Monthly Archives: September 2010

ศาสตร์และศิลป์ของการบริหารจัดการจาก หนังสือ “ชวนม่วนชื่น”

ดิฉันมีเรื่อง ศาสตร์และศิลป์ของการบริหารจัดการจาก     หนังสือ ชวนม่วนชื่น”  เป็นเรื่องของอาจารย์พรหมหรือ พระวิสิทธิสังวรเถร ชาวอังกฤษ เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ชา ก่อนจะไปก่อตั้งวัดป่าโพธิญานใกล้เมืองเพิร์ธ ที่ประเทศออสเตรเลีย มาเล่าให้ฟังค่ะ ในช่วงก่อตั้งวัดป่าโพธิญานเมื่อปี 2526 พระอาจารย์พรหมเล่าว่า หลังจากซื้อที่ดินแล้ว เงินก็แทบไม่เหลือ ต้องสร้างวัดด้วยมือของตัวเองตั้งแต่ผสมปูน จนถึงการก่อกำแพงอิฐ ท่านเล่าว่า ตอนที่ลงมือทำก็รู้สึกว่าได้ทำอย่างประณีตที่สุด จนกระทั่งกำแพงอิฐเสร็จสิ้นลง แต่พอถอยออกมายืนดู ก็พบว่าก่ออิฐพลาดไป 2 ก้อน  พระอาจารย์พรหมขอเจ้าอาวาสทุบกำแพงทิ้งเพื่อก่อใหม่ แต่เจ้าอาวาสไม่ยอม  จากนั้นเป็นตันมา ทุกครั้งที่มาแขกมาเยี่ยมวัด พระอาจารย์ท่านจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่พาแขกเดินผ่านกำแพงบริเวณนี้ เพราะอายที่ก่ออิฐผิดพลาดไป 2 ก้อน

จนกระทั่งวันหนึ่ง พระอาจารย์พรหมกำลังเดินกับแขกที่มาเยี่ยมวัดคนหนึ่ง เขาเห็นกำแพงนี้แล้วก็เปรยขึ้นมาว่า กำแพงสวยดีนี่พระอาจารย์พรหมถามกลับด้วยอารมณ์ขันว่า คุณลืมแว่นสายตาไว้ในรถหรือเปล่า คุณไม่เห็นหรือว่ามีอิฐ 2 ก้อน ที่ก่อผิดพลาดจนกำแพงดูไม่ดี   แต่แล้วผู้เยี่ยชมคนนี้ก็เอ่ยประโยคที่ทำให้พระอาจารย์พรหมเปลี่ยนแปลงทัศนคติทั้งหมดที่เคยมีต่อกำแพงนี้พร้อมกับเปลี่ยนแง่มุมที่มีต่อชีวิต  แขกที่มาเยี่ยมชมได้พูดว่า ผมเห็นอิฐที่วางไม่ดีสองก้อนนั้น แต่ผมก็ได้เห็นด้วยว่ามีอิฐอีก 998 ก้อนที่ก่อไว้อย่างสวยงาม  นับเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนที่อาตมาสามารถมองเห็นอิฐก้อนอื่นๆ บนกำแพงนั้น นอกเหนือจากเจ้า 2 ก้อนที่เป็นปัญหา”  ไม่ว่าจะเป็นอิฐที่อยู่ด้านบน ด้านล่าง ด้านซ้าย และด้านขวาของเจ้าอิฐ 2 ก้อนนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นอิฐที่ก่อไว้อย่างดีไม่มีที่ติ ยิ่งไปกว่านั้นจำนวนอิฐที่ดีมีมากกว่าเจ้าอิฐไม่ดี 2 ก้อนนั้น

ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา สายตาขอพระอาจารย์พรหมเฝ้ามองแต่อิฐ 2 ก้อนนั้น ท่านยอมรับว่าสายตาของท่านมืดบอดต่อสิ่งอื่นๆ ท่านอยากทลายกำแพง เพราะมองเห็นแต่อิฐ 2 ก้อนที่ผิดพลาด แต่ทันทีที่ความรู้สึกเปิดกว้าง มองเห็นอิฐก้อนดีๆ จำนวนมากบนกำแพงนี้ กำแพงเดิมที่อยากทลายลงก็กลับงดงามขึ้นมาทันที ใช่กำแพงนี้สวยดีพระอาจารย์พรหมหันไปบอกกับแขกผู้มาเยี่ยมคนนั้นจนถึงวันนี้ พระอาจารย์พรหมก็นึกไม่ออกแล้วว่าอิฐที่ผิดพลาด 2 ก้อนนั้น อยู่ตรงส่วนไหนของกำแพง ทัศนคติในการมองโลกที่เปลี่ยนแปลง ทำให้อิฐ 2 ก้อนนั้นเลือนหายไปจากความทรงจำ  พระอาจารย์พรหมเปรียบเปรยว่า คู่ชีวิตที่ตัดสัมพันธ์หรือหย่าร้างกัน ก็เพราะทั้งคู่เพ่งมองแต่ อิฐที่ไม่ดี 2 ก้อนในตัวคู่ชีวิตของเขา   คนที่คิดท้อแท้ อยากฆ่าตัวตายก็เพราะเรามองเห็นแต่ อิฐ 2 ก้อนในตัวเราเอง ทั้งที่ในความเป็นตริง นอกจาก อิฐ 2 ก้อนที่ผิดพลาดแล้ว ยังมี อิฐก้อนที่ดีและ อิฐก้อนที่ดีไม่มีที่ติมากมายอยู่ในตัวเรา  เพียงแต่เรามองไม่เห็นเท่านั้นเอง    ***อย่าให้ความผิดพลาดของ อิฐที่ไม่ดี 2 ก้อนทำให้เราต้องทำลายกำแพงดีๆ จนพัง และในขณะที่เรามองหาข้อดีของตัวเราและคนอื่นแล้ว ให้มองหา ข้อดีจาก ข้อบกพร่องของตัวเราและคนอื่นอีกด้วย แล้วชีวิตนี้จะมีแต่ความสุข*** เรื่องนี้ให้ข้อคิดในเรื่องการทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วย เพราะหากเรามัวแต่มองข้อเสียเล็กน้อยของเพื่อนร่วมงาน และเหมารวมว่าเขาเป็นคนไม่ดี อาจทำให้เรามองข้ามสิ่งดี ๆ มากมายในตัวเพื่อนของเราก็ได้ ดังนั้นการทำงานร่วมกับผู้อื่นต้องมองและให้ความสำคัญกับสิ่งดี ๆ ในตัวเขามากกว่ามองข้อเสียเล็ก ๆ น้อย ๆ จะทำให้เราทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข

 

สบายดี....เวียงจันทร์

ท่านผู้อ่านคะ  ดิฉันโชคดีที่ได้รับโอกาสจากมทร.พระนครในการได้เป็นหัวหน้าทีมการอบรมการทำผ้ามัดย้อมและบาติกรวมถึงการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปให้กับองค์กร Lao Cotton Enterprise ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาว ในระหว่างวันที่ 1-5 กันยายน พ.ศ.2553 ที่ผ่านมานี้เองค่ะ ดังนั้นรายการวิทยุในวันนี้ดิฉันขอนำความรู้ที่ได้รับจากเป็นวิทยากรในครั้งนี้มาร่วมถ่ายทอดผ่านการเล่าสู่กันฟังค่ะ  ในหนังสือแบบเรียนสังคมศึกษา ตอนเราเล็กๆในระดับชั้นประถมศึกษา   เราเรียนรู้ว่าเมืองลาวกับเมืองไทยมีความใกล้ชิดติดกันเพียงแค่เส้นแบ่งพรมแดนกั้นคือแม่น้ำโขง ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนลาว  ส่วนภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ตลอดจนวิถีชีวิตของผู้คนทั้งสองประเทศยังแสดงถึงความกลมกลืนของผู้คนที่มีมาตั้งแต่โบราณ  และคงไม่มีที่ไหนในโลกที่จะเปิดโอกาสให้คนไทยใช้ภาษาไทยกันได้ทั่วประเทศเช่นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้เหมือนอยู่ในประเทศไทยเรา ด้วยความที่ประเทศลาว ตั้งอยู่บนดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ถูกโอบล้อมด้วยประเทศเพื่อนบ้านอย่าง จีน ไทย กัมพูชา พม่า และเวียดนาม เพราะสภาพภูมิประเทศที่ไม่ได้อยู่ติดกับทะเลที่นี่ได้ชื่อว่าเป็น "ล็อกแลนด์ (Lock Land) แห่งอุษาคเนย์" ซึ่งอุดมไปด้วยภูเขาและที่ราบสูงหลายแห่ง อันกลายมาเป็นทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งทรัพยากรทางการท่องเที่ยวที่สำคัญ พอๆ  กับวิถีชีวิตของชาวลาวที่ยึดโยงอยู่กับพระพุทธศาสนาเป็นหลัก ชาวลาวส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ (ร้อยละ 60 ของชาวลาวทั้งหมด) นครหลวงเวียงจันทน์ (นะคอนหลวงเวียงจัน) เป็นเขตที่ตั้งของกรุงเวียงจันทน์เมืองหลวงของประเทศลาว มีเมืองเอกคือจันทะบูลี มีเขตติดต่อเป็นชายแดนกับประเทศไทยระหว่างเวียงจันทน์กับหนองคายของประเทศไทย ทางสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 1 โดยเขตปกครองนี้ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2532 โดยแยกออกมาจากแขวงเวียงจันทน์ เดิมชื่อ "กำแพงนครเวียงจันทน์" ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น "นครหลวงเวียงจันทน์" ในภายหลัง ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวใน นครหลวงเวียงจันทน์
มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายแห่ง ได้แก่
พระธาตุหลวง เป็นพระธาตุใหญ่และสวยงามที่สุดในสารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งสร้างโดยช่างโบราณลาว มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรมและเป็นตัวแทนของสถาปัตยกรรมของลาว ล้านช้าง ด้านหน้ามีอนุสาวรีย์พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ประดิษฐานอยู่ ส่วนองค์พระธาตุหลวงเหลืองอร่ามดุจทองที่ปรากฏด้านหลังอนุสาวรีย์นั้น เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในแต่ละปีจะมีงานนมัสการพระธาตุหลวงที่ยิ่งใหญ่ในคืนเพ็ญเดือน 12 ถือเป็นงานยิ่งใหญ่ระดับชาติ
           ส่วนวัดสีสะเกด สร้างเมื่อ พ.ศ. 2361 (ค.ศ.1818) ตามคำสั่งของเจ้าอนุวงศ์แห่งราชอาณาจักรล้านช้าง วัดนี้ตั้งอยู่ติดกับพระราชวังหลวงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นวัดที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นวัดเก่าแก่ในนครหลวงเวียงจันทน์ที่ไม่ถูกทำลายจากสงคราม ลักษณะพิเศษของวัดนี้อยู่ที่ความอลังการของพระพุทธรูป 6,840 องค์ ที่ฝังอยู่ตามช่องกำแพง
          ประตูชัย เป็นอนุสรณ์สถานและเป็นสัญลักษณ์ของนครหลวงเวียงจันทน์ สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1962 ตั้งอยู่บนถนนล้านช้าง นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นบันไดไปบนอนุสาวรีย์เพื่อชมทิวทัศน์ของตัวเมืองนครหลวงเวียงจันทน์
ได้   นอกจากนี้ยังมีสถานที่ที่น่าสนใจอื่นอีก เช่น วัดสีเมือง ตลาดเช้า ตลาดจีน เป็นต้นค่ะ วันนี้เรายังเห็นหนุ่มสาวชาวลาวรุ่นใหม่ยังรักษาขนบธรรมเนียมดั้งเดิมเอาไว้อย่างค่อนข้างเหนียวแน่น ผ้าซิ่น ยังถูกบรรจุอยู่ในเครื่องแบบราชการ

ประเทศลาวมีพื้นที่ผลิตฝ้ายที่สำคัญและใหญ่ที่สุดในประเทศ คือ จ.ไชยบุรี มีกลุ่มปั่นฝ้ายที่ทอฝ้ายเองจำนวนมากทั่วประเทศ โดยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแต่ละพื้นที่ เช่น แขวงหลวงน้ำทา แขวงซำเหนือ แขวงไชยบุรี เป็นต้นด้วยความสวยงาม ลวดลายแปลกตา และฝีมือการทอผ้าชั้นเลิศ ผ้าทอของลาวจึงเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในตลาดโลก ด้วยความพร้อมด้านฝีมือแรงงาน ทรัพยากร การสนับสนุนจากภาครัฐ และการสนับสนุนจากองค์กรช่วยเหลือนานาชาติ การพัฒนาด้านสิ่งทอในประเทศลาวจึงเป็นไปได้รวดเร็ว และตอบสนองตลาดได้ รายได้จากอุตสาหกรรมสิ่งทอ นับเป็นรายได้หลักของประเทศลาวในปัจจุบัน ส่วนองค์กรที่ทีมวิทยากรจาก มทร.พระนคร ไปฝึกอบรมให้ก็คือ Lao Cotton Enterprise เป็นหน่วยธุรกิจภายใต้ สมาพันธ์แม่หญิงลาวหญิง  โดยจะให้การสนับสนุนรายได้กับสตรี รวมทั้งการรักษาและพัฒนาลายผ้าพื้นเมืองของลาว  โดยวิสาหกิจฝ้ายลาวแห่งนี้  มีกระบวนการผลิตครบวงจรตั้งแต่การซื้อฝ้ายดิบจากเกษตรกรตามกระบวนการของการปั่นที่ย้อมสีและทอจนผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป  เช่น ผ้าฝ้าย, เสื้อผ้า, เคหะสิ่งทอ  กระเป๋าถือ  งานหัตถกรรม ของชำร่วย และผลิตตามคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์มีการออกแบบอย่างประณีต ด้วยคุณลักษณะการผสมของความทันสมัยและศิลปะแบบลาวดั้งเดิม ในการริเริ่มครั้งแรกนั้น ในปี 1984  ได้รับการสนับสนุนจาก รัฐบาลลาว และ United Nation Development Program (UNDP) ในปัจจุบันบริหารงานภายใต้การนำของผู้อำนวยการ นางจันทร จันทะจิต ซึ่งได้ให้การต้อนรับทีมวิทยากรจาก มทร.พระนคร อย่างอบอุ่นและเป็นกันเองค่ะ  โครงการ เสริมสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ณ Lao Cotton Enterprise โดยมีวิทยากรจาก มทร.พระนครจำนวน 3 ท่านคือดิฉันเอง ผศ. สุขุมาล   หวังวณิชพันธุ์ จาก คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม   ผศ.จรูญ   คล้ายจ้อย  และ   อาจารย์กัญญุมา   ญาณวิโรจน์  วิทยากร จากคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น เป็นการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการทำผ้า บาติก  การมัดย้อม  การทำแบบตัด เทคนิคการตัดเย็บ และการบริหารการผลิต การเตรียมการผลิต การวางแผนการผลิตและกระบวนการระหว่างการผลิต รวมถึงวิธีการLoading และการจัดสมดุลการผลิต วิธีการประเมินประสิทธิภาพสายการผลิตและพนักงานในสายการผลิต การแบ่งประเภทของ ของเสียในสายการผลิต  ซึ่งทางผู้เข้าอบรมให้ความสนใจอย่างมากค่ะ