Monthly Archives: January 2010

เทคนิคการบริหารเวลา

เทคนิคบริหารเวลาให้มีประสิทธิภาพ

บ่อยครั้งที่รู้สึกมีเวลาไม่พอ ทำงานเสร็จไม่ทันเวลาบ่อยๆ ต้องทำงานอย่างรีบเร่งแข่งกับเวลาอยู่เป็นประจำ หรือรู้สึกว่างานมากจนไม่มีเวลาสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ ไม่มีเวลาให้ครอบครัว ล้วนเป็นสาเหตุให้เกิดความเครียดนั้น จำเป็นอย่างมากที่จะต้องหาวิธีบริหารเวลา เพื่อจัดเวลาการทำงานให้มีประสิทธิภาพขึ้น และเพื่อจะสามารถทำงานได้เสร็จทันเวลาอย่างที่ไม่ต้องรีบเร่งมากนัก รวมทั้งยังมีเวลาเหลือพอที่จะพักผ่อนหย่อนใจส่วนตัว มีเวลาให้กับเพื่อนฝูง และครอบครัวอีกด้วย

เห็นที่จะคล้อยตามคำคมของเบนจามิน แฟลงคลินนักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลก ที่กล่าวเอาไว้ว่า "เวลาคือเงิน" ถึงใครจะเถียงว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้ แต่เงินก็เป็นปัจจัยหลักที่เอื้อให้เราอยู่ได้อย่างมีความสุขเช่นเดียวกับเวลาถ้าเราใช้ไม่เป็น ก็เหมือนกับทำของมีค่าหล่นหาย บางคนคิดว่าตัวเองเก็บไว้อย่างดีแล้ว ก็ยังถูกโดนขโมยเวลาไปจนได้ มีบางคนพูดไว้อย่างน่าคิดว่า เวลาคือของขวัญ เพราะเหตุนี้จึงเรียกปัจจุบันว่า "Present" ทุกคนรู้ดีว่าเวลามีค่าแค่ไหน แต่ก็ยังเผลอทำหายอยู่บ่อยๆ คุณก็คนหนึ่งใช่มั้ยล่ะ ที่เวลาเรียนหรือทำงานแล้วรู้สึกว่ามีเวลาไม่พอ หรือเรามักได้ยินคำพูดทำนองนี้อยู่บ่อยๆ ที่ว่า "โอ๊ย ไม่มีเวลาหรอกงานเยอะจะตาย… ไม่ว่างหรอก ไม่มีเวลา ต้องเคลียร์งานก่อน" คนส่วนมากมักรู้สึกว่าตัวเองไม่มีเวลาแท้จริงแล้ว เคล็ดลับอยู่ที่การบริหารเวลานั่นเอง ฟังดูเหมือนยาก แต่ถ้ารู้จักบริหารเวลาให้ดีก็สามารถที่จะหาเวลาเพิ่มได้ เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างและเริ่มปฏิบัติอย่างจริงจัง คุณจะมีเวลาเพิ่มขึ้น ลองเริ่มด้วย

1. จดบันทึกการใช้เวลาในแต่ละวัน การบริหารเวลาควรเริ่มต้นจากการสำรวจตัวเองก่อนว่าในแต่ละวันนั้น ได้ใช้เวลาในการทำกิจกรรมอะไรบ้าง โดยการจดบันทึกเวลาและการทำกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวันติดต่อกันประมาณ 3 วัน แล้วลองคำนวณดูว่าได้ใช้เวลาไปกี่ชั่วโมงกับการนอน การกิน การทำงาน การเดินทาง การออกกำลังกาย การอยู่คนเดียวเงียบๆ การใช้เวลาสังสรรค์กับเพื่อนฝูง และการใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ลองพิจารณาดูว่าเวลาที่ใช้ในการทำกิจกรรมเหล่านี้สมดุลแล้วหรือยัง ได้เสียเวลาไปกับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องมากน้อยแค่ไหน และบ่อยแค่ไหนที่คิดจะทำอะไรแล้ก็รีรอผัดผ่อนไปทำอย่างอื่นก่อนงานที่ควรจะเสร็จจึงไม่เสร็จเสียที ควรจะต้อง ปรับปรุงเวลาในเรื่องใดให้มากขึ้นหรือน้อยลง

2. วางแผนงานล่วงหน้า ในแต่ละวัน จะมีเวลาสำหรับการทำงานประมาณ 6 - 8 ชั่วโมง จึงควรตั้งใจทำงานให้เต็มที่ โดยวางแผนการทำงานล่วงหน้าว่าในวันนั้นจะต้องทำอะไรบ้าง แล้ว พรุ่งนี้จะต้องทำอะไรจัดลำดับความสำคัญของงาน เลือกทำงานที่สำคัญและเร่งด่วนก่อน ทำงานที่คิดว่ายากก่อนในช่วงเช้าเพราะเป็นช่วงที่ร่างกายยังสดชื่น รู้จักแบ่งงานชิ้นใหญ่ให้เป็นชิ้นย่อยๆ ถ้าเป็นหัวหน้างานควรแบ่งงานให้ลูกน้องหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องรับไปทำอย่างเท่าเทีียมกัน เพื่อความยุติธรรม และอย่าหวงงาน อย่างคิดว่าคนอื่นจะทำไม่ได้ ค่อยๆ สอน ค่อยๆ ฝึก เขาย่อมทำได้ในวันหนึ่งและเราก็จะสบายขึ้นด้วย เมื่อทำงานติดต่อกันประมาณ 2 ชั่วโมง ควรพักสมองโดยการเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง และควรพยายามทำงานให้เสร็จที่ที่ทำงาน ไม่จำเป็นอย่าเอางานกลับไปทำที่บ้านเพราะจะรบกวนเวลาสำหรับตนเองและครอบครัว

3. เพิ่มเวลา ถ้ารู้สึกว่าเวลามีไม่พอ ควรหาเวลามาเพิ่ม เช่น ตื่นให้เช้าขึ้น หรือย้ายมาพักใกล้ที่ทำงานเพื่อประหยัดเวลาในการเดินทาง เป็นต้น ลองสังเกตผู้ร่วมงานดูบ้างว่าแต่ละคนมีวิธีการบริหารเวลาอย่างไรลองเรียนรู้จากผู้ที่บริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วนำมาปรับใช้ดูบ้าง อาจจะช่วยให้เราทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและเครียดน้อยลงก็ได้

4. ตั้งเป้าหมายและวัตถุประสงค์ ให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ว่าคุณจะทำอะไร เพื่ออะไร ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งของคนที่ประสบความสำเร็จ คือการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน จดไว้กันลืม แล้วลงมือทำทันที จำไว้ว่าถ้าจะยิงปืนให้เข้าเป้าก็จำเป็นต้องเล็งให้ดีชะก่อน เมื่อโฟกัสถูกจุดแล้ว ก็ต้องรู้ว่าทำอะไรบ้างจึงจะไปถึง เคล็ดลับอยู่ที่การมี "แผน" ที่ดีอยู่กับตัว ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ว่าคุณต้องทำอะไรบ้างตั้งแต่วันนี้ สัปดาห์นี้ จนถึงตลอดทั้งปีนี้ แผนที่ดีคือต้องรู้ปัญหาของงานแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะหาทางก็ได้ทันท่วงที

5. สร้าง To-Do List เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่งเรียงลำดับก่อนหลังของงานที่จะทำเอาไว้ก่อน แล้วเชื่อและบังคับตัวเองให้ทำตามนั้น เป็นการไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง เสียเวลาเที่ยวเล่นไปกับเรื่องหยุมหยิมทั้งหลายแหล่ ว่ากันว่า คนที่ประสบความสำเร็จน่ะเขาโน๊ตไว้ทั้งนั้น ว่าอะไรที่ควรทำก่อนหลัง แต่ถ้ามีเรื่องด่วนแทรกเข้ามา ก็สามารถปรับให้ยืดหยุ่นได้

6. มีแฟ้มงาน อย่าปล่อยให้ความคิดกระจัดกระจาย รีบเก็บๆๆๆ เข้ามาใส่ในแฟ้มชะ เอกสารก็เหมือนกัน ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้อง ก็จับมันมาเก็บใส่แฟ้มงานเดียวกัน เพื่อไม่ให้ความคิดของคุณเตลิดเปิดเปิงไปไหนต่อไหน โต๊ะรกๆ ไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้นอย่ามาอ้างว่าโต๊ะรกๆ ทำให้ไอเดียคุณบรรเจิด มุกนี้ใช้ได้ก็ต่อเมื่อคุณมีความจำดีเยี่ยมเท่านั้น ว่ากระดาษและสิ่งของที่เกลือนอยู่ บนโต๊ะน่ะ มีเรื่องอะไร อยู่ตรงไหนบ้าง แต่ถ้าคุณเป็นคนธรรมดาจัดของให้เข้าที่เข้าทางจะดีกว่านะ

7. ใช้โทรศัพท์ให้เป็น เสียงกริ๊งทุกสิบห้านาทีติดโผสาเหตุอันดับต้นๆ ที่มารบกวนทำงานของคุณ อย่าตกเป็นโรคโฟนลิซึ่ม ด้วยการเมาธ์สนุกปากในเวลางาน เพราะนอกจากจะขโมยเวลาไปจากคุณแล้ว มันยังทำให้คุณดูไม่ดีอีกด้วย ธนาคารและโรงแรมใหญ่ๆ ในต่างประเทศเริ่มขอความร่วมมือให้พนักงานหน้าเคาน์เตอร์งดใช้โทรศัพท์มือถือขณะปฏิบัติงาน เพราะเกรงว่าลูกค้าจะรู้สึกไม่ประทับใจเมื่อเห็นพนักงานรับโทรศัพท์มือถือยู่บ่อยๆ จนเสียงานและรับรองลูกค้าได้ ไม่เต็มที่

8. ทุกคนมี "เวลาของตัวเอง" สังเกตให้ดีว่าช่วงเวลาใดที่สมองคุณรู้สึกปลอดโปร่ง ไอเดีย กระฉูดถ้าคุณถูกชะตากับเวลาเช้าตรู่ ก็รีบเรียงลำดับความคิด ทำ List สิ่งที่จะทำในวันนั้น ก่อนที่เมฆดำจะเคลื่อนมาบดบังความคิดเจ๋ง ๆ ของคุณ

9. มีความรับผิดชอบ บริหารเวลาต้องเริ่มจากการจัดการตัวเองชะก่อน ก็จะมีประโยชน์อะไรล่ะ ถ้าทำ list ขึ้นมา แล้วทำตามนั้นไม่ได้ จะบอกให้ก็ได้ว่าสาเหตุหลักของความล้มเหลว เกิดจากโรคความรับผิดชอบบกพร่องของคนเรานี่แหละ ไม่มียารักษาแต่หายได้ด้วยวินัยในตัวคุณเอง

เคล็ดลับ การสนุกกับงานที่ทำ

                        

คนเราส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบันมักจะไม่ได้ทำงานในสิ่งที่ตนอยากจะทำจริง ๆ แต่กลับต้องทำงานที่ใจไม่รัก ไม่ชอบ ที่ต้องจำใจทำก็เพราะไม่มีทางเลือก ด้วยเหตุจำเป็นที่จะต้องหารายได้มาเลี้ยงชีวิตและครอบครัว เพราะขืนมัวแต่เลือกงานเดี๋ยวได้อดตายกันพอดี ก็เลยต้องทนทำงานกันต่อไป การงานบางอย่างต้องทำซ้ำๆซากๆ จำเจน่าเบื่อหน่าย การงานบางอย่างก็ช่างดูน่าต่ำต้อย เฮ้อ..จะไม่ทำก็ไม่ได้เดี๋ยวไม่มีเงินใช้ จะทำอย่างไรดีหนอ.. เคล็ดลับวิธีทำงานให้สนุก 4 วิธี มีดังต่อไปนี้ค่ะ

 1. มองให้เห็นคุณค่าของงาน
การงานทุกอย่างถ้าไม่ใช่อาชีพทุจริต ล้วนแต่มีคุณค่าแฝงอยู่ในการงานทั้งนั้น ดังนั้นขอเพียงแต่คุณรู้จักมองให้เห็นคุณค่าของมัน แล้วสร้างความประทับใจในงานที่คุณทำอย่างสุดซึ้ง ความรักความประทับใจในการงานของคุณนี้เอง ที่จะเป็นพลังใจทำให้คุณสามารถต่อสู้งานที่ยากลำบาก หรือ น่าเบื่อหน่ายต่อไปได้ ย้ำอีกครั้งว่า ขอให้คุณสร้างความภูมิใจในสิ่งที่คุณทำ คือ มีความมั่นใจในงานที่คุณทำว่าเป็นงานที่มีคุณค่า ความรักความมั่นใจในสิ่งที่คุณทำนั่นแหละครับ ที่จะเป็นพลังใจสำคัญทำให้คุณทำงานของคุณอย่างมีความสุข
ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าคุณเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย คุณก็ควรจะคิดว่าหน้าที่ของคุณนั้นสำคัญที่สุดในโลก คือ ถ้าบริษัทขาดคุณไป บริษัทก็จะไม่มั่นคงปลอดภัยทันที หรือ ถ้าหากคุณเป็นพนักงานบัญชี คุณก็ควรจะคิดว่า บริษัทต้องพึ่งพาอาศัยคุณ นี่ถ้าบริษัทไม่มีคุณมาช่วยงาน บริษัทจะต้องประสบปัญหาเรื่องบัญชีจนวุ่นวายแน่ ๆ หรือถ้าคุณเป็นแม่ค้าขายข้าวแกง คุณก็ควรจะคิดว่า การที่ลูกค้าทุก ๆ คนได้พ้นจากความหิวโหย รอดชีวิตไปได้ในวันนี้ ก็เพราะคุณได้ช่วยชีวิตพวกเขาไว้นั่นเอง (ขืนใครไม่กินข้าวก็ตายสิครับ)
สรุปอีกทีคือ มองให้เห็นคุณค่าในงานที่คุณทำอยู่ว่าได้ช่วยเหลือเกื้อกูลต่อใคร ทำประโยชน์ให้แก่ใครได้บ้าง คิดให้ได้อย่างนี้แล้วสร้างความภูมิใจ ความมั่นใจในการงานของตนเอง ชีวิตการทำงานของคุณก็จะมีความสุขมากขึ้นเป็นกองเลยทีเดียวครับ

2. กระตือรือร้นอยู่เสมอ
สร้างอริยาบถของคุณให้มีกระชุ่มกระชวยมีชีวิตชีวา ทำให้ติดจนเป็นนิสัย คุณก็จะพลอยมีความกระตือรือร้นในการทำงานไปด้วย ความรู้สึกกระตือรือร้นนี้เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาได้ครับ เวลาที่คุณอยู่คนเดียวในห้อง ให้คุณลองทำดูเล่น ๆ ก็ได้ คือ คุณลองทำโน่นทำนี่อย่างเนือย ๆ เฉื่อยแฉะสัก 5 นาที จากนั้นให้เปลี่ยนบุคลิกใหม่คราวนี้ลองทำอะไรต่ออะไรด้วยท่าทีกระฉับเฉงว่องไวดูสัก 5 นาที ลองเปรียบเทียบดูสิครับ คุณจะพบว่าความรู้สึกมันต่างกันลิบลับเลยเดียว คนที่มีความรู้สึกกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา ทำอะไรมันก็ดูน่าสนุกไปหมด ดังนั้นในแต่ละวัน หากคุณลองทำตัวให้เป็นคนที่กระตือรือร้นขึ้นมาสักวันละครึ่งชั่วโมงกับการงานอะไรก็ได้ ให้คุณลองตั้งกติกากับตัวเอง ว่า คุณจะเป็นคนActive วันละครึ่งชั่วโมง ดูสิว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น ในที่สุดคุณจะพบด้วยตัวของคุณเองว่า ทุก ๆ วันที่คุณฝึกทำงานอย่างว่องไวตื่นตัวอยู่เสมอ ความกระตือรือร้นของคุณมันจะค่อย ๆ ขยายตัวออกไป สู่กิจกรรมอื่นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดมันก็จะกลายเป็นบุคลิกใหม่ของคุณอย่างถาวร คือเป็นคนทำงานอย่าง สนุกสนานมีชีวิตชีวาด้วยความกระตือรือร้นนั่น

 3.ฝึกสมาธิกับการงาน
 
การงานบางอย่างมันก็ดูน่าเบื่อน่าเซ็ง จริงๆเสียด้วย มันจะไม่น่าเบื่อได้อย่างไร ก็ต้องทำซ้ำ ทำซาก หาความหมายอะไรไม่ได้เลย ทำไปเบื่อไปเมื่อใดจะเลิกงานเสียที ถ้าใครคิดอย่างนี้นาน ๆ จะพาลเป็น โรคประสาท เพราะจิตใจไม่มีความสุขกับการทำงาน ต้องฝืนใจทำไปวัน ๆ
ใครพบกับสถานการณ์เช่นนี้ ก็ให้ใช้วิธีนี้สิครับ คือฉวยโอกาสฝึกสมาธิกับงานเสียเลยเป็นอย่างไร คือได้ทั้งความสงบใจ และได้ทั้งผลของงาน การทำสมาธิกับการทำงานอาจจะใช้วิธีง่าย ๆ ด้วยการกำหนดรู้อริยาบถ คือแต่ละขั้นตอนของการเคลื่อนไหวร่างกาย ให้มีสติติดตามทันไปในทุกอริยาบถ โดยก่อนที่เราจะเริ่มทำงาน ให้มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าเราจะไม่คิดอะไรนอกเรื่องนอกราวในขณะทำงาน แต่จะใช้ความคิดมากำหนดการเคลื่อนไหวทุกอริยาบถ เพื่อให้จิตเกิดเป็นสมาธิ มันจะได้เกิดความปีติสุขในขณะทำงาน วิธีทำก็ไม่ยาก ลองดูสิครับ
ยกตัวอย่าง สมมุติว่าคุณต้องประทับตรายางซองจดหมายสองร้อยซอง ก็ให้คุณกำหนดจิตลงไปแต่ละขั้นตอนของอริยาบถ เช่น " หยิบจดหมาย - วางซองเข้าที่- จับตรายาง-กดผ้าหมึก-ปั๊มลงไป- เลื่อนซองออก-หยิบ ซองใหม่-วางซองเข้าที่-จับตรายาง-กดผ้าหมึก ฯลฯ " ใส่ใจจดจ่อการเคลื่อนไหวทุกๆอริยาบถ พร้อมกับ ใช้ความคิดของคุณกำหนดรู้ลงไป (พูดในใจตามอริยาบถที่เปลี่ยนไป) เพื่อไม่ปล่อยให้ความคิดลอยหนีไปเรื่องอื่น เชื่อไหมครับว่า กว่าคุณจะปั๊มซองเสร็จ บางทีจิตของคุณอาจจะเกิดตั้งมั่นเป็นสมาธิ ทำให้มีความปีติสุข ราวกับว่าอยู่บนสรวงสวรรค์เลยก็เป็นได้
สรุปง่าย ๆว่า ถ้าคุณรู้จักทำสมาธิในขณะทำงาน ก็เหมือนกับว่าคุณได้ขึ้นสวรรค์ทั้งเป็นในขณะทำงานเลยทีเดียวครับ

4.สนุกกับการทดลองปรับปรุงคุณภาพของงาน
 
การงานทุกอย่างมีเรื่องท้าทายอยู่ในตัวของมันเองเสมอว่า คุณจะสามารถปรับปรุงให้มันมีคุณภาพดีขึ้นได้หรือไม่ ดังนั้นในแต่ละวันที่คุณมาทำงาน คุณอาจสนุกกับการเฟ้นหาปัญหาในที่ทำงานนำมาลองฝึกคิดแก้ไขดู คิดเสียว่าเป็นการท้าทายสติปัญญาของคุณว่าคุณสามารถจะทำได้หรือไม่ อาทิเช่น ทำอย่างไรถึงจะประหยัดทรัพยากร ประหยัดเวลา หรือ ทำอย่างไรผลผลิตจึงจะเพิ่มมากขึ้น หรือ ทำอย่างไรจึงจะวางแผนงานให้เป็นลำดับไม่ลัดขั้นตอน ฯลฯ ลองทำเรื่องเหล่านี้ให้มันดูน่าสนุก เหมือนกับเล่นเกมประเภทฝึกสมองลองปัญญาอะไรทำนองนั้น
สรุปอีกครั้ง คือให้หาเรื่องมาท้าทายสมอง มองหาปัญหาให้เจอแล้วคิดแก้ไขปรับปรุง ถ้าทำได้อย่างนี้ทุกวัน การงานมันก็จะไม่น่าเบื่ออย่างแน่นอนครับ แถมยังฉลาดขึ้นทุกวันอีกต่างหาก
ยกตัวอย่าง สมมุติว่าคุณเป็นพนักงานOffice วันนี้คุณอาจจะคิดคำนวณดูเล่น ๆ ว่า วัน ๆ หนึ่งเราใช้กระดาษ แบบไม่ประหยัดไปเท่าใด จะหาวิธีปรับปรุงอย่างไรให้มันประหยัดมากขึ้น คิดให้มันเป็นตัวเลขออกมาเลยครับ คำนวณดูว่าวันๆหนึ่งใช้เปลืองไปเท่านี้ ถ้าคูณกับหนึ่งปี มันจะเปลืองไปอีกสักเท่าใด อะไรทำนองนั้น พอวันต่อๆ ไปก็หาเรื่องอื่น ๆ มาคิดท้าทายสมองเล่นอีก เช่น จัดโต๊ะอย่างไรถึงจะนั่งทำงานไม่เสียสุขภาพ , วางอุปกรณ์ สนง. อย่างไรถึงจะหยิบก็ง่ายหายก็รู้ , ฯลฯ ทีนี้พอหมดเรื่องรอบโต๊ะ คุณอาจจะไปมองหาปัญหาอื่น ๆ ในบริษัทมานั่งฝึกสมองเล่นก็ได้ ยิ่งเป็นการดีเสียอีก

คนเข้าทำงานเพราะองค์กร แต่จากไปเพราะหัวหน้า..........จริงหรือ"

วันนี้ดิฉันขอนำสรุปบทความ ที่ชื่อว่า "คนเข้าทำงานเพราะองค์กร แต่จากไปเพราะหัวหน้า..........จริงหรือ" จากบทความเรื่อง "People join organization but leave their boss" ซึ่งบทความดังกล่าว ได้สะท้อนให้เห็นถึงการที่องค์กรไม่สามารถรักษาคนเก่งไว้ได้นั้น เพราะสาเหตุใด
โดยสรุปข้อคิดดี ๆ ที่ได้จากการที่ Mr.Marshall Goldsmith ปรมาจารย์ด้าน Executive Coaching ได้กล่าวไว้ในหัวข้อเกี่ยวกับภาวะผู้นำ ซึ่งดิฉันจะขอนำสรุปประเด็นที่สำคัญ ๆ เกี่ยวกับการเป็นหัวหน้างานที่ดีมาบอกต่อดังนี้ค่ะ
ท่านได้ทิ้งข้อคิดดี ๆ เพื่อเตือนสติหัวหน้างานว่า "What got you here, won't get you there" นั่นหมายความว่า "วิธีการที่ท่านใช้ในอดีต และทำให้ท่านประสบความสำเร็จในวันนี้ อาจไม่ใช่วิธีการที่ท่านจะนำไปใช้เพื่อสร้างความสำเร็จในอนาคต"
ซึ่งถ้าดูจากข้อนี้แล้ว ดูจะตรงอย่างยิ่งในสถานการณ์ และสิ่งแวดล้อม ขององค์กรที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เครื่องมือ หรือประสบการณ์เดิม ๆ ที่เราเคยใช้ในอดีต อาจจะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป หรือบางครั้ง สิ่งที่เป็น best practice ขององค์กรหนึ่ง อาจจะไม่เหมาะกับบริบทของอีกองค์กรหนึ่งก็ได้
นั่นหมายความว่า การที่หัวหน้างานมักจะใช้วิธีการเดิม ๆ ในสมัยที่เป็นลูกน้อง มาใช้ตอนที่เป็นหัวหน้างาน แต่มักพบว่า มักจะไม่ประสบผลสำเร็จเหมือนอดีตที่ผ่านมา
นอกจากนั้น เขายังได้กล่าวว่า "การเป็นหัวหน้างานที่ดีนั้น ไม่จำเป็นจะต้องเรียนรู้ว่าควรทำอะไรเพิ่มเติม ถ้าเพียงแต่พวกเขาเรียนรู้ที่จะหยุดทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ พวกเขาก็จะเป็นหัวหน้าที่ดีขึ้นได้ในทันที" ซึ่งในบทความนี้ ได้รวบรวมสิ่งที่หัวหน้าควรหยุดทำ 5 อย่าง มาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้ค่ะ
1. รับปากแล้วไม่ทำ หรือรับปากในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถทำได้ด้วยอำนาจหน้าที่ของตนเองคนเดียว เช่น การรับปากว่าจะขึ้นเงินเดือนให้ หรือรับปากว่าจะให้โบนัส เป็นต้น หัวหน้าควรยอมให้ลูกน้องโกรธที่ไม่ยอมรับปาก (ในสิ่งที่รับปากไม่ได้) ดีกว่าให้ลูกน้องโกรธที่รับปากแล้วไม่ทำ
2. รับชอบแต่ไม่รับผิด ไม่กางปีกปกป้องลูกน้อง ดร.เสรี วงษ์มณฑา เคยกล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า การเป็นหัวหน้าที่ดีคือ การรู้จักใช้มือ ใช้หัว และใช้หน้า หมายถึง หัวหน้าต้องรู้จักที่จะใช้มือในการลงมือทำให้ลูกน้องได้เห็น ใช้หัวเพื่อสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ ให้กับทีมงาน และที่สำคัญใช้หน้าเพื่อเอาไว้ยืดหน้ารับความผิดแทนลูกน้อง เหมือนคำโบราณที่ว่า “รับหน้า” ไม่ใช่ทุกอย่างโบ้ยว่าผมไม่รู้ ลูกน้องเป็นคนทำ
3. ตัดสินใจโดยไม่ต้องฟังความคิดเห็นผู้อื่น ไม่อธิบายเหตุผลใดๆ เป็นการตัดสินใจโดยยึดความคิดของตนเองเป็นหลัก หรือเมื่อมีการตัดสินใจมาจากเบื้องบนก็มักอ้างเหตุผลว่า “มันเป็นนโยบาย” ซึ่งการอธิบายเพียงเท่านี้อาจไม่สามารถทำให้ลูกน้องเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องได้ แทนที่ลูกน้องจะได้ความกระจ่างกลับยิ่งทำให้ลูกน้องเกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อองค์การยิ่งขึ้นไปด้วย
4. พูดจาไม่ให้เกียรติลูกน้อง หัวหน้างานจำนวนหนึ่งมักจะเชื่อว่าตนเองมีความสนิทสนมกับลูกน้องเป็นอย่างดี จึงไม่จำเป็นต้องระวังคำพูดมากนัก ยิ่งลูกน้องที่ทำงานด้วยกันมานานยิ่งรู้สึกสนิท จึงคิดไปเองว่าลูกน้องคงรู้จักนิสัยของตนดีอยู่แล้ว ทำให้หัวหน้าหลายๆ คนไม่ระวังคำพูดและบ่อยครั้งที่เรามักได้ยินวาจาที่ไม่สุภาพหรือภาษาสมัยพ่อขุนผุดขึ้นมาระหว่างการทำงานอยู่บ่อยๆ
5. ตำหนิลูกน้องต่อหน้าธารกำนัล หัวหน้าจำนวนไม่น้อยไม่ไว้หน้าลูกน้อง ถ้าทำพลาดก็ซัดกันตรงนั้นเลย และที่สำคัญถ้าทำดีก็ไม่เคยชม นัยว่ากลัวจะเหลิงอะไรทำนองนั้น
ถ้าคุณเป็นหัวหน้าคน ลองย้อนมองดูตนเองด้วยใจเป็นกลางซักนิด แล้วประเมินดูซิว่า “คุณมีสักกี่ข้อแล้ว??”

การบริหารจัดการ กับภาวะผู้นำ มิอาจแยกจากกันได้

การบริหารจัดการ กับภาวะผู้นำ มิอาจแยกจากกันได้ โดยข้อเท็จจริงอาจพูดได้ว่า ภาวะผู้นำเป็นองค์ประกอบสูงสุดของงานบริหาร นอกจากนี้ภาวะผู้นำเอง ยังสามารถแยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการสร้างวิสัยทัศน์ (vision) การกำหนดทิศทาง (direction) ค่านิยม (values) และ วัตถุประสงค์ (purposes) กับอีกส่วนหนึ่งที่เกี่ยวกับการทำให้เกิดแรงดลใจ (inspiriting) และการจูงใจ (motivating) ให้คนทำงานตามวิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ร่วมกัน แต่บางครั้งมักพบว่าผู้นำบางคนมีวิสัยทัศน์ดีแต่ขาดความสามารถในการสร้างทีมงาน ในขณะที่ผู้นำอีกคนอาจเก่งการสร้างแรงดลใจผู้อื่นและสร้างทีมงานแต่ขาดวิสัยทัศน์
ในฐานะผู้สร้างทีมงาน ผู้นำต้องพยายามลดแรงเสียดทานที่ขัดขวางการทำงานแบบทีม โดยต้องยอมรับว่า สิ่งที่ช่วยเสริมเติมเต็มความแข็งแกร่งเพิ่มให้กับทีมคือ การที่มีความแตกต่าง (diversity) อยู่ในทีม ดังนั้นผู้นำต้องเลิกความคิดที่จะทำให้ทุกคนในทีมเหมือนกันซึ่งคิดคล้ายวิธีการโคลนนิ่งคน (clone people) ทั้งนี้ตราบเท่าที่ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน ก็ไม่มีความจำเป็นใดเลยที่ทุกคนต้องมีบทบาทอย่างเดียวกัน เพราะเมื่อสมาชิกทีมงานต่างให้ความยอมรับนับถือต่อกันแล้ว ความแตกต่างของแต่ละคนจะกลายเป็นพลังเสริมเพิ่มจากปกติที่เรียกว่า “synergy” หรือ “การประสานพลัง” ย่อมเพิ่มความแข็งแกร่งและเพิ่มผลงานมากยิ่งขึ้น ความแตกต่างจึงเป็นจุดแข็งแทนที่จะเป็นจุดอ่อน
หน้าที่แรกของผู้นำก็คือ การทำให้สมาชิกแต่ละคนให้การยอมรับนับถือต่อกัน และสร้างเสริมทีมงานให้ใช้จุดแข็งมาเพิ่มผลผลิตพร้อมกับช่วยขจัดจุดอ่อนที่มีให้หมดไป ในขณะที่ บทบาทผู้บริหารจะมุ่งทำเพียงการยกระดับการทำงานของสมาชิกที่เป็นผู้ผลิตหรือผู้ปฏิบัติให้มีผลงานมากขึ้น ส่วนผู้ผลิตมีบทบาทคือ ก้มหน้าลงมือทำงานและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เกิดผลงานขึ้นเท่านั้น มีประเด็นน่าศึกษาในเรื่องนี้ก็คือ ความสอดคล้องระหว่างคนกับงานเมื่อพิจารณาจากบทบาท 3 แบบที่กล่าวมาแล้ว ควรเป็นเช่นไร เช่น บางคนที่ดำรงตำแหน่งงานที่ใช้ บทบาทของผู้ผลิตน้อย ต้องการบทบาทของผู้บริหารจัดการสูง และต้องใช้บทบาทด้านภาวะผู้นำน้อยเช่นกัน กรณีเช่นนี้ถ้าบุคคลผู้นี้มีบทบาทเด่นเฉพาะตัว (personal style) คือสามารถเป็นนักผลิตตัวยงมากกว่าที่จะเป็นผู้บริหารและผู้นำแล้ว อาจคาดเดาได้ว่างานที่ต้องรับผิดชอบจะสร้างภาวะ อึดอัดใจแก่ผู้นั้น เนื่องจากถูกวิพากวิจารณ์จากเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าในฐานะ ที่ไม่สามารถสร้างผลงานได้ตามที่คาดหมายขององค์การได้ค่ะ

ลักษณะของผู้นำ 3 แบบ

ในองค์การต่าง ๆ หากเราพิจารณาลักษณะของผู้นำ โดยคำนึงถึงลักษณะการใช้อำนาจหน้าที่ระหว่างตัวผู้นำและผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นเกณฑ์ เราอาจแบ่งลักษณะของผู้นำในองค์การออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้ค่ะ
1. ผู้นำแบบเผด็จการ (Autocratic Leadership) เป็นผู้นำที่เน้นการบังคับบัญชา และการออกคำสั่งเป็นลำดับ ผู้นำประเภทนี้ มักตัดสินใจด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ และจะไม่ค่อยมอบอำนาจหน้าที่ให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชามากนัก ลักษณะผู้นำประเภทนี้จะถือตัวเองเป็นหลัก เรียกว่า มีอัตตาสูง เชื่อมั่นตนเองมาก ไม่ค่อยให้เกียรติและไม่เชื่อฟังผู้อื่น ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็น แม้จะไม่เห็นด้วยกับนโยบายของผู้นำเองก็ตาม ส่วนผลดีของผู้นำแบบนี้ คือ จะทำให้การทำงานรวดเร็ว เพราะใช้คนตัดสินใจสั่งการเพียงคนเดียวและใช้คนงานรองๆ ลงมาในระดับต่ำได้ ทั้งนี้ เพราะผู้ใต้บังคับบัญชา มีหน้าที่เพียงปฏิบัติตามคำสั่ง และรายงานปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานกลับไปเท่านั้น ส่วนผลเสียของผู้นำแบบเผด็จการ คนส่วนใหญ่ไม่ชอบระบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้นำใช้วิธีการจูงใจแบบด้านลบ (Negative motivation) โอกาสที่คนงานจะเกิดความผิดหวัง และเสียขวัญในการทำงานได้มาก คนงานส่วนใหญ่จะทำแบบพอไปที ที่สำนวนไทยเรียกว่า เช้าชาม เย็นชาม
สรุปได้ว่าผู้นำแบบเผด็จการจะมีอำนาจสูงสุดที่ตัวผู้นำ ผู้นำจะสั่งการและตัดสินใจโดยยึดถือความคิดตนเองเป็นใหญ่ นิยมการให้รางวัลและลงโทษ
2. ผู้นำแบบประชาธิปไตย (Democratic Leadership)
ผู้นำประเภทนี้จะตรงข้ามกับแบบแรกค่ะ ผู้นำแบบประชาธิปไตยจะให้ความสำคัญแก่ผู้ใต้บังคับบัญชามาก การบริหารจะใช้วิธีการกระจายอำนาจ การตัดสินใจหรือการดำเนินงาน จะใช้วิธีปรึกษาหารือผู้ร่วมงาน ซึ่งอาจใช้วิธีการประชุมหรือตั้งคณะกรรมการ ผู้นำประเภทนี้ พยายามส่งเสริมให้คนงานออกความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการพิจารณาตัดสินใจในปัญหาต่าง ๆ ได้ กระบวนการดังกล่าว จะเอื้อให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งเรา สรุปว่า ผู้นำแบบประชาธิปไตยเป็นผู้นำที่ทำงานโดยอาศัยความร่วมมือกับผู้ใต้บังคับบัญชา การตัดสินใจอยู่บนฐานของการปรึกษาหารือกัน
3. ผู้นำแบบเสรีนิยม (Laissez Faire Leadership)
ผู้นำประเภทนี้จะปล่อยปะละเลย ไม่สนใจต่อลูกน้อง และไม่ทำอะไรให้เป็นที่น่ารังเกียจเจ็บใจ ผู้นำประเภทนี้จะปล่อยให้ลูกน้องทำงานไปตามความคิดเห็นของตนเอง โดยไม่ต้องปรึกษาหารือกับตนก่อน ในทางปฏิบัติการบริหารแบบผู้นำแบบเสรีนิยม นี้จะแตกต่างจากผู้นำแบบประชาธิปไตยที่ว่า จะมีการปล่อยให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีอิสระเสรีเต็มที่ หรือปล่อยให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีอำนาจกระทำการใด ๆ ตามใจชอบได้ ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้จะถูกมอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาตัดสินใจอย่างเต็มที่ ผู้ใต้บังคับบัญช าอาจจะได้รับสิทธิในการจัดทำแผนงานต่าง ๆ ได้ตามใจชอบ โอกาสผิดพลาดจากการปฏิบัติงานก็ย่อมมีมากด้วยค่ะ
ท่านผู้ฟังค่ะ การบริหารเป็นทั้งศิลป์และศาสตร์ ที่ผู้บริหารจะต้องนำลักษณะของผู้นำแบบต่าง ๆ มาผสมผสาน ให้มีความเหมาะสม จึงจะทำให้งานที่ตั้งไว้ตามวัตถุประสงค์ประสบผลสำเร็จ ลักษณะผู้นำที่การบริหารเน้นไปที่งานมากเกินไป ก็จะทำให้เสีย“บุคลากร” และ การบริหารที่เน้นหนักไปทางบุคลากร ก็จะทำให้องค์การเสีย “งาน” ดังนั้น ความพอดีของทั้งสองสิ่งนี้คือ ทั้งคนและทั้งงานค่ะ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องค้นหาให้พบ จึงจะทำให้เกิดผลดี คือได้งาน และได้คน ที่เป็นลักษณะผู้นำที่ดีที่สุดที่จะทำให้งานประสบผลสำเร็จดีเลิศนั้น แต่ยังไม่ปรากฏมีงานเขียนหรืองานวิจัยใด ที่แสดงให้เห็นว่าลักษณะความเป็นผู้นำชนิดใดดีกว่าชนิดใด เหตุผลการเลือกใช้ลักษณะผู้นำประเภทใดย่อมขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละสถานการณ์ โดยท่านอาจารย์ อัมพิกา ไกร ได้เสนอแนะไว้แก่ผู้ที่จะเป็นผู้นำ ไว้ว่า “ความชำนาญในการที่ท่านสามารถจะเลือกพื้นฐานของความเป็นผู้นำทั้งสามชนิด คือผู้นำแบบเผด็จการ ผู้นำแบบประชาธิปไตย และผู้นำแบบเสรีนิยมนั้น จะทำให้ท่านเป็นบุคคลที่ได้รับความสำเร็จในการเป็นผู้นำ” ค่ะ

การเรียนรู้จากประสบการณ์ เป็นการเรียนรู้จากความสำเร็จและความล้มเหลวในอดีต

การเรียนรู้จากประสบการณ์ เป็นการเรียนรู้จากความสำเร็จและความล้มเหลวในอดีต เพื่อหาโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในปัจจุบัน
• เรียนรู้จากการปฏิบัติและความคิดของผู้อื่น เป็นการเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมภายนอก เช่นคู่แข่ง ลูกค้า เพื่อหาข้อมูลและความรู้ใหม่ โดยการตั้งมาตรฐาน วิเคราะห์ผลการทำงานของคู่แข่งและเปรียบเทียบกันขององค์การ และการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะอภิปรายเกี่ยวกับผลดีและผลเสียของสินค้าและบริการ
• การแบ่งปันความรู้ เป็นวิธีการถ่ายทอดความรู้ให้กับหน่วยต่าง ๆ ในองค์การ ซึ่งองค์การจะต้องมี วิธีการถ่ายทอดข้อมูลที่มีประสิทธิผล เช่น การพัฒนาโครงการ การรายงาน การฝึกอบรม และการเปลี่ยนงาน โดยทั่วไปผู้บริหารสามารถจัดการกับความเปลี่ยนแปลงได้ โดยอาศัยกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่มีความเหมาะสมกับองค์การ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น
1. กลยุทธ์แบบเผด็จการ เป็นกลยุทธ์ที่ผู้บริหารใช้อำนาจในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยไม่คำนึงถึงความสำคัญของสมาชิกในองค์การ หากเกิดการต่อต้านจะใช้การลงโทษ เพื่อให้เกิดการยอมรับและปฏิบัติตามการเปลี่ยนแปลง การใช้กลยุทธ์การบังคับอาจทำให้การเปลี่ยนแปลงไม่ได้รับการยอมรับได้ระยะยาว
2. กลยุทธ์แบบประชาธิปไตย เป็นกลยุทธ์ที่ผู้บริหารจะเปิดโอกาสให้สมาชิกในองค์การมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง มีการกระจายอำนาจและให้ความสำคัญกับคน การนำการเปลี่ยนแปลง เข้ามาใช้ จะมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เสริมประสิทธิภาพการทำงาน โดยเพิ่มความเข้าใจสร้างบรรยากาศในการทำงาน และปรับปรุงระบบการสื่อสารให้ดีขึ้น การใช้กลยุทธ์แบบนี้จะทำให้เกิดความมีอิสระในการทำงาน สมาชิกในองค์การมีความพึงพอใจในการทำงาน และเป็นวิธีที่ทำให้เกิดการต่อต้านน้อย เนื่องจากสมาชิกมีความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิด แต่การใช้วิธีนี้จะต้องใช้เวลานานและใช้งบประมาณสูง
3. กลยุทธ์แบบใช้อำนาจตามสายการบังคับบัญชา ผู้บริหารจะใช้อำนาจตามสายบังคับบัญชา ในการเปลี่ยนแปลงการใช้อำนาจจะแตกต่างจากกลยุทธ์แบบเผด็จการ เนื่องจากมุ่งเน้นการจูงใจมากกว่าโดยอาศัยความสามารถของผู้นำ และการยอมรับนับถือในตัวผู้นำ โดยผู้นำต้องมีคุณสมบัติในการยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงและมีอิทธิพลให้ผู้อื่นเชื่อและปฏิบัติตาม ไม่เช่นนั้น
จะไม่ได้รับการยอมรับจากสมาชิกในองค์การได้ หากผู้นำไม่สามารถมีทัศนะที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลงได้ จะต้องมีการเปลี่ยนตัวผู้นำค่ะ

ผู้นำแบบ จอมพลเจียง ไคเช็ก

เจียง ไค เช็ก เกิดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พุทธศักราช 2430 จบการศึกษาจาก โรงเรียนนายร้อยของญี่ปุ่น และกลับมาเป็นขุนศึกค้ำบัลลังก์ของ ดร. ซุน ยัตเซน และได้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 5 เมษายน พุทธศักราช 2518 ผู้ซึ่งมีวันเกิดตรงกับวันปล่อยผีของฝรั่ง และมีวันตาย ตรงกับวันไหว้ผีของจีนในเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2492
เดือนตุลาคม พุทธศักราช 2492 เป็นช่วงเวลาอันสำคัญ ที่นอกจากจะเป็นการเริ่มต้นของสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว ทว่ายังเป็นช่วงเวลาแห่งการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่สำหรับ “อีกจีนหนึ่ง” นั่นก็คือประเทศไต้หวันอีกด้วย กองทัพรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง หรือจีนคณะชาติ ภายใต้การนำของจอมพลเจียง ไคเช็ก เมื่อพ่ายแพ้การสู้รบ กับกองทัพปลดแอกของเหมา เจ๋อตุง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ จึงถอยร่น หนีมาตั้งหลักบนเกาะไต้หวัน และเริ่มต้นกันใหม่บนเกาะเล็กๆ ซึ่งมีสภาพภูมิอากาศกึ่งเขตร้อนแห่งนี้ โดยนำความผิดพลาดในอดีตมาเป็นบทเรียน พรรคก๊กมินตั๋งลงมือดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจ ที่พวกเขาไม่อาจดำเนินการได้เลยบนแผ่นดินใหญ่ พร้อมกับวางรากฐาน จนทำให้ไต้หวันกลายเป็นประเทศประชาธิปไตย ที่มีสีสัน และเป็นชาติ ซึ่งมีเรื่องราวความสำเร็จ อันน่ามหัศจรรย์ที่สุดชาติหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีน คือความปราชัย ที่แสนอัปยศสำหรับเจียง ไคเช็ก มันมากมายท่วมท้นเสีย จนกระทั่ง เค้าเอาแต่ใคร่ครวญ ไตร่ตรองถึงสิ่งที่เคยพลาดพลั้ง เพื่อให้แน่ใจว่า ระบอบการปกครองใหม่บนอาณาจักรแห่งนี้จะมีชีวิตรอดสืบไป “ความย่อยยับบนแผ่นดินใหญ่เป็นบทเรียนสำคัญที่สุดสำหรับเจียง ไคเช็ก เมื่อเขาขึ้นเป็นผู้นำไต้หวัน” มีผู้กล่าวกันว่า “อนุทินของเจียงในช่วงทศวรรษ 1950 มีแต่การครุ่นคิด เกี่ยวกับความล้มเหลวบนแผ่นดินใหญ่ที่ผ่านมาของตนเองอยู่เต็มไปหมด”
มีความเห็นที่สอดคล้องกันในหมู่นักประวัติศาสตร์ว่า นโยบาย การบริหารไต้หวัน ที่สำคัญที่สุดของเจียง ไคเช็ก ก็คือ การที่เขาตัดสินใจบังคับให้พวกชาวนาที่ร่ำรวย ยอมขายที่ดินส่วนใหญ่ให้แก่ชาวนาที่ยากจน การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดชนชั้น ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินรายย่อย ที่มีพลังขับเคลื่อนในการสร้างผลผลิตทางการเกษตร ขณะที่พวกเจ้าของที่ดิน ได้นำรายได้จากการขายที่ดินไปลงทุนในด้านอุตสาหกรรม ซึ่งปูทางไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ในฐานะชาติผู้ผลิตอุตสาหกรรมรายใหญ่ของโลกเจียง ไคเช็ก พยายามดำเนินโนบาย ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับที่เขาเคยใช้เมื่อสมัยปกครองแผ่นดินใหญ่ ทว่าครั้งนั้น กลับไม่มีอิสระอย่างเต็มที่ในการบริหารประเทศตามวิสัยทัศน์ของตนเอง เพราะถูกขัดขวางจากพวกเจ้าของที่ดินซึ่งมีอิทธิพล พวกนักธุรกิจ ร่ำรวยล้นฟ้า และกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ นโยบายเหล่านั้นจึงไม่สัมฤทธิ์ผล “พรรคจีนคณะชาติ ไม่เคยมีอำนาจบังคับบัญชาประเทศได้อย่างแท้จริง จนกระทั่งเดินทางมาถึงไต้หวัน ซึ่งนับเป็นครั้งแรก ที่พวกเขาได้มีอำนาจควบคุมอย่างมั่นคงจริง ๆ เสียที สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นบนแผ่นดินใหญ่ ”
เมื่อกองทัพของเจียง ไคเช็ก ยาตราถึงเกาะไต้หวัน นับเป็นช่วงเวลาเหมาะเจาะพอดี เนื่องจากเพิ่งหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น ซึ่งดำเนินมานานถึง 50 ปี เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติในปีพุทธศักราช 2488 จีนคณะชาติ จึงไม่ต้องกังวลเรื่องกลุ่มอิทธิพล หรืออำนาจบารมีของชนชั้นเจ้าของที่ดิน เจียง ไคเช็กได้ใช้วิธีคลายการกุมบังเหียนเศรษฐกิจ ซึ่งบังเกิดผลอันน่าทึ่งในเวลาต่อมา นั้นคือ เกาะ ซึ่งมีประชากร 23 ล้านคนแห่งนี้ ผงาดขึ้นเป็นชาติที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 26 ในโลกเมื่อปี 2551 จากการจัดอันดับของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ทว่าขณะเดียวกัน เจียง ไคเช็ก ก็ปกครองประเทศในฐานะผู้นำเผด็จการเบ็ดเสร็จตราบจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี 2518 ไต้หวันเพิ่งประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกเมื่อปี 2530 เมื่อเจียง จิงกั๋ว บุตรชายของเขา ซึ่งเป็นที่รักของชาวไต้หวัน ค่อย ๆ ดำเนินการให้ประชาชนมีเสรีภาพทางการเมืองทีละน้อย ซึ่งเป็นย่างก้าวแรกไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างระมัดระวัง ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า “การเมืองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ แม้ไม่ใช่สิ่งดีเลิศ แต่ก็ส่งผลในทางอ้อม ต่อการก้าวไปสู่เป้าหมายนั้น”

“คน” เป็นทรัพย์สินทางปัญญาขององค์กร

สิ่งสำคัญที่ต้องทำเพื่อเพิ่มความแม่นยำ ในการเลือกคนเข้าร่วมงาน ที่เป็นเพชรน้ำงามได้ ไม่ผิดพลาด คือ การพัฒนาทักษะในการสัมภาษณ์อย่างเป็นแบบแผน (Structure Interview) ให้แก่ หัวหน้าตามสายงาน เพื่อให้ผู้สัมภาษณ์เหล่านั้นมีความสามารถในการสอบถามที่เข้าประเด็น และได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน อันจะนำมาสู่การตัดสินใจเลือกคนที่เหมาะสมได้อย่างถูกต้องที่การได้บุคคลในฝันที่เป็นคนดี คนเก่ง คนที่มีศักยภาพสูง และมีค่านิยมที่ไปได้ดีกับองค์กรนั้น ท่านผู้ฟังค่ะ ทุกองค์กรต่างก็อยากได้คนแบบนี้ทั้งนั้น จึงมีการทำสงครามแย่งชิงตัวกัน และเรียกสภาพการนี้ว่า War for Talent หลายองค์กรต่างก็ต้องพยายาม ค้นหาให้เจอ เลือกให้ได้และรับให้ทันก่อนใคร ในโลกยุคใหม่ซึ่ง “คน” เป็นทรัพย์สินทางปัญญา ขององค์กรที่จะนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย ดังนั้น การบริหารทรัพยากรบุคคลซึ่งเริ่มต้นจาก การสรรหาและคัดเลือก “คน” เข้ามาร่วมงาน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะ “คน” เป็นปัจจัยที่สร้างความแตกต่างที่สำคัญในการแข่งขัน หากตัดสินใจเลือกคนคุณภาพระดับกลางๆ เข้ามาเป็นทีมงาน ประสิทธิผลของหน่วยงานก็จะอยู่ในระดับกลางๆ เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าองค์กรจะให้การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หรือแม้หัวหน้างานก็พยายามสอนงานอย่างหนัก ก็ยากที่จะปรับปรุงประสิทธิผลของหน่วยงานได้
ในทางกลับกันหากองค์กรมีระบบ กระบวนการที่สามารถสรรหาและพิจารณาคัดเลือกจนได้คนที่มีศักยภาพสูงเข้ามาร่วมงาน ก็ย่อมจะมาเป็นกำลังสร้างสรรค์ผลงานให้กับหน่วยงานได้เป็นอย่างดี
การทำงานรูปแบบเดิมนั้นมักเป็นการทำงานเชิงรับ ซึ่งการตั้งรับอย่างเก่งก็มีแต่เสมอตัว และไม่มีทางชนะ เปรียบเสมือนการเล่นบอล ถ้ารับอย่างเดียว โอกาสชนะมีแค่ 0.005% แต่หากจะทำให้ทุกคนหันมาเล่นเกมส์รุกก็ต้องเน้นการทำงานหนักและเหนื่อย เพื่อให้รอบรู้ว่าจะรุกอย่างไรให้ชนะ ซึ่งความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ก็ต้องอยู่ที่ผู้นำทีมนั้น ซึ่งทุกองค์กรต้องการฮีโร่ แต่ฮีโร่แบบซุปเปอร์ฮีโร่ค งไม่มีให้เราเห็น มีแต่ Leaderหรือผู้นำ ที่ต้องทำให้ทีมงานได้ร่วมมือร่วมแรงประสานงานและนำไปด้วยกัน เพราะโลกนี้ไม่มียอดมนุษย์ ไม่มีใครเก่งทุกเรื่อง ใครเก่งตรงไหนก็ต้องนำส่วนนั้น ให้สมาชิกในทีมงานเดินไปในทิศทางเดียวกันและด้วยความมุ่งหมายเดียวกันค่ะ

ผู้นำแบบ ซูซีไทเฮา

ดิฉันมีเรื่อง ศาสตร์และศิลป์ของการบริหารจัดการซูซีไทเฮา  มาเล่าให้ฟังค่ะ  

ในอดีตหากมีผู้หญิงคนใดที่มีความเก่งกาจโดดเด่นหรือมีความเป็นผู้นำของกลุ่มและชุมชนมักจะถูกเปรียบเปรยว่าเป็น ซูสีไทเฮา เสมอ ถือเป็นการยกตัวอย่างที่เปรียบเทียบถึงความเก่งกาจของซูสีไทเฮาที่สามารถครอบครองบัลลังค์จีนมายาวนานถึง 47  ปี  ซึ่งถือได้ว่าเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก  จีนเป็นประเทศมหาอำนาจมาตั้งแต่โบราณ มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล และจำนวนประชากรที่มากมายมหาศาล ประกอบกับมีวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นไม่เหมือนใคร ถือได้ว่าเป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมที่สำคัญของเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม หรือแม้กระทั่งไทย ก็ล้วนแต่มีพื้นเพทางวัฒนธรรมมาจากจีนยุคโบราณทั้งสิ้น จึงไม่แปลกใจหากพระนางซูสีไทเฮาได้ยกย่องให้เป็นผู้หญิงที่มีอิทธิพลทางด้านการปกครองของจีนในอดีต ซึ่งยังไม่มีใครสามารถเทียบชั้นอำนาจ และความยิ่งใหญ่ได้นับตั้งแต่ประวัติศาสตร์จีนกว่า 5,000 ปีที่ผ่านมา พระนางซูสีไทเฮา เป็นสตรีที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด ในราชสำนักจีนยุคของราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีน ก่อนที่การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะล่มสลายกลายเป็นสาธารณรัฐ และคอมมิวนิสต์ ไปในที่สุด โดยพระนางทรงอยู่ในอำนาจ โดยกุมอำนาจอยู่เบื้องหลังฮ่องเต้ถึง 3 พระองค์ ไม่มีใครสามารถโค่นพระนางลงจากอำนาจได้สำเร็จ        พระนางซูสีไทเฮาสามารถไต่เต้าจากตำแหน่งสาวใช้  จนกลายเป็นพระมเหสีของฮ่องเต้เสียนเฟิง และกุมอำนาจปกครองอาณาจักรจีนนานถึงครึ่งศตวรรษจนกระทั่งสวรรคต ซึ่งถือว่าพระนางเก่งมาก ที่ก้าวมาจากจุดที่ไม่มีอะไรเลยจนได้กลายเป็น ผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในยุคหนึ่งของประวัติศาสตร์จีน  แต่พระนางก็ถูกตำหนิอย่างหนักว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศจีนล่มจม ถูกชาติตะวันตกรุกรานเสียเกียรติภูมิ เพราพระนางมัวแต่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมัวเมาในอำนาจ และไม่สนใจผลประโยชน์ของบ้านเมือง พระนางซูสีไทเฮาสวรรคตท่ามกลางการสาปแช่งของชาวจีน คือเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน คริตส์ศักราช 1908 มีเรื่องเล่าว่า ก่อนสวรรคตพระนางส่งคนไปวางยาพิษจักรพรรดิกวงซวี่ ที่ยังทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง ทำให้จักรพรรดิกวงซวี่ สิ้นพระชนม์ไปก่อนหน้าพระนางเพียงวันเดียว จากนั้นพระนางได้ ให้ปูยีเป็นจักรพรรดิทั้งๆ ที่ปูยียังมีอายุไม่ถึง 3 ขวบปีดี ในที่สุดพระนางก็ได้สิ้นสุดอำนาจการปกครองต่อราชวงศ์ชิงนานถึง 47 ปี และสวรรคตก่อนที่ราชวงศ์ชิงจะถึงแก่กาลอวสานไปไม่ถึง 3 ปี นับเป็นการปิดฉากการปกครองแบบราชวงศ์ เพื่อเข้าสู่ยุคปฎิวัติและรวมประเทศจีนด้วยการปกครองแบบสาธารณรัฐดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เมื่อได้ครองอำนาจ พระนางซูสีไทเฮามีอายุเพียง 26 ปีเท่านั้น เนื่องจากว่าพระนางซูสีไทเฮา มีอุปนิสัยเป็นคนทะเยอทะยาน มีสติปัญญาสูง และก็รู้จักใช้อำนาจอย่างเฉลียวฉลาด ดังนั้นจึงสามารถกุมอำนาจของราชสำนักไว้ในพระหัตถ์ของพระนางแต่เพียงผู้เดียว ซูสีไทเฮา เคยเอ่ยปากว่าพระนางเป็นผู้หญิงที่ฉลาดกว่าหญิงใด และนางก็มีผู้คนในปกครองมากมายหลายล้านคน ในราชสำนักนั้นพระนางมีอำนาจมาก โดยไม่มีใครกล้าโต้แย้ง พระนางเป็นผู้บรรจุ แต่งตั้งบรรดาผู้คนทั้งปวงในราชสำนัก ตลอดจนสำนักราชการต่างๆ ยิ่งนานไปทุกคนต้องแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์เพียงผู้เดียว หลังจากที่จักรพรรดิ เสียนเฟิงสิ้นพระชนม์ไป จนกระทั่งสิ้นราชวงศ์ชิง ล้วนแต่มีฐานะเป็นหุ่นเชิดของพระนาง กล่าวได้ว่านับตั้งแต่ปีคริตส์ศักราช 1861 เป็นต้นมา จนถึงกาลอวสานของราชวงศ์ชิงนั้น อำนาจของรัฐบาลแมนจู ตกอยู่ภายใต้กำมือของสตรีเพียงคนเดียว

พระนางใช้หลักขงจื๊อ มาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินคือเรื่อง ลูกกตัญญู ที่ ลูกต้องเชื่อฟังแม่ มาใช้กับองค์จักรพรรดิถงจื่อ และเมื่อบรรดาเหล่าขุนนางทั้งหลายต้องถวายความจงรักภักดีต่อจักรพรรดิ ก็ต้องถวายความจงรักภักดี ต่อพระราชมารดาขององค์จักรพรรดิก่อน ดังนั้นสุภาษิตของขงจื้อที่ว่าไว้ว่า ผู้มีปรีชาญาณ ต้องเอาความกตัญญูมาปกครองอาณาจักรจึงเป็นหลักปฏิบัติที่ถูกยกขึ้นมาอ้างบ่อยครั้งที่สุดในรัชสมัยของพระนาง ข้อคิดในเชิงบริหาร การปกครองสมัยซูซีไทเฮาที่หลงในอำนาจ เชื่อฟังแต่ขันที ฟังความข้างเดียว หลงแต่ในโลกแคบๆไม่มองโลกภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไปถึงไหนๆ ไม่มีวิจารณญานด้วยตนเอง สักแต่ว่ามีอำนาจสั่งการ  เป็นยุคที่คนดีตีออกห่างเพราะทนไม่ได้กับยุคสมัยของ การทำดีไม่ได้ดี  ทำไม่ดี  กลับได้ดี  

สามก๊ก : ก๊กซุนกวน

ดิฉันมีเรื่อง ศาสตร์และศิลป์ของการบริหารจัดการในสามก๊ก มาเล่าให้ฟังค่ะ  

ซุนกวน เป็นบุตรชายคนที่สองของซุนเกี๋ยน และเป็นน้องชายของซุนเซ็ก พ่อและพี่ชายซึ่งเป็นนักรบเก่งกล้าสามารถมาก หลังจากซุนเซ็กพี่ชาย เสียชีวิตจึงได้ขึ้นครองแคว้นกังตั๋ง เมื่ออายุเพียง 18 ปี เมื่อเอ่ยถึงซุนเกี๋ยนผู้เป็นบิดาของซุนกวนนั้น มีชื่อเสียงโด่งดังตั้งแต่อายุ 17 ปีโดยแสดงความกล้าหาญในการปราบโจรสลัด จากนั้นทำการปราบปรามกบฎโจรโพกผ้าเหลืองจนได้เป็นเจ้าครองเมืองเตียงสา เคยเข้าร่วมรบกับอ้วนเสี้ยว ในการนำทัพพันธมิตร 18 หัวเมืองอันมี อ้วนสุด โตเกี๋ยม กองซุนจ้าน ม้าเท้ง โจโฉ ต่อต้านตั๋งโต๊ะที่ยึดเมืองหลวงไว้ การรบครั้งนั้น ทัพพันธมิตรมีจำนวนมาก แต่ออกรบแบบประปราย มีแต่โจโฉและซุนเกี๋ยนเท่านั้นที่นำทัพออกไปรบกับทัพตั๋งโต๊ะ และทั้งสองก็พ่ายแพ้กลับมาทั้งคู่  โจโฉสู้ไม่ได้ เพราะทัพมีกำลังคนน้อยกว่า แต่ซุ่นเกี๋ยนนั้นได้เปรียบในการรบ ซ้ำยังสามารถสังหารแม่ทัพเอกฮัวหยงของตั๋งโต๊ะได้ แต่ต้องถอยทัพกลับเพราะ อ้วนสุดไม่ยอมส่งกำลังสนับสนุนและเสบียงให้ ซุนเกี๋ยนเอาชนะตั๋งโต๊ะและลิโป้ได้ ยึดได้เมืองลกเอี๋ยง หรือ ลั่วหยาง ซึ่งถูกตั๋งโต๊ะเผาเมืองทิ้งไป  แต่ซุนเกี๋ยนต้องจบชีวิตลงในวัย 37 ปีเพราะความลำพอง และประมาทศัตรู ในการทำศึกกับเล่าเปียว ซุนเกี๋ยนบุกเดี่ยวไล่ล่าขุนพลหองจอขุนศึกของเล่าเปียว เลยถูกมือเกาทัณฑ์ซุ่มระดมยิงจนเสียชีวิต ขณะนั้นซุนเซ็กพี่ชายของซุนกวน อายุได้ 18 ปีจึงต้องสืบทอดภาระและกองทัพต่อจากครอบครัว

ซุนเซ็กออกศึกร่วมรบกับบิดาตั้งแต่อายุ 15 ปีมีความห้าวหาญไม่แพ้ผู้เป็นพ่อ เก่งกาจ มีความสามารถในการบริหารคน สามารถชักจูงคนเก่งๆมาเป็นพวก หลังบิดาเสียชีวิต ซุนเซ็กเข้าไปพึ่งอ้วนสุด เนื่องจากยังไม่มีฐานที่มั่นและทุนทรัพย์ ทั้งๆที่รู้ว่าบิดาและอ้วนสุดบาดหมางกัน อ้วนสุด ใช้ซุนเซ็กในการขยายอิทธิพล จนซุนเซ็กสะสมทุนและเสบียงจนเข้มแข็ง จึงตีจากอ้วนสุดและนำทัพบุกแคว้นกังตั๋งสร้างเป็นฐานที่มั่น ด้วยความที่ซุนเซ็ก ประสพความสำเร็จตั้งแต่หนุ่ม จึงลำพองในฝีมือและประมาทคู่ต่อสู้ออกล่าสัตว์เพียงตามลำพังเป็นประจำ จึงถูกกลุ่มนักฆ่าดักรอลอบสังหารด้วยเกาทัณฑ์พิษ และจบชีวิตด้วยวัยเพียง 26 ปี ซุนกวนจึงได้ขึ้นครองแคว้นกังตั๋งแทนพี่ชาย

ซุนเซ็กเอาใจใส่น้องชายคนนี้มากและให้ติดตามตลอดไม่ว่างานประชุมหรือสังสรรค์  เพื่อปลูกฝังให้น้อง   มีประสพการณ์ด้านการเมืองและการปกครอง ก่อนตาย ซุนเซ็กได้สั่งเสียน้องชายว่า เรื่องภายในให้ปรึกษาเตียวเจียว   เรื่องภายนอกให้ปรึกษาจิวยี่ ซุนกวน  รับตำแหน่งใหม่ๆขุนนางหลายคน ไม่มั่นใจในตัวนาย คิดตีจากไปสวามิภักดิ์กับขุนศึกอื่น ในช่วงวิกฤตนี้ได้ เตียวเจียวและจิวยี่ คอยประคับประคองและสนับสนุน รับรองการเป็นผู้นำ ทำให้คลื่นใต้น้ำในแคว้นกังตั๋งสงบลงได้ ซุนกวน ไม่ใช่นักรบผู้เก่งกล้าดังเช่นพ่อและพี่ชาย จึงไม่ค่อยได้รับการยกย่องเฉกเช่นผู้นำทั่วไปในสมัยนั้น ที่ยึดถือผู้นำต้องรบเก่ง แต่ซุนกวนมีจุดแข็งอยู่ที่  การบริหารปกครองและการบริหารคนที่ทำให้ก๊กของเขาสามารถยืนหยัดอยู่ได้เป็นก๊กตัวแปรในสามก๊ก ซุนกวนปกครองโดย ให้มีการประชุมขุนนางทั้งบู๊และบุ๋นในรูปแบบที่ปรึกษาในลักษณะการวิพากษ์วิจารณ์และถกประเด็น แต่การตัดสินใจสุดท้ายอยู่ที่ซุนกวน เนื่องจากแคว้นของซุนกวนอยู่ปากแม่น้ำแยงซีเกียง จึงเป็นแหล่งรวบรวมบัณฑิตและนักปราชญ์ที่หนีภ้ยสงครามมาอยู่อาศัย ทำให้สามารถเลือกใช้คนได้อย่างมากมาย  ซุนกวนมีคนให้เลือกใช้มากกว่าเล่าปี่ ที่พึ่งแต่ขงเบ้ง ซึ่งทำให้ซุนกวนไม่เคยออกรบด้วยตัวเองเลย

สิ่งที่เน้นความสำเร็จของซุนกวน คือ การที่เขาสามารถอยู่ในบังลังค์ของกษัตริย์ ง่อก๊ก ได้ถึง 30 ปีจนสิ้นอายุ  และส่งต่อให้ลูกหลาน ก่อนที่ง่อก๊กจะเสื่อมและถูกยึดโดยสุมาเอี๋ยน แต่เขาก็ไม่สามารถยิ่งใหญ่เทียบพี่ชายและบิดาของเขา ที่เป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่ที่คนกล่าวขานกันมา ซุนกวนจึงเป็นได้แค่ผู้นำที่สืบสานความสำเร็จจากพ่อและพี่ชายและบริหารให้ก๊กตัวเองอยู่รอด หลักการบริหารของซุนกวน ผู้นำแห่งง่อก๊ก มีจุดเด่นในการประสานความสามารถของคนรุ่นต่างๆ ได้อย่างลงตัว มิให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ร่วมงาน จนส่งผลต่อการทำงานในภาพรวม โดยแบ่งบทบาท อำนาจหน้าที่ (Authority) อย่างชัดเจน เห็นได้จากซุนกวน ไม่ค่อยนำทัพออกลุยเองเหมือนกับเล่าปี่และโจโฉ แต่ทำหน้าที่ผู้นำทางบริหาร และตัดสินใจในนโยบายสำคัญของแคว้นอย่างเต็มที่มากกว่า