สามก๊ก : ซุนกวน

ดิฉันมีเรื่อง ศาสตร์และศิลป์ของการบริหารจัดการในสามก๊ก มาเล่าให้ฟังค่ะ  

ซุนกวน เป็นบุตรชายคนที่สองของซุนเกี๋ยน และเป็นน้องชายของซุนเซ็ก พ่อและพี่ชายซึ่งเป็นนักรบเก่งกล้าสามารถมาก หลังจากซุนเซ็กพี่ชาย เสียชีวิตจึงได้ขึ้นครองแคว้นกังตั๋ง เมื่ออายุเพียง 18 ปี เมื่อเอ่ยถึงซุนเกี๋ยนผู้เป็นบิดาของซุนกวนนั้น มีชื่อเสียงโด่งดังตั้งแต่อายุ 17 ปีโดยแสดงความกล้าหาญในการปราบโจรสลัด จากนั้นทำการปราบปรามกบฎโจรโพกผ้าเหลืองจนได้เป็นเจ้าครองเมืองเตียงสา เคยเข้าร่วมรบกับอ้วนเสี้ยว ในการนำทัพพันธมิตร 18 หัวเมืองอันมี อ้วนสุด โตเกี๋ยม กองซุนจ้าน ม้าเท้ง โจโฉ ต่อต้านตั๋งโต๊ะที่ยึดเมืองหลวงไว้ การรบครั้งนั้น ทัพพันธมิตรมีจำนวนมาก แต่ออกรบแบบประปราย มีแต่โจโฉและซุนเกี๋ยนเท่านั้นที่นำทัพออกไปรบกับทัพตั๋งโต๊ะ และทั้งสองก็พ่ายแพ้กลับมาทั้งคู่  โจโฉสู้ไม่ได้ เพราะทัพมีกำลังคนน้อยกว่า แต่ซุ่นเกี๋ยนนั้นได้เปรียบในการรบ ซ้ำยังสามารถสังหารแม่ทัพเอกฮัวหยงของตั๋งโต๊ะได้ แต่ต้องถอยทัพกลับเพราะ อ้วนสุดไม่ยอมส่งกำลังสนับสนุนและเสบียงให้ ซุนเกี๋ยนเอาชนะตั๋งโต๊ะและลิโป้ได้ ยึดได้เมืองลกเอี๋ยง หรือ ลั่วหยาง ซึ่งถูกตั๋งโต๊ะเผาเมืองทิ้งไป  แต่ซุนเกี๋ยนต้องจบชีวิตลงในวัย 37 ปีเพราะความลำพอง และประมาทศัตรู ในการทำศึกกับเล่าเปียว ซุนเกี๋ยนบุกเดี่ยวไล่ล่าขุนพลหองจอขุนศึกของเล่าเปียว เลยถูกมือเกาทัณฑ์ซุ่มระดมยิงจนเสียชีวิต ขณะนั้นซุนเซ็กพี่ชายของซุนกวน อายุได้ 18 ปีจึงต้องสืบทอดภาระและกองทัพต่อจากครอบครัว

ซุนเซ็กออกศึกร่วมรบกับบิดาตั้งแต่อายุ 15 ปีมีความห้าวหาญไม่แพ้ผู้เป็นพ่อ เก่งกาจ มีความสามารถในการบริหารคน สามารถชักจูงคนเก่งๆมาเป็นพวก หลังบิดาเสียชีวิต ซุนเซ็กเข้าไปพึ่งอ้วนสุด เนื่องจากยังไม่มีฐานที่มั่นและทุนทรัพย์ ทั้งๆที่รู้ว่าบิดาและอ้วนสุดบาดหมางกัน อ้วนสุด ใช้ซุนเซ็กในการขยายอิทธิพล จนซุนเซ็กสะสมทุนและเสบียงจนเข้มแข็ง จึงตีจากอ้วนสุดและนำทัพบุกแคว้นกังตั๋งสร้างเป็นฐานที่มั่น ด้วยความที่ซุนเซ็ก ประสพความสำเร็จตั้งแต่หนุ่ม จึงลำพองในฝีมือและประมาทคู่ต่อสู้ออกล่าสัตว์เพียงตามลำพังเป็นประจำ จึงถูกกลุ่มนักฆ่าดักรอลอบสังหารด้วยเกาทัณฑ์พิษ และจบชีวิตด้วยวัยเพียง 26 ปี ซุนกวนจึงได้ขึ้นครองแคว้นกังตั๋งแทนพี่ชาย

ซุนเซ็กเอาใจใส่น้องชายคนนี้มากและให้ติดตามตลอดไม่ว่างานประชุมหรือสังสรรค์  เพื่อปลูกฝังให้น้อง   มีประสพการณ์ด้านการเมืองและการปกครอง ก่อนตาย ซุนเซ็กได้สั่งเสียน้องชายว่า เรื่องภายในให้ปรึกษาเตียวเจียว   เรื่องภายนอกให้ปรึกษาจิวยี่ ซุนกวน  รับตำแหน่งใหม่ๆขุนนางหลายคน ไม่มั่นใจในตัวนาย คิดตีจากไปสวามิภักดิ์กับขุนศึกอื่น ในช่วงวิกฤตนี้ได้ เตียวเจียวและจิวยี่ คอยประคับประคองและสนับสนุน รับรองการเป็นผู้นำ ทำให้คลื่นใต้น้ำในแคว้นกังตั๋งสงบลงได้ ซุนกวน ไม่ใช่นักรบผู้เก่งกล้าดังเช่นพ่อและพี่ชาย จึงไม่ค่อยได้รับการยกย่องเฉกเช่นผู้นำทั่วไปในสมัยนั้น ที่ยึดถือผู้นำต้องรบเก่ง แต่ซุนกวนมีจุดแข็งอยู่ที่  การบริหารปกครองและการบริหารคนที่ทำให้ก๊กของเขาสามารถยืนหยัดอยู่ได้เป็นก๊กตัวแปรในสามก๊ก ซุนกวนปกครองโดย ให้มีการประชุมขุนนางทั้งบู๊และบุ๋นในรูปแบบที่ปรึกษาในลักษณะการวิพากษ์วิจารณ์และถกประเด็น แต่การตัดสินใจสุดท้ายอยู่ที่ซุนกวน เนื่องจากแคว้นของซุนกวนอยู่ปากแม่น้ำแยงซีเกียง จึงเป็นแหล่งรวบรวมบัณฑิตและนักปราชญ์ที่หนีภ้ยสงครามมาอยู่อาศัย ทำให้สามารถเลือกใช้คนได้อย่างมากมาย  ซุนกวนมีคนให้เลือกใช้มากกว่าเล่าปี่ ที่พึ่งแต่ขงเบ้ง ซึ่งทำให้ซุนกวนไม่เคยออกรบด้วยตัวเองเลย

สิ่งที่เน้นความสำเร็จของซุนกวน คือ การที่เขาสามารถอยู่ในบังลังค์ของกษัตริย์ ง่อก๊ก ได้ถึง 30 ปีจนสิ้นอายุ  และส่งต่อให้ลูกหลาน ก่อนที่ง่อก๊กจะเสื่อมและถูกยึดโดยสุมาเอี๋ยน แต่เขาก็ไม่สามารถยิ่งใหญ่เทียบพี่ชายและบิดาของเขา ที่เป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่ที่คนกล่าวขานกันมา ซุนกวนจึงเป็นได้แค่ผู้นำที่สืบสานความสำเร็จจากพ่อและพี่ชายและบริหารให้ก๊กตัวเองอยู่รอด หลักการบริหารของซุนกวน ผู้นำแห่งง่อก๊ก มีจุดเด่นในการประสานความสามารถของคนรุ่นต่างๆ ได้อย่างลงตัว มิให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ร่วมงาน จนส่งผลต่อการทำงานในภาพรวม โดยแบ่งบทบาท อำนาจหน้าที่ (Authority) อย่างชัดเจน เห็นได้จากซุนกวน ไม่ค่อยนำทัพออกลุยเองเหมือนกับเล่าปี่และโจโฉ แต่ทำหน้าที่ผู้นำทางบริหาร และตัดสินใจในนโยบายสำคัญของแคว้นอย่างเต็มที่มากกว่า

Comments are closed.