Monthly Archives: November 2010

เคล็ดลับของคนจีน...ในการทำงาน

ครั้งนี้ดิฉันมี เคล็ดลับของคนจีนที่เราสามารถเลียนแบบได้ มาเล่าสู่กันฟังค่ะ คนจีนมีชื่อเสียงในเรื่องการค้าขายและทำธุรกิจ และเคล็ดวิธีรวมทั้งความคิดในการทำงานบางอย่างของคนจีน ก็เป็นสิ่งที่คุณสามารถนำเอามาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความสำเร็จให้ตัวเองได้ เช่นกัน เคล็ดลับของชาวจีนที่สามารถนำมาใช้ เพื่อสร้างความสำเร็จให้ตัวเองได้ มีดังนี้ค่ะ

ผูกมิตรก่อน ทำธุรกิจทีหลัง คนจีนชอบการพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ และสร้างความคุ้นเคยก่อนที่จะตั้งต้นทำธุรกิจการค้ากับใคร พวกเขาอาจใช้เวลานานในการสังเกตคนอื่นก่อนที่จะทำธุรกิจใหญ่ด้วย แต่การกระทำเช่นนี้ก็สร้างสัมพันธภาพที่ดี และมักจะยืนนานกว่าการตั้งหน้าตั้งตาทำธุรกิจอย่างเดียว ในสไตล์ตะวันตก ฉะนั้น พยายามให้คนอื่นรู้สึกถึงความเป็นมิตรของคุณ และความสัมพันธ์ทางธุรกิจของคุณจะราบรื่นขึ้น

ยิ้ม รอยยิ้มเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการแสดงความเป็นมิตรท่ามกลางคน แปลกหน้า การทำหน้าตาจริงจังหรือขมวดมุ่น จะทำให้สัมพันธภาพของคุณเดินไปในทางที่ผิดพลาด คนจีนใช้รอยยิ้มเพื่อเป็นกลไกการป้องกันตัว พวกเขายิ้มเวลาที่รู้สึกอึดอัดหรือตื่นกลัว ในขณะที่ชาวตะวันตกบางแห่ง อาจมองการหัวเราะคิกคักเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ในเมืองจีนมันเป็นเครื่องมือในการออกสังคมของคนทุกระดับชั้น แต่คุณจะดูเป็นมิตรมากกว่า และมีอิทธิพลในทางที่ดีต่อผู้คนมากกว่า ด้วยรอยยิ้มของคุณ ฉะนั้น อย่าลืมรอยยิ้มของคุณเสียล่ะ

พูดช้าๆ คนอเมริกันชอบพูดเร็วๆ ผลก็คือพวกเขาทำให้คนฟังเบื่อ มันไม่สำคัญหรอกว่าไอเดียของคุณจะวิเศษเพียงใด ถ้าคุณไม่สื่อสารออกมาในแบบที่คนอื่นจะเข้าใจได้ คนจีนมักเห็นเป็นเรื่องไม่สุภาพที่จะขอให้คนอื่นพูดซ้ำ ถ้าพวกเขาไม่เข้าใจคุณ พวกเขาก็จะนั่งเฉยๆ และดูเหมือนเข้าใจ และปล่อยให้ความคิดของคุณผ่านเลยไป การพูดช้าๆ และชัดเจนจึงจำเป็นในกรณีที่คุณต้องการสื่อสารความคิดของคุณ และให้แน่ใจว่าคนอื่นฟังมันอย่างเข้าใจ

อย่าเป็นกันเองเกินไป ในประเทศตะวันตกมักจะเน้นที่ความเท่าเทียมกัน แต่คนจีนจะเน้นหลักอาวุโสเป็นหลัก นี่เป็นการให้เกียรติคนอื่น และสร้างความรู้สึกในแง่ดี ที่จะทำให้สัมพันธะภาพทางธุรกิจดำเนินไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น

สินน้ำใจหรือของขวัญ คนจีนนิยมการการมอบของขวัญในโอกาสต่างๆ ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้รับรู้สึกยินดีแล้ว ยังสร้างความน่าเชื่อถือความรักนับถือแก่ผู้ให้อีกด้วย ซึ่งเมื่อการยอมรับเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรก็ย่อมจะหาการสนับสนันจากผู้อื่นได้ไม่ยาก จึงไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะประสบความสำเร็จ ฉะนั้น อย่าลืมการให้ของขวัญเพียงเล็กน้อยแก่ทุกคนรอบตัว ไม่ว่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่าหรือสูงกว่าก็ตาม

ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่มั่งมีเงินทอง ที่ย่อมอยากทำตัวให้สุขสบายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกินดีๆ หรือการซื้อของหรูหราราคาแพงมาใช้ แต่สำหรับคนจีนแล้ว การทำตัวหรูหราฟุ่มเฟือยเป็นความทุกข์มากกว่าความสุข เพราะต้องคอยระวังไม่ให้ข้าวของเหล่านั้นถูกขโมย หรืออาจมีคนไม่ชอบในความอวดโอ้ของตนก็เป็นได้ ทางที่ดีจึงควรทำตัวให้ต่ำกว่าฐานะของตนเอง หรือใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย แค่อยู่ให้สบายกายสบายใจ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ของแพง แต่เก็บออมเอาไว้เพื่อประโยชน์ในอนาคตจะดีกว่า ที่สำคัญก็คือ การวางตัวเช่นนี้ จะทำให้เป็นที่รักและไม่สร้างความบาดหมางต่อคนรอบข้างอีกด้วยวันนี้เวลาของเราก็หมดลงแล้ว ก่อนจากกันในวันนี้ ดิฉันขอฝากคำคมไว้ว่า

                                            ผู้บริหารที่ดี                     นายใช้  เพื่อนชม  ลูกน้องชอบ

                                            ผู้บริหารที่เกือบดี              นายชอบ  เพื่อนชม  ลูกน้องเฉย

                                            ผู้บริหารที่ไม่ดี                นายไม่ชอบ เพื่อนเฉย ลูกน้องชัง

                                                   ผู้บริหารที่หาดีไม่ได้     นายเฉย  เพื่อนชัง ลูกน้องชั่ว ตัวก็ชุ่ย

นิทานเรื่อง ....ลิฟท์ช้า

วันนี้ดิฉันมีเรื่องนิทาน  ลิฟท์ช้า  ที่เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ของการบริหารจัดการ     มาเล่าให้ฟัง

ผู้จัดการของตึกสำนักงานใหญ่แห่งหนึ่ง ได้รับคำตำหนิอย่างมากเกี่ยวกับความเชื่องช้าของลิฟต์ในตึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลางาน เนื่องจากบางบริษัทที่เช่าสำนักงานอยู่ในตึกนี้ขู่ว่าจะย้ายไปอยู่ที่อื่นถ้าหากทางผู้จัดการยังไม่แก้ไขปัญหาดังกล่าว ทางผู้จัดการจึงตัดสินใจว่าจะต้องแก้ไขปัญหานี้ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว   ผู้จัดการได้เรียกประชุมกลุ่มวิศวกรที่ปรึกษาที่มีความชำนาญในการออกแบบระบบลิฟต์ หลังจากที่พวกเขาสำรวจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ทางวิศวกรที่ปรึกษาจึงได้เสนอวิธีแก้ไขด้วยกัน 3 แบบ คือ
1. เพิ่มจำนวนลิฟต์
2. เปลี่ยนลิฟต์ที่มีอยู่บางตัวด้วยลิฟต์ที่วิ่งเร็วกว่า
3. ติดตั้งระบบควบคุมคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ควบคุมการทำงานของลิฟต์ทั้งหมดให้เร็วขึ้น

ทางวิศวกรที่ปรึกษาได้คำนวณค่าใช้จ่ายและประโยชน์โดยวิธีการทั้ง 3 ข้อนี้ พวกเขาสรุปได้ว่า การเพิ่มจำนวนลิฟต์หรือการเปลี่ยนลิฟต์ที่มีอยู่บางตัวด้วยลิฟต์ที่วิ่งเร็วกว่าเท่านั้นที่สามารถทำให้การบริการดีกว่าเดิม แต่ว่าต้นทุนของวิธีการทั้งสองสูงกว่าประโยชน์ที่ทางผู้จัดการจะได้รับมาก ดังนั้นถ้ากล่าวกันจริง ๆ แล้ว ไม่มีวิธีใดที่ดีพอที่ควรจะใช้เลย บรรดาวิศวกรจึงปล่อยให้ผู้จัดการตึกเป็นคนตัดสินใจปัญหาเอง

ผู้จัดการตึกจึงเรียกประชุมบรรดาลูกจ้างทุกคนเพื่อขอความคิดเห็นว่ากันตามจริงแล้วผู้จัดการน้อยคนนักที่จะปฏิบัติเช่นผู้จัดการตึกท่านนี้ เขาพูดถึงปัญหาของลิฟต์ให้บรรดาลูกจ้างฟังและขอความคิดเห็นจากลูกจ้างที่เข้าประชุม ได้มีผู้แสดงความคิดเห็นและให้ข้อแนะนำหลายอย่าง แต่ว่าข้อคิดเห็นนั้นก็ถูกยกเลิกไปก่อนที่จะผ่านวาระการประชุมเสมอ

การประชุมเริ่มดำเนินการช้าลง จนกระทั่งชายหนุ่มผู้หนึ่งซี่งทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของแผนกบุคคลและได้นั่งเงียบมาตลอดได้ขอแสดงความคิดเห็นของเขาบ้าง เขาอธิบายความเห็นของเขาอย่างสั้น ๆ และกินเวลาครู่เดียว   ทุกคนในที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อเสนอของเขาทันที  หลังจากนั้นสองสามสัปดาห์ก็ไม่มีเสียงบ่นจากผู้ใช้ลิฟต์อีกเลย ปัญหาต่าง ๆ ได้หมดไปอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาก็น้อยมาก วิธีการที่ทางผู้จัดการใช้คือ เขาได้ติดตั้งกระจกขนาดใหญ่บนผนังข้าง ๆ ลิฟต์ของทุก ๆ ชั้น ชายหนุ่มสมองใสคนนั้นใช้หลักจิตวิทยาเข้าช่วยในการคำนึงถึงสาเหตุที่คนบ่นว่าลิฟต์ช้า เขาคิดว่าความเบื่อหน่ายในการรอลิฟต์เป็นสาเหตุดังกล่าว แท้จริงแล้วช่วงเวลาที่คนเหล่านี้รอลิฟต์ค่อนข้างน้อยมาก แต่พวกเขาคิดว่านาน เพราะพวกเขาไม่มีอะไรทำในระหว่างที่ยืนรออยู่ ชายหนุ่มคนนี้เสนอบางสิ่งบางอย่างให้คนพวกนี้ทำคือ ให้พวกเขามองดูตัวเองและผู้อื่น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศตรงข้าม) ในกระจก สิ่งนี้ทำให้ทุกคนที่รอลิฟต์มีอะไรบางสิ่งบางอย่าง ที่ไม่เบื่อหน่ายทำ นิทานเรื่องนี้ให้ข้อคิด : ปัญหาหนึ่ง ๆ ย่อมมีวิธีแก้ไขได้หลายแบบเสมอ

การสื่อสารในองค์กร

องค์กรหรือบริษัทใหญ่ๆ มักมีปัญหาในการสื่อสาร โดยเฉพาะระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง หรือระหว่างพนักงานระดับล่างกับผู้บริหาร  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสังคมไทย เป็นสังคมที่รู้จักถนอมน้ำใจกันและกัน ไม่ยอมหักหน้า หรือมุ่งรักษาศักดิ์ศรีของคนที่รู้จัก นอกจากลักษณะของผู้คนในสังคมเป็นแบบนั้น อาจเกี่ยวเนื่องจากตอนเรียนไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็น ไม่กล้ายกมือถามครู จึงส่งผลให้เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน ก็เข้ารูปแบบเดิมคือ ไม่กล้าในการสอบถามถึงความชัดเจน ของเรื่องราวที่ได้รับคำสั่ง ไม่กล้าล้วงลูก สาวถึงความจริงในเรื่องต่างๆ ได้แต่ฟังคนที่สอง ที่สามเล่าเหตุการณ์ความเป็นไปอยู่ห่างๆ …...ซึ่งความจริงย่อมบิดพลิ้วถูกเสริมแต่งไปไม่มากก็น้อย…….

  ลักษณะของสังคมไทยอีกอย่างคือ "ระบบการช่วยเหลือ" หรือ"ระบบอุปถัมถ์" ทำให้เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวก เธอเป็นคนของใคร ฉันเป็นคนของใคร เราต่างไม่ถูกคอกัน เพราะไม่ได้เป็นของคนคนเดียวกัน การติดต่อสื่อสารก็มักจะห้วนๆ แฝงอคติ ....มากมาย

ปัญหา ในองค์กรใหญ่ก็คือ ผู้คนในหลายหน่วยงานก็เกิดจากระบบอุปถัมภ์ ทำให้อาจเกิดความรู้สึกไม่ชอบขี้หน้าระหว่างกันได้ การสั่งงานที่เกิดจากผู้บริหารหรือหัวหน้างานส่งผ่านมายังผู้ปฏิบัติการหรือ คนทำงานดำเนินไปในรูปที่คลุมเครือ ไม่แน่ชัด เข้าใจไม่ตรงกัน ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานในองค์กรไม่ถึงระดับที่คาดหวัง ทั้งนี้อาจมีสัญญาณเตือนสำหรับผู้บริหารหรือหัวหน้า หลายประการดังนี้ค่ะ

การ สั่งงานที่อาจเริ่มต้นคล้ายๆ ประโยคที่ว่าทุกคนคงทราบดีแล้วว่า……ขณะนี้เรากำลังเผชิญปัญหา……” หรือคงไม่ต้องอธิบายขั้นตอนอะไรมาก เพราะพวกเราก็ทำกันจนชินแล้ว…..” การเริ่มต้นที่ความไม่แน่ชัดคลุมเครือในสิ่งที่จะกล่าว ย่อมทำให้ผู้ที่ได้รับคำสั่ง นึกว่าไม่มีอะไรสำคัญก็ได้ หรือไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร การตอกย้ำหรือพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นในการชี้แจง เพื่อให้เกิดผลตามที่ต้องการ คำพูดที่ว่า....  “ถ้ามีเวลาว่าง ช่วยค้นข้อมูลเรื่องนั้นหน่อยนะ…..”  “ยุ่งอะไรอยู่หรือเปล่า ช่วยพี่ทำ…..” การขอความ ช่วยเหลือกันเป็นสิ่งปกติ แต่บ่อยครั้งที่ความผิดพลาดเกิดขึ้น เพราะคำกล่าวที่ไม่ให้รายละเอียดที่มากนัก ทำให้ลูกน้องไม่รู้ว่าจะทำสิ่งใด ทำไปเพื่อวัตถุประสงค์อะไร มีขอบเขตงานขนาดไหน ความเร่งด่วนมากเพียงใด สิ่งเหล่านี้ถ้าลูกน้องเกิดเกรงใจ ไม่กล้าถาม ก็คงอาศัยการนั่งทางในหรือเดาใจหัวหน้าไปก่อน ทำให้การเสียเวลาทำงานนั้นไม่คุ้มค่า   “มีปัญหาอะไรหรือเปล่า…..”     “ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้เสร็จหรือยัง หัวหน้าที่ถามประโยคเช่นนี้บ่อยๆ แสดงให้เห็นถึงการไม่รับรู้ความเป็นจริงของสภาพปัญหาที่ลูกน้องของตนเอง ประสบอยู่เลย การให้ลูกน้องพูดอธิบายปัญหาเดิมๆ หลายรอบก็อาจบ่งชี้ถึงการไม่ใส่ใจต่อสิ่งที่ลูกน้องพบเจอ หรือแท้จริงคือ การไม่ช่วยลูกน้องคิดหาทางแก้ปัญหาเลยนั่นเอง “…นี่คุณช่วยบอก….ให้ทำงาน…..หน่อยนะ” “คุณอยู่หรือเปล่า.ช่วยบอกเขาด้วยนะว่าผมสั่งอะไรไป.แค่นี้ล่ะ สิ่งเหล่านี้ ทำให้เกิด "คนกลาง" ในการติดต่อประสานงานกับคนอื่น ลองนึกดูถ้าเป็นงานเร่งด่วนและมีความสำคัญมาก การสั่งงานผ่านใครไปยังเจ้าของงานตัวจริงอาจจะลดทอนรายละเอียดที่สำคัญได้ และอาจทำให้เกิดปัญหาระหว่างคนทำงานตัวจริงกับคนกลางที่ติดต่อไปได้ ต่างทำให้เสียเวลา และไม่แน่ชัดในสิ่งที่จะทำ  ปัญหานี้ นายดำเป็นคนผิด เพราะเป็นผู้ที่รับผิดชอบ….”        “นายดำนี่เป็นคนสะเพร่าจริงๆ นะ”         “ตรวจทานให้ดีนะ นายดำ ถ้านายดำเป็นคนผิดจริงในหลายครั้ง เหตุใดจึงไม่ช่วยนายดำตรวจสอบหรือแก้ปัญหาบ้าง หัวหน้าที่กล่าวเช่นนี้ให้ลูกน้องฟังบ่อยครั้ง คะแนนของคุณจะหายไปทันที เพราะแสดงให้เห็นความเป็นคนไม่รับผิดชอบ ไม่ร่วมลงแรงด้วย รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงการลำเอียงที่ต้องติดต่อแต่นายดำ หรือมีปัญหาทางการสื่อสารกับคนอื่น จึงกล้าพูดตำหนิกับนายดำเท่านั้น คนอื่นไม่กล้า หรือต้องการรักษาหน้าตัวเองต่อลูกน้องคนอื่นว่า ตนเป็นคนดี มีน้ำใจ แต่ยกเว้นกับนายดำ ระวังคนอย่างนายดำจะลาออกไป คุณจะตกที่นั่งลำบาก  "ได้ครับ……เดี๋ยวผมจะส่งคนไปดำเนิน การให้” “ยินดีครับ……อ๋อต้องการคนช่วยเหรอครับ…..เดี๋ยวผมจัดให้ถ้าหัวหน้าพูดทาง  โทรศัพท์กับใครบ่อยๆ ในแนวนี้และลูกน้องต่างได้ยิน ทุกคนจะรู้สึกขวัญหนีดีฝ่อ เพราะมีหัวหน้าเป็นพ่อพระ รับแต่งานเข้ามา แล้วก็แล้ว อาจจะเอาแต่โยนมันไปให้ลูกน้องของตัวทำ งานในหน้าที่ของลูกน้องเขาก็มีล้นมือ ถ้าเป็นเช่นนี้บ่อยๆ ลูกน้องคงเอือมระอากับพฤติกรรมใจบุญของหัวหน้าเป็นแน่ และอาจกำลังหางานบริษัทอื่นเป็นทางแก้ปัญหา  สัญญาณเตือนจากคำพูดของหัวหน้าในลักษณะต่างๆ เหล่านี้ ... สะท้อนให้ เห็นสิ่งที่คับข้องใจของทั้งลูกน้องและก็หัวหน้าด้วย ถ้าตระหนักถึงปัญหาอย่างแท้จริง ย่อมต้องมุ่งที่ความชัดเจนในการพูดคุยสาวไปถึงต้นตอสาเหตุ มากกว่าจะคอยรักษาหน้าตาหรือกลัวจะเสียหน้า หรือกลัวไม่เป็นที่รักของลูกน้อง เพราะการมุ่งรักษาเพียงภาพลักษณ์หรือคะแนนนิยมของตนเองในสายตาคนอื่นไว้ อาจมีราคาแพงเท่ากับผลขาดทุนที่มีค่ามหาศาลได้

เมื่อขงเบ้งสอน เล่าปี่ให้บริหารเวลา

แฟนๆประจำ Blog ค่ะ ครั้งดิฉันมีเรื่องบทความที่เขียนโดย ดร.สารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์เรื่อง เมื่อขงเบ้งสอนเล่าปี่ให้บริหารเวลา      มาเล่าให้ โดยท่านดร.สารสิน ใช้ตัวละครขงเบ้งและเล่าปี่จากวรรณกรรมสามก๊ก มาผูกเป็นบทสนทนาเกี่ยวกับการบริหารเวลาและการจัดลำดับความสำคัญของงานไว้อย่างน่าสนใจ  ทุกวันทุกคนบนโลกใบนี้มีเวลาเท่าเทียมกันคือ 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ดี มองจากแง่มุมของศรษฐศาสตร์เวลาของทุกคนมีคุณค่าไม่เท่ากัน การบริหารเวลาของแต่ละคนจึงหมายถึงความแตกต่าง ระหว่างความสำเร็จกับความพ่ายแพ้ ค่าของเวลาเกี่ยวข้องกับสมรรถภาพ ซึ่งในแง่ธุรกิจคือต้นทุน ฉะนั้นสถาบันศึกษาทุกแห่งที่สอนวิชาการบริหารธุรกิจจึงมีหลักสูตรเกี่ยวกับการบริหารเวลา  ครั้งหนึ่งเล่าปี่ขอขงเบ้งให้แนะนำวิธีสร้างตนเป็นผู้รวบรวมแผ่นดิน ขงเบ้งว่างานใหญ่เช่นนี้ต้องวางแผนและรู้จักบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ  เล่าปี่ กล่าวว่าข้าฯเห็นด้วยในหลักการแต่ทว่าข้าฯมีงานมากมายที่ต้องทำทุกวัน จนเวียนเกล้าเวียนศีรษะไม่เคยมีเวลาพอที่จะจัดการกับทุกสิ่งทุกอย่างได้เลยขงเบ้งบอกให้ลูกน้องไปเตรียมก้อนหิน ก้อนกรวด ก้อนทราย และน้ำจำนวนหนึ่ง พร้อมถังเหล็กใหญ่หนึ่งใบ เล่าปี่ถามด้วยความแปลกใจท่านเตรียมสิ่งเหล่านี้ไว้เพื่ออะไร  ขงเบ้งยิ้มอย่างมีเลศนัย พร้อมกับตอบด้วยคำถามว่า ท่านบริหารเวลาด้วยวิธีใด

เล่าปี่ตอบว่า ข้าฯเคยคิดว่า ข้าฯมีเทคนิคที่ดีอยู่แล้ว คือใช้วิธีมอบหมาย ข้าฯมีผู้ช่วยอยู่รอบด้านตั้งแต่กวนอู เตียวหุย เจ้าหยุน ฯลฯ ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ด้านต่างๆ แต่งานทั้งหลายก็ยังพันกันอีรุงตุงนัง ไม่สามารถปรับให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีขึ้นได้ เดิมข้าฯคิดว่าคือแมลงวันไม่มีหัวอยู่ตัวเดียว แต่หลังการใช้ระบบมอบหมายงาน กลับกลายเป็นว่าปัจจุบันบริษัทมีแมลงวันหัวขาดเป็นฝูง          ขงเบ้งฟังแล้วจึงเริ่มอธิบายว่า เทคนิคการบริหารเวลาสามารถแบ่งเป็นสามขั้น สูง กลาง และต่ำ   ขั้นต่ำ เน้นการใช้เศษกระดาษบันทึก ขั้นกลาง ใช้ตารางและโปรแกรมประจำวันซึ่งสะท้อนความสำคัญของการวางแผน ส่วนขั้นสูง เน้นการจัดการโดยแบ่งแยกประเภทของหน้าที่การงานตามดีกรี ควรเน้นการใช้แผนดำเนินงาน ตามสำคัญของงานเพื่อพิจารณาลำดับความเร่งด่วนในการจัดการงานดังกล่าว                ทั้งสามขั้นอันดับ ต่างมีเรื่องการมอบหมายงานเกี่ยวข้องอยู่ด้วยตามความต้องการของปริมาณและลักษณะเฉพาะของงานแต่ละชิ้น             เล่าปี่สารภาพว่า หากพิจารณาตามการแบ่งขั้นของเทคนิคการบริหารเวลาแล้ว ข้าฯยอมรับว่าวิธีของข้าฯอยู่ที่ขั้นต่ำ เพราะใช้แค่การส่งใบ slip บันทึก

ขงเบ้งชี้ไปที่ถังเหล็กกับกองวัสดุที่ผู้ช่วยได้เตรียมเสร็จไว้มุมห้องพร้อมกล่าวว่า  คำตอบของการบริหารขั้นสูงอยู่ในถังเหล็กใบใหญ่นี้แหละ ความจุของถังนี้เปรียบเสมือนขีดความสามารถของคนๆ หนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง ก้อนกรวด เปรียบได้กับงานที่สำคัญและเร่งด่วน ก้อนหิน คือภาระที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน เม็ดทรายเปรียบได้กับภาระที่เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ และน้ำคือหน้าที่ที่ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน” ขงเบ้งอธิบายพรางวาดผังประกอบคำอธิบาย ดังในตารางประกอบ

ขงเบ้งอธิบายพรางวาดผังประกอบคำอธิบาย ดังในตารางประกอบ

“ปกติท่านเน้นงานประเภทใด” ขงเบ้งถาม”ก็ต้องเป็นประเภท ก.” เล่าปี่ตอบอย่างไม่ลังเล

“แล้วงานประเภท ข. หละ” ขงเบ้งถามต่อไป

เล่าปี่ตอบว่า “ข้าฯตระหนักถึงความสำคัญของงานประเภทข.แต่ก็ไม่มีเวลาพอที่สนใจมัน” ”เป็นอย่างนี้ใช่ไหม” ขงเบ้งถาม พรางใส่กรวดลงไปในถังเหล็กจนเต็ม แล้วพยายามใส่ก้อนหินเข้าไปซึ่งใส่ไม่ได้ เล่าปี่ตอบว่า “ใช่”
”และหากเปลี่ยนวิธีบรรจุใหม่หละ” ขงเบ้งถามต่อพลางใส่ก้อนหินทีละก้อนเข้าไปในถังก่อนจนใส่ไม่ได้แล้ว จึงถามเล่าปี่อีกว่า “ตอนนี้ถังเหล็กเต็มแล้วจะใส่อะไรลงไปอีกไม่ได้ใช่ไหม”

ซึ่งเล่าปี่ตอบว่า“ใช่“ ”จริงหรือ” ขงเบ้งถามแล้วหยิบก้อนกรวดใส่เข้าไปข้างบนถังแล้วเขย่าให้ก้อนกรวดตกลงไปในถังจนหมด

“บัดนี้ถังเหล็กใบนี้ใส่อะไรลงไปอีกได้หรือไม่” ขงเบ้งพูดพรางเทเม็ดทรายลงไปอีกจนหมด  “แล้วทีนี้หละ ใส่อะไรลงไปอีกได้ไหม” ขงเบ้งถามต่อไป แต่ก่อนที่เล่าปี่มีโอกาสตอบ ขงเบ้งก็ตักน้ำที่เตรียมไว้ใส่ลงไปในถังเหล็กอีกจนหมด “ตอนนี้ท่านเข้าใจความหมายของการทดลองนี้แล้วหรือยัง” เล่าปี่ตอบว่า “เข้าใจแล้ว” พร้อมกับถามต่อว่า “นี่คือสิ่งที่ท่านกล่าวถึงเมื่อสักครู่เกี่ยวกับการจัดการแบบแยกประเภท และเลือกการจัดการก่อนหลังใช่หรือไม่”  ขงเบ้งตอบว่า “ใช่แล้ว การทดลองชี้ให้เห็นว่าหากถังเหล็กตั้งแต่แรกก็เติมเต็มไปด้วยก้อนกรวด ทรายและน้ำ ก็คงไม่มีโอกาสใส่ก้อนหินลงไปได้ แต่ถ้าใส่ก้อนหินลงไปก่อนในถังยังมีเนื้อที่ที่จะใส่สิ่งอื่นๆ เข้าไปได้อีก ดังนั้น การบริหารเวลาที่ได้ผลต้องดูว่า อะไรคือก้อนหิน อะไรคือก้อนกรวด เม็ดทราย และน้ำฯลฯ และไม่ว่าจะเป็นประการใดก็ต้องใส่ก้อนหินลงไปในถังเป็นอันดับแรก” เล่าปี่ยังถามว่า “แล้วการวิเคราะห์แยกแยะเรื่องต่างๆ ออกเป็นสี่หมวดนี้มีผลอย่างไร”
ขงเบ้งตอบว่า “บุคคลจำพวกที่ว้าวุ่นอยู่กับเรื่องราวประเภทก้อนกรวด ย่อมมีความรู้สึกถูกเวลากดดันและวนเวียนอยู่ในแดนวิกฤตจนอ่อนล้า พวกที่เน้นเรื่องประเภทเม็ดทรายจะขาดพลังสร้างสรรค์ ชอบฟังคำพูดเพราะหู คบคนแบบผิวเผิน พวกที่นิยมเรื่องราวประเภทน้ำมักบกพร่องเรื่องสำนึกรับผิดชอบ แม้กระทั่งเรื่องสารทุกข์สุกดิบของตนเอง”
  เล่าปี่ถามว่า “เป็นไปได้ไหมที่ว่าถ้าเน้นก้อนหินมากเกินไปจะมองข้ามก้อนกรวด เพราะก้อนกรวดมากับความเร่งด่วน” ขงเบ้งตอบ “ท่านทราบไหมว่าก้อนกรวดมาจากไหน ก็มาจากก้อนหินที่แตกสลายไง“ และเสริมว่า “คนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องประเภทก้อนหินจะมีก้อนกรวดน้อย คนที่เน้นก้อนกรวดก็จะมีก้อนกรวดเยอะตลอด” ขงเบ้งสอนต่อไปว่า “คนที่อิงเรื่องประเภทก้อนหินเป็นคนมีประสิทธิภาพเพราะเขาจะเก่งในการวิเคราะห์สถานการณ์ เวลา และสิ่งแวดล้อม สามารถจับประเด็นหลักของปัญหา สามารถจัดการกับเรื่องเร่งด่วน และควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เกินกว่าเหตุ กล้าฟันธงและใช้มาตรการป้องปราม บุคคลจำพวกนี้จะมีวิสัยทัศน์ มีอุดมการณ์ เคารพระเบียบ สามารถควบคุมตัวเอง ดำเนินชีวิตอย่างมีวินัย และสามารถทำงานชิ้นใหญ่ได้” เล่าปี่ชื่นชอบทฤษฎี วัตถุในถัง  ของขงเบ้งเป็นอย่างมาก พร้อมกับสารภาพว่า ”มาวันนี้ข้าฯถึงเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วว่า การต่อสู้ของข้าฯทำไมจึงยังลุ่มๆ ดอนๆ เพราะแม้ว่าข้าฯมีขุนพลเก่งๆ เช่น กวนอูและเตียวหุย แต่พวกเขาจะก้าวหน้าได้อย่างไรตราบใดที่คนที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างพวกเขาจมปลักอยู่กับเรื่องจิ๊บจ๊อย กับทำงานลักษณะเก็บเม็ดงาแต่ทิ้งแตงโม ขืนดำเนินตามวิธีนี้ต่อไป ความพยายามของข้าฯที่จะรวบรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งเดียวคงเป็นได้แค่ความฝัน

ทำไมหัวหน้าต้องฟังลูกน้อง....

การทำงานร่วมกันคงจะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งไปเสียมิได้ บ้างเป็นปัญหาระหว่างเพื่อนร่วมงาน บ้างก็เป็นปัญหาระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง นั่นก็นับเป็นเรื่องปกติธรรมดาในการทำงาน เพราะต่างคนก็ต่างที่มา ต่างมุมมองความคิด ย่อมหลีกไม่พ้นเรื่องกระทบกระทั่ง ขึ้นอยู่ว่าเราจะจัดการกับมันอย่างไรให้กระทบต่อกันน้อยที่สุด ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งคือ กรณีหัวหน้าไม่ค่อยรับฟังความคิดเห็นลูกน้อง ทีนี้เราจะมาโทษว่าใครผิดใครถูกคงไม่ได้ แต่ควรมามองว่าสาเหตุของปัญหานั้นๆ คืออะไร เพราะอะไรหัวหน้าถึงไม่ค่อยฟังลูกน้อง แล้วคนที่เป็นหัวหน้าเมื่อรู้ปัญหาของตนเองแล้ว ควรจะแก้ไขอย่างไร เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศในการทำงาน ให้น่าทำงานยิ่งขึ้น ไม่ใช่ต้องทำงานด้วยกันอย่างมีอะไรติดค้างในใจตลอดเวลา การที่หัวหน้าไม่ฟังความคิดเห็นของลูกน้องนั้นอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น

1. ลูกน้องไม่เก่งพอ เวลาลูกน้องที่ไม่เก่งเสนออะไรไป หัวหน้าก็จะรู้สึกว่าฟังไม่ขึ้น ทำไปก็ผิดอยู่ดี ทำไปก็มีโอกาสทำให้ธุรกิจไม่ไปไหน ลูกน้องก็มักจะบ่นว่า เสนออะไรหัวหน้าไปก็ไม่เคยฟัง ไม่เคยนำมาใช้แล้วจะมาถามทำไมวิธีแก้นั้น หัวหน้าต้องพูดกับลูกน้องตรงๆ ว่าจุดอ่อนคืออะไร ถ้าหัวหน้าไม่บอกลูกน้อง ลูกน้องก็จะไม่รู้หรอกว่าตัวเองไม่เก่งตรงไหน ต้องพัฒนาเรื่องใด ถ้าผู้เป็นหัวหน้ารู้สึกว่า การที่ตนเองไม่ฟังเข้าข่ายตามกรณีที่ 1 นี้ หัวหน้าต้องเริ่มที่จะกล้าให้ feedback ตรงๆ สิ่งสำคัญคือหัวหน้าต้องพูดแบบเฉพาะเจาะจงในจุดที่ลูกน้องทำได้ไม่ดี อ่อนจุดใด เช่น ลูกน้องอ่อนในเรื่องความรู้ในงาน มุมมอง ประสบการณ์ การมองในเชิงกลยุทธ์ ฯลฯ หัวหน้าก็ต้องอธิบายให้ชัดเจน เพื่อที่ลูกน้องจะได้นำไปพัฒนาปรับปรุงตนเองได้

2. หัวหน้ายึดในประสบการณ์ตนเองอย่างเดียว หัวหน้าที่ยิ่งมีประสบการณ์มากมักจะยึดในสิ่งที่ตนเองเคยทำ และเคยประสบความสำเร็จมาก่อน หัวหน้าจะเชื่อมโยงการแก้ไขสิ่งต่างๆ ไปกับประสบการณ์ที่ตนเองเคยทำมา เขามักมองว่ามีวิธีการที่ดีที่สุดวิธีการเดียว ซึ่งก็คือวิธีที่เขาเคยทำมาแล้วสำเร็จนั่นเอง จึงนับเป็นเรื่องยากที่เขาจะฟังความคิดเห็นของคนอื่น

วิธีแก้คือ หัวหน้าต้อง ใจกว้าง ไม่ยึดติดกับวิธีการที่ตนเองเคยทำสำเร็จ ต้องยอมรับในวิธีการใหม่ๆ หัวหน้าก็ต้องบอกกับตัวเองว่า ประสบการณ์เราก็อาจจะดี แต่จะมีวิธีอื่นๆ อีกหรือไม่ ต้องถามตัวเองว่าทุกวันนี้แต่ละครั้งที่เราตัดสินใจ เราอาศัยประสบการณ์เราอย่างเดียวหรือเปล่า ถ้ารู้สึกตัวว่าตนเองเป็นแบบนั้น ก็ต้องรีบแก้ไขทัศนคติของตนเอง

3. หัวหน้าเป็นคนประเภท Perfectionist กลัวความผิดพลาดไม่ยอมรับความเสี่ยง เมื่อมอบหมายงานให้ใครก็ต้องลงในรายละเอียดปลีกย่อยทุกครั้งทุกอณู ก็เลยจะดูเหมือนพูดเยอะไม่ฟังใครจะแก้ไขอย่างไรน่ะหรือ...หัวหน้าต้องเริ่มทบทวนตัวเองว่า ทุกครั้งที่มอบหมายงาน เราได้บอกเป้าหมาย วัตถุประสงค์และความคาดหวังแล้ว หากบอกครบถ้วนตามนั้นแล้ว เราไปลงในวิธีการปลีกย่อยอีกขนาดไหน หากเราบอกข้อมูลชัดเจนแล้วก็อาจจะไม่ต้องไปลงรายละเอียดมากนัก เพราะอาจจะทำให้ลูกน้องรู้สึกว่า หัวหน้าไม่ไว้ใจการทำงานของเขาก็เป็นได้

4. สไตล์หัวหน้าเองเป็นคนที่ไม่ชอบฟังใคร บางคนไม่ได้ถูกหล่อหลอมให้เป็นผู้ฟังที่ดี จึงไม่ค่อยอดทนที่จะฟังคนอื่น ฟังอะไรนานๆ ไม่ได้ ชอบตัดบท หากสาเหตุของการไม่ฟังของหัวหน้าตกอยู่ในข้อนี้นับว่าแก้ยากมาก เพราะเป็นสไตล์ที่ติดตัวมานาน ต้องใช้เวลาในการแก้ไข หากเกิดกรณีเช่นนี้ ต้องชี้ให้หัวหน้าเห็นข้อเสียของการไม่ฟังคนอื่น เน้นผลดีของการฟังคนอื่นว่าเป็นการสร้างแรงจูงใจในการทำงานที่สำคัญสำหรับลูกน้องในยุคปัจจุบัน หัวหน้าต้องเริ่มถามแล้วว่า เรากำลังเป็นผู้นำให้คนกลุ่มไหน คนยุคปัจจุบันต้องการได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น หัวหน้ารับรู้และรับฟังถือเป็นแรงจูงใจที่ดีอย่างหนึ่งสำหรับลูกน้อง

5. หัวหน้ามีความเชื่อมั่นในตนเองสูง การที่หัวหน้าได้ก้าวสูงขึ้นๆ ก็จะยิ่งมีความเชื่อมั่นในตนเองสูงขึ้นๆ พอเชื่อมั่นตนเองสูงขึ้น อาจจะทำให้เขารู้สึกชื่นชมมุมมองคนอื่นน้อยเกินไป ไม่ค่อยเห็นคุณค่าในไอเดียคนอื่น แน่นอนว่าคนที่ก้าวไปในระดับสูงได้เป็นคนเก่ง แต่ที่สำคัญคือไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งสูงแค่ไหน แต่การเรียนรู้ก็ยังไม่มีวันสิ้นสุด คุณต้องพยายามให้คุณค่ากับความคิดเห็นและมุมมองคนอื่น คุณควรพยายามให้คุณค่ากับทุกไอเดีย ทุกความคิดเห็น พยายามมองข้อดีของไอเดียต่างๆ เปิดใจสักนิดที่จะรับฟังความคิดเห็นคนอื่นๆ อาจจะทำให้เราเห็นข้อดี หรือข้อแตกต่างในอีกมิติหนึ่งก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น เราฟังประชุม 1 ชั่วโมงเต็มอาจจะไม่ได้ไอเดียดีๆ มาทั้ง 1 ชั่วโมงเต็ม แต่อาจจะมีไอเดียดีๆ มาสัก 5 นาที ซึ่งอย่าคิดว่ามันน้อย 5 นาทีที่ได้มานั้นอาจจะมาต่อยอดงานของเรา และต่อเติมเราให้เต็มแก้วมากขึ้นก็ได้ 

6. ปัญหาในเรื่องกระบวนการ ในการฟัง มีคนบางกลุ่มที่ Hearing but not Listening มีปัญหา ในกระบวนการย่อยข้อมูล ทำได้แค่การได้ยินคนอื่น แต่ไม่มีกระบวนการในการเอาไปกรอง เอาไปคิด เอาไปต่อยอด ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้าโทรมาบอกว่าไม่พอใจกับการให้บริการ คนที่แค่ "hear" ก็จะบอกข้อมูลแค่ว่าลูกค้าไม่พอใจ แต่คนที่ "listen" จะคิดต่อว่า.."อืม ลูกค้าไม่พอใจกี่ครั้งแล้วนะ โทนเสียงที่พูดแสดงว่าลูกค้าซีเรียสไหม นี่เป็นตัวอย่างคร่าวๆ ของกรณีนี้ ซึ่งนับว่าปัญหานี้แก้ยากมากๆ ยากกว่ากรณีข้อ 4 เสียอีก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีวิธีแก้ วิธีแก้ก็คือ บอกเขาตรงๆ ว่าเขามีปัญหาแบบนี้ ต้องบอกให้เขาทำเป็นขั้นเป็นตอนเลยว่าต้องอย่างไรบ้าง และให้ฝึกจนติดเป็นนิสัยก็จะช่วยให้ปัญหาเบาบางลง จะเห็นว่ามีปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน ที่ส่งผลให้หัวหน้าแสดงทีท่าไม่ฟังลูกน้อง เมื่อประสบปัญหาหัวหน้าไม่ฟังขึ้นมา ควรที่จะต้องมาแจกแจงก่อนว่า หัวหน้าคนนั้นจัดอยู่ในประเภทใด ซึ่งสาเหตุที่หัวหน้าไม่ฟังอาจจะไม่ได้มาจากสาเหตุเดียวก็ได้ เราก็ต้องค่อยๆ มาวิเคราะห์ดูแล้วก็แก้ไปทีละจุด ที่สำคัญผู้ที่เป็นหัวหน้าเองต้องตระหนักก่อนว่า การที่หัวหน้าไม่รับฟังลูกน้องนั้น มันก่อให้เกิดผลเสียอย่างไรบ้าง หากไม่อยากให้เกิดผลเสียที่จะตามมามากมาย ก็ต้องเร่งแก้ไข เปิดใจให้กว้างพร้อมที่จะยอมปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อให้พร้อมที่จะรับฟังผู้อื่น การที่เราได้รับฟังคนอื่น เราได้เรียนรู้แน่นอนไม่มากก็น้อย น้ำไม่มีวันเต็มแก้ว ประสบการณ์เดียวไม่มีทางเหมาะที่สุดกับทุกสถานการณ์ หากหัวหน้าหรือผู้นำไม่ฟังคนในองค์กร ก็จะทำให้ไม่รู้วิธีการแก้ไขปัญหาในองค์กร ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนในองค์กรกำลังคิดอะไร เราจะโค้ดเขาถูกจุดหรือไม่ หากเราได้ฟังมากก็จะทำให้เรารู้ว่าคนในองค์กรคิดอย่างไร เราจะแก้ไขอย่างไร ถ้ายิ่งหัวหน้าสร้างบรรยากาศให้ลูกน้องแสดงออกได้เต็มที่ ก็จะเป็นประโยชน์กับทั้งหัวหน้าและองค์กรเอง

ในวันนี้ ดิฉันขอฝากคำคมลักษณะผู้บริหาร ไว้ว่า

                                                            การบริหารคือการทำงานให้สำเร็จโดยอาศัยมือผู้อื่น

 

 

การสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาลูกน้อง

หลายๆ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพงาน และข้อบกพร่องผิดพลาดจำนวนไม่น้อย มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากผู้ปฏิบัติงาน เช่น การรับสารและตีความไม่ถูกต้อง การไม่ใส่ใจต่องานที่ได้รับมอบหมาย หรือแม้แต่การทำงานแบบขอไปทีพอให้เสร็จให้ผ่านไป การที่เป็นเช่นนี้เพราะการขาดขวัญและกำลังใจในการทำงาน ซึ่งอาจมีได้จากหลายสาเหตุ แต่สรุปรวมความได้ว่าขาดการจูงใจให้พนักงานเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง อยากที่จะเข้ามามีส่วนร่วมและรับผิดชอบให้ผลของงานออกมาดี ดังนั้นสภาพบรรยากาศของหน่วยงานก็จะอึมครึม เหี่ยวแห้ง และไม่กระตือรือร้นเท่าใดนัก เหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้จึงมักจะพบเห็นได้โดยทั่วไป อาทิ

- โต้เถียงกันอย่างรุนแรง ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล เอาชนะคะคานกันอย่างเอาเป็นเอาตาย

- ผลงาน หรือผลผลิตตกต่ำ มีข้อผิดพลาดบกพร่องเกิดขึ้นอย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดลง

- การทำงานในทุกๆ จุดไม่มีคุณภาพ ก่อให้เกิดความสูญเสีย จนส่งผลต่อต้นทุนที่สูง

- พนักงานขัดคำสั่ง ไม่เชื่อฟังหัวหน้า หรือดื้อเงียบ

- ขาดงานบ่อยจนผิดสังเกต หรือมาทำงานสายเป็นประจำ โดยไม่สนใจว่าระเบียบกฎเกณฑ์เป็นเช่นไร

- เต็มไปด้วยข่าวลือ ที่ส่งต่อกันปากต่อปาก จนข่าวสารถูกบิดเบือนไปจากข้อมูลจริงอย่างมาก ถือเป็นสิ่งบั่นทอนความไว้วางใจระหว่างกัน

- มีการกลั่นแกล้งกัน หรือโยนความรับผิดชอบ ไม่มีความช่วยเหลือเอื้ออาทรระหว่างกัน

หากหน่วยงานใดมีสภาพเหตุการณ์เช่นที่ว่า ย่อมแสดงว่าเป็นหน่วยงานที่พนักงานมีขวัญและกำลังใจที่ตกต่ำ ดังนั้นถึงเวลาที่ทุกคนในองค์กรต้องร่วมด้วยช่วยกันพลิกฟื้นความรู้สึกที่ดีระหว่างกัน ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงจนถึงพนักงานระดับปฏิบัติการ เพื่อเร่งสร้างขวัญและกำลังใจให้กลับฟื้นคืนมาโดยด่วน

ตัวอย่างการสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาลูกน้อง จากบทความเรื่อง Career Development - Anytime Anyplace โดย Beverly Kaye ในหนังสือ Training and Development ได้ให้ไว้น่าสนใจดังนี้

1. หัวหน้าจะต้องสอนงานอย่างถูกต้อง ให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาแนะนำ และถ่ายทอดความรู้ต่างๆ เพื่อที่จะช่วยให้พนักงานมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งต้องเปิดโอกาสให้ซักถามเมื่อเกิดข้อสงสัยได้ตลอดเวลา และหัวหน้าต้องพร้อมที่จะเข้าไปให้การสนับสนุนทุกเมื่อ โดยไม่มองเป็นเรื่องน่ารำคาญ หรือก่อให้เกิดความเบื่อหน่าย

2. เปิดโอกาสให้พนักงานได้เรียนรู้และพัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานเพิ่มเติมเป็นระยะ ตลอดจนรวมถึงการอนุญาตให้เข้าร่วมกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างมิตรภาพ ความเข้าใจระหว่างกันของผู้ปฏิบัติงาน และความสนุกสนานที่ทำให้เกิดการผ่อนคลาย ไม่เครียดจนเกินไป การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพนักงานด้วยกัน และการเรียนรู้จากการเข้าร่วมทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ กิจกรรมสันทนาการ กิจกรรม 5ส กิจกรรมข้อเสนอแนะ กิจกรรมกลุ่มคุณภาพ จะช่วยให้เกิดความคิดและสติปัญญาในทางที่ดีที่เป็นคุณกับองค์กรทางอ้อม และเป็นประโยชน์ต่อความเจริญก้าวหน้าโดยตรงของพนักงานคนนั้น ถึงแม้ว่ากิจกรรมต่างๆ เหล่านี้จะมีวัตถุประสงค์เป้าหมายที่ต่างกัน เช่น

- เปิดโอกาสให้พนักงานทุกระดับชั้นมีส่วนร่วมในการปรับปรุงงาน

- ฝึกให้พนักงานเป็นคนช่างสังเกต

- พัฒนาให้พนักงานมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

- รู้จักการทำงานเป็นทีมเพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหา

- รู้จักใช้ความคิดที่เป็นระบบและมีเหตุผล

- หาทางป้องกันไม่ให้เกิดสภาพที่ไม่ปลอดภัยในการทำงาน

- เสริมสร้างวินัยของพนักงาน

แต่ก็มีวัตถุประสงค์ร่วมกันคือ การพัฒนาบุคลากรให้เป็นคนดีมีคุณภาพ ซึ่งเป็นลักษณะของคนที่องค์กรทั่วไปต้องการให้อยู่กับองค์กรนานที่สุด เพราะคนที่มีศักยภาพในตัวสูง และสามารถดึงเอาศักยภาพที่อยู่ในตัวเองออกมาใช้ได้อย่างมากและเป็นประโยชน์เท่าใด ความเจริญก้าวหน้าขององค์กรก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย

นิทาน สั่งงานลูกน้อง

การครั้งหนึ่งไม่นานมานี้เอง มีการจัดการแข่งขัน พ่อครัวสะท้านโลกเพื่อเฟ้นหาพ่อครัวที่เป็นสุดยอดฝีมือในการทำอาหาร  โดยผู้จัดการแข่งขันได้จัดผู้ช่วยซึ่งไม่เป็นงานด้านครัวเลยมาให้พ่อครัวแต่ละคนใช้เป็นลูกมือ  การแข่งขันครั้งนี้มีตัวเก็งคนหนึ่งคือ Chef กะทะทองแดงนั่นเอง  เมื่อเริ่มการแข่งขัน Chef กะทะทองแดงก็รีบสั่งลูกมือให้จัดการทำข้าวผัดอันสุดแสนจะง่ายดาย ในขณะที่เขาลงมือทำซุปสูตรพิเศษที่ต้องใช้ความพิถีพิถันเป็นอย่างยิ่ง  ระหว่างที่เขาสาละวนกับการหั่นเครื่องปรุง  ข้าวผัดที่เพิ่งจะทำเสร็จใหม่ๆ ก็วางลงข้าง ๆ Checf กะทะทองแดง  ทันที่ที่เขาเห็นก็หัวเสียทันที พร้อมกับหันไปบอกลูกมือว่า จะบ้าเรอะ ทำไมมันถึงเปียกแบบนี้ แล้วจะเข้ากับน้ำซุปของฉันได้อย่างไร ไปทำมาใหม่”  ว่าแล้วเขาก็ก้มหน้าก้มตาทำสูตรเครื่องปรุงต่อไป   ยังไม่ทันถึง 5 นาที  ข้าวผัดที่ทำแสนง่ายดาย และแห้งดูน่ารับประทานก็มาว่างตรงหน้า Chef กะทะทองแดงอีกครั้ง เขาเหลือบตาไปมองที่จานข้าวผัดแล้วก็ส่งสายตาที่ลูกตาเกือบจะถนนออกมามองไปยังลูกมือที่กำลังยืนตัวสั่น แล้วตะคอกว่า โอ๊ย.. ทำไมเอาไข่ไปผัดรวมกับข้าว  ต้องทอดต่างหากแล้วนำไปประดับภายหลัง  ไปทำมาใหม่” … เจ้าลูกมือก็รีบหยิบข้าวผัดจานนั้นออกไปทันที  แล้วรีบนำจานใหม่ที่แก้ไขแล้วกลับมาขณะที่ Chef กำลังนำเครื่องปรุงลงไปเคี่ยวในหม้อ  และแล้วสิ่งที่ลูกมือกลัวก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อ chef กะทะทองแดง  ตะเพิดใส่เขาว่า ทำไมจึงเอาข้าวผัดใส่ซะเต็มจาน   ต้องใช้ถ้วยเล็ก ๆ เป็นแม่พิมพ์แล้ววางลงกลางจานเพื่อให้เหลือพื้นที่ด้านข้างสำหรับตกแต่ง” … ยังไม่ทันที่ chef จะพูดอะไรต่อ  เจ้าลูกมืก็รีบยกจานไปดำเนินการโดยเร็ว  chef กะทะทองแดงรีบยกน้ำซุปใส่ถ้วยอย่างบรรจง และนำมาวางคู่กับข้าวผัดที่ตอนนี้ถูกจัดอยู่บนจานพร้อมของประดับอย่างสวยงามน่ารับประทานและแล้วเวลาประกาศผลการตัดสินก็มาถึง  ปรากฎว่า chef กะทะทองแดงได้คะแนนเป็นลำดับสอง  เพราะใช้เวลาในการทำเกินกำหนดไป 3 นาที ทำให้เขาหัวเสียมาก และสบถต่อหน้าผู้เข้ามาร่วมงานว่าเป็นเพราะลูกมือแท้ ๆ ที่ทำงานไม่เอาไหน  ทำให้เขาต้องพ่ายแพ้ในครั้งนี้

ดิฉันเชื่อว่าคนที่ทำงานเป็นลูกน้องหลาย ๆ คนคงเจอนายอย่าง Chef กระทะทองแดง มาแล้ว   แต่นายอย่าง Chef กระทะทองแดง จะรู้ตัวบ้างไหมหนอว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเขานั้นมีส่วนด้วยเช่นกัน เมื่อคุณเป็นนายคนและต้องสั่งงานลูกน้อง  โดยเฉพาะลูกน้องที่ยังอยู่ในระดับปฏิบัติการ  ซึ่งอาจยังขาดทักษะ และความรู้ที่มากพอ  การสั่งงานที่ไม่บอกเป้าหมายของงาน ไม่บอกวิธีที่ถูกต้อง ก็จะทำให้คุณไม่สามารถได้รับงานที่มีคุณภาพถูกใจคุณ เว้นเสียแต่ว่าลูกน้องจะเป็นคนที่มีพรสวรรค์จริง ๆ นายหลายคนลืมตัวและคาดหวังว่าลูกน้องต้องรู้ว่าจะทำอย่างไร  ลองนึกดูสิ หากมีคนบอกคุณว่าให้ไปเจอกันที่ seven 11 แล้วคุณจะไปถูกไหมว่า ที่จะให้ไปน่ะ สาขาไหน  ดีไม่ดีถ้าคนฟังมั่นใจในตัวเองมากไม่ถามต่อ อาจจะไปคนละสาขาก็เป็นได้ ดังนั้นการสั่งงานลูกน้องทุกครั้ง ควรสอบถามเสมอว่าเข้าใจคำสั่งหรือไม่  เมื่อลูกน้องทำงานไปได้สักระยะควรเข้าไปสอบถามว่ามีปัญหาอะไรไหม  ไม่เข้าใจตรงไหนบ้าง  ไม่ว่าคุณจะยุ่งแค่ไหน  แต่ก็ควรปลีกเวลาไปดูเพราะหากพนักงานขาดทักษะ คุณก็ต้องให้เขาแก้งานซึ่งเป็นการเสียเวลาอยู่ดี  สู้เสียเวลาเพื่อพัฒนาทักษะและความรู้เขาสักหน่อย เพื่อให้ได้งานที่ถูกต้องมีคุณภาพไม่ดีกว่าหรือ นายหลายคนมักมองว่าที่เคี่ยวเข็น หรือดุด่าลูกน้องก็เพื่อให้งานออกมาดี  ตรงนี้ไม่มีใครเถียงครับ  แต่อยากให้ผู้ที่เป็นนายทุกคนลองทบทวนด้วยว่าเราโยนงานหรือมอบหมายงานลูกน้องกันแน่   เราได้ให้แนวทางกับเขาหรือยัง  เราได้พัฒนาทักษะเขาจนสามารถทำด้วยตัวเองหรือยังสำหรับลูกน้อง  หากคุณไม่เข้าใจสิ่งที่นายสั่งก็ควรจะสอบถาม อย่ากลัว ไม่เช่นนั้นคุณก็ต้องโดนด่าอยู่ดี และจงจำไว้ว่าเมื่อเป็นนาย ต้องสั่งงานลูกน้องให้เป็น  วันนี้แค่นี้ ขอกลับไปรับคำสั่งนายก่อนค่ะ

นิทาน มืดกับสว่าง

มีชาย 2 คนเป็นเพื่อนรักกันมากคนหนึ่งชื่อนายมืด อีกคนชื่อนายสว่าง วันหนึ่งทั้งคู่ได้ไปรับจ้างผู้มีอันจะกินคนหนึ่งในหมู่บ้านที่เขาอาศัยอยู่ ลักษณะงานที่ทั้งสองทำคือหาบน้ำจากบนภูเขามาส่งที่หมู่บ้าน ทั้งคู่ขยันทำงานมาก เพราะแต่ละคนต้องการในสิ่งที่ตัวเองฝัน         มืดมีความฝันอยากได้บ้านหลังใหม่ 1 หลัง เพื่อจะได้พักผ่อนยามที่กลับจากทำงาน สว่างมีความฝันอยากมีเงินเยอะ ๆ       ทั้งคู่จึงได้ปรึกษาหารือกันว่าทำอย่างไร ถึงจะได้ตามที่ตัวเองฝัน มืดมีความคิดว่าเขาน่าจะสร้างถังให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เพื่อที่จะจุน้ำได้มากขึ้น เขาจะได้มีเงินเยอะขึ้น เขาจึงสร้างถังใหญ่ขึ้น และใช้ถังที่เขาสร้างมาใหม่ใช้ทำงาน ส่วนสว่างมีความคิดว่าน่าจะมีวิธีนำน้ำจากบนภูเขามาที่หมู่บ้านโดยที่เขาเหนื่อยน้อยที่สุดและมีเงินไหลเหมือนท่อน้ำ เขาจึงได้วางแผนที่จะสร้างท่อเพื่อที่จะนำน้ำบนภูเขาให้ไหลมาตามท่อส่ง โดยช่วงแรกกำลังสร้างท่ออยู่นั้น สว่างมีความลำบากและกดดันอย่างมากในการทำงาน ไม่ท้อต่ออุปสรรคแต่ด้วยความมุมานะที่จะทำให้สำเร็จตามที่ตัวเองฝัน เขาจึงลงมือสร้างท่อต่ออย่างเข้มแข็งและอดทน และทนกับคำดูถูกของมืดและกลุ่มชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่หาว่าเขาบ้า...       ส่วนมืดต้องตื่นแต่เช้าเพื่อที่จะหาบน้ำเพื่อให้ได้ปริมาณมากขึ้นแทบจะไม่มีเวลาพักผ่อนในแต่ละวัน กาลเวลาผ่านไประยะหนึ่งมืดเริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่ไหว เพราะต้องทำงานหนักทั้งวันและไม่มีเวลาพักผ่อน มืดจึงล้มป่วยลง และเงินที่เขาเก็บจะซื้อบ้านจึงหมดลงเพราะต้องเอาไปรักษาตัวเอง เมื่อไม่สบายก็ไม่สามารถทำงานได้ รายได้จึงไม่เกิด ความฝันที่จะได้บ้านหมดลง  เขาต้องทิ้งภาระอันหนักให้เมียกับลูกดูแล ความฝันที่เหลืออยู่ตอนนี้ก็คือทำอย่างไรให้ตัวเองหายป่วยและไม่ต้องเป็นภาระให้ลูกและเมีย           สว่างก็สามารถสร้างท่อได้สำเร็จและสามารถส่งน้ำไปที่หมู่บ้านได้ตลอดเวลา นั้นก็หมายความว่าเงินก็ไหลตามมา เขาเองไม่ต้องตื่นนอนแต่เช้า ชีวิตมีอิสระเต็มที่ และงานที่เขาต้องดูแลคือดูแลท่อน้ำอย่าให้ชำรุด และคิดหาวิธีที่จะสร้างท่อน้ำเพิ่มเรื่อย ๆ เพื่อที่จะมีรายได้ที่มหาศาลมากขึ้น           ทุกวันนี้สว่างมีความสุขมากด้วยเงินทองที่ไหลไม่หยุด ตราบใดที่น้ำในท่อไม่หยุดไหล และนำความสุขสบายมาสู่ครอบครัวและเขาได้ค้นพบอิสระทางการเงินอย่างแท้จริง  แล้วคุณจะเลือกเป็นคนหาบน้ำหรือสร้างท่อ ?

มนุษย์ ถ้าจะมีดีกว่า สิ่งมีชีวิตทั่วไปก็ตรงที่มีสติและปัญญา

บางสิ่งอาจดีที่สุดในเชิงเหตุผล แต่อาจไม่สามารถก่อให้เกิดอารมณ์แห่งความพึงพอใจให้กับคนส่วนใหญ่ได้ เชื่อว่าทุกคนคงเห็นด้วยกับดิฉันที่ว่า มนุษย์ถ้าจะมีดีกว่าสิ่งมีชีวิตทั่วไปก็ตรงที่มีสติและปัญญา ในการแยกแนะสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต และคิดพิจารณาเพื่อเลือกทางออกที่ดีที่สุดในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าจากภายนอก มากกว่าการใช้สัญชาตญาณที่ตอบสนองโดยฉับพลันเหมือนสัตว์อื่นทั่วไป การคิดวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนนี้นี่เองที่ช่วยลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่ระมัดระวัง แต่อย่างไรก็ตามมนุษย์ ก็เหมือนกับสิ่งมีชีวิตอื่นทั่วไปเหมือนกัน ตรงที่มีอารมณ์ความรู้สึก มีรัก มีชอบ มีโกรธ และมีหลง เพียงแต่พฤติกรรมการแสดงออกได้ถูกคัดเกลาและหล่อหลอมไปในทางที่ดีได้มากกว่า และตัวที่จะช่วยกำกับอารมณ์ที่อาจจะพลุ่งพล่านไปก็คือเหตุผล ด้วยการศึกษาและการอบรมนอกจากจะช่วยเพิ่มพูนความรู้แล้วแต่นั่นยังไม่พอ เพราะแค่เพียงรู้แต่ยังไม่เกิดจิตสำนึกและนำไปสู่การปฏิบัติได้ ย่อมไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้ในท้ายที่สุด การมีสติและใช้เหตุผลเป็นเรื่องทางศาสตร์ ในขณะที่การใช้และควบคุมอารมณ์เป็นเรื่องทางศิลป์ หากแต่ทั้งสองสิ่งสามารถจัดการได้ด้วยการฝึกฝนทั้งสิ้น ดังเช่นเรามักจะคุ้นชินกับคำพูดที่ว่า การคิดเชิงวิเคราะห์เพื่อหาหนทางแก้ปัญหา (Critical Thinking) เป็นการใช้สมองซีกซ้ายแบบมีลำดับขั้นตอนอย่างมีตรรกะ ในขณะที่ การคิดเชิงสร้างสรรค์เพื่อแสวงหาหนทางใหม่ๆ (Creative Thinking) เป็นการใช้สองซีกขวาแบบมีจินตนาการไร้ขอบเขต แต่ทั้งนี้ไม่มีใครที่ใช้สมองเพียงซีกเดียว ล้วนแล้วแต่ใช้ทั้งสองซีกทั้งสิ้น แต่ทั้งนี้การเลือกใช้ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ที่อยู่ตรงหน้านั้นถือว่าเป็นปัญญาอย่างแท้จริง บางคนใช้อารมณ์มากจนเกินไป ในขณะที่สิ่งที่อยู่ตรงหน้าเป็นปัญหาที่ต้องการแก้ไขด้วยการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ในขณะที่บางคนใช้เหตุผลเพียงเพื่อจะหาคำตอบหนึ่งเดียวในขณะที่มีทางออกมากมายที่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์นั้นๆ แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่ในโลกนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพิจารณาทั้งเหตุผลและอารมณ์ควบคู่กันไป เพราะบางสิ่งอาจดีที่สุดในเชิงเหตุผล แต่อาจไม่สามารถก่อให้เกิดอารมณ์แห่งความพึงพอใจให้กับคนส่วนใหญ่ได้ ในขณะเดียวกันสิ่งที่คนจำนวนมากเรียกร้อง แต่ถ้าไม่ถูกต้องในเชิงเหตุผลหรือศีลธรรมอันดีงาม ก็คงเป็นไปไม่ได้ที่จะถูกหยิบยกมาปฏิบัติ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นแบบอย่างที่ยึดถือปฏิบัติกันโดยผิดๆ หลักอันหนึ่งสำหรับทุกคนที่น่าจะลองพิจารณาและหยิบยกมาใช้ ในฐานะที่แต่ละคนเมื่อมารวมตัวอยู่ด้วยกันก็กลายเป็นสังคมที่ต้องระมัดระวังและเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน การรักษาสิทธิของตนเองเป็นสิ่งที่ดีแต่ก็ต้องไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่นเป็นอันขาด ดังนั้นกฎกติกาในสังคมนั้นๆ เช่น กฎในครอบครัว กฎในหมู่บ้าน กฎในสมาคม/ชมรม กฎหมายของประเทศ กฎระเบียบในองค์กร ย่อมมีไว้เพื่อกำกับทุกคนให้ได้รับความยุติธรรม มีความเสมอภาค ที่สำคัญไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับสังคมโดยรวม ดังนั้นถ้าเราจะใช้อารมณ์ให้มากไปกับเรื่องราวที่เป็นส่วนตัว และใช้เหตุผลอย่างเต็มที่กับเรื่องราวส่วนรวม น่าจะเป็นหนทางที่พอช่วยคลี่คลายความแตกต่าง ที่อาจจะนำพามาสู่ความแตกแยกได้เหมือนกัน ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น อาทิ ความต้องการส่วนตนในการบริโภคสิ่งต่างๆ ในชีวิต ทุกคนมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะเลือกสรรในสิ่งที่ตรงกับใจตัวเองได้มากที่สุด ไม่ว่าจะสี รูปร่าง ขนาด ปริมาณ ราคา หรือแม้แต่ตราสินค้า ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่ปรุงแต่งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่กลยุทธ์ทางการตลาด ทั้งลด แลก แจก แถม ล้วนเป็นสิ่งที่คิดขึ้นเพื่อให้ตอบสนองต่ออารมณ์ของผู้บริโภคทั้งสิ้น (Emotional marketing) ซึ่งแน่นอนแต่ละคนสามารถพิจารณาเลือกซื้อและใช้ได้อย่างเต็มที่ ตราบใดที่ไม่เป็นภาระทางการเงินจนลุกลามเป็นปัญหาทางสังคม อย่างการเป็นหนี้นอกระบบของคนมากมายในปัจจุบัน แต่ถ้าเป็นเรื่องทางสังคมส่วนรวม คงไม่สามารถใช้อารมณ์มาเป็นเครื่องตัดสินได้ เพราะแต่ละคนก็มีความรู้สึกนึกคิดแตกต่างกันไปในรายละเอียด ถึงแม้บางครั้งภาพรวมอาจจะเห็นพ้องต้องกันได้ แต่เมื่อลงลึกแล้วก็อาจจะไม่เห็นด้วยกันเลยก็ได้ การใช้เหตุผลจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดเวลาที่จะต้องตัดสินใจในสิ่งที่มีผลกระทบกับทุกคน เพื่อไม่ให้ใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ หรือไปตอบสนองต่อใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งทางเลือกสุดท้ายที่เกิดจากเหตุและผลด้วยการใช้สติ จะสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกคนเองใน

หัวหน้าต้องเติมเต็มขวัญและกำลังใจให้ลูกน้อง

ปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ วางใจว่าหัวหน้างานจะสามารถดึงความสามารถของลูกน้องมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในขณะที่หัวหน้างานเองก็ต้องรับผิดชอบงานที่มีขอบเขตกว้างขวางขึ้น จึงทำให้ไม่มีเวลาพอที่จะทุ่มเทให้กับการพัฒนาพนักงาน ในทางปฏิบัติแล้วพนักงานก็คงไม่สามารถรอหัวหน้างานได้เช่นเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงแนะนำว่า หัวหน้างานสามารถสร้างขวัญและกำลังใจไปพร้อมกับการปฏิบัติงานประจำวันได้ โดยใช้ประโยชน์จาก จังหวะการทำงานที่สอดรับกันเหมือนกับการบรรเลงดนตรีหรือร้องเพลง ที่ต้องเข้าให้ถูกห้องและถูกจังหวะ ไม่เหลื่อมล้ำ ล่าช้า หรือแทรกขึ้นมาตรงกลาง จังหวะการสอดผสานที่ดีมักเกิดขึ้นในจังหวะที่เรารู้สึกอิสระและไม่เป็นทางการมากนัก ดังนั้นต้องรู้จักแสวงหาโอกาสและจังหวะที่ดี แม้แต่เรื่องความคับข้องใจก็สามารถระบายออกมาให้ได้ยินได้ฟัง เมื่อพนักงานรู้สึกผ่อนคลาย ไว้วางใจ และเห็นว่าผู้รับฟังเป็นที่พึ่งได้ ดังนั้นหัวหน้างานและผู้บริหารในทุกระดับชั้นจะต้องทำตัวเป็นกระดาษซับที่ดูดเอาความไม่เข้าใจออกไป และเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพียงเท่านี้ขวัญและกำลังใจของพนักงานก็จะคงอยู่

ก่อนจากกันในวันนี้ ดิฉันขอฝากคำคมไว้ว่า

อยู่ให้ไว้ใจ ไปให้คิดถึง