ปรัชญา ปลา

ดิฉันมีเรื่อง ศาสตร์และศิลป์ของการบริหารจัดการแบบ ปรัชญาปลา มาเล่าให้ฟัง
เมือง Seattle เป็นเมืองที่อยู่ในรัฐที่ตั้งอยู่สุดขอบของสหรัฐอเมริกา ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับแคนาดา เมืองนี้ฝนตกหยุด ๆ หายๆ ทั้งปี และมีอากาศไม่หนาวนักเพราะตั้งอยู่ริมฝั่งมหาสมุทรและมีกระแสน้ำอุ่นไหลผ่าน มี University of Washington ที่มีชื่อเสียง และเป็นเมืองที่ได้ชื่อว่า หากใครหัวใจวาย จะมีรถพยาบาลมาถึงคนเจ็บในเวลาอันสั้นที่สุดในสหรัฐอเมริกา "ปรัชญาปลา" (FISH PHILOSOPHY) เป็น วิธีการนำไปปฏิบัติที่น่าจะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะแก่องค์กรธุรกิจและองค์กรขนาดใหญ่หรือเล็กเท่านั้น ยังกินความเป็นไปถึงครอบครัวและห้องเรียนอีกด้วยค่ะ ลองมาดูกันว่า นิทานเรื่องนี้ ให้อะไรที่เป็นแก่นสารบ้าง.
เริ่มเรื่องที่ Mary ได้ย้ายมาทำงานที่ Seattle กับสามีได้ไม่ถึง 2 ปี สามีก็ตายทิ้งลูกเล็ก ๆ ไว้ 2 คนให้เลี้ยง เธอได้งานในบริษัทประกันและมีความก้าวหน้าในการงานเป็นอย่างดี วันหนึ่งเธอก็ถูกย้ายให้ไปทำงานบนชั้น 3 เพื่อรับงานที่มีความรับผิดชอบสูงขึ้น เธอหนักใจเพราะชั้น 3 นั้นมีชื่อเสียงมานานว่า ไร้ประสิทธิภาพ ทำงานเชื่องช้า ไม่ตอบสนองลูกค้า ทำงานอืดอาดไร้ชีวิตชีวาเหมือนผีตายซาก ฯลฯ
Mary พยายามหาหนทางแก้ไขลักษณะที่เป็นลบของทีมงานของเธอ แต่คิดไม่ออก จนวันหนึ่ง ระหว่างหยุดพักเที่ยง เธอเดินหาอาหารกลางวัน และก็หลงเดินเข้าไปในตลาดปลาที่มีชื่อว่า Pike Place Fish เธอรู้สึกตกใจเมื่อก้าวเข้าไปเห็นคนมากมาย ส่งเสียงกันเจี๊ยวจ้าว โดยเฉพาะลูกค้าและนักท่องเที่ยว หัวเราะกันอย่างสนุกสนาน และก็เห็นคนขายโยนปลาตัวโตข้ามหัวผู้คนไปไกลถึง 10-20 ฟุต ไปที่คนเก็บเงินที่จับปลาอย่างแม่นยำ และคนอื่น ๆ ก็ตะโกนพูดอะไรขำขันและหัวเราะกันสนุกสนานตลอดเวลา
ไกลออกไปคนงานกำลังหยิบปลาขึ้นมาขยับเหงือกหลอกล้อเด็กให้หัวเราะ คนขายอีกคนตะโกนไล่ถามผู้คนว่ามีใครสงสัยเรื่องปลาบ้างไหม อีกคนดูเหมือนกำลังคุยกับปลา อีกคนกำลังโยนปูขึ้นไปในอากาศ และเอากล่องรับ ฯลฯ ทุกอย่างดูวุ่นวายสนุกสนาน และที่สำคัญ ทุกคนที่ทำงานในตลาดนี้สนุกกับงานที่ดูแสนจะน่าเบื่อหน่าย หัวเราะต่อกระซิกเย้าแหย่กันตลอดเวลา และความรู้สึกสนุกนี้ก็ติดเชื้อลามไปถึงคนซื้อและคนที่เข้ามาเยี่ยมชมด้วย ไม่ว่าใครที่เข้ามาในตลาดดูจะรู้สึกสนุกสนานด้วยกันทั้งนั้น ขณะที่เธองุนงงอยู่ ก็มีหนุ่มคนหนึ่งที่ทำงานที่ตลาดเดินมาถามไถ่เธอว่า สงสัยอะไรเกี่ยวกับตลาดนี้บ้างไป และจากจุดนี้ก็เป็นจุดเดินเรื่องของคำอธิบายเกี่ยวกับตลาดโดยหนุ่มที่มีชื่อว่า Lonnie... Mary เริ่มสนิทสนมกับ Lonnie มากขึ้น เมื่อไปตลาดอีกหลายครั้งเพื่อปรับทุกข์เรื่องงานบนชั้น 3 และวิธีการทำงานของตลาดปลา Lonnie อธิบายว่า (ราวกับเป็นศาสตราจารย์ด้านการบริหารมากกว่าเป็นคนขายปลา) ในการทำงานนั้น มนุษย์ทุกคนมีทางเลือกเสมอ ถึงแม้ว่าจะไม่มีทางเลือกงานได้มากนักก็ตาม ซึ่งทางเลือกนั้นก็คือ การเลือกที่จะนำทัศนคติมายังที่ทำงาน ถ้านำทัศนคติอย่างหนึ่งมาที่ทำงาน ก็จะได้ผลงานอย่างหนึ่ง ทุก ๆ วัน พวกเราที่ตลาดปลาแห่งนี้ตัดสินใจที่จะนำทัศนคติว่า งานเป็นสิ่งที่รื่นรมย์มาที่ทำงาน ถึงแม้เราจะเลือกงานไม่ได้ แต่เราก็เลือกทัศนคติในการทำงานได้ ซึ่งเราก็ได้เลือกที่จะสร้างสรรค์ที่ทำงานของเราให้เป็นที่ ๆ น่าอยู่ และเลือกที่จะทำงานอย่างสนุก และทัศนคติ (ATTITUDE) นี่แหละคือหัวใจสำคัญ ของการทำงานที่ตลาดเรา เมื่อ Mary ได้ไอเดียนี่มา เธอก็เริ่มดำเนินการกับหน่วยงานของเธอ ด้วยการบอกเล่าและโน้มน้าว และร่วมขอความเห็น เพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิดที่จะเลือกสร้างทัศนคติในการทำงาน และชักชวนให้ลูกน้องไปเยี่ยมชมตลาดด้วย
Lonnie ได้เฉลยต่อมาว่า ปัจจัยตัวที่สองของความสำเร็จก็คือ PLAY หรือการเล่น ซึ่งมิได้หมายถึงการเล่นอย่างไร้ความหมาย หากแต่ว่าจริงจังกับงาน แต่ก็สามารถเล่นสนุกไปในเวลาเดียวกันได้ในการทำงาน เช่น โยนปลา พูดจาสนุกสนาน ชวนให้ลูกค้าลงมาช่วยบรรจุปลาลงถังด้วยจัดเกมส์ให้ลูกค้าร่วมเล่น เช่น แข่งกันโยนปลา ลดราคาเป็นรางวัล ฯลฯ
ส่วนปัจจัยที่สามก็คือ MAKE THEIR DAY (ให้เป็นวันแห่งการจดจำ) ทำให้ลูกค้าหรือนักท่องเที่ยวจำวันที่มาตลาดแห่งนี้ได้ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน ซึ่งการเล่นสนุก การให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เช่น เข้าไปในห้องเย็นเอาสวิงตักปลาในถัง ทำความสะอาดปลา เอามือล้วงเข้าไปในท้องปลาตัวใหญ่ ฯลฯ การพยายามให้ลูกค้าเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยกับงานของตลาดอย่างสนุกสนานจะทำให้มีความรู้สึกที่ดี กับตลาดไปตลอด
ปัจจัยตัวสุดท้ายก็คือ BE PRESENT ("อยู่"กับลูกค้า) ซึ่งหมายถึง การให้ความสนใจอย่างจริงจังต่อสิ่งที่ตนเกี่ยวพันอยู่ เช่น ให้ความสนใจแก่ลูกค้าอย่างจริงจัง "อยู่" กับลูกค้าโดยไม่ละทิ้งหรือเหม่อลอย ร่วมกิจกรรมกับลูกค้า
ทั้ง 4 ปัจจัยนี้ เมื่อรวมกันแล้ว ผู้เขียนเรียกว่า ปรัชญาปลา (FISH PHILOSOPHY) ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์กับองค์กร ห้องเรียน และครอบครัวได้เป็นอย่างดี เพื่อนำพลังและศักยภาพของทุกคนที่ร่วมกันอยู่ในองค์กรออกมาเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ตัวอย่างเช่นในครอบครัว การมีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการร่วมชีวิตด้วยกันของพ่อแม่ลูกโดยพึ่งพาอาศัยกัน รักใคร่กลมเกลียวกัน และยึดถือการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และสนุกสนานด้วยการเล่นระหว่างพ่อลูก สอนอบรมอย่างจริงจังแต่ก็เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ พยายามทำให้ชีวิตในวัยเด็กเป็นความทรงจำที่มีคุณค่าแก่ลูก และ "อยู่" กับลูกตลอดตั้งแต่เด็กจนโต
FISH PHILOSOPHY ที่ดิฉันเล่าให้ฟังนี้ เป็นหนังสือแบบ "how to" สำหรับทุกคนที่ต้องการสร้างสรรค์ให้สถานที่ทำงานหรือครอบครัว หรือโรงเรียนเป็นแหล่งที่ปลดปล่อยศักยภาพของทุกคน ด้วยการสร้างความสนุกสนานในสิ่งที่ทุกคนต้องทำทัศนคติ การเล่น การสร้างความทรงจำ และการ "อยู่" อย่างไม่ละทิ้ง หรือ ปรัชญาปลา เป็นสูตรสู่การมีองค์กรที่มีประสิทธิภาพ มีคนจำนวนน้อยในโลกที่ได้ทำงานที่ตนรัก และอยากทำงานกัน แต่มีคนจำนวนมากที่ไม่สามารถเลือกงานได้ แต่ก็มีบางคนที่สามารถสร้างความชอบในงานที่ตนต้องทำ (จนได้) นิทานเรื่องนี้ ได้เปิดเผยความลับในเชิงบริหารจากการเรียนรู้ตลาดปลา เพื่อช่วยให้องค์กรทั้งหลายสามารถเพิ่มจำนวน "บางคน" เหล่านั้นให้สูงขึ้น ความสนุกซึ่งเป็นสมบัติของมนุษยชาติสามารถเกิดขึ้นในขณะเดียวกับการทำงานที่จริงจังได้ และถ้าเราสามารถทำให้ความสนุกเช่นนี้เกิดขึ้นได้แล้ว เราก็สามารถช่วยทำให้ประโยคที่ว่า "ความสุขคือการชอบสิ่งที่ทำ มิใช่ทำสิ่งที่ชอบ" เป็นจริงขึ้นได้อีกมากค่ะ
"... เมื่อเราเลือกที่จะชอบสิ่งที่เราทำ ชีวิตของเราจะเปี่ยมไปด้วยความสุข ความอิ่มเอม และเข้าถึงความหมายของชีวิต ได้ทุกวันที่มาทำงาน ... คนเราใช้เวลากว่าร้อยละ 75 ของเวลาที่ตื่นในแต่ละวันไปในงานและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงาน ดังนั้น เราจึงควรที่จะเลือกที่จะสนุกและกระตือรือร้น กับงานที่เราทำ แทนที่จะรอให้วันศุกร์มาถึง (หรือที่พูดกันว่า Thank God It's Friday)...
... เราจะเลือกทำเฉพาะงานที่เราชอบไม่ได้เสมอไป ดังนั้นเราจึงควรเลือกที่จะชอบงานที่เราทำ..."
ปรัชญาปลาแบบง่ายๆ
• เมื่อท่านย่างเข้าที่ทำงานแต่ละวัน โปรด เลือก (choose) ที่จะทำให้วันนั้นเป็นวันอันพิเศษ แล้วเพื่อนร่วมงานของท่าน พนักงานอื่นที่มาติดต่อกับท่าน และแม้แต่ตัวท่านเองก็จะมีความประทับใจกับวันนั้น
• หาวิธีทำงานอย่างรื่นเริง (play) ท่านสามารถเอาจริงเอาจังเคร่งเครียดกับงานได้โดยไม่เคร่งเครียดกับตัวเอง
-ใส่ใจกับพนักงานที่มาติดต่องานกับท่านและเพื่อนร่วมงานของท่านอย่างมีสติอยู่ตลอดเวลา (be present)
-เมื่อท่านรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ากับการทำงานขึ้นมา ให้ท่านมองหาผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ เป็นกำลังใจให้เขา (make their day)
ในวันนี้ ดิฉันขอฝากคำคมไว้ว่า
ความสุข คือ การชอบสิ่งที่ทำมิใช่ทำสิ่งที่ชอบ

Comments are closed.