เปลี่ยนเจ้านายใหม่..ต้องปรับตัวอย่างไร

ถ้าคุณต้องเตรียมความพร้อมกับการเปลี่ยนเจ้านายใหม่ การเตรียมตัวรับมือ กับเจ้านายคนใหม่ จะช่วยให้คุณทำงานได้ง่าย และก้าวหน้าขึ้น ถึงแม้การปรับตัว ให้เข้ากับนายใหม่ จะไม่ยุ่งยากเหมือนเรื่องวุ่นอื่น ๆ ในออฟฟิศ แต่คุณก็ไม่ควรมองข้ามนะคะ เพราะถ้าคุณรับมือ กับช่วงเวลาการเปลี่ยนนายใหม่นี้ ได้ดีแล้วล่ะก็ หน้าที่การงานของคุณ อาจวิ่งฉิว อย่างไม่น่าเชื่อ ในขณะเดียวกัน ถ้าคุณปรับตัว ให้เข้ากับช่วงเวลา แห่งการเปลี่ยนนายนี้ ได้ไม่ดี งานการของคุณ อาจถึงขั้นล้ม ไม่เป็นท่าได้
นายคนใหม่ มักมีรูปแบบ การบริหารงาน นิสัย สิ่งที่ชอบและเกลียดเข้าไส้ รวมถึง วิสัยทัศน์เฉพาะตัว ซึ่งถ้าคุณทำตัวกลมกลืน กับสิ่งเหล่านี้ได้ล่ะก็ ไม่มีปัญหาแน่นอน แต่ถ้าคุณกับนายเก่าผูกพันลึกซึ้ง รู้อกรู้ใจเรื่องงาน กันเป็นอย่างดี จนทำให้คุณรู้สึก ตะขิดตะขวงใจ ที่ต้องมาปรับตัว รับกับรูปแบบ การทำงานใหม่ ของนายใหม่ล่ะก็ ดูเหมือนว่า ปัญหากำลังคืบคลานเข้ามา อย่างไม่รู้ตัวแล้วล่ะ แน่นอนว่าการมีนายใหม่ ไม่ได้ทำให้คุณ ถึงกับเกิดอาการ "ร้อนก้น" กลัวเก้าอี้หาย อยู่แล้ว เว้นเสียแต่ว่า ในกรณีที่คุณเป็นผู้บริหารระดับสูง และเจ้านายคนใหม่ ออกมาประกาศแน่ชัดว่า ต้องการ "ล้างบางเพื่อถ่ายเลือดใหม่" แต่ก็อย่าเพิ่ง ตีตนไปก่อนไข้นะคะ ผู้ให้คำปรึกษา เรื่องการทำงานในสำนักงาน หลายคนบอกว่า คุณควรคิดเสียว่า การมีนายใหม่ก็เหมือนการได้งานใหม่ การปรับตัวให้เข้ากับนายใหม่ คือโอกาส ทองของคุณ ที่จะเสริมสร้างทักษะใหม่ ๆ และแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่า คุณคือเพื่อน ร่วมทีม ที่ดี และหากคุณเคยมีปัญหา กับนายเก่าล่ะก็ การได้นายใหม่คือ โอกาสดี ที่คุณจะได้สร้างสัมพันธภาพใหม่ ๆ และลืมเรื่องราวแย่ ๆ ที่เคยผ่านเข้ามาก่อนหน้านั้น  และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ คุณต้องใส่ใจ กับรูปแบบการสื่อสาร ของเจ้านาย คนใหม่นี้ให้มาก ๆ ว่าเขาชอบการเข้าหา แบบไหน ระหว่างการแวะเข้าไปพบปะ พูดคุย ด้วยแบบธรรมดา ๆ ไม่ต้องเป็นทางการ หรือต้องมีการทำนัด ก่อนล่วงหน้า และเขารับได้หรือไม่หากคุณจะส่งเพียงร่างคร่าว ๆ ในกระดาษให้เขาดู หรือว่าต้อง เขียนเป็น จดหมายอย่างเป็นทางการ เพราะหากคุณทำผิดวิธี (หรือผิดรสนิยม ของเจ้านายคนใหม่) แล้วล่ะก็ คุณคงจะ ไม่กลายเป็น คนโปรดของนายเเน่ ๆ เพราะความประทับใจแรกนั้น สำคัญมาก เจ้านายคนใหม่จะประเมินคุณ ได้จากการพบปะ หรือประชุมร่วมกันไม่กี่ครั้ง ดังนั้น คุณจึงควรทำตัวเปิดเผย และกระตือรือร้น ที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ของทีมใหม่ที่เจ้านายกำลังจะสร้างขึ้นนี้ ในการประชุมครั้งแรก คุณควรสนใจ แต่สิ่งที่เจ้านาย อยากพูดถึง ส่วนเรื่องที่คุณมี อยู่ในใจนั้น ทางที่ดีควรเก็บไว้ก่อน เพราะข้อมูลที่เจ้านาย พูดออกมานั้น คุณ สามารถ เก็บกลับไปคิด เป็นการบ้านได้ แล้วนำมากลั่นกรอง ปรับเข้ากับสิ่งที่คุณ คิดเอาไว้ เมื่อถึงเวลาที่คุณ ต้องเป็นฝ่ายพูดบ้าง คุณจะได้รู้ว่า ควรพูดอะไรหรือ เลี่ยงอะไร เพื่อให้การทำงานร่วมกันครั้งแรก ระหว่างคุณและเจ้านายราบรื่นที่สุด คุณควรแสดงออก ให้เจ้านายรู้ว่า คุณไม่ได้เป็นเพียงหุ่น ที่เขาจะสั่งให้ทำอะไรก็ได้ เพียงอย่างเดียว คุณต้องแสดงจุดยืนที่เด่นชัด สิ่งหนึ่ง ที่จะทำให้คุณแตกต่าง จากเจ้านายคนใหม่ ก็คือ คุณนั้นอยู่ในบริษัท มานานกว่า และรู้ตื้นลึกหนาบาง ภายใน องค์กรมากกว่า แต่คุณต้องแสดงจุดยืนนี้ อย่างเหมาะสม อย่าให้ออกมาในแนวที่ว่าคุณกำลัง "ข่ม" เจ้านายคนใหม่ โดยไม่รู้ตัว ทางที่ดี คุณควรสร้าง ความสำเร็จ ให้กับตัวเองด้วยการ เสนอแนวคิดและข้อมูลใด ๆ ก็ตามที่คุณรู้ (ในขณะที่เจ้านายยังไม่รู้) ให้กับเจ้านายให้มากที่สุด ท้ายที่สุด ลองเอาใจนายมาใส่ใจเราดูสักนิด แล้วคุณจะเป็นลูกน้องที่น่ารักและมีความเข้าอกเข้าใจนายมากขึ้น คุณจะพอเดาได้คร่าวๆ ว่าเจ้านายต้องการอะไร ซึ่งในที่สุดจะช่วยให้คุณเป็นฝ่ายสนองความต้องการ ของนายได้อย่างสมบูรณ์แบบ และกลายเป็นผู้ร่วมงานมือหนึ่งที่เจ้านาย ขาดไม่ได้เลยทีเดียว

ก่อนจากกันในวันนี้ ดิฉันขอฝากคำคมไว้ว่า 

 คนเราจะไม่พัฒนา  ถ้าสามารถโยนความผิดให้กับผู้อื่น

Comments are closed.