Monthly Archives: January 2011

นวัตกรรมนำองค์กรได้อย่างไร

ครั้งนี้ดิฉันขอนำเรื่องของ สุดยอดนวัตกรรมสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ จากบทความของ รศ.ดร.ธีรยุส วัฒนาศุภโชค มาเล่าให้ฟังค่ะ นวัตกรรมกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันไปเสียแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน เพื่อสร้างการเจริญเติบโตก้าวหน้าต่อไป หรือ แม้แต่ในขณะนี้ กลายเป็นอาวุธทางกลยุทธ์ที่ใช้เพื่อการรับมือกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และทำการฟื้นฟูการดำเนินงานของกิจการให้กลับมายืนยงพัฒนาฐานะทางการแข่งขันให้แข็งแกร่งดังเดิม หลากหลายกิจการในอดีตที่ผ่านมา ได้มีการพึ่งพาการพัฒนานวัตกรรม เพื่อแก้ไขปัญหารุนแรงที่ตนเองเผชิญอยู่ และสามารถพลิกฟื้นกลับมาผงาดเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจได้อีกครั้ง ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้ มิใช่แต่เพียงการคิดค้นผลิตภัณฑ์ไฮเทคใหม่ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการคิดค้นพัฒนากระบวนการดำเนินงานและให้บริการลูกค้า เพื่อนำไปความเหนือชั้นทางการแข่งขันได้  ดังกรณีของคอนติเนนตัล แอร์ไลน์ส ที่ประสบปัญหาทางการดำเนินงานอย่างรุนแรง ขาดทุนต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งต้องใช้หนทางสุดท้าย เพื่อพลิกฟื้นกิจการโดยการประกาศล้มละลาย โดยเมื่อประกาศล้มละลายแล้ว กิจการจะได้รับสิทธิการคุ้มครอง ซึ่งจะพิทักษ์ทรัพย์สินของตน ไม่ให้ถูกรบกวนและแทรกแซงจากเจ้าหนี้ ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ ตามที่กฎหมายกำหนดจากความคุ้มครองดังกล่าว เพื่อให้ตัวเองมีโอกาสต่อลมหายใจต่อไปอีกช่วงหนึ่ง เรียกง่ายๆ ว่าเป็นหนทางในการยืดชีวิตที่จะดำเนินธุรกิจต่อไป  และกิจการก็จะใช้ช่วงเวลาที่ได้รับการคุ้มครองนี้ มาวางแผนการปรับตัวและฟื้นฟูกิจการ ซึ่งจะมีผลช่วยให้เกิดการเจรจาตกลงกันได้ระหว่างกิจการและเจ้าหนี้ต่างๆ เพื่อช่วยกันพิจารณาความเป็นไปได้ในการอยู่รอดของธุรกิจใหม่อีกครั้งหนึ่ง
 ซึ่งทุกฝ่ายก็มีแนวโน้ม ที่จะช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่มากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องการให้กิจการล้มไปเหมือนกัน เพราะตนเองก็จะเป็นผู้ที่สูญเสียด้วย และหากการใช้กลยุทธ์นี้ประสบความสำเร็จ กิจการสามารถลุกขึ้นมาได้ใหม่และพัฒนาตัวเอง จนกระทั่งสามารถสร้างผลตอบแทนกลับคืนมาได้ เจ้าหนี้เองก็ได้รับเงินคืน ผู้ถือหุ้นก็ได้รับผลตอบแทนกลับมาอย่างน่าพอใจ คู่ค้าที่ทำธุรกิจด้วยก็ยังคงอยู่ พนักงานก็ยังมีงานทำ เรียกว่า win win win กันเลยทีเดียว และการคิดนอกกรอบใช้นวัตกรรมในกลยุทธ์การแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำให้คอนติเนนตัลสามารถพลิกฟื้นจากปัญหากลับมาดำเนินงานได้อีกครั้ง  ปัจจุบัน การล้มละลายนี้ จึงถือเป็นกลยุทธ์ในการฟื้นฟูกิจการที่สำคัญอย่างหนึ่งไปแล้ว หรือ และที่คล้ายคลึงกัน คือ ยูไนเต็ดแอร์ไลน์ส ที่เคยประสบปัญหาเหมือนกับคอนติเนนตัล แอร์ไลน์ส และได้ใช้นวัตกรรมการทางกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาในแนวทางเดียวกัน ทั้งยังเพิ่มนวัตกรรมในการบริการด้วย  โดยการร่วมมือกับสตาร์บัคส์ทำการเสิร์ฟกาแฟสตาร์บัคส์เท่านั้นในทุกเที่ยวบิน เพื่อนำเอาแบรนด์สตาร์บัคส์เข้ามาใช้ในการสร้างความเป็นพรีเมียม ยกระดับตนเองให้ต่างจากสายการบินต้นทุนต่ำอื่นๆ และนำไปสู่การสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน พลิกฟื้นผลการดำเนินงานให้กลับมาเป็นหนึ่ง     ในผู้นำธุรกิจสายการบินของโลกเช่นเดิม 

ที่เห็นเด่นชัดถึง บทบาทของนวัตกรรมที่นำสู่การพลิกฟื้นอย่างเกรียงไกรที่สุด เห็นจะเป็นแอ๊ปเปิ้ล ที่ในอดีตเคยประสบความสำเร็จกับเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอช ที่ได้รับความนิยมสูงมาก แต่เมื่ออุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์เปลี่ยนโฉมหน้าไป   โดยผู้เล่นรายหลักอย่าง ไมโครซอฟท์ ไอบีเอ็ม เดลล์ ทำให้แอ๊ปเปิ้ลต้องกลับไปปรับเปลี่ยนและพัฒนานวัตกรรมใหม่ เพื่อกลับมาทวงบัลลังก์คืน ซึ่งก็มาอีกครั้งกับนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ล้ำยุคอย่าง ไอพอด ที่ฮอตฮิตติดลมบนต่อคนรุ่นใหม่ จนเรียกว่าไม่มีใครไม่รู้จักไอพอตนี้ ทำยอดขายถล่มทลาย จนสร้างชื่อเสียงให้กับแอ๊ปเปิ้ล กลับมาเป็นหนึ่งในผู้นำอีกครั้ง   นอกจากนี้ แอ๊ปเปิ้ล ยังไม่หยุดที่จะใช้นวัตกรรมของตน ต่อยอดความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น ไอโฟนที่ลือลั่น จนกลายเป็นผู้นำในโลกธุรกิจสมาร์ทโฟนไปแล้ว ยังมี แมคบุ๊ค ที่กลับทวงบัลลังก์คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คดีไซน์เฉียบ ฟังก์ชันการใช้งานถูกในคนรุ่นใหม่พรีเมียมอย่างมาก และล่าสุดที่กำลังไต่อันดับความนิยมไปทั่วโลก นั่นคือ ไอแพด ที่มีสารพัดฟังก์ชัน ทั้งอินเทอร์เน็ต ความบันเทิง และสาระความรู้อย่าง อีบุ๊ค ที่กำลังจะกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของสังคมแห่งองค์ความรู้ในยุคโลกร้อนขณะนี้อีกด้วย   จากความสำเร็จทั้งหมด คงสามารถกล่าวได้ว่า แอ๊ปเปิ้ลกลับมาอย่างเกรียงไกรก็ด้วยผลจากนวัตกรรมสร้างสรรค์ทั้งสิ้น  ไม่เพียงแต่ในระดับกิจการเท่านั้นค่ะ ระดับประเทศเอง นวัตกรรมก็มีบทบาทในการรับมือกับวิกฤตการณ์ และพลิกฟื้นประเทศจากสารพันปัญหาได้ จนนำสู่ความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างชัดเจน อาทิ ประเทศเกาหลีใต้ ที่เน้นสร้างมูลค่าเพิ่มในการดำเนินงานภายในประเทศของตน จากการผลักดันประเทศของตนเข้าสู่ยุคแห่ง ดีไซโนมิกส์ (Designomics)” ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแนวคิดนวัตกรรม ที่มุ่งเน้นการนำเอาการดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์แปลกใหม่ เข้ามาผนวกกับการดำเนินธุรกิจในประเทศ เพื่อนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ และสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้กับทั้งหน่วยธุรกิจและประเทศชาติโดยรวมด้วย   โดยรัฐบาลแดนโสมยึดดีไซโนมิกส์นี้ เป็นเอเจนดาหลัก และส่งเสริมผลักดันให้องค์กรต่างๆ ในประเทศ มีการดำเนินงานตามแนวทางดังกล่าว ซึ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากการที่กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่ง ที่เรียกกันว่า แชโบลของเกาหลีนั้นได้นำแนวคิดด้านดีไซน์มาเพิ่มมูลค่าจนกระทั่งกลายเป็นกิจการชั้นแนวหน้าของโลกไปแล้ว

"..ก่อนที่จะเอาชนะคนอื่น...จักต้องเอาชนะตัวเองให้ได้เสียก่อน
ก่อนที่จะว่าคนอื่น...ควรพิจารณาดูตัวเองเสียก่อน
ก่อนหน้าที่จะรู้จักคนอื่น...ควรจะรู้จักตัวเองเสียก่อน.."
วันนี้ก่อนจากกัน ดิฉันขอฝากคำคมไว้ว่า

                                              " คนที่เชื่อมั่นในตนเองมากเกินไป...เป็นคนที่โดดเดี่ยวอ้างว้างที่สุด!"

 

 

ผู้นำที่แท้จริงคือผู้รับใช้ที่คอยตอบสนองความต้องการของทีม

คำว่า Leader (ผู้นำ) มาจากภาษาอังกฤษโบราณว่า Lead ซึ่งแปลว่า ถนน ทาง  หรือ การเดินทาง  ผู้นำเดินทางไปด้วยกันกับผู้ตาม  คอยชี้นำพวกเขาให้ไปสู่จุดหมายปลายทาง   ความหมายโดยนัยคือ  ผู้นำเป็นผู้รวบรวมผู้คนให้อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม  แล้วเดินทางไปสู่จุดหมายร่วมกัน                 ผู้นำไม่ใช่ตำแหน่ง  แต่เป็นทัศนคติ  ผู้นำคือผู้ขายความหวัง  ถึงแม้ในยามที่ดูเหมือนว่าคุณกำลังเผชิญกับสิ่งสุดวิสัยที่จะทำได้สำเร็จ  แต่ผู้นำกลับเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์และทำให้ทีมเห็นมันด้วย  ผู้นำที่แท้จริงคือผู้รับใช้ที่คอยตอบสนองความต้องการของทีม          เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชและกองทัพอันเกรียงไกรของพระองค์หยุดพักระหว่างยาตราทัพข้ามทะเลทราย  ก็พบว่ามีน้ำเหลืออยู่ถ้วยสุดท้าย  เมื่อมีผู้ถวายน้ำถ้วยนั้นให้แก่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ฯ  พระองค์ทรงรับถ้วยมาแล้วเทน้ำทั้งหมดลงบนทรายพลางตรัสว่า "ไม่มีใครดื่มน้ำจนกว่าพวกเราทุกคนได้ดื่ม"

                                       

วันนี้ ก่อนจากกัน ดิฉันขอฝากคำคมไว้ว่า

 ถ้าทําการใดแล้วต้องเสียใจ     ยังดีกว่าเสียใจที่ไม่ได้ทํา

นิทานเรื่อง เวลากับความรัก

วันนี้ นี้ดิฉันมีเรื่อง เวลากับความรัก มาเล่าให้ฟัง

มีใครที่เดินใกล้ถึงสนามหญ้าแล้วหรือยัง
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ........ มีครูกับลูกศิษย์นั่งอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ซึ่งใกล้กับสนามหญ้าอันกว้างใหญ่ ทันใดนั้น ลูกศิษย์คนหนึ่งก็ถามขึ้นมาว่า ลูกศิษย์ : อาจารย์ครับ ผมสงสัยจังเลยว่า
เราจะหาคู่แท้ของเราเจอได้ไงคับอาจารย์ บอกผมหน่อยได้ไหมครับ ? อาจารย์ : ( เงียบไปพักหนึ่ง ก่อนที่จะตอบ )
อืม มันเป็นคำถามที่ยากนะ แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นคำถามที่ง่ายเหมือนกันนะ ลูกศิษย์ 🙁 นั่งคิดอย่างหนัก ) อืม ?.... งงอะไม่เข้าใจ อาจารย์ : โอเค งั้น เธอลองมองไปทางนั้นนะ ตรงนั้นน่ะ
มีหญ้าเยอะแยะเลยใช่ไหม เธอลองเดินไปหาหญ้าต้นที่สวยที่สุด
แล้วเด็ดมาให้ครูสิ ต้นเดียวเท่านั้นนะ แต่ว่าเวลาเธอเดินเนี่ยเธอต้องเดินไปข้างหน้าอย่างเดียวนะ ห้ามเดินถอยหลัง เข้าใจไหม
ลูกศิษย์ : ได้เลยครับ จาน รอสักครูน่ะครับ ( ว่าแล้วก้อวิ่งตรงไปยังสนามหญ้า ) หลังจากนั้นไม่นาน .... ลูกศิษย์ : ผมกลับมาแล้วครับจาน อาจารย์ : อืม ... แต่ทำไมครูไม่เห็นต้นหญ้าสวยๆ
ในมือเธอเลยหละ ลูกศิษย์ : อ๋อ คืองี้ครับจาน ตอนที่ผมเดินไปแล้วผมเจอต้นหญ้าสวยๆเนี่ย  ผมก็คิดว่า เออ เดี๋ยวก็คงเจอต้นที่สวยกว่านี้ ดังนั้นผมก็เลยไม่เด็ดมัน แล้วผมก็เดินไปเรื่อยรู้ตัวอีกที มันก็สุดสนามหญ้าแล้วครับจะเดินกลับก็ไม่ได้ เพราะอาจารย์สั่งห้ามไว้    อาจารย์ : นั่นแหละ คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในชีวิตจริงหละ

เรื่องนี้ต้องการที่จะสื่อให้เราระลึกว่าถ้า
ต้นหญ้า ก็คือ คนที่อยู่รอบ ๆ ตัวคุณ
ต้นหญ้าที่สวยงาม ก็คือคนที่คุณชอบ
หรือคนที่ดึงดูดคุณนั่นแหละ
ทุ่งหญ้าก็คือ เวลา เวลาที่คุณจะหาคู่แท้ของคุณ
อย่ามัวแต่เปรียบเทียบ แล้วคิดว่าคงจะมีที่ดีกว่านี้
เพราะถ้าคุณ มัวแต่เปรียบเทียบ
คุณจะเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์
อย่าลืมว่า ' เวลาไม่เคยย้อนกลับ '
ไม่ใช่แค่ความรักเท่านั้น  เรื่องนี้ ยังสามารถใช้ได้กับการหาคนที่จะมาทำงานร่วมกับคุณในชีวิต หรือแม้กระทั่งงานที่เหมาะสมกับคุณ ดังนั้น มันจึงเป็นสัจธรรมที่ว่า  จงรัก และไขว่คว้าโอกาสที่คุณมีในขณะนี้ อย่ามัวแต่เสียเวลา  เพราะ บางครั้ง คนเราก็มีโอกาสเลือกแค่เพียงครั้งเดียวเท่านั้นในชีวิตค่ะ   ท่านผู้ฟังล่ะค่ะ ท่านได้ผ่านการเป็นผู้เลือก  หรือผู้ถูกเลือกหรือยัง
ล่ะค่ะ

ผู้นำธรรมดา ....ที่ไม่โดดเด่น

ท่านผู้อ่านค่ะ ดร.บวร  ปภัสราทร เจ้าของคอลัมพ์ก้าวไกลวิสัยทัศน์ จากหนังสือกรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 13 ธ.ค. 2553 ได้เขียนไว้ในหัวข้อ คนธรรมดาที่ไม่โดดเด่น ก็เป็นผู้นำได้ ได้บอกไว้ว่า ว่ากันว่าคนอเมริกันอยากให้ลูกหลานของตนเองโดดเด่นไปแทบทุกเรื่อง ต้องเรียนเก่ง ต้องเล่นกีฬาเก่ง ต้องหน้าตาดี  เพราะเชื่อว่าคนที่โดดเด่นเท่านั้นที่จะเป็นผู้นำที่ดีได้ ตำราหลายเล่มก็ยังกล่าวไว้ตรงกันว่า คนที่จะเป็นผู้นำได้นั้นต้องเป็นคนที่โดดเด่นกว่าคนอื่น นอกจากนั้นยังมีความเชื่อคล้ายๆ กันในทั้งจีน ญี่ปุ่นและเกาหลี ทำให้ผู้บริหารต่างพยายามทำตัวให้โดดเด่น เป็นที่สนใจของผู้คนในแทบทุกเวที ต่างคนต่างพยายามช่วงชิงความโดดเด่นมาเป็นของตนเองจนที่ประชุมหลายแห่งกลายเป็นเวทีโอ้อวดตนเองมากกว่าจะเป็นที่ที่ร่วมกันหาคำตอบเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คนธรรมดาที่ทำตัวเป็นปกติแทบไม่มีโอกาสขึ้นเป็นผู้บริหารภายใต้ความเชื่อนี้ ใครไม่เด่นไม่ได้เป็นผู้นำ
 แต่อยู่มาวันหนึ่งมีคนไปสำรวจพบว่าเด็กที่มีพรสวรรค์ในด้านต่างๆ กว่าหกสิบเปอร์เซ็นต์ไม่ชอบทำตัวโดดเด่น ส่วนใหญ่ของเด็กกลุ่มนี้กลับเป็นคนเก็บตัวแต่ก็ยังคบค้าสมาคมกับเด็กอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี ผลงานที่เกิดขึ้นจากเด็กกลุ่มนี้ก็ดีกว่าเด็กกลุ่มที่ชอบทำตัวโดดเด่นอย่างมากมาย แม้แต่งานกลุ่มที่น่าจะต้องใช้ความเป็นผู้นำในการทำงานร่วมกัน เด็กที่มีพรสวรรค์แต่เก็บเนื้อเก็บตัวก็สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นจนการงานทั้งปวงสำเร็จไปได้ด้วยดี ในขณะที่กลุ่มที่มีเด็กที่ชอบทำตัวโดดเด่นกลับสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้นไม่มากเท่าทั้งๆ ที่ดูเหมือนว่าจะมีผู้นำในกลุ่มก็ตาม เรื่องแปลกๆ ที่เกิดขึ้นนี้นำไปสู่การค้นพบความจริงเพิ่มเติมว่ายิ่งเด็กมีไอคิวสูงมากขึ้นเท่าใด ความต้องการที่จะแสดงตัวให้โดดเด่นยิ่งจะลดลง และมีแนวโน้มที่จะเก็บตัวมากขึ้นเท่านั้น  ความจริงอีกเรื่องหนึ่งที่พบคือการทำตัวโดดเด่นไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับระดับสติปัญญา คนโง่ก็ทำตัวให้โดดเด่นได้ ความจริงนี้ได้นำไปสู่ความสงสัยว่าความเชื่อเกี่ยวกับความโดดเด่นและการเป็นผู้นำที่ดีนั้นยังเป็นความเชื่อที่ถูกต้องต่อไปหรือไม่ เด็กที่มีพรสวรรค์และมีไอคิวสูงกว่าคนทั่วไปจะกลายเป็นผู้นำที่ดีในอนาคตโดยไม่ต้องทำตัวโดดเด่นได้หรือไม่ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการจัดการสามแห่งได้ร่วมกันทำการวิจัยเกี่ยวกับความโดดเด่น กับประสิทธิผลผลในการบริหารงาน โดยเปรียบเทียบระหว่างผู้บริหารที่ทำตัวโดดเด่น กับผู้บริหารที่แสนจะธรรมดาไม่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษแตกต่างไปจากผู้ร่วมงานคนอื่นๆ ซึ่งได้คำตอบว่าผู้บริหารที่ทำตัวโดดเด่นกับผู้บริหารที่เก็บตัวนั้น ต่างสามารถทำงานได้ผลสำเร็จด้วยกันทั้งคู่ ทำให้ไม่อาจบอกไปชัดๆ ว่าผู้บริหารแบบใดจะดีกว่ากัน แต่คำตอบที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษคือผู้บริหารที่ทำตัวโดดเด่นจะทำงานได้ดีกว่า ถ้าทำงานร่วมกับผู้ร่วมงานที่เฉื่อยชา ทำงานไปแต่ละวันโดยไม่มีการสร้างสรรค์ใดๆ สั่งมาอย่างไรก็ทำตามนั้น ทำงานแล้วมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นก็ไม่ใส่ใจที่จะขจัดปัดเป่าให้ยุติลงไป ผู้ร่วมงานที่ทนทำงานอยู่กับปัญหาเรื้อรังได้โดยไม่รู้สึกเดือดร้อนใดๆ จะทำงานได้ดีเมื่ออยู่ภายใต้การนำของผู้บริหารที่ทำตัวโดดเด่น แต่กลับทำงานล้มเหลวภายใต้ผู้บริหารที่เป็นคนธรรมดา ในทางตรงข้ามผู้บริหารที่ทำตัวไม่แตกต่างไปจากผู้ร่วมงานคนอื่นกลับทำงานได้ดีกับผู้ร่วมงานที่ค่อนข้างกระตือรือร้นในการทำงาน เห็นอะไรที่ทำให้งานล่าช้าเสียหายก็ช่วยกันปรับปรุงวิธีการทำงานให้ดีขึ้น ผู้ร่วมงานที่ช่วยกันคิดช่วยกันให้ความเห็นในการทำงาน ภายใต้ผู้บริหารที่แสนจะธรรมดาได้ผลสำเร็จเกินคาด แต่ผู้ร่วมงานที่กระตือรือร้นนี้กลับไม่สามารถสร้างความสำเร็จใดๆ ให้เกิดขึ้นภายใต้ผู้บริหารที่ทำตัวโดดเด่น นักปราชญ์ให้คำอธิบายเรื่องนี้ว่าในหมู่ผู้คนที่เฉื่อยชากับหน้าที่การงานนั้น มักต้องการสิ่งที่จะใช้ยึดเหนี่ยวเป็นหลักในการทำงาน  ความเชื่อในเรื่องอัศวินม้าขาวมีมากในคนกลุ่มนี้ ผู้นำที่ทำตัวโดดเด่นจึงเป็นอัศวินม้าขาวที่ใช้เป็นสรณะได้ คนโดดเด่นมักชอบพูด ชอบเสนอความคิด ชอบแสดงออกในหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการ ร้องเพลง เล่นกีฬา หรือออกตัวในงานสาธารณะอื่นๆ ผู้คนที่เฉื่อยชาจึงเห็นผู้นำของตนเก่งไปหมดในทุกเรื่อง เห็นเก่งร้องเพลงก็เหมาไปเองว่าต้องเก่งบริหารธุรกิจไปด้วย ซึ่งเป็นอาการเฮโลเชื่อกันไปเองอย่างหนึ่งที่พบกันเสมอ ดังนั้นถ้าจะทำงานกับใครก็ให้วินิจฉัยเสียก่อนว่ากำลังทำงานอยู่กับคนที่เฉื่อยชา ในหน้าที่การงานอยู่หรือไม่ ถ้าใช่ก็ให้เร่งสร้างความโดดเด่นให้กับตนเอง ยิ่งโดดเด่นมากเท่าใด การสนับสนุนของผู้ร่วมงานก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วยเท่านั้น คนเฉื่อยชามองไม่เห็นความเก่งที่มีอยู่ในตัวคนใดคนหนึ่งถ้าไม่โอ้อวด คนเฉื่อยชาไม่ชอบมองอะไรที่ซับซ้อน ผู้บริหารจึงต้องทำตัวให้โดดเด่น ในสายตาของพวกเขาจึงจะมาเป็นผู้นำได้ เมื่อผู้บริหารที่ชอบทำตัวโดดเด่นต้องทำงานกับผู้คนที่กระตือรือร้นในการทำงาน จะเกิดความขัดแย้งขึ้นได้ง่าย เพราะ ต้องการให้ผู้คนทำตามที่ตนบอกมากกว่า ที่จะรับฟังความเห็นจากผู้ร่วมงาน ผู้นำที่ทำตัวโดดเด่นทำใจยอมรับได้ยากว่างานที่กำลังกระทำนั้นมาจากความคิดเห็นของคนอื่น ไม่ใช่ความคิดของตนเอง ผู้ร่วมงานช่างคิดมาเจอกับผู้บริหารผูกขาดความคิด ความขัดแย้งย่อมเกิดขึ้นแน่นอน การทำงานจึงกลายเป็นการแก้ไขความขัดแย้งมากกว่าที่จะเป็นการมุ่งมั่นช่วยกันทำงานให้ได้ผล ในทางตรงข้ามผู้บริหารที่เป็นคนธรรมดายอมเปิดใจรับความเห็นได้แทบทุกเรื่องและไม่รีรอ จะลงมือทำตามความคิดเห็นที่ได้รับทราบมา โดยไม่คำนึงว่าเป็นความคิดเห็นของตนเองหรือไม่ ความคิดใครดีเอามาใช้หมด การที่ผู้นำไม่ต้องการโดดเด่นทำให้ไม่รู้สึกเสียหน้าเมื่อทำตาม หรือคิดตามผู้ร่วมงานคนอื่นๆ ในยามที่ผู้บริหารเรียกหาความคิดสร้างสรรค์และความกระตือรือร้นจากผู้ร่วมงาน ในยามที่มีการส่งเสริมให้มีการกระจายการตัดสินใจลงไปในหมู่คนทำงานเฉกเช่น ในปัจจุบัน ถ้าผู้บริหารเชื่อในสิ่งที่กล่าวมาแล้วอย่างจริงใจ ผู้บริหารต้องยอมลดความอยากที่จะโดดเด่นลงไปบ้างแล้ว หันมาฟังมากกว่าพูด หันมาให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของผู้ร่วมงานมากกว่า หรืออย่างน้อยก็ต้องเท่ากับ การให้ความสำคัญกับความคิดของตนเอง ความสำเร็จของงานที่มุ่งหวังจะเกิดขึ้นให้เห็นไม่นานเกินรอ แต่ถ้ายังลดความอยากโดดเด่นลงไปไม่ได้ ก็ให้หาผู้ร่วมงานที่เฉื่อยชาเอาไว้ก่อน ถ้าผู้ร่วมงานคนใดกระตือรือร้นเกินไปก็ให้หาทางกำจัดไปเสียให้พ้นทางโดยสรรหางานที่ยากเย็นเกินกว่าที่จะเป็นจริงได้ให้ทำ ใครกระตือรือร้นในการเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ ก็ให้หาทางลดเครดิตความน่าเชื่อถือไปให้มากที่สุดเท่าที่จะหาหนทางได้ ถ้ามุ่งมั่นจัดการกับคนกระตือรือร้นในการทำงานได้สำเร็จแล้วตัวท่าน จะโดดเด่นหาใครเปรียบเทียบไม่ได้ แต่ต้องระวังไว้ด้วยว่า ในวันใดวันหนึ่งจะกลายเป็นคนดังในองค์กรที่ดับในสายตาของคนอื่น โดดเด่นบนองค์กรที่ย่อยยับนั้นคงไม่ใช่ความปรารถนาของผู้บริหารที่ยังมีสติอยู่อย่างแน่นอน