การประเมินองค์การ (Self-Assessment)

ในการประเมินองค์การ (Self-Assessment) ปัญหาที่ได้รับการระบุมากที่สุดก็คือ ปัญหาในเรื่อง "คน" ในองค์การใหญ่ ๆ ที่มีนโยบายให้ความสำคัญในเรื่องทรัพยากรมนุษย์ จะมีผู้บริหารระดับสูงที่ดูแลดด้านนี้โดยเฉพาะ มีระบบการสรรหา ว่าจ้าง การพัฒนาบุคลากร การประเมินผล การจัดสวัสดิการ ไปจนถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งในรูปแบบของกิจกรรมวิชาการและกิจกรรมสัมพันธ์ ซึ่งเป้าหมายสูงสุดก็คือ การทำให้พนักงานทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ผลักดันองค์การไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ ถึงกระนั้นก็ตามทุกองค์การก็ยังมีปัญหาเรื่องคนไม่มากก็น้อย เพราะเรื่องของคนเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน
เป็นที่ยอมรับกันว่า การสร้างความพึงพอใจให้พนักงานเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นในองค์การ ในเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ และ PMQA ในกระบวนการการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ของเรา จะนำ PMQA มาใช้ในปี พุทธศักราช 2553 นี้ค่ะ ได้ระบุในเรื่องนี้ไว้ และเกณฑ์นี้จะประสบความสำเร็จได้ต้องเชื่อมโยงกับเกณฑ์ในข้ออื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะวิสัยทัศน์ของผู้นำ
การ "บริหารคน" นั้น วิสัยทัศน์ของผู้บริหารสำคัญมากที่สุด ถ้าหากผู้บริหารเห็นความสำคัญของพนักงานอย่างแท้จริง มองเห็นความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน เข้าใจความต้องการของพนักงาน และมีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม องค์การนั้นอาจไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ระบบการบริหารจัดการที่ซับซ้อนอะไรเลย พนักงานก็พร้อมที่จะทำให้องค์การนั้นไปสู่เป้าหมายร่วมกันได้ ด้วยความรักและความรู้สึกเป็นเจ้าของเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับองค์การ
ในขณะเดียวกันถ้าผู้บริหารเห็นพนักงานเป็นแค่เพียงแรงงาน หรือชิ้นส่วนของเครื่องจักรในโรงงาน ที่หาได้ทั่วไปตามท้องตลาด องค์การมีบุญคุณกับพนักงานที่มีงานให้ทำ มีเงินให้ใช้ พนักงานมีหน้าที่ต้องตอบแทนองค์การให้คุ้มค่า องค์การแบบนี้ก็จะมีปัญหาในเรื่องคนอย่างต่อเนื่อง เพราะคนที่มีคุณภาพก็ไม่อยากอยู่ คนที่อยู่ก็เพราะไม่มีทางไป ไม่มีคุณภาพ ซึ่งมีให้เห็นอยู่ทั่วไป
ดังนั้น เคล็ดลับสำคัญในการ "บริหารคน" ให้มีประสิทธิผลที่สุดก็คือการใช้หัวใจในการบริหาร ซึ่งมีองค์การแบบไทย ๆ หลายองค์การเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ เพราะทุนทางสังคมไทยยังมีให้หยิบมาใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นความเอื้ออาทรหรือหลักพุทธศาสนา ที่ทำให้สังคมไทยอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขตลอดมา โดยแท้จริงแล้วถ้าพิจารณากันให้ดีพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ก็คือ หลักการบริหารคนที่ดีที่สุด หลักธรรมง่าย ๆ ที่สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิผลในการอยู่ร่วมกัน คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ตามหลักพุทธศาสนาผู้บริหารคนแบบมืออาชีพจะต้องสามารถ “การบริหารตน การบริหารคน และการบริหารงาน” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไปทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นจะเริ่มต้นจากคนเพียงคนเดียว ก็คือตัวเรานั่นเอง จนกระทั่งถึงกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ขึ้น...มาดูกันค่ะว่า การบริหาร 3 ส่วนนี้มีความสำคัญอย่างไรกันบ้าง
1. การบริหารตน “อัตตาหิ อัตตโนนาโถ” แปลเป็นภาษาไทยว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” เป็นคำกล่าวที่น่าคิดทีเดียว สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้การบริหารตนมีประสิทธิภาพคือสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุดนั่นคือ “จิตใจ” เพราะหากคุณบริหารจิตใจของให้มีความเข้มแข็ง ไม่หวั่นไหวต่อสถานการณ์ใดที่จะมากระทบ ไม่ว่าสุข หรือทุกข์ คุณก็จะสามารถรับมือกับมันได้ เพราะหากมีสิ่งเร้าหรือตัวกระตุ้นมากระทบในลักษณะของความรุนแรงปฏิกิริยาโต้ตอบกลับมักจะเป็นความรุนแรงเช่นกัน ซึ่งนั่นก็จะนำมาซึ่งความหายนะ หรือความล้มเหลวในการบริหารตนเองในที่สุดหากว่าจิตใจของคุณไม่เข้มแข็งพอ
2. การบริหารคน การจะบริหารผู้อื่นอาจมีความยากยิ่งกว่าการบริหารตน เพราะการบริหารตนเป็นการบริหารบุคคลคนเพียงคนเดียวก็คือ ตัวคุณเท่านั้น ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือ “การทำอย่างไรให้ “คน” เป็นคนที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพมากที่สุด” การสร้างแรงจูงใจถือเป็นสิ่งหนึ่งที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้คนมีความขยันขันแข็งและมีความมานะพยายามในการทำงาน อาทิ การจูงใจที่เป็นตัวเงิน (Financial Incentive) เช่น เงินเดือน โบนัส ค่าล่วงเวลา เป็นต้น และการงจูงใจที่ไม่ใช่ตัวเงิน (Non-financial Incentive) เช่น “การมีผู้นำหรือผู้บริหารที่ดี” มีความสามารถ ความตรงไปตรงมา ใช้หลักจิตวิทยาในบริหาร มีความยุติธรรมไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ยอมรับฟังความคิดเห็นทั้งจากบุคคลที่มีความคิดเดียวกัน และฟังเหตุผลของผู้ที่มีความคิดเห็นขัดแย้งด้วย เพื่อนำเหตุผลดังกล่าวนั้นมาพิจารณาซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อองค์กรได้ “การให้โอกาสในการเลื่อนตำแหน่งงาน” สำหรับพนักงานที่มีความขยันขันแข็งทำงานที่ได้รับมอบหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ “การให้พนักงานมีส่วนร่วมในกิจกรรมขององค์การ” เพื่อให้พนักงานรู้สึกเสมือนเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้องค์การประสบความสำเร็จ เป็นต้น
3. การบริหารงาน เป็นการที่ผู้บริหารองค์การจัดสรรงานและกิจกรรมต่าง ๆ ในองค์การอย่างเป็นระบบ ระเบียบ โดยนำทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมดในองค์การมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามวัตถุประสงค์ที่องค์การกำหนดไว้ ผู้บริหารงานที่ดีจะต้องมีการกระจายอำนาจหน้าที่อย่างเหมาะสม มิใช่ให้งานกระจุกตัวอยู่ที่ตนหรือใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น เพราะจะทำให้การดำเนินงานเกิดการล่าช้า เสร็จไม่ทันตามเวลาที่กำหนด

Comments are closed.