ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมาของหนังใหญ่

มหรสพที่เก่าแก่ของไทยนี้ กล่าวกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่หลักฐานการแสดงหนังใหญ่เริ่มมี สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) นับเป็นมหารสพที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ในสมัยรัตนโกสินทร์ปรากฏหลักฐานในการแสดงหนังใหญ่ ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ร.1) ว่าทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา เพื่อใช้แสดงเพิ่มขึ้นจากเรื่องรามเกียรติ์

สมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.2) มีหลักฐานการสร้างตัวหนังใหญ่และบทวรรณคดีที่ใช้ในเรื่องรามเกียรติ์ ใช้แสดงหนังใหญ่ชุดพระนครไหว ซึ่งต่อมาได้มีการนำมาเก็บไว้ ณ โรงละครแห่งชาติหลังเก่า แต่ถูกไฟไหม้เกือบหมด

สมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) พบการทำหนังใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ จ.สิงห์บุรี และหนังใหญ่วัดขนอน จ.ราชบุรี

ชนิด ลักษณะตัวหนัง องค์ประกอบ และกรรมวิธี ในการสร้างตัวหนังใหญ่ของไทย

หนังใหญ่เป็นการแสดงที่เกิดจากการเอาศิลปะแขนงต่าง ๆ คือ หัตถศิลป์ นาฏศิลป์ คีตศิลป์ และดุริยางคศิลป์ และวรรณศิลป์ มาผสมผสานกันให้สอดคล้อง เหมาะสม เพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้ชม อันแสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพทางด้านการแสดงของบรรพบุรุษของศิลปินไทย

เอกลักษณ์ที่เชิดหน้าชูตาของหนังใหญ่ในขณะนี้คือ ความเก่าแก่ สวยงามของตัวหนัง ใคร่ขอแนะนำให้ผู้อ่านได้ทราบถึงกรรมวิธีในการทำรูปหนังในเชิงวิทยาศาสตร์ หัตถกรรม และจิตรกรรม

ตัวหนังใหญ่เกิดจากการนำหนังสัตว์ที่ตายแล้วฉลุเป็นภาพและลวดลาย ใช้สีระบายเพื่อให้เกิดความสวยงาม หนังใหญ่แต่ละตัวแกะฉลุลายตามเนื้อเรื่องที่แสดง เป็นตัวละครที่มีอยู่ในเรื่องเป็นภาพฉากต้นไม้ ภูเขา ป่า สระน้ำ ปราสาท ยานพาหนะ ตัวละคร ภาพการต่อสู้ ซึ่งแต่ละตอนของเรื่องที่แสดงจะมีตัวหนังใหญ่เป็นภาพตัวหนังบรรยายกิริยา อาการคล้าย ๆ กับภาพสไลด์ที่ใช้บรรยายประกอบการอภิปรายเรื่องราวต่าง ๆ

145012-1

โอกาสหรือเวลาที่เล่น

การแสดงหนังใหญ่ นับเป็นมหรสพที่ชาวไทยนำมาแสดงกันนานหลายร้อยปี จากหลักฐานในกฎมณเฑียรบาล พ.ศ. ๒๐๐๑ สมัยพระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งอยุธยาตอนต้น ได้บันทึกไว้ว่าหนังใหญ่เป็นมหรสพที่นิยมในสมัยนั้น แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นวัฒนธรรมของใคร เพราะการแสดงชนิดเดียวกันนี้เผยแพร่อยู่ในทวีปเอเซีย นับตั้งแต่วัฒนธรรมอินเดียและวัฒนธรรมจากอาณาจักรศรีวิชัย

การแสดงหนังใหญ่ยังคงนิยมแสดงกันอย่างต่อเนื่องมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ มีช่างฝีมือแกะตัวหนังใหญ่ได้สวยงาม วิจิตรบรรจงมีสีสันสวยงามตระการตา เฉพาะชุดพระนครไหว หนังชุดนี้ถูกไฟไหม้ พ.ศ. ๒๕๐๓

การแสดงหนังใหญ่เป็นมหรสพที่เล่นในตอนกลางคืน อุปกรณ์ที่ใช้แสดงมีตัวหนัง ผู้เชิด คณะผู้เล่นวงมโหรีปี่พาทย์ ผู้ร้อง ผู้พากย์ ที่นิยมแสดงมากที่สุด คือ เรื่องรามเกียรติ โดยเลือกตอนใดตอนหนึ่งเช่นเดียวกับการแสดงโขน

อุปกรณ์และวิธีการเล่น

อุปกรณ์ ได้แก่ แผ่นหนัง เขม่าก้นหม้อหรือเถ้าจากกาบมะพร้าว น้ำข้าว ใบฟักข้าว สิ่ว มุก สีธรรมชาติ ไม้ไผ่ วิธีการเล่น หนังใหญ่ประกอบด้วย

๑. ตัวหนังที่ใช้เชิดต้องใช้ช่างฝีมือแกะสลักลวดลายเชิงจิตรกรรมอันวิจิตรบรรจง

๒. ดนตรีประกอบ เป็นการรวมของการแสดงดนตรีวงใหญ่ วงมโหรีปี่พาทย์ ด้วยการบรรเลงทั้งบทร้อง บทพากย์ บทเจรจา

๓. คนเชิด นับเป็นศิลปะการแสดงนาฎศิลป์ชั้นสูง ท่วงท่าการเชิดประกอบบทพากย์ บทร้องต้องดำเนินไปอย่างมีลีลา ที่จะให้ผู้ชมบังเกิดจินตภาพคล้อยตามอย่างเพลิดเพลินสนุกสนาน