นิทาน เศรษฐีกับลูกสาวชาวนา

แฟนๆประจำ Blog ทุกท่าน วันนี้ดิฉันมีเรื่อง ศาสตร์และศิลป์ของการบริหารจัดการ มาเล่าให้ฟังค่ะ

..............เศรษฐีคนหนึ่งชอบใจลูกสาวชาวนายากไร้ผู้หนึ่ง    เขาเชิญชาวนากับลูกสาวไปที่สวนในคฤหาสน์ของเขา เป็นสวนกรวดกว้างใหญ่ที่มีแต่กรวดสีดำกับสีขาว  

.............เศรษฐีบอกชาวนาว่า "ท่านเป็นหนี้สินข้าจำนวนหนึ่ง แต่หากท่านยกลูกสาวให้ข้า จะยกเลิกหนี้สินทั้งหมดให้" ชาวนาไม่ตกลง  

.............เศรษฐีบอกว่า "ถ้าเช่นนั้นเรามาพนันกันดีไหม ข้าจะหยิบกรวดสองก้อนขึ้นมาจากสวนกรวดใส่ในถุงผ้านี้ ก้อนหนึ่งสีดำ ก้อนหนึ่งสีขาว ให้ลูกสาวของท่านหยิบก้อนกรวดจากถุงนี้ หากนางหยิบได้ก้อนสีขาว ข้าจะยกหนี้สินให้ท่าน และนางไม่ต้องแต่งงานกับข้า แต่หากนางหยิบได้ก้อนสีดำ นางต้องแต่งงานกับข้า และแน่นอน ข้าจะยกหนี้ให้ท่านด้วย" ชาวนาตกลง

...............เศรษฐีหยิบกรวดสองก้อนใส่ในถุงผ้า หญิงสาวเหลือบไปเห็นว่ากรวดทั้งสองก้อนนั้นเป็นสีดำ
...............เธอจะทำอย่างไร?


...............หากเธอไม่เปิดโปงความจริง ก็ต้องแต่งงานกับเศรษฐีขี้โกง หากเธอเปิดโปงความจริง เศรษฐีย่อมเสียหน้า และยกเลิกเกมนี้ แต่บิดาของเธอก็จะยังคงเป็นหนี้เศรษฐีต่อไปอีกนาน

..................ลูกสาวชาวนาเอื้อมมือลงไปในถุงผ้า หยิบกรวดขึ้นมาหนึ่งก้อน พลันเธอปล่อยกรวดในมือร่วงลงสู่พื้น กลืนหายไปในสีดำและขาวของสวนกรวด
.................เธอมองหน้าเศรษฐี เอ่ยว่า "ขออภัยที่ข้าพลั้งเผลอปล่อยหินร่วงหล่น แต่ไม่เป็นไร ในเมื่อท่านใส่กรวดสีขาวกับสีดำอย่างละหนึ่งก้อนลงไปในถุงนี้ ดังนั้นเมื่อเราเปิดถุงออกดูสีกรวดก้อนที่เหลือ ก็ย่อมรู้ทันทีว่า กรวดที่ข้าหยิบไปเมื่อครู่เป็นสีอะไร"ที่ก้นถุงเป็นกรวดสีดำ "...ดังนั้นกรวดก้อนที่ข้าทำตกย่อมเป็นสีขาว" ชาวนาพ้นสภาพลูกหนี้และลูกสาวไม่ต้องแต่งงานกับเศรษฐีขี้โกงคนนั้น
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า "หากเราพยายามมากพอที่จะแก้ไขปัญหา เราจะพบว่าทุกปัญหาย่อมมีวิถีทางแก้ไขเสมอ"
           จะเห็นว่า  เศรษฐีมีเจตนาที่จะโกงเพื่อที่จะเอาเปรียบชาวนาและลูกสาว ถ้าหากลูกสาวของชาวนาไม่ทันสังเกต และไม่มีไหวพริบในการแก้ไขปัญหา จะทำให้เธอต้องตกเป็นภรรยาของเศรษฐี โดยไม่มีข้ออ้างใด ๆ เลย ซึ่งนำมาใช้ในการบริหาร คือ ในการทำงานหรือการบริหารงานใด ๆ ก็ตาม เรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน คือ ปัญหา ดังนั้นในการบริหารงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดต่อหน่วยงานผู้ที่เป็นผู้บริหารจะต้องเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ (Vision) มองการณ์ไกล และรอบด้าน เพื่อให้รู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับการบริหารงานหน่วยงาน โดยการวิเคราะห์หน่วยงานซึ่งอาศัยการวิเคราะห์ SWOT ของหน่วยงานเพื่อให้ทราบถึงบริบททั้งภายในและภายนอกหน่วยงาน เพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงส่วนที่เป็นจุดด้อย และส่งเสริมพัฒนาในส่วนที่เป็นจุดแข็งของหน่วยงาน และประเด็นสำคัญหลังจากวิเคราะห์และก็ต้องมีการวางแผน ตามหลักการวงจรคุณภาพของเดมิ่ง เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ตามสถานการณ์ปัจจุบันของหน่วยงานด้วยค่ะ

Comments are closed.