Category Archives: การทำงาน

วิธีรับมือกับนิสัยยอดแย่ของเพื่อนร่วมงาน

              บางครั้งเราก็มีผู้ร่วมงานที่ยอดเยี่ยม คือเป็นนักทำงานอย่างแท้จริง ทำงานในหน้าที่ได้รวดเร็วและสำเร็จลุล่วงด้วยดี ไม่เกี่ยงงานหรือหมกเม็ด ไม่ขี้ฟ้อง แถมยังมีนิสัยดีน่าคบหาอีกด้วย แต่บางครั้งถึงคราวชะตาตกต่ำก็จะเจอผู้ร่วมงานที่เข้ากันได้ยาก เพราะเขาหรือเธอมีความเห็นแก่ตัว เจ้าเล่ห์ ไม่มีความสามารถ ดีแต่คอยยกยอปอปั้นเจ้านายเพื่อจะได้ไต่ตำแหน่งงาน คอยเอาหน้าเอาผลงานมากกว่าการทำงานอย่างจริงจัง อย่างว่าล่ะนะ เราไม่อาจที่จะหาผู้ร่วมงานด้วยตัวเองได้ แต่เราก็มีวิธีรับมือกับคนทำงานที่มีนิสัย (เสีย) 10 ประเภทดังนี้ค่ะ

1.หลีกเลี่ยงหน้าที่ คนแบบนี้มักค่อยๆ แบ่งงานของตัวเองไปให้เพื่อนร่วมงาน แล้วก็มีคำพูดที่ท่องจำจนขึ้นใจว่า ฉันกำลังมีงานยุ่งมาก
ข้อแนะนำ บอกหัวหน้างานคุณเป็นนัยว่า เขาหรือเธอคนนั้นไม่ค่อยมีอะไรทำเป็ินช้ินเป็นอัน ควรให้งานโปรเจ็กต์เขาไปลองทำดูบ้างดีมั้ย
2.ประจบเจ้านาย คนประเภทนี้จะยกยอปอปั้นเจ้านาย อะไรๆ เจ้านายก็ถูกต้องหมด
ข้อแนะนำ แสดงความสามารถของคุณให้เจ้านายเห็นเท่าที่ทำได้
3.ชอบซุบซิบนินทา ไม่ว่าจะไปทานอาหารหรือพบเจอกัน คนประเภทนี้จะต้องซุบซิบนินทาเรื่องคนอื่นเป็นของหวานยามปากว่าง
ข้อแนะนำ คุยกับคนประเภทนี้ให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ อย่าเล่าอะไรเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวของคุณให้เขาฟัง และอย่าสนใจคนประเภทนี้ หากไม่มีใครฟัง เดี๋ยวก็เงียบไปเองแหละ
4.ช่างยุแหย่ เพื่อนร่วมงานประเภทนี้ชอบพูดเรื่องคนนั้นคนนี้และเล่าไปมาให้คนทะเลาะกันเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์
ข้อแนะนำ ต้องร่วมมือกันหลายๆ คนในออฟฟิศด้วยการไม่สนใจเขาเลย ต้องดัดนิสัยเสียบ้าง
5.จอมยุ่งเหยิง บนโต๊ะทำงานของเขามีเอกสาร ข้าวของกองยุ่งเหยิงไปหมด แม้แต่ถุงเท้าเขายังใส่สองข้างต่างสีกันเลย
ข้อแนะนำ ตราบใดที่เขายุ่งเหยิงกับตัวเขาเองโดยไม่ได้ทำให้คุณเสียหาย ก็ปล่อยเขาซะ หรือหากคุณอยากทำตัวเป็นแม่สักครั้งด้วยการเก็บของบนโต๊ะให้เขาอาทิตย์ละครั้งเพราะทนไม่ไหวก็แล้วแต่ความใจดีของคุณก็ละกัน
6.ไร้เดียงสาหรือไม่อยากช่วย เพื่อนร่วมงานคนนี้มักบอกว่าทำไม่ได้ นอกจากยิ้มแล้วก็ถามว่า ทำยังไงน่ะ ปล่อยให้คุณอธิบายหลายรอบ แล้วก็กลับมาถามอีก

ข้อแนะนำ ให้คุณบอกว่า คุณอธิบายมาหลายรอบแล้ว หากจำไม่ได้ก็ควรจดโน้ตไปด้วย
7.โตแต่ตัว เพื่อนร่วมงานคนนี้ชอบส่งอีเมล์และรูปภาพประกอบที่ตลกๆ สนุกสนาน หรือซ่อนภาพแปลกๆ ไว้ในเอกสารสำคัญๆ
ข้อแนะนำ อย่าหัวเราะกับเรื่องตลกของเขาเพราะจะทำให้เขาชอบใจและทำมากขึ้น หรือคุณอาจบอกว่าเขาว่า นี่คือโลกของผู้ใหญ่นักทำงานนะคะ
8.ขี้หลี หนุ่มคนนี้ชอบเจ๊าะแจ๊ะจอแจกับเพื่อนร่วมงานสาวๆ  หรือชอบพูดจาแทะโลมเท่าที่โอกาสจะอำนวย
ข้อแนะนำ ไม่ต้องลังเล จัดการกับเขาซะ อาจว่ากล่าวตรงๆ หรือหากแต๊ะอั๋งก็ตวัดมือสักที หรือนำไปเล่าในที่ประชุมเพื่อปรามหนุ่มขี้หลี
9.โทรศัพท์ส่วนตัวทั้งวัน ผู้ร่วมงานคนนี้ทำยังกับว่าออฟฟิศคือบ้านส่วนตัวของเธอหรือเขางั้นแหละ ก็คุณเธอเล่นโทรศัพท์คุยกับเพื่อนได้ทั้งวันแทบไม่มีหยุด โทรศัพท์ก็ดังไม่หยุดหย่อน
ข้อแนะนำ ส่งงานเร่งด่วนให้เธอหรือเขาทำเพื่อจะได้ไม่มีเวลาคุยโทรศัพท์
10.อีโก้สูง ไม่ว่าคุณจะพูดอะไรหรือทำอะไร ก็มักจะผิดในสายตาของเพื่อนร่วมงานคนนี้ เธอหรือเขา จะพูดจาดูถูกดูหมิ่นหรือบลั๊พให้คุณหน้าแตกแบบไม่ต้องเย็บกันละ
ข้อแนะนำ อย่าแสดงอารมณ์ร่วมกับหล่อน (เขา) เพราะจะทำให้คนประเภทนี้ได้ใจ ให้คุณทำงานไปตามปกติ ทำเหมือนกับว่าคุณไม่ได้ใส่ใจกับนิสัยของเธอ (เขา) และให้คุณพูดกับเธอ (เขา) ด้วยสำเนียงร่าเริงเพื่อให้รู้ซะมั่งว่านิสัยแย่ๆ อย่างนี้เก็บไปใช้ที่บ้านเถอะจ้ะ

Ref. : http://women.kapook.com/work00229/

สุขกับงาน ตามวิถีพุทธ

ความสำเร็จในการทำงานตามวิถีพุทธ

ในการทำงาน นอกจากจะต้องใช้สติและปัญญาในการทำงาน เพื่อแก้ปัญหาและหาหนทางเจริญก้าวหน้าอยู่นั้น มีทฤษฎีมากมายที่หวังให้เราปฏิบัติตาม  โดยใช้ธรรมะตามแนววิถีพุทธ ก็สามารถ ทำให้คุณประสบความสำเร็จในการทำงานได้ ธรรมะที่เราควรจะหยิบยกมาใช้ในการทำงานทุกวันนี้ คงหนีไม่พ้นอิทธิบาท 4 เพราะความหมายของอิทธิบาท 4 คือธรรมให้ถึงความสำเร็จ หรือหนทางแห่งความสำเร็จนั่นเอง โดยหลักอิทธิบาท 4 นั้นเป็นหลักธรรมสำคัญที่ทำให้เกิดสมาธิในการทำงาน ไม่ฟุ้งซ่านไปกับสังคมและกระแสต่างๆ พร้อมทั้งตีกรอบให้เราทำงานอย่างคงเส้นคงวาอีกด้วย



 ฉันทะ = ฉันพอใจกับงานที่ทำอยู่  

มีใครบ้างไหมไม่ชอบงานที่ทำอยู่ ให้คุณลองตรวจสอบตัวเองดูว่า คุณนั้นมีความชอบหรือศรัทธากับงานแบบใด หรือพอใจกับงานแบบใดอยู่ เหมือนกับคุณเป็นนักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่กำลังใช้ความคิดใตร่ตรองว่าคุณต้อง การเดินไปเส้นทางใด เรื่องเหล่านี้ไม่มีใครให้คำตอบคุณได้เพราะเป็นความชอบความศรัทธาที่ก่อเกิด จากตัวของคุณเอง จริงอยู่ที่งานแต่ละอย่างไม่มีทางที่คุณจะชื่นชอบไปทั้งหมดทุกกระบวนการ แต่ถ้าคุณพอใจที่จะทำให้ดี สบายใจที่จะต้องเจอมันทุกวันเราเรียกว่าความศรัทธา เป็นสิ่งแรกที่มนุษย์ต้องการและเป็นพื้นฐานของความสำเร็จ อย่างเช่น คุณมีความศรัทธาและใจรักที่จะเป็นพนักงานขายที่ดีและซื่อสัตย์ สิ่งนี้จะเป็นพลังให้คุณเดินไปหาความสำเร็จได้แบบเป็นเส้นตรง และเข้าถึงจิตใจเนื้อแท้ในการทำงานมากกว่าคนที่ไม่ได้มีความศรัทธาใดๆ กับงานที่ทำ  คุณอาจเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการตั้งคำถามกับตัวเอง ฉันทำงานเพื่ออะไร ฉันมีความสุขหรือไม่ เพียงแค่นี้คุณก็จะทราบตัวเองว่ามีความลึกซึ้งกับงานที่ทำอยู่เพียงใด เผื่อเราจะได้มีเวลาค้นหาและปรับเปลี่ยนตัวเอง หรือปรับศรัทธาของตัวเองให้เข้ากับงานที่ทำอยู่



 วิริยะ = ฉันขยันหมั่นเพียรกับงานที่มี

คงไม่มีคนไหนประสบความสำเร็จโดยปราศจากความเพียร เป็นคำคมที่แปลง่ายแต่ความหมายเหน็ดเหนื่อยยิ่งนัก เพราะความวิริยะนั้นเป็นเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งที่จะนำคุณไปสู่ความสำเร็จ ได้ ยิ่งคุณขยันเท่าไรผลตอบแทนที่คุณจะได้รับมันก็มีมากเท่านั้น ยกตัวอย่างต่อจากหัวข้อฉันทะ คุณเป็นพนักงานขายที่มีความศรัทธากับงานที่ทำ มีความสุขในการทำงานเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ร่วมกับความขยันหมั่นเพียร ไม่เฉยชาที่จะต้อนรับลูกค้า กระตือรือล้นหาลูกค้าใหม่ๆ อยู่เสมอ มีวินัยในการทำงาน ไม่ท้อกับปัญหาและอุปสรรคที่เข้ามา มีความทุ่มเทอย่างนี้ ตำแหน่งที่สูงขึ้นไปอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน ที่สำคัญความวิริยะจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความศรัทธาของฉันทะนั่นเอง และความวิริยะไม่ใช่การทำงานแบบเอาเป็นเอาตาย แต่เป็นการหมั่นฝึกฝนตนเองต่างหาก



 จิตตะ = ฉันเอาใจใส่รับผิดชอบกับงานที่ทำ 

จิตใจที่จดจ่อกับงานไม่วอกแวกไปเที่ยวเล่นล้วนเกิดผลดีต่องานที่ทำ จิตตะเป็นธรรมแสดงถึงสติและจิตใจที่รอบคอบและความรับผิดชอบที่จะตามมา ซึ่งในสังคมการทำงานปัจจุบันนี้มุ่งเน้นแย่งชิงตำแหน่งกัน และขัดขาจนลืมคิดไปว่า งานที่ตนเองต้องรับผิดชอบนั้นคือสิ่งใดกันแน่ จิตตะจึงมีความสำคัญในการทำงานโดยไม่วอกแวกออกไปนอกลู่นอกทาง  ดังนั้น เมื่อคุณมีทั้งฉันทะและวิริยะแล้ว จิตตะจะเป็นเสมือนรั้วของเส้นทางที่ไม่ให้ไขว้เขวออกนอกทางสู่ความสำเร็จได้ รวมทั้งเป็นสติที่สื่อออกมาถึงความมุ่งมั่นที่สูงกว่าความพอใจและความขยัน หมั่นเพียร



 วิมังสา = ฉันใคร่ครวญและใช้ปัญญาตรวจสอบงาน  

สิ่งสุดท้ายในการทำงานคือการใช้ปัญญา ที่เป็นกุญแจสูงสุดของอิทธิบาท 4 เมื่อคุณมีความรักในงานที่ทำ มีความขยันหมั่นเพียร มีสติรับผิดชอบ การมีปัญญาคือการทบทวนตนเองและปัญหา ว่าสิ่งที่เราได้ทำมานั้นมีผลดีผลเสียอย่างไร มีสิ่งใดที่เข้ามากระทบใจเราหรือคนอื่นหรือไม่ เราจะได้รู้จุดยืนของเราว่าทำงานและอยู่ในด้านทุกข์หรือสุข ล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จ อย่างเช่น ทบทวนตัวเองนิ่งๆ ว่าวันนี้ทั้งวันเราทำอะไรบ้าง สรุปกับตัวเองว่าทำเพื่ออะไร เราจะได้มีกำลังใจต่อในวันต่อๆ ไป และไม่ทำผิดซ้ำซากอีกเช่นเดิม พร้อมกันนั้นเราจะสามารถเห็นหนทางได้ว่า เส้นทางไหนที่จะนำเราสู่ความสำเร็จได้จริงๆ

Ref.: http://women.kapook.com/work00232/

 

สุข 10 ประการกับงานของคุณ

หลายท่านคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่าวันนี้ คือวันแรกของชีวิตที่เหลืออยู่ยังไม่สายเกินไปที่จะเริ่มต้นชีวิตและการงานให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น วิธีที่จะทำให้คุณรักงานที่ทำ เพราะเมื่อคุณรักในสิ่งที่คุณทำ คุณก็มีความสุข และทำได้อย่างดีที่สุด ขอแนะนำวิธีการดังนี้คะ

1. ให้ความใส่ใจกับการเรียนรู้

ทำทุกวันของคุณให้เหมือนกับการเรียนหนังสือ เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เสมอ และนำมาปรับใช้ เพื่อให้การทำงานของคุณมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งที่คุณเรียนรู้อาจไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับทักษะในการทำงานก็ได้ บางทีอาจจะเป็นเรื่องง่าย ๆ เช่น การเรียนรู้และเข้าใจวิธีการทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ หรือการรู้จักควบคุมอารมณ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นต้น

2. มองหาความท้าทายใหม่ ๆ

คุณจำเป็นจะต้องมีความชำนาญในหน้าที่ของคุณ นั่นจะทำให้คุณได้รับความเชื่อถือจากหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน และลูกค้า รวมทั้งมองไปยังอนาคตข้างหน้าว่าเส้นทางการทำงานของคุณจะเป็นอย่างไร มีการพูดคุยกับหัวหน้าของคุณเป็นประจำ ทำความเข้าใจกับเนื้องานและเป้าหมายของงานแต่ละชิ้น เพื่อที่คุณจะได้วางแผนสำหรับงานที่เป็นความท้าทายครั้งใหม่ของคุณ

3. เข้าใจเป้าหมายขององค์กร

คุณต้องแน่ใจว่าคุณเข้าใจความสำคัญของงานในหน้าที่ของคุณว่ามีผลต่อจุดมุ่งหมายขององค์กรอย่างไร คุณมีบทบาทอยู่ในส่วนที่สร้างรายได้ให้กับองค์กร หรืออยู่ในส่วนที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับตราสินค้า หรืออยู่ในส่วนที่จะต้องสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า คุณต้องมีความชัดเจนว่าหน้าที่ของคุณอยู่ตรงส่วนไหนในภาพรวมขององค์กร คุณก็จะเกิดแรงบันดาลใจและความรู้สึกที่อยากจะประสบความสำเร็จในตำแหน่งหน้าที่ของคุณ

4. มีจริยธรรม

ซื่อสัตย์ในหน้าที่ของคุณไม่ว่าคุณจะทำงานในตำแหน่งใดก็ตาม อย่าโทรศัพท์ลาป่วยเพียงเพื่อคุณต้องการหยุดงาน หากคุณต้องทำงานนอกสถานที่ ควรทำตัวให้สามารถตรวจสอบได้ว่าคุณอยู่ที่นั่นจริง การรักษาคำพูดก็เช่นกัน จงทำในสิ่งที่คุณพูดว่าจะทำ ความซื่อสัตย์และความน่าไว้วางใจมีความสำคัญต่อการพิจารณาของหัวหน้าของคุณ

5. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง

หาเวลาออกกำลังเรียกเหงื่ออย่างน้อยวันละ 20 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้งเป็นประจำ ในตอนกลางวันออกเดินไปหาอะไรรับประทานข้างนอกบ้าง เข้าฟิตเนส ยกดัมเบลสักหน่อย เพราะร่างกายที่แข็งแรงจะทำให้คุณมีจิตใจที่แข็งแรงด้วย การออกกำลังกายช่วยให้โลหิตไหลเวียนไปยังสมองได้ดี ซึ่งจะช่วยให้คุณเกิดความคิดดี ๆ สมองแล่นฉับไว มีผลงานที่สร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญทำให้คุณรู้สึกดี และมีความสุข

6. เพิ่มบทบาทในการทำงาน

บางครั้งคุณต้องคิดทำอะไรที่เพิ่มมูลค่าให้กับตนเองด้วย มองหาโปรเจ็กต์ที่ไม่ใช่งานในหน้าที่ของคุณโดยตรง แล้วดูว่าคุณจะสามารถเข้าไปมีส่วนช่วยเหลืออะไรในโปรเจ็กต์นั้นได้บ้าง จากนั้นก็เสนอตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของทีม โดยการเสนอไอเดียของคุณเข้าไป ถึงแม้จะเป็นเพียงเล็กน้อย แต่มั่นใจได้ว่าจะมีคนมองเห็นในสิ่งที่คุณทำ และเมื่อคุณทำอย่างต่อเนื่องและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ รับรองว่าอนาคตการทำงานของคุณจะต้องสดใสอย่างแน่นอน

7. บริหารจัดการให้ดี

คุณต้องแน่ใจว่าคุณและหัวหน้าของคุณได้มีการตกลงกันถึงสิ่งที่คุณจะทำ และกระตือรือร้นที่จะดำเนินการ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณทำได้ตามที่คาดหวัง หรือทำได้เกินที่คาดหวังหรือไม่ อย่าคิดไปเองว่าหัวหน้าจะเอาใจใส่คุณอย่างใกล้ชิด เพราะหัวหน้าที่ไม่ดีก็มีอยู่มาก ถ้าคุณไม่ได้มีการประสานงานกับหัวหน้าให้ดี เขาก็ไม่รู้ว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ หรือคุณไม่รู้ว่าเขาคาดหวังอะไรจากคุณแล้วล่ะก็ คุณอาจจะถูกตำหนิเอาได้ แสดงความกระตือรือร้นและทำงานในเชิงรุกเสมอ อย่ารอให้ถึงวันประเมินผลการทำงาน เพราะมันอาจจะช้าเกินไป

8. เอาใจใส่คนรอบข้าง

แม้ว่าคุณจะสามารถทำงานคนเดียวได้ แต่ก็ต้องเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของเพื่อนร่วมงานของคุณด้วย ว่าเขาทำงานอย่างไร แสดงความสนใจต่อเพื่อนร่วมงานและงานของพวกเขา อย่าเลือกคบเพื่อนเพียง 2-3 คน หรือคบเพียงเพื่อนที่เคยรู้จักกันมาก่อนเท่านั้น คุณจำเป็นต้องเปิดกว้างรับเพื่อนใหม่ด้วย เพราะคุณไม่อาจรู้ได้ว่าในอนาคต คุณอาจต้องการความช่วยเหลือจากเขา หรือเขาอาจกลายมาเป็นหัวหน้างานของคุณก็ได้

9. การสื่อสารก็สำคัญ

อย่าปล่อยให้ใครต้องรอคำตอบจากคุณ ถ้าคุณสื่อสารกันทางอีเมล ให้รีบตอบอีเมลโดยเร็ว ทำให้พวกเขารู้ว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ เมื่อคุณต้องการความช่วยเหลือ คิดว่าใครที่จะให้คำแนะนำแก่คุณได้ จากนั้นก็ไปถาม หรือ ขอความคิดเห็นจากคน ๆ นั้น และเมื่อเขาให้การช่วยเหลือคุณ อย่าลืมที่จะขอบคุณเขาด้วย การสื่อสารที่ดีจะทำให้เขาเต็มใจที่จะช่วยเหลือคุณ

10. ให้เวลากับความสุข

สนุกกับงานเสมอ แม้ว่างานจะหนัก แต่จงยิ้มเข้าไว้ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม เพราะว่าไม่มีใครชอบคนขี้บ่นหรอก ดังนั้นจงทำวันของคุณให้สดใส มองโลกในแง่ดี ไม่ตึงเครียดจนเกินไป มีความสุขกับครอบครัว เพื่อน และตัวคุณเอง สร้างสมดุลให้กับชีวิตและงานอย่างลงตัว เพื่อจะได้มีทั้งการงานที่มั่นคง และชีวิตครอบครัวที่เต็มไปด้วยความสุข

เมื่อคุณได้ทำตามคำแนะนำทั้ง 10 ข้อแล้ว คาดหวังได้ว่าการงานของคุณจะเจริญก้าวหน้า และสร้างความสมดุลได้ทั้งชีวิตในที่ทำงานและครอบครัว 

 Ref.: http://th.jobsdb.com/th/EN/Resources/JobSeekerArticle/feb09-01.htm?ID=1336

3 สิ่งที่ไม่หวนกลับ

หลายสิ่งหลายอย่างเรายอมสละออกไปจากชีวิต เพราะรู้ว่าสักวันจะสรรหากลับมาดังเดิม หรือ ดีกว่าเดิมได้ แต่มีอยู่ 3 สิ่ง ซึ่งได้แก่ “คำพูด เวลา และโอกาส” ที่เมื่อปล่อยหลุดผ่านไปแล้ว แม้จะแอบเรียกร้อง พยายามไขว้คว้าให้กลับมาเหมือนเดิม ก็ดูจะเป็นเรื่องยาก หรือ อาจกล่าวได้ว่า สายไปเสียแล้ว!

1.“คำพูด” ซึ่งไม่ว่าจะดี ร้าย เมื่อสื่อสารออกไปให้ผู้อื่นได้ยิน ย่อมไม่สามารถเรียกคืน หรือ ลบล้างได้ วาจาจะกลายเป็นนายตั้งแต่พูดจบประโยคทุกครั้งไป ดังนั้น ก่อนเอ่ยคำ ควรชิงทำหน้าที่เป็นนายอย่างเต็มที่ คิดก่อนพูด เอาใจเขามาใส่ใจเรา ยึดความสัตย์จริง รักษาคำพูด จะช่วยเรียกมิตร เป็นที่ยกย่อง และน่านับถือน้ำใจ

2. “เวลา” ใน 1 วัน ทุกคนมีเวลาเท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะบริหาร หรือ จัดการให้เกิดประโยชน์ได้ดีกว่า ซึ่งในความเป็นจริงแล้วชีวิตมนุษย์สั้นเกินจะทำทุกสิ่งได้ครบอย่างตั้งใจ หลายคนจึงไม่หยุดนิ่งนาน วางแผนใช้เวลาคุ้มค่าเพื่อสร้างกำไรด้านปัจจัย 4 ให้ตนเอง และครอบครัวได้ดำรงอยู่อย่างมั่นคง แข็งแรงที่สุด

3. “โอกาส” ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักในชีวิตหลาย ๆ คน และส่วนใหญ่ก็มาถึงโดยไม่ทันตั้งตัว ผู้ที่เตรียมตัวเองให้พร้อมเสมอ เพื่อรอจังหวะ และใช้โอกาสที่รับมานั้นให้ดีที่สุด ย่อมได้ประโยชน์

สำคัญเช่นนี้ พึงระวังใช้ “สติ” ควบคุมรักษา 3 สิ่งมีค่า “คำพูด เวลา และโอกาส” ไม่ให้สูญหายอย่างน่าเสียดาย

Ref. http://variety.teenee.com/foodforbrain/45384.html

การบริหารคนนอกตำราของคุณบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา

บิลล์ เกตส์ และ สตีฟ จ๊อบส์  คือบุคคลระดับโลกที่จะถูกเล่าขานจากรุ่นสู่รุ่นว่า  แม้พวกเขาจะเรียนไม่จบแต่กลับประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด  เช่นเดียวกับ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา  ประธาน<a class="anchor-link" href="http://www.bangkokbiznews.com/home/search/?cx=009233870810540600983%3Ahkyg0dlysoo&cof=FORID%3A9&ie=windows-874&q=เครื

"เด็กไทยสู้ได้แค่ไหน ในศตวรรษที่ 21?"

เปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ที่กำลังจะมาถึง เป็นวาระของการ "ตื่นตัว" "ปรับตัว" และ "ประเมิน" ถึงศักยภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันของภาพรวมการศึกษาไทยทั้งระบบ ตัวผู้สอน และเด็กไทย(ผู้เรียน) อย่างแท้จริง  การรวมตัวของ "ตัวจริง" ในแวดวงการศึกษา ในงานสัมมนา “โลกเปลี่ยนไป สร้างเด็กไทยแห่งศตวรรษที่ 21” ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับ Laureate International Universities และบริษัท เอกธนา เอ็ดยูเคชั่น เซอร์วิสเซส ร่วมกันสะท้อนให้เห็นถึง โอกาส ความท้าทาย การเตรียมตัวอย่างไรให้พร้อมกับการแข่งขันที่มีแต่จะเข้มข้นขึ้นในอนาคต
  "เด็กไทยสู้ได้แค่ไหน ในศตวรรษที่ 21?"
 "สู้ได้หรือไม่ได้ สิ่งสำคัญอยู่ที่คุณภาพ"
 "ขีดความสามารถในการแข่งขันสูง ย่อมได้เปรียบ แต่หากขีดความสามารถต่ำ เสียเปรียบแน่นอน"
  เสียงสะท้อนจาก ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หนึ่งในผู้บริหารด้านการศึกษาที่เกาะติดการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยและในภูมิภาคอาเซียนมาโดยตลอด ได้เชื่อมโยงไปถึงในหลายมิติ ทั้งในระดับตัวบุคคล และเชิงระบบโครงสร้าง
 พร้อม ๆ กับโยนคำถามอีกหลายประเด็นถึงหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนการศึกษาของไทย และสร้างเด็กไทยให้แข่งขันได้ในศตวรรษที่ 21
 "จะแข่งขันได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่ที่ขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นหลัก ขีดความสามารถสูง ย่อมได้เปรียบ แต่หากขีดความสามารถต่ำแล้วละก็เสียเปรียบแน่นอน และการเพิ่มขีดความสามารถตรงนี้ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเทศ แต่การที่ประเทศจะขับเคลื่อนไปได้ ต้องย้อนกลับไปที่คำว่า คุณภาพ ด้วย"
 เกาหลีใต้ ประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการจูงใจ ชักชวน และเชิญชวนให้  "คนเก่ง" เดินเข้าสู่ระบบการศึกษา และยึดอาชีพเป็น "ครู"  เมื่อได้ "คนเก่ง" มาสอนถ่ายทอดความรู้ "ลูกศิษย์" ก็มีความรู้ตามไปด้วย ซึ่งเทียบกับประเทศไทยแล้วกลับตรงกันข้าม
 เพราะ "ครู" จะเป็นตัวเลือกลำดับท้ายๆ ของเด็กไทยที่ต้องการจะเรียนและประกอบอาชีพ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในปัญหา "คุณภาพ" ในระบบการศึกษาของประเทศไทย
 "ไทย กำลังเผชิญกับอุปสรรคครั้งใหม่เกี่ยวกับคุณภาพของผู้สอน
ที่ผ่านมาพบปัญหาในทุกระดับและจนถึงวันนี้ก็ยังแก้ปัญหาตรงจุดนี้ไม่ได้"
 นอกจาก "คุณภาพ" ของครูผู้สอนแล้ว หลักสูตร และระบบการเรียนการสอนก็เป็นอีกปัจจัยเชื่อมโยงที่ส่งผลต่อ "คุณภาพ" การศึกษา และ"คุณภาพ" เด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ด้วย โดย  ศ.ดร.สมบัติ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของหลักสูตรที่ต้องทันสมัย สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อาทิ นอกจากจะเข้มข้นในเนื้อหาวิชาการแล้วยังต้องเสริมสร้างทักษะที่พร้อมสำหรับการนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต อย่างเช่นทักษะด้านช่าง หรือ ภาษี เป็นต้น
 ถัดมาเป็นเรื่องของคุณภาพผู้เรียน โครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษา และการจัดระบบการศึกษาให้ตอบโจทย์ในเรื่องของ "คุณภาพ"
 ในวันที่เสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกำลังจะเริ่มต้น เด็กไทย ตัวผู้สอน และระบบการศึกษาของไทย พร้อมแค่ไหนกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น  ศ.ดร.สมบัติ แนะให้เตรียมตัวปรับโครงสร้างทางการศึกษา โดยเฉพาะการปรับเวลาเรียนให้ตรงกับอีกหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน การวางระบบการโอนหน่วยกิตระหว่างสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ  รวมถึงการเร่งการสร้างระบบประกันคุณภาพทางการศึกษา การส่งเสริมการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสาร การแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรม รวมถึงแลกเปลี่ยนนักวิชาการ นักศึกษา และนักวิจัย
 นอกจากการสร้าง "คุณภาพ" ให้เกิดขึ้นทั้งตัวผู้สอน และระบบการศึกษาแล้ว  "ผู้เรียน" เองก็ต้องเรียนรู้ที่จะเตรียมตัวและปรับตัวเพื่อให้แข่งขันได้ในศตวรรษที่ 21
 การเติมความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ ศ.ดร.สมบัติ  ไม่ใช่เพียงการใช้เป็น แต่ต้องเป็นการใช้งานที่อย่างมีประสิทธิภาพด้วย รวมทั้งทักษะในการสืบค้นหาข้อมูลได้ด้วยตัวเองทั้งข้อมูลในแนวลึกและแนวกว้าง
 โดยทักษะของการค้นคว้านี้ยังต้องเป็นการค้นคว้าวิจัยเพื่อค้นพบสิ่งใหม่ที่สร้างสรรค์ รวมถึงเปิดรับต่อโลกาภิวัฒน์ที่เกิดขึ้นทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
 ความสามารถทางด้านภาษาที่มากกว่า 2 ภาษาขึ้นไปกำลังเป็นทักษะที่ภาคธุรกิจในอนาคตมองหาและต้องการเป็นผู้ร่วมงาน การมีความเข้าใจและความรู้ในวัฒนธรรมที่หลากหลาย และปรับตัวเองให้อยู่ได้ภายในสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงนั้น นอกจากนี้เด็กรุ่นใหม่ยังต้องรับรู้ถึงบทบาทและภาระที่เพิ่มขึ้นของตัวเองท่ามกลางสังคมที่กำลังเคลื่อนตัวสู่สังคมผู้สูงอายุ
 ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง ยังมีอีกมุมมองจากผู้บริหารการศึกษา มร.เดวิด เกรฟส์ CEO, Hospitality, Architect, Art & Design, Laureate International Universities ที่เห็นว่า "สถาบันการศึกษาต้องไม่ทำตัวแยกออกจากอุตสาหกรรม หากแต่ยังต้องทำการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อที่สถาบันการศึกษาจะได้รับรู้ความรู้ที่สอนอยู่นั้นใช้ได้จริงหรือไม่ในภาคธุรกิจ"
 แล้วเด็กไทย จะสู้ได้แค่ไหน และจะทำอย่างไรเพื่อให้อยู่ได้อย่างมีความสุขในศตวรรษที่ 21
 การตระหนักรู้ การปรับตัว และทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการรับมือเพื่อก้าวสู่การแข่งขันแบบไร้ขีด
 ความท้าทายที่สำคัญกว่าอยู่ที่  "คุณภาพ" การศึกษา โจทย์ใหญ่ที่ต้องรอคำตอบ!!

จาก http://www.bangkokbiznews.com/

9 ลักษณ์ ในการบริหารคน

แน่นอนหากบุคลากรของทุกองค์กรเป็นบุคลากรที่เปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพ  ก็ย่อมเป็นประโยชน์ต่อองค์กรนั้นๆ  และตัวบุคลากรเองก็ยังเป็นที่น่าเชื่อถือและเป็นแบบอย่างที่ดีให้คนรุ่นใหม่ต่อไปได้ปฏิบัติเป็นอย่างที่ดีแต่การที่ทำให้ทุกคนมีประสิทธิภาพเหมือนกันได้หมดคงไม่ใช่เรื่องง่าย  ซึ่งต้องอาศัยเวลาพอสมควร  แต่ทว่านั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินความสามารถไปนัก  หากรู้จักเรียนรู้และพัฒนาตนเองสม่ำเสมอ  เมื่อรู้จักตนเองดีพอแล้วต้องไม่ลืมที่จะให้ความร่วมมือกันในทีม
เอ็นเนียแกรม  คืออะไร
 เอ็นเนียแกรม  เป็นศาสตร์โบราณเกี่ยวกับการวิเคราะห์ลักษณะคน  ศึกษาและรวบรวมโดยนักบวชลัทธิซูฟีของศาสนาอิสลาม  ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในต่างประเทศ  สำหรับประเทศไทยเอ็นเนียแกรมได้เข้ามาเมื่อ 8 ปีที่แล้วและแพร่หลายในกลุ่มเล็กๆ  โดยท่านสันติกโรภิกขุ  พระภิกษุชาวอเมริกัน  ซึ่งศาสตร์นี้เป็นภาษาไทยว่า  นพลักษณ์  อันหมายถึงลักษณะ 9 แบบ  และที่สำคัญนพลักษณ์ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับไสยศาสตร์  โหราศาสตร์  โหงวเฮ้ง  ไม่เกี่ยวกับหลักธรรมของศาสนาใดๆ  แต่ทว่าเป็นศาสตร์ที่ช่วยอธิบายพฤติกรรมทางด้านจิตวิญญาณและจิตวิทยาของตนเองและผู้อื่นที่เรามองไม่เห็นหรือไม่เข้าใจนั่นเอง

ปัจจุบันมีหลายองค์กรได้นำทักษะความรู้ในเรื่องนพลักษณ์ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาบริหาร  และกระตุ้นประสิทธิภาพการทำงานมีประโยชน์หลากหลาย  เช่น  พัฒนาตนเองให้ดีขึ้น  มอบหมายคนให้ตรงกับงาน  ลดความขัดแย้ง  ลดความแตกต่าง  พัฒนาการเพื่อการสื่อสารระหว่างบุคคล  ทั้งนี้ยังช่วยส่งเสริมการทำงานเป็นทีมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี  ศาสตร์นพลักษณ์นั้นเสมือนหนึ่งเป็นเครื่องมือสำรวจตัวเองเพื่อให้มีประสิทธิภาพ  ดังนั้น  คุณจะต้องเข้าใจก่อนว่าไม่ได้เกิดจากสิ่งภายนอกแต่เกิดจากภายในตัวบุคคล  และหากอยากจะรู้ว่าคุณเป็นคนลักษณ์ใดนั้นก็ต้องหมั่นสังเกตตนเอง  ให้เวลากับตัวเอง  อยู่กับความคุ้นเคยบ่อยๆ  รวมถึงเรียนรู้เพื่อนร่วมงาน  หัวหน้า  ลูกน้องว่าเป็นคนลักษณ์ใด  ซึ่งแต่ละลักษณ์ก็มีทั้งข้อดีข้อเสียทั้งต่างและคล้ายกันอยู่บ้าง  และมีแนวทางการปรับปรุงต่างกันไป  เรียกว่าเมื่อเรียนรู้กันและกันแล้ว  คราวนี้ก็เข้าสู่การเข้าใจตนเองและยอมรับผู้อื่นในสิ่งที่เขาเป็น  ก็จะช่วยให้สื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

9 ลักษณ์  ประกอบด้วย

 1.  คนสมบูรณ์แบบ (The  Perfectionist)
          เป็นคนลักษณะที่เรียกว่าต้องการปรับปรุงตนเองและมีชีวิตในแบบที่ถูกต้อง  เป็ฯคนชอบวิพากษ์วิจารณ์ตนเองและผู้อื่น  ในด้านเด่นคนนี้ลักษณ์เป็นคนทำงานหนัก  อุทิศตนให้งาน  มีวินัยในตนเองสูง  ทำอะไรเป็นแบบแผน  ซื่อสัตย์  มีอุดมคติและจริยธรรม  ต้องการรางวัลในการทำงานแลต่ไม่ยอมร้องขอ  เมื่อโกรธจะไม่ค่อยแสดงออก  ในด้านด้อยอาจมีแนวโน้มชอบตัดสินคนอื่น  ช่างวิตกกังวล  ชอบโต้เถียง  เหน็บแนม  ดื้อรั้น  และมักเอาจริงเอาจังเกินไป  รวมไปถึงนิสัยที่ชอบควบคุมคนอื่น สื่อสารกับคนลักษณ์พยายามเติมอารมณ์ขันเล็กๆ  น้อยๆ  ไปในวงสนทนา  แสดงให้เห็นว่าไม่ได้หัวเราะสิ่งที่เขาพูด  เพิ่มน้ำหนักให้กับประเด็นที่เขาค้านหัวชนฝาหากเป็นวิธีเดียวที่ทำให้งานเดิน  พยายามต้อนรับคำวิพากษ์วิจารณ์คนลักษณ์นี้เถอะ  หากยังอยู่ในบริบทที่เป็นบวกหรือเหมาะสม         สร้างแรงจูงใจโดย กำหนดบทบาทการทำงานให้เขาเพราะคนลักษณ์นี้กลัวความผิดพลาด  หรือไม่ก็ประสานความสมบูรณ์แบบเข้ากับความเป็นจริง  สร้างมาตรฐานของงานกับเขาโดยใช้วิสัยทัศน์เชิงบวก  และที่สำคัญคุณต้องซื่อสัตย์และยุติธรรมกับเขาพอ

 2.  ผู้ให้  (The  Giver)         เป็นคนที่ต้องการมีคุณค่า  เป็นที่รักของคนอื่น  มีจิตวิทยาในการสื่อสารกับคนอื่นมาก  เข้ากับคนอื่นได้ดี  และมีพลังเหลือเฟือมาจากความภาคภูมิใจที่มาพร้อมกับภาพลักษณ์ในฐานะผู้ให้ความช่วยเหลือ  ชอบทำตัวเป็นมือขวาในการทำงาน  เหมือนพวกเลขาฯ  รู้ความลับเจ้านาย  ประมาณว่ากุมอำนาจอยู่เบื้องหลัง  ชอบเป็นศูนย์กลางข้อมูลของทุกๆ อย่าง  ชอบให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำ  ไม่ว่าคนอื่นต้องการหรือไม่ก็ตาม  มีหลายบุคลิก  ปรับเปลี่ยนตนเองไปตามสถานการณ์และความต้องการของคนอื่น  ด้านไม่ดีอาจควบคุมคนอื่นด้วยการประจบ  เยินยอ  คนลักษณ์นี้จัดเป็นนักสื่อสารตัวยง สื่อสารกับคนลักษณ์  2 ควรใช้กิริยาและน้ำเสียงที่อบอุ่น  แสดงความสนใจเป็นการส่วนตัวและชื่นชมในตัวเขาไม่ควรให้ความคาดหวังเพราะเขาอาจหวังว่าจะต้องได้รับในเรื่องการวิพากษ์ต้อง  ชี้ชัดตรงประเด็น         สร้างแรงจูงใจโดย สัมพันธภาพที่ดีเป็นสิ่งสำคัญที่เขาต้องการ  ในการทำงานมักลำดับว่าเป็นงานของใคร  ซึ่งก็จะให้ความสำคัญกับผู้มีอำนาจมากกว่าก่อน  ซึ่งจริงๆ  ต้องโฟกัสไปที่งาน  ไม่ใช่ที่คน

 3.  นักแสดง  ( The  Performer )          เป็นผู้ใฝ่ความสำเร็จ  แรงจูงใจคือการเป็นที่ยอมรับนับถือ  ประสบความสำเร็จในงานทุกด้าน  ภายนอกดูเป็นคนมีความสุขและมองคนในแง่ดี  การรักษาภาพลักษณ์เป็นสิ่งที่เขาใส่ใจทุ่มเททำงานหนัก  บ้างานจนทิ้งครอบครัว  ไม่ดูแลตัวเองหวังว่าคนอื่นจะทำงานหนักด้วย  เลี่ยงความล้มเหลวทุกประการ  เลือกทางที่จะได้รับการตอบรับที่ดีเท่านั้น  ถ้าเกิดความล้มเหลวจะโยนใส่คนอื่น  ชอบแข่งขัน  มุ่งเอาชนะ  ต้องการชิงตำแหน่งผู้นำ  ทนการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้         สื่อสารกับคนลักษณ์  3 ใช้วิธีการสื่อสารแบบเซลล์แมน  เขาสามารถปรับตัวให้เข้ากับทุกโอกาส  ด้วยความที่เป็นคนห่วงภาพลักษณ์อย่างมาก  ดังนั้น  วิธีการสื่อสารคือแสดงให้เห็นว่า  “ นับถือความสามารถเขาจริงๆ  แต่ไม่เห็นด้วยกับประเด็นนี้
 สร้างแรงจูงใจโดย ควรฉาพภาพเส้นทางสู่ความสำเร็จในองค์กรอย่างชัดเจน  เพราะพวกเขาจะปีนป่ายไปสู่จุดนั้น  ระบบการตรวจสอบและให้รางวัลจะทำให้เขามีความสุข  บางทีใช้เวลาทำงานมากเกินไปอาจต้องสนับสนุนให้พักผ่อนหรือลาพักร้อนเพื่อความสมดุล

 4.  คนโศกซึ้ง  ( The  Tragic  Romantic )         เป็นคนที่ต้องการที่จะเข้าใจความรู้สึกตัวเอง  แสวงหาความหมายของชีวิต  หลีกเลี่ยงความสามัญธรรมดา  ต้องการงานที่แตกต่าง  งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ค์  ประสิทธิภาพของงานขึ้นอยู่กับสภาพอารมณ์  มีบุคลิกศิลปิน  ช่างจินตนาการ  ต้องการแสดงความรู้สึกออกมา  อยากให้คนอื่นมองว่าเป็นคนพิเศษ  ข้อด้อยไม่สามารถแยกเรื่องรักใคร่ส่วนตัวออกจากกิจธุระ  ก้าวร้าว  หรือพยายามขับคู่แข่งขันออกไปจากพื้นที่การทำงาน  แต่ชอบคนเก่งที่อยู่นอกทีม  จะว้าวุ่นรู้สึกเหี่ยวเฉา  ถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่คนเก่งกว่า  หรือได้รับความสำคัญกว่า         สื่อสารกับคนลักษณ์  4 ต้องการความสนับสนุนทางจิตใจ  ความรู้สึกเป็นสิ่งสำคัญ  อย่าหนีหน้าเวลาเขาแสดงอารมณ์  แม้อารมณ์จะขึ้นๆ  ลงๆ  แต่ประสิทธิภาพการทำงานจะกลับคืนมาด้วยเมื่อสติเขากลับคืนมา         สร้างแรงจูงใจโดย จะถูกขับเคลื่อนด้วยความสนใจอย่างพิเศษ  ตารางทำงานอาจไม่มีแบบแผนไม่เหมือนใคร  ควรบอกให้ตระหนักเรื่องเวลา  หากคุณเป็นหัวหน้าเตรียมรับมือกับงานล่าช้า  หรือการขาดงานของลูกน้องกลุ่มนี้ไว้บ้าง

 5.  นักสังเกตการณ์  ( The  observer )         เป็นคนที่ต้องการรู้และเข้าใจในสิ่งต่างๆ  ด้วยตนเอง  หลีกเลี่ยงความรู้สึกของการถูกครอบงำหรือบุกรุก  ชอบสะสม  ชอบอยู่คนเดียว  ใช้ความคิดหรือในสิ่งที่ตนสนใจ  ต้องการอะไรที่คาดการณ์ได้  ตัดสินใจโดยปราศจากความรู้สึกส่วนตัว  จะถือว่าการแสดงอารมณ์เป็นการเสียการควบคุมตนเอง  หลีกเลี่ยงความขัดแย้งจนถึงที่สุด  จะมีประสิทธิภาพมากถ้าไม่ต้องยุ่งเกี่ยวหรือสังสรรค์กับใคร  ทำงานหนักได้ถ้าได้รับความเป็นอิสระและความเป็นส่วนตัว         สื่อสารกับคนลักษณ์  5 เป็นคนที่คนอื่นอาจรู้จักเขาน้อยหรือไม่ค่อยเข้าใจ  เพราะไม่ชอบเล่าเรื่องส่วนตัวให้ใครฟัง  ยิ่งเข้าใกล้ยิ่งถอยห่าง  ดังนั้น  พึงเคารพในพื้นที่ของเขา  ปล่อยให้คิดเห็นอย่างเป็นอิสระ  ไม่ควรคะยั้นคะยอถามว่ารู้สึกอย่างไร
 สร้างแรงจูงใจโดย ให้เวลาในการเสนอแนวคิด  วิสัยทัศน์  เขาชอบอยู่ในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเปิดโอกาสให้ได้ประเมินสิ่งต่างๆ  แต่อาจจะยากหากให้เขาเป็นคนแรกในการแยกประเด็น

 6.  นักปุจฉา  ( The  Questioner )         เป็นคนต้องการความมั่นคงปลอดภัย  เป็นคนกลัวการขู่คุกคามแล้วจะแสดงความกลัวออกมา  ระแวดระวัง  ขี้สงสัย  ลังเล  มองโลกในแง่ร้าย  บางครั้งพยายามทำตัวให้ถูกใจคนอื่น  ส่วนประเภทกลัวแล้วจะสู้จะดูกล้าหาญ  ท้าทายเพื่อปกปิดความกลัว  ส่วนใหญ่จะมีลักษณะทั้งสองปนกัน

         สื่อสารกับคนลักษณ์  6 พยายามลดช่องว่างของความเสี่ยงให้มากที่สุด  แต่คาดหวังผลลัพธ์สูง  เป็นคนที่ไม่สามารถพูดในที่สาธารณะ  ต้องการการยืนยันแน่นอนก่อนจะเคลื่อนไหว         สร้างแรงจูงใจโดย หากทีมงานแสดงให้เขาสามารถวางใจได้  ไม่มีอะไรซ่อนเร้น  คนลักษณ์นี้จะซื่อสัตย์ภักดีอย่างมาก  ส่วนอีกวิธีหนึ่งควรป้องกันเรื่องสภาพจิตใจ  อย่าปล่อยให้เป็นคนคิดมาก  เพราะอาจเป็นคนระแวงจนเกินไป  ช่วยขจัดความลังเล  และพยายามสร้างสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้มั่นคง  ไว้ใจได้

7.  นักผจญภัย  ( The  Adventure )         เป็นคนต้องการที่จะมีความสุข  หลีกเลี่ยงความทุกข์  ความเจ็บปวด  ปิดบังความกระวนกระวายด้วยการทำตัวให้ยุ่ง  และมีแผนการมากมายที่ยังไม่ได้ลงมือทำ  มีความรู้สึกข้างในว่าตัวเองเก่งและมีคุณค่า  เปิดรับความคิดใหม่ๆ  มากกว่าความจำเจ  เป็นพวกต่อต้านอำนาจแบบลักษณ์ แต่จะใช้วิธีเล็ดลอดแทนการเผชิญหน้าโดยตรง  ละมุนละม่อมในการแก้ปัญหา  มักเป็นเพื่อนร่วมงานที่สร้างความสุข  สนุกสนานให้เสมอ  ด้วยการมีอารมณ์ขัน  ความคิดสร้างสรรค์และการให้อภัย  ชอบความสัมพันธ์แบบเท่าเทียมกัน  แต่ก็มีแนวโน้มเบี่ยงแบนชักจูงคนอื่นเพื่อตนเอง         สื่อสารกับคนลักษณ์  7 ด้วยความเป็นคนมองโลกในแง่ดี  ทำให้เป็นคนสบายๆ  ง่ายๆ  แต่บ่อยครั้งก็หละหลวม  จึงยากที่จะควบคุมคนพวกนี้  สิ่งหนึ่งคือควรช่วยประสานแนวคิดให้เป็นไปในทางเดียวกัน  พยายามให้เขามองด้านลบไปพร้อมกับด้านบวก         สร้างแรงจูงใจ ต้อนรับวิสัยทัศน์แง่บอกอย่างยินดี  ร่วมแชร์ความคิดกับเขา  เพราะจะสนุกสนานในการพบปะผู้คน  ไม่ควรใช้วิธีการสั่งการหรือควบคุม  เพราะเขาจะทำตัวลื่นไหลและหนีห่างจากความรับผิดชอบ

8.  เจ้านาย  ( The  Boss )         มีความต้องการพึ่งตนเอง  เข้มแข็ง  มีอิทธิพลต่อโลกเป็นพวกมีปัญหาเกี่ยวกับความโกรธและหลงลืมตัวเอง  ชอบสวมบทบาทผู้คุมกฎ  แตกต่างจากลักษณ์ ตรงที่เขาพร้อมจะแสดงความโกรธออกมาได้เสมอ  ในสถานการณ์ที่ไม่มีผู้นำก็แสดงบทบาทเอง  อาจมองการประนีประนอมว่าเป็นการยินยอม  อ่อนแอ  มีความกังวลอย่างสูงว่าจะถูกครอบงำ  สนใจเรื่องความถูกต้องยุติธรรมและการปกป้องคน  ข้อด้อย  มักมองว่าตนเองถูกยึกเป็นศูนย์กลางโกรธอย่างตรงไปตรงมา  ไม่มีวาระซ่อนเร้น  แสดงความโกรธแบบไม่ยั้ง  สนับสนุนกฎเกณฑ์ที่เข้ากับตนเอง  เบี่ยงเบนกฎที่ไม่ถูกใจ         สื่อสารกับคนลักษณ์  8 ควรสื่อสารแบบตรงไปตรงมา  เมื่อเขาโกรธหรือตำหนิติเตียนก็ยอมรับ  แต่อย่าเอามาเป็นเรื่องส่วนตัว  คนลักษณ์นี้รับมือกับข่าวร้ายได้ดี  แต่หากมองข้ามเขาจะทำให้รู้สึกเหมือนถูกทรยศหักหลัง  ตรงไปตรงมาดีกว่า         สร้างแรงจูงใจโดย เต็มไปด้วยความปรารถนาในชีวิต  พลังการแข่งขัน  ท้าทาย  ควรให้การเคารพนับถือ  ความยุติธรรม  และการสื่อสารที่ซื่อตรงหากต้องการให้เขาเป็นพันธมิตร


 9.  นักประสานไมตรี  ( The  Peacemaker )         เป็นคนหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทุกรูปแบบ  ดูผ่อนคลายสบายๆ  มีความต้องการมีสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานและเจ้านาย  ชอบการทำงานชัดเจนหรือทำงานเป็นกระบวนการทำงานได้รวดเร็ว  ประสานงานดี  วางลำดับความสำคัญงานยาก  แต่ก็ไม่ชอบถูกกะเกณฑ์โดยคนอื่น  ทำงานแข่งกับเส้นตาย  ใช้เวลาจนนาทีสุดท้าย  ข้อด้อย  มักหลงลืมความต้องการ  แต่บางทีก็แสดงความโกรธออกมาอย่างไม่รู้ตัว  เพิกเฉยปัญหาแล้วก็โทษระบบ  โทษการจัดการว่าไม่ดีซะอย่างนั้น         สื่อสารกับคนลักษณ์  9 หากเขาไม่ตอบรับแสดงว่าเขาปฏิเสธ  หากต้องการให้ตกลงควรวางกรอบการสนทนาที่ชัดเจน  พยายามควานหาความต้องการของเขาใส่ไปในโครงการด้วย         สร้างแรงจูงใจโดย ควรแสดงออกว่าเขามีคุณค่า  จุดแข็งคนลักษณ์  9  มองภาพกว้างจะช่วยในการมองยุทธศาสตร์ได้ดี  ทำงานกับลักษณ์นี้ต้องใช้ความประนีประนอม  ใจเย็นสักนิด  อย่ายืนกรานตลอดเวลา  อาจต้องใช้เวลาพอสมควรหากให้ต้องการให้ซึมซับความคิดต่างๆ

ขอขอบคุณที่มา : หนังสือพิมพ์  โพสต์ทูเดย์  ฉบับวันจันทร์ที่  3  ตุลาคม  2548 

 

สุขกับงาน

ความสุขในการทำงานของพนักงานจึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่พนักงานรู้สึกสนุกกับงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำเท่านั้น  แต่ยังรวมถึงความสามารถของทีมงานที่จะกระตุ้นให้ พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบและใช้ศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่

      ความสุขของคนที่ได้จากการทำงานในองค์กร เมื่อมาทำงานในแต่ละวัน มีความแตกต่างกับความสุขที่เกิดขึ้นกับแต่ละบุคคลอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากมีองค์ประกอบมากมายที่ต้องมาผสมผสานกัน ต้องอาศัยความเข้าใจจากทุกฝ่ายในองค์กรต้องอาศัยวัฒนธรรมองค์กรที่จะเป็นตัวผลักดันให้เป้าหมายเดินไปได้ อีกทั้งต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้นำองค์กรอีกด้วย การทำงานให้มีความสุขเกิดจากหลายอย่าง เช่น การให้พนักงานออกกำลังกาย การจัดมุมเอื้ออาทรโดยการจัดให้มีการแลกเปลี่ยน จัดให้มีกิจกรรมสังคมร่วมกัน จัดให้มีสันทนาการร่วมกัน จัดให้การพัฒนาทักษะเรื่องอาชีพเสริม จัดให้มีพระเทศน์ชื่อดังเข้ามาสอนในเรื่องธรรมะ จัดโครงการเงินฝากประจำให้กับพนักงาน จัดให้มีการประกวดภาพถ่ายครอบครัวพร้อมบรรยากาศประทับใจภายในครอบครัว ในขณะนี้จะสังเกตเห็นว่าคนเราใช้เวลาในที่ทำงานมากกว่าที่บ้าน ฉะนั้นเราต้องทำงานด้วยความสุข เพราะความสุขที่เกิดขึ้นเป็นเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงให้ชีวิตของทุกคนดำรงชีวิตอยู่ได้ ความสุขจึงเป็นเรื่องที่คนทุกคนต้องการมากกว่าสิ่งใด ๆ แต่การได้มาซึ่งความสุขก็ไม่ได้มาง่าย ๆ มนุษย์อาจจะมีความสุขเมื่อมีเวลาอยู่กับครอบครัว มีเวลาทำกิจกรรมร่วมกันของครอบครัว บางคนแม้จะต้องอยู่อาศัยอย่างลำพังในที่พักตนเองโดยไม่มีครอบครัว ก็มีความสุข บางคนไม่ชอบอยู่บ้านแต่ชอบท่องเที่ยว, จับจ่ายซื้อของ นั่นก็เป็นความสุขอีกแบบหนึ่งซึ่งทราบกันดีว่าที่มนุษย์มีความต้องการที่แตกต่างกันเสมอ       เห็นหรือยังว่าการทำงานอะไรก็แล้ว  หรือจะทำอะไรก็ตามถ้าเรามีความสุขการทำงานนั้นเราก็จะทำงานได้อย่างมีความสุข  และสนุกกับมันทำโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย  และงานที่ออกมาก็จะได้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

การสร้างความสุขในการทํางาน

เทคนิคการสร้างความสุขในการทํางานด้วยการบริหารตนเอง (Techniques for Improving Happiness in the Workplace) คุณเคยถามตัวเองบ้างไหมว่าคุณมีความสุขกับงานที่ทำอยู่หรือไม่? คุณมีพฤติกรรมอย่างไรเมื่อคุณทำงานแล้วไม่สนุกกับสิ่งที่ทำ? คุณรู้สึกหดหู่หรือเบื่อหน่ายเมื่อคุณกำลังก้าวเข้าออฟฟิตของคุณบ้างไหม? คุณรู้สึกไหมว่าช่วงเวลาในการทำงานของคุณช้ามาก? คุณเป็นคนที่ชอบหาโอกาสที่จะลางานอยู่เสมอหรือไม่? ทั้งหมดนี้เป็นคำถามเพื่อให้คุณเริ่มสำรวจตัวคุณเองว่าคุณกำลังมีความสุขหรือความทุกข์ในชีวิตการทำงานของคุณ และคุณเองนั่นแหละที่จะบอกได้ว่าคุณกำลังมีความสุขและสนุกกับช่วงวันเวลาในการทำงานของคุณอยู่หรือไม่
++ทุกข์สุข อยู่ที่ใจ….คงไม่มีใครที่จะทำให้คุณมีความสุขหรือความทุกข์ได้นอกจาก "จิตใจของคุณเอง" ซึ่งเป็นความคิด ความรู้สึกที่เกิดขึ้นต่อบุคคล สิ่งของ หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คุณเข้าไปสัมผัส ทั้งนี้โดยทั่วไปคุณจะปล่อยให้จิตเป็นนายคุณ …. นั่นแหละที่คุณจะปล่อยให้ความรู้สึกต่าง ๆ เข้ามามีผลทำให้คุณมีความสุขหรือความทุกข์ไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบข้างตัวคุณ
ดังนั้นการบริหารหรือควบคุมจิตจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อสร้างความสุขและสนุกกับงานที่กำลังทำอยู่ ดังนั้นคุณควรฝึกอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว…...โดยมีเทคนิคและวิธีการง่ายๆดังนี้
1. "อย่า" คิดเล็กคิดน้อย" กับเรื่องเล็กน้อย (Don't be petty Minded) คุณอย่าเก็บเอาเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันมาคิดซะทุกเรื่อง พยายามอย่าเอาคำพูดหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันมาเป็นอารมณ์ ให้คิดเสียว่ามันผ่านมาแล้วก็ผ่านไป.. หากคุณมัวแต่เอาเวลามาคิดว่า วันนี้นายมาต่อว่าคุณทำงานแย่มาก ลูกค้าบ่นว่าคุณพูดจาไม่สุภาพ เพื่อนร่วมงานชอบพูดจาเสียดสีคุณย่อมแน่นอนว่าคุณจะไม่มีเวลาในการคิดพัฒนางานของคุณเลย คุณควรจะ "คิดใหญ่ ไม่คิดเล็ก" โดยฝึกคิดแต่สิ่งที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับในหน้าที่การงานจากสังคมหรือคนรอบข้างตัวคุณ ดังนั้นคุณควรใช้เวลาในแต่ละวันกับการคิดถึงเป้าหมายของคุณและคุณจะทำอย่างไรเพื่อให้คุณเดินทางไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้จะดีกว่า และความคิดเหล่านี้เองมันจะส่งผลให้คุณมีความกระตือรือร้นในการทำงาน สนุกกับสิ่งที่คุณทำอยู่ตลอดเวลา
2. "อย่า" ต่อว่าองค์กร (Don't blame the company)  มีหลายต่อหลายคนที่มีความรู้สึกไม่รักในองค์กรที่กำลังทำงานอยู่ คุณไม่มีความรู้สึกผูกพันกับองค์กร และมีความรู้สึกว่า "ทนอยู่" เพื่อรอรับเงินเดือนเมื่อครบสิ้นเดือนเท่านั้น คุณมักจะต่อว่าหรือพูดถึงองค์กรของคุณในทางที่ไม่ดี….ปรับเงินเดือนน้อย ให้โบนัสแค่นี้เอง บริษัทน่าจะมีอย่างโน้น อย่างนี้และอื่น ๆ อีกมากมายคุณอย่าลืมว่าคุณเองเลือกที่จะทำงานอยู่ในองค์กรแห่งนี้ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นบ้านที่สองของคุณ โดยคุณต้องใช้เวลาอยู่ในบ้างที่สองแห่งนี้อาจมากกว่าเวลาที่คุณอยู่ในบ้านของคุณเสียอีก และเพราะคุณเลือกที่จะทำงานในองค์กรนี้แล้วทำไมคุณไม่เลือกที่จะรักในองค์กรที่คุณกำลังใช้ชีวิตร่วมด้วย คุณอย่าบอกว่าทนทำงานอยู่ในองค์กรนั้น ๆ เพราะว่าคุณไม่มีที่ไป ดังนั้นขอให้คุณย้อนคิดไปว่าไม่มีองค์กรไหนที่เห็นความสำคัญของตัวคุณ นอกจากองค์กรที่คุณกำลังทำงานอยู่ เพราะเค้ารับคุณและยอมให้คุณมาร่วมงานด้วยซึ่งเค้าเห็นศักยภาพและความสามารถของตัวคุณเอง….องค์กรของคุณให้โอกาสคุณ ซึ่งไม่เหมือนกับองค์กรอื่น ๆ ที่ปฏิเสธและไม่ยอมรับคุณคิดเพียงเท่านี้ คุณจะมีความรู้สึกดี ๆ กับองค์กรของคุณ อาจไม่ถึงขนาดว่าจะต้องรักหรือผูกพันก็ได้ (ไม่ห้ามกัน)ซึ่งจะช่วยให้คุณมีความสุขในการทำงานให้กับองค์กรของคุณเอง
3. "อย่า" เลือกทำงานที่รัก (Love the work that you do and don't do only the work that you love) หากคุณเป็นผู้หนึ่งที่ไม่สามารถเลือกทำงานที่ตนเองรักได้ ขอให้คุณเลือกที่จะรักงานที่คุณทำ และเพื่อให้คุณมีความสุขและรู้สึกสนุกกับงานที่คุณกำลังทำอยู่ ขอให้คุณพิจารณาในสิ่งต่อไปนี้
1. งานที่คุณกำลังทำคืออะไร
2. ประโยชน์อะไรที่คุณได้จากการทำงานนั้น ๆ
3. คุณมีวิธีในการพัฒนาปรับปรุงงานของคุณอย่างไร
4. คุณต้องปรับปรุงศักยภาพหรือความสามารถในด้านใดบ้าง
5. คุณจะหาวิธีการในการเรียนรู้งานใหม่ ๆ ได้อย่างไร
6. งานที่ทำอยู่มีอะไรบ้างที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์กับเป้าหมายของคุณในอนาคต
ขอให้คุณใช้เวลาในการคิดและหาคำตอบจากคำถามเหล่านี้ แล้วคุณจะพบ "คุณค่า (Value)" ที่เกิดขึ้นในตัวคุณ ซึ่งคุณค่าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในตัวคุณนี้เองจะทำให้คุณทำงานอย่างมีความสุข มีความตื่นตัวและกระตือรือร้นในการทำงานอยู่เสมอ มีความพร้อมที่จะพัฒนาตนเองและการทำงานให้ดีขึ้น และพร้อมที่จะเรียนรู้งานใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา

4. "อย่า" ให้ร้ายหัวหน้างาน (Don't belittle your boss)หัวหน้างานมีหลายประเภท หลากหลายรูปแบบหัวหน้าเจ้าอารมณ์หัวหน้าสั่งอย่างเดียว หัวหน้าชอบคนประจบหัวหน้าที่วันวันทำแต่งาน….ซึ่งในชีวิตของการทำงานคุณคงจะเลือกทำงานกับหัวหน้างานในแบบฉบับที่คุณชอบไม่ได้อย่างแน่นอน คุณมักจะพบเจอกับหัวหน้างานหลากหลายประเภทที่อาจทำให้คุณกุมขมับอยู่ทุกวัน นั่นอาจเป็นเพราะคุณเข้ากับหัวหน้าของคุณไม่ได้ หรือคุณมีความรู้สึกว่าหัวหน้างานของคุณน่าจะทำอย่างโน้น อย่างนี้ (เค้าน่าจะสอนงานคุณ เค้าน่าจะทำงานและรู้งานมากกว่าคุณ เค้าควรจะช่วยแก้ปัญหาให้คุณ)ไม่ควรทำอย่างโน้น อย่างนี้ (เค้าไม่ควรพูดแบบนี้..เค้าไม่ควรสั่งงานคุณอย่างนี้) มีหลากหลายประเภทที่คุณจะพบเจอในองค์กรของคุณเองซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ทางที่ดีที่สุดก็คือคุณควรเข้าใจในเหตุผลของความคิดและการกระทำของหัวหน้างานของคุณเองคุณควรเคารพและให้เกียรติหัวหน้าคุณ คอยสนับสนุนและช่วยเหลือหัวหน้าคุณเท่าที่จะทำได้
5. "อย่า" ดูถูกเพื่อนร่วมงาน หรือคนรอบข้าง (Don't look down at your colleagues)ไม่มีใครที่จะประสบความสำเร็จในการทำงานโดยลำพัง แน่นอนว่าความสำเร็จย่อมเกิดขึ้นจากความร่วมมือของบุคคลรอบข้างตัวคุณ ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือในด้านการให้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ การให้ความช่วยเหลือในด้านอื่น ๆ ซึ่งคุณควรมองคนที่คุณค่าของเค้า อย่าดูถูกความคิดหรือความสามารถของคนอื่น ทุกคนมีความทักษะและความชำนาญในงานที่แตกต่างกัน คุณทำงานของคุณได้ แต่คุณอาจไม่สามารถทำงานของคนอื่นได้ เช่น คุณสามารถทำงานบัญชีได้ แต่คุณอาจไม่สามารถทำงานคอมพิวเตอร์ได้ เป็นต้น ดังนั้นคุณควรให้เกียรติเพื่อนร่วมงานหรือคนรอบข้างคุณที่คุณต้องประสานงานหรือติดต่อด้วย พยายามอย่าเอาการศึกษามาวัดที่ค่าของคนหรือความสามารถของคน (มีปัจจัยอื่น ๆ ที่ใช้วัดความสามารถของคน นอกจากการศึกษา เช่น ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ (Emotional Quotient: EQ) ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability)…ขอให้คุณศึกษาและปรับตัวให้เข้ากับคนได้ทุกประเภทและทุกระดับ
ดังนั้นหากคุณมีความคิดที่ดีและการกระทำแต่สิ่งที่ดีต่อองค์กร หัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน/คนรอบข้าง และตัวงานของคุณเองเพียงเท่านี้คุณเองย่อมจะมีความสุขและสนุกกับชีวิตในการทำงานของคุณ

บทเรียนมนุษย์เงินเดือน

คนที่กำลังทะเลาะกันมองไม่เห็นหรอกว่าตัวเองถูกหรือผิด คนที่ไม่เคยลำบากไม่รู้ หรอกว่าความลำบากนั้นเป็นอย่างไร คนที่ไม่เคยเป็นหนี้ไม่รู้หรอกว่าการรอคอยให้หมดหนี้ นั้นทรมานเพียงใด คนที่ไม่เคยตกงานไม่รู้หรอกว่าการได้งานทำนั้นสำคัญแค่ไหน ฯลฯ เรื่องบางเรื่องในชีวิตเราอาจจะมีโอกาสทดลองหรือสัมผัสได้มากกว่าหนึ่งครั้ง เรื่องบางเรื่องมีโอกาสแก้ตัวได้ เช่น เคยลำบากมาก่อนเมื่อผ่านชีวิตมาได้แล้วก็พอจะรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ไห้ลำบากอีกครั้ง แต่…..เรื่องบางเรื่องในชีวิตนี้จะผ่านมาและเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ไม่มีโอกาสแก้ตัว เพราะเรื่องบางเรื่องต้องอาศัยเวลาเกือบทั้งชีวิตจึงจะรู้ว่าสิ่งที่ผ่านมานั้นถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี และเรื่องที่สำคัญเรื่องหนึ่งสำหรับคนที่เป็นลูกจ้างหรือมนุษย์เงินเดือนคือประสบการณ์ชีวิตหรือข้อคิดจากการเป็นลูกจ้าง ข้อคิดหรือบทเรียนส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นเมื่อเวลาล่วงเลยไปแล้ว ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ผิดซ้ำเรื่องเดิมกับคนรุ่นก่อนๆ จึงขอเป็นตัวแทนของรุ่นพี่ๆ อดีตมนุษย์เงินเดือนมาบอกเล่าให้ฟังว่าคนที่เคยทำงานกินเงินเดือนในรุ่นพี่ที่ผ่านๆ มาเขาหันกลับมามองอดีตแล้วเกิดความรู้สึก เสียดาย อะไรบ้างหรือพูดง่ายๆ คือ เรื่องไหนบ้างที่อดีตมนุษย์เงินเดือนคิดว่าถ้าย้อนเวลากลับมาได้จะทำให้ดีกว่าที่ผ่านมา

เสียดายไม่ตั้งใจทำงานในช่วงแรกของชีวิตการทำงาน
ไม่ว่าจะเป็นอดีตมนุษย์เงินเดือนหรือมนุษย์เงินเดือนรุ่นพี่ๆ ในปัจจุบัน มักจะรู้สึกเสียดายกับชีวิตการทำงานที่ผ่านมาเนื่องจากช่วงแรกๆ ของการทำงานไม่ค่อยตั้งใจและทุ่มเทมากนัก เนื่องจากตอนนั้นคิดว่าทำงานแลกกับเงิน ได้เงินน้อยก็ทำน้อย ที่ไหนให้มากก็ขยันขึ้นมาหน่อย คิดอย่างเดียวว่าถ้าขยันทำงาน เจ้านายจะติดใจและใช้มากขึ้นเรื่อยๆ เราก็เหนื่อยอยู่คนเดียว มารู้ตัวอีกครั้งก็ต่อเมื่อทำงานไปตั้งนานไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเสียที เด็กรุ่นใหม่ๆ ที่พึ่งเข้ามาแซงหน้าไปเสียแล้ว ที่สำคัญชีวิตช่วงแรกที่ทำงานมักจะเป็นช่วงที่เรารู้สึกว่าทำงานเหนื่อยกว่าตอนเรียน ดังนั้น วัยนี้คนทำงานบางคนก็เริ่มเที่ยว ดื่ม กิน ใช้ชีวิตเปลืองมาก เลิกงานเสร็จเที่ยวต่อจนดึกจนดื่น เผลอๆ บางวันใส่ชุดเดิมมาทำงาน (เพราะยังไม่ได้กลับบ้าน) แล้วจะทำงานดีได้อย่างไร กายและใจมาทำงานเพียงครึ่งเดียว เพื่อนบางคนก็มัวแต่ทำงานเพื่อค้นหาตัวเองว่างานที่กำลังทำอยู่นั้นใช่สิ่งที่ต้องการหรือไม่ บางคนก็ทำงานเพื่อรอโอกาสหางาน ใหม่ สุดท้ายชีวิตการทำงานในช่วงแรกๆ แทนที่จะมีเส้นการเรียนรู้ที่สูงชันกลับกลายเป็นเส้นการเรียนรู้ที่แบนราบ อายุงานผ่านไป แต่อายุใจที่มีต่องานยังอยู่เท่าเดิม ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากจะตั้งใจและขยันทำงานตั้งแต่ปีแรกที่เข้ามาทำงาน และจะกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ที่รับผิดชอบ และจะลดหรืองดการเที่ยวและดื่มให้น้อยลง เพราะตอนนี้ผลกรรมเริ่มสนองให้เห็นแล้วว่าการใช้ชีวิตแบบประมาทนั้นส่งผลต่อสุขภาพร่างกายระยะยาว

เสียดายที่แต่งงานเร็วไปหน่อย
มนุษย์เงินเดือนเงินหลายคนเสียโอกาสในความก้าวหน้าในอาชีพไปเพราะรีบเป็นฝั่งเป็นฝาเร็วเกินไป คิดว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่แล้ว หาเงินได้เองแล้ว ปกครองและดูแลตัวเองได้แล้ว ก็ริคิดที่จะไปเอาคนอื่นมาดูแลเพิ่มเติม (ทั้งๆ ที่ยังไม่ทันได้ดูแลพ่อแม่ที่ส่งเสียให้เรียนมาจนจบ) เมื่อชีวิตแต่งงานเข้ามาเร็วชีวิตครอบครัวเข้ามาเร็ว ปัญหาประจำตำแหน่งชีวิตคู่ก็เข้ามาเร็ว ทั้งๆ ที่อายุงานและประสบการณ์ชีวิตในหน้าที่การงานยังน้อยอยู่ ทำให้ปัญหาครอบครัวเริ่มมาเป็นตัวถ่วงในเรื่องความก้าวหน้าในอาชีพ เพราะไหนจะต้องให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น เวลาที่ทุ่มเทกับงานก็น้อยลง ถ้าใครยังทุ่มเทกับงานมากอยู่อีกก็จะทำให้เกิดปัญหาครอบครัว เงินเก็บที่ยังไม่เต็มที่ก็ต้องควักออกมาใช้ เพราะมีลูกทั้งๆ ที่ยังไม่พร้อมในหลายๆ ด้าน คิดง่ายๆ ว่าในช่วงเวลาเดียวกันเพื่อนเราที่ยังไม่แต่งงานเขามีเวลาทุ่มเทกับการทำงานเพื่อปีนป่ายขึ้นไปสู่จุดหมายแห่งความสำเร็จ ในขณะที่เราต้องปีนป่ายเหมือนกับเขา แต่เราต้องกระเตงคู่สามีหรือภรรยาและลูกไปด้วย นึกดูเอาเองก็แล้วกันนะค่ะว่าใครจะปีนไปได้สูงและไกลกว่ากัน ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากจะทำงานก่อนสักระยะหนึ่ง อย่างน้อยก็ได้มีโอกาสเลื่อนตำแหน่งมาบ้างแล้วจึงคิดจะแต่งงาน อย่างน้อยก็ต้องมีเงินเก็บมาบ้างแล้ว หรืออาจจะต้องมีประสบการณ์ในการทำงานที่เพียงพอต่อการหางานใหม่ที่มีตำแหน่งที่สูงกว่าก่อนจึงจะแต่งงาน และการที่เรามีเวลาทำงานผ่านไปสักระยะหนึ่งก็น่าจะมีเวลาในการคบหาหรือดูใจกับที่เราจะเลือกมาเป็นคู่ได้ดีขึ้น

เสียดายที่ไม่ได้ศึกษาต่อ   ความเสียดายข้อนี้เชื่อว่าเกินครึ่งของมนุษย์เงินเดือนที่มีความรู้สึกแบบนี้ เพราะตอนเข้ามาทำงานแรกๆ เกือบทุกคนมักจะคิดว่าจะหาเวลาศึกษาต่อ รอเก็บเงินค่าเทอมไปสักพักก่อนและรอให้ทำงานเข้าที่ก่อน แต่ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่างทำให้มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่พลาดเป้าหมายนี้ไป เช่น งานยุ่งไม่มีเวลาเรียน พอจะเรียนก็เปลี่ยนงาน (เหตุผลเดิม คือ รอให้งานเข้าที่แล้วค่อยเรียน) ไม่มีเงินค่าเทอม ขี้เกียจอ่านหนังสือ สอบไม่ได้ (เพราะไม่ตั้งใจ) ใจอยากเรียนแต่ไม่เคยแม้แต่จะลงมือทำอะไรเลย เลือกที่เรียนมากเกินไป บางคนลองไปเรียนแล้วแต่ไปไม่รอดเพราะแบ่งเวลาไม่เป็น อดีตมนุษย์เงินเดือนหลายคนคิดย้อนกลับไปว่าถ้าตอนนั้นเรียนต่อในระดับนั้นระดับนี้ ป่านนี้คงจะประสบความสำเร็จไปมากกว่านี้แน่นอน เพราะมีอยู่ช่วงหนึ่งมีโอกาสดีๆ เข้ามาในชีวิต คุณสมบัติครบทุกอย่าง ขาดอย่างเดียวคือวุฒิการศึกษาไม่ถึง เลยเสียโอกาสที่สำคัญในชีวิตการทำงานไป มาถึงตอนนี้ก็แก่เกินเรียนแล้ว ยิ่งออกมาทำธุรกิจส่วนตัวถึงแม้เวลาจะมีมากขึ้น แต่กำลังใจมีน้อยลง แรงใจมีน้อยลง และไม่รู้จะเรียนไปทำไม เพราะงานธุรกิจส่วนตัวที่ทำอยู่ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิการศึกษาสูงๆ ก็ได้ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ คิดว่าจะต้องตัดสินใจเรียนตั้งแต่เพิ่งเริ่มทำงานใหม่ๆ สักปีสองปี จะยอมอดทนไปสักระยะหนึ่ง และจะเรียนให้จบก่อนที่จะเปลี่ยนงานใหม่หรือมีครอบครัว

เสียดายที่มัวแต่ทะเลาะกับเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน   มนุษย์เงินเดือนหลายคนเสียเวลาไปกับปัญหาคนเยอะมาก ทั้งปัญหาหัวหน้า ปัญหาเพื่อนร่วมงาน บางคนก็มีปัญหากับลูกน้องอีก วันๆ เสียเวลาของสมองไปกับการคิดถึงปัญหาคนอื่น ตอนที่เป็นลูกจ้างเรามักจะคิดว่าปัญหาทะเลาะกับคนทำงานเป็นปัญหาใหญ่ เลยใช้เวลากับมันมาก เครียดกับมันบ่อยแทบจะไม่มีเวลาไปพัฒนาหรือปรับปรุงหรือพัฒนาตนเองเลย ตอนนั้นลืมไปว่าจริงๆ แล้วไม่มีใครทำงานอยู่กับเราไปตลอดชีวิตและเราเองก็ไม่ได้ทำงานอยู่กับคนที่เราไม่ชอบไปตลอดชีวิตเช่นกัน แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดแบบนี้ คิดอย่างเดียวว่าวันนี้เรากับเขาจะมีปัญหากันเรื่องอะไรอีก คิดว่าเรื่องเมื่อวานมันเกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นคนผิด ทำไมเขาจึงเป็นคนแบบนั้น สุดท้ายเราก็จะจมอยู่กับปัญหา คนที่บางครั้งเคยหนีจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งแล้ว ปัญหาคนเก่าหายไป แต่….ปัญหาคนใหม่ก็เกิดขึ้น ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากจะคิดเสียว่าปัญหาคนเหมือนกับปัญหารถชนกันบนถนนที่เราไม่ต้องไปสนใจกับมันให้มากนัก แต่เราควรจะสนใจว่าเส้นทางที่เรากำลังจะเดินไปนั้นอยู่ไกลหรือไม่ เรามีเวลาเหลืออีกนานหรือไม่ ต้องคิดว่าไม่มีใครทำงานกับเราไปตลอดชีวิตและเราเองก็ไม่ได้ทำงานกับใครไปตลอดชีวิตเช่นกัน และคิดว่าถ้าเรารับปัญหาคนอื่นไม่ได้ เราคงจะก้าวขึ้นไปในตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงขึ้นไปไม่ได้ เพราะยิ่งสูงปัญหาคนยิ่งมากและซับซ้อนมากขึ้น

เสียดายที่เปลี่ยนงานมากไปหน่อย   ถ้าดูประวัติมนุษย์เงินเดือนบางคน จะเห็นว่าเปลี่ยนงานทุกปีๆ ละครั้งสองครั้ง ตอนที่เปลี่ยนงานก็มีเหตุผลมาสนับสนุนมากมาย เช่น เงินเดือนสูงกว่า อยู่ใกล้บ้าน เบื่อที่ทำงานเก่า งานใหม่ท้าทายกว่า อยากทำงานกับบริษัทข้ามชาติ ฯลฯ แต่เมื่อมาถามตอนนี้ว่าผลการเปลี่ยนงานบ่อยในอดีตสรุปว่าดีหรือไม่ คำตอบที่ได้ก็มีทั้งดีและไม่ดี แต่หลายคนตอบถ้าพิจารณาถึงผลระยะยาวแล้วอาจจะไม่เป็นผลดีมากนัก เพราะประสบการณ์ในแต่ละที่นั้นน้อยเกินไป ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากจะทำงานในแต่ละที่ไม่น้อยกว่า 3 ปี เพราะน่าจะเป็นเวลาที่เราได้ครบทั้งการเรียนรู้ (Learn) การทำงาน (Perform) และการพัฒนาปรับปรุงงาน (Improve) แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นอาจจะต้องขึ้นอยู่กับช่วงชีวิต เพราะบางช่วงอาจจะเปลี่ยนบ่อยเพราะตลาดกำลังโต ชีวิตกำลังรุ่ง แต่บางช่วงอาจจะต้องอยู่นาน เพราะต้องหยุดพักหายใจและสั่งสมประสบการณ์ ก่อนที่จะไต่ระดับขึ้นสู่เพดานบินที่สูงขึ้น

เสียดายที่ไม่ตั้งใจเรียนภาษาต่างประเทศ   เสียดายภาษาอังกฤษไม่ดี เป็นคำพูดที่ได้ยินจากอดีตมนุษย์เงินเดือนที่ไปสัมภาษณ์งานมาใหม่ๆ ที่มักจะรู้สึกเสียดายบริษัทฝรั่งที่เสนอเงินเดือนให้สูงๆ แต่ติดที่ภาษาอังกฤษไม่กระดิกเลย เพราะไม่ได้จบ (เมือง) นอก และทำงานแต่บริษัทคนไทยจึงไม่มีโอกาสได้ใช้ภาษาอังกฤษเลย บางคนจะหันมาเอาดีในการเรียนภาษาก็ต่อเมื่อบินสูงแล้ว ซึ่งพัฒนาได้ยากแล้วเพราะมีเวลาน้อยและภารกิจทั้งเรื่องงานและเรื่องครอบครัวที่เพิ่มมากขึ้น ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ จะเรียนภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษตั้งแต่เริ่มทำงานและจะเลือกทำงานกับบริษัทต่างชาติตั้งแต่ต้น หรือไม่ก็อาจจะหาเงินไปเรียนต่อต่างประเทศ

เสียดายที่หาตัวเองเจอช้าไปหน่อย   มนุษย์เงินเดือนบางคนทำงานมาเป็นสิบปีแล้ว ยังหาตัวเองไม่เจอเลยว่าเป้าหมายชีวิตของตัวเองคืออะไร จะทำงานเป็นลูกจ้างไปเรื่อยๆ จนเกษียณหรือจะออกไปทำอาชีพอิสระ ขนาดถามว่างานที่ชอบหรืออยากทำคืองานอะไรยังตอบไม่ได้เลย อย่างนี้จะก้าวหน้าในอาชีพการงานได้อย่างไรละ พูดง่ายๆ คืออดีตมนุษย์เงินเดือนหลายคนทำงานเหมือนกับพายเรืออยู่ในอ่าง วันๆ ก็ตื่นขึ้นมาไปทำงานเสร็จงานกลับบ้าน จันทร์ถึงศุกร์ทำงาน เสาร์อาทิตย์อยู่บ้าน รูปแบบชีวิตเหมือนเดิมเป็นเดือนเป็นปีบางคนเป็นสิบปี มารู้ตัวอีกทีก็ช้าไปเสียแล้ว เพื่อนๆ รุ่นเดียวกันไปไหนต่อไหนจนมองไม่เห็นหลังกันแล้ว ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากจะวางแผนชีวิตตัวเองตั้งแต่เริ่มทำงานว่าอีกกี่ปีจะเป็นอะไร จะทำอะไร จะต้องได้อะไร และแต่ละวันแต่ละเดือน แต่ละปีควรจะทำอะไรบ้าง อย่างไร

เสียดายที่ทำงานอยู่ที่ใดที่หนึ่งนานเกินไป   คนบางคนไม่ได้เปลี่ยนงานบ่อย แต่ไม่เคยเปลี่ยนงานเลย ตอนที่ทำงานอยู่รู้สึกว่าเราเป็นคนดีขององค์กรที่ไม่ยอมเปลี่ยนงานไปไหนเลย แต่พอชีวิตการทำงานผ่านเลยไปก็รู้สึกเสียใจและเสียดายเหมือนกันที่ชีวิตการทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียว สังคมเดียว คนบางคนอยู่ที่ใดที่หนึ่งนานเกินไปช่วงเวลาที่กำลังรุ่งก็ไม่ยอมเปลี่ยนงาน พอจังหวะชีวิตผ่านไปก็คิดจะเปลี่ยนงาน ก็ทำได้ยากแล้ว เพราะเงินเดือนสูง อายุงานเยอะ แต่ตำแหน่งต่ำ ไปสมัครตำแหน่งที่สูงเกินไปเขาก็ไม่รับ สมัครในตำแหน่งที่เท่าเดิมก็แก่กว่าคนอื่นๆ (แถมเงินเดือนสูงอีกต่างหาก) ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากจะเปลี่ยนงานในจังหวะที่เหมาะสมเพื่อปรับเพดานบินให้เหมาะสมกับอายุตัวและอายุงาน โดยไม่ต้องยึดติดว่าจะต้องอยู่กับองค์กรใด องค์กรหนึ่งนานจนเกินไป
  ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์เงินเดือนควรจะเชื่อและเอาแบบอย่าง แต่ก็ไม่อยากให้มนุษย์เงินเดือนมองข้ามคำว่า
เสียดาย ของมนุษย์เงินเดือนรุ่นพี่ๆ หรืออดีตมนุษย์เงินเดือนไป อย่างน้อยก็น่าจะนำไปเป็นคำถามตัวเองว่าเราอยากรู้สึกเสียดายในเรื่องนั้นเรื่องนี้เหมือนรุ่นพี่ๆ หรือไม่ ถ้าไม่เราควรจะทำอย่างไรตั้งแต่วันนี้