ผู้นำคือ...“ผู้แผ่รังสีแห่งเป็นไปได้”

วันนี้ดิฉันขอนำบทความ ผู้นำคือ...ผู้แผ่รังสีแห่งเป็นไปได้ของ รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข มาเล่าสู่กันฟังว่า ผู้นำที่แท้จริงคือผู้ที่สามารถ แผ่รังสีแห่งความเป็นไปได้” (Radiating possibility) แซนเดอร์ได้ร่วมกันเขียนหนังสือกับภรรยาของท่านคือ โรซามุนด์ แซนเดอร์ซึ่งเป็นนักจิตวิทยา หนังสือทรงคุณค่าเล่มนั้นคือ “The Art of Possibility” ซึ่งเป็นหนังสืออ่านง่าย สำนวนโวหารไพเราะและสร้างแรงบันดาลใจได้สูง  แม้กระทั่งศาสตราจารย์วอร์เรน เบนนิส (Warren Bennis) “กูรูด้านภาวะผู้นำท่านหนึ่งแห่งมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียใต้ (University of Southern California) ยังชื่นชมว่าเป็นหนังสือที่ทำให้รู้สึกว่าทุกอย่าง เป็นไปได้ทั้งนั้น   ผู้นำที่อยู่ในตำแหน่งหน้าที่การงานซึ่งต้องรับผิดชอบงานยากๆ ต้องดูแลบริหารคนจำนวนมากๆ คงต้องมีช่วงเวลาที่รู้สึกท้อถอย หมดกำลังใจ ประมาณว่า อย่าว่าแต่จะให้ไปนำหรือบริหารลูกน้องเลย  แค่ปลุกใจให้ตัวเองลุกขึ้นมาจากหล่มลึกยังยาก...  ทั้งนี้มีหลักคิดอยู่ 6 ประการที่สามารถสรุปได้จาก “The Art of Possibility” มีดังนี้ค่ะ

 1. รู้จักพูด แต่ความเป็นไปได้ (Speak possibility)  ดิฉันมีมุมมองว่าหลักคิดข้อนี้ของแซนเดอร์ก็เหมือนกับหลักการ คิดบวก พูดบวกนั่นเอง  ผู้นำที่แข็งแกร่งคือ ผู้ที่ต้องรู้จักสร้างกำลังใจให้ตัวเอง และต้องสามารถปลุกใจให้คนอื่นมีกำลังใจ มีฝันร่วมกับตัวเองด้วย ผู้นำจึงควรเป็นผู้ที่มองโลกในแง่บวก และมองเห็นความเป็นไปได้ มองเห็นข้อดีในสิ่งที่ใครๆ มองว่ามีแต่เรื่องลบ  ยกตัวอย่างเรื่องคนเก็บขยะในชีวิตประจำวันของเราก็ได้ คนเก็บขยะบางคนมองว่าขยะคือ สิ่งสกปรก ไร้คุณค่า ยิ่งคิดก็ยิ่งเห็นว่างานของตัวเองนั้นต่ำต้อยไร้คุณค่า  แต่คนเก็บขยะบางคนมองเห็นว่า ขยะบางอย่างสามารถนำมาเป็นสินค้าหรือเป็นวัตถุดิบของสินค้าบางอย่างได้  คิดแบบนี้คือคิดบวก และเมื่อรู้จักคิดบวกแล้วคนเราก็จะสามารถพูดบวก และทำบวกได้ในลำดับต่อไป

2. มองหาแววตาที่เป็นประกาย (Look for shining eyes.)  ดิฉัน ชอบหลักคิดข้อนี้มาก โดยเฉพาะเวลาต้องสอนหนังสืออยู่หน้าเวทีห้องเรียน ดิฉันจะมองเห็นว่านิสิตทั้งชั้นมีใครสักกี่คนที่ตั้งใจฟังเราบรรยายอย่างสนใจจนตาเป็นประกายและใครบ้างที่นั่งตาลอย (ไม่รู้ว่าคิดถึงแฟน หรือเบื่ออาจารย์!?)  ดิฉันมักจะเลือกมองคนที่ตาเป็นประกายก่อน เพราะดิฉันต้องการ ชาร์จแบตฯให้กำลังใจตนเองในการสอน จะได้มีแรงไปจุดประกายให้นิสิตที่ตาลอยเปลี่ยนตาเป็นประกายในทีหลัง เพราะขืนมองตาคนตาลอยก่อน เดี๋ยวจะหมดกำลังใจแต่แรกเริ่มนะคะ

3. หยุดเสียงในสมองที่พูดว่า ฉันทำไม่ได้”  คงมีหลายครั้งในชีวิตที่ท่านคิดอยากจะทำอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ เสี่ยงๆ  แต่แล้วก็เลิกล้มความพยายาม เพราะเสียงในสมองสั่งให้หยุดทำ เสียงนั้นพูดว่าฉันคงทำไม่ได้หรอกแซนเดอร์บอกว่าอย่าไปฟังเสียง! ให้ก้าวล่วงความกลัวนั้นแล้วพยายามหาหนทางแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ ที่กางกั้นจะดีกว่า ถึงแม้ทำไม่สำเร็จก็ไม่เห็นจะต้องกลัว เพราะอย่างน้อยก็ได้รู้ว่าทำไมถึงทำไม่สำเร็จ  คราวหน้าจะได้ลองวิธีใหม่

4. ดึงผู้อื่นให้ร่วมเส้นทาง แผ่รังสีแห่งความเป็นไปได้ร่วมกัน  ลำพังผู้นำคนเดียวย่อมฝ่าพายุสร้างสิ่งมหัศจรรย์ไม่ได้หรอกค่ะ ผู้นำต้องสามารถชักจูงจิตใจคนรอบข้างและลูกน้องให้หยุดฟังเสียงในสมองที่สงสัยในความสามารถของตนเอง แต่ให้หัดมองโลกในแง่บวก พูดบวก พูดเรื่องความเป็นไปได้...แล้วก็ลงมือปฏิบัติการเลย!

5. นำโดยทำให้ผู้อื่นทรงพลังแข็งแกร่งมากขึ้น (Lead by making others more powerful.)  หลักคิดข้อนี้คือจุดเด่นของวาทยกรอย่างแซนเดอร์ที่ในระหว่างอำนวยเพลงนั้นเขาจะเงียบ ไม่เคยส่งเสียง เพียงแต่ออกท่าทางให้ลูกวงบรรเลงดนตรีอย่างเต็มฝีมือ ผู้นำที่ดีต้องสามารถบริหารให้ลูกน้องดึงจุดเด่นและศักยภาพของเขาออกมาแสดงได้ในระดับสูงสุด ไม่ใช่แสดงนำอยู่คนเดียว

6. ให้เกรด “A” แด่ตัวเองและผู้ร่วมงาน (Everyone gets an “A”) ความหมายคือ อย่ามองตัวเองและผู้อื่นโดยใช้สายตาที่ ประเมินความสามารถของเราและคนอื่นด้วยกรอบมาตรฐานแคบๆ เท่านั้น แต่ให้มองด้วยสายตาและจิตใจที่เปิดกว้าง อย่าทำตัวเป็นผู้ที่คอยจ้องจับผิดคนอื่น เพราะมันจะทำให้คนรอบข้างเกร็ง แต่ถ้ามองด้วยสายตาที่เชื่อว่าทุกคนมีคุณค่าและมีความสามารถ พลังของความคิดบวกจะส่งกระแสบวกที่กระตุ้นและจูงใจให้คนรอบข้างสร้างผลงานบวกออกมาได้

แล้วท่านผู้ฟังล่ะค่ะ เริ่มแผ่รังสีกันซะวันนี้ได้เลยนะคะ สำหรับการ  แผ่รังสีแห่งความเป็นไปได้   แทนการแผ่รังสีอำมหิตหรือ แผ่รังสีแห่งความสิ้นหวังอย่างที่หลายคนอาจกำลังทำอยู่โดยไม่รู้ตัว!

Comments are closed.