อวัยวะส่วนไหนของร่างกายที่สลับซับซ้อนที่สุด

อวัยวะส่วนไหนของร่างกายที่สลับซับซ้อนที่สุด เป็นอวัยวะที่มนุษย์เราทำความเข้าใจน้อยที่สุด แต่ก็เป็นอวัยวะที่ถ้าได้รับความกระทบกระเทือนหรือเสียหายในส่วนต่างๆ ที่แตกต่างกันแล้ว ก็จะส่งผลต่อคนแต่ละคนต่างกัน เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะเดาได้นะค่ะว่า เป็น "สมอง" นั่นเอง ในช่วงหลังมีความพยายามของบรรดาแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก ที่จะศึกษาและอธิบายปรากฏการณ์ การทำงานของสมองเรา เพื่อทำความเข้าใจและหาแนวทางในการพัฒนา และปรับปรุงการทำงาน และทำให้การดำรงชีวิตของเราดีขึ้น    ดิฉันเองมีโอกาสอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ Brain Rules เขียนโดย John Medina ซึ่งเป็นการรวบรวม บรรดาการทดลองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมองไว้แล้วนำมาสรุปเป็นกฎง่ายๆ สิบสองข้อเกี่ยวกับการทำงานของสมองเรา ซึ่งดิฉันเองก็ได้เคยนำเสนอกฎบางข้อในหนังสือเล่มนี้ ผ่านทางบทความนี้มาบ้างแล้ว ดังนั้น วันนี้เลยอยากจะมาสรุปสาระ หรือประเด็นที่สำคัญที่หนังสือเล่มนี้นำเสนอไว้ เผื่อเป็นแนวทางสำหรับท่านผู้อ่านในการทำความเข้าใจ และหาทางพัฒนาและปรับปรุงสมองเรานะค่ะ
          เริ่มจากความทรงจำค่ะ สมองเรามีความทรงจำระยะสั้น ที่เรียกว่า Short-Term Memory โดยเจ้า ความทรงจำระยะสั้นนั้นจะสามารถเก็บข้อมูลได้ไม่เกินเจ็ดชิ้นไว้ได้นานสุดประมาณแค่สามสิบวินาที หลังจากนั้น สิ่งที่เราพยายามจดจำนั้นก็จะสลายไปหมด ดังนั้น การที่จะจดจำสิ่งต่างๆ ได้นาน จะต้องคอยตอกย้ำตลอดเวลา เหมือนกับการจำหมายเลขโทรศัพท์ค่ะ เราจะจำได้ต่อเมื่อเราท่องแล้วท่องอีก    นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจในเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างการนอนหลับกับการทำงานของสมอง เราค่ะ ตอนที่เราหลับนั้นร่างกายเราหยุดทำงาน แต่สมองของเราไม่ได้หยุดไปด้วยค่ะ นักวิทยาศาสตร์พบว่าช่วงที่คนเราหลับนั้น จะเป็นช่วงที่สมองของเราทำงานอยู่ตลอดเวลา และพบอีกว่าคนเราจะเรียนรู้หรือแก้ปัญหาต่างๆ ที่พบเจอได้ดีขึ้น ถ้าได้นอนหลับมีการทดลองหลายครั้งที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อให้โจทย์ปัญหาให้กลุ่มทดลอง แล้วเปิดโอกาสให้กลุ่มทดลองได้นอนหลับประมาณแปดชั่วโมง      กลุ่มที่ได้มีโอกาสนอนหลับจะสามารถแก้ไขโจทย์ปัญหาได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้นอนหลับ แสดงว่าระหว่างที่เราหลับนั้นสมองเราก็มีการเรียนรู้และทำงานไปด้วย ในขณะเดียวกัน การนอนหลับก็ทำให้สมองเราแจ่มใส มีสมาธิ ทำงานได้ดีขึ้น
          ในขณะเดียวกัน การที่เราได้นอนกลางวันก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้สมองเราทำงานได้ดีขึ้น มีการทดลองที่ NASA แล้วพบว่าการได้นอนหลับตอนบ่ายเพียง 26 นาที จะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำงานของนักบินได้ถึงร้อยละ 34 ดังนั้น ถ้าผู้บริหารองค์กรต่างๆ พยายามที่จะแสวงหาหนทางหรือแนวทางในการเพิ่มความสามารถในการทำงานของลูกน้องท่าน ลองให้พวกเขาได้งีบหลับตอนบ่ายสักช่วงหนึ่งซิค่ะ อาจจะเป็นวิธีเพิ่มความสามารถของบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดต้นทุนที่สุดก็ได้ค่ะ      สำหรับ การรับรู้ข้อมูลของสมอง นั้น เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงทราบอยู่แล้วว่า เราจะรับรู้ต่อสิ่งที่เป็นรูปแบบได้ดีกว่าตัวอักษรหรือตัวเลขเฉยๆ ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อเราได้ยินข้อมูลใดก็ตาม อีกสามวันให้หลังเราจะจำได้เพียงแค่ร้อยละ 10 เท่านั้นเองค่ะ แต่ถ้าเราเห็นรูปใดก็ตาม อีกสามวันให้หลังเราจะจำได้ถึงร้อยละ 35 และจะให้ดีที่สุด คือได้ยินทั้งเสียงและเห็นทั้งรูปภาพ อีกสามวันให้หลังเราจะจำได้ถึงร้อยละ 65
          ดังนั้น การนำเสนอข้อมูลใดก็ตาม ไม่ควรจะเน้นไปที่การบรรยายหรือนำเสนอแต่ตัวอักษรอย่างเดียว แต่ควรจะมีภาพที่ทำให้คนสามารถจดจำได้ง่าย ท่านผู้อ่านอาจจะต้องกลับไปรื้อ หรือทำ Powerpoint ของท่านใหม่แล้วนะค่ะ มิฉะนั้น ถ้า Powerpoint ของท่านเต็มไปด้วยตัวอักษรและคำอธิบาย ผู้ฟังก็จะจำไม่ได้หรอกค่ะ          ในขณะเดียวกัน สมองและร่างกายเราไม่ได้ถูกออกแบบมาให้นั่งทำงานหรือนั่งประชุมติดต่อกันเป็นเวลานานๆ หรอกค่ะ ผลการทดลองต่างๆ พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานของสมองเรากับการออกกำลังกายค่ะ การนั่งอยู่กับที่เพื่อพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ อาจจะได้ผลไม่ได้เท่ากับการเดินไปแก้ไขปัญหาไปก็ได้นะค่ะ เนื่องจากร่างกายและสมองเราถูกออกแบบมาให้คิดได้ดีเมื่อเราเคลื่อนไหว  ลองสังเกตดูซิค่ะว่า ถ้านั่งอยู่กับโต๊ะทำงานทั้งวันบางครั้งสมองเราก็ไม่แล่น แต่ถ้าได้ออกเดินเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง สมองเราอาจจะคิดอะไรได้ดีกว่าการนั่งเฉยๆ ที่โต๊ะทำงานก็ได้ ท่านผู้อ่านลองหาทางผสมผสานการเคลื่อนไหว หรือการออกกำลังกายเข้ากับการทำงานซิค่ะ อาทิเช่น รับโทรศัพท์ไปเดินไป หรือยืนประชุม หรือเดินออกไปรับประทานอาหารข้างนอก สิ่งต่างๆ เล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ อาจจะช่วยให้สมองเราทำงานได้ดีขึ้นก็ได้นะค่ะ   ลองนำเคล็ดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ไปปรับใช้ดูนะค่ะ

Comments are closed.