Monthly Archives: October 2017

การเทียบคุณสมบัติอาจารย์ คุณวุฒิตรงหรือสัมพันธ์กับสาขาวิชา

จากข้อกำหนดในการจัดทำหลักสูตรตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร 2558 ที่ระบุให้อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรต้องมีคุณวุฒิตรงหรือสัมพันธ์กับสาขาวิชาที่จัดการเรียนการสอนนั้น ทำให้เกิดข้อสงสัยบ่อยครั้งว่าสาขาไหนสัมพันธ์กันอย่างไรใช้แทนกันได้มั้ย วันนี้เรามีคำตอบให้ท่าน ด้วยการเทียบคุณสมบัติอาจารย์ คุณวุฒิตรงหรือสัมพันธ์กับสาขาวิชา ซึ่งหมายถึงคุณวุฒิที่กำหนดไว้ในมาตรฐานสาขาวิชาที่สกอ.ประกาศไปแล้ว แต่กรณียังไม่มีการประกาศ ให้อ้างอิงจากกลุ่มสาขาวิชาเดียวกันในตารางของ ISCED (International Standard Classification of Education) http://unesdoc.unesco.org/images/0023/002350/235049e.pdf

ทั้งนี้อาจารย์ประจำหลักสูตร มีภาระหน้าที่ในการบริหาร และพัฒนาหลักสูตร และการเรียนการสอน (ตั้งแต่การวางแผน การควบคุมคุณภาพ การติดตามประเมินผล และการพัฒนาหลักสูตร) ต้องอยู่ประจำหลักสูตรตลอดระยะเวลาที่จัดการศึกษา เป็นอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรเกินกว่า 1 หลักสูตรในเวลาเดียวกันไม่ได้   (ยกเว้น เป็นหลักสูตรพหุวิทยาการ หรือสหวิทยาการ ให้เป็นอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรได้อีก 1 หลักสูตร)

กรณีมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่สามารถหาอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรได้ครบตามจำนวน ทางสถาบันอุดมศึกษาต้องเสนอจำนวนและคุณวุฒิของอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรที่มีนั้นให้คณะกรรมการการอุดมศึกษาพิจารณาเป็นรายกรณี

แนวทางในการนำเกณฑ์คุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ (EdPEx) ไปใช้ในการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน

สรุปผลการเข้าร่วมประชุมชี้แจง เรื่อง แนวทางในการนำเกณฑ์คุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ (EdPEx) ไปใช้ในการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน

          สืบเนื่องจากสำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้เรียนเชิญให้มทร.พระนคร เข้าร่วมประชุม ชี้แจงเรื่อง แนวทางในการนำเกณฑ์คุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ (EdPEx) ไปใช้ในการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน วันอังคารที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมานั้น จากการประชุมดังกล่าว สามารถสรุปผลได้ดังนี้คะ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณอาวุธ  ศรีศุกรี ผู้ดำเนินการประชุมในครั้งนี้ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงแนวทางในการนำเกณฑ์คุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ (EdPEx) ไปใช้ในการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน โดยสกอ.มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้สถาบัน/คณะวิชา ที่มีการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสามได้มาตรฐานในระดับดีมาก เข้าร่วมเป็นหนึ่งในโครงการนำร่องที่จะนำเกณฑ์ EdPEx และสกอ.ได้กำหนดให้ EdPEx เป็นระบบทางเลือกสำหรับมหาวิทยาลัยที่มีผลประเมินที่ผ่านมา อยู่ในเกณฑ์ ดี-ดีมาก และประสงค์จะพัฒนามุ่งสู่ความเป็นเลิศ และให้คณะหรือมหาวิทยาลัยที่อยู่ในโครงการฯ จะถือว่าได้คะแนน IQA เต็ม ๕.๐๐  ซึ่งคณะ/มหาวิทยาลัยที่เข้าในโครงการนี้ จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับการประเมิน IQA โดยนำส่งผล Common Data Set แทนรายงานการประเมิน (ซึ่งในการสมัครนั้นถ้าเป็นการสมัครในระดับคณะ มหาวิทยาลัยต้องมีส่วนร่วมด้วย และต้องมีผลการดำเนินการพัฒนาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องชัดเจนทุกปี และต้องผ่านเกณฑ์การประเมิน EdPEx โดยได้รับคะแนน ๒๐๐ ในรอบปีแรก โดยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและผ่านเกณฑ์การประเมิน EdPEx โดยได้รับคะแนนไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ภายในเวลา ๔ ปี และผลประโยชน์อื่นๆนั้นทางสกอ.กำลังอยู่ระหว่างพิจารณา) ระยะเวลาดำเนินการ ให้ใช้ตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ โดยมีเงื่อนไข ในระยะเวลา ๔ ปี หากผลการประเมินตามเกณฑ์ EdPEx ไม่มีความก้าวหน้า(คะแนนตามเกณฑ์ EdPEx มากกว่า ๓๐๐) ต้องกลับมาดำเนินการจัดทำรายงานประจำปีที่เป็นรายงานการประเมินตนเองตามระบบ IQA ใน CHE QA Online

จากนั้นผู้ดำเนินการประชุม ได้เปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษา ที่เข้าร่วมประชุมซักถาม และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการนำเกณฑ์ EdPEx มาใช้ในการประกันคุณภาพภายใน เพื่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาไปสู่ความเป็นเลิศอย่างก้าวกระโดด และชักชวนให้สถาบัน/คณะวิชาเข้าร่วมเป็นหนึ่งในโครงการนำร่องที่จะนำเกณฑ์ EdPEx ไปใช้ในการบริหารจัดการองค์การเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ          ทั้งนี้ สกอ.จะจัดโครงการอบรมหลักสูตร การประเมินองค์การ(Organizational Assessment):โครงการนำร่อง เพื่อต่อยอดโครงการคุณภาพการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศในหลักสูตร “การประเมินองค์การในหมวด ๕ ๖ และ๗” โดยผู้เชี่ยวชาญเกณฑ์บัลดริจของสหรัฐอเมริกาและเป็นผู้ที่ฝึกอบรมผู้ตรวจรางวัลคุณภาพแห่งชาติ(Thailand Quality Award) ในระหว่างวันที่ ๑๘-๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๕ ณ โรงแรม ปริ้นซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร คะ

การพัฒนามาตรฐานผลการเรียนรู้ (Learning Outcomes)

จากการเข้าร่วมประชุมสัมมนา เรื่อง “การพัฒนา มาตรฐานผลการเรียนรู้ (Learning Outcomes) และนำสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องตาม กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ” และบรรยายพิเศษ เรื่อง มาตรฐาน ผลการเรียนรู้ : ความสำคัญ แนวทางการเขียนที่สะท้อนคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ในวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๐ โดยรองศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต ทิพากร รองเลขาธิการ คณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นประธานเปิดการ แนวทางการส่งเสริมคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา และการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการรับทราบหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษา ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพมหานคร รองเลขาธิการ กกอ. กล่าวตอนหนึ่งว่า “นับแต่ได้มีประกาศ กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๒ และประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง แนวทางการปฏิบัติตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๒ ที่มุ่งเน้นมาตรฐานผลการเรียนรู้ (Learning Outcomes) ของผู้เรียน เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาใช้เป็นแนวทางในการ พัฒนาหรือปรับปรุงรายละเอียดของหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถปฏิบัติตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ ระดับอุดมศึกษาแห่งชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ” โดยได้เชิญ ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากสหภาพยุโรปและประเทศ ออสเตรเลียมาร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเทียบเคียงแนวคิดและแนวปฏิบัติ โดยมุ่งให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถผลิตบัณฑิตให้มี คุณลักษณะตามเจตนารมณ์ของกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ ระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษายังได้ติดตามพัฒนาการและแนวโน้มการดำเนินการตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิอย่างสม่ำเสมอ รองเลขาธิการกกอ. กล่าวต่อไปว่า แนวโน้มการจัดการศึกษาในปัจจุบัน มุ่งเน้นการเทียบเคียงผลการเรียนรู้ของผู้สำเร็จการศึกษาในระดับต่างๆ การมี Regional Qualification Framework ตลอดจน การสร้างระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องเกิดความเชื่อมั่นในการจัด การศึกษาที่เน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ

๑) การส่งเสริมความร่วมมือและเทียบเคียงการประกันคุณภาพการศึกษา และกรอบมาตรฐานคุณวุฒิในระดับภูมิภาค

๒) การตั้งเป้าหมาย Education 2030

๓) ความท้าทายในการเพิ่มขีดความสามารถของสถาบันและคณาจารย์ใน การสร้างวัฒนธรรมคุณภาพในการจัดการศึกษา

๔) การมุ่งเน้นการใช้การจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ (Outcomes Based Education : OBE) ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนมี Learning Outcomes ตาม TQF

๕) การเน้นการประเมินผลการเรียนรู้ที่เชื่อถือได้ และ

๖) การประกันคุณภาพในระดับหลักสูตร

ในการนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จึงพยายามสร้างความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับจัดระบบการ เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษานำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาอาจารย์ และการพัฒนาระบบสารสนเทศ การรับทราบหลักสูตรตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาเสนอหลักสูตรต่อ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาด้วยระบบออนไลน์ทดแทนการเสนอด้วยเอกสาร

-เริ่มใช้ มคอ.2 ระบบออนไลน์ สิงหาคม 2561

-ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของการบริหารหลักสูตร อาทิ การออกแบบหลักสูตร PLOs ผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตร ไม่ควรมีเกิน 11 ตัว, CLO ซึ่งผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับรายวิชาจะต้องถูกออกแบบโดยอาจารย์ประจำหลักสูตร ส่วนผู้สอนจัดทำ Course Design, การจัดการเรียนการสอน กลยุทธ์การสอน การวัดประเมินผลการเรียนการสอนฯลฯ

-แนวทางในการพัฒนาอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษากำหนดให้มี 3 องค์ประกอบ คือด้านองค์ความรู้ (Knowledge) ด้านสมรรถนะ(Competencies) และด้านค่านิยม(Values)

องค์ประกอบที่ 1 ด้านองค์ความรู้ (Knowledge) ประกอบด้วย 2 มิติ

1.1 ความรู้ในศาสตร์สาขาวิชา

1.2 ความรู้ในศาสตร์การสอนและการเรียนรู้

องค์ประกอบที่ 2 ด้านสมรรถนะ(Competencies) ประกอบด้วย 4 มิติ

2.1 ออกแบบและวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ

2.2 ดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.3 เสริมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้และสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน

2.4 วัดและประเมินผลการเรียนรู้ พร้อมทั้งสามารถให้ข้อมูลป้อนกลับอย่างสร้างสรรค์

องค์ประกอบที่ 3 ด้านค่านิยม(Values) ประกอบด้วย 2 มิติ

3.1 คุณค่าในการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์ และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

3.2 ธำรงไว้ซึ่งจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอาจารย์

จากคุณภาพการจัดการเรียนการสอนที่กล่าวมานั้น กำหนดให้มีระดับของคุณภาพของแต่ละองค์ประกอบจำนวน 4 ระดับ ซึ่งแสดงให้เห็นพัฒนาการของอาจารย์ด้านการจัดการเรียนการสอนโดยใน 4 ระดับมีดังนี้

ระดับที่ 1         เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ของตนและประยุกต์ใช้ได้ มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์การเรียนรู้เบื้องต้น สามารถออกแบบกิจกรรม ใช้ทรัพยากรและสื่อการเรียนรู้โดยคำนึงถึงผู้เรียนและปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ สามารถวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน นำผลประเมินมาใช้ปรับปรุงพัฒนาการจัดการเรียนรู้ พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพของอาจารย์ขององค์กร

ระดับที่ 2         เป็นผู้มีคุณภาพการจัดการเรียนสอนระดับที่ 1 ที่มีความรู้ลึกในศาสตร์ของตน และติดตามความก้าวหน้าของความรู้ในศาสตร์อย่างสม่ำเสมอ มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์การเรียนรู้ สามารถจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียน กำกับดูแลและติดตามผลการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างเป็นระบบ ให้คำปรึกษาชี้แนะแก่เพื่อนอาจารย์ในศาสตร์ได้ และส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์ภายในองค์กร

ระดับที่ 3         เป็นผู้มีคุณภาพการจัดการเรียนสอนระดับที่ 2 ที่เชี่ยวชาญในศาสตร์ของตน ศาสตร์การเรียนรู้และการจัดการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ นำผลการวิจัยในชั้นเรียนมาพัฒนาการจัดการเรียนรู้ เป็นพี่เลี้ยงและผู้ชี้แนะในระดับองค์กรด้านการจัดการเรียนรู้ และนโยบายด้านจรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์

ระดับที่ 4         เป็นผู้มีคุณภาพการจัดการเรียนสอนระดับที่ 3 ที่เป็นผู้นำในศาสตร์ของตน ศาสตร์การเรียนรู้และการจัดการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ เป็นที่ยอมรับทั้งภายในและภายนอกองค์กร มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ในการพัฒนาองค์ความรู้ และการจัดการเรียนรู้ในระดับชาติและนานาชาติ เป็นผู้นำเชิงนโยบายด้านจรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์

---------------------------