Monthly Archives: June 2010

เส้นทางของมนุษย์เงินเดือน

เส้นทางของมนุษย์เงินเดือน

นิทาน เศรษฐีกับลูกสาวชาวนา

แฟนๆประจำ Blog ทุกท่าน วันนี้ดิฉันมีเรื่อง ศาสตร์และศิลป์ของการบริหารจัดการ มาเล่าให้ฟังค่ะ

..............เศรษฐีคนหนึ่งชอบใจลูกสาวชาวนายากไร้ผู้หนึ่ง    เขาเชิญชาวนากับลูกสาวไปที่สวนในคฤหาสน์ของเขา เป็นสวนกรวดกว้างใหญ่ที่มีแต่กรวดสีดำกับสีขาว  

.............เศรษฐีบอกชาวนาว่า "ท่านเป็นหนี้สินข้าจำนวนหนึ่ง แต่หากท่านยกลูกสาวให้ข้า จะยกเลิกหนี้สินทั้งหมดให้" ชาวนาไม่ตกลง  

.............เศรษฐีบอกว่า "ถ้าเช่นนั้นเรามาพนันกันดีไหม ข้าจะหยิบกรวดสองก้อนขึ้นมาจากสวนกรวดใส่ในถุงผ้านี้ ก้อนหนึ่งสีดำ ก้อนหนึ่งสีขาว ให้ลูกสาวของท่านหยิบก้อนกรวดจากถุงนี้ หากนางหยิบได้ก้อนสีขาว ข้าจะยกหนี้สินให้ท่าน และนางไม่ต้องแต่งงานกับข้า แต่หากนางหยิบได้ก้อนสีดำ นางต้องแต่งงานกับข้า และแน่นอน ข้าจะยกหนี้ให้ท่านด้วย" ชาวนาตกลง

...............เศรษฐีหยิบกรวดสองก้อนใส่ในถุงผ้า หญิงสาวเหลือบไปเห็นว่ากรวดทั้งสองก้อนนั้นเป็นสีดำ
...............เธอจะทำอย่างไร?


...............หากเธอไม่เปิดโปงความจริง ก็ต้องแต่งงานกับเศรษฐีขี้โกง หากเธอเปิดโปงความจริง เศรษฐีย่อมเสียหน้า และยกเลิกเกมนี้ แต่บิดาของเธอก็จะยังคงเป็นหนี้เศรษฐีต่อไปอีกนาน

..................ลูกสาวชาวนาเอื้อมมือลงไปในถุงผ้า หยิบกรวดขึ้นมาหนึ่งก้อน พลันเธอปล่อยกรวดในมือร่วงลงสู่พื้น กลืนหายไปในสีดำและขาวของสวนกรวด
.................เธอมองหน้าเศรษฐี เอ่ยว่า "ขออภัยที่ข้าพลั้งเผลอปล่อยหินร่วงหล่น แต่ไม่เป็นไร ในเมื่อท่านใส่กรวดสีขาวกับสีดำอย่างละหนึ่งก้อนลงไปในถุงนี้ ดังนั้นเมื่อเราเปิดถุงออกดูสีกรวดก้อนที่เหลือ ก็ย่อมรู้ทันทีว่า กรวดที่ข้าหยิบไปเมื่อครู่เป็นสีอะไร"ที่ก้นถุงเป็นกรวดสีดำ "...ดังนั้นกรวดก้อนที่ข้าทำตกย่อมเป็นสีขาว" ชาวนาพ้นสภาพลูกหนี้และลูกสาวไม่ต้องแต่งงานกับเศรษฐีขี้โกงคนนั้น
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า "หากเราพยายามมากพอที่จะแก้ไขปัญหา เราจะพบว่าทุกปัญหาย่อมมีวิถีทางแก้ไขเสมอ"
           จะเห็นว่า  เศรษฐีมีเจตนาที่จะโกงเพื่อที่จะเอาเปรียบชาวนาและลูกสาว ถ้าหากลูกสาวของชาวนาไม่ทันสังเกต และไม่มีไหวพริบในการแก้ไขปัญหา จะทำให้เธอต้องตกเป็นภรรยาของเศรษฐี โดยไม่มีข้ออ้างใด ๆ เลย ซึ่งนำมาใช้ในการบริหาร คือ ในการทำงานหรือการบริหารงานใด ๆ ก็ตาม เรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน คือ ปัญหา ดังนั้นในการบริหารงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดต่อหน่วยงานผู้ที่เป็นผู้บริหารจะต้องเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ (Vision) มองการณ์ไกล และรอบด้าน เพื่อให้รู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับการบริหารงานหน่วยงาน โดยการวิเคราะห์หน่วยงานซึ่งอาศัยการวิเคราะห์ SWOT ของหน่วยงานเพื่อให้ทราบถึงบริบททั้งภายในและภายนอกหน่วยงาน เพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงส่วนที่เป็นจุดด้อย และส่งเสริมพัฒนาในส่วนที่เป็นจุดแข็งของหน่วยงาน และประเด็นสำคัญหลังจากวิเคราะห์และก็ต้องมีการวางแผน ตามหลักการวงจรคุณภาพของเดมิ่ง เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ตามสถานการณ์ปัจจุบันของหน่วยงานด้วยค่ะ

องค์กรต้องการประสิทธิภาพอย่างสูง แต่สภาพแวดล้อมล้วนบั่นทอนต่อประสิทธิภาพการทำงาน

วิกฤติเศรษฐกิจ ส่งผลอะไรต่ออะไรมากมาย ตั้งแต่เรื่องใกล้ตัว ไกลตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานในองค์กร ที่ต้องเผชิญกับปัจจัยภายนอกและภายใน ขณะที่องค์กรต้องการประสิทธิภาพอย่างสูง  แต่สภาพแวดล้อมล้วนบั่นทอนต่อประสิทธิภาพการทำงาน เพราะพนักงานต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่หดหู่  นั่งลุ้นกับสภาพขององค์กรที่อยู่บนเส้นด้าย  ความกดดัน ความเครียด ทำให้ภูมิคุ้มกันของศักยภาพการทำงานลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ปัญหาสารพันล้วนมาจากสิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน เริ่มตั้งแต่นโยบายขององค์กรที่เปลี่ยน ทั้งท่าทีของผู้บริหาร ระบบการทำงาน เป้าหมายที่เพิ่มขึ้นและท้าทายความสามารถอย่างรุนแรง ในขณะที่คนทำงานไร้หนทางที่จะสู่เป้าหมายที่องค์กรต้องการ งบประมาณลดลงจนแทบจะไม่มีเครื่องมือ หรือกระสุนสำหรับการต่อยอด  การแข่งขันกับภายนอกองค์กรก็ย่ำแย่ซ้ำยังต้องเผชิญกับการแข่งขันในองค์กรอีก  หัวหน้าหรือเจ้านายก็ดูเหมือนไร้มนุษยธรรมมากขึ้น การถูกกลั่นแกล้งให้ได้อาย เสื่อมยศ เสื่อมเกียรติ หมดศักดิ์ศรี ล้วนเป็นสภาพแห่งความกดดันชวนให้อยากลาออกไปจากองค์กร

คำถามคือทางออกของเรื่องเหล่านี้  ประสิทธิภาพของการทำงานจะเกิดขึ้นได้อย่างไร  และองค์กรจะรอดและถึงเป้าหมายที่สูงส่งได้อย่างไร เมื่อ พนักงานขององค์กรเต็มไปด้วยความเครียดและคับข้องใจ องค์กรจะอยู่รอดอย่างไร หากไม่ได้ใจพนักงาน ต่างสถานะ ต่างมุมมองเมื่อมองในด้านขององค์กร  ก็พบว่ามีหลายแนวทางที่องค์กรต้องมีการปรับทิศทางที่สำคัญ สำหรับกลยุทธ์ที่ควรหยิบมาใช้ในส่วนขององค์กรที่จะใช้ในการดำเนินธุรกิจในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคือง   กระจุกดีกว่ากระจาย  ภาวะคับขันอาจต้องเปลี่ยนวิธีการบริหารจากการกระจายเป็นการกระจุก  คัดสรร สิ่งที่เป็นข้อดีของแต่ละกลุ่มธุรกิจภายในองค์กร ทั้งในส่วนของความรู้ งบประมาณ การลงทุนและเครือข่าย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดร่วมกัน การขยายความร่วมมือในธุรกิจเดียวกันมากขึ้น ซึ่งนอกจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังทำให้เกิดการได้เปรียบทางการแข่งขันมากกว่าการต่างคิดต่างทำ  การกำหนดเป้าหมายร่วมกัน การชี้แจง สร้างความชัดเจน มีเป้าหมายร่วมกันด้วยการผสมผสานทุกส่วนขององค์กร เป็นภารกิจร่วมของหน่วยงานและองค์กร ไม่ใช่แยกเป็นส่วนๆ  ทุกฝ่ายต่างมีช่องทางและโอกาสช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  เน้นขับเคลื่อนทรัพยากรขององค์กรทั้งภายในและการขับเคลื่อนสู่ภายนอก ไม่ใช่จากข้างนอกสู่ข้างใน  ใช้การสื่อสารเชิงกลยุทธ์ทั้งภายในและภายนอก  การใช้วิธีการ เครื่องมือ ช่องทางที่เหมาะสมโดยเน้นการสื่อความที่ชัดเจนภายในร่วมกัน การสื่อสารที่ชี้ชัดกลุ่มเป้าหมาย ประเด็น วิธีการจัดการที่เจาะลึกมากยิ่งขึ้น เป็นเวลาที่องค์กรต้องเลือกและตัดสินใจว่าอยากเน้นในส่วนใดบ้าง ต้องการความร่วมมือ ค่านิยมร่วมกันอะไรบ้าง การเรียงลำดับความสำคัญของความต้องการขององค์กรเฉพาะเท่าที่จำเป็นก่อน  การสื่อสารที่สม่ำเสมอแบบสองทางเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับในช่วงระยะเวลานี้  การแสดงความจริงใจขององค์กร  การสร้างความพึงพอใจ ความผูกพันในระยะยาว ไม่เพียงกับลูกค้า นักลงทุน ผู้ถือหุ้น ชุมชน และสังคมเท่านั้น  พนักงานเป็นกลไกที่สำคัญมาก จริงใจ ไม่หลอกลวง นับเป็นสิ่งที่องค์กรควรสร้างให้เกิดความเด่นชัดที่สุด