Monthly Archives: November 2009

การนำหลักธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาปรับใช้กับการบริหารองค์กร

หลักพุทธธรรม หลักธรรมคำสั่งสอน ตามหลักพระพุทธศาสนานั้นเป็นสิ่งที่ทันสมัย เป็นวิทยาศาสตร์ และสามารถนำมาปรับใช้ได้กับการดำรงชีวิต และการทำงานในปัจจุบัน สัปดาห์นี้ดิฉันนำเรื่องของภาวะผู้นำ ที่ท่านอาจจะสงสัยว่า หลักธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น จะเกี่ยวข้องอย่างไรกับผู้นำ ดิฉันขอนำเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ "ภาวะผู้นำ ความสำคัญต่อการพัฒนาคน พัฒนาประเทศ" โดยพระธรรมปิฎก มานำเสนอค่ะ เผื่อท่านผู้อ่านที่สนใจจะได้ไปศึกษาต่อได้ และแทนที่เราจะต้องไปเรียนรู้เรื่องของภาวะผู้นำจากตำราตะวันตก เราจะได้หันกลับมาศึกษาจากหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ากันมากขึ้น มาเล่าให้ฟังค่ะ
หลักผู้นำจากพระพุทธศาสนาประการแรก คือ บทบาทของผู้นำกับการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะจากปัญหาทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ ทำให้ผู้นำขององค์กรต่างๆ ต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยภายใต้หลักกัลยาณมิตรธรรมหรือธรรมของกัลยาณมิตร 7 ประการนั้นมีอยู่ข้อหนึ่ง คือ วัตตา หรือเป็นผู้รักจักพูด โดยการที่จะเป็นนักพูดที่ดีนั้นต้องพูดให้ผู้อื่นสามารถเข้าใจได้ พูดให้ผู้อื่นได้ประโยชน์ หรือพูดให้ผู้อื่นช่วยกันสร้างสรรค์ประโยชน์ ไม่ใช่การพูดเพื่อหาประโยชน์ให้แก่ตนเอง โดยพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดง ลักษณะของนักสื่อสาร หรือนักพูดที่ดีไว้ 4 ประการด้วยกัน ได้แก่
พูดแจ่มแจ้ง (อธิบายให้เข้าใจ ได้ชัดเจน)
พูดจูงใจ (พูดจนคนยอมรับและอยากจะลงมือทำ)
พูดเร้าใจ (พูดให้เกิดความคึกคัก กระตือรือร้น)
และพูดให้ร่าเริง (พูดให้เกิดความร่าเริง มีความหวัง ในผลดีและทางที่จะสำเร็จ)
การเป็นผู้ รู้จักพูดตามหลักการข้างต้นนั้น เรามองว่าสามารถนำมาปรับใช้กับการพูดเนื่องในโอกาสต่างๆ ไม่จำเป็นแต่ต้องเป็นการพูดของผู้นำเท่านั้น แม้กระทั่งครูบาอาจารย์ที่สอนหนังสือเอง ก็ต้องรู้จักพูดให้แจ่มแจ้ง จูงใจ เร้าใจ และร่าเริง เพื่อให้ผู้เรียนได้มีความเข้าใจ กระตือรือร้น และสนใจที่จะเรียนหนังสือ สำหรับตัวผู้นำนั้น นอกเหนือจากการรู้จักที่จะพูดแล้วยังต้องรู้จักที่จะฟังด้วย โดยใช้คำว่า วจนักขโม แปลว่าควรทนหรือฟังต่อถ้อยคำของคนอื่นด้วย ไม่ใช่ว่าเอาแต่พูดแก่เขาอย่างเดียวโดยไม่ยอมรับฟังใคร ซึ่งการเป็นผู้ฟังที่ดีนั้น ถือเป็นสิ่งที่ยากและท้าทายสำหรับผู้นำหลายๆ ท่าน เนื่องจากผู้นำจำนวนมากมักจะชอบพูดมากกว่าฟัง โดยเฉพาะการรับฟังจากผู้ที่ต่ำกว่าหรือเป็นลูกน้อง นอกจากนี้ ยังมีหลักธรรมว่าไว้ว่า คัมภีรัญจะ กะถัง กัตตา แปลว่ารู้จักแถลงเรื่องราวต่างๆ ที่ลึกซึ้ง โดยประเด็นหรือเรื่องราวต่างๆ ที่สำคัญ ก็ต้องสามารถอธิบาย ทำให้ผู้ที่ร่วมงานมีความเข้าใจ
หลักธรรมที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ที่มักจะถูกนำมาโยงกับเรื่องของการทำงานร่วมกับผู้อื่น หรือภาวะผู้นำ นั้นคือหลักพรหมวิหาร 4 ประการ ซึ่งถือเป็นคุณธรรมพื้นฐานที่จะต้องมีอยู่ประจำในจิตใจ เพื่อนำไปสู่การแสดงออกที่ดีและเหมาะสม และสำหรับตัวผู้นำแล้ว ถ้าสามารถแสดงออกได้อย่างดีและเหมาะสมแล้ว ก็จะนำไปสู่ศรัทธาจากบุคคลต่างๆ ในองค์กร และทำให้สามารถนำพาทุกคนไปในทิศทางเดียวกันได้
พรหมวิหาร 4 นั้นประกอบด้วย เมตตา โดยมีความเป็นมิตรไมตรีต่อผู้อื่น มีน้ำใจ ปรารถนาดีต่อผู้อื่น กรุณา คือ ความต้องการช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อน โดยเมื่อผู้อื่นมีทุกข์นั้นผู้นำจะต้องมีกรุณา ช่วยบำบัดทุกข์ให้ มุทิตา ก็คือ เมื่อพนักงาน เพื่อนร่วมงานมีความสุข ความสำเร็จมากขึ้น ผู้นำก็จะต้องพลอยยินดี ช่วยส่งเสริมสนับสนุน และสุดท้าย คือ อุเบกขา ก็คือ การรักษาความเป็นกลาง ไม่ลำเอียง ไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่ง
หลักพรหมวิหารสี่ นั้นเป็นสิ่งที่ผู้นำควรจะยึดเป็นหลักธรรมในการบริหารงานเป็นประจำวันทั่วไปเลย โดยเฉพาะกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ กับองค์กร โดยเมื่อบุคคลอื่นมีปัญหา มีทุกข์ เดือดร้อน ผู้นำก็ต้องมีความกรุณาที่จะแก้ไขปัญหา ในขณะเดียวกัน เมื่อบุคคลอื่นประสบความสำเร็จ มีความสุข ก็ต้องมีมุทิตา ที่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุน และยินดีในความสำเร็จของผู้อื่น ในช่วงสถานการณ์ปกตินั้นก็ต้องคอยดูแล เอาใจใส่ให้บุคคลต่างๆ ในองค์กรมีความสุขในการทำงาน และสุดท้าย ในการบริหารงานทุกอย่าง ผู้นำจะต้องมีและสามารถรักษาความเป็นกลาง ไม่ลำเอียง เข้าข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งหลักของอุเบกขานั้นจะคุมเมตตา กรุณา มุทิตา ไว้อีกด้วย โดยการปฏิบัติหรือช่วยเหลือผู้อื่นนั้น ก็จะต้องมีความเป็นกลาง ไม่ลำเอียง
ปัจจุบันเรารับอิทธิพลในแนวคิดทางด้านการบริหารจากโลกตะวันตกมามากขึ้น ทำให้เรามักจะละเลยการนำหลักธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาปรับใช้กับการนำองค์กรของเรา แต่จริงๆ แล้ว ดิฉัน เชื่อว่าการนำหลักธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาปรับใช้กับการบริหารองค์กรนั้น น่าจะเหมาะกับบริบทของคนไทยมากกว่า การนำหลักของตะวันตกมาใช้แต่เพียงอย่างเดียวนะค่ะ

คุณธรรมและจริยธรรมของผู้นำ

จากกระแสโลกาภิวัตน์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทั้งโดยองค์ประกอบภาวะ ฐานะ ทิศทางสถานการณ์ในโลกที่เปลี่ยนแปลงนำไปสู่ความแปรปรวนของโอกาส และข้อจำกัดหลายประการ ในฐานะผู้นำที่พึงประสงค์ ในยุคโลกาภิวัตน์ย่อมต้องรู้และเข้าใจสถานการณ์ การเปลี่ยนแปลงของโลก ใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้น หรือสร้างโอกาสให้เกิดขึ้นตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงประโยชน์ของหมู่คณะ สังคม และประเทศชาติเป็นหลักสำคัญ ไม่มุ่งแต่หาประโยชน์ส่วนตนโดยมองข้ามซึ่งคุณธรรม จริยธรรม อันดีงามแห่งสังคมและประเทศชาติ ผู้นำที่พึงประสงค์นี้จะถูกยกย่อง ยอมรับ ศรัทธา นับถือจากหมู่ชนทั้งภายในและภายนอกองค์กร ทำให้องค์กรสามารถเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน และมั่นคงตลอดไป
ปัญหาเกี่ยวกับผู้นำก็มักเกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันเสมอ ผู้นำบริหารงานอย่างไม่มีเอกภาพ ไม่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ใช้อำนาจโดยมิชอบ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์แก่ตนและพวกพ้อง และยึดหลักประโยชน์นิยมเป็นใหญ่ โดยไม่คำนึงถึงความอยู่รอดขององค์กรหรือคนในสังคมส่วนใหญ่๑ เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดสภาพการณ์ของสภาวะผู้นำที่ไม่พึงประสงค์เกิด
ขึ้นในสังคม กล่าวคือ เป็นปัญหาเกี่ยวกับการขาดซึ่งคุณธรรม จริยธรรม อันเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของการเป็นผู้นำที่ดี จึงทำให้กลไกของการบริหารงานล้มเหลว ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อความเสื่อมและความเจริญขององค์กรหรือสังคมนั้น ๆ และบางครั้งอาจส่งผลทำให้เกิดความล่มสลายแห่งองค์กรหรือสังคมนั้น ๆ คุณธรรมและจริยธรรม ถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการดำเนินบทบาทหน้าที่ของการเป็นผู้นำที่ดี หากผู้นำขาดซึ่งคุณธรรมและจริยธรรม ย่อมทำให้ผู้นำนั้นขาดความชอบธรรม
ในการทำหน้าที่ในองค์กรนั้นต่อไป ทั้งนี้เนื่องจากคุณธรรมและจริยธรรมถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของบทบาทหน้าที่ของผู้นำ ที่ทำให้ผู้นำสามารถได้รับการยอมรับความเชื่อถือ ตลอดจนการนับถือจากบุคคลต่าง ๆ ทั้งในองค์กรและในสังคมทั่วไป ดังนั้น ปัญหาการขาดคุณธรรมและจริยธรรมของผู้นำ ย่อมทำให้ผู้นำไม่เป็นที่ยอมรับต่อบุคคลทั่วไปในองค์กรและในสังคม ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อ หลักการบริหารงานและภาพลักษณ์ขององค์กรให้เสื่อมลง และย่อมนำมาซึ่งความล่มสลายขององค์กรในอนาคตเช่นกันปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดขององค์กรใด ๆ คือคุณภาพของผู้นำ คุณภาพของการเป็นผู้นำ คือ สิ่งที่กำหนดความสำเร็จหรือความล้มเหลวขององค์กรหนึ่งๆ นี่คือ คำพูดที่เป็นจริงเสมอไม่ว่าองค์กรนั้นจะยิ่งใหญ่ระดับชาติ ดังนั้น เมื่อใดก็ตาม หากผู้นำสูงสุดในองค์กร ตลอดจนผู้นำในทุกระดับขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง ขาดคุณภาพของการเป็นผู้นำที่ดีแล้วผู้นำนั้นก็ขาดเป้าหมายการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร ไปสู่ความคิดสร้างสรรค์แบบ
ใหม่ การสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Creating a learning organization) เพื่อประยุกต์การบริหารงานให้เกิดความก้าวหน้าแก่องค์กร นั่นย่อมหมายความว่า องค์กรที่เคยอยู่มานานนับเป็นสิบ ๆ ปี มีชื่อเสียงโด่งดังมาตลอด เมื่อองค์กรหยุดการพัฒนาตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัตน์แล้วองค์กรนั้นจะหยุดนิ่ง ซึ่งก็เท่ากับความล่มสลายขององค์กรในที่สุดเช่นกันฉะนั้นในสังคมปัจจุบัน ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กรใด ๆ ซึ่งส่งผลให้องค์กรนั้น ๆ เกิดความเสื่อมเสียหรือการล่มสลายแห่งองค์กร ล้วนมีปัจจัยสำคัญมาจากการขาดคุณสมบัติในบทบาทหน้าที่ของผู้ที่ได้ชื่อว่า “ผู้นำ” แห่งองค์กรหรือสถาบันนั้น ๆ ทั้งสิ้น
ที่ดีไว้หลายหลักธรรมด้วยกัน เช่น ทศพิธราชธรรม พรหมวิหาร ๔ ธรรมาธิปไตย พละ ๔ และสัปปุริสธรรม ๗ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสัปปุริสธรรม ๗ ถือเป็นหลักธรรมที่สำคัญที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ในการเป็นผู้นำที่ดี โดยมีองค์ประกอบ ๗ ประการคือ รู้หลักการ รู้จุดหมาย รู้ตน รู้จักประมาณ รู้จักเวลา รู้ชุมชน และรู้บุคคล ซึ่งมีผู้ทำการวิจัยได้ศึกษาแล้ว พบว่าหลักสัปปุริสธรรม ๗ นี้มีคุณสมบัติในการ เป็นผู้นำที่สมบูรณ์แบบทั้งด้านคุณภาพทางจิตใจ และคุณภาพทางความสามารถ นอกจากนี้ ภาวะผู้นำตามหลักพุทธธรรม ผู้นำที่ดีจะต้องยึดหลัก “ธรรม” คือคุณธรรมและการปฏิบัติธรรม เป็นลักษณะสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่ของตน เพื่อให้กิจการงานทุกอย่างบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยมุ่งที่จะให้เกิดประโยชน์สุขแก่มวลชน สังคม และประเทศชาติ อย่างยั่งยืนตลอดไป

หลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มิได้ทรงเป็นเพียง พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของชาติ หากได้ทรงน้อมนำ ประเทศไทยและพสกนิกรไทยให้ก้าวไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน ทรงได้รับการเทิดพระเกียรติจากนิตยสารไทม์แห่งเอเชีย ในฐานะที่ทรงเป็นวีรบุรุษ ผู้เป็นแรงบันดาลใจแห่งเอเชีย วันนี้ดิฉันขอนำ หลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มานำเสนอดังนี้ค่ะ
1. ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ การที่จะพระราชทานโครงการใดโครงการหนึ่งนั้น จะทรงศึกษาข้อมูลรายละเอียดอย่างเป็นระบบ
2. ระเบิดจากข้างใน พระองค์ทรงมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคน ต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่เราเข้าไปพัฒนาให้มีสภาพพร้อมที่จะรับเสียก่อน แล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก
3. แก้ปัญหาที่จุดเล็ก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเปี่ยมไปด้วยพระอัจฉริยภาพ ในการแก้ปัญหา ทรงมองปัญหาในภาพรวม (Macro) ก่อนเสมอ แต่การแก้ปัญหาของพระองค์จะเริ่มจากจุดเล็ก ๆ คือ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่คนมักจะมองข้าม
4. ทรงทำตามลำดับขั้น “…การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน ใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ
5. ภูมิสังคม “…การพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศ ภูมิศาสตร์และภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา คือนิสัยใจคอของคนเราจะไปบังคับให้คนอื่นคิดอย่างอื่นไม่ได้ เราต้องแนะนำ เราเข้าไป ไปช่วยคิด แล้วก็อธิบายให้เขาเข้าใจหลักการของการพัฒนานี้ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง…”
6. องค์รวม ทรงมีชีวิตคิดอย่างองค์รวม (Holistic) หรือมองอย่างครบวงจร ในการที่จะพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการหนึ่งนั้นจะทรงมองเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นและแนวทางแก้ไขอย่างเชื่อมโยง
7. ไม่ติดตำรา การพัฒนาตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีลักษณะของการพัฒนาที่อนุโลมและรอมชอมกับสภาพธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสภาพของสังคมจิตวิทยาแห่งชุมชน คือ “ไม่ติดตำรา” ไม่ผูกมัดติดกับวิชาการและเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนไทย
8. ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด ประชาชนชาวไทยทราบกันดีว่าเรื่องส่วนพระองค์ทรงใช้อย่างคุ้มค่าอย่างไร หรือฉลองพระองค์แต่ละองค์ทรงใช้อยู่เป็นเวลานานดังที่นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เคยเล่าว่า “...กองงานในพระองค์โดยท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ บอกว่าปีหนึ่งพระองค์เบิกดินสอ 12 แท่ง เดือนละแท่งใช้จนกระทั่งกุด ใครอย่าไปทิ้งของท่านนะ จะกริ้วเลย ประหยัดทุกอย่างเป็นต้นแบบทุกอย่าง ทุกอย่างมีค่าสำหรับพระองค์หมด ทุกบาททุสตางค์จะใช้อย่างระมัดระวัง จะสั่งให้เราปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบ...”
9. ทำให้ง่าย Simplicity ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้การคิดค้น ดัดแปลง ปรับปรุง และแก้ไขงานการพัฒนาเป็นไปได้โดยง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และที่สำคัญคือสอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่และระบบนิเวศน์โดยส่วนรวมใช้กฎแห่งธรรมชาติเป็นแนวทาง
10. การมีส่วนร่วม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นนักประชาธิปไตย “ประชาพิจารณ์” มาใช้ในการบริหาร เพื่อเปิดโอกาสให้สาธารณชน ประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ทุกระดับได้มาร่วมกัน แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่จะต้องคำนึงถึงความคิดของประชาชน
11. ประโยชน์ส่วนรวม การปฏิบัติพระราชกรณียกิจ และการพระราชทานพระราชดำริ ทรงระลึกถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ
12. บริการรวมที่จุดเดียว One-Stop Services ทรงเน้นในเรื่องการสร้างความรู้ รัก สามัคคีและการร่วมมือร่วมแรงใจกันด้วย
13. ทรงใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ ทรงเข้าใจถึงธรรมชาติและต้องการให้ประชาชนใกล้ชิดกับธรรมชาติ
14. ใช้อธรรม ปราบ อธรรม แนวปฏิบัติที่สำคัญในการแก้ปัญหาและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาวะที่ไม่ปกติ ให้เข้าสู่ระบบที่เป็นปกติ
15. ปลูกป่าในใจคน พระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า “….เจ้าหน้าที่ป่าไม้ควรจะปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง”
16. ขาดทุนคือกำไร ขาดทุน คือ กำไร (Our loss is our gain…) การเสีย คือ การได้ ประเทศก็จะก้าวหน้า และการที่คนอยู่ดีมีสุขนั้น เป็นการนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้
17. การพึ่งตนเอง “…การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพ และตั้งตัวให้มีความพอกินพอใช้ ก่อน
18. พออยู่พอกิน การพัฒนาเพื่อให้พสกนิกรทั้งหลายประสบความสุข สมบูรณ์ในชีวิต ได้เริ่มจากการเสด็จฯไปเยี่ยมประชาชนทุกหมู่เหล่าในทุกภูมิภาคของประเทศ จากนั้นได้พระราชทานความช่วยเหลือให้มีความอยู่ดีกินดี มีชีวิตอยู่ในขั้น “พออยู่พอกิน” ก่อน
19. เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่พระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด มานานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยยึดหลักทางสายกลางพอเพียง พอประมาณด้วยเหตุผล มีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีสำนึกในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์ สุจริตดำเนินชีวิตด้วยความอดทนมีสติปัญญา รอบคอบ
20. ความซื่อสัตย์ สุจริต และกตัญญู “…คนที่ไม่มีความสุจริต คนที่ไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้นจึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณเป็นประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ
21. ทำงานอย่างมีความสุข พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระเกษมสำราญและทรงมีความสุขทุกคราที่จะช่วยเหลือประชาชน
22. ความเพียร :พระมหาชนก พระบาทสมเด็จอยู่หัว ทรงเริ่มทำโครงการต่างๆในระยะแรก ที่ไม่มีความพร้อมในการทำงานมากนัก และทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทั้งสิ้น แต่พระองค์ก็มิได้ท้อพระราชหฤทัย มุ่งมั่นพัฒนาบ้านเมืองให้บังเกิดความร่มเย็นเป็นสุข และสุดท้ายค่ะ ก็คือ
23. รู้ รัก สามัคคี มีพระราชดำรัสในเรื่อง รู้ รัก สามัคคี ที่เราสามารถปรับใช้ได้กับทุกยุค ทุกสมัยค่ะ

สมรรถนะของผู้นำที่ดีมี 7 ประการ

ผู้นำที่ดีต้องมีความสามารถชักนำให้ลูกน้องลงมือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งความสามารถหรือสมรรถนะของผู้นำที่ดีแบ่งได้ 7 ประการด้วยกัน คือ
1. สามารถกำหนดทิศทางแก่องค์การได้ว่า ในอนาคตจะเป็นอย่างไร มีเป้าหมายอย่างไร
2. ผู้นำควรประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีในการทำงานให้กับลูกน้อง เพราะคนเรานั้นมักเชื่อถือและคล้อยตามสิ่งที่เห็นมากกว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง
3. ผู้นำที่ดีต้องเป็นนักติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิผล ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารด้วยวิธีการพูดหรือเขียน โดยเฉพาะการสื่อเรื่องวิสัยทัศน์ เพราะถ้าผู้นำสื่อสารได้ดี ก็เท่ากับช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้ลูกน้องทำงานอย่างเต็มความสามารถ
4. มีความสามารถในการจัดแถว คือสามารถสร้างแรงจูงใจให้ลูกน้องเลื่อมใสศรัทธา พร้อมที่จะร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งในการทำงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันขององค์กร
5. ผู้นำที่ดีควรมีความสามารถในการดึงส่วนดีของลูกน้องแต่ละคนออกมาใช้ให้เหมาะสมกับองค์กรได้อย่างถูกต้อง
6. ไม่รอคอยโชคชะตา แต่เป็นคนกำหนดโชคชะตา และ
7. กล้าตัดสินใจในยามวิกฤติ
ผู้นำที่ดี นอกจากฉลาดแล้วยังต้องมีพลังปัญญาอื่น ๆ ที่สมดุลประกอบกันไปด้วย เช่น EQ – Emotional Quotient หมายถึงความฉลาดทางอารมณ์ คือ รู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเอง และเข้าใจอารมณ์ผู้อื่นได้ดี ซึ่งการมี EQ สูง จะทำให้ผู้นำเป็นคนเข้าใจโลก เห็นใจผู้อื่น จุดนี้เองที่จะทำให้ลูกน้องรักใคร่และเลื่อมใสศรัทธา ..
ส่วน MQ -Moral Intelligence Quotient คือ ความฉลาดด้านศีลธรรม ผู้นำที่ดีต้องแยกแยะความดีความชั่วได้ ไม่ดำเนินธุรกิจด้วยการคดโกงหรือทำร้ายคนอื่นเพื่อความยิ่งใหญ่ของตน ซึ่งย่อมเป็นความยิ่งใหญ่ที่ไม่ยั่งยืน และต้องล้มลงในที่สุดค่ะสำหรับ AQ – Advancement Intelligence Quotient หมายถึง พลังปัญญาด้านความมุ่งมั่น ประเภท”ชีวิตคือการต่อสู้ ศัตรูคือยาชูกำลัง” AQ จะทำให้ผู้นำกล้าเผชิญอุปสรรค ไม่ใช่ถอยหนี หรือกางมุ้งรอให้อุปสรรคผ่านไปเอง ซึ่งพลังปัญญาข้อนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้ผู้นำประสบความสำเร็จได้ค่ะ