ศึกษางานวิจัยต้นทุน

 

2.1  การวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตบัณฑิต คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  ปีการศึกษา 2544

2.1.1  กรอบความคิดในการศึกษาค่าใช้จ่ายของคณะสาธารณสุขศาสตร์

 

                             การศึกษาเป็นรูปแบบหนึ่งของการลงทุน แต่เป็นการลงทุนที่เรียกว่าทุนมนุษย์ (human capital) ซึ่งขบวนการในการลงทุนทางการศึกษาอยู่ในรูปการอบรมและขัดเกลาคน ผลที่ได้รับแม้ว่าจะเกิดขึ้นโดยต้องใช้ระยะเวลายาวนานก็ตาม แต่ผลิตผลนั้นจะคงทนถาวร ซึ่งผลิตผลของการลงทุนทางการศึกษามิใช่สินค้าหรือวัตถุใด  แต่อยู่ในรูปการเพิ่มคุณภาพของมนุษย์ เกิดการเพิ่มผลผลิตแก่ประเทศชาติอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการสนับสนุนการพัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  และการวิเคราะห์การลงทุนทางการศึกษา จึงจำเป็นต้องศึกษาด้านต้นทุนเป็นสำคัญ แต่การจำกัดขอบเขตความหมายของต้นทุนการศึกษาเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ทั้งนี้เพราะการศึกษาอาจเป็นได้ทั้งการบริโภคและการลงทุน ซึ่งไม่สามารถแบ่งแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน นักเศรษฐศาสตร์การศึกษาหลาย ท่าน เช่น T.W. Schultz, J. Vaizey, J.D. Chesswas ฯลฯ ต่างพยายามกำหนดแนวทางในการคำนวณหาค่าต้นทุนทางการศึกษา โดยคำนึงถึงต้นทุนในลักษณะต่าง กัน (วัชรี, 2522 : 44)

 

 2.1.2 วิธีการวัดต้นทุน

                             ต้นทุนทางการศึกษาในที่นี้คือ ต้นทุนต่าง ซึ่งเกิดขึ้นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเฉพาะในระดับอุดมศึกษา (บัณฑิตคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) ทั้งต้นทุนทางตรงและทางอ้อมในส่วนที่คำนวณออกมาเป็นตัวเงินได้ ซึ่งหมายความรวมไปถึงต้นทุนที่จ่ายโดยสังคม หรือก็คือ ต้นทุนของผู้บริการการศึกษา และต้นทุนที่จ่ายโดยผู้รับบริการการศึกษา (หมายถึง ตัวผู้เรียนและผู้ปกครองของผู้เรียน) โดยวัดออกมาในรูปต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) ต่อปีการศึกษา

                             แต่เนื่องจากการศึกษาของคณะสาธารณสุขศาสตร์ไม่เหมือนกับการศึกษาในสาขาวิชาอื่น คือ ระยะเวลาเรียนที่ใช้ทั้งหมดรวมทั้งฝึกภาคปฏิบัติด้วยแล้ว ใช้เวลาประมาณ 4 ปี (อาจจะมากกว่านี้แต่ไม่น้อยกว่านี้แน่นอน) และเนื่องจากเป็นวิชาที่ต้องมีการฝึกภาคปฏิบัติควบคู่ไปกับการเรียนการสอนด้วย จึงทำให้คณะสาธารณสุขศาสตร์จะต้องมีสถานที่สำหรับการฝึกภาคปฏิบัติโดยเฉพาะ หรืออาจจะกล่าวได้ว่าในการฝึกภาคปฏิบัตินั้น ก็เป็นการให้บริการแก่สังคมไปในตัว จึงเป็นการยากที่จะแยกค่าใช้จ่าย (ต้นทุน) ทางด้านการศึกษาออกจากทางด้านบริการ

 

2.1.3  วิธีการวิเคราะห์ค่าใช้จ่าย

                       1.  ต้นทุนทางสังคมทางตรง (Direct Social Cost) : ค่าใช้จ่ายทางสังคม (ต้นทุนทางสังคม)  ค่าใช้จ่ายทางตรงในส่วนนี้คือ ค่าใช้จ่ายสถาบัน  โดยแบ่งออกเป็น 2  ประเภทคือ (1)  ค่าใช้จ่ายทางด้านดำเนินการ (Recurrent Cost)  (2)  ค่าใช้จ่ายทางด้านลงทุน หรือ ทรัพย์สิน (Capital Cost) แยกเป็นประเด็นเพื่อง่ายต่อการวิเคราะห์ ค่าใช้จ่ายทางด้านดำเนินการ  แบ่งออกเป็น

                                 (ก)  ประเภทงาน 

                                        - งานบริหารทั่วไป 
                                        - งานจัดการศึกษา
                                        - งานบริการชุมชน (ออกฝึกภาคสนาม)
                                (ข) ประเภทค่าใช้จ่ายทั่วไป
                                       - ประเภทค่าใช้สอย  เช่น ค่าเดินทาง ค่าจ้างเหมาบริการ ค่าซ่อมรถยนต์ ค่าซ่อมครุภัณฑ์ ค่าส่งเอกสาร ค่าขนส่ง ค่าเทเลกซ์ และ อื่น ๆ
                                       - ประเภทค่าตอบแทน เช่น เงินประจำตำแหน่ง ค่าตรวจกระดาษฯ ค่าเช่าบ้าน ค่าล่วงเวลา ค่าสอนพิเศษ ค่าเบี้ยประชุม ค่าตอบแทนอาจารย์พิเศษ
                                       - ประเภทค่าวัสดุ    เช่น ค่าวัสดุสำนักงาน วัสดุงานบ้าน วัสดุการเรียนฯ วัสดุก่อสร้างซ่อมแซม วัสดุเวชภัณฑ์ วัสดุวิทยาศาสตร์ฯ วัสดุเครื่องแต่งกาย วัสดุบริโภค วัสดุโสตฯไฟฟ้า   วัสดุยานพาหนะ วัสดุน้ำมันรถ น้ำมันเตา น้ำมันดีเซล แก๊สหุงต้ม วัสดุเชื้อเพลิงอื่น ๆ อะไหล่ครุภัณฑ์ อื่น ๆ 
                                      - ประเภทครุภัณฑ์   เช่น ค่าครุภัณฑ์สำนักงาน ค่าครุภัณฑ์การปฎิบัติการทางห้องทดลองต่าง ๆ
                              (ค)  ประเภทเงินอุดหนุน 
                                     - เงินอุดหนุนโครงการวิจัย   เช่น งานวิจัยพื้นฐาน    
                                     - เงินอุดหนุนการศึกษา  เช่น งานกิจกรรมนิสิต

หมายเหตุ :

ประเภทค่าใช้จ่ายในข้อ (ข) จะแจกแจงไว้ในประเภทของงาน ในข้อ (ก) ยกเว้น    ประเภทครุภัณฑ์ จะแจกแจงไว้ในประเภทงานจัดการศึกษา และงานบริการ เท่านั้น แต่ไม่มีในงานบริหารทั่วไป
                     ค่าใช้จ่ายทางด้านดำเนินการ การคิดค่าใช้จ่ายต่อปีต่อคน สำหรับงบบริหารทั่วไปและงบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การเรียนการสอน ทำได้โดยนำค่าใช้จ่ายรายปีในหมวดนี้ของสาขา/ภาควิชามาหารด้วยจำนวนนิสิตหรือนักศึกษาทั้งหมด
                     ส่วนงบการเรียนการสอนนั้น คิดโดยคำนึงถึงสภาพการเรียนการสอนของนักศึกษาคือมีการใช้ระบบหน่วยกิต นักศึกษาแต่ละคนลงทะเบียนเรียน (หน่วยกิต) ไม่เท่ากัน การคิดค่าใช้จ่าย/ปี/คน จะคิดจากจำนวนนักศึกษาที่ปรับให้เป็นนักศึกษาเต็มเวลา โดยจากกรอบแนวความคิดในการผลิตบัณฑิตคณะสาธารณสุขศาสตร์ เราพอจะทราบได้ว่านักศึกษา 1 คน  (นักศึกษาเต็มเวลา) จะต้องเรียน 36-40 หน่วยกิต/ปี ผู้ที่ลงทะเบียนเรียน 18 - 20 หน่วยกิต จึงถือว่าเป็นนักศึกษาเต็มเวลาเพียงครึ่งคน (ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว นักศึกษาทุกคนจะลงทะเบียนเรียนเต็มตามจำนวนอยู่แล้ว)
                      กรณีนักศึกษาปี 1 และปี 2 มักจะต้องไปเรียนร่วมกับคณะอื่น เช่น วิทยาศาสตร์ เท่ากับไปใช้เงินของคณะอื่น จึงต้องนำเงินที่ต้องเสียไปให้กับนิสิตแพทย์เหล่านี้ไปหักจากคณะอื่น แล้วเพิ่มให้กับคณะสาธารณสุขศาสตร์ของตนตามสัดส่วนจำนวนหน่วยกิตที่ไปเรียนกับคณะอื่น 10  
                     การหาค่าใช้จ่าย/ปี/คนของงบดำเนินการจึงกระทำได้โดยการนำค่าใช้จ่ายที่ปรับโดยวิธีข้างต้นมาหารด้วยจำนวนนิสิตเต็มเวลา
                     สำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อการบริการทั่วไปสามารถหาค่าใช้จ่าย/ปี/คน โดยนำค่าใช้จ่ายทั้งหมดหารด้วยจำนวนนักศึกษา และส่วนค่าใช้จ่ายที่เป็นงบกลางเพื่อบริหารงานทั่วไปใช้วิธีหารด้วยจำนวนนักศึกษา ทั้งหมด ไม่ว่าจะลงทะเบียนมากหรือน้อยเท่าใดก็ตาม ดังนั้นค่าใช้จ่ายส่วนนี้จึงเท่ากันทุกคน
 หมายเหตุ

             (ก)  การหาค่าใช้จ่ายดำเนินการที่จ่ายจากเงินงบประมาณรวมทั้งหมด/ปี/คน ได้จากผลรวมของค่าใช้จ่าย/ปี/คน ในหมวดต่าง ๆ ที่ได้แจกแจงค่าไว้ข้างต้น
             (ข) การหาค่าใช้จ่ายดำเนินการที่จ่ายจากเงินงบประมาณ ใช้วิธีการหาค่าใช้จ่ายต่อหัวมาหารด้วยจำนวนนักศึกษาตามปกติ

ค่าใช้จ่ายทางด้านลงทุนหรือทรัพย์สิน
        1. ประเภทงาน 
             (ค) งานจัดการศึกษา
             (ง) งานบริการชุมชน (ออกฝึกภาคสนาม)
             (จ) งานบริหารทั่วไป
        2. ประเภททรัพย์สิน 
             (ฉ) ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง
             (ช) ต่อเติมและขยายอาคาร
             (ซ) ปรับปรุงอาคารและห้องต่าง ๆ

                    ต้นทุนทรัพย์สิน (Capital Cost)  หมายถึงค่าใช้จ่ายในสิ่งก่อสร้าง อาคาร เครื่องมือต่าง ๆ และที่ดิน ซึ่งทรัพย์สินเหล่านี้ไม่อาจถูกใช้ให้หมดไปในเวลาปีเดียวได้ ประโยชน์ของมันเกิดขึ้นเป็นระยะเวลา ยาวนานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นในการคำนวณหาต้นทุนแต่ละปี จึงเป็นเรื่องที่ลำบากและไม่อาจหลีกเลี่ยงความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้เพราะตามปกติแล้วต้นทุนต่อปีของทรัพย์สินประเภทนี้หาได้โดยดูค่าเช่าต่อปีว่าเป็นเท่าใด แต่เนื่องจากไม่มีการเช่าตามลักษณะนี้ในท้องตลาด M.Blaug ได้ใช้วิธีคำนวณค่าประมาณของค่าเช่าต่อปี (input rent) ขึ้นมา โดยการ Amortize (เป็นการคำนวณมูลค่าทรัพย์สิน ช่วงระยะเวลาต่าง ๆ ตั้งแต่ในอนาคตจนกระทั่งปัจจุบัน) มูลค่าที่เป็นตัวเงินของทรัพย์สินนั้น โดยอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ค่าเช่าต่อปีจะมีมูลค่าไม่เกินค่าเสื่อมราคาบวกกับค่าเสียโอกาสของทรัพย์สินนั้น ดังนั้น ค่าเช่าที่คำนวณขึ้นจึงประกอบ ด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน และอีกส่วนเป็นค่าเสียโอกาสของทรัพย์สิน
                   2. ต้นทุนทางสังคมทางอ้อม (Indirect Social Cost) ค่าใช้จ่ายทางอ้อมในส่วนนี้คือ ค่าเสียโอกาสทางสังคม  ในส่วนของที่ดินการหาค่าเฉลี่ยรายปี คิดจากค่าเสียโอกาสในการใช้ที่ดิน โดยถือว่าถ้าไม่ใช้ที่ดินเพื่อการศึกษา แต่นำไปขายและนำเงินไปฝากธนาคารหรือซื้อพันธบัตรรัฐบาล ดอกเบี้ยที่ได้ในเวลา 1 ปีนั้น ในส่วนของสิ่งก่อสร้างซึ่งส่วนใหญ่คิดเฉพาะอาคารเรียน อาคารเพื่อการบริหารและสนับสนุนการเรียนการสอน โดยในบางสาขา  เช่น ภาควิชาพยาบาล ฯ   จะรวมอาคารรักษาผู้ป่วย (หรือโรงพยาบาล) ประมาณ ¼ ของทั้งหมด 12  โดยถือว่าเป็นห้องทดลองของนักศึกษา การคิดค่าเฉลี่ยรายปีทำได้โดยการหาค่าเสื่อมราคาและค่าเสียโอกาสของอาคาร  สำหรับค่าครุภัณฑ์หาค่าเฉลี่ยรายปีจากตัวเลขค่าใช้จ่ายในหมวดนี้ย้อนหลังไปเป็นเวลา 5 - 10 ปี (อาจคิดค่าเสียโอกาสแบบอาคารก็ได้ หากมีข้อมูลเพียงพอ)
                   การหาค่าใช้จ่าย/ปี/คนสำหรับงบลงทุนนี้ ในส่วนของค่าเสียโอกาสในการใช้ที่ดินโดยใช้วิธีหารค่าใช้จ่ายด้วยจำนวนนักศึกษาทั้งหมด (สิ่งก่อสร้างก็เช่นเดียวกัน) ส่วนอาคารและครุภัณฑ์ส่วนกลาง เช่น สำนักงานคณบดี ห้องสมุดของคณะ โรงอาหาร ฯลฯ หาค่าใช้จ่ายต่อหัวโดยการหารด้วยจำนวนนักศึกษา และนักศึกษาทั้งหมด เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่สามารถจำแนกตามสาขาวิชาได้แล้วนำส่วนของนักศึกษามานับรวมในงบลงทุนด้วย
                   นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนทางอ้อมด้านสังคมอีกอันหนึ่งคือ ค่าเสียโอกาส หรือ รายได้ที่ได้จากการทำงานที่ต้องสูญเสียไปเพราะการเรียนต่อในมหาวิทยาลัยแทนที่จะทำงานทันทีที่เรียนจบมัธยม ค่าใช้จ่ายนี้ คิดได้จากสมการรายได้ของกลุ่มตัวอย่างที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมแล้วไม่ได้เรียนต่อ โดยเข้าทำงานเลย

 จะมีรายได้เท่าใด ค่าที่ได้จากการคิดคำนวณนี้เป็นค่าเสียโอกาส ค่าใช้จ่ายทางอ้อมของสังคมเป็นค่าที่คิดจากสมการรายได้ก่อนหักภาษี 
                   กำหนดให้   Wp  เป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสถ้าเรียนระดับบัณฑิต หรือรายได้จากการทำงาน (earnings) ของผู้สำเร็จมัธยมปลาย
                                        Wp* เป็นรายได้ก่อนหักภาษีของผู้สำเร็จมัธยมปลาย
                                         Tp  เป็นภาษีรายได้จากผู้สำเร็จมัธยมปลาย
                                 จะเห็นได้ว่า
                                         Wp  =  Wp* - Tp
                                 ดังนั้น      
                                         Wp*   คือค่าใช้จ่ายทางอ้อมของสังคม

                   3.  ต้นทุนส่วนบุคคลทางตรง (Direct Private Cost)  เป็นต้นทุนหรือค่าใช้จ่าย ซึ่งผู้รับบริการทางการศึกษาเป็นผู้จ่าย แบ่งออกเป็น 2  ประเภท ดังนี้ คือ
                        ก.  ค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้แก่สถานศึกษา เป็นค่าเล่าเรียน ค่าบำรุงการศึกษา และค่าธรรมเนียม เป็นต้น
                        ข. ค่าใช้จ่ายส่วนตัว เช่น ค่าหนังสือ อุปกรณ์การศึกษา ค่าเครื่องแบบ  เป็นต้น
                   เนื่องจากในปัจจุบันการศึกษาเป็นแบบระบบหน่วยกิต ซึ่งขึ้นอยู่กับความสมัครใจของนักศึกษาว่าจะต้องการลงทะเบียนกี่วิชา กี่หน่วยกิต แต่กรณีของคณะสาธารณสุขศาสตร์ เป็นสาขาวิชาที่ใช้เวลาเรียนมาก และมีจำนวนวิชาที่ต้องเรียนมากด้วย กอรปกับการที่นักศึกษาอยากจะจบการศึกษาเร็วนั้นก็ควรจะลงทะเบียนตามที่กำหนด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วนักศึกษาจะลงทะเบียนตามที่คณะกำหนดจำนวนหน่วยกิตของแต่ละปี ตั้งแต่ปีที่ 1 – ปีที่ 4 แต่ละภาควิชาฯ จะไม่เท่ากันแต่ใกล้เคียงกัน คืออยู่ระหว่าง 36 - 40 หน่วยกิต/ปี
                  ในการหาค่าใช้จ่ายประเภทนี้ (ค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้แก่สถานศึกษา) ใช้วิธีหาค่าเฉลี่ยต่อปีโดยคำนึงถึงจำนวนหน่วยกิตทั้งหมดที่นักศึกษาต้องเรียนจบหลักสูตรนี้บวกกับค่าธรรมเนียมสำหรับค่าใช้จ่ายของนิสิตนั้น ๆ สำหรับกรณีที่นักศึกษาจะต้องแต่งกายตามแบบฟอร์มที่ทางสถานศึกษากำหนดไว้ จึงต้องมีค่าใช้จ่ายประเภทนี้ด้วย นอกจากนี้ยังมีค่าหอพัก และค่าใช้จ่ายในการออกฝึกภาคปฏิบัติภาคสนาม ในปีสุดท้าย  
                  ค่าใช้จ่ายในด้านส่วนตัวของนักศึกษานี้ อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายโดยตรงของผู้เรียนซึ่งคือเงินที่ผู้เรียนหรือผู้ปกครองเสียไปโดยตรงให้กับการศึกษา (ข้อมูลส่วนนี้ต้องสุ่มตัวอย่างแล้วใช้แบบสอบถาม    อาจเป็นการศึกษาไปข้างหน้าโดยสุ่มตัวอย่างนักศึกษาที่เพิ่งเข้ามารับการศึกษาเป็นปีแรก ไปจนถึงปีที่ 4 และสำเร็จการศึกษา หรืออาจจะใช้วิธีการศึกษาย้อนหลัง โดยสุ่มตัวอย่างนักศึกษาซึ่งกำลังจะจบภาคปฏิบัติ โดยเก็บข้อมูลย้อนหลัง แต่ละวิธีมีข้อดีและข้อเสียต่างกัน แต่ในแต่ละวิธีที่ว่านี้ต้องนำมาทอนให้เป็นมูลค่าปัจจุบันทั้งสิ้น)

หมายเหตุ  กรณีนี้ไม่นับรวม ค่าอาหาร ค่าเครื่องแต่งกายทั่วไป และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่น ๆ  เพราะถึงไม่เข้าเรียนก็มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อยู่แล้ว 
                   อนึ่ง ต้นทุนทางตรงในแง่ส่วนบุคคล/ปี/คน จะไม่เท่ากันในแต่ละสถานศึกษา หรือเกือบเท่ากัน แต่ไม่เท่ากันเลยทีเดียว จึงเป็นการยากที่จะคิดเป็น Unit/Cost ในส่วนนี้ แต่อย่างไรก็ตาม จุดที่สิ้นสุดของการวิเคราะห์อยู่ที่ ค่าใช้จ่ายในการผลิตบัณฑิตคณะสาธารณสุขศาสตร์เป็นค่าโดยประมาณ

                  4. ต้นทุนส่วนบุคคลทางอ้อม (Indirect Private Cost)   ค่าใช้จ่าย หรือต้นทุนชนิดนี้เกิดขึ้นเมื่อ บุคคลสละเวลาที่จะสนุกสนาน หรือทำงานเพื่อเข้าศึกษาต่อจึงเป็นการสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับจากการทำงาน ซึ่งเรียกว่าค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost)  และค่าเสียโอกาสนี้จะมีค่าเท่ากับรายได้ที่นักศึกษาผู้ไม่เรียนต่อได้รับจากการทำงาน (earnings foregone) ซึ่งเราวัดต้นทุนชนิดนี้โดยตรงไม่ได้ วิธีวัดโดยการสร้างสมมติฐานขึ้นมาว่า เมื่อบุคคลผู้นั้นไม่เรียนต่อแล้ว และออกไปทำงาน เขาจะมีพฤติกรรมเหมือนบุคคลที่ไม่ทำงานในขณะนี้ ดังนั้นต้นทุนทางอ้อมในส่วนบุคคลของการเรียนคณะสาธารณสุขศาสตร์จึงเท่ากับรายได้ของผู้ที่จบชั้น ม.6 แล้วออกไปทำงาน 
                     ในที่นี้ได้แก่ค่าเสียโอกาสหรือรายได้จากการทำงานที่ต้องสูญเสียไป เพราะการเรียนต่อมหาวิทยาลัย แทนที่จะทำงานทันทีที่เรียนจบมัธยม ค่าใช้จ่ายนี้คิดจากสมการรายได้ของกลุ่มตัวอย่างที่สำเร็จระดับมัธยมแล้วไม่ได้เรียนต่อ โดยเข้าทำงานเลย จะมีรายได้เท่าใด ค่าที่ได้จากการคิดคำนวณดังกล่าวจะเป็นค่าใช้จ่ายทางอ้อมหรือค่าเสียโอกาสที่ต้องการ และจะต้องนำไปหักภาษีแล้ว กล่าวคือค่าใช้จ่ายทางอ้อม ส่วนบุคคลเป็นค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่คิดจากสมการรายได้ที่หักภาษีออกแล้ว    ซึ่งสถิติรายได้มีผู้สนใจทำการวิจัยไว้ตั้งแต่ปี 2513 - 2515  ซึ่งเป็นการศึกษาหาอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่สังคมได้รับจากการลงทุนทางการศึกษา โดยผลได้ว่าอัตราผลตอบแทนทางสังคมของผู้จบชั้นประถมศึกษาตอนต้น เท่ากับ 22.0  มัธยมศึกษาตอนต้นเท่ากับ 10.0 และมัธยมศึกษาตอนปลายเท่ากับ 10 ระดับปริญญาตรีเท่ากับ 7.0 (แต่ในปัจจุบันนี้แบบแผนการศึกษาได้ต่างไปจากเดิมโดยสิ้นเชิงแล้ว)
                    การที่บุคคลตัดสินใจว่าจะเรียนต่อมหาวิทยาลัย หรือไม่เรียนต่อนั้น  เขาจะพิจารณาจากรายได้ที่จะได้รับเพิ่มขึ้นหากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนั้น เทียบกับรายจ่ายของการศึกษาที่เพิ่มเติม แต่การพิจารณาเฉพาะรายได้สุทธิเช่นนี้ยังไม่ถูกต้องนัก เพราะบุคคลทั่วไปรู้ดีว่าแม้เขาตัดสินใจเรียนต่อ เขาอาจจะเรียนไม่จบ ในกรณีนี้รายได้ของเขาย่อมลดลง ในปัจจุบัน ปรากฏว่า มีการลาออกกลางคันกันในทุกปีเกือบทุกมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป 
                    การนำอัตราการออกกลางคันในระหว่างที่เรียนอยู่ มาปรับสมการรายได้นั้นเริ่มจากแนวความคิดที่ว่า ถ้าบุคคลตัดสินใจเข้ารับการศึกษาต่อนั้น และถ้าสำเร็จเขาจะมีรายได้เท่ากับ Wu (รายได้จากการทำงานของผู้สำเร็จเป็นบัณฑิต) แต่ถ้าเรียนแล้วไม่สำเร็จ บุคคลนั้นจะมีรายได้เท่ากับ Wp (รายได้จากการทำงานของผู้สำเร็จมัธยมปลาย) ดังนั้นถ้าอัตราการออกจากเรียนกลางคันของระดับอุดมศึกษาเท่ากับ d รายได้ที่ผู้ตัดสินใจเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาพึงได้รับจะเท่ากับ 16 

                              E(W1)    =   Wu(1-d) + dWp 
                โดยที่   E(W1)  คือ รายได้ที่ผู้ตัดสินใจเรียนต่อมหาวิทยาลัยพึงจะได้รับจากการทำงาน หลังจากที่ปรับด้วยอัตราการออกกลางคัน
                               Wu      คือ   รายได้จากการทำงานของผู้ที่เรียนสำเร็จเป็นบัณฑิต
                                Wp     คือ   รายได้จากการทำงานของผู้ที่เรียนจบมัธยมปลาย
                                d         คือ   อัตราออกกลางคัน
            
และได้มีการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งของกองวิจัยการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติเป็นการศึกษาวิจัยในเรื่องค่าใช้จ่ายและผลตอบแทนจากการลงทุนทางการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา (โครงการประสิทธิภาพของการผลิตในสถาบันอุดมศึกษา) ได้คิดคำนวณค่าใช้จ่ายทางอ้อมจากสมการรายได้ของกลุ่มตัวอย่างที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา โดยแทนค่าตัวแปรต่าง ๆ ด้วยข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างผู้สำเร็จปริญญาตรีเพื่อดูว่า ถ้าตัวอย่างกลุ่มนี้ไม่ได้เรียนปริญญาตรี แต่จบจากโรงเรียนมัธยมศึกษาแล้วทำงานเลย โดยที่มีตัวแปรอื่น ๆ เช่น เพศ อายุ ภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัวที่วัดจากการศึกษาและอาชีพของบิดาเหมือนกัน จะมีรายได้เป็นเท่าไรค่าที่ได้จากการคำนวณดังกล่าวจะเป็นค่าใช้จ่ายทางอ้อมหรือ ค่าเสียโอกาส   มีทั้งที่เกิดขึ้นกับสังคม และที่เกิดขึ้นกับตัวผู้เรียนเอง (ส่วนบุคคล) ค่าใช้จ่ายทางอ้อมของสังคมเป็นค่าใช้จ่ายที่คิดจากสมการรายได้ก่อนหักภาษี ส่วนค่าใช้จ่ายทางอ้อมของผู้เรียนเป็นค่าใช้จ่ายทางอ้อม  ที่คิดจากสมการรายได้ที่หักภาษีออกแล้ว

 

2.1.4  วิเคราะห์ข้อดีข้อด้อยการคำนวณต้นทุนของคณะสาธารณสุขศาสตร์
             ข้อดี
             1. มีการนำค่าเสียโอกาสมาคำนวณเป็นต้นทุนด้วย
             2. การคำนวณละเอียดได้ผลลัพธ์ชัดเจน
             ข้อด้อย
             1. ทำยากหากมีการคำนวณให้กับทุกคณะทุกหน่วยงาน
             2. การนำค่าเสียโอกาส  ค่าใช้จ่ายของนักศึกษา และค่าครุภัณฑ์มาคำนวณเป็นต้นทุนด้วย    ทำให้ไม่ตรงตามหลักเกณฑ์การคำนวณต้นทุนของกรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณ
            3. คำนวณด้วยโปรแกรม Excel ไม่เหมาะกับสถานศึกษาขนาดใหญ่

 

2.2  การคำนวณต้นทุน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี พ.ศ. 2544

2.2.1  แนวคิดการคำนวณต้นทุน
                   ต้นทุน (Cost)  หมายถึง ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ก่อให้เกิดผลสำเร็จของงานเชิงปริมาณ หรือผลผลิตอย่างใดอย่างหนึ่ง  เช่น ต้นทุนของการผลิตนักศึกษาปริญญาตรีต่อคน ต้นทุนของการผลิตนักศึกษาปริญญาโทต่อคน  ต้นทุนของกระบวนวิชาต่าง ๆ ต้นทุนของการคุมสอบ เป็นต้น  ในการคำนวณต้นทุนของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ทำการวิเคราะห์ต้นทุนกระบวนวิชาต่าง ๆ ในระดับปริญญาตรี และโทภาคปกติของภาควิชาและสาขาวิชาต่าง ๆ โดยคำนวณต้นทุนต่อหน่วยดังนี้
                  1. ต้นทุนต่อกระบวนวิชา
                  2. ต้นทุนต่อหลักสูตรปริญญาตรี
                  3. ต้นทุนต่อหลักสูตรปริญญาโท
                  4. ต้นทุนต่อการบริการต่าง ๆ
                  5. ต้นทุนต่องานสอน
                  6. ต้นทุนต่องานวิจัย

                   ในการดำเนินการจะแบ่งลักษณะต้นทุนในการลงทุนของมหาวิทยาลัยออกเป็น 3 ประเภทคือ 
                   1. ต้นทุนค่าแรง (Labour Cost)  หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าตอบแทนในการปฎิบัติงานของบุคลากรสาย ก สาย ข และสาย ค ได้แก่ เงินเดือน (จากงบประมาณแผ่นดิน และรายได้ของมหาวิทยาลัย)
                   2. ต้นทุนค่าวัสดุครุภัณฑ์ (Material Cost)  หมายถึงค่าใช้จ่าย หรือมูลค่าของวัสดุครุภัณฑ์ รวมถึงราคาของอาคารสถานที่ที่ใช้สำหรับการเรียนการสอน โดยแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้
                           ต้นทุนสารเคมี
                           ค่าซ่อมครุภัณฑ์
                           ค่าเสื่อมราคาครุภัณฑ์
                           ค่าเสื่อมราคาตึก
                           ค่าเสื่อมราคาของครุภัณฑ์และค่าซ่อมแซมในส่วนของปริญญาโท
                    สำหรับต้นทุนค่าเสื่อมราคาแต่ละปีของครุภัณฑ์ หรืออาคารสิ่งก่อสร้างคำนวณด้วยสูตรดังนี้

                    ค่าเสื่อมราคาของครุภัณฑ์       =  ราคาที่ซื้อหรือจ้างทำ/อายุการใช้งาน    
                    อายุการใช้งานของครุภัณฑ์อาศัยหลักเกณฑ์ว่าครุภัณฑ์ 1 ชิ้น จะมีอายุการใช้งาน 10 ปี

                    ค่าเสื่อมราคาของสิ่งก่อสร้าง   =  ราคา/อายุการใช้งาน
                                                                     
อายุการใช้งานของสิ่งก่อสร้าง อาศัยหลักเกณฑ์ของสำนักงบประมาณ คืออาคารหนึ่งหลังที่ก่อสร้าง ด้วยวัสดุคอนกรีตเสริมเหล็กจะมีอายุการใช้งาน 20 ปี

                  3. ต้นทุนค่าสาธารณูปโภคและบริการต่าง ๆ (Expense Cost)  หมายถึง ค่าใช้จ่ายสำหรับสาธารณูปโภคที่จำเป็นและค่าบริการพิเศษอื่น ๆ แบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้
                       ต้นทุนสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำประปา  ค่าโทรศัพท์  ค่าทำความสะอาดพื้นที่ ค่ารักษาความปลอดภัย  ค่ายานพาหนะ
                       ต้นทุนเกี่ยวกับบริการพิเศษ เช่น ค่าคุมสอบ  ค่าตรวจกระดาษคำตอบ ค่าสอนนอกเวลา  ค่าสอนภาคฤดูร้อน  ค่าแต่งตำรา ฯลฯ

 

2.2.2  การกำหนดเกณฑ์การกระจายต้นทุน
                     การกระจายต้นทุน (Cost Allocation) ไปยังวิชาต่าง ๆ (Objects) สามารถทำได้ 2 วิธี ซึ่งอาจจะใช้เพียงวิธีใดวิธีหนึ่งหรือทั้งสองวิธีรวมกันก็ได้  สำหรับการคำนวณในที่นี้  ใช้ 2 วิธีรวมกัน
                    วิธีที่ 1  ใช้วิธีการกระจายต้นทุนโดยตรง (Direct) จากต้นทุนไปยังวิชาต่าง ๆ
                                    ต้นทุน ---->  วิชา
                    วิธีที่ 2  ใช้วิธีการกระจายต้นทุนโดยอ้อม (Indirect) จากต้นทุนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ (Activity Pool) ผ่านตัวกระจาย (Driver) ไปยังวิชาต่าง ๆ
                                    ต้นทุน --->  กิจกรรม  ---> ตัวกระจาย  --- > วิชา

                    ในระบบการคำนวณแบบดั้งเดิมที่ถูกนำมาใช้กันอยู่โดยทั่วไปนั้นจะคิดค่าใช้จ่ายต่อหัวนักศึกษาโดยใช้วิธีที่ 1 คือการนำเอางบประมาณงบดำเนินการทั้งหมดที่ได้รับจัดสรรมา  หารด้วยจำนวนนักศึกษาที่ลงทะเบียน  วิธีการคิดเช่นนี้จะไม่นำเอากิจกรรมของบุคลากรมาร่วมใช้ในการคำนวณค่าใช้จ่ายด้วย ซึ่งแตกต่างไปจากแบบที่ 2 การคิดต้นทุนนั้นจะสะท้อนถึงประสิทธิภาพในการปฎิบัติงานของบุคลากร  การใช้งบประมาณในกิจการต่าง ๆ  ดังนี้
                    สมมุติว่าในภาคเรียนที่ 1 มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนกระบวนวิชา A (3 หน่วยกิต) จำนวน 100 คน โดยมีอาจารย์ A เป็นผู้สอน  โดยใช้ห้องเรียน A1 สมมติว่าค่าใช้จ่ายต่อนักศึกษาต่อหน่วยกิต เท่ากับ 95  บาท (โดยคำนวณจากงบประมาณงบดำเนินการทั้งหมดหารด้วยจำนวนนักศึกษาทั้งหมดหารด้วยหน่วยกิต)  ดังนั้น ต้นทุนกระบวนวิชา A  เท่ากับ 95 x 3 x 100 เท่ากับ 28,500 บาท
  ภาคเรียนที่ 2 มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนกระบวนวิชา A (3 หน่วยกิต) จำนวน 10 คน โดยมีอาจารย์และใช้ห้องเรียนเดิม ถ้าคำนวณต้นทุนกระบวนวิชา A โดยอาศัยค่าใช้จ่ายต่อหัวนักศึกษาจะได้
                   ต้นทุนกระบวนวิชา  A ในเทอมที่ 2  =  95 x 3 x 10 =  2,850  บาท
                   ต้นทุนกระบวนวิชา A ในภาคเรียนที่ 2 น้อยกว่าในภาคเรียนที่ 1 ถึง 10 เท่า ซึ่งค่าต้นทุนนี้ไม่ถูกต้อง เนื่องจากการลงทุนของมหาวิทยาลัยรามคำแหง (บุคลากรและห้อง) ในแต่ละภาคเรียนมีค่าเท่ากัน  ถ้าหากมีการนำเอากิจกรรมที่เกี่ยวข้องมาช่วยในการคิดต้นทุนด้วย ค่าต้นทุนที่ได้จะสะท้อนสภาพที่เป็นจริงมากกว่าการคิดเพียงต้นทุนต่อนักศึกษาแบบเก่า นั่นคือเมื่อจำนวนนักศึกษาลดลงค่าใช้จ่ายต่อหัวโดยหลักความเป็นจริงแล้วควรจะมีค่าเพิ่มขึ้น
                  มหาวิทยาลัยรามคำแหงทำการคำนวณต้นทุนด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปจากบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ในโครงการความร่วมมือระหว่าง Thailand-Australia Science & Engineering Assistance Project (TASEAP) พร้อมทั้งมีการจัดฝึกอบรมการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง  โปรแกรม ABC (Activity Based Costing) เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการคำนวณค่าใช้จ่ายที่สอดคล้องกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ ดังแผนภูมิของโปรแกรม

 

2.2.3  วิเคราะห์ข้อดีข้อด้อยการคำนวณต้นทุนมหาวิทยาลัยรามคำแหง
              ข้อดี
         1. คำนวณได้ละเอียด
         2. การคำนวณได้ตรงตามลักษณะงานของสถานศึกษาจริง
         3. สะดวก รวดเร็ว เพราะคำนวณด้วยโปรแกรม
         4. คำนวณต้นทุนของทั้งมหาวิทยาลัยได้ในคราวเดียวกัน
              ข้อด้อย
         ต้องซื้อโปรแกรมสำเร็จรูปคำนวณต้นทุนราคาแพงจากต่างประเทศ