คนเข้าทำงานเพราะองค์กร แต่...จากไปเพราะหัวหน้า

วันนี้ดิฉันขอนำสรุปบทความ ที่ชื่อว่า "คนเข้าทำงานเพราะองค์กร แต่จากไปเพราะหัวหน้า..........จริงหรือ" จากบทความเรื่อง "People join organization but leave their boss" ซึ่งบทความดังกล่าว ได้สะท้อนให้เห็นถึงการที่องค์กรไม่สามารถรักษาคนเก่งไว้ได้นั้น เพราะสาเหตุใด
โดยสรุปข้อคิดดี ๆ ที่ได้จากการที่ Mr.Marshall Goldsmith ปรมาจารย์ด้าน Executive Coaching ได้กล่าวไว้ในหัวข้อเกี่ยวกับภาวะผู้นำ ซึ่งดิฉันจะขอนำสรุปประเด็นที่สำคัญ ๆ เกี่ยวกับการเป็นหัวหน้างานที่ดีมาบอกต่อดังนี้ค่ะ
ท่านได้ทิ้งข้อคิดดี ๆ เพื่อเตือนสติหัวหน้างานว่า "What got you here, won't get you there" นั่นหมายความว่า "วิธีการที่ท่านใช้ในอดีต และทำให้ท่านประสบความสำเร็จในวันนี้ อาจไม่ใช่วิธีการที่ท่านจะนำไปใช้เพื่อสร้างความสำเร็จในอนาคต"
ซึ่งถ้าดูจากข้อนี้แล้ว ดูจะตรงอย่างยิ่งในสถานการณ์ และสิ่งแวดล้อม ขององค์กรที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เครื่องมือ หรือประสบการณ์เดิม ๆ ที่เราเคยใช้ในอดีต อาจจะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป หรือบางครั้ง สิ่งที่เป็น best practice ขององค์กรหนึ่ง อาจจะไม่เหมาะกับบริบทของอีกองค์กรหนึ่งก็ได้
นั่นหมายความว่า การที่หัวหน้างานมักจะใช้วิธีการเดิม ๆ ในสมัยที่เป็นลูกน้อง มาใช้ตอนที่เป็นหัวหน้างาน แต่มักพบว่า มักจะไม่ประสบผลสำเร็จเหมือนอดีตที่ผ่านมา
นอกจากนั้น เขายังได้กล่าวว่า "การเป็นหัวหน้างานที่ดีนั้น ไม่จำเป็นจะต้องเรียนรู้ว่าควรทำอะไรเพิ่มเติม ถ้าเพียงแต่พวกเขาเรียนรู้ที่จะหยุดทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ พวกเขาก็จะเป็นหัวหน้าที่ดีขึ้นได้ในทันที" ซึ่งในบทความนี้ ได้รวบรวมสิ่งที่หัวหน้าควรหยุดทำ 5 อย่าง มาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้ค่ะ
1. รับปากแล้วไม่ทำ หรือรับปากในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถทำได้ด้วยอำนาจหน้าที่ของตนเองคนเดียว เช่น การรับปากว่าจะขึ้นเงินเดือนให้ หรือรับปากว่าจะให้โบนัส เป็นต้น หัวหน้าควรยอมให้ลูกน้องโกรธที่ไม่ยอมรับปาก (ในสิ่งที่รับปากไม่ได้) ดีกว่าให้ลูกน้องโกรธที่รับปากแล้วไม่ทำ
2. รับชอบแต่ไม่รับผิด ไม่กางปีกปกป้องลูกน้อง ดร.เสรี วงษ์มณฑา เคยกล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า การเป็นหัวหน้าที่ดีคือ การรู้จักใช้มือ ใช้หัว และใช้หน้า หมายถึง หัวหน้าต้องรู้จักที่จะใช้มือในการลงมือทำให้ลูกน้องได้เห็น ใช้หัวเพื่อสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ ให้กับทีมงาน และที่สำคัญใช้หน้าเพื่อเอาไว้ยืดหน้ารับความผิดแทนลูกน้อง เหมือนคำโบราณที่ว่า “รับหน้า” ไม่ใช่ทุกอย่างโบ้ยว่าผมไม่รู้ ลูกน้องเป็นคนทำ
3. ตัดสินใจโดยไม่ต้องฟังความคิดเห็นผู้อื่น ไม่อธิบายเหตุผลใดๆ เป็นการตัดสินใจโดยยึดความคิดของตนเองเป็นหลัก หรือเมื่อมีการตัดสินใจมาจากเบื้องบนก็มักอ้างเหตุผลว่า “มันเป็นนโยบาย” ซึ่งการอธิบายเพียงเท่านี้อาจไม่สามารถทำให้ลูกน้องเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องได้ แทนที่ลูกน้องจะได้ความกระจ่างกลับยิ่งทำให้ลูกน้องเกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อองค์การยิ่งขึ้นไปด้วย
4. พูดจาไม่ให้เกียรติลูกน้อง หัวหน้างานจำนวนหนึ่งมักจะเชื่อว่าตนเองมีความสนิทสนมกับลูกน้องเป็นอย่างดี จึงไม่จำเป็นต้องระวังคำพูดมากนัก ยิ่งลูกน้องที่ทำงานด้วยกันมานานยิ่งรู้สึกสนิท จึงคิดไปเองว่าลูกน้องคงรู้จักนิสัยของตนดีอยู่แล้ว ทำให้หัวหน้าหลายๆ คนไม่ระวังคำพูดและบ่อยครั้งที่เรามักได้ยินวาจาที่ไม่สุภาพหรือภาษาสมัยพ่อขุนผุดขึ้นมาระหว่างการทำงานอยู่บ่อยๆ
5. ตำหนิลูกน้องต่อหน้าธารกำนัล หัวหน้าจำนวนไม่น้อยไม่ไว้หน้าลูกน้อง ถ้าทำพลาดก็ซัดกันตรงนั้นเลย และที่สำคัญถ้าทำดีก็ไม่เคยชม นัยว่ากลัวจะเหลิงอะไรทำนองนั้น
ถ้าคุณเป็นหัวหน้าคน ลองย้อนมองดูตนเองด้วยใจเป็นกลางซักนิด แล้วประเมินดูซิว่า “คุณมีสักกี่ข้อแล้ว??”

Comments are closed.