Category Archives: การบริหารจัดการ

3 สิ่งที่ไม่หวนกลับ

หลายสิ่งหลายอย่างเรายอมสละออกไปจากชีวิต เพราะรู้ว่าสักวันจะสรรหากลับมาดังเดิม หรือ ดีกว่าเดิมได้ แต่มีอยู่ 3 สิ่ง ซึ่งได้แก่ “คำพูด เวลา และโอกาส” ที่เมื่อปล่อยหลุดผ่านไปแล้ว แม้จะแอบเรียกร้อง พยายามไขว้คว้าให้กลับมาเหมือนเดิม ก็ดูจะเป็นเรื่องยาก หรือ อาจกล่าวได้ว่า สายไปเสียแล้ว!

1.“คำพูด” ซึ่งไม่ว่าจะดี ร้าย เมื่อสื่อสารออกไปให้ผู้อื่นได้ยิน ย่อมไม่สามารถเรียกคืน หรือ ลบล้างได้ วาจาจะกลายเป็นนายตั้งแต่พูดจบประโยคทุกครั้งไป ดังนั้น ก่อนเอ่ยคำ ควรชิงทำหน้าที่เป็นนายอย่างเต็มที่ คิดก่อนพูด เอาใจเขามาใส่ใจเรา ยึดความสัตย์จริง รักษาคำพูด จะช่วยเรียกมิตร เป็นที่ยกย่อง และน่านับถือน้ำใจ

2. “เวลา” ใน 1 วัน ทุกคนมีเวลาเท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะบริหาร หรือ จัดการให้เกิดประโยชน์ได้ดีกว่า ซึ่งในความเป็นจริงแล้วชีวิตมนุษย์สั้นเกินจะทำทุกสิ่งได้ครบอย่างตั้งใจ หลายคนจึงไม่หยุดนิ่งนาน วางแผนใช้เวลาคุ้มค่าเพื่อสร้างกำไรด้านปัจจัย 4 ให้ตนเอง และครอบครัวได้ดำรงอยู่อย่างมั่นคง แข็งแรงที่สุด

3. “โอกาส” ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักในชีวิตหลาย ๆ คน และส่วนใหญ่ก็มาถึงโดยไม่ทันตั้งตัว ผู้ที่เตรียมตัวเองให้พร้อมเสมอ เพื่อรอจังหวะ และใช้โอกาสที่รับมานั้นให้ดีที่สุด ย่อมได้ประโยชน์

สำคัญเช่นนี้ พึงระวังใช้ “สติ” ควบคุมรักษา 3 สิ่งมีค่า “คำพูด เวลา และโอกาส” ไม่ให้สูญหายอย่างน่าเสียดาย

Ref. http://variety.teenee.com/foodforbrain/45384.html

การบริหารคนนอกตำราของคุณบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา

บิลล์ เกตส์ และ สตีฟ จ๊อบส์  คือบุคคลระดับโลกที่จะถูกเล่าขานจากรุ่นสู่รุ่นว่า  แม้พวกเขาจะเรียนไม่จบแต่กลับประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด  เช่นเดียวกับ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา  ประธาน<a class="anchor-link" href="http://www.bangkokbiznews.com/home/search/?cx=009233870810540600983%3Ahkyg0dlysoo&cof=FORID%3A9&ie=windows-874&q=เครื

9 ลักษณ์ ในการบริหารคน

แน่นอนหากบุคลากรของทุกองค์กรเป็นบุคลากรที่เปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพ  ก็ย่อมเป็นประโยชน์ต่อองค์กรนั้นๆ  และตัวบุคลากรเองก็ยังเป็นที่น่าเชื่อถือและเป็นแบบอย่างที่ดีให้คนรุ่นใหม่ต่อไปได้ปฏิบัติเป็นอย่างที่ดีแต่การที่ทำให้ทุกคนมีประสิทธิภาพเหมือนกันได้หมดคงไม่ใช่เรื่องง่าย  ซึ่งต้องอาศัยเวลาพอสมควร  แต่ทว่านั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินความสามารถไปนัก  หากรู้จักเรียนรู้และพัฒนาตนเองสม่ำเสมอ  เมื่อรู้จักตนเองดีพอแล้วต้องไม่ลืมที่จะให้ความร่วมมือกันในทีม
เอ็นเนียแกรม  คืออะไร
 เอ็นเนียแกรม  เป็นศาสตร์โบราณเกี่ยวกับการวิเคราะห์ลักษณะคน  ศึกษาและรวบรวมโดยนักบวชลัทธิซูฟีของศาสนาอิสลาม  ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในต่างประเทศ  สำหรับประเทศไทยเอ็นเนียแกรมได้เข้ามาเมื่อ 8 ปีที่แล้วและแพร่หลายในกลุ่มเล็กๆ  โดยท่านสันติกโรภิกขุ  พระภิกษุชาวอเมริกัน  ซึ่งศาสตร์นี้เป็นภาษาไทยว่า  นพลักษณ์  อันหมายถึงลักษณะ 9 แบบ  และที่สำคัญนพลักษณ์ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับไสยศาสตร์  โหราศาสตร์  โหงวเฮ้ง  ไม่เกี่ยวกับหลักธรรมของศาสนาใดๆ  แต่ทว่าเป็นศาสตร์ที่ช่วยอธิบายพฤติกรรมทางด้านจิตวิญญาณและจิตวิทยาของตนเองและผู้อื่นที่เรามองไม่เห็นหรือไม่เข้าใจนั่นเอง

ปัจจุบันมีหลายองค์กรได้นำทักษะความรู้ในเรื่องนพลักษณ์ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาบริหาร  และกระตุ้นประสิทธิภาพการทำงานมีประโยชน์หลากหลาย  เช่น  พัฒนาตนเองให้ดีขึ้น  มอบหมายคนให้ตรงกับงาน  ลดความขัดแย้ง  ลดความแตกต่าง  พัฒนาการเพื่อการสื่อสารระหว่างบุคคล  ทั้งนี้ยังช่วยส่งเสริมการทำงานเป็นทีมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี  ศาสตร์นพลักษณ์นั้นเสมือนหนึ่งเป็นเครื่องมือสำรวจตัวเองเพื่อให้มีประสิทธิภาพ  ดังนั้น  คุณจะต้องเข้าใจก่อนว่าไม่ได้เกิดจากสิ่งภายนอกแต่เกิดจากภายในตัวบุคคล  และหากอยากจะรู้ว่าคุณเป็นคนลักษณ์ใดนั้นก็ต้องหมั่นสังเกตตนเอง  ให้เวลากับตัวเอง  อยู่กับความคุ้นเคยบ่อยๆ  รวมถึงเรียนรู้เพื่อนร่วมงาน  หัวหน้า  ลูกน้องว่าเป็นคนลักษณ์ใด  ซึ่งแต่ละลักษณ์ก็มีทั้งข้อดีข้อเสียทั้งต่างและคล้ายกันอยู่บ้าง  และมีแนวทางการปรับปรุงต่างกันไป  เรียกว่าเมื่อเรียนรู้กันและกันแล้ว  คราวนี้ก็เข้าสู่การเข้าใจตนเองและยอมรับผู้อื่นในสิ่งที่เขาเป็น  ก็จะช่วยให้สื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

9 ลักษณ์  ประกอบด้วย

 1.  คนสมบูรณ์แบบ (The  Perfectionist)
          เป็นคนลักษณะที่เรียกว่าต้องการปรับปรุงตนเองและมีชีวิตในแบบที่ถูกต้อง  เป็ฯคนชอบวิพากษ์วิจารณ์ตนเองและผู้อื่น  ในด้านเด่นคนนี้ลักษณ์เป็นคนทำงานหนัก  อุทิศตนให้งาน  มีวินัยในตนเองสูง  ทำอะไรเป็นแบบแผน  ซื่อสัตย์  มีอุดมคติและจริยธรรม  ต้องการรางวัลในการทำงานแลต่ไม่ยอมร้องขอ  เมื่อโกรธจะไม่ค่อยแสดงออก  ในด้านด้อยอาจมีแนวโน้มชอบตัดสินคนอื่น  ช่างวิตกกังวล  ชอบโต้เถียง  เหน็บแนม  ดื้อรั้น  และมักเอาจริงเอาจังเกินไป  รวมไปถึงนิสัยที่ชอบควบคุมคนอื่น สื่อสารกับคนลักษณ์พยายามเติมอารมณ์ขันเล็กๆ  น้อยๆ  ไปในวงสนทนา  แสดงให้เห็นว่าไม่ได้หัวเราะสิ่งที่เขาพูด  เพิ่มน้ำหนักให้กับประเด็นที่เขาค้านหัวชนฝาหากเป็นวิธีเดียวที่ทำให้งานเดิน  พยายามต้อนรับคำวิพากษ์วิจารณ์คนลักษณ์นี้เถอะ  หากยังอยู่ในบริบทที่เป็นบวกหรือเหมาะสม         สร้างแรงจูงใจโดย กำหนดบทบาทการทำงานให้เขาเพราะคนลักษณ์นี้กลัวความผิดพลาด  หรือไม่ก็ประสานความสมบูรณ์แบบเข้ากับความเป็นจริง  สร้างมาตรฐานของงานกับเขาโดยใช้วิสัยทัศน์เชิงบวก  และที่สำคัญคุณต้องซื่อสัตย์และยุติธรรมกับเขาพอ

 2.  ผู้ให้  (The  Giver)         เป็นคนที่ต้องการมีคุณค่า  เป็นที่รักของคนอื่น  มีจิตวิทยาในการสื่อสารกับคนอื่นมาก  เข้ากับคนอื่นได้ดี  และมีพลังเหลือเฟือมาจากความภาคภูมิใจที่มาพร้อมกับภาพลักษณ์ในฐานะผู้ให้ความช่วยเหลือ  ชอบทำตัวเป็นมือขวาในการทำงาน  เหมือนพวกเลขาฯ  รู้ความลับเจ้านาย  ประมาณว่ากุมอำนาจอยู่เบื้องหลัง  ชอบเป็นศูนย์กลางข้อมูลของทุกๆ อย่าง  ชอบให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำ  ไม่ว่าคนอื่นต้องการหรือไม่ก็ตาม  มีหลายบุคลิก  ปรับเปลี่ยนตนเองไปตามสถานการณ์และความต้องการของคนอื่น  ด้านไม่ดีอาจควบคุมคนอื่นด้วยการประจบ  เยินยอ  คนลักษณ์นี้จัดเป็นนักสื่อสารตัวยง สื่อสารกับคนลักษณ์  2 ควรใช้กิริยาและน้ำเสียงที่อบอุ่น  แสดงความสนใจเป็นการส่วนตัวและชื่นชมในตัวเขาไม่ควรให้ความคาดหวังเพราะเขาอาจหวังว่าจะต้องได้รับในเรื่องการวิพากษ์ต้อง  ชี้ชัดตรงประเด็น         สร้างแรงจูงใจโดย สัมพันธภาพที่ดีเป็นสิ่งสำคัญที่เขาต้องการ  ในการทำงานมักลำดับว่าเป็นงานของใคร  ซึ่งก็จะให้ความสำคัญกับผู้มีอำนาจมากกว่าก่อน  ซึ่งจริงๆ  ต้องโฟกัสไปที่งาน  ไม่ใช่ที่คน

 3.  นักแสดง  ( The  Performer )          เป็นผู้ใฝ่ความสำเร็จ  แรงจูงใจคือการเป็นที่ยอมรับนับถือ  ประสบความสำเร็จในงานทุกด้าน  ภายนอกดูเป็นคนมีความสุขและมองคนในแง่ดี  การรักษาภาพลักษณ์เป็นสิ่งที่เขาใส่ใจทุ่มเททำงานหนัก  บ้างานจนทิ้งครอบครัว  ไม่ดูแลตัวเองหวังว่าคนอื่นจะทำงานหนักด้วย  เลี่ยงความล้มเหลวทุกประการ  เลือกทางที่จะได้รับการตอบรับที่ดีเท่านั้น  ถ้าเกิดความล้มเหลวจะโยนใส่คนอื่น  ชอบแข่งขัน  มุ่งเอาชนะ  ต้องการชิงตำแหน่งผู้นำ  ทนการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้         สื่อสารกับคนลักษณ์  3 ใช้วิธีการสื่อสารแบบเซลล์แมน  เขาสามารถปรับตัวให้เข้ากับทุกโอกาส  ด้วยความที่เป็นคนห่วงภาพลักษณ์อย่างมาก  ดังนั้น  วิธีการสื่อสารคือแสดงให้เห็นว่า  “ นับถือความสามารถเขาจริงๆ  แต่ไม่เห็นด้วยกับประเด็นนี้
 สร้างแรงจูงใจโดย ควรฉาพภาพเส้นทางสู่ความสำเร็จในองค์กรอย่างชัดเจน  เพราะพวกเขาจะปีนป่ายไปสู่จุดนั้น  ระบบการตรวจสอบและให้รางวัลจะทำให้เขามีความสุข  บางทีใช้เวลาทำงานมากเกินไปอาจต้องสนับสนุนให้พักผ่อนหรือลาพักร้อนเพื่อความสมดุล

 4.  คนโศกซึ้ง  ( The  Tragic  Romantic )         เป็นคนที่ต้องการที่จะเข้าใจความรู้สึกตัวเอง  แสวงหาความหมายของชีวิต  หลีกเลี่ยงความสามัญธรรมดา  ต้องการงานที่แตกต่าง  งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ค์  ประสิทธิภาพของงานขึ้นอยู่กับสภาพอารมณ์  มีบุคลิกศิลปิน  ช่างจินตนาการ  ต้องการแสดงความรู้สึกออกมา  อยากให้คนอื่นมองว่าเป็นคนพิเศษ  ข้อด้อยไม่สามารถแยกเรื่องรักใคร่ส่วนตัวออกจากกิจธุระ  ก้าวร้าว  หรือพยายามขับคู่แข่งขันออกไปจากพื้นที่การทำงาน  แต่ชอบคนเก่งที่อยู่นอกทีม  จะว้าวุ่นรู้สึกเหี่ยวเฉา  ถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่คนเก่งกว่า  หรือได้รับความสำคัญกว่า         สื่อสารกับคนลักษณ์  4 ต้องการความสนับสนุนทางจิตใจ  ความรู้สึกเป็นสิ่งสำคัญ  อย่าหนีหน้าเวลาเขาแสดงอารมณ์  แม้อารมณ์จะขึ้นๆ  ลงๆ  แต่ประสิทธิภาพการทำงานจะกลับคืนมาด้วยเมื่อสติเขากลับคืนมา         สร้างแรงจูงใจโดย จะถูกขับเคลื่อนด้วยความสนใจอย่างพิเศษ  ตารางทำงานอาจไม่มีแบบแผนไม่เหมือนใคร  ควรบอกให้ตระหนักเรื่องเวลา  หากคุณเป็นหัวหน้าเตรียมรับมือกับงานล่าช้า  หรือการขาดงานของลูกน้องกลุ่มนี้ไว้บ้าง

 5.  นักสังเกตการณ์  ( The  observer )         เป็นคนที่ต้องการรู้และเข้าใจในสิ่งต่างๆ  ด้วยตนเอง  หลีกเลี่ยงความรู้สึกของการถูกครอบงำหรือบุกรุก  ชอบสะสม  ชอบอยู่คนเดียว  ใช้ความคิดหรือในสิ่งที่ตนสนใจ  ต้องการอะไรที่คาดการณ์ได้  ตัดสินใจโดยปราศจากความรู้สึกส่วนตัว  จะถือว่าการแสดงอารมณ์เป็นการเสียการควบคุมตนเอง  หลีกเลี่ยงความขัดแย้งจนถึงที่สุด  จะมีประสิทธิภาพมากถ้าไม่ต้องยุ่งเกี่ยวหรือสังสรรค์กับใคร  ทำงานหนักได้ถ้าได้รับความเป็นอิสระและความเป็นส่วนตัว         สื่อสารกับคนลักษณ์  5 เป็นคนที่คนอื่นอาจรู้จักเขาน้อยหรือไม่ค่อยเข้าใจ  เพราะไม่ชอบเล่าเรื่องส่วนตัวให้ใครฟัง  ยิ่งเข้าใกล้ยิ่งถอยห่าง  ดังนั้น  พึงเคารพในพื้นที่ของเขา  ปล่อยให้คิดเห็นอย่างเป็นอิสระ  ไม่ควรคะยั้นคะยอถามว่ารู้สึกอย่างไร
 สร้างแรงจูงใจโดย ให้เวลาในการเสนอแนวคิด  วิสัยทัศน์  เขาชอบอยู่ในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเปิดโอกาสให้ได้ประเมินสิ่งต่างๆ  แต่อาจจะยากหากให้เขาเป็นคนแรกในการแยกประเด็น

 6.  นักปุจฉา  ( The  Questioner )         เป็นคนต้องการความมั่นคงปลอดภัย  เป็นคนกลัวการขู่คุกคามแล้วจะแสดงความกลัวออกมา  ระแวดระวัง  ขี้สงสัย  ลังเล  มองโลกในแง่ร้าย  บางครั้งพยายามทำตัวให้ถูกใจคนอื่น  ส่วนประเภทกลัวแล้วจะสู้จะดูกล้าหาญ  ท้าทายเพื่อปกปิดความกลัว  ส่วนใหญ่จะมีลักษณะทั้งสองปนกัน

         สื่อสารกับคนลักษณ์  6 พยายามลดช่องว่างของความเสี่ยงให้มากที่สุด  แต่คาดหวังผลลัพธ์สูง  เป็นคนที่ไม่สามารถพูดในที่สาธารณะ  ต้องการการยืนยันแน่นอนก่อนจะเคลื่อนไหว         สร้างแรงจูงใจโดย หากทีมงานแสดงให้เขาสามารถวางใจได้  ไม่มีอะไรซ่อนเร้น  คนลักษณ์นี้จะซื่อสัตย์ภักดีอย่างมาก  ส่วนอีกวิธีหนึ่งควรป้องกันเรื่องสภาพจิตใจ  อย่าปล่อยให้เป็นคนคิดมาก  เพราะอาจเป็นคนระแวงจนเกินไป  ช่วยขจัดความลังเล  และพยายามสร้างสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้มั่นคง  ไว้ใจได้

7.  นักผจญภัย  ( The  Adventure )         เป็นคนต้องการที่จะมีความสุข  หลีกเลี่ยงความทุกข์  ความเจ็บปวด  ปิดบังความกระวนกระวายด้วยการทำตัวให้ยุ่ง  และมีแผนการมากมายที่ยังไม่ได้ลงมือทำ  มีความรู้สึกข้างในว่าตัวเองเก่งและมีคุณค่า  เปิดรับความคิดใหม่ๆ  มากกว่าความจำเจ  เป็นพวกต่อต้านอำนาจแบบลักษณ์ แต่จะใช้วิธีเล็ดลอดแทนการเผชิญหน้าโดยตรง  ละมุนละม่อมในการแก้ปัญหา  มักเป็นเพื่อนร่วมงานที่สร้างความสุข  สนุกสนานให้เสมอ  ด้วยการมีอารมณ์ขัน  ความคิดสร้างสรรค์และการให้อภัย  ชอบความสัมพันธ์แบบเท่าเทียมกัน  แต่ก็มีแนวโน้มเบี่ยงแบนชักจูงคนอื่นเพื่อตนเอง         สื่อสารกับคนลักษณ์  7 ด้วยความเป็นคนมองโลกในแง่ดี  ทำให้เป็นคนสบายๆ  ง่ายๆ  แต่บ่อยครั้งก็หละหลวม  จึงยากที่จะควบคุมคนพวกนี้  สิ่งหนึ่งคือควรช่วยประสานแนวคิดให้เป็นไปในทางเดียวกัน  พยายามให้เขามองด้านลบไปพร้อมกับด้านบวก         สร้างแรงจูงใจ ต้อนรับวิสัยทัศน์แง่บอกอย่างยินดี  ร่วมแชร์ความคิดกับเขา  เพราะจะสนุกสนานในการพบปะผู้คน  ไม่ควรใช้วิธีการสั่งการหรือควบคุม  เพราะเขาจะทำตัวลื่นไหลและหนีห่างจากความรับผิดชอบ

8.  เจ้านาย  ( The  Boss )         มีความต้องการพึ่งตนเอง  เข้มแข็ง  มีอิทธิพลต่อโลกเป็นพวกมีปัญหาเกี่ยวกับความโกรธและหลงลืมตัวเอง  ชอบสวมบทบาทผู้คุมกฎ  แตกต่างจากลักษณ์ ตรงที่เขาพร้อมจะแสดงความโกรธออกมาได้เสมอ  ในสถานการณ์ที่ไม่มีผู้นำก็แสดงบทบาทเอง  อาจมองการประนีประนอมว่าเป็นการยินยอม  อ่อนแอ  มีความกังวลอย่างสูงว่าจะถูกครอบงำ  สนใจเรื่องความถูกต้องยุติธรรมและการปกป้องคน  ข้อด้อย  มักมองว่าตนเองถูกยึกเป็นศูนย์กลางโกรธอย่างตรงไปตรงมา  ไม่มีวาระซ่อนเร้น  แสดงความโกรธแบบไม่ยั้ง  สนับสนุนกฎเกณฑ์ที่เข้ากับตนเอง  เบี่ยงเบนกฎที่ไม่ถูกใจ         สื่อสารกับคนลักษณ์  8 ควรสื่อสารแบบตรงไปตรงมา  เมื่อเขาโกรธหรือตำหนิติเตียนก็ยอมรับ  แต่อย่าเอามาเป็นเรื่องส่วนตัว  คนลักษณ์นี้รับมือกับข่าวร้ายได้ดี  แต่หากมองข้ามเขาจะทำให้รู้สึกเหมือนถูกทรยศหักหลัง  ตรงไปตรงมาดีกว่า         สร้างแรงจูงใจโดย เต็มไปด้วยความปรารถนาในชีวิต  พลังการแข่งขัน  ท้าทาย  ควรให้การเคารพนับถือ  ความยุติธรรม  และการสื่อสารที่ซื่อตรงหากต้องการให้เขาเป็นพันธมิตร


 9.  นักประสานไมตรี  ( The  Peacemaker )         เป็นคนหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทุกรูปแบบ  ดูผ่อนคลายสบายๆ  มีความต้องการมีสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานและเจ้านาย  ชอบการทำงานชัดเจนหรือทำงานเป็นกระบวนการทำงานได้รวดเร็ว  ประสานงานดี  วางลำดับความสำคัญงานยาก  แต่ก็ไม่ชอบถูกกะเกณฑ์โดยคนอื่น  ทำงานแข่งกับเส้นตาย  ใช้เวลาจนนาทีสุดท้าย  ข้อด้อย  มักหลงลืมความต้องการ  แต่บางทีก็แสดงความโกรธออกมาอย่างไม่รู้ตัว  เพิกเฉยปัญหาแล้วก็โทษระบบ  โทษการจัดการว่าไม่ดีซะอย่างนั้น         สื่อสารกับคนลักษณ์  9 หากเขาไม่ตอบรับแสดงว่าเขาปฏิเสธ  หากต้องการให้ตกลงควรวางกรอบการสนทนาที่ชัดเจน  พยายามควานหาความต้องการของเขาใส่ไปในโครงการด้วย         สร้างแรงจูงใจโดย ควรแสดงออกว่าเขามีคุณค่า  จุดแข็งคนลักษณ์  9  มองภาพกว้างจะช่วยในการมองยุทธศาสตร์ได้ดี  ทำงานกับลักษณ์นี้ต้องใช้ความประนีประนอม  ใจเย็นสักนิด  อย่ายืนกรานตลอดเวลา  อาจต้องใช้เวลาพอสมควรหากให้ต้องการให้ซึมซับความคิดต่างๆ

ขอขอบคุณที่มา : หนังสือพิมพ์  โพสต์ทูเดย์  ฉบับวันจันทร์ที่  3  ตุลาคม  2548 

 

เคล็ดลับในการบริหารองค์กร

ในองค์กร หรือบริษัทขนาดกลางหรือขนาดย่อมที่เพิ่งก่อร่างสร้างตัว จำเป็นจะต้องมีผู้บริหารที่มีความรู้และทักษะในงานบริหารจัดการที่ดี จึงจะสามารถบริหารงานให้เกิดประสิทธิภาพและนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และนำพาองค์กรให้ก้าวหน้าเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มุ่งสู่ความเป็นที่หนึ่งในอนาคต ดังนั้น ในการเป็นผู้บริหารที่จะนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้นั้น จะต้องมีเคล็ดลับในการบริหารองค์กรด้วย ซึ่งมีเทคนิคที่จะเสนอดังต่อไปนี้
1.รู้จักและรู้ใจลูกค้าของตน ผู้บริหารที่ดีจะต้องรู้จักลูกค้าของตนเองให้ดีก่อนจึงค่อยมาทำการพัฒนาสินค้าให้เหมาะกับลูกค้าของตน โดยสิ่งที่ผู้บริหารต้องรู้เกี่ยวกับลูกค้าและสินค้า คือ คุณค่าของสินค้าที่ลูกค้าต้องการคืออะไรและทำไม กระบวนการในตัดสินใจซื้อของลูกค้าเป็นอะไรและมีกำหนดกรอบเวลาในการตัดสินใจอย่างไร เป้าหมายของสินค้าคืออะไร ต้นทุนสินค้าเป็นเท่าใด ควรจะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้านใดมาเพื่อพัฒนาสินค้าของตนเป็นต้น

2.รู้จักวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของลูกค้า ลูกค้าแต่ละรายล้วนมีความแตกต่างกัน วัฒนธรรมหรือไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในแต่ละประเทศย่อมต่างกันไปด้วย ผู้บริหารต้องคิดให้กว้างไกล เพื่อที่จะดำเนินการ ให้เหมาะกับประเทศที่ลูกค้าอยู่ ซึ่งสิ่งนี้จำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องรู้และเข้าใจวิธีชีวิตของลูกค้าในประเทศที่ต้องการไปนำเสนอสินค้า การเข้าไปคลุกคลีกับลูกค้า เพื่อทำการศึกษาและหาข้อมูลเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ผู้บริหารสามารถคัดสรรสินค้าที่ต่างกันและเหมาะกับลูกค้าของตนในแต่ละประเทศได้ การพัฒนากลยุทธ์ให้เหมาะกับแต่ละประเทศเป็นปัจจัยสำคัญให้ผู้บริหารประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ
3.เป้าหมายชัดเจนวัดผลได้ ควรกำหนดเป้าหมายและวิธีการวัดผลเป้าหมาย เช่น ยอดขาย ส่วนแบ่งตลาด กำไรก่อนภาษี ผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม เช่น วัดเป็นจำนวน เปอร์เซ็นต์ มูลค่าเงิน เป็นต้น เป้าหมายต้องสำเร็จได้ เป็นจริงได้ และต้องมีกรอบเวลาที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นระยะสั้นหรือระยะยาวก็ตาม
4.กำหนดแผนงานไว้ให้ชัดเจน ผู้บริหารต้องรับผิดชอบในการกำหนดกลยุทธ์ระยะยาวและแผนงานประจำปี เพื่อเป็นแนวทางให้ไปถึงเป้าหมายที่มุ่งหวังได้ แผนงานจะรวมถึงข้อความที่กำหนดนิยาม ของคุณค่าที่จะให้กับลูกค้า และข้อเปรียบเทียบในเชิงแข่งขันกับคู่แข่ง นอกจากนี้ วัตถุประสงค์ กลยุทธ์และกลวิธีก็ควรจะมีการระบุให้ชัดเจนและต้องให้ทุกคนในทีมงานรับรู้ และเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน
5.ต้องเรียนรู้วิธีเข้าถึงทรัพยากรที่ต้องการ ผู้บริหารจะต้องรู้ว่า องค์กรจะต้องมีทรัพยากรในด้านใดจึงจะทำให้องค์กรสามารถดำเนินงานไปได้ และที่สำคัญคือ จะต้องรู้ว่าจะได้ทรัพยากรเหล่านั้นมาได้อย่างไร เช่น คน เวลา ทุน ผู้บริหารต้องขายความคิดเหล่านี้ให้กับพนักงานเพื่อให้ทุกคนรับรู้และสนับสนุนการทำงานของผู้บริหารในการพัฒนาสินค้าใหม่ขึ้นมาในทิศทางเดียวกัน
6.พัฒนาทักษะในการบริหารบุคลากร ทักษะในการบริหารบุคลากร เป็นสิ่งที่จะวัดความสามารถของผู้บริหารในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายได้ ผู้บริหารจะต้องมีความเป็นผู้นำและสามารถกระตุ้น ให้ทุกคนตระหนักในการทำงาน การเข้าถึงพนักงานด้วยการสอบถามพนักงาน จะช่วยให้ผู้บริหารรับรู้ปัญหาในการทำงาน และนำมาแก้ไขเพื่อให้สามารถปรับปรุงการทำงาน ให้ดีขึ้นได้ และสิ่งสำคัญผู้บริหารจะต้องบอกให้ทุกคนในองค์กรรู้ว่าผู้บริหารต้องการสิ่งใดจากพวกเขา
7.สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกสู่ตลาดอยู่เสมอ การแข่งขันในระยะยาวจำเป็นจะต้องมีสินค้าใหม่ ๆ ออกมาสู่ตลาดอยู่เสมอ ผู้บริหารจะต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เช่น คน โรงงาน อุปกรณ์ เพื่อให้สามารถ ออกสินค้าใหม่ได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ในการแข่งขัน ยิ่งถ้าสินค้าใดมีต้นทุนคงที่ต่ำ ยิ่งต้องพยายามออกสินค้านั้นให้เร็วที่สุด เนื่องจากสินค้าลักษณะนี้ จะถึงจุดคุ้มทุนได้เร็ว
8.คำว่า"ขอบคุณ"ใช้ให้ชินปาก ผู้บริหารต้องเรียนรู้ในการพูดคำว่า "ขอบคุณ" กับทุกคนในองค์กรไม่ว่าจะมีตำแหน่งสูงหรือต่ำ คำว่า "ขอบคุณ" เป็นเพียงคำสั้น ๆ แต่เป็นเครื่องมืออันทรงพลัง เมื่อใช้อย่างเหมาะสม เช่น การที่ผู้บริหารกล่าวขอบคุณพนักงานระดับปฏิบัติที่สามารถแสดงความคิดเห็นที่ดีในการแก้ปัญหาในการทำงาน ย่อมจะทำให้พนักงานรู้สึกดีเป็นอย่างมากและมีกำลังใจในการทุ่มเทการทำงานให้เต็มที่ยิ่งขึ้นไปอีก ผู้บริหารที่อ่อนน้อมถ่อมตนไม่บ้าอำนาจจะเป็นที่รักของลูกน้อง และพนักงานทุกระดับ การทำงานอย่างมีวิสัยทัศน์ มองการณ์ไกลและเป็นไปได้ จะช่วยเติมไฟ และพลังในการทำงานในพนักงานทุ่มเททำงานอย่างมุ่งมั่น และสนุกกับงานที่ทำ อันจะส่งผลให้องค์กรก้าวหน้าสู่ความเป็นหนึ่งในที่สุด

ขอฝากคำคมไว้ว่า

อย่ากลัวล้มทั้งๆที่ยังไม่เริ่มต้น

กลยุทธ์ของการบริการ ด้วยวิธีชนะใจลูกค้าด้วยการบริการ

ในปัจจุบัน ธุรกิจมีการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้นต่างฝ่ายต่างงัดเอายุทธวิธีทางการตลาดขึ้นมาใช้ไม่ว่าจะเป็นการลดแลกแจกแถม การคิดค้นสร้างสรรค์สินค้าใหม่ๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกธุรกิจจะขาดเสียไม่ได้คือ กลยุทธ์ของการบริการ ซึ่งหมายถึงวิธีชนะใจลูกค้าด้วยการบริการ เบื้องหลังความสำเร็จทางธุรกิจ เรามักพบว่างานบริการเป็นเครื่องมือสนับสนุนงานด้านต่างๆ เช่นงานประชาสัมพันธ์ งานต้อนรับ งานฝ่ายการตลาด เป็นต้นเพราะถ้าบริการดี ลูกค้าเกิดความประทับใจ ยอดขายก็จะเพิ่มขึ้น อีกทั้งการบริการยังถือเป็นหน้าเป็นตาขององค์กรทว่าการบริการจะดีหรือไม่ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับตัวของพนักงาน และอีกส่วนขึ้นกับความใส่ใจขององค์กรที่จะพัฒนางานด้านบริการนี้ขึ้นมา
พนักงานนักบริการอย่างแท้จริง
วิธีสร้างนักบริการมืออาชีพองค์กรต้องสรรหาบุคลากรที่มีคุณสมบัติบุคลิกภาพที่เหมาะสม จากนั้น จึงพัฒนาเทคนิคการบริการให้กับบุคลากร ซึ่งในแต่ละเรื่อง มีรายละเอียด ดังนี้
คุณสมบัติของผู้ให้บริการ สิ่งที่ผู้ให้บริการควรมีเป็นอันดับแรกคือความเป็นคนที่รักในงานบริการ เพราะคนที่รักในงานบริการจะมีความเข้าใจและให้ความสำคัญต่อลูกค้ามีความกระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือลูกค้ายิ้มแย้มแจ่มใสและเอาใจใส่ดูแลลูกค้าอดทนอดกลั้นเมื่อถูกลูกค้าตำหนิต่อว่า นอกจากนี้ พนักงานที่ให้บริการควรเป็นผู้รู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีด้วย
บุคลิกภาพทั้งลักษณะการแต่งกายที่แลดูสะอาดเรียบร้อยรวมไปถึงอากัปกิริยาที่แสดงออก เช่น การยิ้ม การหัวเราะ การแสดงท่าทางประกอบการพูด สิ่งเหล่านี้ควรเป็นไปโดยธรรมชาติ
เทคนิคการให้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนทนาเพราะการสนทนาเป็นสื่อกลางระหว่างลูกค้ากับผู้ให้บริการการสนทนาให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ มีวิธีการง่ายๆ ดังนี้ สร้างความเป็นกันเอง เพื่อให้ลูกค้าเกิดความอุ่นใจ แสดงความเป็นมิตรโดยอาจแสดงออกทางสีหน้า แววตา กิริยาท่าทางหรือน้ำเสียงที่สุภาพ อ่อนโยน มีหางเสียง อาทิเช่น ขอประทานโทษครับ(ค่ะ) มีอะไรให้ผม(ดิฉัน)ช่วยประสานงานได้บ้างครับ(ค่ะ) กรุณารอสักครู่นะครับ(ค่ะ) เป็นต้น การพูดจาต้องชัดเจนง่ายต่อการเข้าใจ และไม่เร็วหรือรัวจนลูกค้าไม่รู้เรื่อง
เน้นการฟังเป็นหลัก คือ ผู้ให้บริการควรตั้งใจฟังด้วยความอดทนขณะที่ลูกค้าพูดไม่ควรแสดงอาการที่ไม่พอใจออกมาสบตากับลูกค้าเป็นระยะพร้อมกิริยาตอบรับ
ทวนคำพูด เพื่อแสดงให้ลูกค้าทราบว่าผู้ให้บริการกำลังตั้งใจฟังในเรื่องที่ลูกค้าพูดอยู่
องค์กรเป็นเยี่ยมบริการเป็นยอด
องค์กรมีส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนางานด้านบริการเป็นอย่างมากเพราะองค์กรถือเป็นแกนหลักในการกำหนดแนวทางการให้บริการเพื่อตอบสนอง ต่อความพึงพอใจของลูกค้าและเทคนิคการพัฒนาระบบงานขององค์กรให้เกิดความสะดวกสบายต่อผู้ใช้บริการ มีดังนี้ จัดระบบการทำงานให้เกิดความคล่องตัว องค์กรควรปรับลดขั้นตอนที่ยุ่งยากให้ง่ายขึ้น เพื่อสร้างการบริการที่สะดวกรวดเร็ว จัดทำลำดับขั้นตอนการให้บริการองค์กรควรจัดทำขั้นตอนการบริการให้ง่ายและไม่ซับซ้อนเพื่อเป็นแนวทางให้ลูกค้าสามารถทำตามได้อย่างถูกต้องและไม่สับสน เรียนรู้ความต้องการของลูกค้าผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ตู้รับความคิดเห็น การสอบถามพูดคุยจากคำตำหนิติเตียนและคำชมเชยต่างๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางปรับปรุงงานบริการในครั้งต่อไป ฝึกอบรมพนักงานให้เกิดทักษะการบริการที่ดีเพื่อนำไปปรับใช้กับส่วนงานที่ตนปฏิบัติหน้าที่อยู่

ไม่มีที่ทำงานไหนไร้ซึ่งปัญหา

ไม่มีที่ทำงานไหนไร้ซึ่งปัญหา ไม่มีออฟฟิตใดไร้ความขัดแย้ง ถ้าคุณบอกว่าชีวิตการทำงานที่ผ่านมา 10 ปีของคุณราบรื่นทุกวัน แสดงว่าคุณเพิ่งตื่นจากความฝันหรือไม่ก็กำลังโกหกตัวเองค่ะ เว้นเสียแต่ว่าคนไม่ต้องทำงานกับคนไม่ต้องพบปะมนุษย์เดินดินค่ะ เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีมนุษย์สองคนหรือสามคนขึ้นไป มาอยู่รวมกัน จะเพื่อทำงานหรือพบปะสังสรรค์กันด้วยเรื่องใดก็ตาม เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่ถกเถียง ขัดแย้ง แสดงความคิดเห็นไม่ตรงกัน ปะทะกันด้วยคารมและอารมณ์ที่ควบคุมได้ยาก
คนทุกคนมีทั้งด้านบวกและด้านลบในตัวเอง ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อคนๆนั้นทำงานโดยใช้ด้านลบของตัวเอง แทนที่จะใช้ด้านบวก ปัญหาอาจเกิดขึ้นโดยขึ้นโดยที่เจ้าตัวไม่ได้ตั้งใจ หรือมีอะไรบางอย่างมาผลักดันให้ทำลงไป บุคคลผู้ก่อปัญหาส่วนใหญ่มักไม่รู้เลยว่า การกระทำของตนเองนั้นได้ส่งผลต่อความรู้สึกของคนอื่นและไม่รู้ด้วยว่า เมื่อได้ทำร้ายความรู้สึกคนอื่นแล้ว ผลเสียของสิ่งที่ตนกำลังทำลงไปจะวนกลับมาส่งผลกระทบต่อตนเองในที่สุด
ในโลกของการทำงานอันยุ่งเหยิงนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะหลักเลี่ยงการเผชิญหน้ากับบุคคลปัญหา ผู้ซึ่งทำให้งานของเรายากขึ้นในทุกวันของชีวิต คนเหล่านี้อาจสร้างปัญหาร้ายแรงที่ทำให้เราโกรธจนทำอะไรไม่ถูก หรือแค่สร้างปัญหาเล็กๆน้อยๆประจำวันให้เรารำคาญใจ แต่ก็ล้วนทำให้เราต้องเหน็ดเหนื่อยมากขึ้นในการที่จะทำงานของเราให้ลุล่วง ที่ผ่านมาคุณอาจเคยแก้ปัญหาด้วยการตอบโต้ ตาต่อตาฟันต่อฟัน ซึ่งคุณก็รู้ดีว่าการระเบิดอารมณ์ใส่กันนั้น เป็นการแก้ปัญหาแค่ชั่วครู่ชั่วยาม คุณรู้ว่าการข่มขู่โดยใช้อำนาจทำให้คู่กรณียอมจำนน เพราะเถียงสู้ไม่ไหว เป็นวิธีที่ง่ายแต่ไม่พึงประสงค์เลยสำหรับมืออาชีพ ใครจะอยากคาดเข็มขัดแชมป์หรา อยากสวมเหรียญทองคำ เดินกร่างไปมาในที่ทำงาน ที่ไม่มีใครชอบเราเลยสักคน
แม้มนุษย์โหยหาชัยชนะ แต่ก็ไม่อาจมีความสุขอยู่ได้กับชัยชนะที่ปราศจากมิตรภาพ ไม่มีใครเดินชมสวนดอกไม้อย่างเป็นสุขได้ ถ้ารู้ว่ามีคนซุ่มรอลอบยิงอยู่ตามทางเดิน ความก้าวร้าวรุนแรงอาจนำมาซึ่งชัยชนะในระยะสั้น แต่เมื่อทำร้ายจิตใจผู้อื่นบ่อยครั้ง ผู้นั้นจะเริ่มกำชัยชนะกลับบ้านด้วยความโดดเดี่ยวที่อ้างว้าง เพราะชัยชนะ บนความปวดร้าวของผู้อื่น ไม่เคยนำความสุขที่แท้จริงมาให้ใคร ความสำเร็จในการทำงานไม่ได้อยู่ที่คุณทำงานเก่งกว่าคนอื่นเท่านั้น แต่อยู่ที่การได้รับการยอมรับและชื่นชมจากคนอื่นด้วย งานนั้นต่อให้ยากเย็นเข็ญใจ แต่เมื่อเรามีความสามารถและความเพียร เราย่อมเอาชนะได้ในที่สุด แต่ความสามารถและความเพียรอาจไม่ช่วยให้คนเก่งเอาชนะหัวใจคนได้ คนที่อยู่ท่ามกลางบุคคลปัญหาสารพัดพิษ แต่ยังสามารถดำรงชีวิตได้อย่างเป็นสุข และสามารถจัดการงานจนสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิผล นี่สิคือ คนเก่ง อย่างแท้จริง ดังนั้นเราจึงกล่าวได้ว่า การเอาชนะใจคนที่เอาชนะยาก เป็นสิ่งท้าทายความสามารถที่สุดในการทำงาน ความจริงที่บาดใจ ก็คือมนุษย์ทุกคนล้วนสร้างปัญหาและคุณเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่อาจเป็นตัวสร้างปัญหาด้วยเช่นกัน ท่านผู้ฟังค่ะจากที่ดิฉันเล่ามาทั้งหมดนี้เราจะมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร วิธีการที่ดีก็คือ การชนะตนเองให้ได้ก่อนชนะคนอื่น ซึ่งมีความสำคัญมาก คุณจะรับมือกับบุคคลปัญหาไม่ได้ ถ้าคุณไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เพราะทันทีที่คุณตอบโต้อย่างขาดสติ คุณจะกลายเป็นผู้ร่วมสร้างปัญหาไปโดยปริยาย ดังนั้นขอให้คุณตั้งมั่น อดทน ฝึกฝนเอาชนะใจตัวเองไปเรื่อยๆ ถ้าคุณสามารถปฏิบัติเช่นนี้แม้กับตัวปัญหาที่เจ้าอารมณ์ที่สุดในสำนักงาน ใครๆที่เห็นเหตุการณ์จะหันมามองคุณด้วยความนับถือ และพร้อมจะเข้าข้างคุณ และแม้ความพยายามที่จะ เอาชนะตัวเอง ให้ได้ อาจไม่ส่งผลดีต่อทันตาเห็นในชั่วโมงนี้ แต่รับรองว่าคุณจะได้รับผลดีของมันแน่นอนในอนาคต เมื่อวันหนึ่งคุณเดินเข้ามาในสำนักงานแล้วพบว่า ใครๆก็อยากทำงานร่วมกับคุณ

ผู้นำองค์กรต้องมีทั้งความเก่งและความดี

แม่ทัพใหญ่ นำทัพต่อสู้ให้อยู่รอดและประสบชัยชนะได้นั้นเป็นเรื่องไม่ธรรมดา โดยเฉพาะในยุคนี้สมัยนี้ สภาพเศรษฐกิจที่ประสบปัญหากันทั่วโลก สังคมที่มีประชากรโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ทรัพยากรธรรมชาติมีจำกัด มีสภาพขาดแคลน มีไม่พอ ทั้งยังเกิดภัยธรรมชาติ เช่น ภาวะโลกร้อน การเกิดภัยทางน้ำเช่นคลื่นยักษ์ การเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงที่ทำลายบ้านเมืองเช่นที่เกิดที่ประเทศจีน ภาวะการขาดแคลนพลังงาน น้ำมันแพง สิ่งแวดล้อมภายนอก เกิดผลกระทบที่สำคัญต่อองค์กร สิ่งแวดล้อมภายใน ยิ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากเช่นเดียวกัน การขัดแย้งกันที่นำไปสู่ความแตกแยก การขาดความสามัคคี ปัญหาด้านจิตใจนั้นใหญ่กว่าปัญหาด้านวัตถุเป็นอันมาก ผู้นำองค์กรต้องมีทั้งความเก่งและความดี มีการปรับปรุงพัฒนาอยู่เสมอ และรวดเร็วทันกับความเปลี่ยนแปลง คอยเสริมดี เพิ่มดี เติมดีอยู่เสมอ พื้นฐานแห่งความสำเร็จ คือ ความตั้งใจ ความเพียร สนใจใส่ใจ และหมั่นทบทวนพิจารณาเพื่อปรับปรุงอยู่เสมอ การนำองค์กร อย่างมีขั้นตอนมีดังนี้ค่ะ
ขั้นตอนที่ 1. เป็นผู้นำในการกำหนดทิศทางให้แก่องค์กร กำหนดวาระในการเปลี่ยนแปลง (Strategic Change Agenda) และกำหนดกลยุทธ์
ขั้นตอนที่ 2. เป็นผู้นำในการวางแผนกลยุทธ์ จัดทำแผนที่กลยุทธ์ (Strategy Maps) กำหนดเป้าหมายที่เหมาะสมในการปรับปรุงพัฒนา และเพื่อดึงให้คนในองค์กรมาร่วมมือกัน
ขั้นตอนที่ 3. เป็นผู้นำในการสร้างความสอดคล้อง (Alignment)ให้เกิดกับทุกหน่วยงาน สื่อสารถึงทิศทางและกลยุทธ์ให้กับทุกคนในองค์กร
ขั้นตอนที่ 4. เป็นผู้นำในการสนับสนุนให้มีการปรับปรุงกระบวนการที่จำเป็นต่อการดำเนินกลยุทธ์ และเชื่อมโยงแผนกลยุทธ์เข้ากับแผนดำเนินงานและงบประมาณ
ขั้นตอนที่ 5. เป็นผู้นำในการติดตามผลดำเนินงาน ติดตามผลในการดำเนินกลยุทธ์
ขั้นตอนที่ 6. เป็นผู้นำในการปรับปรุงกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับข้อมูลและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง
ขั้นตอนดังกล่าวนั้นเป็นการบริหารกลยุทธ์อย่างต่อเนื่องเป็นวงจร หรือที่เรียกว่า Close loop management system ซึ่งในขั้นตอนดังกล่าวเปรียบเสมือน Master Plan จะผูกเครื่องมือในการบริหารย่อยทั้งหมดอีกหลายชนิด
ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญของกองทัพ คือ ขวัญและกำลังใจ หรือพลังจิตของคนในองค์กรเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ หากผู้นำสูญเสียพลังใจแล้วคงไม่สามารถรบได้ถึงร้อยครั้ง อาจสูญสิ้นตั้งแต่การต่อสู้ในครั้งแรก แต่หากมีพลังใจที่ดีแล้ว สู้ไม่ถอย จะเกิดความพร้อมทั้งแรงกายและแรงใจ อีกทั้งสติปัญญา สามารถบรรลุความสำเร็จได้ในที่สุด

การก้าวขึ้นสู่การเป็นหัวหน้างาน

ในการปฏิบัติงานในทุกตำแหน่งหน้าที่ ทุกคนปราถนา ถึงความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงขึ้นด้วยกันทั้งสิ้น แต่การก้าวไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นนั้น ต้องทำให้หลายต่อหลายคนที่ต้องประสบปัญหาแตกต่างกันไป การจะก้าวขึ้นสู่การเป็นหัวหน้างาน เป็นผู้บังคับบัญชาคนอื่นหลายคน อาจต้องผ่านความยากลำบาก แต่หลายคนอาจจะไม่ต้องฝ่าฟันอะไรมากนักด้วยเหตุอาจจะเพราะโอกาส หรือจังหวะของชีวิต หรือระดับการศึกษา แต่คนทั้งสองกลุ่มจะหลีกไม่พ้นที่จะต้องพบและเจอเหตุการณ์ และสภาวะใหม่ ๆ ที่ไม่เคยชิน ในตำแหน่งงานของเป็นหัวหน้างานที่คล้าย ๆ กัน บางคนไม่สามารถฝ่าด่านการเป็นหัวหน้างานที่มีประสิทธิภาพได้ จนต้องกลับไปเป็นพนักงานเช่นเดิม หลายคนต้องใช้เวลา และโอกาสหลาย ๆ ครั้งหรือการเปลี่ยนงานหลาย ๆ องค์กร ในการเรียนรู้ ยิ่งถ้าหากการก้าวขึ้นเป็นหัวหน้างานภายในองค์กรก็ยิ่งจะลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่ได้รับการโปรโมท หรือได้รับการแต่งตั้งภายในองค์กร ในหน่วยงานเดิม เพราะลูกน้องในวันนี้คือเพื่อนร่วมงานของเราเมื่อวานนี้ ไม่รู้ว่าจะสั่งงานอย่างไรดี จะตำหนิหรือพูดอย่างไรเพื่อน (ลูกน้องใหม่) ถึงจะเข้าใจ ทั้งนี้หากจะมองสภาพที่มาของปัญหาในการเป็นหัวหน้างานมือใหม่ พอจะสรุปได้ดังนี้ค่ะ
1.ปัญหาจากภายใน
ได้แก่ปัญหาที่เกิดจากภายในของตัวผู้ที่เป็นหัวหน้างานมือใหม่เอง ที่ยังคงวางบทบาทตัวเองเป็นเหมือนเก่า ยังคิดว่าเขาเป็นเพื่อนเหมือนเดิม หรือบางคนก็คิดในมุมกลับมากเกินไปว่าวันนี้เราเป็นหัวหน้าแล้วจะต้องเป็นอย่างที่หัวหน้าคนเดิมเคยเป็น สั่งอะไรได้ทุกอย่าง เพื่อนร่วมงานจะต้องเชื่อฟังในทันทีที่มีตำแหน่งปะหน้า แต่ในความเป็นจริงแล้ว การยอมรับนับถือไม่ได้มาจากตำแหน่งหน้าที่เพียงอย่างเดียว องค์ประกอบที่สำคัญคือบารมี บารมีสร้างได้โดยอาศัยอำนาจที่มีให้เป็นประโยชน์ แต่ไม่ใช่ว่ามีอำนาจแล้วบารมีจะต้องมาทันที หลายคนบารมีกลับหดหายเมื่อคิดว่ามีอำนาจสั่งการได้ทุกอย่าง เพราะการที่คนเราจะมีบารมีหรือได้รับการยอมรับกับคนอื่นนั้น ต้องรู้จัก “การให้” ก่อน โดยที่มาของบารมี และการยอมต่อคนที่เป็นหัวหน้างานนั้น มีที่มาที่นอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ของตำแหน่งงาน จาก “การให้” จากทางใด ทางหนึ่งดังนี้
1. มาจากความรู้ ความชำนาญในงาน ความสามารถในการแก้ปัญหางาน ที่มากกว่าคนอื่น การยอมรับของคนเรามักจะยอมรับคนที่เก่งกว่าตนเองค่อนข้างง่าย ในประเด็นนี้มักจะเป็นปัญหาใหญ่กับหัวหน้ามือใหม่ค่อนข้างมาก เพราะหัวหน้างานมือใหม่มักจะเจอข้อจำกัดสองขั้น ขั้นแรกเป็นความใหม่ ความน้อยของประสบการณ์ จึงอาจทำให้การแสดงความรู้ความสามารถไม่รวดเร็ว ชัดเจน และแม่นยำ ไม่ตรงกับความคาดหวังของผู้อื่นเท่าที่ควร ยิ่งต้องเป็นตำแหน่งงานที่เคยมีคนเก่าทำไว้ดีอยู่แล้วยิ่งทำให้ผลงานเกิดการเปรียบเทียบกันมากยิ่งขึ้น เพราะลูกน้องหรือคนดูมักจะเปรียบผลงานในวันสุดท้ายของคนเก่าซึ่งผ่านประสบการณ์มามากแล้ว มาเปรียบกันวันแรก ๆ ของคนใหม่ซึ่งยังไม่ประสบการณ์ เมื่อมองเห็นความผิดพลาดบ่อย ๆ ครั้งเข้าความเชื่อถือก็จะค่อย ๆ ลดลง บางครั้งกลายเป็นความฝังใจไปเลยก็มี ข้อจำกัดขั้นที่สองที่หัวหน้างานมือใหม่มักเจอในกรณีนี้ก็คือ ช่วงห่างของฝีมือ ประสบการณ์ระหว่างหัวหน้างานกับลูกน้องที่เคยเป็นอดีตเพื่อนร่วมงาน ยังไม่ห่างกันมากนัก เวลาที่ผ่านมาส่วนใหญ่ทั้งสองฝ่ายอยู่ในบทบาทหน้าที่ตำแหน่งงานเดียวกัน ทำให้ความรู้สึกในการยอมรับนับถือยังมีน้อย และการแสดงฝีมือ และความสามารถต้องอาศัยเวลา หรืออาจจะต้องเป็นฝีมือหรือความสามารถที่ชัดเจนจริง ๆ
2. ที่มาของบารมี ที่มาจาก “การให้” อีกอย่างหนึ่งคือ การให้ในเชิงความเข้าใจ ให้ในเชิงเข้าใจความรู้สึกที่แตกต่างกันระหว่างการเป็น “หัวหน้า” กับ “ลูกน้อง” ต้องเข้าใจว่าลูกน้องกำลังรู้สึกอย่างไรกับ “หัวหน้างานมือใหม่” เพราะลูกน้องเองก็ยังยึดติดกับแนวทางของหัวหน้างานคนเก่าอยู่ รวมทั้งยังเกิดความไม่มั่นใจกับฝีมือ ความสามารถของหัวหน้างานคนใหม่ บางทีบางคนยึดมีใจที่รู้สึกริษยาอยู่ลึก ๆ ถึงการที่ตนเองไม่มีโอกาสเช่นเดียวกับหัวหน้างานมือใหม่ ซึ่งเป็นธรรมชาติปกติของมนุษย์ ดังนั้นการบริหาร สั่งงานจึงควรต้องใช้จิตวิทยาการบังคับบัญชา โดยควรสั่งงานด้วยวิธีที่นุ่มนวล เป็นการขอความร่วมมือ มากกว่าจะเป็นการสั่งการหรือการใช้อำนาจ โดยทั้งสองด้านของที่มาของบารมี เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่หัวหน้างานต้องมี ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง หากไม่มีฝีมือหรือความสามารถในเชิงเทคนิคที่ชัดเจนแล้ว หัวหน้างานจะต้องมีฝีมือ และความสามารถในทางการบริหารและความเข้าใจทีมงาน หากมีทั้งสองด้าน จะทำให้หัวหน้างานนั้นประสบความสำเร็จในการบริหารงานได้อย่างรวดเร็วขึ้น ดังนั้นสิ่งสำคัญสำหรับการแก้ปัญหาของหัวหน้างานมือใหม่คือควรจะต้องวิเคราะห์ตนเองในขณะนี้ว่า ทั้งสองด้านของที่มาของบารมีที่กล่าวมานั้น ตนเองมีช่องทางในการสร้างบารมีด้านใดได้ง่ายที่สุด หากมีฝีมือ หรือความสามารถในงานที่โดดเด่น ก็ค่อนข้างจะง่ายในการสร้างการยอมรับจากทีมงาน แต่หากตนเองมีปัญหาของความเป็น “มือใหม่” ทั้งหน้าที่ และบทบาท รวมทั้งความรู้ที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งงานใหม่แล้ว ขอแนะนำให้รีบดำเนินการสร้างบารมีและการยอมรับในด้านที่สอง คือการบริหารทีมงานด้วยความเข้าใจ และสร้างการมีส่วนร่วม ขอความร่วมมือจากทีมงาน ควบคู่ไปกับการฝึกฝนพัฒนาความรู้ ความสามารถด้านเทคนิค
2.ปัญหาจากภายนอก
สิ่งที่สำคัญที่หัวหน้างานมือใหม่มักจะรู้สึกแปลกแตกต่าง กับบทบาทหน้าที่ใหม่ก็คือ คนอื่นๆ โดยเฉพาะแผนกอื่น ๆ ผู้บังคับบัญชาในระดับที่สูงขึ้นมักจะจ้องจับผิด หรือตำหนิการทำงานอยู่เสมอ ไม่เห็นเหมือนเมื่อก่อนเลย ในความจริงแล้วตัวเราเองยังรู้สึกว่าตัวเราเป็นแบบเดิม และรู้สึกกับคนอื่นเหมือนเดิม แต่ในทางตรงกันข้ามคนอื่น โดยเฉพาะผู้บังคับบัญชา ผู้ร่วมงานแผนกอื่น ๆ จะเริ่มมองเราด้วยภาพที่แตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้เกิดจากความคาดหวัง เกิดจากความต้องการรับรู้ในผลงานของเราในตำแหน่งใหม่ ๆ ไม่ใช่เกิดจากการที่ต้องการจะจับผิดแต่อย่างใด สิ่งที่หัวหน้างานมือใหม่ต้องทำ ก็คือ การปรับตัว เตรียมใจ เข้าสู่บทบาทใหม่ ให้ลืมวันสุดท้ายของตำแหน่งเก่า ๆ แต่ให้คิดว่าวันนี้คือวันแรกของตำแหน่งใหม่แล้ว ถ้าเราเป็นหัวหน้าเราจะคาดหวังอย่างไรกับ “หัวหน้างานมือใหม่” และ สำคัญคือต้องมีความพร้อมในการวางบทบาทของตัวเองกับตำแหน่งงานใหม่
จะเห็นได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับหัวหน้างานมือใหม่ เป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่คนทำงานทุกคนต้องเจอ เพียงแต่จะเจอเร็วหรือเจอช้า สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่คนรอบข้าง ตำแหน่งหรือสิ่งแวดล้อม แต่อยู่ที่ตัวเราเองว่าเราจะวางตัว รับมือกับสถานการณ์นั้นอย่างไร

การบริหารงานมืออาชีพ

การบริหารงานมืออาชีพ มิได้อยู่ที่การบริหารตัวคุณคนเดียวเท่านั้น นักบริหารที่ประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิ การสั่งสมประสบการณ์ในระยะยาวของตนเอง ตลอดจนการทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของ “ผู้อื่น” อย่างละเอียดลึกซึ้ง และเรียนรู้วิธีการบริหารงานที่ถูกต้อง เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่องค์การได้วางไว้นั่นเองค่ะ
ต้องยอมรับกันว่าเรื่องราวของการบริหารคนนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่มีมานานและต้องนานมากทีเดียวเมื่อมนุษย์จำเป็นต้องมีการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เป็นคณะ มีกิจกรรมทางธุรกิจหรือการดำเนินงานร่วมกัน และไม่ว่ายุคสมัยใดพัฒนาการขององค์กร ธุรกิจ สังคม รวมถึงประเทศชาติจะถูกเทคโนโลยีที่ทันสมัย หรือกระแสทุน ที่มโหฬารปรับให้เปลี่ยนแปลงไปนับร้อยเท่าพันทวี เรื่องการบริหารคนจะยังคงเป็นสิ่งที่ธำรงแก่นแท้หลักหนึ่งในการบริหารองค์กร ความสำเร็จขององค์กรหรือหน่วยงานที่เจริญก้าวหน้าเติบโตในกระแสโลกาภิวัตน์ สามารถพิจารณาได้จากสิ่งต่างดังนี้เช่น
-ด้านผลประกอบการ หรือความสามารถในการทำกำไร ที่นำมาซึ่งการเติบโตของเศรษฐกิจระดับประเทศ การจ้างงานให้คนในชาตินั้นได้มีอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว
-ด้านการสร้างสรรค์ และธำรงไว้ ซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งนี้จะแตกต่างจากองค์กรที่มักจะบอกว่า เราทำอะไรผิดกฎหมายหรือไม่ หรือไม่เห็นมีใครว่าในสิ่งที่เราทำ เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่ลักษณะขององค์กรที่รับผิดชอบต่อสังคม
-ด้านการบริหารจัดการภายใน ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งส่วนหนึ่งที่จะดูกันมากคือ การบริหารคนตั้งแต่การว่าจ้าง สรรหาคนให้เข้ามาทำงาน การเลื่อนตำแหน่งแต่งตั้ง การให้รางวัลในด้านคุณงามความดีและทำคุณประโยชน์ให้องค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการบริหารคน ถ้าเป็นระบบอุปถัมภ์ (Spoil System) องค์กรนั้น ถือว่าล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า แม้ว่าอื่นๆ จะดีหมดเพราะสิ่งที่เห็นนั้นเป็นเพียงเปลือกหรือการสร้างภาพทางการตลาดเท่านั้นเอง

ผู้นำต้องเป็นคนที่เดินไปข้างๆพร้อมกัน

ผู้นำต้องเป็นคนที่เดินไปข้างๆพร้อมกัน ไม่ใช่เดินนำหน้าเสมอ เปรียบเสมือนดัง ฝูงห่านที่มีการสับเปลี่ยนกันเป็นหัวหน้าในแต่ละสถานการณ์มีการทำงานเป็นทีมและมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน อีกทั้งยังต้องขายฝัน สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทุก
คนโดยจะต้องสร้างภาวะความเป็นผู้นำให้เกิดขึ้นแก่ผู้ใต้บังคับบังคับบัญชา เพื่อให้เป็นผู้นำที่มีการคิดอย่างมีวิสัยทัศน์ มีจินตนาการ และมีนวัตกรรมค่ะ
การที่จะให้ผู้ใต้บังคับบัญชา มีภาวะความเป็นผู้นำแบบใหม่ ที่มีความรับผิดชอบ และสามารถพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันได้คล้ายกับฝูงห่านนั้น ให้สังเกตว่าลักษณะการบินของห่าน จะเป็นรูปตัว "V" และมีการเปลี่ยนตัวผู้นำทางอยู่เสมอ ๆ ห่านแต่ละตัวก็จะผลัดกันเป็นผู้นำ ทาง มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ เมื่อถึงคราวจำเป็น สลับกันเป็นหัวหน้า ลูกน้อง และเป็นผู้ ลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยแก่ฝูง และเมื่อเปลี่ยนงาน ห่านก็จะรับผิดชอบตามโครงสร้าง ของกลุ่มที่กำหนดไว้ ภาวะความเป็นผู้นำแบบใหม่ ที่มีลักษณะการทำงานคล้ายกับฝูงห่านนั้นจะ ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาแต่ละคน สามารถที่จะเป็นผู้นำในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบผลการปฏิบัติงานนั้นๆ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้เอง นอกจากนั้นภาวะความเป็นผู้นำ แบบใหม่ ยังช่วยส่งเสริมให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำงานร่วมกันเป็นทีมโดยทุก ๆ คนมีส่วนร่วมใน การวางแผนการตัดสินใจ รวมทั้งการแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งก่อให้เกิดความรักความสามัคคี และ มีจุดมุ่งหมายอันเดียวกันคือทำให้หน่วยงานของตนมีประสิทธิภาพดีเยี่ยม หานเฟยจื่อ นักคิดในสมัย เลียดก๊ก ได้เขียนไว้ใน "คัมภีร์ทั้งแปด" ว่า "คนที่ใช้แต่กำลังตนเอง เป็นสุภาพชนชั้นต่ำ
คนที่ สามารถใช้กำลังคนอื่น เป็นสุภาพชนชั้นกลาง
คนที่สามารถใช้สติปัญญาคนอื่น เป็น สุภาพชนชั้นเลิศ"