ปัจจัยการเปลี่ยนแปลง

             การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจดังกล่าว เป็นไปในทางเสื่อมถอย เป็นธรรมชาติในผู้สูงอายุอยู่ปล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเร็ว หรือช้า ขึ้นกับสาเหตุ 2 ประการ คือ กรรมพันธุ์ และสิ่งแวดล้อม แม้กรรมพันธุ์จะมีส่วน แต่ปัจจุบันพบว่า ปัจจัยแวดล้อม เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลสำคัญ ได้แก่            

             ภาวะโภชนาการ : ทั้งภาวะโภชนาการขาด และภาวะโภชนาการเกิน นอกจากจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกาย และจิตใจผู้สูงอายุในทางเสื่อมถอย โดยตรงแล้ว ยังเป็นสาเหตุของการเกิด และสัมพันธ์กับความรุนแรงของรอยโรค และโรคเรื้อรัง เช่น การขาดสารอาหารพวกวิตามินบี สัมพันธ์กับเกิดรอยโรคปากนกกระจอก การได้รับอาหารประเภทไขมันอิ่มตัวมาก เช่น กะทิ สัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด อาหารรสเค็ม หรืออาหารที่มีเกลือในปริมาณสูง สัมพันธ์กับการเกิดโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
            ภาวะโรคเรื้อรัง และอุบัติเหตุ : ถ้าควบคุมโรคทางระบบ ให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสมไม่ได้ หรือมีอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติที่รุนแรง และภาวะทุพพลภาพ จะส่งผลต่อการเสื่อมถอยของร่างกาย และจิตใจในผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว เช่น ผู้สูงอายุที่ปกติมีการได้ยินลดลง เนื่องจากการเสื่อมของประสาทรับเสียงในหูชั้นในอยู่แล้ว แต่ถ้ามีโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติของเส้นเลือดเลี้ยงหูชั้นในง่ายขึ้น อาจทำให้เกิดหูอื้อ หูตึงได้ หรือผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวาน ที่ควบคุมไม่ได้ จะมีแนวโน้มการเสื่อมของตา เส้นประสาทเสื่อม มือเท้าชา ผิวหนังอักเสบง่าย เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อในช่องปาก และการสูญเสียฟันง่ายกว่า เร็วกว่าผู้สูงอายุที่ปกติ เป็นต้น
วิถีชีวิต และพฤติกรรมสุขภาพ : เป็นปัจจัยที่สามารถช่วยทั้งชะลอการเปลี่ยนแปลง เช่น พฤติกรรมการออกกำลังกาย การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หรือเป็นปัจจัยที่ช่วยเร่งการเสื่อมถอย เช่น พฤติกรรมเสี่ยง การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งที่ตับ ปอด เป็นต้น
          ดังนั้น แม้จะสูงวัย หากมีการปฏิบัติตน และได้รับการดูแลที่เหมาะสม ก็จะสามารถชะลอความชรา มีสุขภาพร่างกายที่ดี เหมาะสมกับวัยได้