การจะทำให้งานบรรลุผลสำเร็จ ต้องอาศัย "คน"

ท่านผู้อ่านค่ะ การจะทำให้งานต่าง ๆ บรรลุผลตามที่กำหนดไว้ ต้องอาศัย "คน" เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนระบบงานต่างๆ ผู้บริหารจึงต้องรู้จักวีธีบริหารคนเพื่อให้ องค์กรและ บุคลากรเติบโตไปพร้อมๆ กันอย่างมั่นคง  การ บริหารคนจึงเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของผู้บริหาร        ผู้บริหารบางคนเป็นนายประเภท หลงตนเองจึงบริหารลูกน้องให้เป็นบ่าวรับใช้คือ เขาจะไม่ต้องการให้ลูกน้องคิด หรือทำงานเก่งจนเกินไป เพราะถ้าเก่งจนเกินไปจะปกครองยาก ลูกน้องมีหน้าที่ทำงานตามสั่งเท่านั้น
        ถ้าลูกน้องคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับความคิดหรือวิธีการของตน ลูกน้องคนนั้นก็จะเป็น "หมาหัวเน่า" ที่นายจะไม่สนใจ เพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ก็จะไม่กล้าสุงสิงกับลูกน้องคนนั้เพราะกลัวจะถูกมองไม่ดีไปด้วย        หากลูกน้องทนไม่ไหว ลาออก นายก็จะพูดกับคนอื่นๆ ว่าลูกน้องคนนั้นแย่มาก ไม่อดทนในการทำงาน ชอบเถียงและเกี่ยงงาน ทำงานที่ไหนก็ไม่เจริญ เวลาตามงานจากลูกน้องจะใจร้อน เร่ง "จะจิก" และ"จับผิด"มากกว่าจะเข้าไปรับรู้ปัญหา และช่วยแก้ไข   หากลูกน้อง (ที่ไม่เห็นด้วย) ทำงานไม่ได้ตามกำหนด ก็จะยิ่งถูกซ้ำเติม        ลูกน้องของนายประเภทนี้สมองจะฝ่อ เพราะไม่อยากคิดริเริ่มอะไร ให้นายสั่งดีกว่า เพราะหากผิดพลาดนายก็รับไป        ผู้บริหารประเภทนี้จึงมีแต่ลูกน้องที่ทำงานในเชิง "ประจบสอพลอ" "ยกยอ ปอปั้น" หรือทำงานตามสั่ง ประเภท "นายว่า ขี้ข้าพลอย" นายเสนอหรือคิดเรื่องใด โครงการใด ลูกน้องจะเห็นดีเห็นงามด้วยตลอด
ผู้บริหารก็จะหลงใหล และยิ่งหลงในอำนาจมากขึ้นไปอีกเพราะคิดว่าทำอะไรก็ถูกไปหมด        องค์กรไหนที่มีผู้บริหารประเภทนี้ นับวันก็จะยิ่งล้าหลัง เพราะไม่ส่งเสริมคนดี มีความสามารถ สุดท้ายจึงเหลือแต่พวกคิดไม่เป็นอยู่เต็มบริษัท

        ต่างกับองค์กรที่บริหารลูกน้องให้เป็น "เพื่อนร่วมงาน" ที่ดี มีประสิทธิภาพ ทำงานด้วยกันเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน มุ่งสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน        ผู้บริหารที่ดีจะมีวิธีการทำให้ลูกน้องปรับตัว ปรับความรู้สึกเป็นเพื่อนร่วมงาน ด้วยการประชุม อธิบาย ชี้แจง เป้าหมายของงานที่จะทำร่วมกัน จากนั้น ให้ลูกน้องทุกคนช่วยกันแสดงความคิดเห็นและหาวิธีการทำงาน เพื่อให้งานบรรลุผล        ยินดีรับฟังข้อเสนอต่าง ๆ น้อมรับคำตำหนิที่สร้างสรรค์ อธิบายถึงเหตุผลและรายละเอียดต่างๆ ว่า
ทำไมไม่เห็นด้วยกับวิธีการหรือแนวทางที่ลูกน้องนำเสนอ        สนใจสภาพความเป็นไป สภาพความเป็น
อยู่ อารมณ์ ความรู้สึกของลูกน้องแต่ละคน และจะพยายามเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือภายในขอบเขตที่พอจะช่วยได้ ขณะเดียวกัน เขาจะติดตามงานต่าง ๆ จากลูกน้อง หากคนใดทำงานติดขัดหรือทำไม่ได้ เขาจะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา ให้คำแนะนำ        กระตุ้นให้ลูกน้องกล้าแสดงความคิดเห็น กล้าเปลี่ยนแปลงวิธีการคิด วิธีการทำงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการทำงานที่กำหนดไว้ โดยจะยินดีรับฟังความคิดเห็นหรือวิธีการทำงานที่แตกต่างจากเขา        มีวิธีการพูดและติดตามงานในเชิงบวกมากกว่า "การจิก" หรือ "กัดไม่ปล่อย" หรือเพื่อการล้างแค้น เขาจะไม่ติดตามงานในเชิงดูถูกหรือ "จับผิด"        ผู้บริหารประเภทนี้ จะเป็นที่รัก เคารพ นับถือของลูกน้อง เพราะเขาจะทำให้ลูกน้องเกิดความรู้สึกว่า
"นาย" ของเขา แม้จะเป็นนายตามตำแหน่ง แต่เป็น "เพื่อนร่วมงาน" ในสำนักงานที่น่าเคารพยกย่องมากกว่าความเป็นนาย

        บ้านเมืองของเราเลิกปกครองคนแบบนายกับบ่าว เจ้ากับข้ามาตั้งนานนมแล้ว เมื่อโลกเปลี่ยน ความ
คิดและวิธีการทำงานของคนทำงานก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย "การบริหารคน" ภายใต้การบังคับบัญชาจึงเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ที่บริหารลูกน้องให้เป็น "เพื่อนร่วมงาน" จึงเป็นนักบริหารคุณภาพตัวจริงที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน
ในวันนี้ ดิฉันขอฝากคำคมของ มล.จิตติ นพวงศ์ ไว้ว่า

หากใจคิดว่าทำไม่ได้  แค่เอื้อมมือไปเด็ดใบไม้สักใบก็ยังยาก

หากแต่ใจคิดว่าทำได้  แม้งานขุดเขา  ถมทะเลที่แสนยาก

ก็จะทำให้สำเร็จให้จงได้ "

 

Comments are closed.