Category: การท่องเที่ยว

 

 

ตลาดภูธร-กลุ่ม CLMV โอกาสทองธุรกิจอีเวนท์ไทย

หวังชิงส่วนแบ่งมูลค่าต่างประเทศ 1,412 ล้านบาท

ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมือง ยังเป็นปัจจัยหลักที่กดดันธุรกิจอีเวนท์ในปี 2557 ให้เติบโตต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ตาม การขยายธุรกิจของผู้ประกอบการไปสู่ตลาดต่างจังหวัด และการส่งเสริมให้หัวเมืองต่างจังหวัดที่สำคัญเป็นเมืองแห่งไมซ์ เป็นปัจจัยหนุนให้ธุรกิจอีเวนท์ภายในประเทศขยายตัว รวมถึงความต้องการการจัดงานอีเวนท์ในประเทศกลุ่ม CLMV เป็นโอกาสของผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ไทยในต่างประเทศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการว่า ธุรกิจอีเวนท์จะเติบโตขึ้นจากมูลค่าประมาณ 14,000 ล้านบาท ในปี 2556 ไปสู่มูลค่าประมาณ 14,300-14,700 ล้านบาท ในปี 2557 หรือเติบโตขึ้นร้อยละ 2-5 ผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ขนาดกลางและเล็กควรปรับกลยุทธ์จากการเป็นผู้บริหารการจัดงาน มาสู่การเป็นผู้ให้บริการสื่อสารการตลาดอย่างครบวงจร ในขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ขนาดใหญ่อาจขยายธุรกิจไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ในยุคปัจจุบันผู้ประกอบการมีทางเลือกในการทำการตลาดเพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าและบริการในรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดโปรโมชั่น การโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ รวมถึงการทำการตลาดในเชิงกิจกรรม หรือการจัดงานอีเวนท์ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงจากผู้ประกอบการ เนื่องจากสามารถสร้างประสบการณ์และการมีส่วนร่วมจากลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง ความนิยมในการจัดงานอีเวนท์ของผู้ประกอบการดังกล่าวนำมาซึ่งการเติบโตของธุรกิจบริหารการจัดงาน หรือธุรกิจอีเวนท์ ซึ่งมีบทบาทสนับสนุนผู้ประกอบการให้การจัดงานอีเวนท์ประสบความสำเร็จบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

ปี 57 ธุรกิจอีเวนท์ยังเติบโต

การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2556 ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้ประชาชนระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย ประกอบกับช่วงปลายปีซึ่งถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการจะทุ่มงบประมาณในการจัดงานอีเวนท์ เพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ก็ยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยทางด้านการเมือง ส่งผลให้ผู้ประกอบการเลือกที่จะชะลอการจัดงานอีเวนท์ออกไป หรือยกเลิกการจัดงานอีเวนท์ ธุรกิจอีเวนท์ในปี 2556 จึงไม่เติบโตตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้

สำหรับในปี 2557 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องจากปี 2556 ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการจัดงานอีเวนท์ในช่วงต้นปีอยู่ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาทิศทางการใช้งบประมาณของผู้ประกอบการในภาพรวมภายใต้ภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองแล้ว จะพบว่าผู้ประกอบการย่อมให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด

ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงมีแนวโน้มจัดสรรงบประมาณการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ มายังการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายมากขึ้น เนื่องจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเป็นการใช้งบประมาณสร้างประสบการณ์และการมีส่วนร่วมกับสินค้าและบริการสำหรับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง และเป็นการสื่อสารสองทางระหว่างผู้ประกอบการและลูกค้า (Two-way Communication) รวมถึงยังสามารถวัดผลความสำเร็จได้อย่างชัดเจนมากกว่าการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ที่เป็นเพียงการใช้งบประมาณสื่อสารจากผู้ประกอบการไปยังลูกค้าในทิศทางเดียว (One-way Communication) รวมถึงยังวัดผลความสำเร็จในการรับรู้และกระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้าและบริการจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ได้ยาก หรือกล่าวโดยสรุปได้ว่า ภายใต้ภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองในปัจจุบัน การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ซึ่งรวมถึงการจัดงานอีเวนท์ก็ยังสามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการได้ดีกว่าการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ

จากแนวโน้มการจัดสรรงบประมาณการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ มายังการจัดงานอีเวนท์มากขึ้น ประกอบกับการชะลอการจัดงานอีเวนท์ออกไปหรือยกเลิกการจัดงานอีเวนท์ของผู้ประกอบการในปี 2556 ซึ่งคาดว่าผู้ประกอบการน่าจะทยอยกลับมาจัดงานอีเวนท์ในปี 2557 นี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประมาณการว่า ธุรกิจอีเวนท์จะเติบโตขึ้นจากมูลค่าประมาณ 14,000 ล้านบาท ในปี 2556 ไปสู่มูลค่าประมาณ 14,300-14,700 ล้านบาท ในปี 2557 หรือเติบโตขึ้นร้อยละ 2-5 โดยแบ่งเป็นมูลค่าธุรกิจอีเวนท์ที่จัดภายในประเทศประมาณ 13,010-13,288 ล้านบาท หรือเติบโตไม่เกินร้อยละ 4 และเป็นมูลค่าธุรกิจอีเวนท์ที่จัดต่างประเทศประมาณ 1,290-1,412 ล้านบาท หรือเติบโตไม่เกินร้อยละ 21 สอดคล้องตามทิศทางการมุ่งขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศของผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ขนาดใหญ่

ในอดีตที่ผ่านมา งานอีเวนท์เป็นรูปแบบการทำการตลาดที่ได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการเป็นอย่างสูง ประกอบกับการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ไทย ทั้งในด้านความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี รวมถึงองค์ความรู้ในการบริหารจัดการงานอีเวนท์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ธุรกิจอีเวนท์สามารถเติบโตได้มากกว่าร้อยละ 10 ต่อปี อย่างไรก็ตาม จากการที่ธุรกิจอีเวนท์มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงไปในทิศทางเดียวกันกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

ดังจะเห็นได้จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและปัจจัยทางด้านการเมืองในปี 2556 ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่กดดันธุรกิจอีเวนท์ในปี 2556 ให้เติบโตต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น โดยพบว่าในปี 2556 นั้น ธุรกิจอีเวนท์มีมูลค่าติดลบกว่าร้อยละ 7 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า หากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองในต้นปี 2557 นี้ ยืดเยื้อไปจนถึงช่วงกลางปี ประกอบกับมีปัจจัยลบด้านอื่นๆ ที่จะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความล่าช้าในการอนุมัติโครงการภาครัฐ รวมถึงภัยธรรมชาติ ซึ่งเป็นเหตุให้ประชาชนมีความระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการจัดงานอีเวนท์ออกไป หรือยกเลิกการจัดงานอีเวนท์ ก็อาจส่งผลให้ธุรกิจอีเวนท์ในปี 2557 เติบโตได้เพียงร้อยละ 2 เท่านั้น ในขณะเดียวกัน หากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองในต้นปี 2557 นี้ ไม่ยืดเยื้อ รวมถึงมีปัจจัยหนุนในกลุ่มธุรกิจต่างๆ ธุรกิจอีเวนท์ก็จะสามารถเติบโตได้ถึงร้อยละ 5 ตามที่คาดการณ์ไว้ได้

ตลาดภูธรและกลุ่ม CLMV โอกาสอีเวนท์ไทย

แม้ว่าธุรกิจอีเวนท์จะอ่อนไหวต่อปัจจัยการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ยังมีช่องว่างในตลาดทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศที่เป็นโอกาสในการขยายธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ตลาดต่างจังหวัดผลักดันให้ธุรกิจอีเวนท์ภายในประเทศขยายตัว การขยายตัวของความเป็นเมือง ประกอบกับการเล็งเห็นถึงขนาดตลาดผู้บริโภคและศักยภาพทางเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างจังหวัด ที่จะนำมาซึ่งกำลังซื้อของคนในพื้นที่ ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ จึงหันมามุ่งขยายธุรกิจจากกรุงเทพฯ ไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค ส่งผลให้มีความต้องการจัดงานอีเวนท์เพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าและบริการมากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ เราจะเห็นได้ว่า พื้นที่ต่างจังหวัดยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยทางด้านการเมืองน้อยกว่ากรุงเทพฯ จึงส่งผลให้การจัดงานอีเวนท์ในต่างจังหวัดมีโอกาสถูกชะลอหรือยกเลิกในระดับต่ำกว่าการจัดงานอีเวนท์ในกรุงเทพฯ

นอกจากธุรกิจอีเวนท์จะขยายตัวไปต่างจังหวัดสอดคล้องตามการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการแล้ว การส่งเสริมให้หัวเมืองต่างจังหวัดที่สำคัญ ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น พัทยา และภูเก็ต เป็นเมืองแห่งไมซ์ (Meetings, Incentives, Conventions and Exhibitions: MICE) ประกอบกับความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในจังหวัดดังกล่าว เช่น สถานที่จัดประชุม พื้นที่การจัดแสดงสินค้า เส้นทางการคมนาคมขนส่ง ระบบสื่อสารและโทรคมนาคม ระบบสาธารณูปโภค บริการด้านโรงแรมและที่พัก บุคลากร เป็นต้น ก็ยิ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธุรกิจอีเวนท์ยังสามารถขยายตัวในต่างจังหวัดได้เป็นอย่างดีจากการจัดงานโดยภาครัฐ ผู้ประกอบการ สมาคม รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งจะใช้บริการธุรกิจอีเวนท์ในรูปแบบของผู้บริหารจัดการประชุม สัมมนา และงานแสดงสินค้าอีกด้วย

CLMV ตลาดใหม่ธุรกิจอีเวนท์

การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม (CLMV) ที่ส่งผลให้ประชาชนในประเทศมีกำลังซื้อสูงขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้ประเทศดังกล่าวเป็นเป้าหมายด้านการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทข้ามชาติและผู้ประกอบการไทย ส่งผลให้มีความต้องการการจัดงานอีเวนท์เพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าและบริการมากขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่ขีดความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ในประเทศกลุ่ม CLMV ยังจำกัด ทั้งในด้านความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี รวมถึงองค์ความรู้ในการบริหารจัดการงานอีเวนท์ จึงถือได้ว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญของผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ไทย ที่มีความพร้อมมากกว่าในการเข้าไปให้บริการในประเทศดังกล่าว

นอกจากนี้ การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ก็ยังเป็นปัจจัยผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศกลุ่ม CLMV มีการขยายตัวยิ่งขึ้น และเอื้อให้ผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ไทยสามารถเข้าไปประกอบธุรกิจยังประเทศดังกล่าวได้สะดวกขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ขนาดใหญ่ของไทยได้เริ่มเข้าไปเจาะตลาดประเทศกลุ่ม CLMV

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศเมียนมาร์ ที่ได้มีการรับจัดงานอีเวนท์และแคมเปญขนาดใหญ่ในปีที่ผ่านมา เช่น งานเฉลิมฉลองเคาท์ดาวน์เข้าสู่ปีใหม่ งานเทศกาลสงกรานต์ งานมหกรรมกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 27 เป็นต้น รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ขนาดใหญ่ของไทยยังริเริ่มสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ของประเทศกลุ่ม CLMV ในหลากหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น การร่วมหุ้นจัดตั้งบริษัท การร่วมก่อสร้างสถานที่จัดงานอีเวนท์เพื่อส่งเสริมให้ประเทศกลุ่ม CLMV มีสถานที่รองรับการจัดการงานที่จะสามารถต่อยอดธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ อีเวนท์ขนาดใหญ่ของไทยได้ เป็นต้น

แนะปรับกลยุทธ์การแข่งขัน

ภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองในปัจจุบัน ก่อให้เกิดความเสี่ยงสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ในระดับสูง การรับมือโดยการกระจายความเสี่ยงผ่านการขยายธุรกิจไปในต่างจังหวัด และเจาะตลาดใหม่ในต่างประเทศอาจไม่เพียงพอ ผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์จึงควรปรับกลยุทธ์การแข่งขันควบคู่กันไปด้วย โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ขนาดกลางและเล็กควรปรับกลยุทธ์จากการเป็นผู้บริหารการจัดงานมาสู่การเป็นผู้ให้บริการสื่อสารการตลาดอย่างครบวงจร กล่าวคือ ประยุกต์ใช้จุดแข็งในด้านความเข้าใจความต้องการของผู้เข้าร่วมการจัดงานอีเวนท์ มาต่อยอดในการเป็นผู้ให้บริการสื่อสารการตลาดอย่างครบวงจร ทั้งในรูปแบบการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในรูปแบบอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการจัดการงานอีเวนท์

สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ขนาดใหญ่ สามารถใช้ข้อได้เปรียบทั้งในด้านความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี รวมถึงองค์ความรู้ในการบริหารจัดการงานอีเวนท์ ผนวกกับเครือข่ายพันธมิตรที่มีอยู่ ขยายธุรกิจไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจสื่อโฆษณา รวมถึงธุรกิจบันเทิง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศในกลุ่ม CLMV ที่พบว่ารูปแบบวิถีชีวิตและรสนิยมของผู้คนมีความคล้ายคลึงกับคนไทย ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ขนาดใหญ่สามารถนำองค์ความรู้ในด้านความเข้าใจในความต้องการของคนไทยประยุกต์ใช้กับผู้คนในประเทศดังกล่าวได้ แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องพิจารณาถึงความแตกต่างด้านรูปแบบวิถีชีวิตและรสนิยมในบางประการที่เป็นประเด็นอ่อนไหวควบคู่กันไป เพื่อให้การขยายธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านเป็นไปด้วยความราบรื่น

ขอบคุณ : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (Sustainable Tourism)

867-large-03-26

บุญเลิศ จิตตั้งวัฒนา (2542) ได้ให้ความหมายการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (Sustainable Tourism) ว่าหมายถึงการท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่หรือกลุ่มเล็กที่มีการจัดการอย่างดีเยี่ยม เพราะสามารถดำรงไว้ซึ่งทรัพยากรท่องเที่ยวให้มีความดึงดูดใจอย่างไม่เสื่อมคลาย และธุรกิจท่องเที่ยวมีการปรับปรุง คุณภาพให้ได้ผลกำไรอย่างเป็นธรรม โดยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือนสม่ำเสมออย่างเพียงพอ แต่มีผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดอย่างยืนยาว

1. ลักษณะการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน มีลักษณะสำคัญอยู่ 6 ประการดังนี้ คือ

1.1 เป็นการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวทุกประเภท ทุกแห่ง

1.2 เป็นการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าและความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละแหล่งท่องเที่ยว

1.3 เป็นการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อทรัพยากรการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม

1.4 เป็นการท่องเที่ยวที่ให้นักท่องเที่ยวได้รับความรู้และประสบการณ์เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและวัฒนธรรม

1.5 เป็นการท่องเที่ยวที่ให้ผลตอบแทนแก่ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวอย่างยืนยาว

1.6 เป็นการท่องเที่ยวที่ให้ผลประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น และคืนผลประโยชน์กลับสู่ทรัพยากรท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น

2. หลักการการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน มีหลักการดังนี้ (อุษาวดี พูลพิพัฒน์, 2545)

2.1 การอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรอย่างพอดี (Using Resource Sustainable ) ทั้งในส่วนที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติ สังคม และวัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญและเน้นการทำธุรกิจในระยะยาว

2.2 การลดการบริโภคที่เกินความจำเป็นและการลดของเสีย (Reducing Over-consumption and Waste) จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำนุบำรุงสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายในระยะยาว และเป็นการเพิ่มคุณภาพของการท่องเที่ยวด้วย

2.3 การรักษาและส่งเสริมความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ (Maintaining Diversity ) สังคม และวัฒนธรรม จะช่วยขยายฐานของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอนาคต

2.4 การประสานการพัฒนาการท่องเที่ยว (Integrating Tourism into Planning) เข้ากับกรอบแผนกลยุทธ์การพัฒนาแห่งชาติ การพัฒนาท้องถิ่น และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะช่วยขยายศักยภาพการท่องเที่ยว

2.5 การท่องเที่ยวที่รองรับกิจกรรมในท้องถิ่น (Supporting Local Economic) โดยคำนึงถึงราคาและพัฒนาคุณค่าของสิ่งแวดล้อมไว้ ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการประหยัด แต่ยังป้องกันสิ่งแวดล้อมไม่ให้ถูกทำลายอีกด้วย

2.6 เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น (Involving Local Communities) ในด้านการจัดการผลตอบแทนของประชาชน และสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและการจัดการการท่องเที่ยว

2.7 การประสานความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ ประชาชนท้องถิ่น องค์กรและสถาบันที่เกี่ยวข้อง (Consulting Stakeholders and the Public) เพื่อลดข้อขัดแย้งและร่วมแก้ปัญหา

2.8 เป็นการฝึกอบรมบุคลากร (Training Staff ) โดยสอดแทรกแนวคิดและวิธีปฏิบัติในการพัฒนาแบบยั่งยืนแก่บุคลากรท้องถิ่นทุกๆระดับ เพื่อยกระดับการบริการการท่องเที่ยว

2.9 ข้อมูลข่าวสารที่สื่อให้กับนักท่องเที่ยว โดยมุ่งสร้างความเข้าใจในการเคารพต่อธรรมชาติ สังคม และวัฒนธรรมที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว (Marketing Tourism Responsibly) อีกทั้งเป็นการช่วยยกระดับความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง

2.10 การวิจัยและติดตามผล (Undertaking Research) เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ไขที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

3. ลักษณะของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ควรมีลักษณะดังต่อไปนี้ (อุษาวดี พูลพิพัฒน์ผล, 2545)

3.1 เป็นการท่องเที่ยวที่มีความต่อเนื่อง (Continuity) หมายถึง ความต่อเนื่องของทรัพยากรธรรมชาติ และความต่อเนื่องของวัฒนธรรมซึ่งจัดเป็นทรัพยากรหลักในการท่องเที่ยว และสามารถมอบประสบการณ์นันทนาการที่ดีให้แก่นักท่องเที่ยว

3.2 เป็นการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ (Quality) หมายถึงการเน้นคุณภาพของสามส่วนหลัก คือ คุณภาพของสิ่งแวดล้อม คุณภาพของประสบการณ์ นันทนาการที่นักท่องเที่ยวได้รับ และคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน

3.3 เป็นการท่องเที่ยวที่มีความสมดุล (Balance) หมายถึงความสมดุลระหว่างความต้องการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ความต้องการของชุมชนท้องถิ่นและขีดความสามารถของทรัพยากร

news_img_351342_1

นับตั้งแต่พม่าเปิดประเทศและอานิสงส์ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจพม่าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในพม่ามากขึ้น ในบรรดาธุรกิจที่มีศักยภาพการลงทุนในพม่า ธุรกิจท่องเที่ยวนับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน

ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมาถือเป็นปีทองของภาคการท่องเที่ยวของพม่าอย่างแท้จริง ปี 2551 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 193,000 คน เพิ่มขึ้นเป็น 391,000 คนในปี 2554 เฉลี่ยร้อยละ 26.5 ต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2552-2554 และในปี 2555 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเยือนพม่ากว่า 1 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 534 ล้านดอลลาร์ (ราว 16,020 ล้านบาท)เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 67

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าพม่า ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากเอเชีย ได้แก่ จีน ไทย มาเลเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งมีประมาณร้อยละ 66.4 โดยผ่านด่านที่เมืองท่องเที่ยวสำคัญอย่างย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และพุกาม มีระยะเวลาเฉลี่ยของการเข้าพักคือ 11 วันและมีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ทั้งนี้ไม่รวมนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ข้ามชายแดนการที่พม่าปิดประเทศมานาน ส่งผลให้พม่าเป็นประเทศที่มีความโดดเด่น ในเรื่องการมีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมในเชิงพุทธศาสนา ปัจจัยบวกที่สนับสนุนความน่าลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวพม่านั้น มีหลายประการ เป็นต้นว่า รัฐบาลพม่ามีนโยบายเพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว อาทิ การสนับสนุนแพ็คเกจทัวร์ในหลายเมืองของประเทศในราคาประหยัดการให้บริการขอวีซ่าผ่านระบบอินเทอร์เน็ต(E-Visa) การเร่งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่การเปิดสายการบินและเส้นทางบินใหม่

รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวให้ได้ร้อยละ 7 ต่อปี ดังนั้นจึงเร่งการพัฒนาบุคลากร สถานที่ท่องเที่ยว ระบบคมนาคมขนส่ง และการโรงแรมเมืองที่น่าลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น ย่างกุ้ง หงสาวดี พุกาม มัณฑะเลย์ ทะเลสาปอินเล สามเหลี่ยมทองคำ เมาะละแหม่งเมืองตากอากาศชายทะเล เกาะสองแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และส่งเสริมสุขภาพ เมืองตานต่วยที่มีหาดงาปาลีเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อ เมืองพีนอูหวิ่นเมืองตากอากาศในอดีตของชาวอังกฤษ มีสภาพอากาศที่ดีคล้ายยุโรป

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญคือจำนวนโรงแรมและที่พัก เนื่องจากในช่วงปี 2556-2558 นี้พม่าจะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน การแข่งขันซีเกมส์และการประชุมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ คาดว่าความต้องการที่พักจะสูงขึ้น จำเป็นต้องเพิ่มจำนวนโรงแรมที่พักให้เพียงพอต่อความต้องการและรองรับการเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวในเดือนพ.ย.ไปจนถึงมี.ค.ปีถัดไปห้องพักในโรงแรมที่ได้มาตรฐานไม่เพียงพอต่อความต้องการ

จากข้อมูลของทางการพม่าระบุว่า ปัจจุบันพม่ามีโรงแรมที่ต่างชาติลงทุนมากกว่า 36 แห่งซึ่งบางส่วนกำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง มีห้องพักทั้งสิ้น 28,291 ห้อง ในจำนวนนี้8,000 ห้องอยู่ในนครย่างกุ้ง ซึ่งได้มาตรฐานสากลเพียง 1 ใน 4 โดยเขตโรงแรมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในกรุงเนปิดอว์ ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ พะโค ยะไข่ เมาะละแหม่ง พุกาม ตองยี ชองตา สามเหลี่ยมทองค า และเงวซอง ซึ่งทางการพม่าวางแผนที่จะเพิ่มจำนวนเขตโรงแรมที่พักและร่วมพัฒนาโครงการโรงแรมให้ได้มาตรฐานสากลกับบริษัทต่างชาติพม่านั้นยังขาดโรงแรมที่มีคุณภาพดีและให้บริการครบวงจร เช่น สปา ฟิตเนส และร้านขายสินค้าที่ระลึก เป็นต้น ซึ่งนักลงทุนไทยมีความชำนาญอยู่แล้ว

จากจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเห็นได้ว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของพม่ามีแนวโน้มที่สดใสและนับว่าเป็นโอกาสที่น่าสนใจของธุรกิจท่องเที่ยวไทยและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ที่จะไปลงทุนในพม่าในช่วงเวลาภายใน 3 ปีนี้แม้โอกาสทางธุรกิจในพม่ายังมีอยู่มาก แต่ปัจจุบันยังมีข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับการตัดสินใจลงทุนน้อย ต้นทุนในการลงทุนที่สูง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจยังไม่มี
อย่างไรก็ตาม ในอีก 3 ปีข้างหน้าทุกอย่างจะค่อยๆ คลี่คลายไปในทางที่ดี หากไม่เข้าไปลงทุนในช่วงเวลานี้ ต่อไปอาจจะต้องเจอคู่แข่งที่น่ากลัวมากขึ้นเรื่อยๆ

ที่มา : จิราวดี รัตนไพฑูรย์ชัย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD

หลักการบริการด้วยหัวใจ Service Mind

แน่นอนว่าอุตสาหกรรมการบริการในประเทศไทยเรา นับวันมีแต่จะเจริญเติบโตขึ้น เนื่องจากวุฒิภาวะ สภาวะแวดล้อม สภาวะทางเศรษฐกิจ และความเร่งรีบในการดำเนินชีวิต ทำให้อุตสาหกรรมการบริการมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น และแน่นอนว่าบุคลากรในอุตสาหกรรมการบริการดังกล่าวนี้ ทุกกลุ่ม ล้วนแล้วแต่มีใช้หลักการบริการด้วยหัวใจ Service Mind กันทัั้งนั้น เริ่มต้นจากหลักการง่ายๆ คือ

วิธีสร้างมนุษยสัมพันธ์ มี 3 ขั้นตอน
1. เข้าใจธรรมชาติของคน คนเรามักมีความรู้สึก ดังนี้
• รู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ
• สนใจตนเองมากกว่าคนอื่น
• ต้องการความเจริญก้าวหน้า ความพิเศษ
• พูดมากกว่าฟัง บางครั้งถึงกับแย่งกันพูด ไม่มีคนฟัง
• ให้คำปรึกษามากกว่าที่จะขอคำแนะนำ เช่น เธอต้องยังงั้น เธอต้องยังนี้
• ไม่ชอบการถูกควบคุม จุกจิก จู้จี้
• ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง
• และอยากรู้ อยากเห็น
2. รู้จักเทคนิค และวิธีการสัมพันธ์กับคน
3. สร้างลักษณะของผู้มีมนุษยสัมพันธ์ ที่ดี

แนวทางการสร้างมนุษยสัมพันธ์
1. ปรับปรุงและพัฒนาตนเอง ได้แก่
• สายตา เวลาพูดกับใครต้องสบตา
• ความรู้สึก ไม่ใช่เหม่อลอย
• อารมณ์ ควรมีอารามณ์ร่วมขณะสนทนา
• ต้องมีศิลธรรม และคุณธรรม
• ต้องมีมารยาท

2. ปรับปรุงและพัฒนาเทคนิคในการสนทนา
• ด้วยการสร้างความอบอุ่น และมั่นใจให้คู่สนทนา
• ใช้ภาษา และท่าทางที่เหมาะสม
• ใช้น้ำเสียงที่น่าฟัง ทำให้ผู้ฟังรู้สึกดี เช่น น้ำเสียงในการรับสายโทรศัพท์
• ใช้คำถามที่แสดงถึงความเอาใจใส่ และความเป็นเพื่อน
เมื่อปรับปรุงการพูดแล้วก็ต้องปรับปรุงการฟังด้วย
3. ปรับปรุงและพัฒนาการฟัง
• ฟังด้วยความสนใจ
• ฟังให้ได้สาระ และถามย้อนกลับได้
• ใช้คำพูดตอบรับที่สอดคล้องกับความเห็นของผู้พูด
เช่น ผู้พูด พูดเรื่องการไปเที่ยวที่วังน้ำเขียว แต่ผู้ฟังโต้ตอบเรื่องเขาเขียว แสดงให้เห็นว่า มิได้มีการฟังอย่างตั้งใจ และตอบโต้กับคู่สนทนาไปกันคนละเรื่อง เป็นต้น อาจจะได้ยินว่า อะไรเขียว เขียว ก็ร่วมวงคุยกับเขาไปด้วย โดยไม่ได้ฟังตั้งแต่ต้น ลักษณะแบบนี้ต้องปรังปรุง
4. ผูกมิตร
• มองคนในแง่ดี
• พร้อมที่จะช่วยเหลือ ไม่ใช่รอดูว่าลูกค้ารจะทำได้ไหม แล้วหัวเราะเยาะ ว่าทำไมไม่อ่านป้าย หรือทำไมไม่ถาม เป็นต้น แบบนี้ต้องปรังปรุงเร่งด่วน ควรจะเข้าไปแสดงความช่วยเหลือโดยไม่ต้องรอให้ลูกค้าร้องขอ ถ้าผู้ให้บริการทำได้ รับรองว่าได้ใจลูกค้า เต็มร้อยแน่นอน
• มีน้ำใจและให้อภัย หากลูกค้าทำพลาดไป
• ไม่นินทาลูกค้า
• ไม่พูดลับหลัง (ในทางที่ไม่ดี) แต่จงพูดลับหลัง (ในทางที่ดี)
5. การปรากฎกายที่ดี
• การยิ้มแย้มแจ่มใส ร่าเริง แต่ไม่เริงร่าเกินเหตุ
• มีความกระตือรือร้น มีชีวิตชีวา ไม่ใช่ทำงานไปนั่งหาวไป (บ่อยๆ จะน่าเกลียด) แสดงว่าไม่รู้จักควบคุมตนเอง
• มีความน่าเชื่อถือ
• มีกิริยาท่าทางที่เหมาะสม
• มีมารยาท รู้จักวางตัวในสังคม
• สำรวมกาย วาจา ใจ
6. การแต่งกายดี
• ถูกกาละ เทศะ และโอกาส
• สมวัย และสรีระ อย่าตามแฟชั่นมากนัก
• พิถิพิถัน ไม่ใช่วันนี้ขี้เกียจรีดผ้า ก็ใส่ทั้งยับๆ
• ดูดีตลอดเวลา

บัญญัติ 6 ประการ เพื่อให้ผู้อื่นชื่นชอบ
• ยิ้มกับลูกค้า
• เอาใจใส่ลูกค้า
• จำชื่อลูกค้าได้ (สำคัญมาก)
• ให้ความสำคัญกับลูกค้า
• เป็นนักฟังที่ดี
• พูดในสิ่งที่เขาสนใจ

หลัก 4 S
S1 Smile
S2 Soft
S3 Sincere
S4 Superb

หลัก 5 ส
ส 1 ต้องสวย (ร่างกายและจิตใจ)
ส 2 สงบ (นิ่ง)
ส 3 ใส่ใจ
ส 4 สอดแทรก
ส 5 สื่อสาร

การบริการ กระบวนการ ของการปฏิบัติตนเพื่อผู้อื่น
การบริการ หมายถึง การทำให้ผู้อื่นพอใจ
การบริการ หมายถึง การทำให้ผู้อื่นชอบ
การบริการ หมายถึง การทำให้ผู้อื่นประทับใจ

SERVICE
S Satisfaction ความพึงพอใจ
E Enthusiasm ความกระตือรือร้น
R Readiness ความพร้อม
V Variation ความเปลี่ยนแปลง
I Intelligence ความฉลาด
C Courtesy ความมีไมตรีจิต
E Endurance ความอดทน

ลักษณะที่ดีของผู้ให้บริการ
1. แต่งกายสะอาดเรียบร้อย
2. อัธยาศัยดี
3. มีมนุษยสัมพันธ์
4. รู้จักกาละเทศะ
5. เต็มใจให้บริการ
6. มีบุคลิกภาพดี
7. เป็นนักฟังที่ดี
8. ไม่ดูถูกผู้อื่น
9. พูดจา ชัดเจน มีหางเสียงไพเราะ
10. พัฒนา ปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ

Service Man
ไม่ควรทำ ควรทำ
ยึกยัก รอบรู้
ชักสีหน้า สู้งาน
ท่ามาก ปฏิภาณดี
ปากเสีย มีไมตรีจิต
ยกตัวอย่าง การให้บริการของร้าน MK Suki

บุคลิกภาพพื้นฐานของผู้ให้บริการ
1. ยืนให้ถูกต้อง
2. นั่งให้ถูกบุคลิกลักษณะ
3. การก้มศีรษะ
4. การคำนับ (ชาย)
5. การจับมือ
6. มารยาทในการเข้าออกห้องผู้อื่น
7. มารยาทในการส่งมอบเอกสาร หรือสิ่งของ
8. มารยาทในการใช้ลิฟท์

ข้อห้ามในงานบริการ
1. อย่าเฉยเมย
2. อย่าพูดสวน
3. อย่าโทษลูกค้าว่าผิด
4. อย่าต่อปากต่อคำ ยียวนกวนประสาท
5. อย่าท้าทายลูกค้าให้ไปฟ้อง

การพัฒนาตนเองสู่ความเป็นเลิศ
1. ศึกษาเรียนรู้อยู่เสมอ
2. ประเมินตนเองตลอด ว่าวันนี้เราดีกว่าเมื่อวาน พรุ่งนี้เราจะดีกว่าวันนี้
3. วิเคราะห์ตนเอง อะไรบ้างเป็นจุดแข็ง พิจารณาตนเอง เพิ่มจุดแข็ง วิเคราะห์ตนเอง อะไรเป็นจุดอ่อน พิจารณาตนเอง ลดจุดอ่อน
สิ่งที่ต้องมี และปรับปรุงอยู่เสมอ

PACKAGES
P Personality บุคลิกภาพ
A Assistance ความช่วยเหลือ
C Cordial ความจริงใจ
K Knowledge ความรู้
A Attitude ทัศนคติ
G Goodness ความดี
E Efficiency ความมีประสิทธิภาพ
S Spirit จิตใจ

คติประจำใจผู้ให้บริการ “หน้าใสใจสว่าง”
คนมีจิตบริการ ชอบทำงานเพื่อคนอื่นอย่างเป็นสุข
คนมีจิตบริการ จะทำงานด้วยใจกว้าง ชอบสร้างประโยชน์
คนมีจิตบริการ จะมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ยอมอยู่ต่ำแต่จิตใจสูง
คนมีจิตบริการ จะทำงานแบบสบาย เหนื่อยก็เป็นสุขใจ

1. ผู้รับบริการ คือ พระเจ้า
2. ผู้รับบริการ ไม่มีวันผิด
3. เสียงของผู้รับบริการ คือ เสียงสวรรค์
หากพบว่าผู้รับบริการผิด ให้ดูข้อ 1 หรือผิดอีกดูข้อ 2 หากโวยให้ดูข้อ3

ที่มา : อุตสาหกรรมการบริการไทย 4.0