การสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาลูกน้อง

หลายๆ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพงาน และข้อบกพร่องผิดพลาดจำนวนไม่น้อย มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากผู้ปฏิบัติงาน เช่น การรับสารและตีความไม่ถูกต้อง การไม่ใส่ใจต่องานที่ได้รับมอบหมาย หรือแม้แต่การทำงานแบบขอไปทีพอให้เสร็จให้ผ่านไป การที่เป็นเช่นนี้เพราะการขาดขวัญและกำลังใจในการทำงาน ซึ่งอาจมีได้จากหลายสาเหตุ แต่สรุปรวมความได้ว่าขาดการจูงใจให้พนักงานเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง อยากที่จะเข้ามามีส่วนร่วมและรับผิดชอบให้ผลของงานออกมาดี ดังนั้นสภาพบรรยากาศของหน่วยงานก็จะอึมครึม เหี่ยวแห้ง และไม่กระตือรือร้นเท่าใดนัก เหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้จึงมักจะพบเห็นได้โดยทั่วไป อาทิ

- โต้เถียงกันอย่างรุนแรง ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล เอาชนะคะคานกันอย่างเอาเป็นเอาตาย

- ผลงาน หรือผลผลิตตกต่ำ มีข้อผิดพลาดบกพร่องเกิดขึ้นอย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดลง

- การทำงานในทุกๆ จุดไม่มีคุณภาพ ก่อให้เกิดความสูญเสีย จนส่งผลต่อต้นทุนที่สูง

- พนักงานขัดคำสั่ง ไม่เชื่อฟังหัวหน้า หรือดื้อเงียบ

- ขาดงานบ่อยจนผิดสังเกต หรือมาทำงานสายเป็นประจำ โดยไม่สนใจว่าระเบียบกฎเกณฑ์เป็นเช่นไร

- เต็มไปด้วยข่าวลือ ที่ส่งต่อกันปากต่อปาก จนข่าวสารถูกบิดเบือนไปจากข้อมูลจริงอย่างมาก ถือเป็นสิ่งบั่นทอนความไว้วางใจระหว่างกัน

- มีการกลั่นแกล้งกัน หรือโยนความรับผิดชอบ ไม่มีความช่วยเหลือเอื้ออาทรระหว่างกัน

หากหน่วยงานใดมีสภาพเหตุการณ์เช่นที่ว่า ย่อมแสดงว่าเป็นหน่วยงานที่พนักงานมีขวัญและกำลังใจที่ตกต่ำ ดังนั้นถึงเวลาที่ทุกคนในองค์กรต้องร่วมด้วยช่วยกันพลิกฟื้นความรู้สึกที่ดีระหว่างกัน ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงจนถึงพนักงานระดับปฏิบัติการ เพื่อเร่งสร้างขวัญและกำลังใจให้กลับฟื้นคืนมาโดยด่วน

ตัวอย่างการสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาลูกน้อง จากบทความเรื่อง Career Development - Anytime Anyplace โดย Beverly Kaye ในหนังสือ Training and Development ได้ให้ไว้น่าสนใจดังนี้

1. หัวหน้าจะต้องสอนงานอย่างถูกต้อง ให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาแนะนำ และถ่ายทอดความรู้ต่างๆ เพื่อที่จะช่วยให้พนักงานมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งต้องเปิดโอกาสให้ซักถามเมื่อเกิดข้อสงสัยได้ตลอดเวลา และหัวหน้าต้องพร้อมที่จะเข้าไปให้การสนับสนุนทุกเมื่อ โดยไม่มองเป็นเรื่องน่ารำคาญ หรือก่อให้เกิดความเบื่อหน่าย

2. เปิดโอกาสให้พนักงานได้เรียนรู้และพัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานเพิ่มเติมเป็นระยะ ตลอดจนรวมถึงการอนุญาตให้เข้าร่วมกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างมิตรภาพ ความเข้าใจระหว่างกันของผู้ปฏิบัติงาน และความสนุกสนานที่ทำให้เกิดการผ่อนคลาย ไม่เครียดจนเกินไป การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพนักงานด้วยกัน และการเรียนรู้จากการเข้าร่วมทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ กิจกรรมสันทนาการ กิจกรรม 5ส กิจกรรมข้อเสนอแนะ กิจกรรมกลุ่มคุณภาพ จะช่วยให้เกิดความคิดและสติปัญญาในทางที่ดีที่เป็นคุณกับองค์กรทางอ้อม และเป็นประโยชน์ต่อความเจริญก้าวหน้าโดยตรงของพนักงานคนนั้น ถึงแม้ว่ากิจกรรมต่างๆ เหล่านี้จะมีวัตถุประสงค์เป้าหมายที่ต่างกัน เช่น

- เปิดโอกาสให้พนักงานทุกระดับชั้นมีส่วนร่วมในการปรับปรุงงาน

- ฝึกให้พนักงานเป็นคนช่างสังเกต

- พัฒนาให้พนักงานมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

- รู้จักการทำงานเป็นทีมเพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหา

- รู้จักใช้ความคิดที่เป็นระบบและมีเหตุผล

- หาทางป้องกันไม่ให้เกิดสภาพที่ไม่ปลอดภัยในการทำงาน

- เสริมสร้างวินัยของพนักงาน

แต่ก็มีวัตถุประสงค์ร่วมกันคือ การพัฒนาบุคลากรให้เป็นคนดีมีคุณภาพ ซึ่งเป็นลักษณะของคนที่องค์กรทั่วไปต้องการให้อยู่กับองค์กรนานที่สุด เพราะคนที่มีศักยภาพในตัวสูง และสามารถดึงเอาศักยภาพที่อยู่ในตัวเองออกมาใช้ได้อย่างมากและเป็นประโยชน์เท่าใด ความเจริญก้าวหน้าขององค์กรก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย

Comments are closed.