การคำนวณต้นทุน

การคำนวณต้นทุน

บทนำ

1.1  ความเป็นมาและความสำคัญ

                                สืบเนื่องจากการจัดทำงบประมาณแบบวางแผนและแสดงผลงานจะมีผลทำให้มีการกระจายอำนาจทางการบริหารให้แก่หน่วยปฎิบัติมีอิสระในการดำเนินงานมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการบริหารงบประมาณที่ดำเนินการในลักษณะมอบเหมา (Block grant) เพื่อช่วยให้ส่วนราชการมีความคล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้น แต่ส่วนราชการมีพันธะหน้าที่ที่จะต้องแสดงให้เห็นความรับผิดชอบต่อการดำเนินงาน  ทั้งในส่วนของกระบวนการดำเนินงาน  และผลงานที่เกิดขึ้นต่อสาธารณะ  สำนักงบประมาณเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการปรับเปลี่ยนระบบงบประมาณ และการเงินของส่วนราชการตามแผนปฎิรูป ระบบบริหารภาครัฐ  จึงได้กำหนดมาตรฐานการบริหารจัดการทางงบประมาณและการเงิน 7 ด้านขึ้น เพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาระบบงบประมาณของส่วนราชการของประเทศไทย ให้เข้าสู่ระบบงบประมาณแบบวางแผนและแสดงผลงานซึ่งหนึ่งในมาตรฐานการบริหารจัดการทางงบประมาณและการเงินคือ  การคำนวณต้นทุนผลผลิต ที่ส่วนราชการต้องมีระบบบริหารการเงินที่สามารถกำหนดให้เป็นต้นทุนของกิจกรรมสำคัญได้  ซึ่งรวมถึงต้นทุนทั้งหมดด้วย   มีการกำหนดกิจกรรมและผลผลิตของกิจกรรมที่ชัดเจน  มีเกณฑ์กำหนดต้นทุนทางตรงและต้นทุนทางอ้อมของกิจกรรมเชื่อมโยงต้นทุนสู่ผลผลิต   มีระบบติดตามตรวจสอบ  มีการบริหารต้นทุน โดยพิจารณาความคุ้มค่า  ความสามารถในการเปลี่ยนแปลง   ความสามารถในการลดต้นทุน  (สุพจน์, 2545: 188 - 189)

                                มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เป็นสถาบันการศึกษาของรัฐที่จะต้องดำเนินการคำนวณต้นทุนผลผลิต  เพื่อแสดงให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยได้ลงทุนในการจัดการศึกษาปีละเท่าไร (สุปรียา, 2529: 5-6) กล่าวว่าการลงทุนทางการศึกษาถือเป็นขบวนการที่สำคัญในการปรับปรุงคุณภาพทรัพยากรบุคคลให้มีความรู้ ความชำนาญ สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และข่าวสารใหม่ ๆ ได้ดี  ทำให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าผู้มีการศึกษาด้อยกว่า ฉะนั้นการลงทุนในการศึกษาจึงเป็นกิจกรรมที่เพิ่มผลผลิตและรายได้ในอนาคต  โดยที่การลงทุนในการศึกษาจะเป็นการลงทุนเพื่อผลิตทุนมนุษย์  ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ก่อให้เกิดสินค้าและบริการอีกทอดหนึ่ง  คำว่าทุนมนุนษย์ (Human Capital) จึงหมายถึงคน ซึ่งได้รับการศึกษาให้มีความรู้ในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มนุนษย์มีความรู้ที่จะก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต

                                แนวคิดที่ว่าด้วยส่วนหนึ่งของการศึกษาเป็นการลงทุนนั้น ได้มีนักเศรษฐศาสตร์หลายท่านเช่น Adam Smith ได้กล่าวว่า การศึกษาเป็นการลงทุน เพราะทรัพย์สินของชาติ (The Wealth of Nation) เพิ่มขึ้นได้จากคนงานที่ใช้ฝีมือที่ได้ร่ำเรียนลงทุนแสวงหามา (Smith, 1776: 10)  Alfred Marshall ได้กล่าวว่า การศึกษาเป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนชนิดอื่น (Blandy, 1976)  Theordore Schultz เห็นด้วยในเรื่องการศึกษาว่าเป็นการลงทุน โดยทรัพยากรมนุษย์เป็นรูปหนึ่งของทุน (Schultz, 1971) นอกจากนี้ Benson ได้ให้ความคิดเห็นไว้ว่า ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศเกิดจากการลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แต่การที่มนุษย์จะมีทักษะและเป็นคนที่ผลิตสิ่งต่าง ๆ นั้นมาได้ต้องเกิดจากระบบการศึกษา เพราะเหตุนี้เองความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจจึงขึ้นอยู่กับการลงทุนทางการศึกษา (Benson, 1978: 15)  มีแนวคิดว่าความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงทางเศรษฐกิจจะดำเนินไปได้ด้วยดี จากการที่ประชาชนมีพื้นฐานทางด้านการศึกษาอย่างเพียงพอ และมีประสิทธิภาพ

                                ประเทศไทยการลงทุนทางการศึกษาจัดได้ว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่รัฐบาลใช้ในการพัฒนาประเทศทุกด้าน โดยสมัยก่อนมีคนจำนวนมากคิดว่าค่าใช้จ่ายของรัฐบาลที่ให้กับสถานศึกษา เพื่อจัดการศึกษาเป็นสวัสดิการที่สิ้นเปลือง แต่ปัจจุบันทุกคนต่างยอมรับว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดของรัฐบาล รัฐบาลต้องการให้สังคมอยู่ในทิศทางใด รัฐบาลก็จัดการลงทุนในสาขาวิชานั้น (ภิญโญ, 2529: 1) ซึ่งในการผลิตคนที่มีความรู้ความสามารถให้แก่สังคมนั้น จะต้องพิจารณาผลิตคนให้ได้สมดุลกับความต้องการกำลังคนในสาขาต่าง ๆ  แต่เนื่องจากรัฐบาลมีงบประมาณจำกัด  จำเป็นต้องมีการพิจารณาลงทุนในสาขาที่คาดว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงสุดก่อน (นุกูล, 2525: 49-67)             

                                การคำนวณต้นทุนผลผลิตในระยะแรก เป็นระยะที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน รัฐบาลจึงกำหนดให้ทุกส่วนราชการคำนวณต้นทุนผลผลิตโดยใช้วิธีคำนวณจากฐานการใช้จ่ายเงินของปีงบประมาณที่ผ่านมาหรือคำนวณจากค่าเฉลี่ยรายจ่ายจริงย้อนหลัง 3 ปี เป็นวิธีหลักไปก่อน โดยต้นทุนผลผลิตที่คำนวณได้จะแสดงให้ทราบว่าการผลิตผลผลิตหนึ่ง ๆ ของช่วงที่ผ่านมาใช้เงินไปเป็นจำนวนเท่าใด และหากต้องการผลิตผลผลิตนี้อีกในปีงบประมาณนี้ อย่างน้อยส่วนราชการก็ควรจะได้รับงบประมาณในจำนวนที่ไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา คืออาจมีการใช้จ่ายเงินเพื่อผลิตผลผลิตสูงหรือต่ำกว่าสิ่งที่ควรจะเป็นก็ตาม แต่ก็ยังสามารถใช้เป็นกรอบกว้าง ๆ ของจัดสรรงบประมาณในปีที่เริ่มต้นนี้ได้  และในปีต่อ ๆ ไปหากส่วนราชการมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบยิ่งขึ้น ก็จะช่วยให้การคำนวณต้นทุนของแต่ละผลผลิตมีความถูกต้องยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันหากรัฐบาลมีการกำหนดมาตรฐานราคาหรือมาตรฐานต้นทุนสำหรับผลผลิตในคุณภาพหนึ่งๆ ได้ ก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้การจัดสรรงบประมาณเกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

                                เมื่อวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนของหน่วยงานภาครัฐ จะพบว่าค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่กว่า 70% เป็นค่าใช้จ่ายประจำ และภายใต้ค่าใช้จ่ายประจำนี้มีงบบุคลากรเป็นสัดส่วนสูงที่สุด หมายความว่าไม่ว่าส่วนราชการจะผลิตผลผลิตใดหรือเป็นจำนวนมากน้อยเท่าไรก็ตาม  จะต้องมีค่าใช้จ่ายคงที่ขนาดใหญ่อยู่จำนวนหนึ่งที่รัฐบาลต้องจัดสรรให้ทุกปี     ขณะที่ค่าใช้จ่ายส่วนที่ผันแปรได้ตามผลผลิตมีสัดส่วนที่ต่ำกว่ามาก (สำนักงบประมาณ, 2547 : 169 – 170)

                                ในการคำนวณต้นทุนเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด จำเป็นต้องเก็บข้อมูลที่มีรายละเอียดมาก มหาวิทยาลัยจึงนำระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยในการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูล ที่มีความสลับซ้อนให้เป็นไปตามแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษาของกระทรวง ศึกษาธิการ พ.ศ. 2550 – 2554  เป้าประสงค์ของยุทธศาสตร์ที่ 2  เรื่องการใช้ ICT พัฒนาการบริหารจัดการและให้บริการทางการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ดังนี้

  • มีการบริหารจัดการระบบข้อมูลกลางที่สอดรับกัน
  • มีการบริหารจัดการของหน่วยงานทุกระดับมีคลังข้อมูล (Data Warehouse) เพื่อการวางแผน การประเมินผล และการตัดสินใจ
  • มีการบริหารจัดการมีระบบงานคอมพิวเตอร์  (Application Software)   ที่เป็นระบบบริหารงานกลาง เช่น ระบบบริหารงานงบประมาณ รวมทั้งพัฒนาระบบงานเพื่อให้บริการข้อมูลสารสนเทศ หน่วยงานมีระบบงานคอมพิวเตอร์เฉพาะด้านในการบริหารการจัดการ   และการให้บริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีการบริหารงาน  ICT  มีหน่วยงานและผู้รับผิดชอบในทุกระดับ
  • หน่วยงานทางการศึกษาทุกแห่งประยุกต์ใช้  ICT ลดขั้นตอนและลดจำนวนการใช้กระดาษ
  • บุคลากรมีความรู้ความสามารถในการใช้  ICT เพื่อปฏิบัติงานได้ตามมาตรฐานที่กำหนด

                          เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยฯ ต้องปรับปรุง ระบบการบริหารข้อมูผ่านระบบคอมพิวเตอร์โปรแกรมสำเร็จรูป (Application Program) ให้สำเร็จและนำมาใช้งานได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การพัฒนาโปรแกรมระบบการคำนวณต้นทุนผลผลิตนักศึกษา ที่สามารถลดปริมาณกระดาษ และเวลาที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนได้เป็นอย่างมาก โปรแกรมดังกล่าวได้มีการปรับปรุงให้ทันสมัยและสอดคล้องกับแนวทางของกรมบัญชีกลางที่เปลี่ยนระบบการจัดทำงบประมาณแบบเน้นผลผลิต

 

1.2  วัตถุประสงค์

  • เพื่อศึกษา รวบรวม หลักการ แนวคิดการคำนวณต้นทุนต่อหัวของมหาวิทยาลัยภาครัฐ
  • เพื่อคำนวณต้นทุนต่อหัวต่อสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
  • เพื่อสร้างมาตรฐานและข้อตกลงร่วมกันในการคำนวณต้นทุนต่อหัวต่อสาขาวิชาของสถานศึกษาในสังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
  • เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันให้กับบุคลากรและสถานศึกษาที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการคำนวณต้นทุนต่อหัวต่อสาขาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
  • เพื่อนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้ปฎิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดต่อองค์กร

1.3  ขอบเขตการดำเนินงาน

ศึกษาวิธีการคำนวณต้นทุนผลผลิตต่อหน่วยของส่วนราชการที่เป็นสถานศึกษา   ศึกษา

วิธีการ ข้อกำหนดการคำนวณต้นทุนตามหลักเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณ  เพื่อวิเคราะห์และออกแบบระบบการคำนวณต้นทุนต่อหัวต่อสาขาวิชาของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

 

1.4  ข้อจำกัดในการดำเนินงาน

  • ในระยะเริ่มต้นการคำนวณยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน สถานศึกษาที่เคยจัดทำมาแล้วบางแห่งไม่เปิดเผยข้อมูลหรือวิธีการขั้นตอนการคำนวณ  ทำให้ต้องศึกษางานใหม่ทั้งหมด  อีกทั้งต้องทำตามแบบของสำนักงบประมาณ โดยที่รูปแบบของสำนักงบประมาณยังไม่มีแบบที่ใช้กับหน่วยงานที่เป็นสถานศึกษา เช่น ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทำให้ต้องใช้เวลาในการศึกษาวิเคราะห์และออกแบบใหม่  รวมถึงก่อนมีการนำมาใช้จริงในสถานศึกษาทุกแห่ง  จะต้องมีการทดสอบระบบก่อน ซึ่งต้องอาศัยเวลาในการทำโครงการนำร่องระยะหนึ่ง  เพื่อศึกษาสภาพปัญหาปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินงานจริง   ทำให้สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาปรับแก้ไขก่อนดำเนินการเต็มรูปแบบ
  • ความคลาดเคลื่อนด้านข้อมูล    แม้จะเป็นข้อมูลจากสถานศึกษาเดียวกัน  เช่น  ข้อมูลจำนวนนักศึกษา  อาจารย์  มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนนักศึกษาในแต่ละปีการศึกษาเป็นระยะ หรือปรับเปลี่ยนทุกภาคการศึกษา  เมื่อนำมาบันทึกหรือวิเคราะห์ต้องระมัดระวัง
  • มหาวิทยาลัยมีการจัดการศึกษาทั้งภาคปกติและภาคสมทบในสาขาวิชาเดียวกันทำให้ไม่สามารถแยกค่าใช้จ่ายภาคปกติและภาคสมทบได้อย่างชัดเจน เช่น ค่าใช้จ่ายในด้านบริหาร  ค่าสาธารณูปโภค ค่าบุคลากร เป็นต้น

1.5  นิยามศัพท์

  • ต้นทุน   (Cost)  หมายถึงรายจ่ายที่เกิดขึ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการ ซึ่งอาจจ่ายเป็นเงินสด สินทรัพย์อื่น หุ้นทุนหรือการให้บริการหรือการก่อหนี้ ทั้งนี้รวมถึงผลขาดทุนที่วัดค่าเป็นตัวเงินได้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการ
  • ผลผลิต   หมายถึง จำนวนนักศึกษาในแต่ละสาขาวิชา
  • กิจกรรม (Activity) หมายถึง งานของมหาวิทยาลัยที่ต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย 
  • หน่วยต้นทุน หมายถึง โครงสร้างสํานัก กอง ศูนย์คณะ วิทยาเขต ซึ่งเป็นศูนย์ต้นทุนที่ มหาวิทยาลัยกําหนด ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง และหน่วยต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ต้นทุนซึ่งกําหนดให้เฉพาะหน่วยเบิกจ่ายส่วนกลางเพื่อใช้บันทึกค่าใช้จ่ายส่วนกลางและค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ต้นทุนของส่วนราชการ ส่วนกลางเพื่อให้การคํานวณต้นนทุนสามารถแยกประเภทต้นทุนค่าใช้จ่ายส่วนกลางและค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ต้นทุนได้อย่างครบถ้วน
  • หน่วยต้นทุนหลัก  หมายถึง  หน่วยต้นทุนที่มีหน้าที่โดยตรงในการสร้างผลผลิต หรือมีส่วนร่วมในการสร้างผลผลิตในที่นี้หมายถึงสถานศึกษา (วิทยาเขตและคณะ)  ในสังกัดของมหาวิทยาลัย
  • หน่วยต้นทุนสนับสนุน หมายถึง หน่วยต้นทุนที่ทําหน้าที่ให้บริการกับหน่วยต้นทุนหลัก หรือทํางานสนับสนุน ในที่นี้คือ กอง สำนัก สถาบัน ศูนย์
  • ต้นทุนที่เกี่ยวข้อง  หมายถึง ต้นทุนทั้งหมดที่หน่วยงานใช้ในการสร้างผลผลิต หรือค่าใช้จ่ายที่นํามาคํานวณต้นทุน  โดยไม่คํานึงว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายจากเงินงบประมาณ   เงินนอกงบประมาณ  หรือเงินอื่นใด ที่หน่วยงานได้รับมา ซึ่งบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตามหลักบัญชีตามเกณฑ์คงคาง
  • ค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ต้นทุน หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่หน่วยงานไม่ได้นําไปใช้ในการสร้างผลผลิต ตัวอย่าง เช่น ค่าใช้จ่ายบําเหน็จบํานาญ และสวัสดิการข้าราชการบํานาญ
  • ต้นทุนทางตรง หมายถึง ต้นทุนค่าแรง  และ/หรือ ค่าใช้จ่ายบุคคล ค่าวัสดุที่ระบุสาขาวิชาได้  เงินโครงการวิจัยที่ระบุสาขาวิชาได้  และต้นทุนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถระบุต้นทุนได้  ณ  เวลาบันทึกบัญชี
  • ต้นทุนทางอ้อม หมายถึง ต้นทุนที่เกี่ยวข้องซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นของหน่วยต้นทุนใดเป็น จํานวนเงินเท่าใด ณ เวลาบันทึกบัญชี ตัวอย่างเช่น ค่าสาธารณูปโภค ค่าเช่าอาคาร ค่ารักษาพยาบาล ค่าเสื่อมราคาอาคาร ค่าจ้างเหมาบริการ และค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์ไม่ระบุรายละเอียด ค่าใช้จ่ายประเภทเดียวกันอาจจะเป็นได้ทั้งค่าใช้จ่ายทางตรงและค่าใช้จ่ายทางอ้อม  เช่น  ค่าสาธารณูปโภคของอาคารส่วนกลาง ซึ่งอาคารดังกล่าวใช้ประโยชน์รวมกันระหว่างหน่วยต้นทุนหลายหน่วยต้นทุน และอาจระบุไม่ได้ว่าเป็นค่าใช้จ่าย ของหน่วยต้นทุนใดบ้าง ในกรณีนี้จึงจัดเป็นค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่ต้องใช้เกณฑ์การปันส่วน เพื่อปันส่วนค่าใช้จ่ายเข้าสู้หน่วยต้นทุน แต่ในขณะเดียวกันค่าสาธารณูปโภคในส่วนภูมิภาคที่มีเพียงหน่วยต้นทุนเดียว ก็สามารถระบุได้ว่าเป็นของหน่วยต้นทุนนั้น   จะถือเป็น ค่าใช้จ่ายทางอ้อมของสถานศึกษา
  • ปีงบประมาณ หมายถึงระยะเวลาตามปฎิทินตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 30 กันยายนของทุกปี
  • ปีการศึกษา หมายถึงระยะเวลาตามปฎิทินตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 31 พฤษภาคมของทุกปี
  • งบประมาณแผ่นดิน หมายถึง งบประมาณที่มหาวิทยาลัยได้รับจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล
  • งบผลประโยชน์ หรือเงินรายได้ หรือเงินนอกงบประมาณ หมายถึง  งบประมาณที่ใช้จากเงินที่เป็นรายได้ของมหาวิทยาลัย ได้แก่ ค่าบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าหน่วยกิต ค่าปรับ และรายได้อื่น ๆ ที่เก็บจากนักศึกษาทุกระดับ
  • เงินอื่น หมายถึง เงินที่ใช้จ่ายจากเงินที่นอกเหนือจากงบประมาณ งบผลประโยชน์  เช่น   เงินบริจาค
  • คณะ/วิทยาเขต หมายถึง สถานศึกษามีหน้าที่จัดการเรียนการสอนให้นักศึกษาโดยตรง
  • ภาคปกติ หมายถึง การจัดการเรียนการสอนในภาคเช้า และภาคบ่ายที่ได้รับเงินสนับสนุนจากงบประมาณ
  • ภาคสมทบ หรือภาคพิเศษ การจัดการเรียนการสอนในภาคเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ หรือการจัดการสอนนอกเวลาไม่ได้รับเงินงบประมาณ เป็นการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เงินจากนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียน
  • ต้นทุนต่อหัว (Unit Cost) หมายถึง ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการให้บริการจัดการเรียนการสอนแก่นักศึกษา  1  คนใน 1 ปีงบประมาณ

 

1.6  ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  • ทราบวิธีการคำนวณต้นทุนผลผลิต  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
  • ทราบต้นทุนต่อหัวต่อสาขาวิชาของสถานศึกษาในสังกัดมหาวิทยาลัย
  • ทำให้เกิดการพัฒนาระบบสารสนเทศด้านการเงินและบัญชีมหาวิทยาลัย
  • เป็นแนวทางในการพัฒนาระบบบัญชีสามมิติในอนาคต