สิ่งที่ผู้นำต้องมีก็คือ มนุษยสัมพันธ์

ไม่มีใครสามารถเลียนแบบบรรดาผู้นำเก่งๆอย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เจงกิสข่าน ซีซาร์ มหาตมะ คานที ที่ดิฉันได้เคยนำศาสตร์และศิลป์ในการบริหารจัดการของผู้นำเหล่านั้น มาเขียนเล่า ให้ท่านผู้อ่าน อ่านมาหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ไม่มีใครสามารถเป็นผู้นำให้เหมือนคนเหล่านี้ได้เช่นกัน แต่สิ่งที่เราทำได้ก็คือ ปรับปรุงเอากลยุทธ์ในการเป็นผู้นำของพวกเขาเหล่านั้นมาใช้ให้เหมาะสม สอดคล้องกับความเป็นตัวของเราเองนั่นแหละดีที่สุดค่ะ ในขั้นแรกเราต้องเข้าในในบทบาทผู้นำในยุคโลกาภิวัตน์ก่อนนะค่ะ ว่ายุคนี้เป็นยุคที่อาศัยความรู้เป็นฐานสำคัญในการดำเนินงาน ผู้นำต้องทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ตาม ผู้ร่วมทีมอย่างเป็นระบบเดียวกัน ไม่มองว่าตนเองอยู่เหนือผู้อื่น รู้ว่าหน้าที่ของตนที่แท้จริง คือ ต้องพยายามทำให้ผู้ร่วมงานทุ่มเทความสามารถในการทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อผลประโยชน์ขององค์กร มีผู้กล่าวไว้ว่า การมีอำนาจบังคับ ไม่ใช่สิ่งบ่งบอกถึงความเป็นผู้นำ แต่ความเชื่อถือไว้วางใจผู้ร่วมงานต่างหาก คือตัวบ่งบอกที่ชัดเจน นอกจากนี้ บทบาทผู้นำยังเป็นหัวโขนที่เราต้องรู้จักใส่ และรู้จักถอดให้ถูกกาลเทศะ ยกตัวอย่างเช่น ในการทำงานเป็นทีม ที่ประกอบด้วยสมาชิกและผู้เชี่ยวชาญทางด้านต่างๆ ถึงแม้ว่าโดยตำแหน่งแล้วเราจะเป็นผู้นำ แต่ในบางเรื่องบางงานที่เราไม่มีความรู้ดีพอ เราก็ควรปล่อยให้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นเป็นผู้นำแทนเรา แต่ในบางเรื่องที่เรามั่นใจว่า ถ้าปล่อยไปเช่นนั้นแล้วจะเสียหาย เราต้องตัดสินใจลงมือโดยทันที
นอกจากนี้สิ่งที่ผู้นำพึงมีก็คือ ความรู้ เพราะผู้นำจะต้องมีความรู้ความชำนาญและมีการตัดสินใจ อันเป็นที่ยอมรับของทีม สามารถใช้ความรู้ต่างๆมาประเมินวิเคราะห์อนาคตของทีมได้อย่างแม่นยำ ความรู้ความสามารถสร้างความน่าเชื่อถือได้ และความน่าเชื่อถือก็จะทำให้ผู้ร่วมงานยอมรับฟังเรา ดังคำกล่าวที่ว่า คนส่วนใหญ่ยอมให้นำได้ แต่มีคนส่วนน้อยเท่านั้นที่ยอมให้บังคับได้ ค่ะ และสิ่งที่สำคัญประการหนึ่งที่ผู้นำต้องมีก็คือ มนุษยสัมพันธ์ ผู้นำต้องเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ของผู้ตาม เพื่อที่จะได้รู้ว่า ทำอย่างไรผู้ร่วมงานจึงจะยินดีทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับงานและ การเอาใจเขา มาใส่ใจเรา คือสิ่งสำคัญที่ทำให้เราเข้าใจผู้ตามและผู้ร่วมงานคนอื่นๆ โดยผู้นำต้องมีความสามารถในการทำให้งานดำเนินไปด้วยดี จนสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่วางไว้ค่ะ

Comments are closed.