ทำอย่าไร? จะได้การเก่งแบบผู้ตาม

ยุคนี้หมดสมัยแล้วนะค่ะสำหรับการทำงานประเภท ข้าคนเดียว เพราะองค์กรจะประเมินคุณค่าของคุณ จากความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ดังนั้นนอกจากจะต้องแสดงบทบาทวิศวกร นักออกแบบ นักการตลาด นักวิจัยต่างๆแล้ว คุณยังต้องมีความสามารถในการแสดงบทบาทอื่นๆอีกด้วย นั่นหมายถึงว่า คุณต้องเก่งแบบผู้ตาม เก่งแบบผู้นำ และไม่ลืมทำงานเป็นทีมที่เรามักเรียกกันติดปากว่า Teamwork ค่ะ
การเก่งแบบผู้ตาม เชื่อว่าหลายคนที่ตอนเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น เคยถูกพ่อแม่ว่าแกมประชดคล้ายๆแบบนี้ว่า ชอบทำตามเพื่อนนักเหรอ นี่ถ้าเพื่อนไปตาย ก็จะไปตายกับเค้าด้วยใช่ไหม? คำกล่าวนี้นอกจากจะบอกถึงความเป็นผู้ตามที่ไม่ค่อยดีแล้ว ยังแสดงให้เห็นอีกด้วย คนส่วนใหญ่ไม่อยากยอมรับบทบาทผู้ตามสักเท่าไหร่ ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะขาดความเข้าใจถึงบทบาทและความสำคัญของผู้ตามที่เก่งค่ะ การเป็นผู้ตามที่เก่ง หมายถึง การเข้าไปมีส่วนร่วมช่วยพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ อย่างกระตือรือร้น โดยมีความคิดเป็นของตนเองในเรื่องเป้าหมาย การทำงาน การตัดสินปัญหา และวิธีทำงานต่างๆ มีความสามารถในการทำงานกับผู้นำ เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายขององค์กรได้ ถึงแม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะมีบุคลิกลักษณะที่แตกต่างกัน แต่ทั้งคู่ก็มีบทบาทสำคัญในการวางแผนกระบวนงาน และทำให้งานเหล่านั้นดำเนินไปจนถึงที่สุด จากการวิจัยของ Robert E. Kelly พบว่า ความสำเร็จขององค์กร 90% เกิดจากการทำงานของผู้ตาม ส่วนอีก 10 % ที่เหลือเป็นผลงานของผู้นำ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าผู้ตามมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้นำเลย
เทคนิคในการทำงานของคนเก่งแบบผู้ตาม สำหรับพนักงานทั่วไปนั้น อาจจะคิดว่าการเชื่อฟังทำตามคำสั่ง ไม่คุกคามผู้นำ และไม่ทำอะไรเกินเลยหน้าที่ คือเทคนิคในการเป็นผู้ตามที่ดี แต่สำหรับคนเก่งงานแล้ว เทคนิคการทำงานแบบผู้ตามของเราก็คือ การรู้จักนำตัวเอง และแสดงออกถึง ความเชื่อมั่นในตัวเอง จะทำให้ผู้นำ เกิดความไว้วางใจที่จะมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบต่างๆให้แก่เรา เกิดความเคารพในความคิดของเรา จากนั้นเราต้องมี ความมุ่งมั่นและพันธะหน้าที่ต่อประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าประโยชน์ส่วนตัวซึ่งคำว่า ส่วนตัว ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเราคนเดียว แต่รวมถึงหัวหน้าผู้บังคับบัญชาเราด้วย การซื่อสัตย์ต่อหัวหน้าเป็นสิ่งที่ดี แต่การทุ่มเททำอะไรตามความต้องการ ตามเป้าหมายของหัวหน้าโดยไม่ลืมหูลืมตานั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะบางครั้งเป้าหมายของหัวหน้า ก็อาจไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของทีมหรือองค์กรก็เป็นได้ ซึ่งหน้าที่ของเราในส่วนนี้ก็คือ พยายามดึงผู้นำให้หันกลับมามองเป้าหมายของส่วนรวมค่ะ การปฏิบัติตนต่อมาก็คือ รู้จักพัฒนาความสามารถ และสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ตัวเอง เพื่อจะได้มีอำนาจในการสั่งงานตัวเองสูงสุด คนที่ได้ตำแหน่งสูงๆมาโดยไม่ชอบธรรม ไร้ความสามารถอย่างไม่คู่ควรกับตำแหน่งนั้น เวลาพูดอะไรคนก็มักไม่เชื่อถือ ไม่ทำตาม ตัวอย่างเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าความน่าเชื่อถือ เป็นสิ่งที่ต้องแลกมาด้วยความสามารถอันแท้จริงของเรา คนอื่นๆจะประเมินความสามารถของเรา จากการรู้จักบริหารตนเอง ทักษะและความสามารถในงานต่างๆ รู้จักแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเองตลอดเวลา ไม่ต้องรอเจ้านายมาสั่งให้ไปงานสัมมนานั้นสิ ไปเข้าร่วมโครงการอบรมนี้ซิ แต่จะเป็นฝ่ายบอกเจ้านายเองว่ามีโปรแกรมอะไร ที่ตนเห็นว่าจะพัฒนาความสามารถของผู้ร่วมงานและของตัวเราเองได้ ส่วนการ ปฏิบัติงานอย่างมีสำนึกผิดชอบชั่วดี ควบคุมอัตตา อารมณ์ ของตนเองในการทำงานร่วมกับผู้นำ คนเก่งงานจะทำหน้าที่ผู้ตามของตนเองให้สมบูรณ์แบบ โดยการทำงานร่วมกับผู้นำให้ได้เป็นอันดับแรก ทำให้งานของผู้นำง่ายขึ้น ไม่ใช่คอยเป็นหอกข้างแคร่ แต่ต้องให้การสนับสนุนช่วยเหลือผู้นำอย่างเต็มอกเต็มใจ แต่อย่างไรก็ดี เมื่อมีการทำงานร่วมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปความขัดแย้งก็ดูเหมือนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อมันเกิดขึ้น เราก็ต้องพยายามควบคุมอัตตาของตัวเองไว้ เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งนั้นลุกลามใหญ่โต ซึ่งการจะทำให้ผู้นำยอมรับฟังความคิดเห็นที่ตรงกันข้ามกับความคิดของเขา และไม่ทำให้เกิดผลเสียใดๆต่อหน้าที่การงานของเราตามมานั้น เราต้องพยายามเข้าใจและมองผู้นำในแง่บวก ค้นหาข้อเท็จจริง แสวงหาข้อแนะนำ ดำเนินงานอย่างเป็นระบบ และต้องรู้จักวิธีโน้มน้าวจิตใจผู้นำรวมทั้งการหาแนวร่วม เพราะว่าหลายเสียงย่อมดีกว่าเสียงเดียว แต่การแสวงหาแนวร่วมนี้ต้องเป็นไปด้วยเหตุ ด้วยผล มิใช่การใช้จิตวิทยามวลชนและมีอาการ พวกมาก ลากไปค่ะ

Comments are closed.