Category: AEC

ที่มา : OKNATION.com (http://www.oknation.net/blog/akom/2014/11/21/entry-2)

เป็นเรื่องที่คาดไว้ล่วงหน้าแล้ว และก็เป็นกระแสข่าวที่หนาหูทั้งในและต่างประเทศ ที่คุณธนินทร์ เจียรวนนท์ CEO ของซีพี เตรียมประกาศซื้อTesco Lotus ในไทยอย่างเป็นทางการด้วยเงิน 3 แสนล้าน

มีการวิเคราะห์ว่าสถานการณ์ธุรกิจการเกษตร ค้าปลีกนั้น เท่ากับเครื่อเจริญโภคภัณฑ์กรุ๊ป หรือ CP คุมการเกษตรทั้ง ข้าว หมู ไก่ กุ้ง อาหารสัตว์ ปุ๋ย พืชพลังงาน นอกจากนั้นยังคุมเทคโนโลยี่สื่อสาร ทั้งโทรบ้าน โทรมือถือ internet และมีสื่อในมือ คือ truevision  สรุปคือ CP จะคุมระบบค้าปลีกค้าส่งทั้ง modern trade และ traditional trade ครบวงจร มี 7-11  ส่วนห้างค้าปลีก ค้าส่ง makro และ Lotus

 

ก่อนหน้านี้คอลัมน์ Market-Think ของสรกล อดุลยานนท์ เรื่อง CP BANK?  ในประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ก็วิเคราะห์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าข่าว “เซเว่นอีเลฟเว่น” และกลุ่มทรู ซื้อหุ้น LH BANK จากกลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เป็นจริง เราคงได้เห็น “เกมใหม่” ในแวดวงการเงิน เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา “ซีพี” มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจหลายครั้ง ครั้งแรก คือ การเข้าซื้อหุ้นของ “ผิงอัน” บริษัทประกันรายใหญ่ของจีน ซึ่งเสน่ห์ของ “ผิงอัน” คือ เงินสดจากเบี้ยประกันที่นอนนิ่งอยู่ในบริษัท

 

ครั้งที่สอง คือ การซื้อ “แม็คโคร” ของ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ทำให้ “ซีพี” กลายเป็นยักษ์ใหญ่ของวงการค้าส่งและค้าปลีกและครั้งที่สาม คือ การดึง “ไชน่าโมบาย” ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของจีน มาถือหุ้นใน “ทรู”  ดังนั้น หาก “ทรู” และ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ซื้อ LH BANK จริง จะเป็นการเคลื่อนตัวทางยุทธศาสตร์ของ “ซีพี” ครั้งที่ 4 ในรอบ 2 ปี เพราะเซเว่นอีเลฟเว่น มีสาขาอยู่ 8,000 สาขา เป็นทำเลที่ดีที่สุดสำหรับตู้เอทีเอ็ม มี “เคาน์เตอร์เซอร์วิส” ที่สามารถรับจ่าย รับโอน รับจองตั๋ว ที่มีประสิทธิภาพยิ่ง

 

สรุปยอดรายได้เมื่อปีที่แล้ว รายได้ของ “เซเว่นอีเลฟเว่น” 284,760 ล้านบาท แมคโคร 129,780 ล้านบาท รวมกันเป็นตัวเลขกลม ๆ ประมาณ 410,000 ล้านบาท หรือเดือนละ 34,000 ล้านบาท เมื่อรวมโลตัสเข้าไปอีกรายได้ก็จะเพิ่มขึ้นแตะ 5 แสนล้านบาทในอนาคตไม่ยากนัก

ดังนั้นการซื้อเทสโก้โลตัสครั้งนี้จึงเป็นก้าวเดินการเทคโอเวอร์ครั้งที่ 4   ก่อนที่จะไปซื้อ L&H แบงก์ในอีกไม่นานเป็นก้าวที่ 5

โดยก่อนหน้านี้วันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 สำนักข่าวรอยเตอร์ส มีรายงานอ้างแหล่งข่าว ระบุว่า นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กำลังพิจารณาเรื่องการซื้อ เทสโก้ โลตัส ซูเปอร์มาร์เกตค้าปลีกที่มีมูลค่าราว 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 320,000 ล้านบาท) กลับคืนมา หลังจากที่ได้ขายกิจการให้กับบริษัท เทสโก้ ของประเทศอังกฤษไปเมื่อปี 2537  ซึ่ง เทสโก้ โลตัส ที่มีสาขาในไทยถึง 1,737 แห่ง คิดเป็นเกือบ 3 ใน 4 ของจำนวนสาขาทั้งหมดที่มีอยู่ในเอเชีย

เรื่องเกี่ยวเนื่อง : http://www.cpthailand.com/

“ตลาดในโลกนี้เป็นของ ซี.พี.” มุมมอง “ธนินท์ เจียรวนนท์”ในนิตยสาร “Forbes Thailand”

ต้นเดือนกรกฏาคม 2556 นิตยสารฟอร์บส์ ประเทศไทย ได้นำเรื่องราวที่ได้จากการสัมภาษณ์ นายธนินท์  เจียรวนนท์ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) เผยแพร่ เขียนโดย นายนพพร วงศ์อนันต์และ นิธิ ท้วมประถม ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้ไทย จีน และเอเชีย เล็กไปแล้วสำหรับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เจ้าตลาดธุรกิจการเกษตร อาหาร ค้าปลีก และโทรคมนาคม ที่สร้างฐานในประเทศไทย แล้วขยายการลงทุนไปค่อนโลก วันนี้ ซี.พี.ทุ่มเททรัพยากรมุ่งเข้าสู่การค้าบนโลกออนไลน์ เร่งวางเครือข่ายการกระจายสินค้า และสื่อสารไร้สาย สนับสนุนการเติบโตของสินค้าในเครือ หลังกระโจนเข้าสู่ธุรกิจการเงินในจีน“เราไม่ได้มองเฉพาะเมืองจีน  ซี.พี.มองอะไร เป็นระดับโลก …ตลาดในโลกนี้เป็นของซี.พี. …คนเก่งในโลกนี้เป็นของซี.พี. วัตถุดิบในโลกนี้เป็นของซี.พี. เงินในโลกนี้เป็นของซี.พี. อยู่ที่ว่าเรามีความสามารถเอาเงินเขามาใช้รึเปล่า ผมมองระดับโลก ไม่เฉพาะเมืองไทย หรือเมืองจีน ถ้ามีโอกาส ที่ใดมีโอกาส ที่นั่นเป็นของซี.พี.”

นี่คือ วิสัยทัศน์ของ ธนินท์ เจียรวนนท์ อภิมหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวม 414,700 ล้านบาท (1.43 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) ในวัย 74 ปี ผู้ที่บอกกับ Forbes Thailand ว่า วันนี้ เขา “กึ่งรีไทร์กับกึ่งทำงาน”

“เดิมวางแผนไว้ว่าจะเกษียณที่ 55… พอเจอวิกฤตเศรษฐกิจ (ปี 2540) ตอนอายุ 58 ตอนนั้น เหลือค้าปลีก กับเทเลคอม นอกนั้นมอบออกไปหมด หลังวิกฤตเศรษฐกิจก็ดึงกลับเข้ามาเต็มๆ จากนี้ไปคิดว่าคงจะกึ่งรีไทร์กับกึ่งทำงาน” ธนินท์กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์ บนชั้น 34 ของตึกทรูทาวเวอร์ เป็นการสัมภาษณ์พิเศษกับสื่อไทยเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี และเป็นครั้งแรกที่พ่อและลูกชายถ่ายรูปร่วมกัน

วัย 74 ปีสำหรับหลายคน อาจเป็นวัยที่พักผ่อนอยู่กับบ้าน เลี้ยงหลาน ปลูกต้นไม้ เข้าวัดปฏิบัติธรรม แต่สำหรับธนินท์แล้ว เขายังคงกระฉับกระเฉง วางเป้าหมายทางธุรกิจให้เครือฯ  คิดค้นโครงการใหม่ๆ และเดินทางไปทั่วโลกอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย วันสัมภาษณ์ที่เขาให้ Forbes Thailand เกิดขึ้น 2 วัน หลังเดินทางกลับจากสหรัฐ และยุโรป และ1 วัน ก่อนเดินทางไปจีน

เครือ ซี.พี. เจ็บตัวไปไม่น้อย เมื่อรัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาทในปี 2540 จำใจต้องดึงยักษ์ค้าปลีกจากอังกฤษ Tesco เข้ามาร่วมทุนใน Lotus Supercenter ต้องขายหุ้นห้างค้าส่ง makro ออกไปให้บริษัทแม่เชื้อสายดัตช์ ลดสัดส่วนถือครองจาก 30% เหลือ 13.4% ก่อน มาซื้อคืนทั้งหมดเมื่อเดือนเมษายน (อ่าน C.P.’S 2 MEGA DEALS IN 2013) ธุรกิจโทรคมนาคมในขณะนั้น ต้องเป็นหนี้สินล้นพ้น  แต่ 16 ปีผ่านไป เครือเจริญโภคภัณฑ์กำลังเติบโตแผ่อาณาจักร ครอบคลุมประเทศไทย อาเซียน และทั้งโลก

มาวันนี้ 4 บริษัทของ 3 ธุรกิจหลักในเครือ ซี.พี. ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร (บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF) โทรคมนาคม (True Corp.) ค้าปลีกและค้าส่ง (CP All PCL และบริษัท สยามแมคโคร จำกัด(มหาชน)) ล้วนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีมูลค่ารวมของตลาด (market capitalization) กว่า 9 แสนล้านบาท (มูลค่าเมื่อกลางมิถุนายน 2556) เฉพาะ CPF บริษัทเดียวมีบริษัทลูกที่ลงทุนในไทยและต่างประเทศรวม 127 แห่ง ในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ส่วนยอดขายรวมของทั้งเครืออยู่ที่ 3.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 9.9 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2554 (ตัวเลขล่าสุดที่ทางซี.พี.เปิดเผยต่อสาธารณะ)

ซี.พี. เป็นนักลงทุนต่างประเทศเจ้าแรกที่เข้าไปลงทุนในจีน เมื่อปี 2522 หลังรัฐบาลคอมมิวนิสต์แผ่นดินใหญ่เปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ จวบจนสิ้นปี 2555 มูลค่าการลงทุนรวมของเครือในจีนอยู่ที่ 9 พันล้านเหรียญ หรือ 2.7 แสนล้านบาท มูลค่าดังกล่าวไม่รวมอภิมหาดีลที่ ซี.พี. สร้างความประหลาดใจไปทั่วจีนแผ่นดินใหญ่ และภูมิภาคเอเชีย เมื่อประกาศเข้าซื้อหุ้น 15.57% ของ Ping An Insurance บริษัทประกันแถวหน้าของจีน เมื่อปลายปี 2555 จาก HSBC ธนาคารยักษ์ใหญ่ระดับโลก ด้วยวงเงินมหาศาลถึง 9.38 พันล้านเหรียญ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์รายหนึ่งในฮ่องกงถึงกับกล่าวติดตลกกับสำนักข่าว “รอยเตอร์ส” ว่า  “ต่อไปผู้ถือหุ้นทุกคนของ Ping An จะได้รับแจกไก่ทอดคนละถังจากทุกกรรมธรรม์ที่พวกเขาซื้อ”

ชีวิต “กึ่งทำงาน” ของ ธนินท์ ในวันนี้ คือ การบุกเบิกธุรกิจใหม่ให้สอดรับกับทิศทางทางธุรกิจของเครือฯทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยเป้าหมายหลักของ ซี.พี. คือ การลงทุนในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะเครือข่ายการขาย กระจายสินค้าในประเทศ เพื่อรองรับการเป็น “ครัวของโลก”

นอกจากการพัฒนาการจัดจำหน่ายตามช่องทางปกติแล้ว จากนี้ไป ซี.พี. จะให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาระบบ e-commerce และ logistics ของเครือฯ สร้างเครือข่ายศูนย์กระจายสินค้า (distribution centers) รวมทั้งให้ความสำคัญกับการค้าบนโลกออนไลน์มากขึ้น โดยใช้ ทรูเป็นหัวหอกในการบุกเบิกและเชื่อมโยงธุรกิจ e-commerce ของทั้งเครือ

“ต่อไปซื้อของไม่ต้องไปมอลล์แล้ว เราสร้างมอลล์ในอากาศ ไม่ต้องไปก่อสร้าง ใช้ซอฟแวร์เข้าไป ร้านค้านาย ก นาย ข ก็มาเช่า พื้นที่ แทนที่ไปเช่าพื้นที่จริง เราขยายได้มากมาย วันหนึ่งจะเห็นภาพ 3 มิติ เข้าไปในมอลล์ เรากำลังเดินเข้าร้านค้า เสื้อผ้า หนีไม่พ้น คือ ทิศทางที่เราไป ใครไม่ทำก่อน ก็จะล้าหลัง… สรุปแล้วในอนาคต หนีไม่พ้นอินเตอร์เน็ต e-commerce ถ้าธนาคาร ก็ e-banking ต่อไปแบงก์ไม่ต้องมีสาขา สาขาอยู่บนอากาศ ไม่ต้องมีตัวตน ใครไป e-banking ก่อน ก็ชนะ ตั้งสาขาไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย ตั้งกี่สาขาก็อยู่บนเว็บไซต์ ”

ธนินท์ มองว่า ประเทศไทยและคนไทยยังช้ากว่าจีนในเรื่องจำนวนคนใช้คอมพิวเตอร์ และการซื้อขายออนไลน์ ต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปี กว่าที่ก้าวทันประเทศจีน โดยเขามองว่า การแจกคอมพิวเตอร์แทบเล็ตแก่เด็กนักเรียนทั่วประเทศเป็นขั้นตอนหนึ่งของการสร้างจำนวนผู้รู้คอมพิวเตอร์ให้มากขึ้น

กินหัว กินหาง
ในวิสัยทัศน์ของ ธนินท์ แล้ว ซี.พี. ซึ่งเติบโตจากธุรกิจเมล็ดพันธุ์ มาสู่อาหารแปรรูป ค้าปลีก และโทรคมนาคมจะยังคงทำธุรกิจ อาหาร ต่อไปโดยแบ่งเป็น “อาหารสมอง” และ “อาหารปากท้อง”

ในส่วน อาหารสมอง ซี.พี. ใช้ทรูเป็นตัวขับเคลื่อน ได้แก่ ทรูวิชั่น ทรูมูฟ การเพิ่มช่องทางรับรู้ข่าวสารทั้งบนเคเบิ้ลทีวี และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตั้งแต่ดูข่าวโทรทัศน์ อ่านหนังสือพิมพ์ ดูภาพยนตร์ รวมทั้งการเตรียมการเข้าประมูลใบอนุญาตดิจิตัลทีวี ที่หลายกลุ่มทุนให้ความสนใจ

ทางด้านอาหารปากท้อง ธนินท์ตีโจทย์ทะลุว่า การเป็น “ครัวของโลก” ของ ซี.พี. นั้น ต้องเป็นไปตั้งแต่ระดับหมู่บ้านจนถึงนานาชาติ ต้องเริ่มจากสินค้าเกษตรแปรรูปสู่มือผู้บริโภค ซี.พี. ต้องสร้างเครือข่ายการขายที่แผ่ขยาย ครอบคลุมไปทุกหัวระแหงของประเทศ โดยเริ่มจากเมืองใหญ่สู่หมู่บ้าน ด้วยโครงการ “ตู้เย็นชุมชน” ที่จำหน่ายสินค้าพร้อมปรุงของ ซี.พี. ในระดับหมู่บ้าน ส่วนในระดับชุมชนเมืองนั้น ซี.พี.จะมี 2 ประสาน คือ CP-All และ makro ในการขยายช่องทางการจัดจำหน่าย

ธนินท์ บอกว่า ต่อไป makro จะเป็น “ลูกพี่” ของร้านโชห่วย หาบเร่ แผงลอย ไปจนถึงภัตตาคาร โดยจะช่วยเหลือตั้งแต่ การจัดหาสินค้าราคาถูกให้ร้านค้าย่อย ด้วยความรู้จาก CP All จะช่วยสอนการจัดหน้าร้าน ชั้นวางสินค้า ในส่วนแม่ค้าอาหาร หาบเร่ แผงลอยนั้น makro จะจัดหาอาหารสด ราคาถูก  ครบครัน พร้อมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการปรุงอาหารที่ถูกสุขลักษณะ มารยาทการบริการ

“ลูกค้า 7-Eleven กับโชห่วยต่างกัน 7-Eleven เปิด 24 ชั่วโมง สะดวกซื้อ โชห่วยขายในชุมชน ที่เล็กไป 7-Eleven ขายไม่ได้  แต่ร้านโชห่วยไปได้ทุกมุม ที่ 7-Eleven ไปไม่ถึง โชห่วย จะเป็นลูกค้าของ makro…โชห่วย ไม่ได้มาแข่งกับ 7-Eleven ถ้า โชห่วยใหญ่จนพร้อมก็มาเป็น franchisee ของ 7-Eleven ต่อ”

ความสำเร็จด้านค้าปลีกของ ซี.พี. ในวันนี้ ได้บทเรียนจากความล้มเหลวของการร่วมทุนกับ Walmart ยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ค้าปลีกสัญชาติสหรัฐ อยู่ไม่น้อย ซี.พี.กับ Walmart เคยร่วมเปิดสาขาร้านค้าปลีกขนาดยักษ์ 3-4 แห่งในจีน และฮ่องกงในปี 2538 ก่อนแยกกันในปี 2540

กึ่งเกษียณ กับ แผนถ่ายโอนอำนาจ
ธนินท์ บอกว่า ชีวิต “กึ่งเกษียณ” ของเขาตอนนี้ คือ การพักผ่อน ทำให้ร่างกายเราแข็งแรงขึ้น ทำให้ทำงานได้นานขึ้น โดย เขาไม่ได้เดินนำหน้า แต่ “นำอยู่ข้างๆ” หนุนให้ผู้ใต้บังคับบัญชา บุกเดินข้างหน้า เขายึดคติว่า ลูกหลานของเขา จะกลับมาทำงานในธุรกิจที่สำเร็จแล้วไม่ได้ ต้องไปริเริ่มของใหม่ เขาเปิดโอกาสให้มืออาชีพที่บริหารกิจการในเครือที่ดีอยู่แล้ว ทำให้ดียิ่งขึ้น โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ศุภชัย ที่ต้องไปริเริ่มธุรกิจโทรคมนาคม ตั้งแต่ธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐานภายใต้ บริษัทเทเลคอม เอเซีย หรือ ทีเอ ก่อนจะก้าวเข้าสู่ธุรกิจสื่อสารอย่างเต็มตัว ทั้งโทรศัทพ์เคลื่อนที่ (ทรูมูฟ) และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ทรู ออนไลน์) 

“ถ้าเรามีผู้บริหารที่เก่งอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเอาลูกไปทำในบริษัทนั้น เพราะถ้าลูกเก่ง บริษัทก็โตเหมือนเดิม แต่เราเสียคนเก่งไป 1 คน แต่ถ้าลูกไม่เก่ง แล้วทำบริษัทแย่ลง ธุรกิจก็ไปไม่ได้ สู้ให้ลูกไปสร้างธุรกิจใหม่ๆ ดีกว่า ธุรกิจเดิมที่ผู้บริหารทำดีอยู่แล้ว ก็ปล่อยเขารับผิดชอบไป”

ธนินท์ ยังไม่บอกว่า เขาจะวางมือจากธุรกิจเมื่อไร และเขาเปิดเผยถึง แผนการโอนอำนาจให้ลูกชายแต่ละคนในอนาคตว่า เขาจะมอบให้ลูกชายคนโต สุภกิต ซึ่งปัจจุบันดูแลธุรกิจเกือบทั้งหมดของซี.พี.ในจีน เป็นประธาน (chairman) ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยลูกชายคนรอง ณรงค์ ที่ดูแลธุรกิจค้าปลีกในจีนในปัจจุบัน จะขึ้นเป็นรองประธาน (vice chairman) หรือ เป็น chairman ของกลุ่มค้าปลีก กำกับดูแล Tesco-Lotus, CP All, CP Fresh Mart โลตัสในจีน และ makro ส่วนศุภชัย ลูกชายคนเล็กซึ่งปัจจุบันเป็น CEO ของ True Corp. ขึ้นเป็น CEO ของ เครือฯ
ชื่อของ ศุภชัย ลูกชายคนเล็ก ดูจะเป็นที่คุ้นหูที่สุดในที่สาธารณะในบรรดาลูกชาย 3 คน เจ้าหน้าที่อาวุโส ซี.พี. คนหนึ่ง ให้นิยามเขาว่า เป็น คนสุขุม ลุ่มลึก รักครอบครัว ส่วนณรงค์ ลูกคนกลาง มีความเป็นนักวิชาการ และมักไปสรรหาคนไทยเก่งๆที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐ (Ivy League) ให้มาร่วมงานกับเครือฯ และสนใจการเลี้ยงนกพิราบ ที่เป็นงานอดิเรกสุดโปรดของธนินท์ด้วย ส่วนสุภกิต ลูกคนโตนั้น มีจุดเด่นด้านการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เข้ากับคนได้ทุกระดับ เป็นที่กว้างขวางในจีน และให้ความสนใจสะสมดาบและปืนโบราณ จากทั่วโลก
“จุดเด่นของทั้ง 3 คนมารวมอยู่ในตัวท่านประธาน”

นี่คือส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ ของบุคคลที่มั่งคั่งอันดับต้นๆ คนหนึ่งในประเทศไทย บุคคลที่มีมุมมอง “กว้างและไกล” มากกว่าที่ใครหลายคนจะคาดคิด และเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อน “อาณาจักร” ซี.พี. ที่มีพนักงานในมือเกือบ 300,000 คนทั่วโลก ให้ก้าวจากเอเชียสู่ตลาดโลก ดั่งความมุ่งมั่นของเจ้าสัวที่ว่า
“ตลาดในโลกเป็นของซี.พี. ……เงินในโลกเป็นของซี.พี.”
C.P.’S 2 MEGA DEALS IN 2013
เจ้าสัวธนินท์สร้างความประทับใจไปทั่วภูมิภาคตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และต้นปีนี้ ด้วยการเข้าซื้อกิจการ 2 แห่ง ด้วยวงเงินกว่า 4.7  แสนล้านบาท เขาเล่าให้ฟังถึงแนวคิดการซื้อ Ping An Insurance(Group) Co. และบริษัทสยามแมคโคร จำกัด(มหาชน)

PING AN
ซี.พี.กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทประกันหมายเลข 2 ของจีน ในสัดส่วน 15.57 % ด้วยวงเงินมหาศาลถึง 287,966 ล้านบาท เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ธนินท์บอกว่า Ping An ไม่ใช่เพียงแค่บริษัทประกัน แต่เป็นกลุ่มธุรกิจการเงินครบวงจรมีทั้งธนาคาร บริษัทลิสซิ่ง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ และกองทุนรวม ที่จะช่วยสนุบสนุนธุรกิจซี.พี.ในจีนและทั่วโลก “เราเข้าไป เราจะได้ข้อมูลทุกด้าน ซึ่งข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญมาก ยุคสมัยใหม่ แพ้หรือชนะอยู่ที่ใครได้ข้อมูลที่ 100 % ยิ่งได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เวลาวางแผนตัดสินใจอะไรจะได้ชนะ”

การก้าวเข้าสู่ธุรกิจประกันของซี.พี. ครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะเมื่อปี 2543 ซี.พี. ได้เคยร่วมทุนในธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัยกับกลุ่ม Allianz จากเยอรมนี แต่ในปี 2555 ซี.พี.ขายหุ้นที่เหลือทั้งหมดให้กับกลุ่มบริษัท ศรีอยุธยาแคปิตอล จำกัด ซึ่งเจ้าสัวบอกถึงสาเหตุที่ถอนตัว ก็เพราะบทบาทของซี.พี.เป็นเพียงผู้ตามเท่านั้น และการขายหุ้นในครั้งนั้นก็ได้ “กำไร”
ประสบการณ์คราวนั้น สอนให้ซี.พี.ก้าวใหญ่ขึ้น ธนินท์มองว่า Ping An จะโตไปอีกหลายเท่า “เขามีระบบบริหารทันสมัยที่สุด โอกาสที่จะโตมหาศาลต่อไป Ping An ไปที่ไหน ซี.พี.ก็ได้ข้อมูลที่นั่น”

นอกจาก “ข้อมูล” แล้ว สิ่งที่เจ้าสัวต้องการอีกอย่าง คือ การสร้างเครือข่ายด้านการขาย และ logistics เพื่อส่งสินค้าในเครือซี.พี. ให้ถึงมือลูกค้าให้ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด นั่นคือเหตุผลที่ธนินท์ประกาศซื้อหุ้น บริษัท สยามแมคโคร จำกัด(มหาชน) (makro) จำนวน 64.35 % จากบริษัท SHV Netherlands B.V.เมื่อ 3/4/56  ด้วยวงเงิน 188,880  ล้านบาท (เขาปฏิเสธว่าตัวเลขนี้ ไม่เกี่ยวของกับเรื่องฮวงจุ้ย เป็นเหตุ “บังเอิญ”) ซึ่งราคานี้เจ้าสัวยืนยันว่าเป็นราคาที่คุ้มค่า เพราะเป็น “ของดี” สามารถนำต่อจิ๊กซอร์ธุรกิจของซี.พี. ได้ทั้งการเป็นช่องทางการขายสินค้าของกลุ่มให้กับกลุ่มลูกค้าที่เป็นโชห่วย และภัตตาคาร ร้านอาหาร การเป็นศูนย์กระจายสินค้า(DC) ให้กับกลุ่มซี.พี.เพื่อกระจายสินค้าต่อไปยังร้าน 7-Eleven กว่า 7 พันแห่ง ซึ่ง makro มีสาขาอยู่ทั้งหมด 58 แห่งทั่วประเทศ เป็นสาขาในต่างจังหวัด 50 แห่ง นั่นหมายความว่า ซี.พี.มี DC เพื่อส่งสินค้าต่อไปยังร้าน 7-Eleven ทั่วประเทศเพิ่มขึ้น และในอนาคตซี.พี. จะให้ 7-Eleven จัดส่งสินค้าในร้านไปถึงบ้านลูกค้า

“โอกาสของซี.พี.ยังมีอีกมาก อย่างเรื่อง logistics ที่เราต้องสร้างเครือข่ายการขนส่งระหว่างบริษัทสู่บริษัท (B to B) และระหว่างบริษัทสู่ลูกค้า (B to C) ซึ่งในเรื่องของการส่งอาหารสดถึงบ้านยังเป็นโอกาสที่ให้เราเข้าไปทำ”

makro ไม่ใช่เป็นเพียงฐานธุรกิจในไทยเท่านั้น แต่เจ้าสัวยังจะใช้ makro บุกตลาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในอาเซียน และจีน รวมถึงประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อนำซี.พี.บุกสู่ตลาดโลก

ข่าวในประเทศ-กรมสรรพสามิตเผยโครงสร้างภาษีรถใหม่ มีทั้งที่ปรับลดลงและเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 5,000 บาท ไปจนถึงมากกว่าแสนบาทขึ้นไป เผยปิกอัพแบบมีแค็บและรถอเนกประสงค์แบบพีพีวีเจอเต็มๆ ปรับภาษีใหม่ทั้งกระดานไม่มีเว้น ขณะที่นายกสมาคมอุตฯ ยานยนต์ไทย ระบุการใช้ก๊าซ CO2 มาเป็นเกณฑ์คิดอัตราภาษีใหม่ ทำให้บริษัทรถมีภาระต้นทุนเพิ่ม

จากการการเตรียมปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ และจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2559 เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ และประชาชนผู้ซื้อรถยนต์ โดยเมื่อวานนี้(2 เม.ย.) สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ได้จัดงานเสวนาเรื่อง “ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ตามค่าคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างไร” เพื่อชี้ให้เห็นผลกระทบ และเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภค กระตุ้นให้ตระหนักถึงทิศทางการพัฒนาของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย รวมถึงเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ประกอบการกับภาครัฐ

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า โครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ ที่คิดอัตราตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 ซึ่งไม่เพียงเน้นเรื่องการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย แต่ยังสร้างความเป็นธรรมให้กับรถยนต์ในทุกประเภท ไม่ใช่เพียงเฉพาะรถใช้แก๊สโซฮอล์ E20 หรือ E85 แต่ยังรวมถึงรถเครื่องยนต์ดีเซล หรือรถไฮบริดที่มีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันและมลพิษแตกต่างกัน แต่ปัจจุบันกลับเสียภาษีในอัตราเท่ากัน ต่อไปก็จะได้รับความเป็นธรรมตามการปล่อยก๊าซ CO2 ขณะเดียวกันโครงสร้างภาษีใหม่จะมีการจัดเก็บที่เรียบง่ายและโปร่งใสขึ้น ตลอดจนมีการสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาสู่ประชาชน

“ภาครัฐให้เวลาผู้ประกอบการในเตรียมตัวนาน 3 ปี จึงน่าจะสามารถปรับตัวรับโครงสร้างภาษีใหม่ได้ ซึ่งหากบริษัทที่สามารถดำเนินการให้รถปล่อยก๊าซ CO2 ตามมาตรฐานกำหนด พร้อมกับติดตั้งความปลอดภัยอย่างระบบเบรก ABS และระบบควบคุมการทรงตัว หรือ VSC จะเสียภาษีในอัตราเท่าปัจจุบัน หรือรถที่มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่จะได้รับการสนับสนุนภาษีลดลงสูงสุด 5% หากมีค่าการปล่อยมลพิษตามเกณฑ์ แต่ถ้าไม่สามารถทำได้จะต้องเสียภาษีเพิ่มจากเดิม 2-40% แล้วแต่ประเภทรถและฐานราคาของรถรุ่นนั้นๆ หรือตั้งแต่ระดับ 5,000 บาท ไปจนถึงมากกว่าแสนบาทขึ้นไป”

สำหรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่หลักๆ ยังคงแยกประเภทรถเหมือนเดิม(แต่ไม่แยกขนาดเครื่องยนต์) รวมถึงอัตราภาษีสูงสุดที่อัตรา 50% แต่ได้ใช้เกณฑ์การปล่อยก๊าซ CO2 มาเป็นกำหนดอัตราภาษี คือรถยนต์นั่งหรือเก๋ง จะใช้เกณฑ์ค่าไม่เกิน 100 กรัม/กม. เสียต่ำสุด 10% (ส่วนใหญ่จะเป็นรถไฮบริด) หรือรถที่ไม่เกิน 150 กรัม/กม. จะเสียภาษีในอัตรา 30% เท่าปัจจุบัน แต่ต้องติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัย ABS และ VSC ด้วย ซึ่งหากมากกว่านั้นจะเสียภาษีในอัตรา 35-50%

ขณะที่ปิกอัพกำหนดอัตราปล่อยก๊าซ CO2 ไว้ที่ไม่เกิน 200 กรัม/กม. เสียภาษีในอัตราปัจจุบันที่ 3% แต่ปิกอัพที่ไม่ผ่านและปิกอัพแบบมีแค็บต้องเสียภาษีเพิ่มเป็น 5% แม้จะผ่านมาตรฐานการปล่อยไอเสียก็ตาม เช่นเดียวกับรถอเนกประสงค์แบบพีพีวี อย่างโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ หรืออีซูซุ มิว-เอ็กซ์ ปัจจุบันเสียภาษี 20% อัตราใหม่จะต้องเสีย 25% ส่วนอีโคคาร์ได้รับประโยชน์มากสุด เพราะอัตราภาษีสูงสุดยังเท่าปัจจุบัน 17% แต่ถ้าทำค่า CO2 ต่ำกว่า 100 กรัม/กม. จะเสียภาษีในอัตราต่ำสุด 12%

“สาเหตุที่ต้องปรับภาษีในส่วนของปิกอัพที่มีแค็บ เพราะภาครัฐต้องการให้ประชาชนซื้อรถที่เหมาะกับการใช้งาน ซึ่งไม่ควรใช้ปิกอัพแบบมีแค็บเพื่อการนั่งโดยสาร ขณะที่รถพีพีวีแทบไม่ต่างจากรถยนต์นั่ง แต่รัฐบาลยังสนับสนุนในการสร้างอนุพันธ์รถรุ่นใหม่ๆ จึงให้ปรับโครงสร้างภาษีขึ้น แต่ไม่สูงเท่ากับรถอเนกประสงค์แบบเอสยูวี” นายณัฐกรกล่าว

นายธนวัตน์ คุ้มสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า แม้จะมีการประกาศโครงสร้างภาษีใหม่ล่วงหน้า 3 ปี คงจะมีทั้งรุ่นที่ผ่านมาตรฐาน และไม่สามารถดำเนินการได้ แต่รถที่ไม่ได้วางแผนมาก่อนล่วงหน้าเลย และไม่คุ้มที่จะลงทุนพัฒนาย่อมต้องเสียภาษีในอัตราเพิ่มขึ้น ตรงนี้อยู่ที่ค่ายรถจะบริหารจัดการกับภาระภาษีใหม่ ส่วนรถรุ่นใหม่ที่พัฒนาและออกแบบมารองรับ ย่อมต้องมีต้นทุนสูงกว่าเข้ามา ซึ่งเป็นอีกปัจจัยทำให้ราคารถยนต์อาจจะไม่ได้ปรับลง หรือราคาอาจจะสูงขึ้น ทั้งที่โครงสร้างภาษีสนับสนุนก็ตาม

นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา 1 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะทำงานร่วมกับกรมสรรพสามิตอย่างใกล้ชิด โดยจะเป็นฝ่ายตรวจสอบมาตรฐานต่างๆ ของรถให้เป็นไปตามกำหนดและเป็นมาตรฐานสากล ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีใหม่ จะทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยเป็นไปตามทิศทางตลาดทั่วโลก ในเรื่องของความสะอาด ประหยัดเชื้อเพลิง และปลอดภัย ช่วยผลักดันอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในประเทศ และที่สำคัญผู้บริโภคได้ซื้อ “รถดี ราคาเหมาะสม”

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมขานรับนโยบายนายกรัฐมนตรีพัฒนา SMEs และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ด้วยแนวคิดนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ใน 3 ด้าน ได้แก่ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต และการบริหารจัดการ เพื่อเตรียมพร้อมผู้ประกอบการสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ผ่านโครงการต่างๆ กว่า 70 โครงการ ตั้งเป้าพัฒนาผลิตภัณฑ์เอสเอ็มอีไม่ต่ำกว่า 300 ผลิตภัณฑ์ จำนวนผู้ประกอบการ 3,500 ราย

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ขานรับนโยบาย นายกรัฐมนตรี ในการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้มีสมรรถนะและขีดความสามารถเพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินการพัฒนาเอสเอ็มอีด้วยแนวคิดนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ใน 3 ด้าน ได้แก่ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมในกระบวนการผลิต และนวัตกรรมการบริหารจัดการผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการส่งเสริมนวัตกรรมอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ โครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งอนาคต โครงการเชื่อมโยงงานวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีโครงการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ตลอดจนวิสาหกิจชุมชน เพื่อนำองค์ความรู้จากการวิจัยมาประยุกต์ใช้สร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ ก่อนถ่ายทอดไปในรูปแบบโมเดล และต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์หรือนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ที่ผู้บริโภคพึงพอใจ เพื่อพัฒนาผลิตภาพและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคอุตสาหกรรมนำไปสู่การยกระดับสินค้าของไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมยังมีโครงการต่างๆ อีกมากกว่า 70 โครงการกิจกรรม ที่สอดแทรกแนวคิดด้านนวัตกรรมเพื่อการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ฉีกหนีคู่แข่งทางการค้าที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนต่อไป โดยในปี 2558 ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีเป้ามายดำเนินการเพื่อพัฒนาศักยภาพตัวผู้ปรกอบการ 3,500 คน นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์’เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ นำไปสู่การสร้างอัตลักษณ์ ความแตกต่าง และสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้แก่ผลิตภัณฑ์ รวมถึงการสร้างจุดเด่นของสินค้าและบริการที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยปีนี้ตั้งเป้าพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมให้แก่ผู้ประกอบการไม่ต่ำกว่า 300 ผลิตภัณฑ์

 

ที่มา : ASTV ออนไลน์

ผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชน์ มองภาพธุรกิจฟื้นตัว และขยายตัวต่อเนื่อง แนะ ผู้ประกอบการไทยเร่งปรับตัวรองรับการแข่งขันรุนแรงขึ้นใน AEC

เปิดแล้วอย่างยิ่งใหญ่กับ งานทีเอฟบีโอ 2014 งานแสดงแฟรนไชน์นานาชาติที่ใหญ่ที่สุดสุดในอาเซียน ครั้งที่ 10 และ งาน ทร๊าฟส์ 2014 งานแสดงอุปกรณ์ วัตถุดิบ ของใช้ ของประเทศไทย ครั้งที่ 8 ภายใต้คอนเซ็ปต์ ทู อิน วัน

โดย นายกวิน กิตติบุญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัท กวิน อินเตอร์เทรด บอกว่า Highlight สำคัญของปีนี้ คือ พื้นที่ในการจัดงานที่เพิ่มขึ้นกว่า 50% เป็น 1 หมื่น 5 พันตารางเมตร จากเดิม 1 หมื่นตารางเมตร ซึ่งจัดขึ้นที่ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เพื่อรองรับเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นในครึ่งปีหลังและการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี 2558

ในงาน ทีเอฟบีโอ 2014 ปีนี้มีธุรกิจแฟรนไชน์เข้าร่วมแสดงงานถึง 150 แบรนด์ จาก 10 ประเทศ ในขณะที่งาน  ทร๊าฟส์ 2014 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมแสดงสินค้า 130 บริษัท โดย บริษัทคาดว่าตลอดการจัดงาน 4 วัน หรือตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 24 – วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม จะมีผู้เข้าชมงานกว่า 3 หมื่นคน จาก 50 ประเทศ พร้อมตั้งเป้าการซื้อขายที่จะเกิดภายในงานกว่า 250 ล้านบาท อีกด้วย

และแนวโน้มของธุรกิจสมาคมแฟรนไชน์และไลเซน นับจากนี้นั้น ทางด้าน นายกฤษฎ์ กาญจนบัตร รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจ สมาคมแฟรนไชน์และไลเซนส์ บอกในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2558 ว่า มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปีหน้าหลังประเทศไทยเข้าสู่เออีซี จะยิ่งกระตุ้นให้มูลค่าตลาดธุรกิจแฟรนไชน์ขยายตัว อันเนื่องมาจากการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการจากต่างชาติที่เห็นโอกาสในการขยายตลาดทั้งในประเทศไทยและอาเซียน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเตรียมพร้อมรับกับการแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้นกว่าเดิม

ที่มา : money channel

แนะกลยุทธ์เอสเอ็มอีไทยสู้ได้ในตลาดอาเซียน

 

มูลนิธิเอเชียร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ จัดสัมมนาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคในหัวข้อ “การปรับทัพ AEC ให้สอดคล้องกับ SMEs” หรือ “Making ASEAN Economic Community Work for SMEs” ขึ้น ซึ่งงานเสวนาดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมาก

Ms.Penchan Manawanitkul, Senior Officer Enterprise Development, Asean Economic Community (AEC), Department ASEAN Secretariat กล่าวถึงการพัฒนา SMEs เพื่อรองรับ AEC โดยระบุว่า หัวใจหลักที่จะทำให้ธุรกิจ SMEs สามารถรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีด้วยกัน 4 ช่องทาง ได้แก่ 1.การพัฒนาบุคลากรทางธุรกิจ 2.การผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ 3.การทำให้วัตถุดิบมีมูลค่ามากขึ้น และ 4.การขยายตลาด นอกเหนือจากคู่แข่งทางการค้า ควรมีการเปิดตลาดใหม่ๆเพิ่มเติม ขณะเดียวกันการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐในการไปดูงานต่างประเทศจะช่วยให้ผู้ประกอบการเพิ่มวิสัยทัศน์เพื่อนำมาพัฒนาสินค้าได้มากยิ่งขึ้น

คุณอดิทัต วะสีนนท์ ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักบริหารยุทธศาสตร์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากผลสำรวจความพร้อมที่จะเข้าสู่ AEC ของผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs เมื่อปลายปีที่แล้วพบว่า มีผู้ประกอบการถึงร้อยละ 60 ที่ระบุว่ายังไม่พร้อม โดยให้เหตุผลว่ารอนโยบายทิศทางที่ชัดเจนจากภาครัฐ เงินสนับสนุน การปรับตัว และบางส่วนระบุว่าเป็นแค่กิจการขนาดเล็กไม่จำเป็นต้องแข่งขันกับนานาชาติเนื่องจากมีตลาดในประเทศอยู่แล้ว ขณะที่ร้อยละ 30 ระบุว่าพร้อม และ ร้อยละ10 ระบุว่ายังไม่แน่ใจ นอกจากนี้จากผลการสำรวจยังพบว่า ไทยมีจุดอ่อนเรื่องภาษาที่ต้องปรับปรุง ทำให้มีผลต่อการแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องการจัดอบรมความรู้ การจัดการบริหารบุคลากร รวมทั้งการลดต้นทุน พลังงาน วัตถุดิบ ภาษี การเพิ่มผลิตภาพและการสนับสนุนการส่งออกให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

คุณพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการ AEC Prompt หอการค้าไทย กล่าวว่าผู้ประกอบการ SMEs ไม่ควรมองแค่เพียงกลุ่มประเทศอาเซียนแต่ควรมองรวมไปถึงทั่วโลก เนื่องจากหัวใจการทำธุรกิจในปัจจุบันไม่ใช่แค่การหวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องควบคู่ไปกับมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ภายใต้แนวคิดที่ว่าโลกต้องการอะไร ทำอย่างไรให้ธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ทำลายธรรมชาติน้อยที่สุด ซึ่งผู้ประกอบการต้องเชื่อมโยงธุรกิจให้ตอบสนองพร้อมๆกันทุกด้าน จากนั้นตลาดจะเข้ามาเอง

Mr.Agus Muharram,lr.,MSP,Secretariat Ministry, Ministry of Cooperatives and SMEs, Indonesia กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของอินโดนีเซีย โดยระบุว่า รัฐบาลของอินโดนีเซียมีนโยบายที่จะทำให้ธุรกิจ SMEs ในประเทศรับมือกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วยการสนับสนุนทางการเงิน มีการออกนโยบายให้เงินกู้พิเศษแก่ผู้ประกอบการ รวมถึงการสนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้า SMEs ในกรุงจาร์กาตาและการจัดตั้งสหกรณ์เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่ผู้ประกอบการ เสริมความเชื่อมั่นทำให้ธุรกิจ SMEsเข้มแข็งขึ้น

ในงานยังมีการถ่ายทอดประสบการณ์ความสำเร็จ กลยุทธ์ของเอสเอ็มอีในการเจาะตลาดอาเซียน ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดย Ms.Tran Thi Hai Yen, SLIMMER STYLE Shareholding Inc., ประเทศเวียดนาม มองว่าการทำธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จนั่นคือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างธุรกิจกับธุรกิจโดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หากประเทศที่เป็นสมาชิกมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จะทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆอันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนและเพิ่มมุมมองในการทำธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และประเด็นที่ต้องคำนึงถึงในการผลิตสินค้าคือ ต้องสร้างแบรนด์สินค้าอาเซียน สินค้าที่สามารถไปขายได้ทุกประเทศสมาชิกอาเซียน

Yen เล่าประสบการณ์การทำตลาดนิชมาร์เกตในเวียดนามซึ่งกำลังเติบโตขณะนี้นั้น มีประสบการณ์ลองถูกลองผิดมาเช่นกัน ในการผลิตและออกแบบแฟชั่นเสื้อผ้าแต่สุดท้ายตระหนักว่าเราไม่จำเป็นต้องผลิตสินค้าสำหรับคนทุกกลุ่มแต่ผลิตสินค้าที่เราเชี่ยวชาญและทำได้ดีที่สุดเท่านั้น จึงเจาะที่กลุ่มลูกค้าเฉพาะช่วงวัย 27-45 ปีเท่านั้น โดยปัจจัยที่ทำให้สำเร็จคือคุณภาพสินค้าและบริการหลังการขาย มีบริการดี และติดตาม รวมทั้งพัฒนาไปข้างหน้า เมื่อสินค้าพร้อม ตลาดพอไปได้ และจังหวะเวลามาถึง ก็ลุยเลย แต่ต้องไปอย่างรู้เขารู้เรา ไม่ต้องไปกังวลกับรายละเอียดที่เป็นอุปสรรคมากนักเพราะทุกกฎระเบียบย่อมมีข้อยกเว้น

คุณมรกต สิงหแพทย์ ประธานบริษัท SIGMA&HEARTS ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ มีการขยายไปตั้งโรงงานแห่งที่สองที่ประเทศอินโดนีเซีย ด้วยเหตุผลตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศเริ่มอิ่มตัวมองหาตลาดต่างประเทศ และพบว่าตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศอินโดนีเซียยังเปิดกว้าง มีความต้องการใช้รถจักรยานยนต์มากกว่า 7-8 ล้านคัน และอัตราค่าจ้างขั้นต่ำถูกกว่าประเทศไทย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยต้องอย่ากลัวที่จะไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่อินโดนีเซียเป็นตลาดที่ยังเปิดกว้างในหลาย ๆ ด้าน นับเป็นโอกาสของนักธุรกิจเอสเอ็มอีไทยให้กล้าเข้าไปลงทุน

อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจ SMEs (Small and Medium Enterprises) ถือเป็นธุรกิจที่มีบทบาทไม่ต่างจากธุรกิจขนาดใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการเปิดประตูสู่ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (AEC) ในปี 2558 จะส่งผลให้ภูมิภาคอาเซียนกลายเป็นกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีฐานการผลิตรวมกัน รวมถึงเป็นการสร้างอำนาจต่อรองด้านการค้าและเศรษฐกิจในเวทีการค้าโลกได้อย่างเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น การพัฒนาและปรับโหมดธุรกิจ SMEs ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจ SMEs ปรับตัวภายใต้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้

ที่มา : newswit.com

แม้ไทยจะเปิดให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ถึง 70% ในธุรกิจโรงแรมเป็นครั้งแรกจากการเจรจาจัดทำข้อผูกพันฉบับที่ 8 ภายใต้ข้อตกลงการเปิดเสรีการค้าบริการ แต่ผลกระทบในทางปฏิบัติจะมีไม่มาก เพราะไทยยังตั้งเงื่อนไขให้ใช้ได้เฉพาะโรงแรมระดับตั้งแต่ 6 ดาวขึ้นไป อย่างไรก็ตาม คาดว่าอนาคตจะส่งผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นโดยเฉพาะกับ SMEs เนื่องจากมีแนวโน้มถูกร้องขอให้เปิดเสรีในโรงแรมระดับรองลงมามากขึ้นเพื่อให้ใกล้เคียงกับประเทศอาเซียนอื่นๆ

ในทางกลับกันธุรกิจไทยควรใช้โอกาสที่ประเทศอาเซียนอื่นๆ เปิดเสรีการลงทุนธุรกิจโรงแรมค่อนข้างมากในการยกระดับไปเป็นผู้เล่นในระดับภูมิภาค เพื่อให้มีเครือข่ายครอบคลุมตลาดที่มีศักยภาพในด้านของนักท่องเที่ยว และสร้างแบรนด์บริหารของไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งเมืองหลวงและเมืองธุรกิจต่างๆ ค่อนข้างมีศักยภาพด้านตลาดผู้เดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจมากขึ้น  โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย และกลุ่มประเทศ CLMV

ตารางข้อผูกพันการค้าบริการเสรีภายใต้ AEC ฉบับที่ 8 ล่าสุด ไทยเปิดโอกาสให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ถึง 70% ในธุรกิจโรงแรมเป็นครั้งแรก หลังจากสงวนเพดานไว้ที่ 49% มาโดยตลอดการเจรจาทั้ง 7 ฉบับที่ผ่านมา การเจรจาเปิดเสรีด้านการค้าบริการภายใต้ข้อตกลง ASEAN Framework Agreement on Services (AFAS) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ AEC มีการจัดทำข้อผูกพัน (package of specific commitment) เพื่อเปิดตลาดการค้าบริการในสาขาต่างๆ มาแล้วทั้งหมด 7 ฉบับในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทั้งไทยและหลายๆ ประเทศได้อาศัยความยืดหยุ่นของข้อตกลงเพื่อสงวนและจำกัดเพดานการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติในธุรกิจโรงแรมมาโดยตลอด โดยเฉพาะของไทยนั้นไม่ได้ขอสงวนแค่ธุรกิจโรงแรมเท่านั้น แต่จำกัดเพดานการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติไว้ที่ 49% ครอบคลุมทุกสาขาบริการมาโดยตลอด ส่งผลให้ยังไม่มีผลกระทบใดๆ เกิดขึ้นกับธุรกิจบริการในไทยมากนักในช่วงที่ผ่านมา แต่การเจรจาจัดทำข้อผูกพันในฉบับที่ 8 ที่ผ่านมานับเป็นการขยายเพดานการถือหุ้นธุรกิจโรงแรมในไทยให้กับนักลงทุนอาเซียนเป็นครั้งแรก ซึ่งโดยหลักการแล้วจะส่งผลให้นักลงทุนอาเซียนเข้ามาทำธุรกิจโรงแรมในไทยได้ง่ายขึ้นมาก และส่งผลต่อเนื่องให้ภาวะการแข่งขันในธุรกิจมีแนวโน้มสูงขึ้น จากเดิมที่ควบคุมโดย พรบ.ธุรกิจต่างด้าว

การอนุญาตดังกล่าวยังไม่เพิ่มความท้าทายอย่างมีนัยสำคัญมากนัก เพราะมีเงื่อนไขว่าเปิดเสรีเฉพาะโรงแรมระดับหกดาวขึ้นไป ด้วยความยืดหยุ่นของข้อตกลงใน AEC ที่คำนึงถึงความพร้อมของแต่ละประเทศเป็นหลักเนื่องจากประเทศในอาเซียนมีพัฒนาการแตกต่างกันมาก ทำให้การเปิดเสรีให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นในธุรกิจโรงแรมไทยได้ถึง 70% ยังคงมีเงื่อนไขกำกับ คือ อนุญาตให้เฉพาะโรงแรมในระดับหรูหราไม่ต่ำกว่าระดับ 6 ดาวเท่านั้น ดังนั้น ในทางปฏิบัติจึงจะไม่เห็นผลกระทบอะไรมากนัก เพราะการลงทุนในโรงแรมระดับ 6 ดาวขึ้นไปมักจะเป็นการลงทุนขนาดใหญ่มูลค่ามากกว่า 500 ล้าน ซึ่งสามารถขอสมัครรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ได้อีกทางหนึ่งอยู่แล้วซึ่งอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติถึงหุ้นได้ถึง 100% และคาดว่าโครงการโรงแรมที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนน่าจะได้รับการอนุม้ติได้ไม่ยากนักเนื่องจากการลงทุนในขนาดดังกล่าวส่วนใหญ่ยังต้องอาศัยเงินลงทุนและนักลงทุนจากต่างชาติมากกว่า ทั้งนี้ การกำหนดเงื่อนไขสำหรับธุรกิจโรงแรมในการเจรจาจัดทำข้อผูกพันสำหรับข้อตกลงการค้าบริการเสรีนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะเกือบทุกประเทศในอาเซียนก็สร้างเงื่อนไขการลงทุนเช่นกัน ยกเว้นเพียงสิงคโปร์และเวียดนามที่ดูจะเปิดเสรีมากที่สุดในกรณีธุรกิจโรงแรม อินโดนีเซียนั้นอนุญาตให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ถึง 100% แต่จำกัดอยู่ในบางพื้นที่ ในขณะที่มาเลเซียนั้นอนุญาตเฉพาะโรงแรม 4-5 ดาว ส่วนฟิลิปปินส์นั้นยังคงจำกัดการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติไว้ให้เป็นเสียงข้างน้อย (minority share) (รูปที่ 1)

คาดว่าไทยมีแนวโน้มจะถูกขอให้เปิดเสรีธุรกิจโรงแรมมากขึ้นในระดับดาวรองลงมาในอนาคต ซึ่งจะกลายเป็นความท้าทายที่เพิ่มขึ้นอย่างจริงจังต่อภาวะการแข่งขันในธุรกิจโรงแรมในไทย ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบระดับการเปิดเสรีสำหรับธุรกิจโรงแรมของประเทศต่างๆ ในอาเซียนแล้ว ดูเหมือนว่าไทยจะยังเปิดเสรีน้อยที่สุดรองลงมาจากฟิลิปปินส์ ซึ่งด้วยรูปแบบการเจรจาในลักษณะ request and offer จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนจะเรียกร้อง ให้ไทยเปิดเสรีในธุรกิจโรงแรมมากขึ้น โดยเฉพาะในระดับที่รองลงมาจาก 6 ดาวที่เป็นเงื่อนไขปัจจุบัน เนื่องจากประเทศอื่นๆ เปิดเสรีให้มากกว่า และไทยเป็นประเทศที่มีตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุดในอาเซียนและยังเป็นศูนย์กลาง (hub) สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวต่อไปยังประเทศรอบข้างได้ง่าย หากไทยเปิดเสรีให้นักลงทุนอาเซียนสำหรับโรงแรมระดับรองลงมาด้วยแล้วคาดว่าจะส่งผลกระทบมากขึ้นเพราะผู้ที่จะได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็น SMEs ซึ่งปัจจุบันก็เผชิญการแข่งขันที่สูงมากอยู่แล้ว สังเกตได้จากระดับราคาห้องพักที่ปรับเพิ่มขึ้นได้เฉลี่ยเพียง 2% ทั้งๆ ที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นกว่า 20% ในปี 2013 ที่ผ่านมา และแม้ว่าที่ผ่านมาธุรกิจโรงแรมและกลุ่มทุนต่างชาติใหญ่ๆ จะสามารถหาช่องทางลงทุนในไทยได้อยู่แล้วด้วยช่องทางและกลวิธีต่างๆ แต่การเปิดเสรีใน AEC จะยิ่งอำนวยความสะดวก และลดภาระและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผ่านช่องทางที่ซับซ้อนได้มาก ส่งผลให้การแข่งขันรุนแรงอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นอีก

และแม้ประเทศอาเซียนอื่นๆ จะเปิดเสรีให้นักลงทุนไทยเช่นกันซึ่งน่าจะเป็นโอกาสของธุรกิจไทย แต่ประสบการณ์การออกไปลงทุนต่างประเทศของโรงแรมไทยยังมีน้อยเมื่อเทียบกับคู่แข่งจากมาเลเซียและสิงคโปร์
 ธุรกิจโรงแรมของไทยมีเพียงน้อยรายที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งแตกต่างจากผู้เล่นรายใหญ่ๆ ของทั้งสิงคโปร์และมาเลเซียที่ทุกรายในอันดับต้นๆ จะมีสัดส่วนรายได้ที่มาจากการลงทุนหรือดำเนินธุรกิจโรงแรมในต่างประเทศ และส่วนใหญ่มาจากมากกว่าหนึ่งประเทศ (รูปที่ 2) ดังนั้น ในเวทีแข่งขันระดับภูมิภาค ธุรกิจไทยจึงอาจมีข้อเสียเปรียบในด้านของประสบการณ์ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจไทยควรอาศัยโอกาสการทยอยเปิดเสรีมากขึ้นนี้เข้าไปลงทุนในประเทศอาเซียนอื่นๆ เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายโรงแรมให้ครอบคลุมและเพิ่มมูลค่าให้แบรนด์บริหารโรงแรมของไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในทำเลธุรกิจเพราะตลาดนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางติดต่อธุรกิจมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงในหลายๆ ประเทศ ซึ่งเมืองหลวงและหัวเมืองสำคัญกำลังกลายเป็นจุดหมายปลายทางหลัก ยกตัวอย่างเช่น จำนวนนักท่องเที่ยวไปจาการ์ตาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 12% มากกว่าบาหลีที่เพิ่มขึ้นราวปีละ 10% ซึ่งสวนทางกับสถิติในช่วง 5 ปีก่อนหน้านั้นที่จำนวนผู้เดินทางมาจาการ์ตาเพิ่มขึ้นเพียงปีละ 1% และนักท่องเที่ยวเข้าบาหลีเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5% เป็นต้น ซึ่งปัจจัยสนับสนุนหลักๆ ก็คงเป็นจำนวนเที่ยวบินและสายการบินต้นทุนต่ำที่เกิดขึ้นค่อนข้างมากในระยะหลัง

นักลงทุนธุรกิจโรงแรมไทยควรพิจารณาลงทุนในเมืองธุรกิจในประเทศอาเซียนอื่นๆ โดยอาศัยข้อดีจากการเปิดเสรีการค้าบริการในธุรกิจโรงแรมที่ประเทศอาเซียนอื่นๆ มีระดับการอนุญาตมากกว่าไทย
 เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มที่กำลังเติบโตสูงอย่างอินโดนีเซียและ CLMV จะสร้างการขยายตัวของเมืองและเพิ่มปริมาณการเดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจ ส่งผลให้มีความต้องการห้องพักโรงแรมเพิ่มขึ้นในย่านธุรกิจต่างๆ

โรงแรมระดับกลาง-ล่างในไทยต้องเร่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุน การรวมกลุ่ม สร้างเครือข่าย และสร้างแบรนด์ เพื่อรองรับการเปิดเสรีธุรกิจโรงแรมของไทยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคตให้เท่าเทียมกับประเทศอาเซียนอื่นๆ เนื่องจากโรงแรมในไทยเป็นธุรกิจขนาดกลาง-เล็กเป็นส่วนใหญ่และเป็นการบริหารโดยครอบครัวซึ่งในอนาคตมีความเสี่ยงมากขึ้นจากทั้งการที่ผู้เล่นรายใหญ่ในประเทศลงมาทำธุรกิจโรงแรมในระดับล่างลงมามากขึ้นโดยอาศัยการใช้แบรนด์บริหารโรงแรมที่มีชื่อเสียงเป็นข้อได้เปรียบ และการที่ไทยมีแนวโน้มถูกร้องขอให้เปิดเสรีธุรกิจโรงแรมระดับต่ำกว่า 6 ดาวลงมาให้กับนักลงทุนอาเซียนมากขึ้นในอนาคต

ขอบคุณ ประชาชาติออนไลน์

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จับมือภาคอุตสาหกรรมแฟชั่นและเครื่องหนังไทย เตรียมเดินหน้าจัดงานแสดงสินค้าแฟชั่นและงานแสดงสินค้าเครื่องหนัง 2557 หรือ Bangkok International Fashion Fair and Bangkok International Leather Fair 2014 (BIFF&BIL 2014) มั่นใจเปิดเวทีแสดงสินค้าระดับนานาชาติครั้งใหญ่ในอาเซียน ผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางแฟชั่นและเครื่องหนังในภูมิภาค เผยยอดผู้ประกอบการไทยและต่างชาติตอบรับเข้าร่วมแสดงสินค้ากว่า 700 คูหา ขณะที่กรมฯ เร่งทำแผนการค้าเชิงรุกเจาะกลุ่มผู้ซื้อโดยตรง หวังดึงดูดคู่ค้าร่วมงานกว่า 6,000 ราย กระตุ้นคำสั่งซื้อไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงการจัดงาน BIFF&BIL 2014 ซึ่งจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 12 – 16 มีนาคมนี้ ว่าจากการที่มีสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ประชุมหารือและสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่นสิ่งทอและเครื่องหนังที่สมัครเข้าร่วมงาน BIFF & BIL ในปีนี้ ปรากฏว่าผู้ประกอบการไทยกว่าร้อยละ 90 ต่างแสดงความคิดเห็นตรงกันให้เดินหน้าจัดงานตามกำหนดการเดิม เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศและกระตุ้นความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ ผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากเล็งเห็นว่างาน BIFF & BILเป็นงานแสดงสินค้าแฟชั่น และเครื่องหนังครั้งใหญ่ในอาเซียน ถือเป็นเวทีการค้าระดับนานาชาติที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 32 ปี และมีส่วนช่วยส่งเสริมการส่งออกสินค้าแฟชั่นและเครื่องหนังไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ภาพรวมของอุตสาหกรรมแฟชั่นและเครื่องหนังไทยในปี 2556 ถือว่ามีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยการส่งออกของปี 2556 มีมูลค่า 9,223.67 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งออกเป็น สินค้าผ้าผืนและเส้นด้าย 2,525.26 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.85 สินค้าเครื่องนุ่งห่ม มูลค่า 2,873.50 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวลดลงร้อยละ 2.58 สินค้าสิ่งทออื่นๆ มูลค่า 2,083.82 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.61 และสินค้าเครื่องหนัง เครื่องใช้ในการเดินทางและรองเท้า มีมูลค่าส่งออก 1,741.08 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.36 สำหรับเป้าหมายการส่งออกสินค้าแฟชั่นและเครื่องหนังในปี 2557 กรมฯ คาดว่าจะสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ตามเป้าหมายร้อยละ 5 เนื่องจากปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวและแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทย ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีในการเดินหน้าจัดงาน BIFF&BIL 2014 ให้เป็นเวทีการค้าที่ผู้ผลิต ผู้ซื้อ ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า ดีไซเนอร์และผู้จัดจำหน่ายได้มาพบปะเจรจาธุรกิจเพื่อขยายช่องทางสู่ตลาดโลก

“การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 มาพร้อมกับโอกาสการค้าที่มากขึ้น เนื่องจากฐานลูกค้าได้ขยายครอบคลุมประชากรกว่า 600 ล้านคน ผู้ประกอบการจึงต้องพัฒนาธุรกิจ ศึกษาตลาด เพื่อเตรียมพร้อมรองรับโอกาสและการแข่งขันที่มากขึ้นด้วย ในขณะที่กรมฯ ได้เร่งทำแผนการค้าเชิงรุกเพื่อเจาะเข้าถึงผู้ซื้อกลุ่มเป้าหมายด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด อาทิ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าแฟชั่นที่สำคัญในต่างประเทศ การจัดคณะผู้แทนการค้าไปเจรจาการค้ากับผู้ซื้อรายใหญ่ในตลาดศักยภาพ รวมถึงการนำคณะผู้แทนการค้าจากต่างประเทศมาเยือนไทยด้วย ทั้งนี้ งาน BIFF&BIL 2014 ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญในการผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยได้มีโอกาสสร้าง และรักษาเครือข่ายการค้ากับผู้ซื้อที่มีศักยภาพทั้งในตลาดใหม่และตลาดเดิม เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ไต้หวัน ยุโรป รวมถึงอเมริกาและอื่นๆ ที่คาดว่าจะสนใจเข้าชมงานกว่า 6,000 ราย และผลักดันยอดคำสั่งซื้อไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าว

สำหรับงาน BIFF&BIL 2014 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 16 มีนาคม 2557 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด STYLE+DESIGN ASEAN เพื่อเผยแพร่ศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมแฟชั่นและเครื่องหนังไทยที่มีกระบวนการผลิตที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยการสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต การตลาด และการค้าสิ่งทอและเครื่องหนังที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย พร้อมทั้งเปิดเวทีให้นักออกแบบสินค้าแฟชั่นได้แสดงผลงาน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีศักยภาพในการผลิต และการออกแบบได้มีโอกาสขยายช่องทางการค้าสู่ตลาดโลก

จุดเด่นของงานในปีนี้ คือเป็นการพัฒนารูปแบบงานให้มีความน่าสนใจและเป็นสากลมากขึ้น โดยมีผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศ อาทิ กลุ่มอาเซียน, ญี่ปุ่น, เกาหลี, จีน, ไต้หวัน, ยุโรปและสหรัฐอเมริกา ตอบรับนำสินค้าเข้าร่วมจัดแสดงกว่า 700 คูหาแบ่งพื้นที่ออกเป็นหมวดหมู่ ด้วยแนวคิด Fair-in-Fair ประกอบด้วย สินค้าสิ่งทอ (Textile), เครื่องนุ่งห่ม (Apparel), เครื่องประดับแฟชั่น (Fashion Accessories),เครื่องหนัง (Leather Goods), รองเท้า (Footwear), หนังฟอกสำเร็จ (Tanned Leather), แฟชั่นและเครื่องหนังที่มีเอกลักษณ์หรือลวดลายเฉพาะตัว (Thai Exotic), ดีไซเนอร์ (Designer) และสินค้าแบรนด์จากต่างประเทศ (International Zone)

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมพิเศษที่น่าสนใจ อาทิ การจับคู่ธุรกิจ Business Matching,  นิทรรศการ Small Lot Order ตอบโจทย์ความต้องการสั่งซื้อสินค้าปริมาณน้อย แต่เน้นคุณภาพและดีไซน์ตามความต้องการ   การแสดงผลงานผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนาการออกแบบในโครงการ Workshop โดย ผศ.ดร.อโนทัย ชลชาติภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอของไทย จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นิทรรศการจัดแสดงสินค้าและแนวโน้มเครื่องหนัง และนิทรรศการแสดงผลงานการออกแบบจาก 30 ดีไซเนอร์รุ่นใหม่มาโชว์ใน Designers’ Room และพื้นที่จัดแสดงผลงานของดีไซเนอร์แบรนด์ชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศ

อีกทั้งยังมีนิทรรศการแสดงผลงานการออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่นในโครงการ Asia Fashion Federation (AFF), จาก 6 ประเทศสมาชิก ผลงานสินค้าที่ได้รับการพัฒนาจากศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์แฟชั่น Fashion Product Development Center (FPDC), การจัดแสดงผ้าผืนจากโครงการ Japan – Thailand Textile and Apparel Collaboration (JTC ) ที่เป็นการพัฒนาทั้งนวัตกรรมการผลิตและรูปแบบระหว่างไทย-ญี่ปุ่นเพื่อจำหน่ายในตลาดญี่ปุ่น นอกจากนี้ ภายในโซนอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยังมีการแสดงนวัตกรรมสิ่งทอ เช่น เส้นใยทอละเอียดเพื่องานสิ่งทอคุณภาพสูงรองรับการผลิตสินค้าแฟชั่นแบรนด์ชั้นนำของโลก การพัฒนาเส้นใยธรรมชาติใหม่ๆ และการผสมผสานกับเส้นใยต่างๆ รวมไปถึง  การฟอกย้อมโดยการใช้วัสดุธรรมชาติไม่ใช้สารเคมี (Natural dye) และการทดลองการฟอกย้อมแบบไม่ใช้น้ำ เป็นนวัตกรรมใหม่เน้นการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อนำเสนอทางเลือกที่หลากหลายให้กับผู้ซื้อในตลาดโลกที่ต้องการสินค้าคุณภาพสูง โดยเฉพาะใน ตลาดญี่ปุ่น และยุโรป

ในส่วนของอุตสาหกรรมเครื่องหนังมีการจัดแสดงสินค้าเครื่องหนังตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ รวมทั้งนวัตกรรมการผลิตหนังใหม่ๆ อาทิ การพัฒนาหนังที่มีน้ำหนักเบาเพื่อตอบโจทย์เครื่องหนังแบรนด์ชั้นนำระดับโลก และผลิตภัณฑ์หนังสัตว์ที่มีเอกลักษณ์หรือลวดลายเฉพาะตัว (Exotics Leather) ซึ่งไทยถือเป็นผู้นำด้านการผลิต เพื่อการส่งออกของโลก รวมทั้งยังมีการบรรยายแนะนำเทรนด์สินค้าเครื่องหนังปี 2014/15 โดยผู้เชี่ยวชาญจากอิตาลี อาทิ Mr.Giorgio Cannara นายกสมาคมเครื่องหนังอิตาลี Mr.Roberto Ricci ผู้กำหนดเทรนด์ในงานแสดงสินค้า Lineapelle และงานแสดงสินค้าเครื่องหนัง Mipel

สำหรับกิจกรรมไฮไลท์ที่จัดขึ้นในปีนี้เป็นครั้งแรก ได้แก่นิทรรศการแสดงสินค้าแฟชั่นสำหรับผู้สูงอายุ สำหรับผู้ซื้อกลุ่มใหม่ที่ต้องการซื้อสินค้าหลากหลายประเภท นอกจากนี้ ยังมีเวทีแสดงแฟชั่นโชว์ผลงานการออกแบบ อันโดดเด่นของดีไซเนอร์ไทยและอาเซียน รวมถึงแบรนด์ชั้นนำจากทั่วโลก อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี และ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ

“ขณะนี้ กรมฯได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์การจัดงาน BIFF & BIL 2014 ไปยังกลุ่มผู้ประกอบการ ผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยการประสานงานร่วมกับสำนักงานในภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ และทูตพาณิชย์ทั่วโลกกว่า 65 แห่ง รวมทั้งสำนักงานส่งเสริมการค้าในภูมิภาค เพื่อเชิญผู้ซื้อที่เป็นผู้ค้าส่ง ค้าปลีก และผู้ค้าชายแดน และเพื่อเป็นการเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานฯ กรมฯ ยังได้อำนวยความสะดวกในเรื่องของการนัดหมายจับคู่ธุรกิจ Business Matching แบบล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์ www.biffandbilmatching.com เพื่อให้ผู้ซื้อได้สะดวกขึ้น” นางนันทวัลย์ กล่าวเพิ่มเติม

งาน BIFF&BIL 2014 เตรียมเปิดฉากในวันที่ 12 – 16 มีนาคม 2557 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยวันที่ 12 -14 มีนาคม 2557 เป็นวันเจรจาธุรกิจ ตั้งแต่เวลา 10.00 – 18.00 น. และวันจำหน่ายปลีก 15 – 16 มีนาคม 2557  ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น.

ขอบคุณ ประชาชาติออนไลน์

กสอ.ผุดไอเดีย “พิซซ่าโมเดล” หนุน SME สู้วิกฤตไทยรับมือ AEC

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมร่วมระดมสมอง ผุดไอเดีย “พิซซ่าโมเดล” หวังยกระดับภาคอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี รับมือการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก และการแข่งขันที่รุนแรงหลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พร้อมชู 6 โมเดลการพัฒนาตลาดเฉพาะกลุ่ม กรอบความคิดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การบริหารการเงินอย่างชาญฉลาด กลยุทธ์เครือข่ายธุรกิจ การสร้างโอกาสทางธุรกิจ กรอบความคิดที่ถูกต้อง

นางอรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จากการที่ทั่วโลกกำลังหันมาให้ความสนใจในประเทศแถบเอเชียมากขึ้น อันสืบเนื่องจากความเจริญรุดหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศจีน และอินเดีย รวมถึงการรวมตัวกันของประเทศในกลุ่มอาเซียน อันก่อให้เกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้เกิดตลาดในภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้าของแต่ละประเทศ

นอกจากนี้ หากมีการขยายความร่วมมือการค้าเสรีกับคู่ค้าสำคัญอย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 3,000 ล้านคน จึงนับเป็นโอกาสทางการตลาดอันมหาศาลสำหรับผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมไทย ซึ่งหากมองในภาพรวม การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะช่วยให้ประเทศสมาชิกมีความเป็นปึกแผ่นและช่วยสร้างอำนาจการต่อรองในเวทีการค้าต่างๆ ได้มากขึ้นด้วย

กสอ.ผุดไอเดีย “พิซซ่าโมเดล” หนุน SME สู้วิกฤตไทยรับมือ AEC
นางอรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ SMEs ก็ต้องปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมความหลากหลายทางเศรษฐกิจ และการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศกลุ่ม CLMV ที่สำคัญต้องศึกษาแนวโน้มความต้องการของตลาดอาเซียน ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในการย้ายฐานการผลิตไปยังแหล่งวัตถุดิบและแรงงานที่ถูกกว่า ยิ่งไปกว่านั้น ต้องเรียนรู้วิธีที่จะรักษาทรัพยากรบุคคลเพื่อป้องกันการถูกแย่งชิงแรงงานที่มีฝีมือ

นอกจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญต่อเรื่องธรรมาภิบาล และเรื่องที่ท้าทายที่อุตสาหกรรมต่างๆ ต้องเร่งแข่งขัน การเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสีเขียวต้องรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) สู่การผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าเตรียมรับมือกับ AEC ได้อย่างสร้างสรรค์ และยั่งยืน

นางอรรชกากล่าวต่อว่า ภาคอุตสาหกรรมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นกลุ่มที่ต้องมีการปรับตัว เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนตลอดเวลา และการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัว เสริมความแข็งแกร่งให้ตนเองเพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขัน ในส่วนของอุตสาหกรรมเครื่องเรือน กองพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่ AEC ในหลักสูตร “พิซซ่าโมเดล” โมเดลความอยู่รอดอุตสาหกรรม SMEs ในยุควิกฤต ระดมสมองยักษ์ใหญ่สร้างโมเดลปฏิรูปอุตสาหกรรม SMEs เพื่อการอยู่รอดอย่างสร้างสรรค์รับมือ AEC และการค้าชายแดน โดยได้คิด 6 โมเดลทางธุรกิจขึ้น ประกอบด้วย การพัฒนาตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niches Development) กรอบความคิดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Mindset) การบริหารการเงินอย่างชาญฉลาด (Financially Guru Smart) กลยุทธ์เครือข่ายธุรกิจ (Network Strategy) การสร้างโอกาสทางธุรกิจ (Opportunity) กรอบความคิดที่ถูกต้อง (Right Mindset)

ทั้งนี้ จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “พิซซ่าโมเดล” โดยวิทยากรที่มีชื่อเสียง เช่น คุณโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานสภาสถาบันและกรรมการบริหารสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) คุณบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) คุณเอกสิทธิ์ อเนกสิทธิสิน เลขาธิการสมาคมธุรกิจค้าไม้ และคุณณรงค์ ประเสริฐศรี สำนักงานทูตการเกษตร สถานทูตสหรัฐอเมริกาเพื่อหาทางออกวิกฤตอุตสาหกรรม SMEs ของชาติ ฯลฯ มาร่วมแชร์ประสบการณ์ และให้ความรู้ โดยตั้งเป้าหมายให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในภาพรวม ไม่เพียงกลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเฟอร์นิเจอร์ไทยสามารถเข้าใจในสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน สามารถประเมินความอยู่รอดของตนเองในสภาวะวิกฤตนี้ได้ ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ และการเมือง

ขอบคุณข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์

ขณะที่ภูฏานชวนผู้ประกอบก่อสร้างไทยไปลงทุน

สถาบันก่อสร้างแห่งประเทศไทยประสบผลสำเร็จ หลังกลุ่มธุรกิจและสมาคมก่อสร้างแห่งภูฏานดูงานที่ไทย ส่งผลให้เกิดการจับคู่การค้าและการลงทุนที่จะเปิดตลาดอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ภูฏาน เผยแนวโน้มยังมีการร่วมทุนระหว่างกันต่อเนื่อง เตรียมควงนักธุรกิจไทยไปดูงานถึงภูฏาน ระหว่างวันที่ 22-26 เมษายนนี้ พร้อมจัดงาน “Thailand Construction Expo” ที่เมืองทิมพู ภูฏาน เดือนกันยายน-ตุลาคมนี้

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันก่อสร้างแห่งประเทศไทยร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้การต้อนรับกลุ่มผู้ประกอบการก่อสร้างและตัวแทนสมาคมก่อสร้างแห่งประเทศภูฏาน กว่า 30 คน ที่เดินทางมาดูเทคโนโลยีด้านการก่อสร้างของไทย รวมถึงเชิญชวนผู้ประกอบการก่อสร้างของไทยไปลงทุนที่ภูฏาน เนื่องจากขณะนี้ภาคการก่อสร้างของภูฏานขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเห็นว่าไทยมีศักยภาพในอุตสาหกรรมดังกล่าว

นายจักรพร อุ่นจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันก่อสร้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 20-24 มกราคมที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมและสมาคมก่อสร้างแห่งภูฏานได้เดินทางมาไทย เพื่อเข้ามาพบปะผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง และศึกษาดูงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างไทย ทำให้เกิดการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการก่อสร้างไทยกับภูฏาน เพื่อรับงานภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง   ที่ภูฏาน

นอกจากนี้ยังได้ตกลงซื้อเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์เกี่ยวกับการก่อสร้างที่สามารถขนส่งทางเครื่องบินได้ในเบื้องต้นแล้ว และอีกส่วนอยู่ระหว่างการเจรจาการค้าและการลงทุนด้านการจัดหาวัสดุ เครื่องจักร อุปกรณ์ น้ำยา เฟอร์นิเจอร์ในงานก่อสร้าง รวมถึงความร่วมมือระหว่างไทยและภูฏานที่จะมีการฝึกอบรมช่างก่อสร้างที่ภูฏาน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สถาบันก่อสร้างฯ จะนำผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทย ประกอบด้วย กลุ่มสถาปนิก วิศวกร กลุ่มผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรอุปกรณ์ น้ำยาเคมี เฟอร์นิเจอร์ ผู้ประกอบการโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ เดินทางไปยังภูฏาน เพื่อศึกษาลู่ทางการค้าและการลงทุนในระหว่างวันที่ 22-26 เมษายน 2557

“จะเปิดตลาดการค้าและการลงทุนในภูฏาน โดยมีกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ช่วงเดือนกันยายน-เดือนตุลาคมนี้ จะมีการจัดงาน Thailand Construction Expo ที่เมืองทิมพู ภูฏาน เพื่อจะเป็นเวทีเจรจาการค้าและการลงทุนอุตสาหกรรมก่อสร้างอีกครั้ง” นายจักรพร กล่าว

ด้านนางพุบ ซัม นายกสมาคมก่อสร้างประเทศภูฏาน กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศภูฏานอยู่ระหว่างการพัฒนาให้เป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างสมบูรณ์ ซึ่งต้องมีการลงทุนระบบสาธารณูปโภคเพื่อการก่อสร้างโรงแรมและรีสอร์ท รวมถึงที่พักอาศัย  เพื่อรองรับการท่องเที่ยวดังกล่าว แต่ปัจจุบันภูฏานยังมีขีดจำกัดของระบบสาธารณูปโภคในการรองรับ ดังนั้นจำเป็นจะต้องมีการลงทุนด้านต่าง ๆ ซึ่งมองว่ามี 2 ประเทศที่มีระบบเทคโนโลยีสอดคล้องกับภูมิศาสตร์ ได้แก่ ไทยและอินเดีย

ทั้งนี้ จากการที่เข้ามาดูงานในไทย ไม่ว่าจะเป็นโรงงานต่าง ๆ เช่น โรงงานผลิต  แผ่นผนังสำเร็จรูป แบบพรีแฟบ (Prefab) และศูนย์ SCG Building material Center เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อมด้านองค์ความรู้การผลิตวัสดุอุปกรณ์ การก่อสร้างระบบต่าง ๆ ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ทั้งยังรวดเร็วในการก่อสร้าง เนื่องจากประเทศภูฏานยังขาดเครื่องจักรและเทคโนโลยี จึงทำให้ใช้เวลาการก่อสร้างนาน

“รัฐบาลภูฏานจัดสรรงบประมาณการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคสูงถึงร้อยละ 50 จากงบรวมของประเทศ เพื่อที่จะรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้มีศักยภาพระยะยาว ซึ่งการมาพบและดูงานในไทยครั้งนี้ นอกจากการศึกษาความรู้ด้านผลิตภัณฑ์และการก่อสร้างในประเทศไทยแล้ว ยังมีเป้าหมายที่จะหาคู่ค้าเพื่อการลงทุนกับภูฏานในอนาคตด้วย” นางพุบ กล่าว. – สำนักข่าวไทย

ขอบคุณ Mcot.net

630

ขณะนี้เอสเอ็มอีกำลังเผชิญกับวิกฤตสภาพคล่องหาย สต๊อกล้น ทำให้หน่วยงานหลักอย่างคณะกรรมการร่วม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย……. อ่านต่อได้ที่ : http://bit.ly/1bAI8T8

ขอบคุณ โพสทูเดย์

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือหมดศรัทธารัฐฯ กร้าวไร้น้ำยาแก้วิกฤตการเมือง
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สทร.)

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ร้องรัฐฯ ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังกระทบธุรกิจหนัก กร้าวตอนนี้ผู้ประกอบการพึ่งรัฐฯ ไม่ได้ คาดเกิดสุญญากาศทางการเมืองอีก 6 เดือน แนะเอสเอ็มอีออกโรดโชว์ บุกค้าชายแดนกระตุ้นยอดขายในภาวะวิกฤต

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สทร.) เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้ส่งกระทบต่อการส่งออกสินค้าทางอากาศ เนื่องจากอัตรานักท่องเที่ยวเข้ามายังประเทศไทยลดลง ทำให้จำนวนเครื่องบินเข้ามายังประเทศไทยลดลง ส่งผลต่อเนื่องให้ระวางการขนส่งสินค้าทางอากาศลดลงทำให้ค่าระวางการขนส่งปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้มีการเรียกเก็บค่าความเสี่ยงในการขนส่งเพิ่มและส่งผลต่อความมั่นใจของผู้ซื้อต่างชาติ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉุกเฉินโดยเร็ว หากสถานการณ์ยืดเยื้อ ก็อาจย้ายไปซื้อจากประเทศอื่น

“ดังนั้นองค์กรเอกชนจะต้องช่วยเหลือกันเองให้มากที่สุด อย่าหวังพึ่งพาภาครัฐอีกเลย มั่นใจว่าอีก 1 ปี ไม่มีทางที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยภาคเอกชนได้ เพราะดูจากงบประมาณภาครัฐก็ยังไม่เห็นแนวทางว่าจะเข้ามาช่วยอะไรได้ ขนาดที่ทำงานยังต้องย้ายไปย้ายมาหาที่ทำงานเป็นหลักแหล่งไม่ได้” นายวัลลภ กล่าว

“ผู้ประกอบการไทยควรจะต้องปรับตัวให้รอดพ้นจากวิกฤติในช่วงนี้ โดยออกไปร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศใกล้เคียง เช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ เพราะไม่สามารถพึ่งพางานแสดงสินค้าภายในประเทศไทย รวมทั้งเพิ่มปริมาณการค้าชายแดน จากเดิมที่มุ่งเพียงการค้าผ่านแดน ไปเป็นการส่งสินค้าเข้าไปเจาะตลาดในหัวเมืองขนาดใหญ่ชั้นใน และเมืองหลวงของประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการค้าผ่านแดนไปประเทศที่ 3 เช่น เวียดนาม และจีน เป็นต้น” นายวัลลภ กล่าว

อย่างไรก็ตามการที่ประเทศไทยไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้อย่างน้อยภายใน 6 เดือน ทำให้ไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจในการเจรจาข้อตกลงกับต่างประเทศส่งผลต่อการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรปหยุดชะงักลง และคาดว่าจะล่าช้าการที่กำหนดไว้กว่า 1 ปี จะทำให้ไทยมีต้นทุนสินค้าที่เสียเปรียบประเทศคู่แข่ง เนื่องจากไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) ปีนี้ถูกตัดไป 50 รายการ และในปีหน้าจะถูกตัดทั้งหมด 723 รายการ ทำให้ศักยภาพการแข่งขันของไทยตกต่ำและจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกอย่างชัดเจนในปี 2558

 

ขอบคุณข้อมูลจาก ASTV Online

เซเว่นฯบุกตลาดAEC
เล็งลุยธุรกิจค้าปลีก
4ประเทศลุ่มน้ำโขง
หอฯแนะต้องอดทน

นายปิยะวัฒน์ ฐิติสัทธาวรกุล รองประธานกรรมการบริหาร บมจ.ซีพีออลล์ และประธานคณะกรรมการธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางซีพีออลล์ต้องการช่วยเหลือ สนับสนุนผู้ประกอบการระดับเอสเอ็มอีที่ต้องการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศ CLMV กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม โดยการจัดการสัมมนาถ่ายทอดข้อมูลความรู้ให้กับผู้ประกอบการขึ้นมาในงาน CP ALL SMEs FORUM 2014 หัวข้อเรื่อง “บุกตลาด CLMV…อนาคต SMEs ไทย ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถนำไปพัฒนาและต่อยอดธุรกิจของตนได้

สำหรับส่วนของเซเว่นอีเลฟเว่น มีการตั้งเป้าหมายที่จะขยายธุรกิจไปภายในประเทศอีก 600 สาขาทั่วประเทศ หรือกว่า 8,000 สาขาในสิ้นปี โดยในปี’57 นี้มีการตั้งเป้าให้ธุรกิจเติบโต 5% ซึ่งในปี’56 ที่ผ่านมา เซเว่นอีเลฟเว่น ก็สามารถขยายตัวได้ตามเป้าที่วางไว้ 5% เช่นกันแม้จะมีปัญหาการชุมนุมทางการเมือง เนื่องจากสินค้าในร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น เป็นสินค้าจำเป็น ที่เน้นเรื่องอาหารและเครื่องดื่ม ไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย

ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า การเปิดเออีซีในปี’58 จะเป็นการรวมกลุ่ม สร้างความร่วมมือรวมกันเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วม มีการเคลื่อนย้ายเสรีด้านสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานมีฝีมือ ตลอดจนการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรีมากขึ้น และด้วยจำนวนประชากรกว่า 600 ล้านคน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจึงเป็นตลาดใหญ่ ที่อยู่ในความสนใจของนักธุรกิจทั้งในและนอกภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โอกาสในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม หรือที่เรียกว่ากลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งมีประชากรรวม 170 ล้านคน และการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง เฉลี่ยตั้งแต่ ปี 2554-2556 ไม่ต่ำกว่า 6.5% ซึ่งเห็นว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องมีความอดทนในการทำธุรกิจ CLMV

“การทำธุรกิจในกลุ่มประเทศ CLMV ในช่วงเริ่มต้นผู้ประกอบการอาจต้องเผชิญกับความไม่สะดวกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการเงินการธนาคาร ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร รวมถึงความเสี่ยงในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงนโยบาย อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนทางการเมือง และกฎระเบียบในแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างเป็นลักษณะเฉพาะตัว ผู้ประกอบการจึงต้องมีความอดทน และเตรียมการรับมือข้อจำกัดเหล่านี้”

พบ SMEs กว่าล้านรายรู้จัก AEC แค่ผิวเผิน

ศูนย์การศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยกว่า 1.3 ล้านรายยังไม่เข้าใจกฎระเบียบ AEC อย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะการลดภาษีศุลภากร ขณะที่บางส่วนเผยยังไม่พร้อมเข้าสู่ AEC

ศูนย์การศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ทำการสำรวจกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2556 ถึงช่วงต้นเดือนมกราคม 2557 พบว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีอยู่ประมาณ 2.7 ล้านราย ในจำนวนนี้มีผู้ประกอบการถึง 1.3 ล้านรายยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน (เออีซี) ไม่ชัดเจน และยังไม่เข้าใจว่าธุรกิจของตนมีโอกาสหรือต้องเริ่มต้นลงทุนอย่างไรในเออีซี

โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 38.04% ให้เหตุผลว่าการประชาสัมพันธ์ไม่ชัดเจนว่าภาคธุรกิจแต่ละประเภทมีโอกาส อุปสรรคอย่างไรและต้องปรับตัวอย่างไร ผู้ประกอบการ 29.71% ตอบว่าเพราะการประชาสัมพันธ์ยังน้อย ผู้ประกอบการ 16.67% ตอบว่าไม่สนใจติดตามข้อมูลเออีซีเพราะไม่มีเวลาศึกษา โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าควรมีการอบรมให้ความรู้ที่ชัดเจนเกี่ยวกับเออีซีในธุรกิจแต่ละประเภทในเชิงปฏิบัติมากขึ้น

“ตั้งแต่ปี 53 เป็นต้นมาที่เริ่มมีการสำรวจผู้ประกอบการเกี่ยวกับความเข้าใจภาพรวมของเออีซีของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ถึงปัจจุบันจะเห็นว่าผู้ประกอบการมีความเข้าใจเกี่ยวกับภาพรวมเออีซีเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งโจทย์ในปัจจุบันนี้ ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่ใช่เพียงการให้ความรู้แค่เรื่องเออีซีอย่างเดียว แต่ควรเป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าใจในธุรกิจของตัวเองมากขึ้นว่าจะมีโอกาสอย่างไรในเออีซี ต้องมีการลงทุนอย่างไรมากขึ้น”

สำหรับเรื่องที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่เข้าใจมากที่สุดคือ กรอบการลดภาษีศุลกากร การลดอัตราภาษี 13.80%, การอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากร 13.76%, การขจัดมาตรการที่มิใช่ภาษี 13.03%, มาตรฐานสินค้าร่วมของอาเซียน 12.41% ส่วนความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอีไทยในเออีซี ผู้ประกอบการ 50.40% ตอบว่ายังไม่พร้อมที่จะแข่งขัน เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเออีซี เช่น กฎระเบียบของประเทศในเออีซี, การปรับตัวเข้าสู่เออีซี, การใช้ประโยชน์จากเออีซี เป็นต้น

 

ขอบคุณข้อมูลจาก ASTV

 

ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดทำรายงานเรื่อง อาหารไทยสู่อาเซียนด้วย Primary GMP หรือหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตขั้นต้น สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของอุตสาหกรรมอาหารยังไม่ได้รับการยอมรับด้าน มาตรฐานการผลิตในระดับสากล ซึ่งเป็นจุดอ่อนสำคัญ ต่างจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ได้รับ GMP ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เข้มข้นกว่า

หลักเกณฑ์ Primary GMP หรือ GMP ขั้นต้น จะสร้างมาตรฐานอาหารไทยสู่สากลเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ทำให้อาหารมีคุณภาพและปลอดภัย สถานที่ผลิตมีมาตรฐาน คำนึงถึงทุกขั้นตอนของการผลิต มีการควบคุมและตรวจสอบอย่างเป็นระบบต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

สำหรับนิยามของ Primary GMP กระทรวงสาธารณสุขได้ออกเป็นประกาศกระทรวงฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2555 กำหนดเรื่อง วิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย เป็นหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตขั้นต้น สำหรับกลุ่มอาหารพร้อมปรุงและอาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภคทันที และกลุ่มอาหารทั่วไป

หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะคล้ายกับ GMP สุขลักษณะทั่วไป ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 193) พ.ศ. 2543 มี 6 ข้อ ประกอบด้วย สถานที่ตั้งและอาคารผลิต เครื่องมือเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต การควบคุมกระบวนการผลิต การสุขาภิบาล การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด และบุคลากรและสุขลักษณะผู้ปฏิบัติงาน แต่มีข้อแตกต่าง อาทิ

1.สถานที่ตั้งและการผลิต เกณฑ์ขั้นต้นอาจผลิตเป็นบริเวณได้ แต่ต้องสามารถป้องกันสัตว์และแมลงเข้าสู่การผลิต 2.เครื่องมือและอุปกรณ์การผลิต เกณฑ์ขั้นต้นไม่ได้เน้นการออกแบบและจำนวน 3.การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด เกณฑ์ขั้นต้นไม่ได้กำหนดเรื่อง การเก็บ และการลำเลียงอุปกรณ์ที่ทำความสะอาดแล้ว 4.บุคลากรและสุขลักษณะผู้ปฏิบัติ เกณฑ์ขั้นต้นไม่ได้เน้นเรื่อง การใช้ถุงมือ และเรื่องการฝึกอบรม โดยให้ระบุแสดงคำเตือน “ห้ามมิให้บุคคลใดแสดงพฤติกรรมอันน่ารังเกียจในสถานที่ผลิตอาหาร”

โดยภายในปี 2558 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีแผนผลักดันให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน (โอท็อป) และเอสเอ็มอี พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพมาตรฐาน Primary GMP จำนวน 20,000 แห่ง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการติดต่อขอรับคำปรึกษาได้ที่สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม

 

ขอบคุณข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ

630

มา ถึงปี 2557 ธุรกิจไหนจะอยู่รอด ธุรกิจไหนจะต้องเฝ้าระวัง ผมเชื่อว่าผู้ประกอบการหลายท่านที่ทำธุรกิจก็คงเตรียมแผนสำรองกันไว้บ้างพอ สมควร เพราะตอนนี้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการอัพเดตสถานการณ์ต่าง ๆ ก็ไม่ได้ยากเหมือนเมื่อก่อน ในบทความครั้งนี้ ผมได้นำข้อมูลที่ประเมินทิศทางเศรษฐกิจในปีม้า หรือปี 2557 มาบอกเล่าให้ทุกท่านรู้เพื่อเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการรับมือทำธุรกิจได้มาก ขึ้น

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2557 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ออกเป็น 2 กรณี คือ หากมีการเลือกตั้งทั่วไปตามกำหนดในวันที่ 2 ก.พ. และมีรัฐบาลใหม่ที่เริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ภายในครึ่งปีแรก พร้อมกับมีมาตรการกระตุ้นการบริโภคและลงทุนชุดใหญ่ออกมา เชื่อว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ 4.5% แต่ถ้าไม่มีมาตรการกระตุ้น เชื่อว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ราว 3.7%

อย่างไรก็ดี กรณีเลวร้ายที่ความขัดแย้งทาง การเมืองยืดเยื้อเกิน 6 เดือน จะส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนในประเทศไม่มีการเติบโตเลย โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ที่ 0.5-2.5% ตามการขยายตัวของภาคการส่งออก

จากสถานการณ์ในข้างต้นประเมินว่าปี นี้จะมีธุรกิจดาวรุ่งที่มีโอกาสจะขยายตัว 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่ฟื้นตัวตามภาคการส่งออกไปยังคู่ค้าและตลาดที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่มสินค้ารถยนต์และส่วนประกอบ แม้ส่วนใหญ่จะมาจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่เป็นหลัก แต่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะสายการผลิตนี้ครอบคลุมหลายผลิตภัณฑ์/ชิ้นส่วน หากแนวโน้มการส่งออกรถยนต์ในภาพใหญ่มีทิศทางที่ดีขึ้น ก็ย่อมจะส่งผลบวกต่อผู้ประกอบการ SMEs ที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน

กลุ่มเครื่องประดับ เป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดในบรรดาสินค้าส่งออกทั้งหมดของไทย โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐ สหภาพยุโรป ฮ่องกง และกลุ่มอาเซียน กลุ่มสินค้าเคมีภัณฑ์ ได้แก่ สี ปุ๋ย และเครื่องสำอาง เป็นอีกกลุ่มที่มีแนวโน้มการเติบโตในเกณฑ์ดี และยังได้รับผลบวกจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ทำให้คาดว่าความต้องการสินค้าเคมีภัณฑ์จากไทยจะมีแนวโน้มได้รับการตอบรับที่ดี เนื่องจากสินค้าไทยได้รับการยอมรับในเรื่องของคุณภาพ

สุดท้ายกลุ่มสินค้าเกษตรและแปรรูปอาหาร ใน 20 อันดับสินค้าส่งออกที่ทำรายได้สูงสุด พบว่าสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารติดอันดับถึง 9 รายการ ได้แก่ ยางและของทำด้วยยาง น้ำตาลและขนมทำจากน้ำตาล ธัญพืช ของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลา สัตว์น้ำ พืชผัก รวมทั้งรากและหัวบางชนิดที่บริโภคได้ ของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ ปลา สัตว์น้ำ และของปรุงแต่งทำจากพืชผัก ผลไม้ ลูกนัต หากการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้มีทิศทางที่สดใสมากขึ้น ผู้ประกอบการ SMEs ก็น่าจะได้รับอานิสงส์ตามไปด้วยเช่นกัน

คราวนี้ลองมาดู กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่มีจุดแข็งทางธุรกิจ หรือมีความสามารถในการแข่งขัน คือ ภาคการท่องเที่ยวและบริการด้านสุขภาพ ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการไทยมีความสามารถในการแข่งขัน เพราะประเทศไทยมีจุดแข็งและได้รับการยอมรับจากต่างชาติในเรื่องของคุณภาพ และราคาที่คุ้มค่า ทั้งการเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพแห่งเอเชีย หรือ Medical Hub of Asia ที่ไม่ด้อยกว่า สิงคโปร์และมาเลเซีย

ในทางตรงกันข้าม ก็มีธุรกิจที่เฝ้าระวัง เพราะอาจประสบกับความลำบากในการปรับตัวมากขึ้น ได้แก่ กลุ่มที่พึ่งพาแรงงานเป็นจำนวนมาก หรือมีความยืดหยุ่นน้อยในการบริหารจัดการต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งค่าจ้างแรงงาน ค่าไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และค่าขนส่ง รวมถึงโจทย์สำคัญที่รอท้าทายในระยะยาว คงไม่พ้นเรื่องความสามารถทางการแข่งขันในหลาย ๆ สินค้าของไทยกับประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะเมื่อการค้าการลงทุนในโลกกำลังเปิดกว้างและเชื่อมโยงกันมากขึ้นในปี 2558

ดังนั้นแนวทางการปรับตัวและรับมือสำหรับ SMEs ภาคการส่งออกจะต้องแสวงหาแหล่งวัตถุดิบทดแทน การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต การหาตลาดที่มีศักยภาพ และพยายามสร้างโอกาสทางธุรกิจผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมทั้งพยายามสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง ส่วนในกลุ่มภาคการท่องเที่ยวจะต้องเน้นเรื่องคุณภาพ การบริการด้วยใจ ราคาต้องสมเหตุสมผล ต้องพัฒนาความรู้ความสามารถในเรื่องภาษาให้กับบุคลากร และต้องดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย หากผู้ประกอบการยิ่งรู้จักปรับตัวก็ยิ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้กับธุรกิจได้มาก ขึ้นได้ครับ

โดย พัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

แม็คโครพัฒนาระบบธุรกิจ รองรับการรุกตลาดอาเซียน

images (3)

น.ส.เสาวลักษณ์ ถิฐาพันธ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-สายงานบริหารการเงิน บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทกำลังลงทุนในแพลตฟอร์มธุรกิจค้าปลีกใหม่ ในการที่จะเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกและเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการ ตลอดจนสนับสนุนเป้าหมายที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตครอบคลุมทั้งระดับภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้จึงได้เลือก Oracle Retail โซลูชั่น ในการที่จะนำเสนอรูปแบบการค้าปลีกที่ทันสมัย?? เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก

 

ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์แนวหน้า

24-11-11-15-31-07-s

กรุงเทพฯ–17 ม.ค.–เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ขอเชิญผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปที่สนใจ เข้าร่วมโครงการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการและธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) หลักสูตร “ข้อกำหนดการค้าและผลกระทบทางภาษีใน AEC” เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม(SMEs) ที่มีความประสงค์จะทำธุรกิจใน AEC ได้มีความรู้ความเข้าใจในกฎระเบียบ และขั้นตอน วิธีการนำเข้าและส่งออกสินค้าของประเทศใน AEC อย่างถูกต้องรวมทั้งทราบถึงข้อกำหนดการค้า การลงทุน การเปิดตลาดการค้า และโลจิสติกส์ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อวิเคราะห์ถึง โอกาส ปัญหาและอุปสรรค จากมาตรการการค้าและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถจัดทำกลยุทธ์ในการนำเข้าและส่งออกสินค้าพร้อมทั้งเตรียมแผนรับมือกับผลกระทบทางภาษีใน AEC ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พระราม 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02 202 4594 / 02 202 4537 หรือ http://baid.dip.go.th/

องค์การโทรคมนาคมของประเทศลาว เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 26 ต.ค.55 ที่ผ่านมา ทางการลาวได้ทดลองเปิดใช้เทคโนโลยี 4G แล้วในกรุงเวียงจันทน์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรปครั้งที่ 9 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 5-6 พฤศจิกายนนี้

20131031140707

ทั้งนี้ เทคโนโลยี 4G จะถูกนำมาใช้ในการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ซึ่งมีคณะผู้นำและแขกจากประเทศต่าง ๆ กว่า 50 ประเทศที่เข้าร่วมประชุม ส่วนต่างจังหวัดของลาวคาดว่าจะได้ใช้ 4G ภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า

โดยความเร็วของเทคโนโลยี 4G มีความเร็วสูงสุดกว่า 100Mbps เร็วกว่าเทคโนโลยี 3G ถึง 5 เท่า ซึ่งจากการเปิดตัวดังกล่าว ทำให้ลาวเป็นประเทศที่ 2 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ที่ได้นำ 4G มาใช้

เนื้อหาอ้างอิงจาก  mthai

ปีหน้าที่ทุกคนมองว่าเป็นโจทย์หินของ “ธุรกิจ” ทั้งกำลังซื้อที่ซบเซาต่อเนื่อง ภาวะการเมืองที่ยังคงวุ่นวายข้ามปี ทำให้การก้าวขึ้นปีใหม่ในปี 2557 ยังคง “อึมครึม” กลายเป็นโจทย์หลักของทุกผู้ประกอบการที่ต้องเตรียมรับมือ สู้ศึกกันอย่างหนักในปีม้าที่จะถึงนี้

“อนุวัตร เฉลิมไชย” นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เท่าที่พูดคุยกันในแวดวงธุรกิจ ตั้งแต่ปลายปีนี้จนถึงต้นปี 2557 ยังมีความอึมครึมไม่แน่นอนกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นอยู่ในขณะนี้ โดยคาดว่าไตรมาส 1 ปีหน้าทุกธุรกิจจะเหนื่อยในการกระตุ้นตลาดเพราะมู้ดจับจ่ายผู้บริโภคไม่ดี

“สินค้าจำเป็นน่าจะขับเคลื่อนไปได้ แต่ฟุ่มเฟือยก็อาจจะไม่ดี แต่อีกแง่หนึ่งสำหรับสินค้าที่เจาะกลุ่มไฮเอนด์อาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อที่ไม่เซนซิทีฟในเรื่องของราคามากนัก แต่กลุ่มที่มุ่งเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติก็คงจะลำบาก เพราะนักท่องเที่ยวลดลง”

สิ่งที่ธุรกิจต้องพิจารณาเป็นพิเศษ คือ กลยุทธ์การทำตลาดต้นปีหน้า การโฆษณา หรือจัดกิจกรรมต่าง ๆ ต้องเผื่อใจไว้ว่าอาจไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร เนื่องจากผู้บริโภคขณะนี้มุ่งสนใจการเมืองมากกว่าเรื่องอื่น ๆ ดังนั้นงบฯที่ทำตลาดลงไปอาจไม่คุ้มค่า ดังนั้นการจะโปรโมตอะไรในปีหน้าก็ค่อนข้างลำบาก

“สัญญาณการจับจ่าย การบริโภคจริง ๆ ไม่ดีมาตั้งแต่ต้นปี 2556 แล้วจากนโยบายรถคันแรก ก่อนหน้านั้นในช่วงปลายปี 2554 ก็เกิดน้ำท่วม กระทบต่อกำลังซื้อมาต่อเนื่องคืออารมณ์ผู้บริโภคไม่ดีอยู่แล้วทุกค่ายก็คาดว่าสิ้นปีนี้จะมากระตุ้นกันอย่างเต็มที่ ก็ต้องมาเจอสถานการณ์การเมืองอีก”

หากประเมินจากจุดทางการเมืองของฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกันขณะนี้ “อนุวัตร” ยอมรับว่า สถานการณ์ต่าง ๆ อาจจะยืดเยื้อ แต่ธุรกิจก็ควรจะสู้อย่างเต็มที่ในไตรมาส 1 ไม่ควรทิ้งไปเลย ดูตัวอย่างตลาดสหรัฐอเมริกา ที่เศรษฐกิจตกต่ำมา 2-3 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าวหลายบริษัทก็สามารถทำกำไรได้ดี

คำแนะนำในปีหน้า ในฐานะนายกสมาคมการตลาด เขามองว่า ธุรกิจยังต้องเดินหน้าทำตลาดต่อเนื่อง แต่ต้องวิเคราะห์อย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้นไม่ควรใส่เงินแบบเหวี่ยงแห เพราะจะไม่คุ้มค่า การใช้เงินต้องละเอียดมากขึ้น เนียนมากขึ้น ดูว่าตลาดเซ็กเมนต์ไหนทำได้ ทำไม่ได้ อาทิ พื้นที่ในต่างจังหวัดที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะการเมือง จะสามารถไปจัดกิจกรรมหรือทำอะไรได้หรือไม่

“ระยะสั้นสิ่งที่น่าจะทำได้คือ การรุกดิจิทัล ซึ่งใช้งบประมาณไม่สูงและมีความคุ้มค่ากว่า ช่วงต้นปีหน้าธุรกิจอาจยังไม่ต้องใช้งบฯหว่านเจาะตลาดแมส จริง ๆ เดี๋ยวนี้ดิจิทัลทำได้หลายอย่าง ทั้งแจกคูปองหรือกิจกรรมออนไลน์ เจาะเป็นกลุ่ม ๆ ไป แม้แต่สินค้าอุปโภคบริโภคที่เจาะวงกว้างก็สามารถทำได้ อาทิ การรุกช่องทางจำหน่ายแต่ละช่องทางที่แตกต่างกัน เพราะค้าปลีกแต่ละค่ายกลุ่มลูกค้าก็แตกต่างกันอยู่แล้ว”

อย่างไรก็ตามด้วยภาวะที่ไม่มีอะไรแน่นอน เขาเชื่อว่าทุกค่ายก็คงจะเลือกการ “จัดโปรโมชั่น” เพื่อแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าไปก่อน

“ไตรมาส 1 ปีหน้าโปรโมชั่นจะเต็มตลาด ทุกค่ายคงจัดกันอย่างเต็มที่ เพราะจะต่อเนื่องไปถึงตรุษจีนจนถึงปิดเทอม ลากยาวไป ทุกคนก็คงหนีตายกันแน่ ๆ”

เขาเชื่อว่า ภาวะที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิด “สงครามราคา” ที่รุนแรง ที่อาจไม่เป็นผลดีกับธุรกิจโดยเฉพาะในระยะยาว

“แนะนำว่าปีหน้าทุกคนไม่ควรเล่นแบบเดิม เพราะจะมี Fix Cost ที่สูงมาก แต่ควรวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายของธุรกิจดี ๆ อย่าให้เกิดเป็นสงครามราคา เพราะจะพังกันหมด โดยเฉพาะแบรนด์รอง แบรนด์เล็ก”

ในมุมมองของเขา เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามราคา เขาเชื่อว่า ธุรกิจยังมีวิธีการอื่น ๆ เพื่อกระตุ้นตลาดได้อีกมาก ดยการแก้ปัญหาระยะสั้นในสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากการเฝ้าสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว หากทุกอย่างบานปลายจริง ๆก็ต้องมีแผนสำรองเตรียมไว้เพื่อกระตุ้นตลาด ส่วนระยะยาว ทุกธุรกิจน่าจะหันมาเน้นการทำ “ต้นทุน” ให้สามารถแข่งขันได้ หาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วย ระบบซัพพลายเชนที่มีประสิทธิภาพ หรือหันมาเน้น Value Product สินค้าที่มีประโยชน์ให้ลูกค้ารู้สึกถึงความคุ้มค่า อาทิ ลดไซซ์ แพ็กเกจจิ้ง สำหรับลูกค้าที่ไม่ต้องการซื้อจำนวนมาก ใช้เท่าไรซื้อเท่านั้น หรืออาจจะออกมาเป็นไซซ์จัมโบ้ให้รู้สึกคุ้มค่ามากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการลดราคา

“ในวิกฤตก็มีโอกาสที่เชื่อว่าจะสามารถพลิกได้ ในขณะที่หลายแบรนด์ถอย หรือเน้นทำแต่โปรโมชั่น บางแบรนด์อาจถือโอกาสช่วงนี้โปรโมตแบรนด์มากขึ้น โดยเฉพาะการเล่นโซเชียลมาร์เก็ตติ้ง หรืออีกแง่หนึ่งก็เน้นทำตัวเป็นประโยชน์ต่อสังคมเพื่อปูพื้นในอนาคต เป็นการทำเพื่อระยะยาว ต้องหาช่องออกมา มองภาพในอนาคต”

สำหรับการเปิดตัวสินค้าช่วงไตรมาส 1 ปีหน้า เขาเชื่อว่าหากสถานการณ์การเมืองยังคงวุ่นวาย สินค้าต่าง ๆ ก็คงจะยกเลิกการเปิดตัว การจัดอีเวนต์ก็อาจใช้วิธีอื่น เปลี่ยนไปเจาะหัวเมืองต่างจังหวัด อย่างไรก็ตามต้องดูเหมาะกับกาลเทศะหรือไม่

“ไม่ใช่ว่าทุกคนพูดเรื่องการเมือง เหตุการณ์วุ่นวาย แต่เรามาฉลองรื่นเริง แต่หากเป็นสินค้าดีมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคก็สามารถเปิดตัวออกมาทำตลาดในช่วงนี้ได้”

อีกแง่หนึ่งในภาวะที่การทำตลาดติดขัด เขามองว่า น่าจะเป็นจังหวะเวลาที่ทุกบริษัทหันมาดูแลต้นทุน หรือดูเนื้อหาสินค้าและบริษัทว่าตอบโจทย์ผู้บริโภคหรือไม่อย่างไร

“เดิมภาพสินค้าของเราอาจดูฟุ่มเฟือย ไม่คุ้มค่า ก็ต้องปรับเรื่อง Value Propositionบางอย่าง”

ยิ่งในภาวะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า วัตถุดิบขึ้นราคา ค่าน้ำมัน ค่าขนส่งที่อาจจะปรับขึ้นในต้นปีหน้า ทำให้ต้นทุนสินค้าขึ้น เขาชี้ว่า ตรงนี้ถือว่า “ข่าวร้ายซ้ำสอง” และตอกย้ำสถานการณ์ตลาดในขณะนี้ที่อยู่ในภาวะ “ไร้ข่าวดี”

“ตอนนี้ภูมิต้านทานธุรกิจต้องสูง ในสภาพที่ไม่มีข่าวดี ช่วงเวลานี้ทุกธุรกิจควรกลับมาดูต้นทุนของตัวเอง ต้นทุนที่อาจจะขึ้นในปีหน้า ทุกธุรกิจควรจะคิดเผื่อไว้เลย ต้องลดต้นทุนเต็มที่ ไม่ใช่ผลักภาระให้ผู้บริโภค แต่ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็คงต้องขึ้นราคาตามความจำเป็น”

เขาทิ้งท้ายว่า ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี สิ่งที่จะเป็นอีกตัวชี้วัดในปีหน้าคือ “ประสิทธิภาพ” ของธุรกิจ

“คนที่ต้นทุนดี แข็งแรง ก็จะได้เปรียบ พวกนี้เขาปรับมานาน ทำให้มีความพร้อมในการเผชิญปัญหา แต่คนที่ไม่พร้อมก็จะลำบากพอสมควรในปีหน้า”

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ดร.การดี ม.ธรรมศาสตร์ ฉายภาพทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ ที่ถูกจับตาเป็นพิเศษในฐานะ The Call Center/BPO Hub

ธุรกิจบริการ Business Process Outsourcing (BPO) เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับองค์กรธุรกิจ เพราะช่วยให้บริษัทมีความคล่องตัวในการบริหาร การใช้ความเชี่ยวชาญจากภายนอกที่สามารถให้บริการที่มีคุณภาพ ช่วยลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ

ธุรกิจ BPO ในอาเซียนถูกจับตามองเป็นพิเศษ เพราะอัตราการเติบโตสูง มีขีดความสามารถในการให้บริการสูง และที่สำคัญ ค่าจ้างต่างๆนับว่ายังถูกมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

ในการจัดอันดับ Top 100 Outsourcing Destinations Ranking and Report Overview ในปี 2013 ปรากฏว่าในรายชื่อเมืองที่มีความโดดเด่นด้านธุรกิจ outsourcing และมีความน่าสนในการทำธุรกิจนี้ ปรากฏว่ามีเมืองจากประเทศในอาเซียนถึง 14 เมืองด้วยกัน และอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ถึง 7 เมือง

ได้แก่ Manila, Cebu City, Davao City, Santa Rosa, Laguna, lloilo City, Bacolod City, Baguio City โดยเมือง Manila อยู่ในอันดับ 3 ของโลก และ Cebu City อยู่อันดับ 8 ของโลก ส่วนกรุงเทพฯก็ติดอันดับ Top 100 นี้ด้วยและอยู่อันดับที่ 83 ของโลก

ฟิลิปปินส์โดดเด่นเรื่อง BPO เราอาจจะรู้จักฟิลิปปินส์ในฐานะประเทศส่งออกแรงงานบริการขั้นสูง เช่น พยาบาล และแม่บ้าน ซึ่งนับว่าเป็นรายได้หลักของประเทศ ขณะเดียวกันฟิลิปปินส์ก็ใช้ประโยชน์จากการเป็นแรงงานที่มีศักยภาพและมีทักษะด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี มีค่าจ้างแรงงานถูกกว่าประเทศในแถบตะวันตก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับค่าจ้างในสหรัฐฯ ค่าจ้างชาวฟิลิปปินส์น้อยกว่าถึง 5 เท่า

ดังนั้น หลายประเทศในแถบตะวันตกจึงให้ความสนใจและนิยมจ้างงานในธุรกิจ BPO โดยเฉพาะธุรกิจประเภทให้บริการข้อมูลลูกค้าทางโทรศัพท์ หรือ คอลเซ็นเตอร์ ธุรกิจให้บริการออกแบบซอฟต์แวร์และไอที

ในปี 2011 ธุรกิจ BPO สร้างรายได้ให้กับประเทศกว่า 9 พันล้านเหรียญดอลลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.8 ของ GDP เมื่อมาดูข้อมูลส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจ BPO ของฟิลิปปินส์ ก็พบว่าธุรกิจคอลเซ็นเตอร์ มีสัดส่วนสูงที่สุดคิดเป็นร้อยละ 61 ของมูลค่าธุรกิจ BPO และมีการเติบโตของรายได้ร้อยละ 15 ต่อปี หากมองย้อนไปธุรกิจคอลเซ็นเตอร์ในฟิลิปปินส์ได้เริ่มต้นตั้งแต่ในปี 2000 ในกรุงมะนิลาหรืออาจเรียกได้ว่ากรุงมะนิลาเป็น “The Call Center/BPO Hub” ก็ว่าได้ และธุรกิจ BPO ที่มีส่วนแบ่งตลาดรองลงมา คือ การบริการ Back-Office & Shared Service ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดคิดเป็นร้อยละ 18.5

คอลเซ็นเตอร์ ฟิลิปปินส์แซงหน้าอินเดีย ถ้ามองธุรกิจ BPO ในภาพรวมฟิลิปปินส์กำลังไล่หลังประเทศอินเดียมาติดๆ แต่ถ้าในธุรกิจ คอลเซ็นเตอร์ ฟิลิปปินส์ได้ก้าวนำหน้าประเทศอินเดียไปแล้วทั้งจำนวนพนักงานและมูลค่าทางเศรษฐกิจ ฟิลิปปินส์มีพนักงานคอลเซ็นเตอร์ประมาณ 400,000 คน ในขณะที่อินเดียมี 350,000 คน

ในปี 2012 ฟิลิปปินส์มีรายได้จากธุรกิจคอลเซ็นเตอร์คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2016 ฟิลิปปินส์ จะมีรายได้จากธุรกิจคอลเซ็นเตอร์คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลลาร์ และจะก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 8 แสนคน ในทางกลับกันการเติบโตอย่างรวดเร็วนี้ทำให้เกิดปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงาน ฟิลิปปินส์กำลังเร่งเต็มสูบในการสร้างแรงงานด้านเทคโนโลยีเพื่อป้อนเข้าสู่ธุรกิจนี้

รัฐบาลฟิลิปปินส์เองก็ให้การสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการในธุรกิจ BPO อย่างจริงจัง ส่งผลให้บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลีย เช่น AT&T, JPMorgan Chase, Expedia, Citibank, HP และ Oracle หันมาใช้บริการ Business Process Outsourcing ในฟิลิปปินส์เพื่อลดค่าใช้จ่าย และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน

* รายงาน / ผศ.ดร.การดี เลียวไพโรจน์

Operations Management Department Thammasat Business School

Facebook / Twitter: karndee

www.karndee.com

– See more at: http://eureka.bangkokbiznews.com/detail/552740#sthash.eqLi6NYG.dpuf

กลยุทธ์ในการเข้าสู่ตลาดอินโดนีเซีย

  • ในการเข้าสู่ตลาดอินโดนีเซีย บริษัทไทยจะต้องเริ่มจากการศึกษาตลาด เพื่อให้ทราบถึงลักษณะของตลาด และศักยภาพของตลาดสำหรับสินค้าที่ต้องการนำเข้ามาในตลาดอินโดนีเซีย
  • สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่จะต้องนำเข้ามาโดยผ่านผู้นำเข้าหรือผู้กระจายสินค้า(Distributors) ก่อนที่จะไปถึงผู้ค้าปลีก (Retailers) ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องหารายชื่อผู้นำเข้า/ผู้กระจายสินค้าในอินโดนีเซียก่อน ซึ่งผู้กระจายสินค้าดังกล่าวจะต้องสามารถเข้าถึงผู้ค้าปลีกรายใหญ่ ๆ ในอินโดนีเซียได้ อันได้แก่ Carrefour Hero Hypermart และ Alfamart เป็นต้น
  • สำหรับสินค้าประเภทวัตถุดิบพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมจะสามารถจำหน่ายแก่อุตสาหกรรมผู้ใช้โดยตรงหรือโดยผ่านตัวแทนท้องถิ่นก็ได้ ดังนั้นบริษัทไทยจึงควรตั้งสำนักงานผู้แทน (Representative office) ในอินโดนีเซียเพื่อดูแลตลาด และการบริการหลังการขายก็มีความสำคัญสำหรับลูกค้า
  • การจำหน่ายสินค้าให้แก่รัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจในอินโดนีเซีย บริษัทไทยควรมีสำนักงานตัวแทนที่จะประสานกับทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งส่วนใหญ่การซื้อสินค้าของรัฐบาล (Government procurement) จะดำเนินการโดยผ่านการประมูล ซึ่งผู้ยื่นประมูลจะต้องเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของอินโดนีเซีย โดยต้องเป็นบริษัทท้องถิ่นหรือบริษัทต่างชาติที่ร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นเท่านั้น
  • การจำหน่ายสินค้าให้แก่รัฐบาลนั้น โดยส่วนใหญ่จะดำเนินการโดยบริษัทที่มีประสบการณ์ยาวนานกับทางรัฐบาล (Long experienced partners) ดังนั้นการร่วมประสานธุรกิจกับบริษัทท้องถิ่นที่สามารถเข้าถึงและมีประสบการณ์ยาวนานกับทางภาครัฐจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการจำหน่ายสินค้าให้รัฐบาล

ไบโอดีเซล

1. อินโดนีเซียผลิตไบโอดีเซลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จาก 781 ล้านลิตรในปี 2553 เป็น 1.52 พันล้านลิตรในปี 2554 โดยใช้บริโภคภายในร้อยละ 10 และส่งออกร้อยละ 90 โดยในปี 2553 ส่งออกไบโอดีเซล ประมาณ 563 ล้านลิตร และในปี 2554 ส่งออกประมาณ 1.22
พันล้านลิตร ตลาดยุโรปเป็นตลาดส่งออกไบโอดีเซลสำคัญของอินโดนีเซีย

2. กรมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน (EBTKE) ของอินโดนีเซียพยายามส่งเสริมให้ใช้ไบโอดีเซลภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น

  1. สั่งการให้สถานีบริการของ Pertamina และบริษัทน้ำมันต่างชาติ เช่น SHELL, TOTAL และ PETRONAS
    จำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซลที่ไม่ได้อุดหนุน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2555
  2. กำหนดให้บริษัทในธุรกิจเหมืองแร่ ใช้น้ำมันไบโอดีเซล อย่างน้อย ร้อยละ 2 ของพลังงานที่ใช้ เริ่มตั้งแต่ เดือน ก.ค. 2555
  3. บริษัทน้ำมัน Pertamin เพิ่มสัดส่วนการผสมน้ำมันไบโอดีเซลที่ไม่อุดหนุนจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 7.5 เริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ. 2555
  4. พลังงานและสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบร่วมกันที่จะอุดหนุนน้ำมันไบโอดีเซลที่ 3,000 รูเปียห์ต่อลิตร
    และอุดหนุนเอทานอลที่ 3,500 รูเปียห์ต่อลิตรในปี 2556
  5. นำเสนอสูตรคำนวณราคา biofuel ใหม่ โดยให้อ้างถึงถึงราคาและปัจจัยในท้องถิ่นมากขึ้น

 

เอทานอล

3. อินโดนีเซียผลิต บริโภค และนำเข้าเอทานอล เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเคมี (chemical industries) เป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ใช้ในอุตสาหกรรมขนส่ง เช่น ประเทศไทย แนวโน้มการผลิต การบริโภค และการส่งออกในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2549 สามารถผลิตได้ 163 ล้านลิตร (คิดเป็นร้อยละ 78 ของกำลังการผลิตเต็มศักยภาพที่ระดับ 209 ลิตร) และบริโภคภายในจำนวน
114 ล้านลิตร ส่งออกจำนวน 33 ล้านลิตร ไม่มีการนำเข้า ในปี 2555 สามารถผลิตได้ 220 ล้านลิตร (คิดเป็นร้อยละ 90 ของกำลังการผลิตเต็มศักยภาพที่ระดับ 245 ล้านลิตร) และบริโภคจำนวน 135 ล้านลิตร ส่งออก 85 ล้านลิตร และนำเข้า 0.8 ล้านลิตร ปัจจุบัน อินโดนีเซียมี บริษัทผลิตเอทานอล เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเคมีจำนวน 13 แห่ง โดยผู้ผลิตรายใหญ่ 4 ลำดับแรก ได้แก่ บ. Molindo, Medco, Indo Acidatama และ Sugar Group สามารถผลิตรวมกันได้ร้อยละ 75 ของกำลังการผลิตทั้งหมด อย่างไรก็ดี การนำเข้าเอทานอลในอุตสาหกรรมมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ กล่าวคือ หลังจากการนำเข้าเป็นครั้งแรกในปี 2550 เป็นจำนวน 2.6 ล้านลิตร ต่อมาการนำเข้าก็ลดลงทุกปี เนื่องจากกำลังการผลิตภายใน สามารถตอบสนองต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตอินโดนีเซียคาดการณ์ว่าในปี 2556 อาจต้องนำเข้าเอทานอลประมาณ 1 ล้านลิตร เพราะอุตสาหกรรมเคมีขยายตัวอย่างต่อเนื่องในขณะที่กำลังการผลิตจากหลายแห่งเริ่มคงที่ และบราซิลเป็นแหล่งนำเข้าเอทานอลที่สำคัญของอินโดนีเซีย

4. อินโดนีเซียหยุดการผลิตเอทานอล เพื่อใช้เป็นส่วนผสมน้ำมันเชื้อเพลิงในการขนส่งตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ซึ่งการใช้เอทานอลเป็นส่วนผสมในน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อการขนส่งบริษัทน้ำมันแห่งชาติ Pertamina เป็นผู้จัดจำหน่าย (distributor) หลักแต่โรงงานที่ผลิตเอทานอล เพื่อผสมน้ำมันเชื้อเพลิงในการขนส่ง ซึ่งมีประมาณ 4 โรงงานในปี 2551 ต้องหยุดการผลิตเพราะรัฐบาลอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) จึงทำให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ไม่มี margin และไม่สามารถแข่งขันกับน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ ในท้องตลาดได้ อย่างไรก็ดี แนวโน้มการผลิตเอทานอล เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงอาจปรับตัวดีขึ้นบ้าง เพราะกระทรวงพลังงานและทรัพยากร แร่ธาตุ และสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบร่วมกันที่จะเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงจากเอทานอล 3,500 รูเปียห์/ลิตร ตั้งแต่ปี 2556 (ตามข้อ 2) และหากกระทรวงการคลังอนุมัติการปรับสูตรการคิดคำนวณราคา biofuel ก็น่าจะกระตุ้นให้เกิดการผลิตเอทานอลเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมขนส่งเพิ่มขึ้นเป็นถึง 20-30 ล้านลิตร/ปี

5. อินโดนีเซียกำลังเพิ่มกำลังการผลิตเอทานอล โดยในปี 2553 มีการสร้างโรงกลั่นเพิ่มเติมหลายแห่ง อาทิ บริษัท PT. Perkebunan Nusantara X ซึ่งเป็นกิจการรัฐวิสาหกิจสร้างโรงกลั่น 1 แห่ง กำลังการผลิตประมาณ 36 ล้านลิตร/ปี และบริษัท Molindo (เอกชน) สร้าง โรงกลั่นผลิตได้ประมาณ 55 ล้านลิตร/ปี โดยทั้งสองบริษัทนี้จะใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบในการผลิต และจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2556 เป็นต้นไป บริษัท Celenese ซึ่งเป็นบริษัทจากสหรัฐอเมริกาจะสร้างโรงกลั่น 4 แห่งให้แล้วเสร็จภายในปี 2563 โดยใช้วัตถุดิบจากถ่านหินความร้อนต่ำซึ่งอินโดนีเซียมีทรัพยากรประเภทนี้มาก และราคาไม่ค่อยผันผวนเหมือนกากน้ำตาล หากเสร็จจะสามารถกลั่นเอทานอลได้ประมาณ 1.3 พันล้านตัน/ปี/โรง ทั้งนี้ ผลผลิตโดยรวมในประเทศน่าจะเริ่มเพิ่มขึ้นจากระดับการผลิตปัจจุบันตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป แต่ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเคมี ไม่ใช่อุตสาหกรรมขนส่ง บริษัท Medco ซึ่งเป็นเอกชนอินโดนีเซียประกอบกิจการพลังงาน เริ่มประกาศหาผู้ร่วมทุนสร้างโรงกลั่นเอทานอลมาตั้งแต่กลางปี 2555 แต่จนกระทั่งปัจจุบันบริษัทยังไม่สามารถหาผู้ร่วมทุนได้ ทั้งนี้ ประเทศไทยประสงค์จะส่งออกเอทานอลส่วนเกินมาจำหน่ายที่อินโดนีเซีย ก็จะต้องผ่าน บ. Pertamina ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายหลักเพียงผู้เดียว

6. อินโดนีเซียใช้ดัชนีราคาเอทานอลของไทย คือ Argus Index (Thailand) (ประกาศโดย Argus ซึ่งเป็น Media ที่เป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับราคาประเมินในธุรกิจพลังงาน) เป็น benchmark ซึ่งนำมาใช้ในสูตรการคิดคำนวณราคาเอทานอลในประเทศโดยมีกระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่ธาตุอินโดนีเซียเป็นผู้กำหนด ปัจจุบัน สูตรการคิดคำนวณคือ Bioethanol = Argus Index (Thailand) x 780 kg/m3 x 1.05 แต่ขณะนี้ อยู่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาแก้ไขสูตรการคิดคำนวณ โดยมีแนวโน้มจะเปลี่ยนการใช้ดัชนีราคาเดิมเพื่อให้สอดรับกับต้นทุนที่แท้จริงในการผลิตเอทานอลในอินโดนีเซียซึ่งได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากราคากากน้ำตาลที่ผันผวน และอาจคิดคำนวณสูตรที่อ้างอิงจากดัชนีท้องถิ่นไม่ใช่ดัชนีของไทย (Argus Index)

 

แหล่งข้อมูล:  สอท. ณ กรุงจาการ์ตา (มีนาคม 2556)