การเปลี่ยนแปลงต่างๆ

 

                วัยสูงอายุ เป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลกระทบ ต่อความสามารถในการดำเนินชีวิต อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และจิตใจ ที่เป็นผลมาจากอายุที่เห็นได้ชัด ได้แก่

1. การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย

               ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก ฝ่อลีบ ไม่แข็งแรง ไม่สามารถพยุงข้อไว้ได้ ทำให้การเคลื่อนไหวช้าลง ร่วมกับความไวของการตอบสนองของเซลล์ประสาทลดลง อวัยวะเกี่ยวกับการทรงตัวในหูชั้นในเสื่อมไป ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถที่จะเปลี่ยนอริยาบถ เคลื่อนไหว หรือตอบโต้เมื่อจำเป็นต้องใช้ความเร็ว มากกว่าปกติได้ จึงมีการเสี่ยงที่จะเสียการทรงตัว พลัดหกล้มง่าย และเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว มักจะเกิดความผิดปกติที่รุนแรง และภาวะทุพพลภาพได้

              ระบบประสาทสัมผัสพิเศษ เช่น

- สายตามีปัญหาการมองไม่ชัด จากสายตายาว ต้อกระจก กล้ามเนื้อลูกตาเสื่อม ทำให้การกรอกตาตาม การมองภาพเคลื่อนไหวไม่ชัด

- การได้ยินมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากประสาทรับเสียงในหูชั้นในเสื่อม จากอายุที่มากขึ้น

- การรับรส และกลิ่น มีแนวโน้มลดลง ลิ้นรับรสได้น้อยลง โดยเฉพาะรสหวาน ทำให้ผู้สูงอายุมีแนวโน้มรับประทานอาหารหวานมากขึ้น

- ผิวหนัง และเยื่อบุต่างๆ รวมทั้งเยื่อบุช่องปาก มีความยืดหยุ่นลดลง ปริมาณไขมันใต้ผิวหนังลดลง เกิดการเหี่ยวย่นบางลง บาดเจ็บ และเกิดรอยแผลได้ง่าย

- ระบบหายใจ และไหลเวียนโลหิต หลอดเลือดที่แข็งตัวจากการเสื่อมตามวัย เป็นสาเหตุหนึ่งของความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ ซึ่งถ้าเป็นมากอาจทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจ สมองไม่พอ เกิดอาการใจสั่น เจ็บหน้าอกได้ หน้ามืดเป็นลมได้

- ระบบการบดเคี้ยว และการเปลี่ยนแปลงในช่องปาก (รายละเอียดในบทต่อไป)

- ระบบย่อยอาหาร และระบบขับถ่าย ต่อมน้ำลายที่ขับน้ำลายน้อยลง น้ำย่อยในกระเพาะที่ลดลง ทำให้การกลืน และการย่อยอาหารทำได้ไม่ดี การดูดซึมน้อยลง การเคลื่อนไหวของลำไส้ที่ลดลง ทำให้ท้องอืด หรือท้องผูกเพิ่มขึ้น การรับประทานที่มีกากใย ร่วมกับการมีระบบการบดเคี้ยวที่ดี จะช่วยการทำงานของกระเพาะลำไส้ ให้ร่างกายนำสารอาหารไปใช้งานง่ายขึ้น ขับถ่ายดีขึ้น

- ระบบการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย มีอัตราลดลง (Basal metabolic rate) การใช้พลังงานของร่างกายลดลง เกิดภาวะน้ำหนักเกิน อ้วนง่าย

- ระบบอื่นๆ เช่น ระบบต่อมไขมัน มีการผลิตฮอร์โมนลดลง เช่น ตับอ่อน ผลิตอินซูลินน้อยลง อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานง่ายกว่าวัยอื่น ระบบการตอบสนองต่อการอักเสบของระบบภูมิคุ้มกันที่เสื่อมไป ตามอายุที่มากขึ้น จนเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทั้งทางร่างกาย และช่องปาก ในผู้สูงอายุ

2.การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ

           มีการเปลี่ยนแปลงของระบบประสาท ทำให้ความต้องการการเรียนรู้สิ่งใหม่ลดลง มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ บางครั้งใจน้อย หงุดหงิด วิตกกังวล อาจนำไปสู่ความเจ็บป่วยทางสุขภาพจิต นอนไม่หลับ ซึมเศร้า ส่งผลกระทบต่อการดูแลตนเอง และคุณภาพชีวิตได้