โรคต่างๆ ที่มากับวัยนี้

                 โรคที่พบในผู้สูงอายุนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดมา ตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาว แต่ไม่ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เกิดอาการรุนแรงมากขึ้น เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ บางโรคเกิดเนื่องจาก ความเปลี่ยนแปลงของ การบริโภคอาหาร ภายหลังจากเกษียนอายุราชการ โรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ โภชนาการในอดีตหรือปัจจุบัน ได้แก่

โรคอ้วน

อ้วนนับเป็นโรคอย่างหนึ่ง ที่เกิดจากการสะสมของพลังงาน ที่ได้จากอาหารที่รับประทาน เกินความต้องการของร่างกาย และมีการเก็บสะสมไว้ ในรูปของไขมันในระยะนานเข้า ก็จะปรากฏให้เห็น ด้วยการมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น จากเดิมทีละน้อยๆ อายุที่เพิ่มขึ้น มีโอกาสมีน้ำหนักตัวเพิ่มอยู่แล้ว เพราะการใช้แรงงานน้อยลง การรับประทานอาหารยังคงเดิม ดังนั้น ถ้าไม่ควบคุมการรับประทานอาหาร โอกาสอ้วนย่อมมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว โรคอ้วน เป็นปัจจัยเสี่ยงนำไปสู่การเป็นโรคอื่นๆ อีกหลายโรค เช่นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคเกี่ยวกับข้อ ฯลฯ คนทั่วๆ ไปจะมีการเปลี่ยนแปลง น้ำหนักตัว และสังเกตเห็นว่า เริ่มอ้วนเมื่ออายุประมาณ 35-40 ปี ถ้าให้ความสนใจต่อสุขภาพ ระวังน้ำหนักตัวไม่ให้เกินมาตรฐาน ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ ปัญหาของโรคต่างๆ ที่จะเกิด ย่อมน้อยลงได้ หรือเมื่อมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานแล้ว ต้องพยายามควบคุมอาหาร จัดอาหารที่ให้คุณค่าอาหารสูง แต่พลังงานต่ำ เพื่อช่วยลดน้ำหนักลง ก็เป็นการช่วยลด ปัญหาสุขภาพได้อีกทางหนึ่ง

โรคโลหิตจาง

บางครั้งเราเรียกว่า โรคซีด โรคโลหิตจางเกิดได้ เนื่องจากการรับประทานอาหาร ที่ขาดธาตุเหล็กมาในระยะเวลานาน หรืออาจเกิดจากการสูญเสียเลือด ในปริมาณที่ไม่มากนัก จนไม่สามารถตรวจพบ แต่เกิดเรื้อรังมาเป็นเวลานาน เช่น เลือดออกในลำไส้ หรือกระเพาะอาหาร เป็นต้น โรคนี้ทำให้ผู้สูงอายุซีด ร่างกายอ่อนเพลีย ความต้านทานโรคน้อยลง ทำให้เจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น การจัดอาหารที่มีเหล็กสูง เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ ให้รับประทานเป็นประจำ เพื่อให้ได้รับเหล็กที่เพียงพอ

โรคหัวใจและหลอดเลือด

สถิติของการเกิดโรคนี้มากที่สุด ในช่วงอายุ 45 ปี ความรุนแรงจะมากขึ้น ถ้าไม่ได้รับการรักษา และดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในการรับประทานอาหารให้ถูกต้อง เพราะสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรค คือ การรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง เกินความต้องการของร่างกาย และการเลือกรับประทานที่ไม่เหมาะสม เช่น อาหารที่มีไขมันสูง โคเลสเตอรอลสูง รวมถึงการสูบบุหรี่ และการขาดการออกกำลังกาย การป้องกันโรคนี้ ควรเริ่มเมื่อก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น หมูสามชั้น หนังเป็ด หนังไก่ เครื่องในสัตว์ กะทิ เป็นต้น งดการสูบบุหรี่ และมีการออกกำลังกายเป็นประจำ

โรคเบาหวาน

ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคนี้ เป็นผู้ที่มีน้ำหนักตัว มากกว่ามาตรฐาน ในช่วงอายุเกิน 50 ปี ผู้สูงอายุที่ชอบรับประทานน้ำตาลมากๆ พบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้น มากกว่าคนหนุ่ม-สาว และลดระดับคืนสู่ปกติได้ช้า โรคเบาหวานพบในผู้สูงอายุ ที่มีการเกิดโรคนี้ในครอบครัว การรับประทานอาหารมากและอ้วน การเป็นโรคนี้จะนำไปสู่ การเป็นโรคหลอดเลือดแข็ง และอุดตันได้ง่าย และเป็นสาเหตุการตายของผู้สูงอายุ เป็นโรคเบาหวานด้วย ดังนั้น การควบคุมน้ำหนักตัว ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ให้อ้วน เป็นทางหนึ่งที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคได้

โรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อ

ผู้สูงอายุ มีการเสียสมดุลของฮอร์โมน ทำให้การเผาผลาญอาหารในร่างกายผิดปกติ การดูดซึมสารอาหาร และแร่ธาตุโดยเฉพาะ แคลเซียมเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การเกิดโรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งที่พบมากในผู้สูงอายุ ที่ทำให้กระดูกเปราะและหักได้ง่าย เกิดมากในผู้หญิงอายุเกิน 50 ปี และผู้ชายอายุเกิน 60 ปี การอักเสบต่างๆ ของข้อ เกิดจากการมีน้ำหนักตัวมากเกินไป ทำให้เป็นอุปสรรคในการเคลื่อนไหว และการช่วยตัวเอง ของผู้สูงอายุ การจัดอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม เนื้อสัตว์ต่างๆ ถั่วเมล็ดแห้งและผลไม้ ให้ผู้สูงอายุรับประทานเป็นประจำ เพื่อช่วยบำรุงความแข็งแรงให้แก่กระดูก

โรคความดันโลหิตสูง หรือความดันเลือดสูง

เป็นโรคเรื้อรัง และพบได้บ่อยในคนไทย สามารถตรวจได้ง่าย โดยใช้เครื่องวัดความดันโลหิตด้วยตัวเอง เครื่องดังกล่าวจะแสดงค่า ความดันโลหิตสองตัว คือ ความดันโลหิตตัวบนและตัวล่าง ในคนปกติจะมีค่าความดันโลหิตไม่เกิน 140 มิลลิเมตรปรอท และความดันตัวล่างไม่เกิน 90 มิลลิเมตรปรอท และความดันเลือดปกติ จะมีค่าความแตกต่างกัน ในแต่ละคนแต่ละอายุความดันโลหิตที่สูงขึ้น คนที่น้ำหนักตัวมาก (ถ้ามากเกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวที่ควรจะเป็น) ควรพยายามลดน้ำหนัก เพราะจะช่วยลดความดันลงได้ โดยใช้วิธีการควบคุมปริมาณอาหาร และหมั่นออกกำลังกายพอดีและเหมาะสม
ควรลดปริมาณแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น เดิน วิ่ง ฯลฯ โดยเริ่มฝึกจากวันละน้อยแล้วค่อย ๆ เพิ่มวันละ 2 นาทีทุกวัน จนครบ 30 นาที การวิ่งหรือออกกำลังกาย ควรปรึกษาแพทย์ที่ให้การรักษาอยู่ ไม่ควรออกกำลังกายประเภท ที่ต้องกลั้นหายใจและเบ่ง ยกน้ำหนัก ชักเย่อ วิดน้ำ งดเหล้าและบุหรี่  หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ทำให้คุณหงุดหงิด โมโห ตื่นเต้น ลดปริมาณไขมันในอาหาร ถ้ามีโรคเบาหวานต้องควบคุมและรักษาเบาหวานให้ดี  รับประทานยาตามแพทย์สั่งสม่ำเสมอและไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง    ไม่ควรหยุดหรือเปลี่ยนยาด้วยตนเอง สำหรับผู้ป่วยที่กินยาขับปัสสาวะ ควรกินส้มหรือกล้วยเป็นประจำ เพื่อทดแทนโพแทสเซียมที่เสียไปในปัสสาวะ ผู้ที่ป่วยแล้วไม่ได้รับการรักษาหรือปฏิบัติตนเองไม่ถูกต้อง จะมีผลกับอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้เช่น สมอง - เมื่อความดันโลหิตสูงมาก หลอดเลือดในสมองก็ตีบตันหรือแตกได้ง่าย ทำให้ตกเลือดในสมองได้ง่าย และบ่อยกว่าคนปกติ ทำให้เกิดโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ ถ้าความดันสูงมาก ๆ ในทันที อาจจะทำให้ผู้ป่วยปวดศีรษะ ไม่รู้สึกตัวและชักได้ ถ้ารักษาไม่ทันอาจถึงตาย


วัยหมดระดู หรือ วัยทอง (Menopause)

เป็นวัยที่สิ้นสุดการมีระดูอย่างถาวรเนื่องจากรังไข่สร้างฮอร์โมนลดลง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับสตรีทุกคน โดยส่วนใหญ่สตรีจะเข้าสู่วัยหมดระดูเมื่ออายุ 47-50 ปี เริ่มจากรังไข่เริ่มทำงานไม่ปกติ ซึ่งทำให้มีระดูถี่ขึ้นจากช่วงห่าง 28 วัน เป็นประมาณ 21 วัน หรือมีระดูไม่สม่ำเสมอ ระยะเวลาระหว่างรอบระดูจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนกระทั่งไม่มีระดูอย่างถาวร โดยทั่วไปช่วงนี้ใช้เวลา 2-8 ปี เราเรียกช่วงเวลานี้ว่าวัยใกล้หมดระดู (Perimenopause) หรือวัยเปลี่ยน (Climacteric)การเปลี่ยนแปลงในวัยหมดระดูเกิดขึ้นได้หลากหลาย ส่วนใหญ่ดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในสตรีบางคนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างราบรื่นและไม่พบปัญหา แต่ในสตรีบางคนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงทำให้มีผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ ซึ่งต้องการการดูแลรักษา ความแตกต่างในสตรีแต่ละคนนั้นอาจเนื่องจากความแตกต่างในพื้นฐานพันธุกรรม การดำเนินชีวิตที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ มีปัจจัยเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งแตกต่างกันไปตามภูมิภาคและชุมชน ดังนั้นจึงควรทราบว่าการเปลี่ยนแปลงในวัยหมดระดูนั้นมีอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเข้าสู่วัยหมดระดูการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในวัยหมดระดูสามารถแบ่งอย่างง่ายๆ ออกเป็น 2 อย่าง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น และการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว
                 การเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวัยใกล้หมดระดู และวัยหมดระดูช่วงต้น เกิดจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดอาการต่างๆ ได้แก่
1. อาการของระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบตามตัว (Hot Flashes) มักจะมีอาการร้อนซู่ขึ้นมาทันทีบริเวณหน้า ลำคอ และหน้าอก มักเกิดอาการอยู่นานประมาณ 3 - 5 นาที แล้วก็หายไป บางคนพบมีเหงื่อออกมากร่วมด้วย ส่วนใหญ่มักมีอาการในช่วงกลางคืน ทำให้นอนไม่หลับตามมา
2. อาการของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ได้แก่ ช่องคลอดอักเสบ คันช่องคลอด ช่องคลอดแห้ง ทำให้เจ็บเวลามีการร่วมเพศ
3. อาการช่องระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ กระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อย
4. การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจและอารมณ์ ได้แก่ หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง เครียด กังวล เหนื่อย เพลีย หมดความต้องการทางเพศ เป็นต้น
5. การเปลี่ยนแปลงทางผิวหนัง ในวัยหมดระดูผิวหนังจะบางลง ความยืดหยุ่นลดลง
6. การเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อและข้อ พบว่า กำลังของกล้ามเนื้อลดลง มีอาการปวดตามข้อ
                  การเปลี่ยนแปลงในระยะยาว เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดในวัยหมดระดูช่วงหลัง มักเกิดจากความเสื่อมถอยของร่างกาย ได้แก่
1. การเปลี่ยนแปลงทางกระดูก เมื่อเข้าสู่วัยหมดระดูจะมีการสูญเสียกระดูกมากขึ้น แต่ละคนจะมีอัตราการสูญเสียกระดูกที่เร็วช้าแตกต่างกันไป ประมาณ 1 ใน 3 จะสูญเสียเนื้อกระดูกอย่างรวดเร็ว เกินกว่าร้อยละ 3 ต่อปี ทำให้มีโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนได้เร็ว การสูญเสียกระดูกที่รวดเร็วในอัตรานี้อาจคงอยู่นาน 10-15 ปี หลังจากนั้นจะเริ่มลดลง
2. การเปลี่ยนแปลงของหัวใจและหลอดเลือด พบว่าในวัยหมดระดูจะมีอุบัติการณ์และความชุกของโรคหัวใจ และหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น มีไขมันโคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น
ในปัจจุบันมีการใช้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อป้องกัน และรักษาอาการที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในวัยหมดระดูกันอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตามผู้ที่ใช้ฮอร์โมนทดแทน หรือผู้ที่อยู่ในวัยหมดระดูควรมีความรู้ และความเข้าใจในฮอร์โมนทดแทน และการปฏิบัติตัวในช่วงวัยหมดระดู เพื่อสามารถใช้ชีวิตในช่วงวัยหมดระดูได้อย่างมีความสุข และสุขภาพที่ดี
                  ฮอร์โมนทดแทนในวัยหมดระดู แบ่งตามลักษณะการใช้ออกเป็น
1. ฮอร์โมนทดแทนสำหรับผู้ที่ผ่าตัดมดลูกออกไปแล้ว จะเป็นฮอร์โมนที่ประกอบด้วย เอสโตรเจนเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยบรรเทาอาการของวัยหมดระดู มีทั้งชนิดรับประทาน ชนิดทาบริเวณผิวหนังชนิดแผ่นแปะ
2. ฮอร์โมนทดแทนสำหรับผู้ที่ยังมีมดลูกอยู่ เป็นฮอร์โมนที่ประกอบด้วย เอสโตรเจน และโปรเจสโตเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติ หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ฮอร์โมนชนิดนี้สามารถแบ่งได้เป็น
- ชนิดที่ใช้เป็นรอบๆ (Cyclic regimen) เป็นการให้เอสโตรเจน 21 วันและใน 12 วัน หลังจะมีโปรเจสโตเจนร่วมด้วย จะมีช่วงที่ไม่ต้องใช้ฮอร์โมน 7 วัน ทำให้มีระดูสม่ำเสมอ ชนิดนี้เหมาะสำหรับใช้กับผู้ที่อยู่ในวัยเปลี่ยน หรือวัยหมดระดูช่วงต้น
- ชนิดที่ต้องใช้ต่อเนื่อง (Continuous combined regimen) เป็นการให้เอสโตรเจนในปริมาณที่เท่ากันทุกวันเพื่อให้ไม่ต้องมีระดู ชนิดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่หมดระดูมานานมากกว่า1ปีขึ้นไป
3. ฮอร์โมนทดแทนอื่นๆ เป็นฮอร์โมนที่ไม่ใช่เอสโตรเจน แต่สามารถป้องกันและรักษาการเปลี่ยนแปลงในวัยหมดระดูได้ ได้แก่   Tibolone   Raloxifene

จากตัวอย่างของโรค ที่พบในผู้สูงอายุที่กลาวมา คงทำให้เห็นความสำคัญของโภชนาการ ที่มีผลกระทบต่อผู้สูงอายุ การให้การดูแลในเรื่องอาหารการกิน เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับสารอาหาร ในปริมาณที่มากพอต่อความต้องการของร่างกาย นอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรง ยังช่วยชะลอการเกิดโรค หรือบรรเทาความรุนแรงของโรคได้

1 thought on “โรคต่างๆ ที่มากับวัยนี้

Comments are closed.