TEST

D.I.Y. หน้ากากอนามัยผ้ามัสลิน by อ.หลิว

แจ๊ค หม่ากับการจัดการศึกษา

แจ็ค หม่า(Jack ma) ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของกลุ่มอาลีบาบาซึ่งประสบความสำเร็จในธุรกิจอินเทอร์เน็ต อีคอมเมิร์ซอันดับ1 ของจีน เขาเคยเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษและการค้าระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยหางโจวเตี้ยนจื่อ ในการเป็นอาจารย์นั้น หม่าได้ชื่อว่าเป็นอาจารย์ที่ไม่สอนตามตำราหรือระเบียบวิธีการสอนทั่วไป ไม่เคยแม้แต่จะเตรียมตัวการสอนด้วยซ้ำ เขามักใช้วิธีดั้นสด แต่นั่นก็ทำให้เขากลายเป็นขวัญใจของเหล่านักศึกษาอย่างยิ่ง หม่าเป็นอาจารย์อยู่ 5 ปี จึงลาออก เนื่องจากเขาเห็นว่าสมควรได้เวลาที่ตนเองจะทำธุรกิจ นอกจากนั้น แจ็ค หม่ายังเคยบอกว่า เลิกจากการทำธุรกิจเมื่อไร ก็อยากกลับไปสอนหนังสือ สิ่งที่เขาสนใจนอกจากธุรกิจแล้วเขามุ่งพัฒนาการศึกษาของจีนเป็นหลัก เขาได้ริเริ่มโครงการพัฒนาอาจารย์ในชนบทของจีน พร้อมประกาศว่า ในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ นอกจากเขาจะเป็นตัวแทนอาลีบาบาแล้ว ขอเป็นตัวแทนครูชนบทของจีนด้วย เมื่อเดือนก.ค. ปี2560 ที่ผ่านมา แจ็ค หม่าได้กล่าวสุนทรพจน์ในเวทีประชุมครูใหญ่ยุคใหม่ของจีน ในโครงการพัฒนาอาจารย์ในชนบทของเขา เนื้อหาของสุนทรพจน์แบ่งออกเป็น 4 ส่วน สรุปได้ดังนี้

1. ครูใหญ่ที่ดีควรเป็นอย่างไร?

จากสถิติของรัฐบาลจีน เมื่อไม่กี่ปีก่อน มีจำนวนครูในชนบทราว 4.1 ล้านคน แต่ผ่านไปไม่กี่ปี จำนวนครูลดลงราว 400,000 คน จากการวิจัยพบว่า เหตุผลหลักที่คนหนุ่มสาวเลิกเป็นครูชนบท เพราะมีแนวคิดขัดแย้งกับครูใหญ่ แจ็ค หม่ามองว่า ครูใหญ่ที่ดีต้องสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับครูในโรงเรียนได้ และ ต้องบริหารจัดการโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครูใหญ่ต้องทำหน้าที่ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้กับครูในโรงเรียน เพื่อที่ครูจะได้สามารถทุ่มเทแรงกายแรงใจทั้งหมดให้กับเด็ก โดยไม่ต้องกังวลเรื่องอื่นใดแจ็คหม่าให้คำจำกัดความ “ครูใหญ่” ว่า “นักพัฒนาการศึกษา” โดยครูใหญ่ต้องไม่คิดจะดูแลบริหารจัดการเพียงแค่ห้องเรียน แต่ต้องคิดเสมอว่าตนจะต้องมีบทบาทช่วยสร้างค่านิยมที่ดีให้แก่เด็ก และปรับปรุงการจัดการศึกษา ต้องมีความเข้าใจว่าตนมีความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ ครูใหญ่ที่ดียังต้องเปิดหูรับฟังตลอดเวลา ดูว่าครูที่อยู่ใต้บังคับบัญชาทำงานอย่างมีความสุขหรือไม่ และต้องพยายามช่วยส่งเสริมให้ครูทุกคนประสบความสำเร็จ พูดง่าย แต่ทำยาก เพราะในการบริหารจัดการโรงเรียน มีเรื่องต้องคิดและกังวลหลายเรื่อง แจ็ค หม่าจึงต้องการจัดอบรมทักษะความเป็นผู้นำ และทักษะการบริหารจัดการให้แก่ครูใหญ่โรงเรียนในชนบททั่วประเทศ เขาบอกว่า ถ้าได้ครูใหญ่ที่ดี 1 คน เมื่อเวลาผ่านไป 20 ปี จะสามารถสร้างพลังบวกให้กับครูอย่างน้อย 200 คน โดยในชีวิตครู 1 คน สามารถสร้างพลังบวกให้เด็กอย่างน้อย 200 คน ดังนั้น ถ้าต้องการจะช่วยเหลือเด็กชนบทของจีน 90 ล้านคน ก็ต้องพยายามช่วยเหลือครู 3.7 ล้านคนเสียก่อน และหากอยากจะพัฒนาครู 3.7 ล้านคน ก็จำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นพัฒนาครูใหญ่ 20,000 คน

2. โรงเรียนที่ดีควรเป็นอย่างไร?

แจ็ค หม่าให้คำตอบว่า ไม่มีสูตรตายตัว ปัญหาของกระทรวงศึกษาฯ ของจีน คือต้องการให้ทุกโรงเรียนในประเทศหน้าตาเหมือนกันหมด เวลาคิดจะปฏิรูปการศึกษา ก็มานั่งคิดกันเองว่า อยากให้โรงเรียนเป็นอย่างไร จากนั้นก็จะบังคับให้โรงเรียนทุกโรงเรียนในประเทศเป็นอย่างนั้นเหมือนกันทั้งหมด ทำอย่างนี้จริงๆ แล้วไม่ดี เพราะผู้ปกครองกลับไม่สามารถเลือกโรงเรียนให้เหมาะกับความถนัดและความสนใจของเด็กได้ จริงๆ แล้ว โรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนแตกต่างกันได้ อยู่ที่แนวคิดด้านการศึกษาของครูใหญ่ จากนั้นครูใหญ่จึงค่อยเลือกครูที่เหมาะสม พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนให้มีเอกลักษณ์ โรงเรียนที่แตกต่างหลากหลายภายในประเทศ ก็จะได้มีการแข่งขันและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เขายกตัวอย่างว่า ธุรกิจที่ดีและประสบความสำเร็จไม่ได้มีรูปแบบเดียว พนักงานและผู้บริโภคมีตัวเลือกว่าชอบแบบใด อย่างอาลีบาบาเอง ก็มีเอกลักษณ์แตกต่างจากยักษ์ใหญ่ในโลกออนไลน์ของจีนอย่าง Baidu หรือ Tencent โรงเรียนแต่ละแห่งเองก็ควรต้องมีจุดเด่น มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากโรงเรียนอื่น

3. การศึกษาที่ดีควรเป็นอย่างไร?

สิ่งสำคัญที่สุด ก็คือ ต้องบ่มเพาะให้เด็กมีนิสัยใฝ่รู้ มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้และแสวงหาความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอด ต้องไม่ใช่การศึกษาที่ฆ่าความอยากเรียนรู้ ฆ่าการตั้งคำถาม ฆ่าความคิดสร้างสรรค์ เนื่องจากโลกปัจจุบันนับวันยิ่งเปลี่ยนแปลงเร็วและรุนแรง คนที่ฆ่าตัวตายในวิชาชีพ ก็คือคนที่พอเรียนจบหลักสูตรก็ปิดประตู ไม่เปิดรับความรู้ใหม่ๆ อีกต่อไปเด็กยังควรพัฒนาทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม จากการเล่นกีฬาเป็นทีม เช่น ฟุตบอลหรือบาสเกตบอล เด็กควรพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์จากการเล่นดนตรีและศิลปะ เด็กควรเรียนรู้ที่จะคิดเชิงกลยุทธ์ เมื่อใดควรรุกเมื่อใดควรวาง จากการเล่นหมากกระดาน แจ็ค หม่าไม่เชื่อสำนวนจีนโบราณที่ว่า “มีความสามารถ เพียงแต่หาที่เหมาะสมไม่ได้” แจ็ค หม่าบอกว่า ถ้าเป็นคนที่มีความสามารถจริง จะหาที่ๆ เหมาะสมกับตนเองไม่ได้ได้อย่างไร ยกเว้นกรณีเดียวคือ มีความสามารถสูง แต่เจ้าอารมณ์ จนไม่มีใครเอาด้วย แต่คนที่มีความสามารถ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีความใฝ่รู้ใฝ่เรียน ย่อมสามารถมองเห็นโอกาสตลอดเวลา โลกนี้มีโอกาสมากมาย อยู่ที่ใครจะมองเห็นและไขว่คว้าเท่านั้น

4. รูปแบบการจัดการศึกษาที่ดีในแต่ละช่วงวัย

แจ็ค หม่าบอกว่า ระดับปฐมวัย ควรเริ่มต้นให้เด็กเรียนเต้นรำ ร้องเพลง เล่นกีฬา และวาดรูป เพราะความรักในศิลปะและกีฬาคือเมล็ดพันธุ์ที่ต้องเพาะพันธุ์ตั้งแต่ยังเล็ก

ระดับประถม เมื่อเริ่มรู้เรื่อง ต้องปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้อง เช่น ความขยัน ความอดทน ความซื่อสัตย์ ควรต้องเรียนนิทานคลาสสิกของทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ให้รู้ทั้งค่านิยมที่ดีของทั้งสองฝั่งตะวันออกและตะวันตก

ระดับมัธยม เมื่อเด็กเริ่มมีกำลังกายกำลังใจที่พร้อม ควรต้องฝึกฝนให้มีวินัย หมายความว่า รู้จักควบคุมตนเอง รู้จักยับยั้งชั่งใจ รถต้องมีตัวเครื่องที่ดี แต่ที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ ต้องมีเบรกที่ดีด้วย พอขึ้นมัธยมปลาย ต้องแนะแนวให้เด็กเห็นโลกกว้างและโอกาสที่หลากหลาย ให้เขาเริ่มค้นหาตัวเองว่าอยากทำอะไร สนใจและรักอะไร อยากสร้างสรรค์อะไร ไม่ใช่ใช้เวลาคิดแต่เรื่องสอบเข้ามหาวิทยาลัย

ระดับอุดมศึกษา ต้องเรียนรู้ให้เข้าใจภาพใหญ่ของโครงสร้างความรู้ในศาสตร์ที่เขาเรียน ในระดับปริญญาโท ต้องเน้นศึกษาวิธีวิจัย ส่วนในระดับปริญญาเอก ต้องเข้าใจปรัชญารากฐานของศาสตร์นั้นๆ จนสามารถวิเคราะห์เรื่องต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้ง รวมทั้งสร้างองค์ความรู้ใหม่ต่อยอดจากเดิมด้วย

แจ็ค หม่าสรุปว่า ในยุคที่ AI สามารถเก็บและวิเคราะห์ความรู้มหาศาลของมนุษย์ได้ เด็กรุ่นใหม่ต้องไม่ใช่เพียงคลังหนังสือเคลื่อนที่ เพราะไม่เช่นนั้น ก็ไม่ต่างอะไรจาก AI และก็จะถูก AI แทนที่ในที่สุด ดังนั้น เด็กรุ่นใหม่ที่จะประสบความสำเร็จ ต้องมีทั้งความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) และเชาว์ปัญญา (IQ) และที่สำคัญคือต้องมีฉันทะหรือความรักในสิ่งที่ตนทำ จึงจะประสบความสำเร็จ ฉันทะหรือความรักในสิ่งที่ทำนั้น จะช่วยให้คนมีเป้าหมายที่สูงขึ้นในทางจิตวิญญาณ มีความรู้สึกรับผิดชอบต่อเมื่อวาน วันนี้ และพรุ่งนี้ ส่วนความฉลาดทางอารมณ์ทำให้สามารถนำความรู้ไปใช้เป็นพลังสร้างสรรค์ได้ ความฉลาดทางอารมณ์ค่อยๆ พัฒนามาจากการเล่นกับเด็กด้วยกัน เพราะฉะนั้นการเล่นก็สำคัญไม่แพ้การเรียน คนที่ไม่มีความฉลาดทางอารมณ์ ต่อให้มีความรู้มหาศาล แต่ไม่สามารถสื่อสาร แลกเปลี่ยน ทำความเข้าใจกับคนอื่น ไม่สามารถหาคนมาช่วยงานได้ คนอย่างนี้ถึงความรู้ท่วมหัวก็ไร้ประโยชน์ สิ่งที่ต้องสอนหรือปลูกฝังให้เด็กไทยกับการศึกษาคือ ต้องสอนให้เด็กคิดและใช้ทักษะอยู่เสมอ อย่าสอนให้ทำตามที่คนบอกให้ทำ และจงมองโลกในแง่ดี

Ref. http://www.bangkokbiznews.com/blog, https://www.matichon.co.th/news,

มคอ.คืออะไรในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา

มคอ.คืออะไร

โดย   ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุขุมาล หวังวณิชพันธุ์
กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (Thai Qualifications Framework for Higher Education, TQF:HEd) เป็นกรอบที่แสดงระบบคุณวุฒิการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ระดับคุณวุฒิ ความเชื่อมโยงต่อเนื่องจากคุณวุฒิระกับหนึ่งไปสู่ระดับที่สูงขึ้น การแบ่งสายวิชา มาตรฐานผลการเรียนรู้ของแต่ละระดับคุณวุฒิซึ่งเพิ่มสูงขึ้นตามระดับของคุณวุฒิ ปริมาณการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับเวลาที่ต้องใช้ ลักษณะของหลักสูตรในแต่ละระดับคุณวุฒิ การเปิดโอกาสในเทียบโอนผลการเรียนรู้จากประสบการณ์ ซึ่งเป้นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งระบบและกลไกที่ให้ความมั่นใจในประสิทธิผลการดำเนินงานตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติของสถาบันอุดมศึกษาว่าสามารถผลิตบัณฑิตให้บรรลุคุณภาพตามมาตรฐานผลการเรียนรู้
มคอ.1 การพัฒนามาตรฐานคุณวุฒิสาขา/สาขาวิชา กรอบที่กําหนดมาตรฐานผลการเรียนรูปของบัณฑิต ในแต่ละระดับการศึกษาของสาขา/สาขาวิชาหนึ่งซึ่งจะกําหนดคุณลักษณะของบัณฑิตในสาขา/สาขาวิชา ปริญญา และองค์ความรู์ที่เป็นเนื้อหาเท่าที่าเป็นจะต้องมีในหลักสูตรสาขา/สาขาวิชาและระดับคุณวุฒิ นั้นๆ เพื่อเป็นหลักประกันว้่าผู้ที่สําเร็จการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆในสาขา/สาขาวิชาและระดับ คุณวุฒิเดียวกันจะมีผลการเรียนรู้ไม่น้อยกว่าที่กําหนด ในขณะเดียวกันมาตรฐานคุณวุฒิสาขา/สาขาวิชาจะ เปิดกว้างและส่งเสริมให้สถาบันต่างๆมีโอกาสบรรจุเนื้อหาวิชาในส่วนที่นอกเหนือจากที่กําหนดไว้ ได้อย่างอิสระ เหมาะสม และตรงกับความต้องการหรือเอกลักษณ์ของแต่ละสถาบัน ซึ่งจะทําให้ สถาบันต่างๆสามารถพัฒนาหลักสูตรได้อย่างหลากหลาย แต่มีมาตรฐานผลการเรียนรู้ของหลักสูตรใน สาขา/สาขาวิชาและระดับคุณวุฒิเดียวกันที่เทียบเคียงกันได้ นอกจากนี้มาตรฐานคุณวุฒิของสาขา/สาขาวิชายังได้กําหนดเงื่อนไข ข้อแนะนํา ในการบริหาร จัดการการเรียนการสอนที่สถาบันอุดมศึกษาต้องนําไปปฏิบัติเพื่อให้หลักประกันว่า หลักสูตรที่จัดการ เรียนการสอนสามารถบรรลุมาตรฐานผลการเรียนรูัที่คาดหวัง
มคอ.2 กรอบมาตรฐานคุณวุฒิกับการพัฒนารายละเอียดของหลักสูตร ซึ่งหมายถึงเล่มหลักสูตรของแต่ละหลักสูตร คําอธิบายภาพรวมของ การจัดหลักสูตร การจัดการเรียนการสอนที่จะทําให้บัณฑิตบรรลุผลการเรียนรู้ของหลักสูตรนั้นๆ โดยจะถ่ายทอดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังของบัณฑิตที่กําหนดไว้ในกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติและมาตรฐานคุณวุฒิสาขา ไปสู่การปฏิบัติในหลักสูตรซึ่งแต่ละสถาบันอุดมศึกษาสามารถ บรรจุเนื้อหาวิชาเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กําหนดไว้ได้อย่างอิสระ เหมาะสม ตรงกับความต้องการ หรือเอกลักษณ์ของสถาบันฯ โดยคณาจารย์ผู้สอนจะต้องร่วมมือกันวางแผนและจัดทํารายละเอียด ของหลักสูตร
มคอ.3 การพัฒนารายละเอียดของรายวิชา เริ่มจากการจัดทำมคอ.2 ต้องเริ่มต้นจากการจัดทำ "อัตลักษณ์ของบัณฑิต" และ มาตรฐานการเรียนรู้กลาง ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัย แล้วนำไปจัดทำ Curriculum Mapping แต่ละหลักสูตร จากนั้นย้อนกลับไปที่แต่ละหลักสูตร เพื่อออกแบบการเรียนการสอนในแต่ละรายวิชาที่มีคำอธิบายรายวิชา สอดรับขึ้นไปถึงมาตรฐานการเรียนรู้กลาง ซึ่งความยากอยู่ที่การนำ มคอ.2 (ตัวอย่างของ CS) ที่มีกรอบเป็น คำอธิบายรายวิชา ไปจัดทำมคอ.3 ที่มีรายละเอียดในการจัดการเรียนการสอนแต่ละหลักสูตรอาจารย์ผู้สอนจะต้องส่ง มคอ.3 ก่อนเปิดภาคเรียน
มคอ.4 การพัฒนารายละเอียดของประสบการณ์ภาคสนาม ดำเนินการเช่นเดียวกับมคอ.3 แต่รายละเอียดของประสบการณ์ภาคสนาม (Field Experience Specification) หมายถึง ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการในรายวิชาหรือกิจกรรมที่นักศึกษาจะต้อง ออกฝึกงาน ออก ฝึกภาคสนาม หรือสหกิจศึกษา ซึ่งจะต้องวางแผนให้สอดคล้องและเป็นไปตามที่กําหนดไว้ใน รายละเอียดของหลักสูตร โดยจะกําหนดไว้อย่างชัดเจนถึงวัตถุประสงค์และรายละเอียดของการ ดําเนินการของกิจกรรมนั้น ๆ ตลอดจนความรู้ความเข้าใจที่นักศึกษาจะได้รับจากการออกฝึก มีการกําหนดกระบวนการหรือวิธีการในการปลูกฝังทักษะต่าง ๆ ตลอดจนคุณลักษณะอื่น ๆ ที่นักศึกษา จะได้รับการพัฒนาให้ประสบความสําเร็จตามจุดมุ่งหมาย รวมทั้งเกณฑ์การวัดและประเมินผล นักศึกษา และการประเมินการดําเนินการตามรายละเอียดของประสบการณ์ภาคสนาม
มคอ.5 การรายงานผลการดำเนินการของรายวิชา รายงานผลการดําเนินการของรายวิชา (Course Report) หมายถึง รายงานผลการจัดการเรียนสอนของอาจารย์ผู้สอนแต่ละรายวิชาเมื่อสิ้นภาคการศึกษาเกี่ยวกับภาพรวมของการจัดการเรียนการสอนในรายวิชานั้น ๆ ว่าได้ดําเนินการสอนอย่างครอบคลุมและเป็นไปตามแผนที่วางไว ้ในรายละเอียดของรายวิชาหรือไม่ และหากไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ต้องให้เหตุผลและ ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนของรายวิชาดังกล่าวในครั้งต่อไป รายงานนี้จะครอบคลุมถึงผลการเรียนของนักศึกษา จํานวนนักศึกษาตั้งแต่เริ่มเรียนจนสิ้นสุด ปัญหาในด้านการบริหารจัดการและสิ่งอํานวยความสะดวก การวิเคราะห์ผลการประเมินรายวิชาของนักศึกษา/หัวหน้าภาค/หรือผู้ประเมินภายนอก รวมทั้งการสํารวจความคิดเห็นของผู้ใช้บัณฑิต การวางแผนและให้ข้อเสนอแนะต้อผู้ประสานงานหลักสูตรเพื่อปรับปรุงและพัฒนารายวิชา
มคอ.6 การรายงานผลการดำเนินการของประสบการณ์ภาคสนาม รายงานผลการดำเนินการของประสบการณ์ภาคสนาม (Field Experience Report) หมายถึง รายงานผลการฝึกงาน ออกฝึกภาคสนาม หรือ สหกิจศึกษา ว่าได้บรรลุผลการเรียนตามแผนที่วางไว้ในรายละเอียดของประสบการณ์ภาคสนามหรือไม่ และหากไม่เป็นไปตามแผนต้องให้เหตุผลและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการฝึกงาน ออกฝึกภาคสนาม หรือ สหกิจศึกษาในครั้งต่อไป รายงานนี้จะครอบคลุมถึงการฝึกประสบการณ์ภาคสนามตั้งแต่เริ่มจนสิ้นสุด ปัญหาด้านการบริหารจัดการและสิ่งอำนวยความสะดวก การวิเคราะห์ผลการประเมิน การฝึกของนักศึกษา/อาจารย์ผู้รับผิดชอบ/พนักงานพี่เลี้ยง
มคอ.7 การรายงานผลการดำเนินการของหลักสูตร การรายงานผลประจำปีโดยผู้ประสานงานหลักสูตรหรือผู้รับผิดชอบหลักสูตรเกี่ยวกับผลการบริหารจัดการหลักสูตร เช่น ข้อมูลทางสถิติของนักศึกษาที่เรียนในหลักสูตร สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกสถาบันที่มีผลกระทบต่อหลักสูตร สรุปภาพรวมของรายงานผลของรายวิชาในหลักสูตร ประสิทธิภาพของการสอนในมาตรฐานผลการเรียนรู้แต่ละด้าน การเทียบเคียงผลการดำเนินการกับมาตรฐานอื่นๆที่มี สรุปผลการประเมินหลักสูตรจากความเห็นของผู้สำเร็จการศึกษา ผู้ใช้บัณฑิต ตลอดจนข้อเสนอในการวางแผนและพัฒนา รวมทั้งแผนปฏิบัติการในการพัฒนาคณาจารย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง การรายงานผลดังกล่าวจะส่งไปยังหัวหน้าภาควิชา/คณบดี และใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาด้วยตนเองเพื่อปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรเป็นระยะๆ และเป็นข้อมูลในการรับรองหลักสูตรจากผู้ประเมินภายนอกได้ด้วย
สำหรับมทร.พระนคร ผู้สอนทุกท่านจะต้องเข้าไปกรอกข้อมูล มคอ.ต่างๆในระบบสารสนเทศ ผ่านช่องทาง http://reg.rmutp.ac.th/registrar/home.asp ที่กำหนดให้ทั้งระบบดังกล่าวได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้สอนสะดวกยิ่งขึ้น โดยมีการเชื่อโยงข้อมูลต่างอาทิเช่น ผลการเรียนรู้ระดับรายวิชา ผลการประเมินผู้สอน ระดับผลการเรียนของนักศึกษา ตั้งแต่ มอค.2 จนกระทั่งถึง มคอ.7

 

การเทียบคุณสมบัติอาจารย์ คุณวุฒิตรงหรือสัมพันธ์กับสาขาวิชา

จากข้อกำหนดในการจัดทำหลักสูตรตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร 2558 ที่ระบุให้อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรต้องมีคุณวุฒิตรงหรือสัมพันธ์กับสาขาวิชาที่จัดการเรียนการสอนนั้น ทำให้เกิดข้อสงสัยบ่อยครั้งว่าสาขาไหนสัมพันธ์กันอย่างไรใช้แทนกันได้มั้ย วันนี้เรามีคำตอบให้ท่าน ด้วยการเทียบคุณสมบัติอาจารย์ คุณวุฒิตรงหรือสัมพันธ์กับสาขาวิชา ซึ่งหมายถึงคุณวุฒิที่กำหนดไว้ในมาตรฐานสาขาวิชาที่สกอ.ประกาศไปแล้ว แต่กรณียังไม่มีการประกาศ ให้อ้างอิงจากกลุ่มสาขาวิชาเดียวกันในตารางของ ISCED (International Standard Classification of Education) http://unesdoc.unesco.org/images/0023/002350/235049e.pdf

ทั้งนี้อาจารย์ประจำหลักสูตร มีภาระหน้าที่ในการบริหาร และพัฒนาหลักสูตร และการเรียนการสอน (ตั้งแต่การวางแผน การควบคุมคุณภาพ การติดตามประเมินผล และการพัฒนาหลักสูตร) ต้องอยู่ประจำหลักสูตรตลอดระยะเวลาที่จัดการศึกษา เป็นอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรเกินกว่า 1 หลักสูตรในเวลาเดียวกันไม่ได้   (ยกเว้น เป็นหลักสูตรพหุวิทยาการ หรือสหวิทยาการ ให้เป็นอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรได้อีก 1 หลักสูตร)

กรณีมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่สามารถหาอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรได้ครบตามจำนวน ทางสถาบันอุดมศึกษาต้องเสนอจำนวนและคุณวุฒิของอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรที่มีนั้นให้คณะกรรมการการอุดมศึกษาพิจารณาเป็นรายกรณี

แนวทางในการนำเกณฑ์คุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ (EdPEx) ไปใช้ในการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน

สรุปผลการเข้าร่วมประชุมชี้แจง เรื่อง แนวทางในการนำเกณฑ์คุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ (EdPEx) ไปใช้ในการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน

          สืบเนื่องจากสำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้เรียนเชิญให้มทร.พระนคร เข้าร่วมประชุม ชี้แจงเรื่อง แนวทางในการนำเกณฑ์คุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ (EdPEx) ไปใช้ในการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน วันอังคารที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมานั้น จากการประชุมดังกล่าว สามารถสรุปผลได้ดังนี้คะ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณอาวุธ  ศรีศุกรี ผู้ดำเนินการประชุมในครั้งนี้ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงแนวทางในการนำเกณฑ์คุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ (EdPEx) ไปใช้ในการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน โดยสกอ.มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้สถาบัน/คณะวิชา ที่มีการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสามได้มาตรฐานในระดับดีมาก เข้าร่วมเป็นหนึ่งในโครงการนำร่องที่จะนำเกณฑ์ EdPEx และสกอ.ได้กำหนดให้ EdPEx เป็นระบบทางเลือกสำหรับมหาวิทยาลัยที่มีผลประเมินที่ผ่านมา อยู่ในเกณฑ์ ดี-ดีมาก และประสงค์จะพัฒนามุ่งสู่ความเป็นเลิศ และให้คณะหรือมหาวิทยาลัยที่อยู่ในโครงการฯ จะถือว่าได้คะแนน IQA เต็ม ๕.๐๐  ซึ่งคณะ/มหาวิทยาลัยที่เข้าในโครงการนี้ จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับการประเมิน IQA โดยนำส่งผล Common Data Set แทนรายงานการประเมิน (ซึ่งในการสมัครนั้นถ้าเป็นการสมัครในระดับคณะ มหาวิทยาลัยต้องมีส่วนร่วมด้วย และต้องมีผลการดำเนินการพัฒนาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องชัดเจนทุกปี และต้องผ่านเกณฑ์การประเมิน EdPEx โดยได้รับคะแนน ๒๐๐ ในรอบปีแรก โดยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและผ่านเกณฑ์การประเมิน EdPEx โดยได้รับคะแนนไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ภายในเวลา ๔ ปี และผลประโยชน์อื่นๆนั้นทางสกอ.กำลังอยู่ระหว่างพิจารณา) ระยะเวลาดำเนินการ ให้ใช้ตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ โดยมีเงื่อนไข ในระยะเวลา ๔ ปี หากผลการประเมินตามเกณฑ์ EdPEx ไม่มีความก้าวหน้า(คะแนนตามเกณฑ์ EdPEx มากกว่า ๓๐๐) ต้องกลับมาดำเนินการจัดทำรายงานประจำปีที่เป็นรายงานการประเมินตนเองตามระบบ IQA ใน CHE QA Online

จากนั้นผู้ดำเนินการประชุม ได้เปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษา ที่เข้าร่วมประชุมซักถาม และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการนำเกณฑ์ EdPEx มาใช้ในการประกันคุณภาพภายใน เพื่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาไปสู่ความเป็นเลิศอย่างก้าวกระโดด และชักชวนให้สถาบัน/คณะวิชาเข้าร่วมเป็นหนึ่งในโครงการนำร่องที่จะนำเกณฑ์ EdPEx ไปใช้ในการบริหารจัดการองค์การเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ          ทั้งนี้ สกอ.จะจัดโครงการอบรมหลักสูตร การประเมินองค์การ(Organizational Assessment):โครงการนำร่อง เพื่อต่อยอดโครงการคุณภาพการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศในหลักสูตร “การประเมินองค์การในหมวด ๕ ๖ และ๗” โดยผู้เชี่ยวชาญเกณฑ์บัลดริจของสหรัฐอเมริกาและเป็นผู้ที่ฝึกอบรมผู้ตรวจรางวัลคุณภาพแห่งชาติ(Thailand Quality Award) ในระหว่างวันที่ ๑๘-๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๕ ณ โรงแรม ปริ้นซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร คะ

การพัฒนามาตรฐานผลการเรียนรู้ (Learning Outcomes)

จากการเข้าร่วมประชุมสัมมนา เรื่อง “การพัฒนา มาตรฐานผลการเรียนรู้ (Learning Outcomes) และนำสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องตาม กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ” และบรรยายพิเศษ เรื่อง มาตรฐาน ผลการเรียนรู้ : ความสำคัญ แนวทางการเขียนที่สะท้อนคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ในวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๐ โดยรองศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต ทิพากร รองเลขาธิการ คณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นประธานเปิดการ แนวทางการส่งเสริมคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา และการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการรับทราบหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษา ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพมหานคร รองเลขาธิการ กกอ. กล่าวตอนหนึ่งว่า “นับแต่ได้มีประกาศ กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๒ และประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง แนวทางการปฏิบัติตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๒ ที่มุ่งเน้นมาตรฐานผลการเรียนรู้ (Learning Outcomes) ของผู้เรียน เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาใช้เป็นแนวทางในการ พัฒนาหรือปรับปรุงรายละเอียดของหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถปฏิบัติตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ ระดับอุดมศึกษาแห่งชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ” โดยได้เชิญ ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากสหภาพยุโรปและประเทศ ออสเตรเลียมาร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเทียบเคียงแนวคิดและแนวปฏิบัติ โดยมุ่งให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถผลิตบัณฑิตให้มี คุณลักษณะตามเจตนารมณ์ของกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ ระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษายังได้ติดตามพัฒนาการและแนวโน้มการดำเนินการตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิอย่างสม่ำเสมอ รองเลขาธิการกกอ. กล่าวต่อไปว่า แนวโน้มการจัดการศึกษาในปัจจุบัน มุ่งเน้นการเทียบเคียงผลการเรียนรู้ของผู้สำเร็จการศึกษาในระดับต่างๆ การมี Regional Qualification Framework ตลอดจน การสร้างระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องเกิดความเชื่อมั่นในการจัด การศึกษาที่เน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ

๑) การส่งเสริมความร่วมมือและเทียบเคียงการประกันคุณภาพการศึกษา และกรอบมาตรฐานคุณวุฒิในระดับภูมิภาค

๒) การตั้งเป้าหมาย Education 2030

๓) ความท้าทายในการเพิ่มขีดความสามารถของสถาบันและคณาจารย์ใน การสร้างวัฒนธรรมคุณภาพในการจัดการศึกษา

๔) การมุ่งเน้นการใช้การจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ (Outcomes Based Education : OBE) ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนมี Learning Outcomes ตาม TQF

๕) การเน้นการประเมินผลการเรียนรู้ที่เชื่อถือได้ และ

๖) การประกันคุณภาพในระดับหลักสูตร

ในการนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จึงพยายามสร้างความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับจัดระบบการ เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษานำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาอาจารย์ และการพัฒนาระบบสารสนเทศ การรับทราบหลักสูตรตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาเสนอหลักสูตรต่อ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาด้วยระบบออนไลน์ทดแทนการเสนอด้วยเอกสาร

-เริ่มใช้ มคอ.2 ระบบออนไลน์ สิงหาคม 2561

-ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของการบริหารหลักสูตร อาทิ การออกแบบหลักสูตร PLOs ผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตร ไม่ควรมีเกิน 11 ตัว, CLO ซึ่งผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับรายวิชาจะต้องถูกออกแบบโดยอาจารย์ประจำหลักสูตร ส่วนผู้สอนจัดทำ Course Design, การจัดการเรียนการสอน กลยุทธ์การสอน การวัดประเมินผลการเรียนการสอนฯลฯ

-แนวทางในการพัฒนาอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษากำหนดให้มี 3 องค์ประกอบ คือด้านองค์ความรู้ (Knowledge) ด้านสมรรถนะ(Competencies) และด้านค่านิยม(Values)

องค์ประกอบที่ 1 ด้านองค์ความรู้ (Knowledge) ประกอบด้วย 2 มิติ

1.1 ความรู้ในศาสตร์สาขาวิชา

1.2 ความรู้ในศาสตร์การสอนและการเรียนรู้

องค์ประกอบที่ 2 ด้านสมรรถนะ(Competencies) ประกอบด้วย 4 มิติ

2.1 ออกแบบและวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ

2.2 ดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.3 เสริมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้และสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน

2.4 วัดและประเมินผลการเรียนรู้ พร้อมทั้งสามารถให้ข้อมูลป้อนกลับอย่างสร้างสรรค์

องค์ประกอบที่ 3 ด้านค่านิยม(Values) ประกอบด้วย 2 มิติ

3.1 คุณค่าในการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์ และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

3.2 ธำรงไว้ซึ่งจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอาจารย์

จากคุณภาพการจัดการเรียนการสอนที่กล่าวมานั้น กำหนดให้มีระดับของคุณภาพของแต่ละองค์ประกอบจำนวน 4 ระดับ ซึ่งแสดงให้เห็นพัฒนาการของอาจารย์ด้านการจัดการเรียนการสอนโดยใน 4 ระดับมีดังนี้

ระดับที่ 1         เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ของตนและประยุกต์ใช้ได้ มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์การเรียนรู้เบื้องต้น สามารถออกแบบกิจกรรม ใช้ทรัพยากรและสื่อการเรียนรู้โดยคำนึงถึงผู้เรียนและปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ สามารถวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน นำผลประเมินมาใช้ปรับปรุงพัฒนาการจัดการเรียนรู้ พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพของอาจารย์ขององค์กร

ระดับที่ 2         เป็นผู้มีคุณภาพการจัดการเรียนสอนระดับที่ 1 ที่มีความรู้ลึกในศาสตร์ของตน และติดตามความก้าวหน้าของความรู้ในศาสตร์อย่างสม่ำเสมอ มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์การเรียนรู้ สามารถจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียน กำกับดูแลและติดตามผลการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างเป็นระบบ ให้คำปรึกษาชี้แนะแก่เพื่อนอาจารย์ในศาสตร์ได้ และส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์ภายในองค์กร

ระดับที่ 3         เป็นผู้มีคุณภาพการจัดการเรียนสอนระดับที่ 2 ที่เชี่ยวชาญในศาสตร์ของตน ศาสตร์การเรียนรู้และการจัดการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ นำผลการวิจัยในชั้นเรียนมาพัฒนาการจัดการเรียนรู้ เป็นพี่เลี้ยงและผู้ชี้แนะในระดับองค์กรด้านการจัดการเรียนรู้ และนโยบายด้านจรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์

ระดับที่ 4         เป็นผู้มีคุณภาพการจัดการเรียนสอนระดับที่ 3 ที่เป็นผู้นำในศาสตร์ของตน ศาสตร์การเรียนรู้และการจัดการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ เป็นที่ยอมรับทั้งภายในและภายนอกองค์กร มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ในการพัฒนาองค์ความรู้ และการจัดการเรียนรู้ในระดับชาติและนานาชาติ เป็นผู้นำเชิงนโยบายด้านจรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์

---------------------------

การเขื่อมโยงข้อมูลออนไลน์เพื่อพัฒนาการประเมินคุณภาพการศึกษา

การเขื่อมโยงข้อมูลออนไลน์เพื่อพัฒนาการประเมินคุณภาพการศึกษา

                          ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕ หมวด ๖  กำหนดให้มีระบบประกันคุณภาพภายในและภายนอกสถานศึกษา  โดยสถานศึกษาทุกแห่งต้องจัดทำรายงานเสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัดเป็นประจำทุกปี  และจัดเตรียมข้อมูลเพื่อรองรับการประเมินคุณภาพภายนอกจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา องค์การมหาชน หรือสมศ. อย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกห้าปี

เพื่อเป็นการบูรณาการข้อมูลด้านการศึกษาของประเทศ ดังนั้น สมศ. หน่วยงานต้นสังกัดและหน่วยงานต้นสังกัดและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องจึงได้ประสานความร่วมมือในการเชื่อมโยง  และใช้ประโยชน์ข้อมูลร่วมกัน  โดยระดับอุดมศึกษา สมศ. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สกอ. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการบูรณาการจัดระบบการประเมินผล  เมื่อวันที่  ๒๒  กันยายน  ๒๕๕๓  สาระสำคัญกำหนดให้การประเมินผลสถาบันระดับอุดมศึกษาจาก ๓ หน่วยงานจะใช้ข้อมูลที่สถาบันฯ รายงานผ่านระบบ CHE QA Online ของ สกอ.  โดยมีการบูรณาการตัวชี้วัดจากคณะทำงานร่วมจากทั้ง ๓ หน่วยงาน  ส่วนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สมศ. ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทศ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์ข้อมูลด้านการศึกษาร่วมกัน  เมื่อวันที่  ๒๒  พฤศจิกายน  ๒๕๕๕  ณ กระทรวงศึกษาธิการ  สาระสำคัญกำหนดให้มีการบูรณาการการจัดเก็บและใช้ประโยชน์ข้อมูลด้านการศึกษาร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ประโยชน์ที่จะได้รับหลังการเชื่อมโยงข้อมูลช่วยทำให้สถานศึกษาลดภาระการจัดเตรียมข้อมูลรองรับการประกันคุณภาพการศึกษา  โดยข้อมูลพื้นฐาน (Common Dataset) และรายงานประเมินตนเอง (SAR) ที่สถานศึกษาจัดส่งให้หน่วยงานต้นสังกัดเป็นประจำทุกปี  จะถูกนำมาใช้เป็นข้อมูลตั้งต้นเพื่อรองรับการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ.  นอกจากนี้จะทำให้การดำเนินงานของ สมศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น  ช่วยลดภาระการจัดเก็บข้อมูลที่ซ้ำซ้อนกัน  รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานจัดเก็บ  เพื่อนำไปสังเคราะห์สำหรับใช้ในการตัดสินใจเชิงนโยบายต่อไป               นับเป็นก้าวสำคัญด้านการศึกษาก้าวหนึ่งที่มีการบูรณาการข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติให้สำเร็จตามเป้าหมาย

 

 

อ้างอิง :  มติชน  วันที่ 24 ธันวาคม 2555  ปีที่ 35 ,  ฉบับที่ 12707 ,  หน้า 23

คุณภาพ ๓ ประการ : ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพศิษย์

คุณภาพ ๓ ประการ : ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพศิษย์

      คุณภาพการจัดการศึกษา

ปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพการจัดการศึกษาที่สำคัญ   ได้แก่   การกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับบริบท  นโยบายต้องมีความต่อเนื่อง  ชัดเจนและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ที่สำคัญ คือ  ต้องเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  นอกจากนี้ ต้องมีครูอาจารย์ประจำหลักสูตรที่มีคุณวุฒิ/ความรู้  ผู้บริหารมีคุณภาพ  มีอาคารสถานที่เหมาะสม  ห้องเรียนมีชีวิต  และสถานศึกษาต้องมีเสรีภาพทางวิชาการ

คุณภาพครู

คือ  ภาพสะท้อนจากคุณภาพศิษย์  ดังนั้น ครูจึงเป็นหัวใจของการพัฒนาศิษย์  โดยมีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพครู  ได้แก่  ครูที่มีความรู้  มีความใฝ่รู้  และมีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ  มีความรัก  ความเมตตา  ปรารถนาดีต่อศิษย์  ทุ่มเท  เสียสละ  ทำงานเต็มศักยภาพ  มีความภาคภูมิใจต่อวิชาชีพ  มีจิตวิญญาณความเป็นครูและมีทัศนคติที่ดี

คุณภาพการประเมิน

หมายรวมถึง  การประเมินตนเอง (IQA) การประเมินภายนอกด้วยกัลยาณมิตร (EQA) การประเมินเพื่อพัฒนาและการสร้างคุณค่าต่อสังคม  โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพการประเมิน  ได้แก่  การที่ผู้ประเมินและผู้รับการประเมินมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อการประเมิน  การประเมินที่จะต้องสะท้อนสภาพจริง  การมีส่วนร่วมในการประเมินของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  รวมถึงการนำผลประเมินไปใช้เพื่อการพัฒนาและนำไปสู่วิถีชีวิตคุณภาพต่อไป

จะเห็นได้ว่า  “คุณภาพศิษย์” เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของการจัดการศึกษา  คุณภาพของครู  รวมถึงคุณภาพของการประเมิน  ซึ่งเป็นพันธกิจที่สำคัญของ สมศ.  ดังนั้น สมศ. จึงได้กำหนด  “เป้าหมายสูงสุดของการประเมิน” คือ  “คุณภาพศิษย์”  เพื่อเป็นการสะท้อนให้เห็นถึง  “คุณภาพ” ที่เกิดขึ้นจริงกับตัวผู้เรียนที่เป็นผลผลิตจากสถานศึกษา  ดังนั้น “คุณภาพศิษย์” จึงเป็นเป้าหมายของการประเมิน

ในโอกาสนี้อยากจะขอนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในวงการการศึกษาน้อมนำไปปฏิบัติร่วมกัน ความว่า“...เมื่อทำงานอย่าหยิบเอาความขาดแคลนมาเป็นข้ออ้าง  จงทำงานท่ามกลางความขาดแคลนให้บรรลุผล”

               “การเป็นคนเก่ง  ดี  และมีคุณค่านั้นจะทำให้เกิด “ความสุข” ขึ้นได้  ความสุข คือ  สุขอย่างคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี  ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ  ซึ่ง “คุณภาพชีวิตที่ดี”เกิดจากการพัฒนาใน ๔ มิติ คือ  กาย  จิต  ปัญญา  และสังคม”

ที่มา : คุณภาพศิษย์ เป้าหมายการประเมิน. สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา. ๒๕๕๕

คุณภาพการประเมิน

คุณภาพการประเมิน

               การที่บอกว่าสถานศึกษาใดมีคุณภาพหรือไม่นั้น  เราจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับใช้ในการวัดและประเมินผล  ดังนั้น การประเมินจึงเป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้ในการวัดคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษา  โดยการประเมินจะประกอบด้วยการประกันคุณภาพภายใน  และการประเมินคุณภาพภายนอก

การประกันคุณภาพภายใน (Internal Quality Assurance)

เป็นกระบวนการที่บุคลากรทุกฝ่ายในสถานศึกษาร่วมกันวางแผน  กำหนดเป้าหมายและวิธีการ  ลงมือปฏิบัติตามแผนในทุกขั้นตอน  มีการบันทึกข้อมูลเพื่อร่วมกันตรวจสอบผลงาน  หาจุดเด่น  จุดที่ต้องปรับปรุง  และร่วมกันปรับปรุงแผนงานนั้น ๆ โดยมุ่งหวังให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสถานศึกษาที่เน้นคุณภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญ

การประเมินคุณภาพภายนอก (External Quality Assessment)

เพื่อกระตุ้นให้สถานศึกษามีการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ  รวมทั้งเป็นการสะท้อนจุดเด่น  จุดที่ควรพัฒนา  เงื่อนไขความสำเร็จของสถานศึกษานั้น ๆ พร้อมเสนอแนะแนวทางปรับปรุงให้กับสถานศึกษา  และรายงานผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชนทราบต่อไป

“การประเมินภายนอกรูปแบบ “กัลยาณมิตรประเมิน” เป็นการประเมินที่มุ่งพัฒนาคุณภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด  พร้อมด้วยคุณธรรม  จริยธรรม  ตามนัยของความเกื้อกูลกัน  สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษา”

               สมศ. มีการกำหนดรูปแบบในการประเมินคุณภาพภายนอกไว้คือ “กัลยาณมิตรประเมิน” (Amicable Assessment) ซึ่งเป็นการประเมินโดยกัลยาณมิตรที่มุ่งพัฒนาคุณภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด  พร้อมด้วยคุณธรรม  จริยธรรม  และจรรยาบรรณ  โดยมีการกำหนดขั้นตอนไว้ ๔ ขั้นตอนหลัก ดังนี้

ขั้นที่ ๑  ส่งเสริมและพัฒนา คือ การสร้างเจตคติที่ดีที่ถูกต้อง  สมจริงต่อการประกันคุณภาพการศึกษา  โดยเฉพาะการประเมินคุณภาพภายนอกและส่งเสริมพัฒนาให้สถานศึกษาพร้อมพัฒนาสู่คุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถาบัน  และพร้อมรับการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ.

ขั้นที่ ๒  สร้างศรัทธาต่อหมอโรงเรียน คือ การพัฒนาคัดสรรผู้ประเมินภายนอกที่มีความสามารถและมีความเป็นกัลยาณมิตร  เพื่อให้สถานศึกษาเกิดศรัทธาและไว้วางใจต่อผู้ประเมินภายนอก  และมีความเป็นมิตรต่อกันในการปฏิบัติภารกิจการประเมินคุณภาพภายนอก  เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของสถานศึกษา

ขั้นที่ ๓  เพียรประเมินอย่างกัลยาณมิตร คือ การประเมินสภาพจริงเพื่อยืนยันผลประเมินจากการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา  เพื่อพัฒนาสู่มาตรฐานโดยการบูรณาการ  การประเมินตนเอง  การประเมินเชิงประจักษ์  การประเมินเสริมพลัง  การประเมินเชิงคุณภาพ  และการประเมินเทียบมาตรฐานด้วยหลักการ “เข้าใจ  เข้าถึง  แล้วจึงเข้าประเมิน”

ขั้นที่ ๔ ชี้ทิศทางและเสริมแรงพัฒนา คือ  การรายงานผลการประเมินต่อสถานศึกษาต้นสังกัด  และสาธารณชนอย่างตรงไปตรงมา  พร้อมทั้งร่วมมือกับตันสังกัดในการให้แรงเสริม  เพื่อให้สถานศึกษามีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

“การประเมินเพื่อพัฒนา  เพื่อกระตุ้นให้สถานศึกษามีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง  และมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสถานศึกษาที่ดี”

               การประเมินเพื่อพัฒนา

               ในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสามนี้สมศ. ได้พยายามชี้ให้เห็นว่าการประเมินของ

สมศ. เป็นการประเมินเพื่อพัฒนา  เพราะหากสถานศึกษามีการวางระบบการประกันคุณภาพภายในที่อยู่ในวิถีชีวิตของการทำงานตามปกติอย่างต่อเนื่อง  และมีการนำผลจากการประเมินไปวางแผนพัฒนาสถานศึกษาตามข้อเสนอแนะแล้ว  การประเมินก็จะไม่เป็นภาระหรือสร้างความกังวลให้กับสถานศึกษาและบุคลากรในองค์กรอีกต่อไป

นอกจากการประเมินจะมีคุณูปการต่อสถานศึกษาแล้ว  ยังสร้างคุณค่าต่อสังคมในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวคือ การประเมินที่มคุณภาพจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค  ซึ่งหมายถึงพ่อแม่  ผู้ปกครองและสังคม  ว่าสถานศึกษาที่บุตรหลานของท่านกำลังศึกษาอยู่มีคุณภาพและมาตรฐาน  ทั้งนี้การประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. นับเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยคุ้มครองผู้บริโภคด้วยระบบการประเมินที่มีคุณภาพ  ซึ่งประกอบด้วย

๑)      มีเกณฑ์และวิธีการประเมินที่มีคุณภาพเข้ากับบริบทของสถานศึกษา  และได้รับการ

ยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

๒)      มีกระบวนการประเมินที่มีคุณภาพ  ทั้งก่อนการประเมิน  ระหว่างการประเมิน  และหลัง

การประเมิน  รวมทั้งการเก็บข้อมูล  การวิเคราะห์ข้อมูล  การจัดทำรายงานที่มีผลประเมินตรงตามสภาพจริง  ไม่บิดเบือน  เชื่อถือได้

๓)      มีผู้ประเมินภายนอกที่มีคุณภาพ  มีความรู้ความสามารถ  มีคุณธรรม  จริยธรรม  และประเมินด้วยรูปแบบกัลยาณมิตร

ที่มา : คุณภาพศิษย์ เป้าหมายการประเมิน. สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา. ๒๕๕๕