ทางออกที่ดีที่สุดของการทำงานที่เราไม่ชอบ คือ ตั้งสติ

หลายคนมีความฝันตั้งแต่ยังเรียนไม่จบว่าอยากทำงานนั้น งานนี้ วาดฝันงานกันไว้ล่วงหน้า แต่พอถึงเวลาที่ต้องมาทำงานจริง ๆ เป็นอันต้องฝันสลาย เพราะเหตุผลหลาย ๆ ประการ และคงจะมีส่วนน้อยที่ได้ทำงานในฝัน และงานที่เรารัก แต่ส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ทำงานที่เรารักจะทำอย่างไรกัน จึงจำเป็นจะต้องมีแนวทางในการปรับทัศนคติเพื่อความสำเร็จในการทำงาน แน่นอนว่าเมื่อมาทำงานแล้วก็จะต้องพบกับปัญหาต่าง ๆ เข้ามา อย่างปัญหาการทำงานที่ตัวเองไม่รักไม่ชอบ   ปัญหาในเรื่องของสถานที่ทำงาน เพื่อนร่วมงาน อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำงาน ปัญหาจากผู้บังคับบัญชา ค่าตอบแทนรวมทั้งสวัสดิการที่พึงจะได้รับ ทำให้หลายคนเลือกที่จะลาออก จากที่เดิมไปอยู่ที่ใหม่ แต่ผลที่ได้คือ กลับเจอปัญหาต่าง ๆ ในที่ใหม่หนักกว่าที่เดิมเสียอีก ทำให้ต้องลาออกเพื่อไปหางานใหม่ต่อไปอีก เลยทำให้เสียความก้าวหน้าในงาน หรือเสียประวัติการทำงานไป เนื่องจากทำงานอยู่ในแต่ละองค์กรไม่นานนัก
ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดของการทำงานที่เราไม่ชอบ คือ ตั้งสติแล้วลองปรับทัศนคติใหม่ อย่ามัวแต่หนีปัญหา เพราะจะทำให้คุณเสียโอกาสหลาย ๆ อย่างเลยทีเดียว ซึ่งมีแนวทางในการคิดตามหลักอิทธิบาท 4 ตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงสอนในยุคสองพันกว่าปีที่แล้ว ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ในการทำงานได้จนถึงปัจจุบัน ดังนี้

1. ฉันทะ  ความพึงพอใจ รักในงานที่ทำ
ไม่ได้ทำงานที่รัก แต่ก็สามารถจะรักงานที่ทำได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะถ้าแม้แต่ท่านที่เป็นเจ้าของตำแหน่งงานนี้ ซึ่งต้องรับผิดชอบงานนี้อยู่โดยตรงยังไม่รักงานที่เราทำ ไม่เห็นความสำคัญในงานของเราเอง แถมยังดูถูกงานที่เรารับผิดชอบ แล้วท่านจะให้ใครเขามารักงานของเรา หรือเห็นความสำคัญในงานที่เราทำ ก็ในเมื่อเรายังดูถูกงานของเราเอง ตัวอย่างเรื่องเล่าที่อยากให้คิดตาม มีช่างก่ออิฐ 3 คนกำลังทำงานอยู่

ช่างคนที่ 1 ก่ออิฐไปด้วยความรู้สึก เบื่อหน่าย เซ็ง เฉื่อยชา

ช่างคนที่ 2 ก่ออิฐไปมองนาฬิกาไป คิดว่าเมื่อไหร่จะถึงเวลาพักเสียที

ช่างคนที่ 3 ทำงานอย่างกระฉับกระเฉงว่องไว เอาใจใส่ในงาน

ถามช่างทั้ง 3 คนว่ากำลังทำอะไรอยู่

ช่างคนที่ 1 "กำลังก่ออิฐ"

ช่างคนที่ 2 "กำลังก่อกำแพง"

ช่างคนที่ 3 "ผมกำลังมีส่วนสำคัญในการสร้างโบสถ์และเป็นบุญของเขาที่ได้มาทำงานนี้"

งานของช่างทั้ง 3 คนก็เป็นงานเดียวกัน แต่ทัศนคติหรือวิธีคิดของช่างแต่ละคนไม่เหมือนกัน มองได้เลยว่าช่างคนไหนจะประสบความสำเร็จในอาชีพช่างมากกว่ากัน ดังนั้น คนคิดบวกชีวิตจะมีแนวโน้มไปทางดีขึ้นอยู่เสมอ ส่วนคนคิดลบชีวิตก็มักจะมีแนวโน้มไปในทางที่ตัวเองคิดเช่นเดียวกัน
2. วิริยะ  ความพากเพียร ขยันหมั่นเพียรในการทำงาน
เมื่อเริ่มรักงาน และเห็นความสำคัญของงานที่ทำ ท่านก็จะมีความมานะพยายามที่จะทำงานนั้นให้ประสบความสำเร็จอย่างดีที่สุด หรือรับผิดชอบงานนั้นอย่างเต็มกำลังความสามารถที่เรามีอยู่ และก็จะพยายามทำงานนั้นให้ดีที่สุดอยู่เสมอ ๆ
3. จิตตะ  ความเอาใจใส่ในงาน
เมื่อมีความมานะ อยากจะทำงานที่รับผิดชอบให้ดีที่สุด เราก็จะมีความใส่ใจในงานที่เรารับผิดชอบ มีความตั้งใจจริง มีความเอาใจใส่ในงานของเรามากขึ้น และมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้งานที่เรารับผิดชอบไปสู่ผลสำเร็จ
4. วิมังสา  ความหมั่นตริตรอง ค้นหาเหตุผลเพื่อพัฒนางานให้ดีขึ้น    มีการปรับปรุงงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม จนอาจนำมาสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน หรือวิธีการทำงานใหม่ ๆ ที่ทำให้งานที่เรารับผิดชอบมีความรวดเร็วมากขึ้น มีคุณภาพในงานมากขึ้น หรือเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับงานของเรา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตนั่นเอง
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ในวันนี้ ดิฉันขอฝาก

  คำคมไว้ว่า

ไม่มีสิ่งใดๆในโลกที่ดีหรือเลว มีแต่ความคิดของเราเท่านั้น

ที่ทำให้เกิดความดีและความเลว

Comments are closed.