และกลุ่มประเทศ CLMV

ตารางข้อผูกพันการค้าบริการเสรีภายใต้ AEC ฉบับที่ 8 ล่าสุด ไทยเปิดโอกาสให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ถึง 70% ในธุรกิจโรงแรมเป็นครั้งแรก หลังจากสงวนเพดานไว้ที่ 49% มาโดยตลอดการเจรจาทั้ง 7 ฉบับที่ผ่านมา การเจรจาเปิดเสรีด้านการค้าบริการภายใต้ข้อตกลง ASEAN Framework Agreement on Services (AFAS) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ AEC มีการจัดทำข้อผูกพัน (package of specific commitment) เพื่อเปิดตลาดการค้าบริการในสาขาต่างๆ มาแล้วทั้งหมด 7 ฉบับในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทั้งไทยและหลายๆ ประเทศได้อาศัยความยืดหยุ่นของข้อตกลงเพื่อสงวนและจำกัดเพดานการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติในธุรกิจโรงแรมมาโดยตลอด โดยเฉพาะของไทยนั้นไม่ได้ขอสงวนแค่ธุรกิจโรงแรมเท่านั้น แต่จำกัดเพดานการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติไว้ที่ 49% ครอบคลุมทุกสาขาบริการมาโดยตลอด ส่งผลให้ยังไม่มีผลกระทบใดๆ เกิดขึ้นกับธุรกิจบริการในไทยมากนักในช่วงที่ผ่านมา แต่การเจรจาจัดทำข้อผูกพันในฉบับที่ 8 ที่ผ่านมานับเป็นการขยายเพดานการถือหุ้นธุรกิจโรงแรมในไทยให้กับนักลงทุนอาเซียนเป็นครั้งแรก ซึ่งโดยหลักการแล้วจะส่งผลให้นักลงทุนอาเซียนเข้ามาทำธุรกิจโรงแรมในไทยได้ง่ายขึ้นมาก และส่งผลต่อเนื่องให้ภาวะการแข่งขันในธุรกิจมีแนวโน้มสูงขึ้น จากเดิมที่ควบคุมโดย พรบ.ธุรกิจต่างด้าว

การอนุญาตดังกล่าวยังไม่เพิ่มความท้าทายอย่างมีนัยสำคัญมากนัก เพราะมีเงื่อนไขว่าเปิดเสรีเฉพาะโรงแรมระดับหกดาวขึ้นไป ด้วยความยืดหยุ่นของข้อตกลงใน AEC ที่คำนึงถึงความพร้อมของแต่ละประเทศเป็นหลักเนื่องจากประเทศในอาเซียนมีพัฒนาการแตกต่างกันมาก ทำให้การเปิดเสรีให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นในธุรกิจโรงแรมไทยได้ถึง 70% ยังคงมีเงื่อนไขกำกับ คือ อนุญาตให้เฉพาะโรงแรมในระดับหรูหราไม่ต่ำกว่าระดับ 6 ดาวเท่านั้น ดังนั้น ในทางปฏิบัติจึงจะไม่เห็นผลกระทบอะไรมากนัก เพราะการลงทุนในโรงแรมระดับ 6 ดาวขึ้นไปมักจะเป็นการลงทุนขนาดใหญ่มูลค่ามากกว่า 500 ล้าน ซึ่งสามารถขอสมัครรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ได้อีกทางหนึ่งอยู่แล้วซึ่งอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติถึงหุ้นได้ถึง 100% และคาดว่าโครงการโรงแรมที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนน่าจะได้รับการอนุม้ติได้ไม่ยากนักเนื่องจากการลงทุนในขนาดดังกล่าวส่วนใหญ่ยังต้องอาศัยเงินลงทุนและนักลงทุนจากต่างชาติมากกว่า ทั้งนี้ การกำหนดเงื่อนไขสำหรับธุรกิจโรงแรมในการเจรจาจัดทำข้อผูกพันสำหรับข้อตกลงการค้าบริการเสรีนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะเกือบทุกประเทศในอาเซียนก็สร้างเงื่อนไขการลงทุนเช่นกัน ยกเว้นเพียงสิงคโปร์และเวียดนามที่ดูจะเปิดเสรีมากที่สุดในกรณีธุรกิจโรงแรม อินโดนีเซียนั้นอนุญาตให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ถึง 100% แต่จำกัดอยู่ในบางพื้นที่ ในขณะที่มาเลเซียนั้นอนุญาตเฉพาะโรงแรม 4-5 ดาว ส่วนฟิลิปปินส์นั้นยังคงจำกัดการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติไว้ให้เป็นเสียงข้างน้อย (minority share) (รูปที่ 1)

คาดว่าไทยมีแนวโน้มจะถูกขอให้เปิดเสรีธุรกิจโรงแรมมากขึ้นในระดับดาวรองลงมาในอนาคต ซึ่งจะกลายเป็นความท้าทายที่เพิ่มขึ้นอย่างจริงจังต่อภาวะการแข่งขันในธุรกิจโรงแรมในไทย ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบระดับการเปิดเสรีสำหรับธุรกิจโรงแรมของประเทศต่างๆ ในอาเซียนแล้ว ดูเหมือนว่าไทยจะยังเปิดเสรีน้อยที่สุดรองลงมาจากฟิลิปปินส์ ซึ่งด้วยรูปแบบการเจรจาในลักษณะ request and offer จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนจะเรียกร้อง ให้ไทยเปิดเสรีในธุรกิจโรงแรมมากขึ้น โดยเฉพาะในระดับที่รองลงมาจาก 6 ดาวที่เป็นเงื่อนไขปัจจุบัน เนื่องจากประเทศอื่นๆ เปิดเสรีให้มากกว่า และไทยเป็นประเทศที่มีตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุดในอาเซียนและยังเป็นศูนย์กลาง (hub) สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวต่อไปยังประเทศรอบข้างได้ง่าย หากไทยเปิดเสรีให้นักลงทุนอาเซียนสำหรับโรงแรมระดับรองลงมาด้วยแล้วคาดว่าจะส่งผลกระทบมากขึ้นเพราะผู้ที่จะได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็น SMEs ซึ่งปัจจุบันก็เผชิญการแข่งขันที่สูงมากอยู่แล้ว สังเกตได้จากระดับราคาห้องพักที่ปรับเพิ่มขึ้นได้เฉลี่ยเพียง 2% ทั้งๆ ที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นกว่า 20% ในปี 2013 ที่ผ่านมา และแม้ว่าที่ผ่านมาธุรกิจโรงแรมและกลุ่มทุนต่างชาติใหญ่ๆ จะสามารถหาช่องทางลงทุนในไทยได้อยู่แล้วด้วยช่องทางและกลวิธีต่างๆ แต่การเปิดเสรีใน AEC จะยิ่งอำนวยความสะดวก และลดภาระและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผ่านช่องทางที่ซับซ้อนได้มาก ส่งผลให้การแข่งขันรุนแรงอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นอีก

และแม้ประเทศอาเซียนอื่นๆ จะเปิดเสรีให้นักลงทุนไทยเช่นกันซึ่งน่าจะเป็นโอกาสของธุรกิจไทย แต่ประสบการณ์การออกไปลงทุนต่างประเทศของโรงแรมไทยยังมีน้อยเมื่อเทียบกับคู่แข่งจากมาเลเซียและสิงคโปร์
 ธุรกิจโรงแรมของไทยมีเพียงน้อยรายที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งแตกต่างจากผู้เล่นรายใหญ่ๆ ของทั้งสิงคโปร์และมาเลเซียที่ทุกรายในอันดับต้นๆ จะมีสัดส่วนรายได้ที่มาจากการลงทุนหรือดำเนินธุรกิจโรงแรมในต่างประเทศ และส่วนใหญ่มาจากมากกว่าหนึ่งประเทศ (รูปที่ 2) ดังนั้น ในเวทีแข่งขันระดับภูมิภาค ธุรกิจไทยจึงอาจมีข้อเสียเปรียบในด้านของประสบการณ์ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจไทยควรอาศัยโอกาสการทยอยเปิดเสรีมากขึ้นนี้เข้าไปลงทุนในประเทศอาเซียนอื่นๆ เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายโรงแรมให้ครอบคลุมและเพิ่มมูลค่าให้แบรนด์บริหารโรงแรมของไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในทำเลธุรกิจเพราะตลาดนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางติดต่อธุรกิจมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงในหลายๆ ประเทศ ซึ่งเมืองหลวงและหัวเมืองสำคัญกำลังกลายเป็นจุดหมายปลายทางหลัก ยกตัวอย่างเช่น จำนวนนักท่องเที่ยวไปจาการ์ตาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 12% มากกว่าบาหลีที่เพิ่มขึ้นราวปีละ 10% ซึ่งสวนทางกับสถิติในช่วง 5 ปีก่อนหน้านั้นที่จำนวนผู้เดินทางมาจาการ์ตาเพิ่มขึ้นเพียงปีละ 1% และนักท่องเที่ยวเข้าบาหลีเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5% เป็นต้น ซึ่งปัจจัยสนับสนุนหลักๆ ก็คงเป็นจำนวนเที่ยวบินและสายการบินต้นทุนต่ำที่เกิดขึ้นค่อนข้างมากในระยะหลัง

นักลงทุนธุรกิจโรงแรมไทยควรพิจารณาลงทุนในเมืองธุรกิจในประเทศอาเซียนอื่นๆ โดยอาศัยข้อดีจากการเปิดเสรีการค้าบริการในธุรกิจโรงแรมที่ประเทศอาเซียนอื่นๆ มีระดับการอนุญาตมากกว่าไทย
 เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มที่กำลังเติบโตสูงอย่างอินโดนีเซียและ CLMV จะสร้างการขยายตัวของเมืองและเพิ่มปริมาณการเดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจ ส่งผลให้มีความต้องการห้องพักโรงแรมเพิ่มขึ้นในย่านธุรกิจต่างๆ

โรงแรมระดับกลาง-ล่างในไทยต้องเร่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุน การรวมกลุ่ม สร้างเครือข่าย และสร้างแบรนด์ เพื่อรองรับการเปิดเสรีธุรกิจโรงแรมของไทยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคตให้เท่าเทียมกับประเทศอาเซียนอื่นๆ เนื่องจากโรงแรมในไทยเป็นธุรกิจขนาดกลาง-เล็กเป็นส่วนใหญ่และเป็นการบริหารโดยครอบครัวซึ่งในอนาคตมีความเสี่ยงมากขึ้นจากทั้งการที่ผู้เล่นรายใหญ่ในประเทศลงมาทำธุรกิจโรงแรมในระดับล่างลงมามากขึ้นโดยอาศัยการใช้แบรนด์บริหารโรงแรมที่มีชื่อเสียงเป็นข้อได้เปรียบ และการที่ไทยมีแนวโน้มถูกร้องขอให้เปิดเสรีธุรกิจโรงแรมระดับต่ำกว่า 6 ดาวลงมาให้กับนักลงทุนอาเซียนมากขึ้นในอนาคต

ขอบคุณ ประชาชาติออนไลน์

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *