ผู้นำเมื่ออาสาตนเข้ามานำผู้อื่น ย่อมต้องอยากเห็นความสำเร็จ

"จินตนาการสำคัญกว่าความรู้" หรือ Imagination is more important than knowledge ที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักคิด นักวิทยาศษสตร์ นักปรัชญา และศาสนา กล่าวไว้เป็นเวลาหลายปีวันนี้ยิ่งทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ เมื่อวิถีโลกเศรษฐกิจสมัยใหม่ต้องอาศัยจินตนาการสุดล้ำเป็นใบเบิกทางสู่ความสำเร็จทั้งธุรกิจ งาน และ ชีวิตส่วนตัว  ในการดำเนินงานธุรกิจทุกอย่าง ลูกค้าคือหัวใจ พนักงานคือแขนขา ผู้บริหารคือมันสมอง ระบบคืออวัยวะภายใน ประกอบเสริมสร้างกันให้คงอยู่ได้เป็น ชีวิต ธุรกิจไม่อาจที่จะขาดสิ่งไดสิ่งหนึ่งได้ ความสามารถของผู้บริหาร คือ ปัจจัยสำคัญยิ่งยวดในการกำหนดกระบวนการให้ชีวิตธุรกิจดำเนินไปได้ดีเลวมากน้อย แค่ไหน อย่างไรในการก้าวมาเป็นนักบริหาร สิ่งที่ต้องรับผิดชอบคือ ทำอย่างไร จึงจะสามารถเป็น ผู้นำความสำเร็จมาสู่งานที่ได้รับมอบหมาย และส่งผลโดยรวมให้เกิดความสำเร็จขององค์กรร่วมกับผู้อื่น 

           การต้องเป็น ผู้นำจึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ คงไม่มีผู้บริหารคนไดที่ก้าวขึ้นมาเพราะถูกบังคับ มันเป็นความปรารถนาสูงสุดของทุกผู้คนที่เล่าเรียนจบมาที่อยากจะเป็น นั่นหมายถึงเกียรติยศ ความภูมิใจความมั่นคงแห่งตน และครอบครัว แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะมีโอกาสเช่นนี้ บางคนแม้มีโอกาส ก็ไม่อาจรักษาตำแหน่งเอาไว้ได้ อะไรคือปัจจัย เป็นคำถามที่มีคำตอบในแต่ละคนไม่เหมือนกัน      การบริหาร(Management)          คือกระบวนการคิด วางแผน จัดการ และควบคุม การใช้ทรัพยากร ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และบรรลุ ถึงเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งต้องอาศัยทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ในการจัดการ ผู้บริหารจึงมีความแตกต่างกัน ในความสามารถ ขึ้นกับกระบวนทัศน์ ความรู้ ความสามารถและความมุ่งมั่นของเขา
     การบริหาร เป็น ศาสตร์ส่วนภาวะผู้นำ เป็น ศิลป์ผู้บริหารที่จะประสพความสำเร็จได้ต้องประกอบด้วย ความรู้ในการบริหาร และมีภาวะผู้นำ ผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารจำเป็นต้องศึกษาวิชาการบริหารให้ถ่องแท้ และเข้าใจ หาไม่เช่นนั้นแล้วไม่อาจจัดการกับกระบวนการให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรได้ ส่วนความเป็นผู้นำ แม้ว่าจะมีผู้เขียนตำรามากมายให้เราสามารถศึกษารวมทั้งเรียนรู้ได้จากตัวอย่างความเป็นผู้นำ ของบุคคลสำคัญที่ประสพความสำเร็จในอดีต แต่อย่างไรก็ตามการที่บุคคลหนึ่งจะซึมซับและมีภาวะผู้นำได้มักขึ้นมักขึ้นกับการได้รับการปลูกฝังและอบรมมาตั้งแต่ชีวิตในวัยเด็ก และเกิดการสั่งสมเรียนรู้ในการเป็นผู้นำ การเรียนรู้ใดๆสำหรับเขาต่อมาเป็นเพียงการตอกย้ำ และพลิกแพลง เพิ่มเติมความสามารถให้กับเขาเท่านั้นเอง ดังนั้น ผู้บริหารในองค์กรจะมีให้เห็นมากมาย แต่ภาวะผู้นำจะหาพบได้น้อยมากใน แต่ละองค์กร ส่วนมากเป็นผู้นำโดยการแต่งตั้ง อาศัยความเป็นเครือญาติ เพื่อนฝูง คนสนิท บุญคุณต้องทดแทน หากคนเหล่านั้นไม่ปรับตัว อาจทำให้เกิดความไร้ประสิทธิภาพในการบริการจัดการ ซึ่งถือเป็นต้นทุน (Operational Cost) ขององค์กรที่สูญเสียไปไม่ใช่น้อยทั้งเกิดจากความผิดพลาด(Cost Of Defect)และ สูญเสียโอกาสที่จะได้(Opportunity Cost)   ผู้นำเมื่ออาสาตนเข้ามานำผู้อื่น ย่อมต้องอยากเห็นความสำเร็จทุกๆเรื่องภายใต้การบริหารของตน สิ่งที่หวังไว้ต้องเริ่มต้นจากการมีวิสัยทัศน์แห่งตน (Personal Vision)ก่อน และได้วางเป้าหมายในเรื่องงานและชีวิตส่วนตัวไว้อย่างไรบ้างและควรไปให้ถึง           มนุษย์ทุกคนเกิดมาล้วนมี ความอยากเสมอ ซึ่งเป็นสิ่งกระตุ้นให้มนุษย์แสวงหาไม่หยุดนิ่ง หาก ความอยากนั้นเป็นไปในทางที่ดี เรียกว่ามีความใฝ่ดี(Creative Tension) ซึ่งทางพุทธ เรียกว่า ฉันทะใน อิทธิบาท 4 ซึ่ง เป็นธรรมมะของผู้ใฝ่ความสำเร็จ ได้แก่ ฉันทะ(คือพึงพอใจ ความอยากได้ อยากเห็น อยากเป็น อยากมีในทางที่ดี มีแล้วเกิดความสุข ปิติโสมนัส) วิริยะ (คือความเพียรพยายามให้ได้มา ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค) จิตตะ (คือการมุ่งมั่นจดจ่อในการกระทำก่อให้เกิดสมาธิปัญญา) วิมังสา (คือความใคร่ครวญรอบคอบ ไตร่ตรองหาเหตุผลในสิ่งที่กระทำ)    แต่ถ้าหาก ความอยากนั้นเป็นไปในทางที่ไม่ดี คือความใฝ่ต่ำเพื่อตอบสนองอารมณ์(Structural Conflict) ซึ่งทางพุทธเรียกว่า ตัณหาซึ่งมีตัวกิเลสเป็นแกนนำ และมีตัวอุปทานคอยส่งเสริมยึดติดไม่ให้หลุดพ้น ทั้ง ความใฝ่ดีและ ความใฝ่ต่ำล้วนมีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคนต่อสู้กันอยู่ แล้วแต่ว่าส่วนไหนจะเอาชนะได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดสภาพชีวิตที่เป็นอยู่จริง(Current Reality)ของคนๆนั้น 
หากผู้นำที่มาบริหารงานมีความต้องการ แต่ไม่มีเป้าหมาย ก็ไม่ต่างจากการเดินทางไปเพราะอยากเดิน แต่ไร้ทิศทาง ไม่รู้ว่าจะมุ่งสู่ที่ใด
และหากเป้าหมายเป็นไปในทางที่สร้างสรรค์ ทางดี ย่อมจะมีโอกาสประสพความสำเร็จที่ยืนยาวได้  ทั้งนี้ความสำเร็จยังต้องอาศัยความเพียร มุ่งมั่น มีสติรู้เท่าทัน และมีปัญญาในการคิดใคร่ครวญแก้ปัญหารวมถึงการลงมือที่จริงจัง   มีคำกล่าวไว้ว่า องค์กรไหนมีผู้นำที่ฉลาดรอบรู้ผู้ใต้บังคับบัญชาที่มุ่งมั่นขยันจะมีกำลังใจต่อสู้ ส่วนผู้ใต้บังคับบัญชาที่ขี้เกียจไม่ได้เรื่องจะอยู่อย่างหวาดระแวง หากองค์กรไหนมีผู้นำที่โง่เขลาเบาปัญญา ผู้ใต้บังคับบัญชาที่มุ่งมั่นขยัน จะอึดอัดและท้อแท้ ส่วนผู้ใต้บังคับบัญชาที่ขี้เกียจไม่ได้เรื่องจะเริงร่าสบายใจ

Comments are closed.